ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               พระราชบุตรี ครั้นทรงประกาศอาทีนพโทษในกามและสงสาร โดยระลึกถึงอาการและขันธ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงประกาศอาทีนพโทษนั้นเพิ่มเติม จึงตรัสคาถามีว่า อมตมฺหิ วิชฺชมาเน เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมตมฺหิ วิชฺชมาเน ได้แก่ อันได้ชื่อว่าอมตสัทธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมนำมาเปรียบเทียบ ด้วยพระมหากรุณา.
               บทว่า กึ ตว ปญฺจกฏุเกน ปีเตน ความว่า ประโยชน์อะไรของพระองค์ด้วยรสในกามคุณ ๕ ที่เป็นรสเผ็ด ๕ อย่าง ซึ่งทรงดื่มแล้ว เพราะมีทุกข์ มีความคับแค้น เหตุติดตามทุกข์ที่กล้าแข็งกว่า ในฐานะทั้ง ๕ คือการแสวงหา การหวงแหน การรักษา การบริโภคและวิบาก.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงทำความที่กล่าวแล้วให้ปรากฏชัดแจ้ง จึงตรัสว่า สพฺพา หิ กามรติโย กฏุกตรา ปญฺจกฏุเกน อธิบายว่า เผ็ดร้อนอย่างยิ่งกว่า.
               บทว่า เย ปริฬาหา ความว่า กามเหล่าใดชื่อว่ามีความเร่าร้อน มีความคับแค้นมาก ด้วยความเร่าร้อนด้วยกิเลสในปัจจุบัน และเร่าร้อนด้วยวิบากในอนาคต.
               บทว่า ชลิตา กุถิตา กมฺปิตา สนฺตาปิตา ความว่า อันไฟ ๑๑ กองทำให้ลุกโพลงแล้ว เขย่า แผดเผา ผู้ที่พรักพร้อมด้วยกามนั้น.
               บทว่า อสปตฺตมฺหิ ได้แก่ เมื่อเนกขัมมะที่เว้นจากศัตรู.
               บทว่า สมาเน แปลว่า มีอยู่ เป็นอยู่.
               พระนางตรัสว่า พหุสปตฺตา แล้วก็ตรัสว่า ราชคฺคิ เป็นต้นก็เพื่อทรงแสดงภัยที่ให้มีศัตรูมาก พระนางตรัสอุปมาในภัยเหล่านั้น โดยทั่วๆ ไปด้วยพระราชา ไฟ โจร น้ำ ทายาทเป็นต้นที่ไม่รักกัน และด้วยราชภัย อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัยและอัปปิยภัย.
               บทว่า เยสุ วธมนฺโธ ความว่า แปลงโทษมีการทำให้ตาย การโบยเป็นต้น และการจำมีจำด้วยโซ่เป็นต้น เป็นเครื่องหมายกามในกามเหล่าใด คำว่า กาเมสุ เป็นต้น กระทำความที่กล่าวแล้วนั่นแลให้ปรากฏ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า เหตุ.
               เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านี้ย่อมเสวยคือประสบทุกข์ในการฆ่าและจองจำ ฉะนั้น พระนางสุเมธาจึงตรัสว่า อสกามา. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่ากามเหล่านี้เป็นของไม่ดี เลว ทราม.
               อีกอย่างหนึ่งบาลีว่า อหกามา ก็มี ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               ความจริง ศัพท์ว่า อห แปลว่า ทราม. เหมือนอหศัพท์ในประโยคว่า อหโลกิตฺถิโย ขึ้นชื่อว่าสตรีในโลกทราม.
               บทว่า อาทีปิตา แปลว่า โชติช่วงแล้ว.
               บทว่า ติณุกฺกา ได้แก่ คบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า.
               บทว่า ทหนฺติ เย เต น มุญฺจนฺติ ความว่า สัตว์เหล่าใดไม่ยอมปล่อยกามเหล่านั้น ชื่อว่ายึดถืออยู่โดยแท้ สัตว์เหล่านั้นก็ย่อมร้อน ย่อมไหม้ทั้งในปัจจุบันทั้งในอนาคต.
               บทว่า มา อปฺปกสฺส เหตุ ความว่า ขอพระองค์อย่าทรงละทิ้งโลกุตรสุขอันไพบูลย์ โอฬารและประณีต เพราะเหตุแห่งกามสุขเล็กน้อย ซึ่งเป็นเสมือนรสอร่อยของดอกไม้.
               บทว่า มา ปุถุโลโมว พฬิสํ คิลิตฺวา ความว่า พระองค์ไม่ทรงสละกามทั้งหลายแล้ว ก็จะเดือดร้อนภายหลัง คือคับแค้นในภายหลัง เหมือนปลาที่ได้ชื่อว่าสัตว์ไม่มีขน กลืนเบ็ดด้วยความโลภเหยื่อก็ถึงความย่อยยับ ฉะนั้น.
               บทว่า สุนโขว สงฺขลาพทฺโธ ความว่า สุนัขที่เขาล่ามเชือก เขาเอาเชือกผูกไว้ที่หลัก ก็ไปที่อื่นไม่ได้ หมุนอยู่ในที่นั้นนั่นเองฉันใด พระองค์ก็ถูกกามตัณหาผูกไว้ฉันนั้น บัดนี้ ขอพระองค์โปรดทรงบรรเทาความอยากในกามทั้งหลาย คือทรงฝึกอินทรีย์ทั้งหลายก่อน.
               ในบทว่า กาหินฺติ ขุ ตํ กามา ฉาตา สุนขํว จณฺฑาลา ความว่า ขุ เป็นเพียงนิบาต.
               ความว่า ก็กามเหล่านั้นจักทำผู้นั้นให้เป็นเหมือนคนจัณฑาลที่หิวจัด ได้สุนัขมาก็ทำให้พินาศได้ฉะนั้น.
               บทว่า อปริมิตฺตญฺจ ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ทางกายในนรกเป็นต้นที่หาประมาณมิได้ คือที่มิอาจจะกำหนดได้ว่าเท่านี้.
               บทว่า พหูนิ จ จิตฺตโทมนสฺสานิ ได้แก่ โทมนัสเป็นอันมากมิใช่น้อย ที่เขาได้รับอยู่ในจิต คือทุกข์ทางใจ.
               บทว่า อนุโภหิสิ แปลว่า จักเสวย.
               บทว่า กามยุตฺโต แปลว่า ผู้ประกอบด้วยกามทั้งหลาย คือผู้ไม่ยอมเสียสละกามเหล่านั้น.
               บทว่า ปฏินิสฺสชฺช อทฺธุเว กาเม ความว่า โปรดทรงพรากคือหลีกไปจากกามทั้งหลาย ที่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยงเสียเถิด.
               บทว่า ชรามรณพฺยาธิคหิตา สพฺพา สพฺพตฺถ ชาติโย ประกอบความว่า เพราะเหตุที่ชาติทั้งหลายในภพเป็นต้นทั้งหมด ซึ่งต่างโดยประเภทมีอย่างเลวเป็นต้น ถูกชรามรณะและพยาธิจับไว้ ไม่พ้นไปจากชรามรณะและพยาธินั้น ฉะนั้น เมื่อพระนิพพานที่ไม่ชรามีอยู่ พระองค์ยังจะได้ประโยชน์อะไรจากกามทั้งหลายที่ไม่พ้นไปจากชราเป็นต้นเล่า.
               พระนางสุเมธา ครั้นทรงประกาศอาทีนพโทษในกามและภพทั้งหลาย โดยมุขคือการแสดงคุณของพระนิพพานอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงประกาศคุณของพระนิพพานที่บังเกิดแล้วนี้แล จึงได้ตรัส ๒ คาถาโดยนัยว่า อิทมชรํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทมชรํ ความว่า พระนิพพานนี้นั้นเท่านั้น ชื่อว่าไม่ชรา เพราะไม่มีชราในตัวเอง และเพราะเป็นเหตุไม่มีชราสำหรับท่านผู้ถึงพระนิพพานแล้ว.
               แม้ในบทว่า อิทมมรํ นี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ด้วยบทว่า อิทมชรามรํ พระนางกล่าวชมเชย รวมบททั้งสองเข้าเป็นบทเดียวกัน.
               บทว่า ปทํ ชื่อว่า บท เพราะเป็นข้อที่ผู้ประสงค์จะพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ พึงบวช พึงดำเนิน. ชื่อว่าไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีเหตุแห่งความเศร้าโศกและไม่มีความเศร้าโศก. ชื่อว่าไม่มีข้าศึก เพราะไม่มีธรรมที่ทำให้เป็นข้าศึก. ชื่อว่าไม่มีความคับแค้น เพราะไม่มีความคับแค้นด้วยกิเลส. ชื่อว่าไม่มีผิดพลาด เพราะไม่มีธรรมที่นับได้ว่าผิดพลาด. ชื่อว่าไม่มีภัย เพราะไม่มีภัยมีการติตนเองเป็นต้นและภัยในวัฏฏะ. ชื่อว่าไม่ร้อน เพราะไม่มีความร้อนด้วยทุกข์ ทั้งกิเลส.
               พระนางตรัสคำนั้นทั้งหมด หมายเอาพระอมตมหานิพพานอย่างเดียว.
               ความจริง พระนางสุเมธานั้น เมื่อทรงบำรุงพระองค์เองโดยอาการที่สำเร็จด้วยการที่ทรงฟังเขามาเป็นต้น จึงตรัสว่า อิทํ นิพพานนี้ เหมือนทรงแสดงชัดแจ้งแก่ชนเหล่านั้น [พระชนกชนนี พระญาติและพระเจ้าอนิกรัตตะ].
               บทว่า อธิคตมิทํ พหูหิ อมตํ ความว่า พระอมตนิพพานนี้อันพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นอันมาก อนันต์ นับไม่ถ้วน ต่างบรรลุ ตรัสรู้ ทำให้ประจักษ์แก่ตนมาแล้ว.
               พระนางมิใช่ตรัสหมายถึงอมตนิพพานที่พระอริยะเหล่านั้นบรรลุแล้วอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้ แม้วันนี้ก็ควรจะได้ คือเดี๋ยวนี้ ก็ควรจะบรรลุ คืออาจบรรลุได้.
               หากจะถามว่า ใครควรจะได้.
               พระนางจึงตรัสว่า โย โยนิโส ปยุญฺชติ ประกอบความว่า บุคคลใดตั้งอยู่ในพระโอวาทที่พระศาสดาประทานไว้แล้ว พยายาม และทำการพากเพียรชอบ โดยแยบคาย โดยอุบาย อมตนิพพานอันบุคคลนั้นควรจะได้.
               บทว่า น จ สกฺกา อฆฏมาเนน ความว่า ส่วนบุคคลใดไม่พยายามโดยแยบคาย บุคคลผู้ไม่พยายามนั้น ก็ไม่ควรจะได้ คือไม่อาจจะได้ ไม่ว่าในกาลไรๆ.
               บทว่า เอวํ ภณติ สุเมธา ความว่า พระนางสุเมธาราชธิดาตรัสธรรมกถาอันแสดงความสังเวชของพระองค์ในสังสารวัฏ เป็นส่วนแห่งการชำแรกในกามทั้งหลายอย่างนี้ โดยประการที่ตรัสมาแล้ว.
               บทว่า สงฺขารคเต รตึ อลภมานา ได้แก่ เมื่อไม่ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ในสังขารที่เป็นไปอยู่ แม้เพียงเล็กน้อย.
               บทว่า อนุเนนฺตี อนิกรตฺตํ ได้แก่ เมื่อทรงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าอนิกรัตตะ.
               บทว่า เกเส จ ฉมํ ขิปิ ได้แก่ ก็ทรงโยนทิ้งพระเกศาที่ทรงตัดด้วยพระขรรค์ของพระองค์ไปที่พื้น.
               บทว่า ยาจตสฺสา ปิตรํ โส ความว่า พระเจ้าอนิกรัตตะนั้นทูลวอนพระเจ้าโกญจะ พระชนกของพระนางสุเมธานั้น.
               หากจะถามว่า ทรงทูลวอนว่าอย่างไร.
               พระเจ้าอนิกรัตตะตรัสว่า ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยพระนางสุเมธาให้ทรงผนวชเถิด พระนางคงจะทรงเห็นวิโมกข์และสัจจะแน่.
               อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยพระนางสุเมธาราชบุตรีเพื่อทรงผนวชเถิด ด้วยว่าพระนางทรงผนวชแล้ว คงจะทรงเห็นวิโมกข์และสัจจะ คือทรงเห็นพระนิพพานอันไม่วิปริต.
               บทว่า โสกภยภีตา ได้แก่ทรงกลัวภัยในสังสารวัฏทุกอย่าง เพราะมีความพลัดพรากจากญาติเป็นต้นเป็นเหตุ ทรงหวาดสะดุ้ง โดยพระญาณอย่างยอดเยี่ยม.
               บทว่า สิกฺขมานาย ความว่า พระนางกำลังทรงศึกษาก็ทรงกระทำให้แจ้งอภิญญา ๖ ขณะนั้นนั่นเอง ก็ทรงกระทำให้แจ้งพระอรหัตซึ่งเป็นผลอันเลิศ.
               บทว่า อจฺฉริยมพฺภุตํ ตํ นิพฺพานํ อาสิ ราชกญฺญาย ความว่า ความดับสนิทจากกิเลสทั้งหลายอันอัศจรรย์ ไม่เคยมี ก็ได้มีแก่พระนางสุเมธาราชบุตรี.
               หากจะถามว่า พระนางสุเมธาทรงกระทำให้แจ้งอภิญญา ๖ หรือ.
               พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ปุพฺเพนิวาสจริตํ ยถา พฺยากริ ปจฺฉิเม กาเล ความว่า พระนางทรงพยากรณ์จริยาที่นับเนื่องในปุพเพนิวาสานุสสติญาณของพระองค์ในกาลสุดท้าย คือในเวลาดับขันธ์ปรินิพพานฉันใด บัณฑิตก็พึงทราบจริยานั้นฉันนั้น.
               ก็ปุพเพนิวาสญาณ พระนางทรงพยากรณ์แล้วโดยประการใด เพื่อทรงแสดงประการนั้น พระนางจึงตรัสว่า ภควติ โกนาคมเน เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภควติ โกนาคมเน ความว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ทรงอุบัติขึ้นในโลก.
               บทว่า สงฺฆารามมฺหิ นวนิเวสมฺหิ ความว่า เมื่ออารามที่ข้าพระองค์สร้างอุทิศพระสงฆ์เสร็จใหม่ๆ.
               บทว่า สขิโย ติสฺโส ชนิโย วิหารทานํ อทาสิมฺห ความว่า เรา ๓ สหาย คือ ธนัญชานี เขมาและข้าพระองค์ ได้ช่วยกันถวายวิหารเป็นอารามแด่พระสงฆ์.
               บทว่า ทสกฺขตฺตุํ สตกฺขตฺตุํ ความว่า ด้วยอานุภาพของวิหารทานนั่น เราเกิดในเทวดา ๑๐ ครั้ง ต่อจากนั้นก็เกิดในมนุษย์แล้วเกิดในเทวดาอีก ๑๐๐ ครั้ง ต่อจากนั้นก็เกิดในมนุษย์ แล้วเกิดในเทวดาอีก ๑๐๐ ครั้ง ๑๐ หน คือ ๑,๐๐๐ ครั้ง ต่อจากนั้นก็เกิดในมนุษย์ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง จะป่วยกล่าวไปไยในมนุษย์ทั้งหลาย คือไม่มีถ้อยคำที่จะกล่าวในครั้งที่เกิดในมนุษย์ทั้งหลาย อย่างนั้น. อธิบายว่า เราเกิดหลายพันครั้ง.
               บทว่า เทเวสุ มหิทฺธิกา อหุมฺห ความว่า เรามีฤทธิมากมีอานุภาพมาก ในหมู่เทพนั้นๆ เวลาเกิดในเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า มานุสกมฺหิ โก ปน วาโท ได้แก่ ไม่มีถ้อยคำที่จะกล่าวถึงความที่เรามีฤทธิ์มาก ในเวลาได้อัตภาพเป็นมนุษย์.
               บัดนี้ พระนางเมื่อทรงแสดงความอุกฤษฏ์ ความมีฤทธิ์มาก ในเวลาได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นนั่นแล จึงตรัสว่า สตฺตรตนสฺส มเหสี อิตฺถิรตนํ อหํ อาสึ เป็นต้น.
               ในคำนั้น รัตนะ ๗ ประการมีจักรรัตนะเป็นต้นมีแก่พระราชานั้น เหตุนั้น พระราชานั้นชื่อว่าสัตตรัตนะ มีรัตนะ ๗ ประการ คือพระเจ้าจักรพรรดิ ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการนั้น ข้าพระองค์ได้เป็นรัตนะในอิตถีทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยคุณมีเป็นต้นอย่างนี้คือ เว้นจากโทษ ๖ มีความงาม ๕ มีผิวพรรณเกินผิวพรรณมนุษย์ มีวรรณะดังทิพย์ที่มนุษย์ไม่เคยพบ.
               บทว่า โส เหตุ ความว่า กุศลคือวิหารทานที่ข้าพระองค์กระทำแด่พระสงฆ์ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ เป็นเหตุแห่งทิพยสมบัติตามที่กล่าวแล้ว.
               คำว่า โส ปภโว ตํ มูลํ เป็นคำบรรยายของคำว่า โส เหตุนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า สาว สาสเน ขนฺติ ความว่า นั้นนั่นแลเป็นความอดทนในการเพ่งธรรมในพระศาสนาของพระศาสดานี้.
               บทว่า ตํ ปฐมสโมธานํ ได้แก่ นั้นนั่นแลเป็นที่ชุมนุมครั้งแรก คือเป็นปฐมสมาคมโดยศาสนาธรรมของพระศาสดา.
               พระนางตรัสเหตุโดยใกล้ชิดผลว่า นั้นนั่นแหละเป็นนิพพานในที่สุด สำหรับข้าพระองค์ ซึ่งยินดีอย่างยิ่งในศาสนธรรมของพระศาสดา.
               ก็ ๔ คาถานี้ พระสังคีติกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนาไว้แม้ในอปทานบาลี เพราะเป็นไปด้วยการชี้แจงอปทาน จริตที่ไม่ขาดสายของพระเถรี.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาสุดท้ายดังนี้.
               บทว่า เอวํ กโรนฺติ ความว่า ข้าพระองค์ทำการปฏิบัติในอัตภาพก่อนๆ และในอัตภาพนี้ฉันใด แม้ชนเหล่าอื่นก็กระทำคือปฏิบัติฉันนั้น.
               ถ้าจะถามว่า ชนเหล่าไหนกระทำอย่างนี้.
               พระเถรีจึงกล่าวว่า เย สทฺทหนฺติ วจนํ อโนมปญฺญสฺส ความว่า บุคคลเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาเต็มเปี่ยม เพราะทรงมีไญยปริยันติกญาณ คือเชื่อมั่นว่า นี้เป็นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นย่อมทำคือปฏิบัติอย่างนี้.
               บัดนี้ พระเถรีเพื่อแสดงความข้อนั้นแห่งการปฏิบัติที่เป็นไปอย่างอุกฤษฏ์นั้น จึงกล่าวว่า นิพฺพินฺทนฺติ ภวคเต นิพฺพินฺทิตฺวา วิรชฺชนฺติ.
               ข้อนั้นมีความว่า
               บุคคลเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามเป็นจริง บุคคลเหล่านั้น เมื่อปฏิบัติวิสุทธิปฏิปทา ย่อมเบื่อหน่ายด้วยวิปัสสนาปัญญา ในภพคือสังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด ก็แลครั้นเบื่อหน่ายแล้วย่อมคลายกำหนัดโดยประการทั้งปวง ด้วยอริยมรรค ย่อมหลุดพ้นจากภพแม้ทั้งหมด.
               อธิบายว่า เมื่ออริยมรรคที่เป็นวิราคธรรมอันบุคคลบรรลุแล้ว บุคคลผู้บรรลุนั้นย่อมเป็นผู้หลุดพ้นโดยแท้แล.
               พระเถรีดังกล่าวมาเหล่านี้มีพระเถริกาเป็นองค์ต้น มีพระสุเมธาเถรีเป็นองค์สุดท้าย.
               พระสังคีติกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนา รวมไว้แห่งเดียวกันในที่นี้ โดยเป็นสภาคกันโดยคาถา มีจำนวน ๗๓ รูป#- แต่เมื่อกล่าวโดยภาณวาร เถรีคาถามีจำนวน ๖๐๒ คาถา.##-
____________________________
#- บาลีว่า ๗๑ รูป. ##- บาลีว่า ๕๙๔ คาถา

               พระเถรีทั้งหมดนั้น ชื่อว่ามีประเภทเดียวโดยเป็นสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันใด มีประเภทเดียวโดยเป็นพระอเสขะ โดยถอนกิเลสดุจกลอนเหล็กได้แล้ว โดยกลบกิเลสดุจคูเสียแล้ว โดยเพิกถอนกิเลสเสียแล้ว โดยไม่มีกิเลสดุจลิ่มสลัก โดยปลงภาระลงแล้ว โดยไม่มีสังโยชน์แล้ว และโดยอยู่จบธรรมเครื่องอยู่ในอริยวาส ๑๐ แล้วก็ฉันนั้น.
               จริงอย่างนั้น พระเถรีเหล่านั้น ชื่อว่ามีประเภทเดียวโดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ คือ ผู้ละองค์ ๕ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ผู้มีเครื่องอารักขา ๑ ผู้มีอปัสเสนธรรม ๔ ผู้เป็นปณุนนปัจเจกสัจจะ (บรรเทาสัจจะเฉพาะอย่าง) ผู้เป็นสมวยสัฏเฐสนะ ผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัว ผู้มีกายสังขารอันระงับแล้ว ผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดี และผู้มีปัญญาหลุดพ้นด้วยดี
               ชื่อว่ามี ๒ ประเภทต่างโดยเป็นสาวิกาต่อหน้าและเป็นสาวิกาลับหลัง.
               จริงอยู่ พระเถรีเหล่าใดเกิดในอริยชาติ [เป็นพระอริยะ] เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ มีพระมหาปชาบดีโคตมีเป็นต้น พระเถรีเหล่านั้น ชื่อว่าสาวิกาต่อหน้า.
               ส่วนพระเถรีเหล่าใดได้บรรลุคุณวิเศษ ภายหลังแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระเถรีเหล่านั้น แม้เมื่อพระธรรมสรีระของพระศาสดายังประจักษ์อยู่ ก็ชื่อว่าสาวิกาลับหลัง เพราะพระสรีระของพระศาสดา ไม่ประจักษ์แล้ว.
               ชื่อว่ามี ๒ ประเภท โดยเป็นอุภโตภาควิมุตติและปัญญาวิมุตติ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน แต่พระเถรีที่มาในพระบาลีนี้ เป็นอุภโตภาควิมุตติทั้งนั้น.
               ชื่อว่ามี ๒ ประเภทโดยต่างเป็นผู้มีอปทานและไม่มีอปทาน ก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               ก็อปทานกล่าวคือความเป็นผู้บำเพ็ญบารมี โดยการกระทำบุญมาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในพระปัจเจกพุทธเจ้า และในพระสาวกพุทธะ ของพระเถรีเหล่าใดมีอยู่ พระเถรีเหล่านั้น ชื่อว่ามีอปทาน. อปทานนั้นของพระเถรีเหล่าใดไม่มี พระเถรีเหล่านั้น ชื่อว่าไม่มีอปทาน.
               มี ๒ ประเภท คือผู้ได้อุปสมบทจากพระศาสดา ผู้ได้อุปสมบทจากสงฆ์.
               จริงอยู่ พระมหาปชาบดีโคตมีผู้ได้อุปสมบท เพราะรับครุธรรม ชื่อว่าได้อุปสมบทจากพระศาสดา เพราะได้อุปสมบทจากสำนักพระศาสดา พระเถรีนอกนั้นทั้งหมดชื่อว่าได้อุปสมบทจากสงฆ์
               พระเถรีที่ได้อุปสมบทจากสงฆ์แม้เหล่านั้นก็มี ๒ ประเภท คือผู้ได้อุปสมบทจากสงฆ์ฝ่ายเดียว ผู้ได้อุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย.
               บรรดาพระเถรีเหล่านั้น พระเถรีที่เป็นเจ้าหญิงศากยะ ๕๐๐ องค์ออกผนวชพร้อมกับพระมหาปชาบดีโคตมี ชื่อว่าได้อุปสมบทจากสงฆ์ฝ่ายเดียว เว้นพระมหาปชาบดีโคตมี เพราะได้อุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว นอกจากนี้ ชื่อว่าได้อุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย เพราะได้อุปสมบทจากอุภโตสงฆ์.
               ในที่นี้ ไม่ได้หมวดสองสำหรับเอหิภิกขุนีเหมือนหมวดสองของเอหิภิกขุ เพราะเหตุไร เพราะการอุปสมบทอย่างนั้นของภิกษุณีทั้งหลาย ไม่มี.
               ผิว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คำนั้นใด พระภัททากุณฑลเกสาเถรีกล่าวไว้ในเถรีคาถาว่า นิหจฺจ ชาณุํ วนฺทิตฺวา เป็นต้น แปลว่า
                                   ข้าพเจ้าคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีต่อพระพักตร์
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งว่า มาเถิด ภัททา พระดำรัส
                         สั่งนั้น เป็นอาสูปสัมปทา บวชโดยอาสาของข้าพเจ้า.

               กล่าวคาถาไว้ในคัมภีร์อปทานว่า๑- อายาจิโต ตทา อาห เป็นต้น แปลว่า
                                   ครั้งนั้น พระผู้เป็นนายกถูกข้าพเจ้าทูลวอนแล้ว
                         ก็ตรัสสั่งว่า มาเถิดภัททา ครั้งนั้นข้าพเจ้าอุปสมบท
                         ได้เห็นน้ำเล็กน้อย.

____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ ข้อ ๑๖๑ กุณฑลเกสีเถรีอปทาน

               คำนั้น พระภัททากุณฑลเกสาเถรีกล่าวทำไม คำนี้พระเถรีมิได้กล่าวหมายถึงการอุปสมบท โดยเป็นเอหิภิกขุนีอุปสัมปทา แต่ท่านกล่าวเพราะเป็นเหตุแห่งการอุปสมบทว่า พระดำรัสสั่งของพระศาสดา เป็นอาสูปสัมปทา การบวชโดยอาสาของข้าพเจ้า.
               จริงอย่างนั้น ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า พระภัททากุณฑลเกสาเถรีกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า มาเถิด ภัททา ไปสำนักภิกษุณี บรรพชาอุปสมบทเสียในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย พระดำรัสสั่งของพระศาสดานั้นได้เป็นอุปสมบทของข้าพเจ้า เพราะเป็นเหตุแห่งการบวชของข้าพเจ้า บัณฑิตพึงเห็นว่า ท่านพรรณนาแม้ความแห่งอปทานคาถา โดยนัยอย่างนี้นี่แล.
               แม้เมื่อเป็นดังนั้น ในภิกขุนีวิภังค์ คำนี้ว่า มาเถิด ภัททา ท่านกล่าวทำไม คำนี้เป็นคำส่องความไม่มีสภาพแห่งการบวชของภิกษุณีทั้งหลายว่าเป็นเอหิภิกขุนี เพราะการบวชอย่างนั้นไม่มีแก่ภิกษุณีทั้งหลาย.
               ผิว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไม ท่านจึงนิเทศคำอธิบายไว้ในวิภังค์ว่า เอหิภิกฺขุนี ก็เพราะการบวชนั้นตกอยู่ในกระแสแห่งเทศนานัย.
               จริงอยู่ ธรรมดาความที่การอุปสมบทตกอยู่ในกระแสนี้ มิใช่บังคับแก่เรื่องที่ได้อยู่ในที่ไหนๆ.
               องค์ฌานแม้นี้ได้อยู่ ในมโนธาตุนิเทศ ในอภิธรรมท่านก็มิได้ยกขึ้นโดยความเป็นองค์ฌานที่ตกอยู่ในกระแสแห่งปัญจวิญญาณ เพราะไม่มีเทศนาไว้ในที่ไหนๆ ฉันใด หทัยวัตถุ ในวัตถุนิเทศในอภิธรรมนั้นนั่นแหละ ท่านก็มิได้ยกขึ้น โดยถือเอาหทัยวัตถุที่ไม่ได้อยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด ในฐิตกัปปินิเทศก็ฉันนั้น
               เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒-
                                   ก็ฐิตกัปปีบุคคลเป็นไฉน. คือบุคคลนี้ ปฏิบัติ
                         เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล มีอยู่ และเวลาไหม้ของ
                         กัปก็มีอยู่ กัปจะยังไม่ไหม้ไป ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยัง
                         ไม่ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล.

____________________________
๒- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๓๓

               แม้ในที่นี้ บัณฑิตก็พึงทราบโดยการถือเอาการบวชที่ยังไม่ได้อยู่อย่างนั้น ก็คำนี้เป็นคำปริกัป ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสกะมาตุคาม [หญิง] ไรๆ ซึ่งควรแก่ความเป็นภิกษุณีว่า เอหิ ภิกฺขุนี ไซร้ ความเป็นภิกษุณีก็จะพึงมีได้แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
               ถามว่า ก็เหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสอย่างนี้.
               ตอบว่า เพราะไม่มีบุคคลผู้สร้างสมบารมีอย่างนั้น.
               แต่อาจารย์พวกใดกล่าวเหตุไว้ว่า เพราะบุคคลทั้งหลายอยู่ไม่ใกล้ชิด [พระพุทธเจ้า] แล้วกล่าว เพราะว่าพวกภิกษุเท่านั้นเที่ยวใกล้ชิด อยู่ใกล้ชิดพระศาสดา เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงควรเรียกว่า เอหิภิกษุ พวกภิกษุณีไม่ควรเรียกว่า เอหิภิกขุนี. คำนั้นก็เป็นเพียงมติของอาจารย์พวกนั้น. เพราะความเป็นผู้ใกล้และไกลพระศาสดา ไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภัพพบุคคลและอภัพพบุคคลได้.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า ภิกษุพึงจับชาย
                         สังฆาฏิ ติดตามไปข้างหลัง สะกดรอยเท้าไป แต่ภิกษุ
                         นั้นมีอภิชฌามาก ร่านแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิต
                         คิดพยาบาท มีความดำริแห่งใจร้าย หลงลืมสติ ไม่มี
                         สัมปชัญญะ ใจไม่มั่นคง มีจิตหมุน มีอินทรีย์ไม่สำรวม
                         โดยที่แท้ ภิกษุนั้นยังไกลเรา และเราก็ไกลภิกษุนั้น
                                   ข้อนั้น เพราะเหตุไร
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็น
                         ธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่าภิกษุนั้นอยู่ไกล
                         ถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌามาก ไม่
                         ร่านแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตคิดพยาบาท ไม่
                         ดำริแห่งใจร้าย มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มี
                         จิตมีอารมณ์เดียว สำรวมอินทรีย์ ที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้
                         เรา และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น
                                   ข้อนั้น เพราะเหตุไร
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นเห็นธรรม
                         เมื่อเห็นธรรม ก็ชื่อว่าเห็นเรา ดังนี้.

____________________________
๓- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๒

               เพราะฉะนั้น ความที่บุคคลอยู่ใกล้และไกลพระศาสดา โดยเทศะไม่ใช่เหตุเลย ส่วนความที่ภิกษุณีทั้งหลาย ไม่คู่ควรในเรื่องเอหิภิกขุนีอุปสัมปทานั้น ก็เพราะภิกษุณีเหล่านั้นไม่ได้สร้างสมบารมีไว้
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า หมวดสองแห่งเอหิภิกขุนี ไม่ได้ในข้อนี้ พระเถรีมี ๒ ประเภทดังกล่าวมานี้.
               พระเถรีมี ๓ ประเภท คืออัครสาวิกา มหาสาวิกา ปกติสาวิกา.
               ใน ๓ ประเภทนั้น พระเถรี ๒ รูป คือ พระเขมา พระอุบลวรรณา ชื่อว่าอัครสาวิกา. พระเถรีผู้เป็นพระขีณาสพแม้ทุกรูป ทำศีลสุทธิเป็นต้นให้ถึงพร้อม มีจิตมั่นคงอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ทำกิเลสให้สิ้นไปไม่เหลือตามลำดับมรรค ดำรงอยู่ในผลอันเลิศก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น พระขีณาสวเถรีทั้งหลาย ชื่อว่ามหาสาวิกา ก็เพราะเป็นพระสาวิกาผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น เพราะคุณวิเศษอันดียิ่ง สำเร็จแล้วในสันดานของตน ด้วยความเป็นผู้ยิ่งใหญ่โดยอภินิหารและมีความยิ่งใหญ่โดยบุพประโยค [บุพกรรม] เหมือนคุณวิเศษที่ปรารถนากัน สำเร็จด้วยความวิเศษแห่งการเจริญปุพภาคของทิฏฐิปัตตบุคคล โดยสัทธาวิมุต และของอุภโตภาควิมุตบุคคล โดยปัญญาวิมุต ฉะนั้น
               ก็พระขีณาสวเถรีแม้ทั้งสองรูปนั้น ชื่อว่าอัครสาวิกา ก็เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นเลิศด้วยคุณทุกอย่าง พร้อมทั้งความวิเศษ ด้วยการบรรลุบารมีชั้นอุกฤษฏ์ในปัญญาและสมาธิตามลำดับ ด้วยสัมมาปฏิบัติที่เกิดมาช้านาน ไม่ว่างเว้น โดยเคารพ เพราะเป็นผู้มีอภินิหารเกิดแต่สัมมาทิฏฐิสัมมาสมาธินั้น อันเหตุเกิดอานุภาพแห่งการทำที่ดียิ่งของสัมมาทิฏฐิและสัมมาสมาธิอันเป็นธุระ โดยเป็นประธานในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นนั่นแล.
               ส่วนพระขีณาสวเถรีมีพระมหาปชาบดีโคตมีเป็นต้น ชื่อว่ามหาสาวิกา เพราะเป็นพระสาวิกาผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยคุณวิเศษที่ได้เพราะเป็นผู้ยิ่งใหญ่โดยอภินิหาร และเพราะเป็นผู้ยิ่งใหญ่โดยบุพประโยค
               พระเถรีนอกนี้เป็นต้นอย่างนี้คือ พระเถรีกา พระติสสา พระวีรา พระธีรา ชื่อว่าปกติสาวิกา เพราะไม่มีคุณวิเศษ มีความเป็นผู้ยิ่งใหญ่โดยอภินิหารเป็นต้น.
               ก็พระปกติสาวิกาเหล่านั้น ไม่นับเหมือนพระอัครสาวิกาและพระมหาสาวิกา ที่แท้พึงทราบว่า พระปกติสาวิกาเหล่านั้นมีจำนวนหลายร้อยหลายพัน.
               พระเถรีมี ๓ ประเภทโดยประเภทอัครสาวิกาเป็นต้น ดังกล่าวมาฉะนี้.
               มี ๓ ประเภทโดยประเภทสุญญตวิโมกข์เป็นต้น ก็เหมือนอย่างนั้น.
               มี ๔ ประเภทโดยจำแนกตามปฏิปทาเป็นต้น. มี ๕ ประเภท โดยจำแนกตามความยิ่งด้วยอินทรีย์เป็นต้น.
               มี ๕ ประเภทโดยจำแนกตามข้อปฏิบัติเป็นต้นก็เหมือนอย่างนี้.
               มี ๖ ประเภทมีอนิมิตตวิมุตตเป็นต้น.
               มี ๗ ประเภทโดยประเภทอธิมุตติ.
               มี ๘ ประเภทโดยจำแนกตามธุรปฏิปทาเป็นต้น.
               มี ๙ ประเภทและ ๑๐ ประเภทโดยจำแนกตามวิมุตติ.
               ก็พระเถรีเหล่านั้นๆ จำแนกโดยประเภทธุระ ตามที่กล่าวแล้วก็มี ๒๐ ประเภท. จำแนกโดยปฏิปทาก็มี ๔๐ ประเภท. จำแนกตามประเภทแห่งปฏิปทา ตามประเภทแห่งธุระ ก็มีอีก ๘๐ ประเภท.
               ก็หรือว่า จำแนกตามวิภาคแห่งสุญญตวิมุตตบุคคลเป็นต้นก็มี ๒๔๐ ประเภท. จำแนกโดยวิภาคตามบุคคลที่ยิ่งด้วยวิริยะเป็นต้น ก็มี ๑,๒๐๐ ประเภท.
               บัณฑิตพึงทราบว่า พระเถรีเหล่านั้นต่างกันมากประเภท ก็โดยคุณของตนอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.
               ความสังเขปในเถรีคาถานี้ มีดังกล่าวมานี้.
               ส่วนความพิศดารพึงถือตามนัยที่กล่าวแล้วในอรรถกถาเถรีคาถาในหนหลังแล.


               จบอรรถกถาสุเมธาเถรีคาถา               
               จบอรรถกถามหานิบาต               
               -----------------------------------------------------               

               ในเถรีคาถานี้รวมเป็นคาถา ๔๙๔ คาถา พระเถรี ๗๑ รูปนั้นล้วนแต่เป็นผู้สิ้นอาสวะ.
               เถรีคาถาจบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

               คาถาท้ายอรรถกถาเถรีคาถา               
                         ด้วยกถาพรรณนาความดังกล่าวมาฉะนี้
                                   พระสาวกเหล่านั้นใดมีพระสัทธรรมพรั่งพร้อม
                         เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระ
                         ศาสดาผู้เป็นจอมทัพธรรม เป็นทายาท ถูกเนรมิตโดย
                         ธรรม สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว
                         ไม่มีอาสวะ เป็นพระเถระก็มี เช่นท่านพระสุภูติเป็นต้น
                         เป็นพระเถรีก็มี เช่นพระเถริกาเป็นต้น พระสาวกเหล่า
                         นั้นกล่าวคาถาเหล่าใดไว้ ด้วยวิธีพยากรณ์พระอรหัต
                         เป็นต้น.
                                   พระมหาเถระทั้งหลาย [พระสังคีติกาจารย์ผู้ทำ
                         ปฐมสังคายนา ๕๐๐ องค์] ช่วยกันรวบรวมคาถาเหล่า
                         นั้นทั้งหมด ยกขึ้นสู่บาลีสังคายนา ชื่อว่าเถรคาถา เถรี
                         คาถา.
                                   เพื่อประกาศความของเถรคาถาและเถรีคาถา
                         เหล่านั้น ข้าพเจ้าอาศัยนัยที่มาในอรรถกถาเดิม จึง
                         เริ่มแต่งอรรถสังวรรณนาอันใด อรรถสังวรรณนาอัน
                         นั้นประกาศอรรถอันยอดเยี่ยมในเถรคาถาและเถรี
                         คาถานั้น ตามความเหมาะสมในที่นั้นๆ โดยชื่อว่า
                         ปรมัตถนีปนี มีวินิจฉัยอันไม่สับสน ก็ถึงการจบลง
                         โดยบาลีประมาณ ๙๒ ภาณวาร.
                                   ดังนั้น บุญนั้นใดอันข้าพเจ้าผู้แต่งคัมภีร์ปรมัตถ
                         ทีปนีนั้น ได้ประสบแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ขอ
                         สัตว์ทั้งปวงหยั่งลงถึงศาสนาของพระโลกนาถ ด้วยข้อ
                         ปฏิบัติมีศีลเป็นต้นอันบริสุทธิ์ จงเป็นภาคี มีส่วนแห่ง
                         วิมุตติรส.
                                   ขอศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงอยู่
                         ยั่งยืนในโลก ขอสรรพสัตว์จงมีความเคารพในศาสนา
                         ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นเนืองนิจ.
                                   ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล
                                   ขอพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงยินดีเป็นนิจในพระสัท
                         ธรรม โปรดทรงปกครองสัตวโลก โดยธรรมเทอญ.

               จบกถาพรรณนาความแห่งเถรีคาถาซึ่งท่านพระอาจารย์ธรรมปาลเถระ ผู้อยู่พทรติตถวิหาร [วัดท่าพุทรา] รจนาไว้.

               อรรถกถาเถรีคาถาจบบริบูรณ์               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา มหานิบาต ๑. สุเมธาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 473อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=10138&Z=10326
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7270
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7270
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :