ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1274 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1283 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1292 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา หลิททราคชาดก
ว่าด้วย ลักษณะของผู้ที่จะคบ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภความประเล้าประโลมของนางถูลกุมารี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุตีติกฺขํ ดังนี้.
               เรื่องที่เป็นปัจจุบันจักมีแจ้งในจุลลนารทกัสสปชาดก ในเตรสนิบาต.
               ส่วนเรื่องที่เป็นอดีต มีความดังต่อไปนี้ :-
               นางกุมาริกานั้นทำลายศีลของดาบสหนุ่มนั้นแล้ว รู้ว่าดาบสหนุ่มตกอยู่ในอำนาจของตน คิดว่าเราจักลวงดาบสหนุ่มนี้นำไปในครรลองมนุษย์ คิดดังนี้แล้วพูดว่า ขึ้นชื่อว่าศีลที่รักษาในป่าซึ่งเว้นจากกามคุณมีรูปเป็นต้น ย่อมจะมีผลใหญ่ไปไม่ได้ ศีลที่รักษาในครรลองมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกามคุณมีรูปเป็นต้น ย่อมมีผลใหญ่ มาเถิดท่านจงไปรักษาศีลกับเราในครรลองมนุษย์นั้น ป่าจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่าน ดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ความอดทนด้วยศีลอยู่ในป่าอันมีที่นอนและที่นั่งอันสงัดเงียบ จะมีผลดีอะไร ส่วนชนเหล่าใดอดทนอยู่ในบ้าน ชนเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าท่าน.


               ความอดกลั้นด้วยดี ชื่อว่า สุตีติกฺขํ ในคาถานั้น.
               บทว่า ตีติกฺขนฺติ คือ อดกลั้นภัยธรรมชาติทั้งหลายมีความเย็นเป็นต้น.

               ดาบสหนุ่มได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า บิดาของเราไปป่า เมื่อท่านมาแล้ว เราจักลาท่านก่อนแล้วจึงไป.
               นางกุมาริกานั้นคิดว่า ได้ยินว่า ดาบสหนุ่มนี้มีบิดา ถ้าท่านเห็นเราก็จักโบยตีให้เราถึงความพินาศด้วยไม้คาน เราควรไปก่อนเถิด ครั้นแล้วก็กล่าวกะพระดาบสหนุ่มว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันจะทำเครื่องหมายในหนทางไปก่อนท่านจงตามมาภายหลัง.
               ดาบสหนุ่มนั้น ครั้นนางกุมาริกาไปแล้วก็มิได้เก็บฟืน มิได้ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ได้แต่นั่งซบเซาอยู่อย่างเดียวเท่านั้น แม้เวลาบิดามาก็มิได้ต้อนรับ.
               ลำดับนั้น บิดารู้ว่าบุตรของเรานี้ตกอยู่ในอำนาจของหญิงเสียแล้ว จึงถามดาบสหนุ่มนั้นว่า แน่ะพ่อ เหตุไรเจ้าจึงไม่เก็บฟืน ไม่ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ได้แต่นั่งซบเซาอยู่อย่างเดียวเท่านั้น.
               ดาบสหนุ่มถามว่า ข้าแต่พ่อ ได้ยินว่า ศีลที่รักษาในป่าไม่มีผลมาก ศีลที่รักษาในครรลองมนุษย์มีผลมากกว่า ฉันจักไปรักษาศีลในครรลองมนุษย์ สหายของฉันสั่งว่าจงตามมาภายหลัง แล้วเขาไปล่วงหน้า ฉันจักไปกับสหายนั้น
               เมื่อฉันอยู่ในครรลองมนุษย์นั้น ควรคบคนเช่นไรดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ข้าแต่พ่อ ฉันออกจากป่าสู่บ้านแล้ว ควรคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ฉันขอถามท่าน ขอท่านจงบอกฉันด้วย.


               ลำดับนั้น ดาบสผู้บิดาเมื่อจะบอกแก่ดาบสหนุ่ม จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
               แน่ะพ่อ ผู้ใดคุ้นเคยกับเจ้า อดทนต่อความคุ้นเคยของเจ้าได้ เป็นผู้ตั้งใจฟังคำพูดของเจ้าและอดทนต่อคำพูดของเจ้าได้ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้นเถิด.
               ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกายวาจาใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงตั้งตัวเหมือนบุตรที่เกิดแต่อกผู้นั้น จงคบผู้นั้นเถิด.
               อนึ่ง ผู้ใดย่อมประพฤติโดยธรรม แม้เมื่อประพฤติอยู่ก็ไม่ถือตัว เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้น ผู้กระทำกรรมอันบริสุทธิ์ มีปัญญาเถิด.
               แน่ะพ่อ เจ้าอย่าคบบุรุษที่มีจิตกลับกลอกดุจผ้าที่ย้อมด้วยน้ำขมิ้น รักง่ายหน่ายเร็ว ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปจะพึงไร้มนุษย์.
               เจ้าจงเว้นคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล เหมือนบุคคลผู้ละเว้นอสรพิษที่ดุร้าย เหมือนบุคคลผู้ละเว้นหนทางที่เปื้อนคูถ และเหมือนบุคคลผู้ไปด้วยยานละเว้นหนทางที่ขรุขระ ฉะนั้น.
               แน่ะพ่อ ความพินาศย่อมมีแก่ผู้ที่คบคนพาล เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรูฉะนั้น.
               แน่ะพ่อ เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า ขอเจ้าจงกระทำตามคำของพ่อ เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย เพราะการสมาคมกับคนพาลเป็นทุกข์.


               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า โย เต วิสฺสาสเต เท่ากับ โย ตว วิสฺสาเสยฺย แปลว่า ผู้ใดพึงคุ้นเคยกับเจ้า. สองบทว่า ขเมยฺย เต ความว่า ผู้ใดพึงอดทนต่อความคุ้นเคยที่เจ้ากระทำแล้วในตน. บทว่า สุสฺสูสี จ ตีติกฺขี จ ความว่า ผู้ใดพึงเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยการฟังด้วยดี ซึ่งถ้อยคำของเจ้า และด้วยการอดกลั้นต่อถ้อยคำของเจ้า.
               ด้วยบทว่า โอรสีว ปติฏฺฐาย เจ้าพึงตั้งตน คือพึงดำรงตนอยู่เหมือนบุตรผู้เกิดแต่อกของมารดา ฉะนั้น แล้วรู้สึกอยู่ว่า เหมือนมารดาของตนพึงคบผู้นั้น.
               บทว่า โย จ ธมฺเมน จรติ ความว่า ผู้ใดประพฤติโดยสุจริตธรรมสามอย่างนั่นแล. บทว่า น มญฺญติ ความว่า แม้เมื่อประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ถือตัวว่าเราประพฤติธรรม. บทว่า วิสุทฺธการึ ได้แก่ผู้กระทำกุศลกรรมบถสิบประการอันบริสุทธิ์. บทว่า ราควิราคินํ ได้แก่ผู้รักง่ายและหน่ายเร็ว คือมีอันรักแล้วก็หน่ายในขณะนั้นเป็นสภาพ.
               บทว่า นิมฺมนุสฺสมฺปิ เจ สิยา ความว่า แม้ถ้าว่าพื้นชมพูทวีปจะไม่มีมนุษย์ไซร้ มีแต่มนุษย์ผู้นั้นประดิษฐานอยู่ผู้เดียว แม้ถึงกระนั้นเจ้าก็อย่าคบคนเช่นนั้น.
               บทว่า มหาปถํ คือดุจบุคคลละเว้นหนทางที่เปรอะเปื้อนด้วยคูถฉะนั้น.
               บทว่า ยานีว คือดุจบุคคลผู้ไปด้วยยาน. บทว่า วิสมํ คือที่ไม่เรียบราบเช่นเป็นที่ลุ่มที่ดอนมีตอและหินเป็นต้น. บทว่า พาลํ อจฺจูปเสวโต ได้แก่ ผู้คบคนพาลคือคนไม่มีปัญญา. บทว่า สพฺพทา ความว่า แน่ะพ่อ ขึ้นชื่อว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ คือตลอดกาลเป็นนิจ เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรูฉะนั้น.
               สองบทว่า ตํ ตาหํ ความว่า เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า.

               ดาบสหนุ่มนั้นได้ฟังคำสอนของบิดาอย่างนี้แล้ว กล่าวว่า
               ข้าแต่พ่อ ฉันไปสู่ครรลองมนุษย์ จักไม่ได้บัณฑิตเช่นพ่อ ฉันกลัวการไปในครรลองมนุษย์นั้น ฉันจักอยู่ในสำนักของพ่อนี้แหละ.
               ลำดับนั้น ดาบสผู้เป็นบิดาได้ให้โอวาทแก่ดาบสหนุ่มยิ่งขึ้นไปอีก แล้วสอนให้บริกรรมในกสิณ ต่อมาไม่นานนักดาบสหนุ่มก็ได้อภิญญาและสมาบัติ เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้ากับดาบสผู้เป็นบิดา.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ได้ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
               พระดาบสหนุ่มในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุผู้กระสัน ในบัดนี้
               นางกุมาริกาในครั้นนั้น ได้มาเป็น นางถูลกุมาริกา ในบัดนี้
               ส่วนพระดาบสผู้เป็นบิดา คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาหลิททราคชาดกที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา หลิททราคชาดก ว่าด้วย ลักษณะของผู้ที่จะคบ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1274 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1283 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1292 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5328&Z=5354
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=7955
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=7955
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :