ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1216 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1226 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1236 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มหาสุวราชชาดก
ว่าด้วย สหายย่อมไม่ละทิ้งสหาย

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทุโม ยถา โหติ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วไปอยู่ในป่าอาศัยบ้านชายแดนตำบลหนึ่งในแคว้นโกศลชนบท พวกมนุษย์ช่วยกันปลูกสร้างที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้น แล้วทำเสนาสนะในที่เดินไปมาถวายภิกษุนั้น บำรุงภิกษุนั้นโดยเคารพ
               เมื่อภิกษุนั้นจำพรรษา เดือนแรกเกิดเพลิงไหม้บ้านนั้นขึ้น แม้สักว่า พืชของพวกมนุษย์ก็ไม่มีเหลือ เขาจึงไม่อาจถวายบิณฑบาตที่ประณีตแก่ภิกษุนั้นได้ เธอแม้จะอยู่ในเสนาสนะที่สบาย แต่ลำบากด้วยบิณฑบาต จึงไม่สามารถจะให้มรรคหรือผลเกิดขึ้นได้ ครั้นกาลล่วงไปได้สามเดือน เธอมาเฝ้าพระศาสดา พระองค์ทรงทำปฏิสันถารแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ? เสนาสนะเป็นที่สบายดีหรือ? ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ
               พระศาสดาครั้นทรงทราบว่า เธอมีเสนาสนะเป็นที่สบาย จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาสมณะเมื่อมีเสนาสนะเป็นที่สบายแล้ว ก็ควรละความโลภอาหารเสีย ยินดีฉันตามที่ได้มานั่นแหละกระทำสมณธรรมไป โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานเคี้ยวผงแห้งในต้นไม้ที่ตนอยู่อาศัย ยังละความโลภอาหาร มีความสันโดษ ไม่ทำลายมิตรธรรมไปเสียที่อื่น เหตุไรเธอจึงมาคิดว่า บิณฑบาตน้อยไม่อร่อย แล้วละทิ้งเสนาสนะที่สบายเสีย?
               ภิกษุนั้นทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ที่ป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งคงคา ณ หิมวันตประเทศ มีนกแขกเต้าอาศัยอยู่หลายแสน บรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น พญานกแขกเต้าตัวหนึ่ง เมื่อผลของต้นไม้ที่ตนอาศัยอยู่หมดลง สิ่งใดที่ยังเหลืออยู่จะเป็นหน่อใบเปลือกหรือสะเก็ดก็ตาม ก็กินสิ่งนั้นแล้วดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา มีความมักน้อยสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ไม่ไปที่อื่นเลย ด้วยคุณคือความมักน้อยสันโดษอย่างยิ่งของพญานกแขกเต้านั้น ได้บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว
               ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาดูก็รู้เห็นเหตุนั้น เพื่อจะลองใจพญานกแขกเต้า จึงบันดาลให้ต้นไม้นั้นแห้งไปด้วยอานุภาพของพระองค์ ต้นไม้นั้นเหลืออยู่แต่ตอแตกเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ เมื่อถูกลมพัดก็มีเสียงปรากฏ เหมือนมีใครมาตีให้ดัง มีผงละเอียดไหลออกมาตามช่องต้นไม้นั้น พญานกแขกเต้าจิกผงเหล่านั้นกินแล้วไปดื่มน้ำที่แม่น้ำคงคา ไม่ไปที่อื่น มาจับอยู่ที่ยอดตอไม้มะเดื่อ โดยไม่ย่อท้อต่อลมและแดด.
               ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความที่ พญานกแขกเต้านั้นมีความมักน้อยอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า เราจักให้พญานกแขกเต้าแสดงคุณในมิตรธรรม แล้วจักให้พรแก่เธอ ทำต้นมะเดื่อให้มีผลอยู่เรื่อยไปแล้วจะกลับมา ครั้นทรงดำริดังนี้ แล้วจึงทรงแปลงพระองค์เป็นพญาหงส์ตัวหนึ่ง นำนางสุชาดาอสุรกัญญาให้เป็นนางหงส์อยู่เบื้องหน้า บินไปถึงป่าไม้มะเดื่อนั้น จับอยู่ที่กิ่งไม้มะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน
               เมื่อจะเริ่มเจรจากับพญานกแขกเต้านั้น ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               เมื่อใดต้นไม้มีผลบริบูรณ์ เมื่อนั้นฝูงวิหคทั้งหลายย่อมพากันมามั่วสุมบริโภคผลไม้ต้นนั้น แต่โดยรู้ว่าต้นไม้สิ้นไปแล้ว ผลวายแล้ว ฝูงวิหคทั้งหลายก็พากันจากต้นไม้นั้นบินไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่.


               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคาถานั้นว่า
               ดูก่อนพระยานกแขกเต้า เมื่อใด ต้นไม้มีผลสมบูรณ์ เมื่อนั้น ฝูงวิหคทั้งหลายย่อมพากันมามั่วสุม บริโภคผลไม้ต้นนั้นจากกิ่งโน้นสู่กิ่งนี้ แต่โดยรู้ว่าต้นไม้นั้นสิ้นไปแล้ว ผลวายไปแล้ว ฝูงวิหคทั้งหลายก็พากันจากต้นไม้นั้นบินไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่.

               ก็แหละ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงยุพญานกแขกเต้าให้ไปจากที่นั้น
               จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง ท่านจงไปยังที่ที่ควรไปเถิด อย่าได้มาตายเสียเลย เหตุไรท่านจึงซบเซาอยู่ที่ต้นไม้แห้ง
               ดูก่อนนกแขกเต้าผู้มีขนเขียวดุจไพรสณฑ์ในฤดูฝน เชิญเถิด ขอท่านจงบอกเรื่องนั้น เหตุไรท่านจึงทิ้งต้นไม้แห้งไม่ได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฌายสิ ความว่า เหตุไรท่านจึงยืนซบเซา คืองมงายอยู่ที่ยอดตอไม้แห้ง.
               ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่าเตือน.
               บทว่า วสฺสนฺตสนฺนิภา ความว่า ในเวลาฤดูฝน ไพรสณฑ์จะมีสีเขียวชะอุ่มเหมือนดาดาษไปด้วยชั้นที่สวยงาม เพราะเหตุนั้น พญาหงส์จึงทักทายพญานกแขกเต้านั้นว่า ดูก่อนพญานกแขกเต้าผู้มีขนเขียวดุจไพรสณฑ์ในฤดูฝน ดังนี้.
               บทว่า น ริญฺจสิ เท่ากับ น ฉฑฺเฑสิ แปลว่า ทิ้งไม่ได้.

               ลำดับนั้น พญานกแขกเต้ากล่าวกะพญาหงส์ว่า ข้าแต่พญาหงส์ เราละทิ้งต้นไม้นี้ไปไม่ได้ เพราะความที่เรามีกตัญญูกตเวที แล้วได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ข้าแต่พญาหงส์ ชนเหล่าใดแลเป็นเพื่อนของพวกเพื่อน ในคราวร่วมสุขทุกข์จนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ ระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษอยู่ ย่อมละทิ้งเพื่อนผู้สิ้นทรัพย์หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปไม่ได้เลย.
               ข้าแต่พญาหงส์ เราก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษ ต้นไม้นี้เป็นทั้งญาติเป็นทั้งเพื่อนของเรา เราต้องการเพียงเพื่อเป็นอยู่ จึงไม่อาจละทิ้งต้นไม้นั้นไปได้ ก็การที่จะละทิ้งไปเพราะได้ทราบว่า ต้นไม้นี้สิ้นผลแล้วดังนี้ นี่ไม่ยุติธรรม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เว สขีนํ สขาโร ภวนฺติ เท่ากับ เย จ สหายานํ สหายา โหนฺติ แปลว่า ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนของเพื่อนทั้งหลาย.
               บทว่า ขีณํ อขีณํ ความว่า ธรรมดาว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมละทิ้งเพื่อนผู้ชื่อว่าสิ้นทรัพย์ เพราะสิ้นสหายและโภคทรัพย์ของตนไปไม่ได้เลย.
               บทว่า สตํ ธมฺมมนุสฺสรนฺโต คือ ระลึกถึงประเพณีของบัณฑิตทั้งหลายอยู่.
               บทว่า ญาตี จ เม ความว่า ข้าแต่พญาหงส์ ต้นไม้นี้ ชื่อว่าเป็นทั้งญาติของเรา เพราะอรรถว่าเป็นที่รักสนิทสนม ชื่อว่าเป็นทั้งเพื่อนของเรา เพราะอยู่ร่วมป่ากับเรา.
               บทว่า ชีวิกตฺโถ ความว่า เราต้องการเพียงเพื่อเป็นอยู่ จึงไม่อาจจะทิ้งต้นไม้นั้นไปได้.

               ท้าวสักกเทวราชทรงสดับถ้อยคำของพญานกแขกเต้านั้นแล้ว ทรงยินดีตรัสสรรเสริญ ประสงค์จะประทานพร จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ความเป็นเพื่อน ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านได้ทำไว้เป็นพยานดีแล้ว ถ้าท่านชอบใจธรรมนั้น ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ.
               ดูก่อนพญานกแขกเต้าผู้ชาติวิหค มีปีกเป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เรานั้นจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงเลือกเอาพร ตามที่ใจปรารถนาเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ ความว่า ท่านได้ทำไว้เป็นพยานดีแล้ว ด้วยความร่าเริง.
               บทว่า เมตฺติ สํสติ สนฺถโว ได้แก่ ความเป็นเพื่อน ความไมตรีและความสนิทสนมในท่ามกลางบริษัท ความไมตรีดังว่านี้ใด อันท่านได้ทำไว้ดีแล้ว คือทำไว้ดีนักแล้ว ได้แก่ทำไว้ประเสริฐแล้วเทียว.
               บทว่า สเจตํ ธมฺมํ ความว่า ถ้าท่านชอบใจธรรม คือความไมตรีนั้น.
               บทว่า วิชานตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชนทั้งหลายพึงสรรเสริญ.
               บทว่า โส เต คือ เรานั้นจะให้พรแก่ท่าน.
               บทว่า วรสฺสุ เท่ากับ อิจฺฉ แปลว่า จงปรารถนา.
               บทว่า มนสิจฺฉสิ ความว่า ท่านปรารถนาพรอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจ เราจะให้พรนั้นทั้งหมดแก่ท่าน.

               พญานกแขกเต้า เมื่อจะเลือกรับพร ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า :-
               ข้าแต่พญาหงส์ ถ้าท่านจะให้พรแก่ข้าพเจ้าไซร้ ก็ขอให้ต้นไม้นี้พึงได้มีอายุต่อไป ต้นไม้นั้นจงมีกิ่ง มีผลงอกงามดี มีผลมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ตั้งอยู่อย่างสง่างามเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาขวา คือ จงสมบูรณ์ด้วยกิ่ง.
               บทว่า ผลิมา คือ จงประกอบด้วยกิ่งที่มีผล.
               บทว่า สํวิรูฬฺโห คือ จงมีใบงอกงามโดยชอบ ได้แก่จงสมบูรณ์ด้วยใบอ่อน.
               บทว่า มธุตฺถิโก คือ จงมีผลมีรสหวาน เหมือนน้ำหวานดุจน้ำผึ้งในผลมะซาง ซึ่งมีอยู่โดยธรรมชาติ ฉะนั้น.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประทานพรแก่พญานกแขกเต้านั้น
               ได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
               ดูก่อนสหาย ท่านจงดูต้นไม้นั้นซึ่งมีผลมากมาย ขอให้ท่านจงอยู่ร่วมกับต้นมะเดื่อของท่าน ขอให้ต้นมะเดื่อนั้นจงมีกิ่งก้าน มีผลงอกงามดี มีผลมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ตั้งอยู่อย่างสง่างามเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหาว เต โหตุ อุทุมฺพเรน ความว่า การอยู่ร่วมโดยความเป็นอันเดียวกันกับต้นมะเดื่อ จงมีแก่ท่าน.

               ก็แหละ ท้าวสักกเทวราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็กลายเพศหงส์กลับเป็นท้าวสักกเทวราชตามเดิม แสดงอานุภาพของพระองค์กับนางสุชาดา เอาพระหัตถ์วักน้ำจากแม่น้ำคงคามาประพรมตอไม้มะเดื่อ ทันใดนั้น ต้นมะเดื่อซึ่งสมบูรณ์ด้วยกิ่งและค่าคบ มีผลอันอร่อย ก็ตั้งขึ้นยืนต้นอยู่อย่างงามสง่า เหมือนมุณฑมณีบรรพต ฉะนั้น
               พญานกแขกเต้าเห็นดังนั้นแล้วเกิดโสมนัส เมื่อจะสรรเสริญท้าวสักกเทวราช
               ได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-
               ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุข พร้อมกับพระญาติทั้งปวง เหมือนข้าพระบาทมีความสุขเพราะได้เห็นต้นไม้ผลิตผลในวันนี้ ฉะนั้นเถิด.


               ส่วนท้าวสักกเทวราช ครั้นประทานพรแก่พญานกแขกเต้านั้นแล้ว ทรงทำต้นมะเดื่อให้มีผลเรื่อยไป แล้วเสด็จกลับวิมานของพระองค์พร้อมกับนางสุชาดา
               พระศาสดาได้ทรงวางอภิสัมพุทธคาถา ที่ให้แสดงถึงเนื้อความนั้นไว้ในตอนสุดท้ายว่า :-
               ท้าวสักกเทวราชประทานพรแก่พญานกแขกเต้า ทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว พาพระมเหสีเสด็จกลับเทพนันทนวัน.


               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสว่า นี่แหละเธอ โบราณกบัณฑิตแม้เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานยังไม่โลภอาหาร เธอบวชในศาสนาเห็นปานนี้ ไฉนจึงยังโลภอาหารอยู่ เธอจงไปอยู่ในที่นั้นแหละ ดังนี้ แล้วทรงสอนพระกรรมฐานแก่ภิกษุนั้น
               ครั้นเธอไปอยู่ที่นั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัต
               พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
               ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้
               พระยานกแขกเต้าในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถามหาสุวราชชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาสุวราชชาดก ว่าด้วย สหายย่อมไม่ละทิ้งสหาย จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1216 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1226 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1236 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5158&Z=5190
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=7049
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=7049
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :