ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1526 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1542 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1553 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ปานียชาดก
ว่าด้วย การทำบาปแล้วรังเกียจบาปที่ทำ

               พระศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภถึงการข่มกิเลส จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มิตฺโต มิตฺตสฺส ดังนี้.
               ดังจะกล่าวโดยพิสดาร สมัยหนึ่ง คฤหัสถ์ผู้เป็นสหายกันชาวกรุงสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน ฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว บรรพชาถึงอุปสมบท พากันอยู่ภายในโกฏฐิสัณฐาคาร ถึงเวลาเที่ยงคืน ต่างก็ตรึกถึงกามวิตก.
               เรื่องทั้งหมดบัณฑิตพึงให้พิสดาร โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               แปลกแต่ว่า ครั้นท่านพระอานนท์ให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน โดยอาณัติของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระศาสดาประทับนั่งเหนืออาสนะที่จัดถวาย ทรงกระทำมิให้เป็นการเจาะจง ไม่ตรัสว่า พวกเธอพากันตรึกถึงกามวิตกแล้ว ตรัสด้วยสามารถเป็นพระดำรัสสงเคราะห์แก่ภิกษุทั้งปวงว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นของเล็กน้อยไม่มีเลย ธรรมดาว่าภิกษุต้องข่มกิเลสที่เกิดแล้วๆ เสีย บัณฑิตครั้งก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ต่างก็ข่มกิเลสทั้งหลายเสียได้ บรรลุปัจเจกพุทธญาณ ดังนี้แล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัส ดังต่อไปนี้
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี
               สหายสองคนในบ้านน้อยตำบลหนึ่งในแคว้นกาสี พากันถือกระออมน้ำดื่มไปสู่ไร่ในป่า วางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วฟันไร่ ในเวลากระหายน้ำก็พากันมาดื่มน้ำ. ในคนสองคนนั้น คนหนึ่งเมื่อมาก็เก็บน้ำดื่มของตนไว้เสีย ดื่มน้ำจากกระออมของอีกคนหนึ่ง
               ตอนเย็นออกจากป่าแล้ว ยืนอาบน้ำสำรวจดูว่า วันนี้เราได้ทำบาปอะไรๆ ไว้ ด้วยกายทวารเป็นต้นบ้าง มีหรือไม่ เห็นการที่ขโมยน้ำของเพื่อนกันดื่ม ถึงความสลดใจคิดว่า ตัณหานี้ เมื่อเจริญคงโยน เราเข้าไปในอบายทั้งหลายเป็นแน่แท้ เราจักข่มกิเลสอันนี้เสียให้ได้ กระทำการขโมยน้ำของเพื่อนกันดื่มนั้นให้เป็นอารมณ์ เจริญวิปัสสนา ทำปัจเจกพุทธญาณให้บังเกิดได้แล้ว ยืนนึกถึงคุณที่ตนได้รับอยู่.
               ลำดับนั้น อีกคนหนึ่งอาบน้ำแล้วขึ้นมากล่าวกะเขาว่า มาเถิดสหาย เราพากันไปเรือนเถิด.
               เขาตอบว่า เธอไปเถิด ฉันไม่มีจิตคิดถึงเรือน เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว.
               เขากล่าวว่า อันว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เป็นอย่างท่านดอก.
               ลำดับนั้น ท่านจึงถามเขาว่าเป็นเช่นไรเล่า. เขาตอบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีผมเพียง ๒ องคุลี ครองผ้าย้อมน้ำฝาด พากันอยู่ ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ ในป่าหิมพานต์ตอนเหนือ. ท่านลูบศีรษะ ในบัดดลนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ของท่านก็อันตรธานหายไป กลับกลายเป็นครองผ้า ๒ ชั้นที่ย้อมแล้ว คาดรัดประคด เช่นกับสายฟ้า มีจีวรเฉวียงบ่า มีสีเพียงดังแผ่นครั่ง ห่มเฉวียงบ่าไว้ข้างหนึ่ง มีผ้าบังสุกุลจีวรสีเมฆ พาดอยู่บนบ่าเบื้องขวา มีบาตรดินสีเหมือนแมลงภู่ คล้องอยู่ที่บ่าเบื้องซ้าย. ท่านสถิตอยู่ในอากาศแสดงธรรมแล้วเหาะไปลงที่เงื้อมเขานันทมูลกะทันที.

               ยังมีกุฎุมพีคนหนึ่งในกาสิกคามนั่นเอง นั่งอยู่ที่ตลาด เห็นชายผู้หนึ่งพาภริยาของตนเดินไป ทำลายอินทรีย์เสีย มองดูหญิงผู้เลอโฉมนั้น
               หวนคิดไปอีกว่า ความโลภนี้แหละ เมื่อมันเจริญจักโยนเราเข้าไปในอบายทั้งหลายได้ มีใจสลดเจริญวิปัสสนา บรรลุปัจเจกพุทธญาณ สถิตในอากาศแสดงธรรม เหาะไปเงื้อมเขานันทมูลกะเช่นกัน.

               ยังมีบิดากับบุตรคู่หนึ่งเป็นชาวกาสิกคามเหมือนกัน เดินทางไปร่วมกัน. พวกโจรป่าพากันซุ่มอยู่ที่ปากดง พวกโจรเหล่านั้นจับบิดากับบุตรได้ ยึดบุตรไว้ปล่อยบิดาไป ด้วยสั่งว่า เจ้าจงไปนำทรัพย์มาไถ่บุตรของท่านเถิด
               จับพี่น้องสองคนได้ก็ยึดน้องชายเอาไว้ ปล่อยพี่ชายไป
               จับอาจารย์กับอันเตวาสิกได้ ยึดเอาอาจารย์ไว้ ปล่อยอันเตวาสิกไป.
               อันเตวาสิกต้องไปนำทรัพย์มาไถ่ตัวอาจารย์ไป ด้วยความโลภในศิลปะ.
               ลำดับนั้น บิดาและบุตรนั้นรู้ว่า พวกโจรซุ่มอยู่ที่ตรงนั้น จึงทำกติกากันไว้ว่า เจ้าอย่าเรียกข้าว่าพ่อนะ ถึงข้าก็จะไม่เรียกเองว่าลูก ในเวลาถูกพวกโจรจับได้ ถูกถามว่าแกเป็นอะไรกัน ต่างคนก็ต่างพูดมุสาวาท ทั้งๆ ที่รู้อยู่ แล้วแกล้งตอบว่า เราไม่ได้เป็นอะไรกัน.
               เมื่อทั้งคู่ออกพ้นจากดง ไปยืนอาบน้ำอยู่ในเวลาเย็น บุตรชายชำระศีลของตน เห็นมุสาวาทนั้น คิดว่า บาปนี้เมื่อเจริญจักโยนเราไปในอบายทั้งหลายได้ เราจักข่มกิเลสนี้ให้ได้ ดังนี้ เจริญวิปัสสนา ทำปัจเจกพุทธญาณให้เกิดขึ้นแล้ว สถิตอยู่ในอากาศแสดงธรรมแก่บิดา เหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะเหมือนกัน.

               ยังมีอีกผู้หนึ่งเป็นนายอำเภอคนหนึ่งในกาสิกคามนั่นแล บังคับไม่ให้คนฆ่าสัตว์. ครั้นในเวลากระทำพลีกรรม มหาชนประชุมกันกล่าวกะเขาว่า เจ้านายขอรับ พวกเราต้องฆ่าเนื้อและสุกรเป็นต้น กระทำพลีกรรมแก่หมู่ยักษ์บ้างเถิดขอรับ กาลนี้เป็นกาลแห่งพลีกรรม ก็กล่าวว่า พวกท่านจงกระทำตามแบบอย่างที่เคยกระทำมาในครั้งก่อนนั่นแล. พวกมนุษย์ได้ทำปาณาติบาตมากมาย.
               เขามองเห็นปลาและเนื้อเป็นอันมาก รำคาญใจว่า มนุษย์เหล่านี้ที่ฆ่าสัตว์มีประมาณเท่านี้ จักฆ่าตามคำของเราผู้เดียวเท่านั้น ดังนี้แล้ว จึงยืนพิงช่องหน้าต่าง เจริญวิปัสสนา ทำปัจเจกพุทธญาณให้เกิดแล้ว สถิตในอากาศแสดงธรรม เหาะไปเงื้อมเขานันทมูลกะเหมือนกัน.

               ยังอีกผู้หนึ่งเป็นนายอำเภอในแคว้นกาสิกะเหมือนกัน ห้ามการซื้อขายน้ำเมาไว้อย่างกวดขัน ถูกมหาชนพากันถามว่า เจ้านายขอรับ เมื่อก่อนเวลานี้เป็นเวลางาน เรียกชื่อว่าสุราฉัณ (สุราที่ดื่มกันในวันมีมหรสพ) พวกกระผมจะทำอย่างไรขอรับ จึงกล่าวว่า พวกท่านจงทำตามแบบอย่างเก่าก่อนนั่นแล. พวกมนุษย์พากันกระทำการมหรสพ ดื่มสุราเมาแล้ว ทะเลาะกันจนมือเท้าแตกหัก ศีรษะแตก หูฉีกขาด ถูกจองจำด้วยสินไหมเป็นอันมาก.
               นายอำเภอเห็นพวกคนนั้นแล้วคิดว่า เมื่อเราไม่อนุญาต คนเหล่านี้ก็ไม่ต้องได้ประสบทุกข์กัน. เขาทำความรำคาญใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยืนพิงช่องหน้าต่างอยู่ เจริญวิปัสสนา บรรลุปัจเจกพุทธญาณแล้ว สถิตอยู่ในอากาศแสดงธรรมว่า พวกท่านจงอย่าเป็นผู้ประมาทเถิด แล้วเหาะไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะเหมือนกัน.

               จำเนียรกาลนานมา พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ต่างเหาะมาลงที่ประตูกรุงพาราณสี เพื่อภิกขาจาร ล้วนนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย เที่ยวโปรดสัตว์ด้วยอิริยาบถมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น อันน่าเลื่อมใสจนไปถึงประตูวัง.
               พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นพระคุณเจ้าเหล่านั้น ทรงมีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ ล้างเท้า ทาด้วยน้ำมันหอม อังคาสด้วยขาทนียและโภชนียะอันประณีต ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
               ตรัสถามว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย การบรรพชาในปฐมวัยของพระคุณเจ้าทั้งหลาย ดูช่างงดงามจริง เมื่อจะบรรพชาในวัยนี้ พระคุณเจ้าทั้งหลายต่างเห็นโทษในกามทั้งหลาย อย่างไรกันนะ อะไรเป็นอารมณ์ของพระคุณเจ้าเล่า.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นจะทูลแด่พระราชานั้น จึงทูลเป็นคาถาองค์ละ ๑ คาถา
               ดังต่อไปนี้ :-
               อาตมภาพเป็นมิตรของชายคนหนึ่ง ได้ดื่มน้ำของมิตรที่เขามิได้ให้ เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพจึงรังเกียจว่า เราทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
               ความพอใจบังเกิดขึ้นแก่อาตมภาพ เพราะเห็นภริยาของผู้อื่น เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้กระทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
               ขอถวายพระพรมหาบพิตร โจรทั้งหลายจับโยมบิดาของอาตมภาพไว้ในป่า อาตมภาพถูกโจรเหล่านั้นถาม ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ได้แกล้งพูดถึงโยมบิดานั้นเป็นอย่างอื่นไป เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้ทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
               เมื่อพลีกรรมชื่อว่าโสมยาคะ ปรากฏแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็พากันกระทำปาณาติบาต อาตมภาพได้ยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้ทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงได้ออกบวช.
               ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในหมู่บ้านของอาตมภาพ สำคัญสุราและเมรัยว่าเป็นน้ำหวาน จึงได้พากันดื่มน้ำเมา เพื่อความฉิบหายแก่ชนเป็นอันมาก อาตมภาพจึงยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพจึงรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้ทำบาปนั้นต่อไปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงได้ออกบวช.


               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้ภาษิตคาถาทั้ง ๕ เหล่านี้ โดยลำดับ.
               ฝ่ายพระราชาทรงสดับคำพยากรณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์แล้วได้ทรงสดุดีว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย บรรพชานี้เหมาะสมแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายทีเดียว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺโต มิตฺตสฺส ความว่า มหาบพิตร อาตมภาพเป็นเพื่อนคนหนึ่ง บริโภคน้ำดื่มของเพื่อนกัน โดยทำนองนี้.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะอาตมภาพไม่กระทำบาปกรรมซ้ำอีก เหมือนอย่างพวกปุถุชนกระทำกันอยู่.
               บทว่า ปาปํ ความว่า อาตมภาพกระทำบาปนั้นให้เป็นอารมณ์แล้วบวช.
               บทว่า ฉนฺโท ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร เพราะเห็นภริยาของผู้อื่น โดยทำนองนี้ ความพอใจในกามจึงเกิดขึ้นแก่อาตมภาพแล้ว.
               บทว่า อคณฺหิ แปลว่า ได้รุมกันจับ.
               บทว่า ชานํ ความว่า อาตมภาพถูกพวกโจรนั้น ถามว่าผู้นี้เป็นอะไรของแก ทั้งๆ ที่ทราบอยู่นั่นแหละ จึงตอบไปเสียอย่างอื่นว่าไม่ได้เป็นอะไรกัน.
               บทว่า โสมยาเค ความว่า เมื่องานมหรสพใหม่ปรากฏขึ้นแล้ว พวกมนุษย์พากันกระทำพลีกรรมแก่ยักษ์ชื่อว่าพิธีโสมยาคะ ครั้นพิธีนั้นปรากฏแล้ว อาตมภาพก็พิจารณาอนุญาต.
               บทว่า สุราเมรยมธุกา ความว่า ฝูงชนที่สำคัญอยู่ซึ่งสุรามีสุราเจือด้วยแป้งเป็นต้นและเมรัยมีน้ำดองดอกไม้เป็นต้นว่าเป็นเหมือนน้ำผึ้ง.
               บทว่า เย ชนา ปฐมาสุ โน ความว่า ฝูงชนที่เป็นเช่นนี้ มีแล้ว ได้มีก่อนในบ้านของพวกเรา.
               บทว่า พหุนฺนํ เต ความว่า พวกเหล่านั้น เมื่อถึงงานมหรสพคราวหนึ่งได้มีการดื่มน้ำเมา เพื่อความฉิบหายแก่ชนเป็นอันมากในวันหนึ่ง.

               พระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงมีจิตเลื่อมใส ทรงถวายผ้าจีวรและเภสัช ทรงส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว.
               แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ทำอนุโมทนาแก่ท้าวเธอได้พากันไป ณ ที่นั้นนั่นแล.
               ตั้งแต่นั้นมา พระราชาทรงเบื่อหน่าย ไม่ยินดีในวัตถุกามทั้งหลาย ทรงเสวยพระกระยาหารอันมีรสเลิศต่างๆ ก็มิได้ทรงเรียก มิได้ทรงทอดพระเนตรพวกสตรี ทรงมีจิตเบื่อหน่าย เสด็จเข้าห้องอันทรงสิริ ประทับนั่งกระทำกสิณ บริกรรมที่ข้างฝาอันมีสีขาว ทรงทำฌานให้บังเกิดขึ้นแล้ว พระองค์ทรงบรรลุฌานแล้ว.
               เมื่อจะทรงติเตียนกามทั้งหลาย จึงตรัสพระคาถาว่า
               น่าติเตียนแท้ ซึ่งกามเป็นอันมาก มีกลิ่นเหม็น มีเสี้ยนหนามมาก เราซ่องเสพอยู่ ไม่ได้รับความสุขเช่นนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุกณฺฏเก ได้แก่ มีหมู่ปัจจามิตรมากมาย.
               บาลีว่า โย จ นั้น ทีจริงก็คือ โย อหํ แปลว่า เราใด. อีกอย่างบาลีก็ว่า โย จ อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตาทิสํ ได้แก่ ความสุขในฌานเช่นนั้น คือเว้นจากกิเลส.

               ลำดับนั้น พระอัครมเหสีของพระองค์ทรงดำริว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงสดับธรรมกถาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ทรงมีท่าทางเบื่อหน่าย มิได้ตรัสกับพวกเราเลย เสด็จเข้าพระตำหนักอันทรงสิริ เราจักคอยจับพระองค์ดูก่อนดังนี้แล้วเสด็จไปสู่พระทวารตำหนักอันทรงสิริ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงสดับพระอุทานของพระราชาผู้กำลังทรงติเตียนกามทั้งหลาย จึงตรัสว่า
               ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระองค์ทรงติเตียนกาม ความสุขที่เช่นกับกามสุข ไม่มีละหรือ
               เมื่อจะทรงพรรณนาถึงความสุขในกาม จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า
               กามทั้งหลายมีรสอร่อยมาก สุขอื่นยิ่งไปกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใด ซ่องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหสฺสาทา ความว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ธรรมดาว่ากามเหล่านี้มีความแช่มชื่นมาก ความสุขชนิดอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ ไม่มีเลย เพราะผู้เสพกามเป็นปกติ จะไม่เข้าถึงอบายทั้งหลาย จะพากันไปบังเกิดในสวรรค์แล.

               พระโพธิสัตว์เจ้าทรงได้สดับพระราชเสาวนีย์นั้นแล้ว
               เมื่อจะทรงติเตียนว่า จงย่อยยับเสียเถิด เจ้าคนถ่อย เจ้าพูดอะไร ขึ้นชื่อว่าความสุขในกามทั้งหลายมีที่ไหนกันเล่า เพราะกามเหล่านี้เป็นวิปริณามทุกข์ทั้งนั้นแหละ
               จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาที่เหลือว่า
               กามทั้งหลาย มีรสอร่อยน้อย ทุกข์อื่นยิ่งไปกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใด ซ่องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงนรก.
               เหมือนดาบที่ลับคมดีแล้วเชือด เหมือนกระบี่ที่ขัดดีแล้วแทง เหมือนหอกที่พุ่งไปปักอก กามทั้งหลาย เป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น.
               หลุมถ่านเพลิงลุกขึ้นโพลงแล้ว ลึกกว่าชั่วบุรุษ ผาลที่เขาเผาร้อนอยู่จนตลอดวัน กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น.
               เหมือนยาพิษชนิดร้ายแรง น้ำมันที่เดือดพล่าน ทองแดงที่กำลังละลายคว้าง กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งไปกว่านั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตฺตึโส เท่ากับ เนตฺติโส. คำว่า เนตฺตึโส แม้นี้เป็นชื่อของพระขรรค์ชนิดนั้น.
               บทว่า ทุกฺขตรา ความว่า ความทุกข์อันใด ที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล เพราะอาศัยหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโพลง หรือตาข่ายเหล็กที่ถูกย่างไว้ตลอดวันอย่างนี้ กามทั้งหลายนั่นแหละ ยังเป็นทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์แม้นั้น.
               ในคาถาต่อๆ ไปมีเนื้อความว่า ยาพิษเป็นต้นเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะนำทุกข์มาให้ฉันใด แม้กามทั้งหลายก็เป็นทุกข์ฉันนั้น แต่ความทุกข์นั้น เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์ที่เหลือ.

               พระมหาสัตว์ ทรงแสดงธรรมแก่พระเทวีอย่างนี้แล้ว ได้ทรงให้พวกอำมาตย์ประชุมกัน แล้วตรัสว่า ดูก่อนอำมาตย์ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเธอจงรับราชสมบัติไว้เถิด ฉันจักบวช ทั้งๆ ที่มหาชนพากันร้องไห้คร่ำครวญอยู่นั่นแล เสด็จลุกขึ้นไปประทับในอากาศ ประทานพระโอวาท เสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์ตอนเหนือทางอากาศนั่นเอง ทรงให้สร้างอาศรม ณ ประเทศที่น่ารื่นรมย์ ผนวชเป็นฤาษี ในที่สุดแห่งพระชนมายุ ได้เสด็จไปสู่พรหมโลกแล้ว.

               พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสที่เป็นของเล็กน้อยไม่มีเลย ถึงจะมีประมาณน้อย บัณฑิตทั้งหลายก็พากันข่มเสียได้ทั้งนั้น ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย
               (เมื่อจบสัจจะภิกษุ ๕๐๐ รูป ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล)
               ทรงประชุมชาดกว่า
                         พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในครั้งนั้น ปรินิพพานแล้ว
                         พระเทวีได้กลับมาเป็น พระมารดาพระราหุล
                         ส่วนพระเจ้าพาราณสี ก็คือ เราตถาคต นั่นแล.

               จบอรรถกถาปานียชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปานียชาดก ว่าด้วย การทำบาปแล้วรังเกียจบาปที่ทำ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1526 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1542 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1553 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=6213&Z=6246
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=694
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=694
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :