ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนฺตาวติยา นคเร ได้แก่ นครมีชื่ออย่างนี้ว่า มันตวดี.
               บทว่า รญฺโญ โกญฺจสฺส ความว่า ได้เป็นราชธิดาเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชาพระนามว่าโกญจะ.
               บทว่า สุเมธา ได้แก่ พระนางสุเมธาโดยพระนาม.
               บทว่า ปสาทิตา สาสนกเรหิ ความว่า อันพระอริยะทั้งหลายผู้กระทำตามคำสั่งสอนพระศาสดา ทำให้เลื่อมใสในคำสั่งสอน คือทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว.
               บทว่า สีลวตี ได้แก่ พรั่งพร้อมด้วยอาจาระมารยาทและศีล.
               บทว่า จิตฺตกถา ได้แก่ ผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร.
               บทว่า พหุสฺสุตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการสดับพระปริยัติธรรมในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย.
               บทว่า พุทฺธสาสเน วินีตา ได้แก่ ถูกแนะนำ คือมีกายวาจาจิตสำรวมแล้วในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะกิเลสทั้งหลายกลับไปแล้ว โดยตทังคปหานตามโยนิโสมนสิการซึ่งดำเนินตามพระสูตรว่า อย่างนี้ปวัตติ ความเป็นไป, อย่างนี้นิวัตติ ความกลับไป, อย่างนี้ศีล, อย่างนี้สมาธิ, อย่างนี้ปัญญา.
               บทว่า อุภโย นิสาเมถ ความว่า ขอพระชนกชนนีทั้งสองพระองค์โปรดตั้งพระทัยสดับคำของลูก. ประกอบความว่า พระนางสุเมธาเข้าไปเฝ้าพระชนกชนนี แล้วตรัส.
               บทว่า ยทิปิ ทิพฺพํ ความว่า ขึ้นชื่อว่าภพ แม้เนื่องด้วยเทวโลกหมดสิ้นล้วนไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปวนไปเป็นธรรมดา.
               บทว่า กิมงฺคํ ปน ตุจฺฉา กามา ความว่า จะป่วยกล่าวไปไยถึงกามทั้งหลายที่เป็นของมนุษย์.
               กามเหล่านั้นแม้ทุกอย่าง ชื่อว่าว่างเปล่า เพราะไม่เป็นแก่นสาร ชื่อว่ามีรสอร่อยน้อย เหมือนหยาดน้ำที่คมมีด ชื่อว่ามีความคับแค้นมาก เพราะมีทุกข์อย่างไพศาลทั้งปัจจุบันทั้งอนาคต.
               บทว่า กฏุกา ได้แก่ ไม่น่าปรารถนา กามทั้งหลายชื่อว่าเปรียบด้วยงูพิษ เพราะอรรถว่ามีภัยเฉพาะหน้า.
               บทว่า มุจฺฉิตา แปลว่า หมกมุ่นแล้ว.
               บทว่า สมปฺปิตา ได้แก่ ติดแน่น ฟุ้งไป.
               อธิบายว่า เกิดขึ้นแล้วโดยประการทั้งปวงด้วยกรรมของตน.
               บทว่า หญฺญนฺเต ได้แก่ ถูกเบียดเบียน.
               บทว่า วินิปาเต ได้แก่ ในอบาย.
               บทว่า อเจตนา ได้แก่ ชื่อว่าไม่มีใจ เพราะไม่มีเจตนาทำประโยชน์เกื้อกูลสำหรับตน.
               บทว่า ทุกฺขสมุทโย รุทฺธา ได้แก่ ถูกปิดแล้วในสังสารวัฏที่มีตัณหาเป็นนิมิต.
               บทว่า เทเสนฺเต ได้แก่ ธรรมอริยสัจ ๔ ที่ท่านแสดงอยู่.
               บทว่า อชานนฺตา ได้แก่ ไม่รู้ความ.
               บทว่า น พุชฺฌเร อริยสจฺจานิ ได้แก่ ไม่ตรัสรู้อริยสัจมีทุกข์เป็นต้น.
               ด้วยบทว่า อมฺม พระนางสุเมธาตรัสเรียกพระชนนีเป็นสำคัญ.
               บทว่า เต พหุตรา อชานนฺตา ประกอบความว่า ชนเหล่าใดเมื่อไม่รู้สัจจะที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้ว ย่อมชื่นชมภพ กระหยิ่มความเกิดในเทวดาทั้งหลาย ชนเหล่านั้นนั่นแหละมีจำนวนมากกว่าในโลกนี้.
               บทว่า ภวคเต อนิจฺจมฺหิ ความว่า เมื่อภพทุกภพไม่เที่ยง ความเกิดในเทวโลกทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เมื่อเป็นดังนั้น คนเขลาทั้งหลายก็ยังไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่สลดใจ.
               บทว่า ปุนปฺปุนํ ชายิตพฺพสฺส ได้แก่ ผู้เกิดในภพต่อๆ ไป.
               บทว่า จตฺตาโร วินิปาตา ได้แก่ คติที่ชื่อว่าวินิบาต เพราะก่อตั้งสภาพทั้ง ๔ ได้ง่าย คือนรก กำเนิดเดียรฉาน เปรตวิสัย กำเนิดอสูร. ส่วนคติ ๒ ที่เข้าใจกันว่า การเกิดในมนุษย์และเทวดา สัตว์ได้มาทุลักทุเล คือยากลำบาก เพราะบุญกรรมเป็นของที่สัตว์ทำได้ยาก.
               บทว่า นิรเยสุ ได้แก่ อบายที่เว้นขาดจากสุข.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺกา ได้แก่ ไม่มีความขวนขวายในกิจอย่างอื่น.
               บทว่า ฆฏิสฺสํ ประกอบความว่า ประโยชน์อะไรด้วยโทษ คือกายที่ไม่มีแก่นสารในภพ ซึ่งสัตว์ชื่นชมกันนักหนา ลูกจักพยายาม จักประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนา.
               บทว่า ภวตณฺหาย นิโรธา ได้แก่ เพราะเหตุดับ คือเพื่อดับตัณหาที่ไปในภพ [ภวตัณหา].
               ประกอบความว่า
               ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธะทั้งหลาย ลูกได้แล้ว อขณะ ๘ อย่างมีการเกิดในนรกเป็นต้นก็เว้นไปแล้ว ขณะที่ ๙ ชื่อว่าขณะลูกก็ได้แล้ว.
               บทว่า สีลานิ ได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์.
               บทว่า น ทูเสยฺยํ ได้แก่ ไม่ทำให้กำเริบ.
               บทว่า น ตาว อาหารํ อาหริสฺสํ คหฏฺฐา ประกอบความว่า พระนางสุเมธากราบทูลพระชนกชนนีอย่างนี้ว่า ก่อนอื่น ลูกเป็นคฤหัสถ์ก็จักไม่แตะต้องอาหาร ถ้าลูกไม่ได้บวช ก็จักผอมตายอย่างเดียวเพคะ.
               บทว่า อสฺสา ได้แก่ พระนางสุเมธา.
               บทว่า สพพฺโส สมภิหโต แปลว่า ทั่วพระพักตร์นองด้วยพระอัสสุชล.
               บทว่า ฆเฏนฺติ สญฺญาเปตุํ ความว่า พระชนกชนนี ทรงพากเพียรพยายามที่จะให้พระนางสุเมธา ซึ่งฟุบลงที่พื้นดิน ณ พื้นปราสาท ยินยอมเป็นคฤหัสถ์.
               บาลีว่า ฆเฏนฺติ วายมนฺติ ก็มี ความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กึ โสจิเตน ได้แก่ ประโยชน์อะไรด้วยความเศร้าโศกว่า เราไม่ได้บวช.
               บทว่า ทินฺนาสิ วารณวติมฺหิ แปลว่า [ลูก] พ่อได้ถวายไว้ที่วารณวดีนครแล้ว พระเจ้าโกญจะตรัสว่า พ่อได้ถวายแล้ว แล้วตรัสอีกว่า ลูกพ่อ ถวายแล้ว ก็เพื่อทรงแสดงอย่างหนักแน่นว่า ทรงมอบถวายพระเจ้าอนิกรัตตะแล้ว.
               บทว่า รชฺเช อาณา ความว่า ลูกก็ย่อมจะใช้อำนาจในราชสมบัติพระเจ้าอนิกรัตตะได้.
               บทว่า ธนมิสฺสริยํ ได้แก่ พระราชทรัพย์และความเป็นใหญ่ ในราชตระกูลนี้และในราชตระกูลพระราชสวามี.
               บทว่า โภคา สุขา อติวิย อิฏฺฐา โภคา ได้แก่ สิ่งนี้ทั้งหมดปรากฏตกอยู่ในพระหัตถ์ของลูกเล้ว.
               บทว่า ทหริกาสิ ได้แก่ ลูกก็ยังเป็นสาว เพราะฉะนั้น ขอลูกจงบริโภคกามสมบัติเถิด. ประกอบความว่า ลูกเอ๋ย ด้วยเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องลูกนะลูกนะ.
               บทว่า เน ได้แก่ พระชนกชนนี.
               บทว่า มา เอทิสิกานิ ความว่า อำนาจเป็นต้นในราชสมบัติเห็นปานนี้ จงอย่ามีมาเลย.
               ถ้าจะถามว่า เพราะเหตุไร พระนางสุเมธาจึงตรัสว่า ภพไม่มีแก่นสาร.
               บทว่า กิมิว แปลว่า เหมือนหนอน.
               บทว่า ปูติกายํ ได้แก่ ซากศพที่เน่านี้.
               บทว่า สวนคนฺธํ ได้แก่ ที่กลิ่นเหม็นคลุ้งไป.
               บทว่า ภยานกํ ได้แก่ นำมาซึ่งภัย สำหรับเหล่าคนเขลาที่ยังไม่ปราศจากราคะ.
               บทว่า กุณปํ อภิสํวิเสยฺยํ ภสฺตํ ได้แก่ ถุงหนังที่เต็มด้วยซากศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด ไหลออกมิใช่คราวเดียว คือเต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ไหลออกอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ อันบุคคลยึดถือว่านี้ของเรา.
               ลูกรู้จักซากศพนั้นเหมือนหนอน.
               บทว่า วิกูลกํ ได้แก่ ปฏิกูลเหลือเกินอันชิ้นเนื้อที่ไม่สะอาดและเลือดฉาบไว้ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายหมู่ เป็นเหยื่อของฝูงแร้งกา.
               บาลีว่า กิมิกุลาลสกุณภตฺตํ ก็มี. ความว่า เป็นเหยื่อของหมู่หนอนและฝูงนกนอกนั้น.
               พระนางสุเมธาทรงแสดงว่า ลูกยืนหยัดรู้จักซากศพนั้น บัดนี้ ทูลกระหม่อมพระราชทานลูกนั้นแก่พระเจ้าอนิกรัตตะนั้น โดยทรงขอร้องทำไม คือเพราะเหตุชื่อไร.
               ประกอบความว่า ก็การพระราชทานลูกนั้นแก่พระเจ้าอนิกรัตตะนั้น เหมือนอะไร คือเป็นเหมือนอะไร
               บทว่า นิพฺพุยฺหติ สุสานํ อจิรํ กาโย อเปตวิญฺญาโณ ความว่า ไม่นานนัก กายนี้ปราศจากวิญญาณแล้ว เขาก็จะช่วยกันยกผู้นำไปยังป่าช้า.
               บทว่า ฉุฑฺโฑ แปลว่า ทิ้งแล้ว.
               บทว่า กลิงฺครํ วิย ได้แก่ เสมือนชิ้นไม้ที่ไร้ประโยชน์.
               บทว่า ชิคุจฺฉมาเนหิ ญาตีหิ แปลว่า แม้อันคนที่เป็นญาติผู้เกลียดอยู่.
               บทว่า ฉุทฺธูน นํ สุสาเน ได้แก่ ทิ้งซากศพนั้นไว้ในป่าช้า.
               บทว่า ปรภตฺตํ ได้แก่ เป็นอาหารของเหล่าสัตว์อื่นมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น.
               บทว่า นฺหายนฺติ ชิคุจฺฉนฺตา ความว่า บิดามารดาเกลียดโดยเหตุเพียงว่ามาตามหลังซากศพนั้นกลับมาบ้าน ก็ต้องลงอาบน้ำดำเกล้า ไม่ต้องกล่าวถึงผู้ที่ถูกต้องซากศพดอก.
               บทว่า นิยกา มาตาปิตโร ได้แก่ แม้แต่บิดามารดาของตนเอง.
               บทว่า กึ ปน สาธารณา ชนตา ได้แก่ จะต้องกล่าวอะไรเล่าว่า ชุมชนนอกนี้ก็เกลียด.
               บทว่า อชฺโฌสิตา ได้แก่ ยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า อสาเร ได้แก่ ที่เว้นจากสาระ มีความเที่ยงเป็นสาระเป็นต้น.
               บทว่า วินิพฺภุชิตฺวา ได้แก่ ทำการแยกวิญญาณออกไป.
               บทว่า คนฺธสฺส อสหมานา ได้แก่ ทนกลิ่นของกายนั้นไม่ได้.
               บทว่า สกาปิ มาตา ได้แก่ แม้แต่มารดาของตนก็เกลียด เพราะต้องทะนุถนอมอย่างดี โดยความเป็นของปฏิกูล เพราะแยกส่วนทั้งหลายออกไป.
               บทว่า ขนฺธธาตุอายตนํ ความว่า ขันธ์ ธาตุและอายตนะอย่างนี้ คือ ปัญจขันธ์เหล่านี้มีรูปขันธ์เป็นต้น ธาตุ ๑๘ เหล่านี้มีจักขุธาตุเป็นต้น อายตนะ ๑๒ มีจักขายตนะเป็นต้น ธรรมชาติที่เป็นรูปและมิใช่รูป ดังกล่าวมานี้ทั้งหมด. ชื่อว่าสังขตะ เพราะปัจจัยทั้งหลายประชุมรวมกันสร้างขึ้น ธรรมชาตินี้นั้นที่เป็นไปอยู่ในภพนั้น ชื่อว่าเป็นทุกข์ ที่ชื่อว่ามีชาติเป็นมูล เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ลูกใคร่ครวญครุ่นคิดโดยอุบายแยบคายดังกล่าวมานี้ ทำไมคือเพราะเหตุไร จึงจักปรารถนาวิวาหะที่ทรงขอร้องเลือกให้ของทูลกระหม่อมเล่าเพคะ.
               พระชนกชนนีตรัสคำใดไว้ว่า ศีล พรหมจรรย์ บรรพชา ทำกันได้ยาก เมื่อจะทรงโต้ตอบคำนั้น พระนางสุเมธาจึงตรัสว่า ทิวเส ทิวเส เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิวเส ทิวเส ติสตฺติสตานิ นวนวา ปเตยฺยุํ กายมฺหิ ความว่า
               หอก ๓๐๐ เล่มใหม่เอี่ยม เพราะลับทาน้ำมันในขณะนั้นนั่นเอง พึงตกต้องไปที่ร่างกายทุกๆ วัน.
               บทว่า วสฺสสตมฺปิ จ ฆาโต เสยฺโย ความว่า ความทิ่มแทงด้วยหอกตามที่กล่าวแล้ว ตกต้องอยู่ทั้ง ๑๐๐ ปีไม่ว่างเลย ยังประเสริฐกว่า.
               บทว่า ทุกฺขสฺส เจวํ ขโย ความว่า ถ้าว่า ความหมดสิ้นไปแห่งทุกข์ในวัฏฏะ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ไซร้.
               อธิบายว่า ควรอดกลั้นทุกข์ที่เป็นไปใหญ่หลวงอย่างนี้แล้ว ทำความอุตสาหะเพื่อบรรลุพระนิพพาน.
               บทว่า อชฺฌุปคจฺเฉ แปลว่า พึงยอมรับ.
               บทว่า เอวํ แปลว่า โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว.
               ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               บุคคลใดรู้พระดำรัสของพระศาสดาที่แสดงถึงสังสารวัฏอันมีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว และทุกข์ในวัฏฏะที่นับไม่ได้ ยืนหยัดอยู่ พึงยอมรับทุกข์เพราะการทิ่มแทงด้วยหอก ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าหากว่าทุกข์ในวัฏฏะจะพึงหมดสิ้นไปได้ด้วยวิธีนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระนางสุเมธาจึงตรัสว่า สังสารวัฏยืดยาวสำหรับชนเหล่านั้นซึ่งเดือดร้อนอยู่ร่ำไป.
               อธิบายว่า สำหรับชนที่ถูกชาติชราพยาธิมรณะเป็นต้นเบียดเบียนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก.
               บทว่า อสุรกาเย ได้แก่ หมู่เปรตและอสูรมีกาลกัญชิกเปรตเป็นต้น.
               บทว่า ฆาตา ได้แก่ การทำร้าย การเบียดเบียนกายและจิต.
               บทว่า พหู ได้แก่ การทำร้ายมากมาย ที่เขาให้เป็นไปโดยการลงโทษมีจองจำ ๕ ประการเป็นต้น.
               บทว่า วินิปาตคตสฺส ได้แก่ ผู้เข้าถึงวินิบาต กล่าวคืออบายที่เหลือจากที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ปีฬิยมานสฺส ได้แก่ ถูกเบียดเบียนด้วยการเข่นฆ่าเป็นต้น ในอัตภาพที่เป็นสัตว์เดียรฉานเป็นต้น.
               บทว่า เทเวสุปิ อตฺตาณํ ความว่า แม้ในอัตภาพที่เป็นเทวดาก็ช่วยไม่ได้ เพราะมีทุกข์มีความคับแค้น ด้วยความเร่าร้อนด้วยราคะเป็นต้น.
               บทว่า นินฺพานสุขา ปรํ นตฺถิ ความว่า ธรรมดาสุขอื่นคืออย่างอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่าสุขในพระนิพพานไม่มี เพราะโลกิยสุขมีความแปรปรวนเป็นตัวปรุงมีทุกข์เป็นตัวสภาพ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้.
               บทว่า ปตฺตา เต นิพฺพานํ ความว่า ชนเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุพระนิพพานเลย. อีกนัยหนึ่ง ชนเหล่านั้นนั่นแหละบรรลุพระนิพพาน.
               บทว่า เย ยุตฺตา ทสพลสฺส ปาวจเน ความว่า ชนเหล่าใดขวนขวายในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า นิพฺพินฺนา แปลว่า เบื่อหน่าย.
               บทว่า เม แปลว่า อันลูก [เรา].
               บทว่า วนฺตสมา ได้แก่ เสมือนรากสุนัข.
               บทว่า ตาลวตฺถุกตา แปลว่า กระทำให้เป็นเสมือนที่ตั้งแห่งต้นตาล.
               บทว่า อถ แปลว่า ภายหลัง พระนางสุเมธากำลังทรงทำพระชนกชนนีให้ทรงทราบอัธยาศัยของพระองค์อยู่ ก็ทรงสดับว่า พระเจ้าอนิกรัตตะเสด็จมาถึงแล้ว.
               บทว่า อสิตนิจิตมุทุเก ได้แก่ ชื่อว่าดำสนิท เพราะมีสีเหมือนดอกอินทนิลและแมลงภู่. ชื่อว่ารวบไว้ เพราะทำให้เป็นก้อนไว้. ชื่อว่าอ่อนสลวย เพราะมีสัมผัสนุ่มดังปุยงิ้ว.
               บทว่า เกเส ขคฺเคน ฉินฺทิย ได้แก่ ทรงเอามีดที่ลับคมตัดพระเกศาของพระองค์.
               บทว่า ปาสาทํ ปิทหิตฺวา ได้แก่ ทรงปิดห้องอันมีสิริ บนปราสาทที่ประทับอยู่ของพระองค์. อธิบายว่า ทรงปิดพระทวารของห้องนั้น.
               บทว่า ปฐมชฺฌานํ สมาปชฺชิ ความว่า ทรงวางพระเกศาของพระองค์ที่ทรงเอาพระขรรค์ตัดไว้เบื้องพระพักตร์ ทรงดำเนินการมนสิการความเป็นของปฏิกูลในพระเกศานั้น ทรงเข้าปฐมฌานที่เกิดขึ้นในนิมิตตามที่ปรากฏอยู่ ให้ถึงความชำนาญ.
               อธิบายว่า พระนางสุเมธานั้นทรงเข้าฌานอยู่ในปราสาทนั้น.
               บทว่า อนิจฺจสญฺญํ สุภาเวติ ความว่า ทรงออกจากฌานแล้วทรงเริ่มวิปัสสนา ทำฌานให้เป็นบาท ทรงเจริญด้วยดีซึ่งอนิจจานุปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ด้วยอนิจจสัญญาศัพท์ในคำว่า อนิจฺจสญฺญํ ภาเวติ นี้ พึงทราบว่า เป็นอันท่านถือเอาทุกขสัญญาเป็นต้นด้วย.
               บทว่า มณิกนกภูสิตงฺโค ได้แก่ ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการ คือพวงมาลัยทองที่วิจิตรด้วยแก้วมณี.
               คำว่า รชฺเช อาณา เป็นต้น เป็นคำแสดงอาการที่ทรงวอนขอ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาณา ได้แก่ ความเป็นอธิบดี.
               บทว่า อิสฺสริยํ ได้แก่ ยศคือสมบัติความเจริญ.
               บทว่า โภคา สุขา ได้แก่ เครื่องอุปโภคที่เป็นกามอันน่าปรารถนา น่าพอใจ.
               บทว่า ทหริกาสิ ได้แก่ พระน้องนางก็เป็นสาวรุ่นแล้ว.
               บทว่า นิสฺสฏฺฐํ เต รชฺชํ ความว่า ราชกิจหมดทั้ง ๓ โยชน์ของพี่สละถวายพระน้องนางแล้ว ขอพระน้องนางโปรดทรงปฏิบัติราชกิจนั้น บริโภคโภคะทั้งหลายเถิด ขออย่าทรงเสียพระทัยว่า พระราชาพระองค์นี้เชิญชวนเราด้วยกามทั้งหลายเลย.
               บทว่า เทหิ ทานานิ ความว่า โปรดทรงดำเนินการถวายทานเป็นอันมากในสมณพราหมณ์ทั้งหลายตามชอบพระทัยเถิด พระชนกชนนีของพระน้องนาง ทรงเป็นทุกข์ ทรงโทมนัส ทรงสดับความประสงค์ในการทรงผนวชของพระน้องนางแล้ว เพราะฉะนั้น ขอพระน้องนางโปรดทรงบริโภคกาม ทรงบำรุงพระชนกชนนี เปลื้องจิตพระชนกชนนีเสียจากทุกข์เถิด.
               บัณฑิตพึงทราบการประกอบความของบทในข้อนี้ดังกล่าวมาฉะนี้.
               บทว่า มา กาเม อภินนฺทิ ได้แก่ อย่าทรงเพลิดเพลินวัตถุกามและกิเลสกาม โปรดทรงดูอาทีนพโทษในกามเหล่านั้น โปรดสำรวจด้วยญาณจักษุ ตามแนวถ้อยคำของหม่อมฉันด้วยเถิด.
               บทว่า จาตุทฺทีโป ได้แก่ เป็นเจ้าแห่งทวีปทั้ง ๔ มีชมพูทวีปเป็นต้น.
               บทว่า มนฺธาตา ได้แก่ พระราชามีพระนามอย่างนี้ ทรงเป็นเลิศคือเป็นยอดของผู้บริโภคกามทั้งหลาย
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ราหูเป็นยอดของผู้มีอัตภาพทั้งหลาย พระเจ้ามันธาตุราชทรงเป็นยอดของผู้บริโภคกามทั้งหลาย.
               บทว่า อติตฺโต กาลงฺกโต ความว่า ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๔,๐๐๐ ปีโดยทรงเป็นพระกุมารเล่น ๘๔,๐๐๐ ปี เป็นอุปราช ๘๔,๐๐๐ ปี เสวยโภคสมบัติเสมือนโภคสมบัติในเทวโลก ทั้งเสวยสวรรค์สมบัติในภพดาวดึงส์ ตลอดกาลเท่าอายุของท้าวสักกะ ๓๖ พระองค์ ไม่ทันทรงอิ่มด้วยกามทั้งหลายก็เสด็จสวรรคต ทั้งที่ความปรารถนาของพระองค์ก็ยังไม่เต็ม คือความหวังในกามทั้งหลายของพระเจ้ามันธาตุราชยังไม่บริบูรณ์.
               บทว่า สตฺต รตนานิ วเสยฺย ความว่า แม้ผิว่าเทพแห่งฝนพึงหลั่งรัตนะทั้ง ๗ ลงมา ตามความชอบใจเต็ม ๑๐ ทิศโดยรอบคือรอบๆ บุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่อิ่มกามทั้งหลายเหมือนพระเจ้ามันธาตุราช นรชนทั้งหลายทั้งที่ยังไม่อิ่มก็พากันตายไป.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส น กหาปณวสฺเสน ติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ ถึงฝนจะตกลงมาเป็นกหาปณะ ความอิ่มในกามทั้งหลายก็ไม่มี.
               กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว เพราะอรรถว่าคอยตัด เปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่ามีภัยเฉพาะหน้า เปรียบด้วยคบเพลิง คือคบเพลิงหญ้า เพราะอรรถว่าเผา.
               ด้วยเหตุนั้น พระสุเมธาเถรีจึงกล่าว อนุทหนฺติ ย่อมเผาผลาญ เปรียบด้วยร่างกระดูก เพราะอรรถว่ามีรสอร่อยน้อย.
               บทว่า มหาวิสา ได้แก่ เสมือนของมีพิษมาก มีพิษร้ายกาจเป็นต้น.
               บทว่า อฆมูลา ได้แก่ เป็นมูลเป็นเหตุแห่งความลำบาก คือทุกข์.
               ด้วยเหตุนั้น พระสุเมธาเถรีจึงกล่าวว่า ทุขปฺผลา มีทุกข์เป็นผล.
               เปรียบด้วยผลไม้ เพราะอรรถว่าหักรานความงอกของอวัยวะน้อยใหญ่ของต้นไม้ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อเพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณะมาก เปรียบด้วยความฝัน เพราะอรรถว่าปรากฏขึ้นมานิดหน่อย เพราะลวงเหมือนมายา [พยับแดดหรือเล่นกล]. ด้วยเหตุนั้น พระสุเมธาเถรีจึงกล่าวว่า วญฺจนียา อธิบายว่า หลอกลวง.
               บทว่า ยาจิตกูปมา ได้แก่ เสมือนสิ่งของที่ยืมเขามา เพราะอรรถว่าเป็นของชั่วคราว
               เปรียบด้วยหอกและหลาว เพราะอรรถว่า ทิ่มแทง. ชื่อว่าโรค เพราะอรรถว่าเสียดแทง เพราะเป็นทุกข์ได้ง่าย. ชื่อว่าฝี เพราะเป็นที่ไหลออกแห่งของไม่สะอาดคือกิเลส. ชื่อว่าอฆะ ลำบาก เพราะอรรถว่าให้เกิดทุกข์ ชื่อว่านิฆะ ยุ่งยาก เพราะให้ถึงตายได้. เสมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่า ทำให้ร้อนขนานใหญ่. ภัยชื่อว่าวธะ ผู้ฆ่า ประกอบความว่า กามทั้งหลายเพราะเป็นเหตุแห่งภัย และเพราะมากด้วยผู้ฆ่า.
               บทว่า อกฺขาตา อนฺตรายิกา ได้แก่ อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้มีจักษุ ตรัสไว้ว่า ทำอันตรายแก่การถึงทางไปสวรรค์และทางไปพระนิพพาน.
               พระนางสุเมธาทรงปล่อยพระเจ้าอนิกรัตตะพร้อมทั้งบริษัทไปด้วยพระเสาวนีย์ว่า คจฺฉถ โปรดเสด็จกลับไปเสียเถิดเพคะ.
               บทว่า กึ มม ปโร กริสฺสติ ความว่า เมื่อศีรษะคือกลางกระหม่อมของตัวเอง ถูกไฟ ๑๑ กองเผาอยู่ ผู้อื่นใครเล่าจักทำประโยชน์อะไรแก่หม่อมฉันได้ ด้วยเหตุนั้น พระสุเมธาเถรีจึงกล่าวว่า เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่ บุคคลควรพากเพียรพยายามกำจัดคือเพิกถอนชราและมรณะนั้น ซึ่งเป็นประดุจไฟเผาบนศีรษะเสีย.
               บทว่า ทีโฆ พาลานํ สํสาโร ความว่า สงสารกล่าวคือความเป็นไปตามลำดับของขันธ์อายตนะเป็นต้นที่เป็นตัววัฏฏะ คือกิเลสกรรมและวิบากยืดยาว แม้แต่พระพุทธญาณก็กำหนดไม่ได้ สำหรับเหล่าคนเขลาเหมือนคนตาบอดผู้ไม่กำหนดรู้วัตถุ [คืออวิชชา ๘ ประการ].
               จริงอยู่ เงื่อนต้นของการผูกติดไว้กับภพย่อมไม่ปรากฏ เพราะกำหนดอวิชชาตัณหาไม่ได้ เหตุตัดยังไม่ขาดอย่างใด แม้เงื่อนปลายก็ไม่ปรากฏอย่างนั้น.
               บทว่า ปุนปฺปุนํ จ โรทตํ ความว่า ผู้ร้องไห้ร้องแล้วร้องอีกโดยความโศกเคร้า. พระนางสุเมธาทรงชี้แจงความที่อวิชชาตัณหายังตัดไม่ขาด ด้วยบทนี้.
               บทว่า อสฺสุ ถญฺญํ รุธิรํ ความว่า น้ำตาอันใดของเหล่าสัตว์ที่ความพินาศของญาติเป็นต้นกระทบแล้วร้องไห้อยู่ น้ำนมอันใดที่เหล่าสัตว์ดื่มจากนมของมารดาเวลาเป็นทารก และน้ำเลือดอันใดของเหล่าสัตว์ที่ถูกปัจจามิตรทำร้าย, ขอพระองค์โปรดระลึกถึงสงสารเพราะมีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว คือการเวียนว่ายเที่ยวไปเที่ยวมาของเหล่าสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปโดยกาลอันยืดยาวนานนี้ เพราะสงสารมีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว คือเพราะสงสารมีเงื่อนงำที่ตามไปก็รู้ไม่ได้ ก็รู้แจ้งไม่ได้ด้วยญาณ โปรดทรงระลึกถึงน้ำตา น้ำนมและน้ำเลือดอันนั้นว่ามีมากเท่าไร โปรดระลึกนึกถึง.
               อธิบายว่า ทบทวนถึงการสั่งสมแห่งกระดูกทั้งหลาย.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงถึงอาทีนพโทษมีมากด้วยข้ออุปมา พระสุเมธาเถรีจึงกล่าวคาถาว่า สร จตุโรทธี อุปนีเต อสฺสุถญฺญรุธิมฺหิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สร จตุโรทธี ความว่า โปรดทรงระลึกนึกถึงทะเลทั้ง ๔ คือ ๔ มหาสมุทร ในน้ำตา น้ำนมและน้ำเลือด ของบรรดาเหล่าสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสงสารที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้นี้ คนหนึ่งๆ ซึ่งจะพึงเปรียบเทียบโดยประมาณคือจำนวน อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายเปรียบเทียบไว้แล้วโดยอุปมา.
               บทว่า เอกกปฺปมฏฺฐีนํ สญฺจยํ วิปุเลน สมํ ความว่า โปรดทรงระลึกถึงกองแห่งกระดูกทั้งหลาย ในกัปหนึ่งของบุคคลคนหนึ่งว่า เสมอคือนำมาเปรียบเทียบ กับภูเขาวิปุลบรรพต
               ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า :-
                                   พระผู้ทรงแสวงคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสไว้ว่า กองกระดูก
                         ของบุคคลคนหนึ่ง กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเสมอด้วยภูเขา ก็แล
                         ภูเขาลูกนี้นั้น ท่านเรียกว่าวิปุลบรรพต เป็นภูเขาใหญ่ยิ่งกว่า
                         ภูเขาคิชฌกูฏ อยู่ในกรุงราชคฤห์ปัญจคีรีนคร ราชธานีแห่ง
                         แคว้นมคธ.

               โปรดทรงระลึกถึงแผ่นดินชมพูทวีปที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาเปรียบเทียบ.
               บทว่า โกลฏฺฐิมตฺตคุฬิกา มาตามาตุเสฺวว นปฺปโหนฺติ ความว่า เมื่อทำแผ่นดินผืนใหญ่ที่เรียกกันว่าชมพูทวีป ให้เป็นก้อนขนาดเท่าเมล็ดโกละคือพุทรา จำแนกก้อนดินก้อนหนึ่งๆ ในชมพูทวีปนั้น อย่างนี้ว่า นี้มารดาเรา นี้ยายเรา ก้อนดินเหล่านั้นก็ไม่พอกับจำนวนมารดาและยาย เมื่อมารดาและยายยังไม่สิ้นไปเลย ก้อนดินเหล่านั้นก้อนสุดท้ายกลับจะหมดจะสิ้นสุดไปก่อน มารดาและยายของสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันมีเงื่อนต้นและเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว ก็ยังไม่หมดไม่สิ้นไป ขอพระองค์โปรดทรงกระทำแผ่นดินชมพูทวีปไว้ในใจน้อมนำมาเปรียบเทียบ โดยความยาวของสังสารวัฏ ดังกล่าวมาฉะนี้.
               บทว่า ติณกฏฺฐสาขาปลาสํ ได้แก่ หญ้า ไม้และกิ่งไม้แห้ง.
               บทว่า อุปนีตํ แปลว่า นำเข้ามาเปรียบเทียบ.
               บทว่า อนมตคฺคโต ได้แก่ เพราะสังสารวัฏมีเงื่อนต้นและเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว.
               บทว่า จตุรงฺคุลิกา ฆฏิกา ได้แก่ ชิ้นไม้ขนาด ๔ องคุลี.
               บทว่า ปิตุปิตุเสฺวว นปฺปโหนฺติ ความว่า ชิ้นไม้เหล่านั้นไม่พอกับจำนวนบิดาและปู่ทั้งหลาย ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า เมื่อทำหญ้า ไม้ และกิ่งไม้แห้งทั้งหมดในโลกนี้ ขนาดเท่า ๔ องคุลีแล้วจำแนกชิ้นไม้ชิ้นหนึ่งๆ ในบรรดาหญ้า ไม้และกิ่งไม้แห้งนั้นอย่างนี้ว่า นี้บิดาเรา นี้ปู่เรา ชิ้นไม้เหล่านั้นจะหมด จะสิ้นสุดไปก่อน บิดาและปู่ของสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้ว จะยังไม่หมดไม่สิ้นไป ขอพระองค์โปรดทรงระลึกถึงหญ้า ไม้และกิ่งไม้แห้ง น้อมนำมาเปรียบเทียบโดยความยาวของสังสารวัฏ ดังกล่าวมาฉะนี้.
               ก็ในที่นี้ ควรนำอนมตัคคะบาลีมาเป็นต้นว่า :-๑-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเงื่อนต้นเงื่อน
                         ปลายตามไปไม่รู้แล้ว เงื่อนต้นไม่ปรากฏ สำหรับ
                         เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่อง
                         ผูกไว้ ซึ่งโลดแล่นท่องเที่ยวไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
                         พวกเธอจะสำคัญอย่างไร กะข้อที่ว่าน้ำตาใสที่ไหล
                         พรากของเหล่าสัตว์ ผู้ครวญคร่ำร่ำไห้เพราะประจวบ
                         อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะพลัดพรากจากอารมณ์ที่
                         น่าพอใจ โลดแล่นท่องเที่ยวไปด้วยกาลอันยาวนานนี้
                         หรือน้ำใน ๔ มหาสมุทร อันไหนจะมากกว่ากัน.

____________________________
๑- สํ.นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๒๕

               บทว่า สร กาณกจฺฉปํ ความว่า โปรดทรงระลึกถึงเต่าตาบอดทั้งสองข้าง.
               บทว่า ปุพฺพสมุทฺเท อปรโต จ ยุคฉิทฺทํ ได้แก่ ช่องเดียวของแอกที่หมุนไปหมุนมา เพราะแรงเร็วของลมในสมุทรด้านทิศบูรพา และด้านทิศอื่นๆ คือในสมุทรด้านทิศปัจฉิมทิศอุดรและทิศทักษิณ.
               บทว่า สิรํ ตสฺส จ ปฏิมุกฺกํ ความว่า โปรดทรงระลึกถึงศีรษะของเต่าตาบอด และการที่ศีรษะของเต่าตาบอดนั้นซึ่งชูคอโดยล่วงไปทุกร้อยปี เข้าไปในช่องแอก.
               บทว่า มนุสฺสลาภมฺหิ โอปมฺมํ ความว่า โปรดทรงทำข้อนี้นั้นหมดทุกข้อให้เปรียบเทียบในความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เหมือนในพระธรรมเทศนาสมัยพุทธกาล แล้วใช้ปัญญาระลึกถึงความได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้น เป็นสภาพที่ได้ยากเหลือเกิน เพราะแม้ภัยแห่งความกำหนัดนัก [ร่าน] เป็นสภาพที่ล่วงไปแล้ว
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงซัดแอกที่มีช่องเดียวลงในมหาสมุทรฉันใด ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า สร รูปํ เผณปิณฺโฑปมสฺส ความว่า โปรดทรงระลึกถึงรูปที่ไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น มีภาวะเป็นของน่าเกลียดปฏิกูล ของโทษกล่าวคือกายเพราะเป็นที่ประชุมแห่งที่ไม่มีประโยชน์เป็นอเนก เสมือนก้อนฟองน้ำ เพราะไม่ทนต่อการกระทบ.
               บทว่า ขนฺเธ ปสฺส อนิจฺเจ ความว่า โปรดทรงระลึกคือตรวจด้วยญาณจักษุ ซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อัน ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วไม่มี.
               บทว่า สราหิ นิรเย พหุวิฆาเต ความว่า โปรดทรงระลึกถึงมหานรก ๘ ขุม อุสนรก ๑๖ ขุมที่มีความคับแค้นมาก คือมีทุกข์มาก มีทุกข์ใหญ่หลวง.
               บทว่า สร กฏสึ วฑฺเฒนฺเต ความว่า โปรดทรงรำลึกถึงเหล่าสัตว์ที่จะรกป่าช้า คือสุสานที่ฝังศพบ่อยๆ เพราะเกิดขึ้นร่ำไปคือไปๆ มาๆ ในชาตินั้นๆ.
               บาลีว่า วฑฺฒนฺโต ก็มี ประกอบความว่า พระองค์ทรงเพิ่ม.
               บทว่า กุมฺภีลภยานิ ได้แก่ ภัยคือความเห็นแก่ปากท้อง โดยความเป็นผู้ทำกิจที่ไม่ควร เพื่อเลี้ยงท้อง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า กุมภีลภยํ นี้เป็นชื่อของความเห็นแก่ปากท้อง.
               บทว่า สราหิ จตฺตาริ สจฺจานิ ความว่า โปรดทรงระลึกใคร่ครวญตามความเป็นจริงซึ่งอริยสัจ ๔ คือ นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต ๑. สุเมธาเถรีคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=10138&Z=10326
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7270
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7270
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :