ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

หน้าต่างที่ ๗ / ๙.

               พระโพธิสัตว์ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก โดยให้ลำต้นโพธิ์อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ เป็นผู้มีพระมนัสมั่นคง ทรงนั่งคู้อปราชิตบัลลังก์ ซึ่งแม้สายฟ้าจะผ่าลงตั้ง ๑๐๐ ครั้งก็ไม่แตกทำลาย โดยทรงอธิษฐานว่า
               เนื้อและเลือดในสรีระนี้แม้ทั้งสิ้นจงเหือดแห้งไป จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูก ก็ตามที.
               เราไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณบนบัลลังก์นี้แหละ จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้.

               สมัยนั้น เทวปุตตมารคิดว่า สิทธัตถกุมารประสงค์จะก้าวล่วงอำนาจของเรา บัดนี้ เราจักไม่ให้สิทธัตถกุมารนั้นล่วงพ้นไปได้ จึงไปยังสำนักของพลมาร บอกความนั้น ให้โห่ร้องอย่างมาร แล้วพาพลมารออกไป ก็เสนามารนั้นมีข้างหน้ามาร ๑๒ โยชน์ ข้างขวาและข้างซ้ายข้างละ ๑๒ โยชน์ ส่วนข้างหลังเสนามารตั้งจรดขอบจักรวาลสูงขึ้นด้านบน ๙ โยชน์ ซึ่งเมื่อบันลือขึ้น เสียงบันลือจะได้ยินเหมือนเสียงแผ่นดินทรุด ตั้งแต่ที่ประมาณพันโยชน์. ลำดับนั้น เทวปุตตมารขึ้นขี่ช้างชื่อคีรีเมขสูง ๑๕๐ โยชน์ นิรมิตแขนพันแขน ถืออาวุธนานาชนิด แม้ในบริษัทมารนอกนี้ มาร ๒ คนจะไม่ถืออาวุธเหมือนกัน เป็นผู้มีหน้าต่างๆ คนละอย่างกันพากันมา เหมือนดังจะท่วมทับพระมหาสัตว์.
               ก็เทวดาในหมื่นจักรวาลได้ยืนกล่าวชมเชยพระมหาสัตว์ ส่วนท้าวสักกเทวราชได้ยืนเป่าสังข์วิชัยยุตร ได้ยินว่า สังข์นั้นมีขนาด ๑๒๐ ศอก เพื่อให้เก็บลมไว้คราวเดียวแล้วเป่า จะมีเสียงอยู่ถึง ๔ เดือนจึงจะหมดเสียง มหากาลนาคราชได้ยืนกล่าวสรรเสริญคุณเกินกว่าร้อยบท ท้าวมหาพรหมได้ยืนกั้นเศวตฉัตร. แต่เมื่อพลมารเข้าไปใกล้โพธิมัณฑ์ บรรดาเทวดาเป็นต้นเหล่านั้น แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ต่างพากันหนีไปเฉพาะในที่ที่ตรงหน้าๆ กาลนาคราชดำดินลงไปยังนาคภพอันมีมณเฑียร ประมาณ ๕๐๐ โยชน์ นอนเอามือทั้งสองปิดหน้า ท้าวสักกะเอาสังข์วิชัยยุตรไว้ข้างหลัง ได้ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล. ท้าวมหาพรหมจับปลายเศวตฉัตรไปยังพรหมโลกทันที แม้เทวดาคนหนึ่งชื่อว่าผู้สามารถดำรงอยู่ มิได้มี. พระมหาบุรุษพระองค์เดียวเท่านั้นประทับนั่งอยู่.
               ฝ่ายมารก็กล่าวกะบริษัทของตนว่า พ่อทั้งหลาย ชื่อว่าบุรุษอื่น เช่นกับสิทธัตถะ โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ย่อมไม่มี. พวกเราจักไม่อาจทำการสู้รบซึ่งหน้า พวกเราจักสู้รบทางด้านหลัง. ฝ่ายพระมหาบุรุษก็เหลียวดูแม้ทั้ง ๓ ด้าน ได้ทรงเห็นแต่ความว่างเปล่า เพราะเทวดาทั้งปวงพากันหนีไปหมด ได้ทรงเห็นพลมารหนุนเนื่องเข้ามาทางด้านเหนืออีก ทรงพระดำริว่า ชนนี้มีประมาณเท่านี้มุ่งหมายเราผู้เดียว กระทำความพากเพียรพยายามอย่างใหญ่หลวง. ในที่นี้ไม่มีบิดามารดา บุตร ธิดา พี่น้องชายหรือญาติไรๆ อื่น มีแต่บารมี ๑๐ นี้เท่านั้น จะเป็นเช่นกับบุตรแลบริวารชนของเราไปตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น เราจะกระทำบารมีให้เป็นโล่ แล้วประหารด้วยศัสตรา คือบารมีนั่นแหละ กำจัดหมู่พลนี้เสีย จึงจะควร. จึงทรงนั่งระลึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ อยู่.
               ลำดับนั้น เทวปุตตมารได้บันดาลมณฑลประเทศแห่งลมให้ตั้งขึ้น ด้วยคิดว่า เราจักให้สิทธัตถะหนีไปด้วยลมนี้ทีเดียว. ขณะนั้นเอง ลมอันต่างด้วยลมทิศตะวันออกเป็นต้น ได้ตั้งขึ้นแม้สามารถทำลายยอดเขาขนาดกึ่งโยชน์ ๑ โยชน์ ๒ โยชน์และ ๓ โยชน์ ถอนรากไม้ กอไม้และต้นไม้เป็นต้น กระทำตามและนิคมรอบด้าน ให้เป็นจุรณวิจุรณไปได้ ก็มีอานุภาพอันเดชแห่งบุญของมหาบุรุษจัดเสียแล้ว พอมาถึงพระโพธิสัตว์ก็ไม่อาจทำ แม้สักว่าชายจีวรให้ไหว.
               ลำดับนั้น เทวปุตตมารได้บันดาลให้ห่าฝนใหญ่ตั้งขึ้น ด้วยหวังว่าจักให้น้ำท่วมตาย ด้วยอานุภาพของเทวปุตตมารนั้น เมฆฝนอันมีหลืบได้ร้อยหลืบพันหลืบเป็นต้น เป็นประเภทตั้งขึ้นในเบื้องบนแล้วตกลงมา แผ่นดินได้เป็นช่องๆ ไปด้วยกำลังแห่งสายธารน้ำฝน มหาเมฆลอยมาทางด้านบนป่าไม้และต้นไม้เป็นต้น ก็ไม่อาจให้น้ำสักเท่าหยาดน้ำค้างหยด ให้เปียกที่จีวรของพระมหาสัตว์.
               แต่นั้น ได้บันดาลให้ห่าฝนหินตั้งขึ้น ยอดภูเขาใหญ่ๆ คุกรุ่นเป็นควันลุกเป็นเปลวไฟ ลอยมาทางอากาศ. พอถึงพระโพธิสัตว์ ก็กลับกลายเป็นกลุ่มดอกไม้ทิพย์. แต่นั้น ได้บันดาลให้ห่าฝนเครื่องประหารตั้งขึ้น ศัสตราวุธมีดาบ หอก และลูกศรเป็นต้น มีคมข้างเดียวบ้าง มีคมสองข้างบ้าง คุกรุ่นเป็นควัน ลุกเป็นเปลวไฟ ลอยมาทางอากาศ. พอถึงพระโพธิสัตว์ ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์. แต่นั้น ได้บันดาลให้ห่าฝนถ่านเพลิงตั้งขึ้น ถ่านเพลิงทั้งหลายมีสีดังดอกทองกวาว ลอยมาทางอากาศ กลายเป็นดอกไม้ทิพย์โปรยปรายลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์. แต่นั้น ได้บันดาลให้ห่าฝนเถ้ารึงตั้งขึ้น เถ้ารึงร้อนจัดมีสีดังไฟลอยมาทางอากาศ กลายเป็นฝุ่นไม้จันทน์ตกลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์. แต่นั้น ได้บันดาลให้ห่าฝนทรายตั้งขึ้น ทรายทั้งหลายละเอียดยิบ คุเป็นควันลุกเป็นไฟ ลอยมาทางอากาศ กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ตกลงแทบบาทมูลของพระโพธิสัตว์. แต่นั้น จึงบันดาลห่าฝนเปือกตมให้ตั้งขึ้น เปือกตมคุเป็นควันลุกเป็นไฟ ลอยมาทางอากาศ กลายเป็นเครื่องลูบไล้ทิพย์ ตกลงที่บาทมูลของพระโพธิสัตว์. แต่นั้น ได้บันดาลความมืดให้ตั้งขึ้น ด้วยคิดว่า เราจักทำให้ตกใจกลัวด้วยความมืดนี้ แล้วให้สิทธัตถะหนีไป ความมืดนั้นเป็นความมืดตื้อ ประดุจประกอบด้วยองค์ ๔ [คือแรม ๑๔ ค่ำ ป่าชัฏ เมฆทึบและเที่ยงคืน]. พอถึงพระโพธิสัตว์ ก็อันตรธานไป เหมือนความมืดที่ถูกขจัด ด้วยแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์
               มารไม่อาจทำให้พระโพธิสัตว์หนีไปด้วยลม ฝน ห่าฝนหิน ห่าฝนเครื่องประหาร ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าฝนเถ้ารึง ห่าฝนทราย ห่าฝนเปือกตมและห่าฝน คือความมืด รวม ๙ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ จึงสั่งบริษัทนั้นว่า แน่ะพนาย พวกท่านจะหยุดอยู่ทำไม จงจับสิทธัตถกุมารนี้ จงฆ่า จงทำให้หนีไป. ส่วนตนเองนั่งบนคอช้างคีรีเมข ถือจักราวุธเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า สิทธัตถะ ท่านจงลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้ บัลลังก์นี้ไม่ถึงแก่ท่าน บัลลังก์นี้ถึงแก่เรา.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังคำของมารนั้น จึงได้ตรัสว่า ดูก่อนมาร ท่านไม่ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ ทั้งไม่ได้บริจาคมหาบริจาค ๕ ไม่ได้บำเพ็ญญาตัตจริยา โลกัตถจริยาและพุทธัตถจริยา บัลลังก์นี้จึงไม่ถึงแก่ท่าน บัลลังก์นี้ได้ถึงแก่เรา. มารโกรธอดกลั้นกำลังความโกรธไว้ไม่ได้ จึงขว้างจักราวุธใส่พระมหาสัตว์ เมื่อพระมหาสัตว์นั้นทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ทัศอยู่. จักราวุธนั้น ได้ตั้งเป็นเพดานดอกไม้อยู่ในส่วนเบื้องบน. ได้ยินว่า จักราวุธนั้นคมกล้านัก มารนั้นโกรธแล้ว ขว้างไปในที่อื่นๆ จะตัดเสาหินแท่งทึบเป็นอันเดียวไปเหมือนตัดหน่อไม้ไผ่. แต่บัดนี้ เมื่อจักราวุธนั้นกลายเป็นเพดานดอกไม้ตั้งอยู่. บริษัทมารนอกนี้คิดว่า สิทธัตถกุมารจักลุกจากบัลลังก์หนีไปในบัดนี้ จึงพากันปล่อยยอดเขาหินใหญ่ๆ ลงมา. เมื่อพระมหาบุรุษทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ทัศ แม้ยอดเขาหินเหล่านั้น ก็ถึงภาวะเป็นกลุ่มดอกไม้ตกลงยังภาคพื้น เทวดาทั้งหลายผู้ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล ยืดคอชะเง้อศีรษะออกดู ด้วยคิดกันว่า ท่านผู้เจริญ อัตภาพอันถึงความงามแห่งพระรูปโฉมของสิทธัตถกุมาร ฉิบหายเสียแล้วหนอ สิทธัตถกุมารจักทรงกระทำอย่างไรหนอ.
               ลำดับนั้น พระมหาบุรุษตรัสว่า บัลลังก์ได้ถึงแก่เรา ในวันที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญบารมี แล้วตรัสรู้ยิ่ง ดังนี้ แล้วตรัสกะมารผู้ยืนอยู่ สืบไปว่า ดูก่อนมาร ใครเป็นสักขีพยานในความที่ท่านให้ทานแล้ว.
               มารเหยียดมือไปตรงหน้าหมู่มาร โดยพูดว่า มารเหล่านั้นมีประมาณเท่านี้เป็นพยาน. ขณะนั้น เสียงของบริษัทมารซึ่งเป็นไปว่า เราเป็นพยาน เราเป็นพยาน ดังนี้ ได้เป็นเช่นกับเสียงแผ่นดินทรุด. ลำดับนั้น มารจึงกล่าวกะพระมหาบุรุษว่า ดูก่อนสิทธัตถะ ในภาวะที่ท่านให้ทาน ใครเป็นสักขีพยาน.
               พระมหาบุรุษตรัสว่า ก่อนอื่น ในภาวะที่ท่านให้ทาน พลมารทั้งหลายผู้มีจิตใจเป็นพยาน แต่สำหรับเรา ใครๆ ผู้มีจิตใจชื่อว่าจะเป็นพยานให้ ย่อมไม่มีในที่นี้. ทานที่เราให้แล้วในอัตภาพอื่นๆ จงยกไว้ ก็ในภาวะที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้ว ได้ให้สัตตสตกมหาทาน ให้สิ่งของอย่างละ ๗๐๐ มหาปฐพีอันหนาทึบนี้ แม้จะไม่มีจิตใจก็เป็นสักขีพยานให้ก่อน จึงทรงนำออกเฉพาะพระหัตถ์ขวา จากภายในกลีบจีวร แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ชี้ลงตรงหน้ามหาปฐพี พร้อมกับตรัสว่า ในคราวที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร แล้วให้สัตตสตกมหาทาน ท่านได้เป็นพยานหรือไม่ได้เป็น.
               มหาปฐพีได้ดั่งสนั่นหวั่นไหว ประหนึ่งท่วมทับพลมาร ด้วยร้อยเสียงพันเสียงว่า ในกาลนั้น เราเป็นพยานท่าน แต่นั้น มหาปฐพีได้กล่าวว่า ท่านสิทธัตถะ ทานที่ท่านให้แล้ว เป็นมหาทาน เป็นอุดมทาน.
               เมื่อพระมหาบุรุษพิจารณาไปๆ ถึงทานที่ได้ให้โดยอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ช้างคีรีเมขสูง ๑๕๐ โยชน์ ก็คุกเข่าลง. บริษัทของมารต่างพากันหนีไปยังทิศานุทิศ ชื่อว่ามารสองตนจะไปทางเดียวกัน ย่อมไม่มี ต่างละทิ้งเครื่องประดับศีรษะและผ้าที่นุ่งห่ม หนีไปเฉพาะทิศทั้งหลายตรงๆ หน้า. ลำดับนั้น หมู่เทพทั้งหลายเห็นมารและพลมารหนีไปแล้ว กล่าวกันว่า มารปราชัยพ่ายแพ้แล้ว สิทธัตถกุมารมีชัยชนะแล้ว พวกเรามากระทำการบูชาความมีชัยกันเถิด ดังนี้ พวกนาคก็ประกาศแก่พวกนาค พวกครุฑก็ประกาศแก่พวกครุฑ พวกเทวดาก็ประกาศแก่พวกเทวดา พวกพรหมก็ประกาศแก่พวกพรหม พวกวิชชาธร (ก็ประกาศแก่พวกวิชชาธร) ต่างมีมือถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น มายังโพธิบัลลังก์สำนักของพระมหาบุรุษ. ก็เมื่อมารและพลมารเหล่านั้น หนีไปอย่างนี้แล้ว
               ในกาลนั้น หมู่นาคมีใจเบิกบาน ประกาศความชนะของพระมเหสีเจ้า ณ โพธิมัณฑ์ว่า ก็พระพุทธเจ้าผู้มีพระสิรินี้ทรงมีชัยชำนะ ส่วนมารผู้ลามกปราชัยพ่ายแพ้แล้ว.
               แม้หมู่ครุฑก็มีใจเบิกบาน ประกาศความชนะของพระมเหสีเจ้า ณ โพธิมัณฑ์ว่า ก็พระพุทธเจ้าผู้มีพระสิรินี้ทรงมีชัยชนะ ส่วนมารผู้ลามกปราชัยพ่ายแพ้แล้ว.
               ในกาลนั้น หมู่เทพมีใจเบิกบาน ประกาศความชนะของพระมเหสีเจ้า ณ โพธิมัณฑ์ว่า ก็พระพุทธเจ้าผู้มีพระสิรินี้ทรงมีชัยชนะ ส่วนมารผู้ลามกปราชัยพ่ายแพ้แล้ว.
               ในกาลนั้น แม้หมู่พรหมก็มีใจเบิกบาน ประกาศความชนะของพระมเหสีเจ้า ณ โพธิมัณฑ์ว่า ก็พระพุทธเจ้าผู้มีพระสิรินี้ทรงมีชัยชนะ ส่วนมารผู้ลามกปราชัยพ่ายแพ้แล้ว แล.

               เทวดาในหมื่นจักรวาลที่เหลือ บูชาด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น ได้ยืนกล่าวสดุดีมีประการต่างๆ เมื่อพระอาทิตย์ยังทอแสงอยู่อย่างนี้นั่นแล พระมหาบุรุษทรงขจัดมารและพลมารได้แล้ว อันหน่อโพธิพฤกษ์ซึ่งตกลงเหนือจีวร ประหนึ่งกลีบแก้วประพาฬแดง บูชาอยู่
               ทรงระลึกได้บุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทรงชำระทิพยจักษุในมัชฉิมยาม ทรงยังญาณให้หยั่งลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม. ครั้งเมื่อพระมหาบุรุษนั้นทรงพิจารณาปัจจยาการอันประกอบด้วยองค์ ๑๒ โดยอนุโลมและปฏิโลม ด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว ๑๒ ครั้งจนจรดน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด ก็พระมหาบุรุษทรงยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือลั่นหวั่นไหวแล้ว ได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ในเวลาอรุณขึ้น.
               เมื่อพระมหาบุรุษนั้นทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว หมื่นโลกธาตุทั้งสิ้นได้มีการประดับตกแต่งแล้ว รัศมีของธงชัยและธงปฏากที่ยกขึ้น ณ ปากขอบจักรวาลทิศตะวันออก กระทบถึงขอบปากจักรวาลทิศตะวันตก. ที่ยกขึ้น ณ ขอบปากจักรวาลทิศตะวันตกก็เหมือนกัน กระทบถึงขอบปากจักรวาลทิศตะวันออก. ที่ยกขึ้น ณ ขอบปากจักรวาลทิศเหนือ กระทบถึงขอบปากจักรวาลทิศใต้ ที่ยกขึ้น ณ ขอบปากจักรวาลทิศใต้ กระทบถึงขอบปากจักรวาลทิศเหนือ. ส่วนรัศมีของธงชัยและธงปฏากที่ยกขึ้น ณ พื้นปฐพี ได้ตั้งอยู่จรดพรหมโลก. รัศมีที่ตั้งอยู่ในพรหมโลก ก็ตั้งถึงพื้นปฐพี. ต้นไม้ดอกในหมื่นจักรวาลก็ผลิดอก ต้นไม้ผลก็ได้เต็มไปด้วยพวงผล ปทุมชนิดลำต้นก็ออกดอกที่ลำต้น ปทุมชนิดกิ่งก้านก็ออกดอกที่กิ่งก้าน ปทุมชนิดเครือเถาก็ออกดอกที่เครือเถา ปทุมชนิดห้อยก็ออกดอกในอากาศ ปทุมชนิดเป็นช่อได้เจาะทำลายช่อหินตั้งขึ้นซ้อนๆ กัน ช่อละ ๗ ชั้น หมื่นโลกธาตุได้หนุนไป เหมือนกลุ่มด้ายที่คลายออกและเหมือนเครื่องปูลาดที่จัดวางไว้ดีแล้ว ฉะนั้น.
               โลกันตนรกกว้าง ๕๐๐ โยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลาย ไม่เคยสว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ ๗ ดวง ก็ได้มีแสงสว่างไสวเป็นอันเดียวกัน มหาสมุทรลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ได้กลายเป็นน้ำหวาน แม่น้ำทั้งหลายไม่ไหล คนบอดแต่กำเนิดแลเห็นรูป คนหนวกแต่กำเนิดได้ยินเสียง คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดเดินได้ กรรมกรณ์ทั้งหลายมีเครื่องจองจำเป็นต้น แห่งบรรดาเครื่องจองจำ คือขื่อเป็นต้น ได้ขาดหลุดไป. พระมหาบุรุษอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาด้วยสมบัติอันประกอบด้วยสิริหาปริมาณมิได้ ด้วยประการอย่างนี้.
               เมื่ออัจฉริยธรรมอันน่าอัศจรรย์ทั้งหลายมีประการต่างๆ ปรากฏแล้ว ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ จึงทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละว่า
               เราเมื่อแสวงหานายช่าง (คือตัณหา) ผู้กระทำเรือน เมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสารมิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์.
               ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีกต่อไป ซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว จิต (ของเรา) ถึงวิสังขาร (นิพพาน) แล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว.

               ฐานะมีประมาณท่าน เริ่มแต่ดุสิตบุรีจนกระทั่งบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โพธิมัณฑ์นี้ พึงทราบว่า ชื่ออวิทูเรนิทาน ด้วยประการฉะนี้.


               สันติเกนิทาน               
               ก็สันติเกนิทาน ท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ในที่นั้นๆ อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันอันเป็นอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี (และว่า) ประทับอยู่ในกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี ดังนี้ สันติเกนิทานย่อมมีได้ในที่นั้นๆ นั่นเอง. ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น สันติเกนิทานนั้นพึงทราบอย่างนั้น จำเดิมแต่ต้นไป.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ชัย เปล่งอุทานนี้แล้ว ได้มีพระดำริดังนี้ว่า เราแล่นไปถึงสี่อสังไขยกับแสนกัป ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราตัดศีรษะอันประดับแล้วที่ลำคอ แล้วให้ทานไปตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราควักนัยน์ตาที่หยอดดีแล้ว (และ) ควักเนื้อหัวใจให้ไปให้บุตร เช่นชาลีกุมาร ให้ธิดาเช่นกับกัณหาชินากุมารี และให้ภรรยาเช่นพระมัทรีเทวี เพื่อเป็นทาสของคนอื่นๆ เพราะเหตุบัลลังก์นี้. บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ชัย เป็นบัลลังก์ประเสริฐของเรา ความดำริของเราผู้นั่งบนบัลลังก์นี้ ยังไม่บริบูรณ์เพียงใด เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เพียงนั้น ดังนี้ จึงทรงนั่งเข้าสมาบัติหลายแสนโกฏิอยู่ ณ บัลลังก์นั้น นั่นแหละตลอดสัปดาห์ ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียว ตลอดสัปดาห์ สัปดาห์ที่ ๑ หลังจากตรัสรู้. ครั้งนั้น เทวดาบางเหล่าเกิดความปริวิตกขึ้นว่า แม้วันนี้ พระสิทธัตถะก็ยังมีกิจที่จะต้องทำอยู่หรือหนอ เพราะยังไม่ละความอาลัยในบัลลังก์. พระศาสดาทรงทราบความวิตกของเทวดาทั้งหลาย เพื่อจะทรงระงับความปริวิตกของเทวดาเหล่านั้น จึงทรงเหาะขึ้นยังเวหาส ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์.
               จริงอยู่ ยมกปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำ ณ มหาโพธิมัณฑ์ก็ดี ปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำในสมาคมพระญาติก็ดี ปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำในสมาคมชาวปาตลีบุตรก็ดี ทั้งหมดได้เป็นเหมือนยมกปาฏิหาริย์ ที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์.
               พระศาสดา ครั้นทรงระงับความปริวิตกของเทวดาทั้งหลายด้วยปาฏิหาริย์นี้แล้ว จึงประทับยืนทางด้านทิศเหนือ เยื้องไปทางทิศตะวันออกนิดหน่อย ทรงพระดำริว่า เราได้รู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณบนบัลลังก์นี้หนอ จึงทอดพระเนตรทั้งสองโดยไม่กระพริบ มองดูบัลลังก์อันเป็นสถานที่บรรลุผลแห่งบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา ตลอดสี่อสงไขยแสนกัป ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์.
               สถานที่นั้น จึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้
               ลำดับนั้น ทรงนิรมิตที่จงกรมในระหว่างบัลลังก์ และที่ที่ประทับยืน แล้วทรงจงกรมในรัตนจงกรมอันยาวจากตะวันออกไปตะวันตก ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์.
               สถานที่นั้น จึงชื่อว่า รัตนจงกรมเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๓ นับแต่ตรัสรู้.
               แต่ในสัปดาห์ที่ ๔ เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้วในด้านทิศพายัพ จากต้นโพธิประทับนั่งบนบัลลังก์ในเรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกและสมันตปัฏฐานอนันตนัย ในเรือนแก้วนี้โดยพิเศษ ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์. ส่วนนักอภิธรรมกล่าวว่า เรือนอันล้วนแล้วด้วยแก้ว ชื่อว่ารัตนฆระเรือนแก้ว สถานที่ทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ พระคัมภีร์ ก็ชื่อว่า รัตนฆรเรือนแก้ว. ก็เพราะเหตุที่ปริยายแม้ทั้งสองนี้ย่อมใช้ได้ในที่นี้ ฉะนั้น
               คำทั้งสองนี้ควรเธอถือทีเดียว. ก็จำเดิมแต่นั้นมา สถานที่นั้น จึงชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๔ นับแต่ตรัสรู้.
               พระศาสดาทรงยับยั้งอยู่ ณ ที่ใกล้ต้นโพธิ์นั่นเอง ตลอด ๔ สัปดาห์ด้วยอาการอย่างนี้.
               ในสัปดาห์ที่ ๕ จึงเสด็จจากควงโพธิพฤกษ์เข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธ ทรงนั่งพิจารณาพระธรรมและเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ต้นอชปาลนิโครธ สัปดาห์ที่ ๕ นับแต่ตรัสรู้ แม้นั้น.
               สมัยนั้น เทวปุตรมารติดตามอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แม้จะเพ่งมองหาช่องทางอยู่ ก็ไม่ได้เห็นความพลั้งพลาดอะไรๆ ของพระสิทธัตถะนี้ จึงถึงความโทมนัสว่า บัดนี้ สิทธัตถะนี้ล่วงพ้นวิสัยของเราแล้ว จึงนั่งที่หนทางใหญ่ คิดถึงเหตุ ๑๖ ประการ. จึงขีดเส้น ๑๖ เส้นลงบนแผ่นดิน คือ คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญทานบารมีเหมือนสิทธัตถะนี้ แล้วขีดลงไปเส้นหนึ่ง. อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เหมือนสิทธัตถะนี้ ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่เป็นเหมือนสิทธัตถะนี้ แล้วขีดเส้น (ที่ ๒ ถึง) ที่ ๑๐.
               อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ อันเป็นอุปนิสัยแก่การแทงตลอดอาสยานุญาณ อินทริยปโรปริยญาณ มหากรุณาสมาปัตติญาณ ยมกปาฏิหาริยญาณ อนาวรณญาณและสัพพัญญุตญาณอันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น เหมือนดังสิทธัตถะนี้. ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่เป็นเหมือนดังสิทธัตถะนี้ แล้วขีดเส้น (ที่ ๑๑ ถึง) ที่ ๑๖. เมื่อเทวปุตตมารนั้นนั่งขีดเส้น ๑๖ เส้น อยู่บนทางใหญ่ เพราะเหตุเหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้แล้ว.
               สมัยนั้น ธิดามารทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดีและนางราคา กล่าวกันว่า บิดาของพวกเราไม่ปรากฏ บัดนี้อยู่ที่ไหนหนอ จึงมองหาอยู่. ได้เห็นเทวปุตรมารนั้น ได้รับความโทมนัสขีดแผ่นดินอยู่ จึงพากันไปยังสำนักของบิดาถามว่า ท่านพ่อ เพราะเหตุไร ท่านพ่อจึงเป็นทุกข์ หม่นหมองใจ.
               เทวปุตรมารกล่าวว่า ลูกเอ๋ย มหาสมณะนี้ล่วงพ้นอำนาจของเราเสียแล้ว พ่อคอยดูอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ยังไม่อาจเห็นช่องโอกาสของมหาสมณะนี้ ด้วยเหตุนั้น พ่อจึงเป็นทุกข์หม่นหมองใจ.
               มารธิดากล่าวว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น คุณพ่ออย่าได้เสียใจ พวกข้าพเจ้าจักกระทำมหาสมณะนั้น ให้อยู่ในอำนาจของตน แล้วจักพามา.
               เทวปุตรมารกล่าวว่า ลูกเอ๋ย ใครๆ ไม่อาจทำมหาสมณะนี้ให้อยู่ในอำนาจ บุรุษผู้นี้ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหว.
               ธิดามารกล่าวว่า ท่านพ่อ พวกข้าพเจ้าเป็นลูกผู้หญิงนะ พวกข้าพเจ้าจักเอาบ่วง คือราคะเป็นต้น ผูกมหาสมณะให้มั่น แล้วนำมาให้เดี๋ยวนี้ ท่านพ่ออย่าคิดไปเลย. กล่าวแล้วธิดามารทั้ง ๓ นั้นจึงจากที่นี้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกข้าพระบาทจักบำเรอเท้าของพระองค์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ลืมพระเนตรแลดู มีพระมนัสน้อมไปในธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม และประทับนั่งเสวยสุขอันเกิดแต่วิเวกเท่านั้น.
               ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลมด้วยรูปนานาประการ จึงนางหนึ่งๆ นิรมิตอัตภาพเป็นร้อยๆ อัตภาพ โดยเป็นรูปหญิงรุ่นเป็นต้น เป็นหญิงยังไม่คลอด เป็นหญิงคลอดคราวเดียว เป็นหญิงคลอด ๒ คราว เป็นหญิงกลางคนและเป็นหญิงรุ่นใหญ่ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๖ ครั้ง แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกข้าพระบาทจักบำเรอบาทของพระองค์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงใส่พระทัยถึงข้อแม้นั้น โดยประการที่ทรงน้อมไปในธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเห็นธิดามารเหล่านั้นเข้ามาหาโดยภาวะเป็นหญิงผู้ใหญ่จึงทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้จงเป็นผู้มีฟันหัก ผมหงอกอย่างนี้ๆ. คำของเกจิอาจารย์นั้นไม่ควรเชื่อถือ. เพราะพระศาสดาจะไม่ทรงกระทำการอธิษฐานเห็นปานนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกท่านจงหลีกไป พวกท่านผู้เช่นไร จึงพากันพยายามอย่างนี้ ชื่อว่ากรรมเห็นปานนี้ ควรกระทำเบื้องหน้าของคนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเป็นต้น แต่ตถาคตละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว จึงทรงพระปรารภถึงการละกิเลสของพระองค์. ทรงแสดงธรรมตรัสพระคาถา ๒ คาถาในพระธรรมบท พุทธวรรค ขุ. ๒๕/ข้อ ๒๔ ดังนี้ว่า
               ความชนะอันผู้ใดชนะแล้วไม่กลับแพ้ อันใครๆ จะนำความชนะของผู้นั้นไปในโลกได้ ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอยไปด้วยร่องรอยอะไร.
               พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ไม่มีตัณหาอันเป็น ดุจข่ายส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เพื่อจะนำไปในที่ไหนๆ ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอยไปด้วยร่องรอยอะไร.

               ธิดามารเหล่านั้นกล่าวคำเป็นต้นว่า นัยว่า บิดาของพวกเราพูดจริง พระอรหันต์สุคตเจ้าเป็นผู้ที่จะนำไปไม่ได้ง่ายๆ ในโลกด้วยราคะ แล้วได้พากันไปยังสำนักของบิดา.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ที่อชปาลนิโครธนั้นหนึ่งสัปดาห์ แล้วได้เสด็จไปที่โคนไม้มุจลินท์ สัปดาห์ที่ ๖ นับแต่ตรัสรู้ ณ ที่นั้นฝนพรำเกิดขึ้น ๗ วัน พระองค์อันพระยามุจลินทนาคราชวงด้วยขนด ๗ รอบ เพื่อป้องกันความหนาวเป็นต้น เสวยวิมุตติสุข ประหนึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎีอันไม่คับแคบ ทรงยับยั้งอยู่หนึ่งสัปดาห์ แล้วเสด็จไปยังต้นราชานะ สัปดาห์ที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ที่ต้นราชานะแม้นั้นหนึ่งสัปดาห์ โดยลำดับกาลเพียงเท่านี้ สัปดาห์ทั้งหลายก็ครบบริบูรณ์.
               ในระหว่างนี้ไม่มีการชำระล้างพระพักตร์ ไม่มีการปฏิบัติพระสรีระ ไม่มีกิจด้วยพระกระยาหาร ทรงยับยั้งอยู่ด้วยฌานสุข มรรคสุขและผลสุข. ครั้นในวันที่ ๔๙ อันเป็นวันสุดท้ายแห่งสัปดาห์ที่ ๗ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับนั่งที่ต้นราชายตนะนั้น เกิดพระดำริขึ้นว่า จักสรงพระพักตร์. ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงนำผลสมอมาถวายด้วยพระองค์เอง. พระศาสดาเสวยผลสมอนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีการถ่ายพระบังคนหนัก. ลำดับนั้น ท้าวสักกะนั่นแหละได้ถวายไม้ชำระพระทนต์ชื่อนาคลดา และน้ำล้างพระพักตร์แด่พระศาสดานั้น. พระศาสดาทรงเคี้ยวไม้ชำระพระทนต์ ล้างพระพักตร์ด้วยน้ำในสระอโนดาต แล้วคงประทับนั่งที่โคนไม้ราชายตนะนั่นเอง.
               สมัยนั้น พาณิช ๒ คน ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ จากอุกกุลาชนบทจะไปยังมัชฌิมประเทศ ด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถูกเทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนปิดทางเกวียนไว้ ทำให้อุตสาหะในการมอบถวายอาหารแด่พระศาสดา จึงถือเอาข้าวสตูก้อนและขนมน้ำผึ้ง แล้วได้เข้าไปใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ขอจงอนุเคราะห์รับอาหารนี้เถิด แล้วยืนอยู่. ก็เพราะบาตรได้หายไปในวันรับข้าวมธุปายาส นั่นเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับอย่างไรหนอ.
               ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่จากทิศทั้งสี่ รู้พระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงน้อมบาตรอันสำเร็จด้วยแก้วอินทนิลเข้าไปถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธบาตรเหล่านั้น. ท้าวมหาราชจึงน้อมนำบาตร ๔ ใบ อันสำเร็จด้วยหินมีสีดังถั่วเขียวเข้าไปถวาย. เพื่อจะทรงอนุเคราะห์เทวบุตรแม้ ๔ องค์ จึงทรงรับบาตรทั้ง ๔ ไปแล้ววางซ้อนๆ กัน ทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว. บาตรแม้ทั้ง ๔ จึงไม่มีรอยปรากฏอยู่ที่ขอบปากบาตร รวมเป็นบาตรใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาหารที่บาตรอันล้วนด้วยศิลาที่เห็นประจักษ์นั้น เสวยแล้วทรงกระทำอนุโมนา. พาณิช ๒ คนพี่น้อง ถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ได้เป็นเทฺววาจิกอุบาสกผู้เปล่งวาจาถึงสรณะทั้งสอง. ลำดับนั้น เมื่อพาณิชทั้งสองนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงโปรดประทานฐานะที่จะพึงปรนนิบัติอย่างหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ทั้งสอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรของพระองค์ แล้วประทานพระเกศธาตุทั้งหลายให้ไป พาณิชทั้งสองนั้นจึงให้ก่อพระเจดีย์ บรรจุพระเกศธาตุไว้ภายใน ณ เมืองของตน.
               จำเดิมแต่นั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงประทับนั่งที่โคนต้นนิโครธ. ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พอประทับที่โคนต้นนิโครธนั้นเท่านั้น ก็ทรงพิจารณาความที่ธรรมซึ่งพระองค์ทรงบรรลุแล้วเป็นธรรมลึกซึ้ง ทรงพระดำริว่า ธรรมนี้พระพุทธเจ้าทั้งปวงประพฤติสั่งสมไว้แล้ว เราได้บรรลุแล้วแล จึงเกิดความตรึกอันถึงอาการ คือความไม่ประสงค์ที่จะแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น.
               ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมตรัสว่า ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจักฉิบหายละหนอ ท่านผู้เจริญ โลกจักฉิบหายละหนอ แล้วทรงพาท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันดุสิต ท้าววสวัตดีและท้าวมหาพรหมจากหมื่นจักรวาลไปเฝ้าพระศาสดา ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม โดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรม พระศาสดาทรงให้ปฏิญญาแก่ท้าวสหัมบดีพรหมนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครหนอ ทรงยังพระดำริให้เกิดขึ้นว่า อาฬารดาบสเป็นบัณฑิต อาฬารดาบสนั้นจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยเร็วพลัน แล้วทรงตรวจดูอีก ได้ทรงทราบว่า อาฬารดาบสนั้นกระทำกาละได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงรำพึงถึงอุทกดาบส ได้ทรงทราบว่า แม้อุทกดาบสนั้นก็ได้ทำกาละไปแล้ว เมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้.
               จึงทรงมนสิการปรารภถึงพระปัญจวัคคีย์ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะมากแก่เรา จึงทรงพระรำพึงว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้นอยู่ที่ไหนหนอ ได้ทรงทราบว่า อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จึงทรงพระดำริว่า เราจักไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น แล้วแสดงพระธรรมจักร จึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปรอบๆ โพธิมัณฑ์เท่านั้น ๒-๓ วัน ทรงพระดำริว่า เราจักไปเมืองพาราณสี ในวันอาสาฬหบูรณมี กลางเดือน ๘ พอในวันจาตุททสีขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง เมื่อราตรีสว่างแล้ว พอเช้าตรู่ก็ทรงถือบาตรจีวร เสด็จดำเนินไปสิ้นหนทาง ๑๘ โยชน์ ทรงพบอุปกาชีวกในระหว่างทาง จึงตรัสบอกถึงความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแก่อุปกาชีวกนั้น แล้วได้เสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเย็นวันนั้นเอง.
               พระเถระปัญจวัคคีย์เห็นพระตถาคตเจ้าเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้ทำกติกากันไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส พระสมณโคดมนี้เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในปัจจัย มีกายสมบูรณ์ มีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณดุจทองคำ กำลังมาอยู่ เราจักไม่กระทำสามีจิกรรม มีอภิวาทเป็นต้น แก่พระสมณโคดมนี้ แต่เธอประสูติในตระกูลใหญ่โต ย่อมควรจัดอาสนะไว้. ด้วยเหตุนั้น พวกเราจักปูลาดเพียงอาสนะไว้เพื่อเธอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์นี้คิดอย่างไรหนอ ก็ได้ทรงทราบความคิดด้วยพระญาณ อันสามารถรู้วาระจิตของโลกพร้อมทั้งเทวโลก. ลำดับนั้น จึงทรงย่นย่อเอาเมตตาจิตอันสามารถแผ่ไป โดยไม่เจาะจงในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง แล้วทรงแผ่เมตตาจิตไป. พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น โดยเฉพาะพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถูกต้องด้วยเมตตาจิตแล้ว เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าไปใกล้ ไม่อาจดำรงอยู่ในกติกาของตน ได้พากันทำกิจทั้งมวลมีการอภิวาทและการลุกรับเป็นต้น แต่ยังไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงใช้วาจาเรียกโดยชื่อและโดยคำว่า อาวุโส อย่างเดียว.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ให้รู้ว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยชื่อ และโดยวาทะว่า อาวุโส เลย ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้ แล้วประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ตกแต่งไว้.
               เมื่อกลุ่มดาวนักษัตรแห่งเดือนอุตตราสาฬหะ เดือน ๘ หลัง กำลังดำเนินไปอยู่ ทรงห้อมล้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ ได้ตรัสเรียกพระเถระปัญจวัคคีย์มา ทรงแสดงธัมจักกัปปวัตตนสูตร. บรรดาพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น พระอัญญาโกณฑัญญเถระส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ในเวลาจบพระสูตร ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลพร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ.
               พระศาสดาทรงเข้าจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นนั่นเอง วันรุ่งขึ้น ประทับนั่งสั่งสอนพระวัปปเถระอยู่ในที่อยู่นั่นเอง พระเถระที่เหลือ ๔ รูปเที่ยวไปบิณฑบาต พระวัปปเถระได้บรรลุโสดาปัตติผลในเวลาเช้านั่นแล. ก็โดยอุบายนี้แหละ ทรงยังพระภัททิยเถระให้ดำรงอยู่โสดาปัตติผลในวันรุ่งขึ้น. พระมหานามเถระในวันรุ่งขึ้น และพระอัสสชิในวันรุ่งขึ้น. รวมความว่า ทรงยังพระเถระทั้งปวงให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ในดิถีที่ ๕ แห่งปักษ์ ได้เห็นพระเถระแม้ทั้ง ๕ ประชุมกัน แล้วทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ในเวลาจบเทศนา พระเถระแม้ทั้ง ๕ ดำรงอยู่ในพระอรหัต.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของยสกุลบุตร เขาเบื่อหน่าย ละเรือนออกไปในตอนกลางคืน จึงตรัสเรียกว่า มานี่เถิด ยสะ. แล้วให้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ในตอนกลางคืนนั้นนั่นเอง. วันรุ่งขึ้นได้ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต ทรงยังคนอื่นอีก ๕๔ คนผู้สหายของพระยสะนั้น ให้บรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชา แล้วให้บรรลุพระอรหัต. ก็เมื่อพระอรหันต์ ๖๑ องค์เกิดขึ้นในโลก ด้วยประการอย่างนี้แล้ว พระศาสดาทรงออกพรรษา ปวารณาแล้วทรงส่งภิกษุ ๖๐ องค์ไปในทิศทั้งหลาย ด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป ส่วนพระองค์เองเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา.
               ในระหว่างทางได้ทรงแนะนำภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ในชัฏป่าฝ้าย.
               บรรดาภัททวัคคีย์กุมารเหล่านั้น คนท้ายสุดได้เป็นพระโสดาบัน คนเหนือสุดได้เป็นพระอนาคามี พระองค์ทรงให้ภัททวัคคีย์กุมารทั้งหมด แม้เหล่านั้นบรรพชาด้วยความเป็นเอหิภิกขุเหมือนกัน แล้วทรงส่งไปในทิศทั้งหลาย แล้วพระองค์ได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ทรงแสดงปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ ปาฏิหาริย์ ทรงแนะนำชฎิล ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น มีบริวารหนึ่งพัน ให้บรรพชาด้วยความเป็นเอหิภิกขุเหมือนกัน แล้วให้นั่งที่คยาสีสประเทศ ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยอาทิตปริยายเทศนา อันพระอรหันต์หนึ่งพันนั้นแวดล้อม ทรงพระดำริว่า จักเปลื้องปฏิญญาที่ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้เสด็จไปยังลัฏฐิวัน อุทยานสวนตาลหนุ่ม ณ ชานพระนครราชคฤห์.
               พระราชาได้ทรงสดับจากสำนักของนายอุทยานบาลว่า พระศาสดาเสด็จมาแล้ว จึงทรงห้อมล้อมด้วยพราหมณ์และคฤหบดี ๑๒ นหุต (คือ ๑๒ หมื่น) เข้าได้เฝ้าพระศาสดา เมื่อพื้นพระบาทอันวิจิตรด้วยจักรกำลังเปล่งแสงสุกสกาวขึ้น ประหนึ่งเพดานแผ่นทองคำ จึงทรงหมอบพระเศียรลงแทบพระบาทของพระตถาคตเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมกับบริษัท. ลำดับนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในท่านอุรุเวลกัสสป หรือว่าท่านอุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกของพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น จึงได้ตรัสกะพระเถระ ด้วยพระคาถาว่า
               ท่านอยู่ในอุรุเวลา (มานาน) ซูบผอม (เพราะกำลังพรต) เป็นผู้กล่าวสอน (ประชาชน) เห็นโทษอะไรหรือ จึงละไฟ (ที่บูชา) เสีย.
               ดูก่อนกัสสป เราถามเนื้อความนี้กะท่าน อย่างไรท่านจึงละการบูชาไฟเสียเล่า.

               ฝ่ายพระเถระรู้พระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงภาษิตคาถานี้ว่า
               ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รสและหญิงที่น่าใคร่ ข้าพระองค์รู้ว่า นี้เป็นมลทินในอุปธิทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง และการบูชา ดังนี้.

               เพื่อที่จะประกาศความที่ตนเป็นสาวก จึงซบศีรษะที่หลังพระบาทของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง คือ ๑ ชั่วลำตาล ๒ ชั่วลำตาล จนประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคตแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. มหาชนได้เห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้วพากันกล่าวพรรณนาพระคุณของพระศาสดาว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพมาก แม้พระอุรุเวลกัสสปชื่อว่ามีทิฏฐิเข็มแข็งอย่างนี้ สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ถูกพระตถาคตทำลายข่ายคือทิฏฐิ ทรมานแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราทรมานพระอุรุเวลกัสสป แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในอดีต พระอุรุเวลกัสสปนี้ก็ถูกเราตถาคตทรมานมาแล้วเหมือนกัน แล้วตรัสมหานารทกัสสปชาดก ในเพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น แล้วทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔.
               พระเจ้ามคธราชทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับบริวาร ๑๑ นหุต ส่วนอีกหนึ่งนหุตประกาศความเป็นอุบาสก. พระราชาทรงประทับอยู่ในสำนักของพระศาสดานั้นแล ทรงประกาศเหตุอันมาซึ่งความสบายพระทัย ๕ ประการ แล้วทรงถึงสรณะ ทรงนิมนต์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ แล้วเสด็จลุกจากพระอาสน์ ทรงกระทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเสด็จหลีกไป.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :