ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1907 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1921 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1942 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ภิสชาดก
ว่าด้วย ผู้ลักเอาเหง้ามัน

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสฺสํ ควํ รชฏํ ชาตรูปํ ดังนี้.
               ก็เรื่องปัจจุบันจักแจ่มแจ้งใน กุสชาดก
               แต่ว่า ในกาลครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามพระภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอเป็นผู้กระสันจริงหรือ ครั้นภิกษุนั้นรับว่าจริงพระเจ้าข้า. ตรัสถามต่อไปว่าอาศัยอะไร เมื่อทูลว่ากิเลสพระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันมีธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้เห็นปานนี้ เหตุไรยังจะอาศัยกิเลสกระสันอยู่เล่า บัณฑิตในครั้งก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติบวชในลัทธิเป็นพาเหียร ยังพากันปรารภถึงวัตถุกามและกิเลสกาม กระทำได้เป็นคำสบถอยู่ได้เลย ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ.
               พวกญาติพากันขนานนามว่า มหากาญจนกุมาร.
               ครั้นเมื่อท่านเดินได้ ก็เกิดบุตรคนอื่นอีกคนหนึ่ง พวกญาติขนานนามว่า อุปกาญกุมาร โดยลำดับอย่างนี้ ได้มีบุตรถึง ๗ คน. แต่คนสุดท้องเป็นธิดาคนหนึ่ง พวกญาติขนานนามว่า กาญเทวี.
               มหากาญจนกุมารโตแล้ว เรียนศิลปะทั้งปวงมาจากเมืองตักกสิลา.
               ครั้งนั้นมารดาบิดาปรารถนาจะผูกพันท่านไว้ด้วยฆราวาส พูดกันว่า เราพึงสู่ขอทาริกาจากสกุลที่มีกำเนิดเสมอกับตนให้เจ้า เจ้าจงดำรงฆราวาสเถิด.
               ท่านบอกว่า คุณพ่อคุณแม่ครับ ข้าพเจ้าไม่ต้องการครองเรือนเลย เพราะภพทั้ง ๓ ปรากฏแก่ข้าพเจ้าว่า มีภัยน่าสะพรึงกลัวเหมือนไฟติดอยู่ทั่วๆ ไป เป็นเครื่องจองจำเหมือนเรือนจำ เป็นของพึงเกลียดชังอย่างยิ่ง เหมือนกับแผ่นดินอันเป็นที่เทโสโครก ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเมถุนธรรมแม้แต่ความฝัน บุตรคนอื่นๆ ของท่านมีอยู่ โปรดบอกให้เขาครองเรือนต่อไปเถิด. แม้จะถูกอ้อนวอนบ่อยๆ แม้จะถูกท่านบิดามารดาส่งพวกสหายไปอ้อนวอนก็คงไม่ปรารถนาเลย.
               ครั้งนั้นพวกสหายพากันถามท่านว่า เพื่อนเอ๋ย ก็แกปรารถนาอะไรเล่าจึงไม่อยากจะบริโภคกามคุณเลย. ท่านบอกอัธยาศัยในการออกจากกามแก่พวกนั้น มารดาบิดาฟังเรื่องนั้นแล้วก็ขอร้องบุตรที่เหลือ. แม้บุตรเหล่านั้นต่างก็ไม่ต้องการ. กาญจนเทวีก็ไม่ต้องการเหมือนกัน.
               อยู่มาไม่ช้า มารดาบิดาก็พากันถึงแก่กรรม มหากาญจนบัณฑิต ครั้นกระทำกิจที่ต้องทำให้แก่มารดาบิดาแล้ว ก็ให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนขัดสนด้วยทรัพย์ ๘๐ โกฎิ แล้วชวนน้องชาย ๖ คนและน้องสาว ทาสชายคนหนึ่ง ทาสหญิงคนหนึ่ง และสหายคนหนึ่ง ออกมหาภิเนษกรมณ์เข้าสู่ป่าหิมพานต์. ท่านเหล่านั้นอาศัยสระปทุมในป่าหิมพานต์นั้นสร้างอาศรม ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ แล้วพากันบวชเลี้ยงชีพด้วยมูลผลาหารในป่า.
               ท่านเหล่านั้นไปป่าก็ไปร่วมกัน ผู้หนึ่งพบต้นไม้หรือใบไม้ ณ ที่ใด ก็เรียกคนอื่นๆ ไป ณ ที่นั้น ต่างพูดกันถึงเรื่องที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นไปพลาง เลือกเก็บผลไม้ใบไม้ไปพลาง เป็นเหมือนที่ทำงานของชาวบ้าน. ดาบสมหากาญจน์ผู้อาจารย์ดำริว่า อันการเที่ยวแสวงหาผลาผลด้วยอำนาจความคะนองเช่นนี้ ดูไม่เหมาะแก่พวกเราผู้ทิ้งทรัพย์ ๘๐ โกฏิมาบวชเสียเลย ตั้งแต่นี้ไปเราคนเดียวจักหาผลไม้มา.
               พอถึงอาศรมแล้ว ท่านก็เรียกดาบสเหล่านั้นทุกคนมาประชุมกันในเวลาเย็น แจ้งเรื่องนั้นให้ทราบแล้วกล่าวว่า พวกเธอจงอยู่ทำสมณธรรมกันในที่นี้แหละ ฉันจักไปหาผลาผลมา. ครั้งนั้นดาบสมีอุปกาญจนะเป็นต้นพากันกล่าวว่า ท่านอาจารย์ขอรับ พวกข้าพเจ้าพากันอาศัยท่านบวชแล้ว ท่านจงกระทำสมณธรรม ณ ที่นี้แหละ น้องสาวของพวกเราก็ต้องอยู่ที่นี้เหมือนกัน ทาสีเล่าก็ต้องอยู่ในสำนักของน้องสาวนั้น พวกข้าพเจ้า ๘ คนจักผลัดกันไปนำผลาผลมา ท่านทั้งสามคนเป็นผู้พ้นวาระ แล้วรับปฏิญญา.
               ตั้งแต่บัดนั้น คนทั้ง ๘ ก็ผลัดกันวาระละหนึ่งคนหาผลาผลมา ที่เหลือคงอยู่ในศาลาของตนนั้นเอง ไม่จำเป็นก็ไม่ได้รวมกัน. ผู้ที่ถึงวาระหาผลาผลมาแล้ว ก็แบ่งเป็น ๑๑ ส่วน เหนือแผ่นหินซึ่งมีอยู่แผ่นหนึ่ง เสร็จแล้วตีระฆัง ถือเอาส่วนแบ่งของตนเข้าไปที่อยู่. ดาบสที่เหลือพากันออกมาด้วยเสียงระฆังอันเป็นสัญญา ไม่กระทำเสียงเอะอะ เดินไปด้วยท่าทางอันแสดงความเคารพ ถือเอาส่วนแบ่งที่จัดไว้เพื่อตน แล้วไปที่อยู่ฉัน แล้วทำสมณธรรมต่อไป.
               กาลต่อมา ดาบสทั้งหลายนำเหง้าบัวมาฉัน พากันมีตบะรุ่งเรือง มีตบะแก่กล้า ชำนะอินทรีย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ต่างกระทำกสิณกรรมอยู่.
               ครั้งนั้น พิภพของท้าวสักกะหวั่นด้วยเดชแห่งศีลของดาบสเหล่านั้น.
               ท้าวสักกะเล่าก็ยังทรงระแวงอยู่นั้นเองว่า ฤาษีเหล่านี้ยังน้อมใจไปในกามอยู่หรือหามิได้หนอ. ท้าวเธอทรงดำริว่า เราจักคอยจับฤาษีเหล่านี้ แล้วสำแดงอานุภาพซ่อนส่วนแบ่งของพระมหาสัตว์เสียตลอด ๓ วัน.
               วันแรกพระมหาสัตว์ไม่เห็นส่วนแบ่งก็คิดว่า คงจักลืมส่วนแบ่งของเราเสียแล้ว
               ในวันที่สองคิดว่า เราคงมีโทษ ชะรอยจะไม่ตั้งส่วนแบ่งไว้เพื่อเราด้วยต้องการจะประณาม
               ในวันที่สามคิดว่า เหตุการณ์อะไรเล่านะถึงไม่ตั้งส่วนแบ่งแก่เรา ถ้าโทษของเราจักมี เราต้องขอให้งดโทษ แล้วก็ตีระฆังเป็นสัญญาในเวลาเย็น. ดาบสทั้งหมดประชุมกัน พูดกันว่าใครตีระฆัง. ท่านตอบว่า ฉันเอง. พ่อคุณทั้งหลายพากันถามว่า เพราะเหตุไรเล่า ขอรับท่านอาจารย์.
               ตอบว่า พ่อคุณทั้งหลาย ในวันที่ ๓ ใครหาผลาผลมา.
               ดาบสท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้า ขอรับท่านอาจารย์.
               ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วนที่เหลือ แบ่งส่วนเผื่อฉันหรือไม่เล่า.
               ตอบว่า แบ่งครับท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าแบ่งไว้เป็นส่วนที่เจริญขอรับ.
               ถามว่า เมื่อวานเล่าเวรใครไปหามา.
               ท่านผู้อื่นลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้าขอรับ.
               ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วนนึกถึงฉันหรือไม่.
               ตอบว่า ข้าพเจ้าตั้งส่วนอันเจริญไว้เผื่อท่านครับ.
               ถามว่า วันนี้เล่าใครหามา.
               อีกท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้า.
               ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วนได้นึกถึงฉันหรือไม่.
               ตอบว่า ข้าพเจ้าตั้งส่วนที่เจริญไว้เพื่อท่านแล้วครับ.
               ท่านกล่าวว่า พ่อคุณทั้งหลาย ฉันไม่ได้รับส่วนแบ่งสามวันทั้งวันนี้ ในวันแรกฉันไม่เห็นส่วนแบ่งคิดว่า ผู้แบ่งส่วนคงจักลืมฉันเสีย ในวันที่สองคิดว่า ฉันคงมีโทษอะไรๆ ส่วนวันนี้คิดว่า ถ้าโทษของฉันมี ฉันจักขอขมา จึงเรียกเธอทั้งหลายมาประชุมด้วยตีระฆังเป็นสัญญา เธอทั้งหลายต่างบอกว่า พวกเราพากันแบ่งส่วนเหง้าบัวเหล่านี้ แล้วฉันไม่ได้ ควรจะรู้ตัวผู้ขโมยกินเหง้าบัวเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่าการขโมยเพียงเหง้าบัวก็ไม่เหมาะแก่ผู้ที่ละกามแล้วบวช.
               ดาบสเหล่านั้นฟังคำของท่านแล้ว ต่างก็มีจิตเสียวสยองกันทั่วทีเดียวว่า โอ กรรมหนักจริง.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้อันใหญ่ในป่า ณ อาศรมบทนั้น ลงมาจากคาคบนั่งอยู่ในสำนักของดาบสเหล่านั้นเหมือนกัน. ช้างเชือกหนึ่งถูกจำปลอก ไม่สามารถทนทุกข์ได้ ทำลายปลอกหนีเข้าป่าไป ได้เคยมาไหว้คณะฤาษีตามกาลสมควร แม้ช้างนั้นก็มายืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ยังมีลิงตัวหนึ่งเคยถูกให้เล่นกับงู รอดมาได้จากมือหมองู เข้าป่าอาศัยอยู่ใกล้อาศรมนั้นเอง วันนั้นลิงแม้นั้นก็นั่งไหว้คณะฤาษีอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ท้าวสักกะดำริว่า จักคอยจับคณะฤาษีก็ไม่ได้สำแดงกายให้ปรากฏยืนอยู่ในสำนักของดาบสเหล่านั้น.
               ขณะนั้น อุปกาญจนดาบสน้องชายของพระโพธิสัตว์ ลุกจากอาสนะไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว แสดงความนอบน้อมแก่ดาบสที่เหลือถามว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาสิ่งอื่นเลย จะได้เพื่อจะชำระตนเองหรือไม่.
               ท่านตอบว่า ได้จ๊ะ.
               อุปกาญจนดาบสนั้นยืนในท่ามกลางคณะฤาษี เมื่อจะกระทำสบถว่า ถ้าข้าพเจ้าฉันเหง้าบัวของท่านแล้ว ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด.
               จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ ม้า วัว เงิน ทอง และภรรยาที่น่าชอบใจ จงพร้อมพรั่งด้วยบุตรและภรรยามากมายเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสํ ควํ นี้ พึงทราบว่า เขากล่าวติเตียนวัตถุกามทั้งหลายว่า ปิยวัตถุมีประมาณเท่าใด ความโศกและความทุกข์มีประมาณเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้น เพราะความวิปโยคเหล่านั้น.

               คณะฤาษีได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านผู้นิรทุกข์ คำสบถของท่านหนักยิ่งปานไร พากันปิดหู. ส่วนพระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อคุณเอ๋ย คำสบถของเธอหนักยิ่งนัก เธอไม่ได้ฉันจงนั่ง ณ อาสนะสำหรับเธอเถิด.
               เมื่ออุปกาญจนดาบสทำสบถนั่งลงแล้ว น้องคนที่ ๒ ลุกขึ้นไหว้พระมหาสัตว์
               เมื่อจะชำระตนด้วยคำสบถ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงทัดทรงระเบียบ ดอกไม้ เครื่องลูบไล้กระแจะจันทน์แคว้นกาสี จงเป็นผู้มากไปด้วยบุตร จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติพฺพํ ความว่า จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในวัตถุกามและกิเลสกาม. คำนี้เขากล่าวด้วยอำนาจการปฏิเสธทุกข์เท่านั้นว่า ผู้ใดมีความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์อย่างมหันต์ เพราะความวิปโยคเหล่านั้น.

               เมื่อน้องชายที่ ๒ นั่งแล้ว ดาบสที่เหลือต่างก็ได้กล่าวคาถาคนละคาถา ตามควรแก่อัธยาศัยของตนว่า
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นคฤหัสถ์มีธัญชาติมากมาย สมบูรณ์ด้วยกสิกรรม มียศ จงได้บุตรทั้งหลาย จงมีทรัพย์ ได้กามคุณทุกอย่าง จงอยู่ครองเรือนอย่างไม่เห็นความเสื่อมเลย.
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์บรมราชาธิราช มีกำลัง มียศศักดิ์ จงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด.
               
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นพราหมณ์ มัวประกอบในทางทำนายฤกษ์ยาม อย่าได้คลายความยินดีในตำแหน่ง ท่านผู้เป็นเจ้าแคว้นผู้มียศ จงบูชาผู้นั้นเถิด.
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอชาวโลกทั้งมวลจงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเวทมนต์ทั้งปวงผู้เรืองตบะ ชาวชนบททั้งหลายทราบดีแล้วจงบูชาผู้นั้นเถิด.
               
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงครอบครองบ้านส่วยอันพระราชาทรงพระราชทานให้ เป็นบ้านที่มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดุจท้าววาสวะพระราชทานให้ อย่าได้คลายความยินดีจนกระทั่งถึงความตายเถิด.
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นนายบ้าน บันเทิงอยู่ด้วยความฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางสหาย อย่าได้รับความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระราชาเลย.
               
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนาให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐกว่านางสนมทั้งหลายเถิด.
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้หญิงนั้นจงเป็นทาสี ไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มาประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด.
               
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ผู้นั้นเป็นเจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรมในเมืองกชังคละ จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด.
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่า อันน่ารื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยปฏักและสับด้วยขอเถิด.
               
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้าบัวของท่านไป ขอให้ลิงตัวนั้นมีดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด.


               ในบรรดาคาถาเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๓ ที่น้องชายคนที่ ๓ ของพระโพธิสัตว์กล่าวเป็นคำสบถ.
               บทว่า กสิมา ได้แก่ กสิกรรมที่สมบูรณ์.
               บทว่า ปุตฺเต คิหี ธนิมา สพฺพกาเม ความว่า ให้ผู้นั้นเป็นชาวนามีกสิกรรมอันสมบูรณ์ จงได้บุตรมาก มีเหย้าเรือน มีทรัพย์ มีแก้ว ๗ ประการ ได้สิ่งที่น่าใคร่มีรูปเป็นต้นทุกประเภท.
               บทว่า วยํ อปสฺสํ ความว่า จงไม่เห็นความเสื่อมของตนแม้จะสมควรแก่บรรพชาในเวลาแก่ จงครองเรือนอันเพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณเรื่อยไปดังนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า ผู้ที่เพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณนั้น ย่อมถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ด้วยความพลัดพรากจากกามคุณ.
               ในคาถาที่น้องชายคนที่ ๔ กล่าว บทว่า ราชาธิราชา ได้แก่ เป็นพระราชาผู้ยิ่งในระหว่างแห่งพระราชาทั้งหลายนี้ ท่านแสดงโทษในราชสมบัติว่า ธรรมดาว่าท่านผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อความยิ่งใหญ่พลัดพรากไป ย่อมเกิดทุกข์อย่างใหญ่หลวง.
               ในคาถาที่น้องชายคนที่ ๕ กล่าว บทว่า อวีตราโค ได้แก่ ผู้มีตัณหาด้วยตัณหาอันเป็นที่ตั้งของปุโรหิต ทั้งนี้ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า ความเป็นปุโรหิตของพราหมณ์ปุโรหิตถูกมฤตยูกลืนเสียเท่านั้น ความโทมนัสใหญ่หลวงย่อมเกิดขึ้น.
               ในคาถาที่น้องชายคนที่ ๖ กล่าว บทว่า ตปสฺสีนํ ความว่า ชาวโลกทั้งปวงจงสำคัญเขาว่า เป็นผู้มีตบะ สมบูรณ์ด้วยศีล ท่านกล่าวทั้งนี้ด้วยสามารถติเตียนลาภสักการะว่า ความโทมนัสใหญ่หลวงย่อมเกิด เพราะลาภสักการะปราศไปเสีย.
               ในคาถาที่ดาบสผู้เป็นสหายกล่าว บทว่า จตุสฺสทํ ความว่า ผู้ใดลักเหง้าบัวของท่านไป ผู้นั้นจงครอบครองบ้านส่วยด้วยอุดมเหตุ ๔ สถาน คือด้วยผู้คน เพราะเป็นผู้มีคนคับคั่ง ด้วยข้าวเปลือก เพราะข้าวเปลือกมากมาย ด้วยฟืนหาได้ง่าย และด้วยน้ำ เพราะมีน้ำสมบูรณ์มั่งคั่ง อันพระราชาทรงพระราชทาน.
               บทว่า วาสเวน ความว่า อันไม่หวั่นไหว ดุจท้าววาสวะทรงประทาน คืออันพระราชานั้นพระราชทานแล้ว เพราะให้พระราชาพระองค์นั้นทรงโปรดปราน ด้วยอานุภาพแห่งพรที่ได้จากท้าววาสวะ.
               บทว่า อวีตราโค ความว่า จงมีราคะไม่ไปปราศเลย คือยังจมอยู่ในปลักกาม เหมือนสุกรเป็นต้นจมปลักตมอยู่ฉะนั้น ตกไปสู่ความตายเถิด. ดาบสผู้สหายนั้น เมื่อแถลงโทษของกามทั้งหลาย จึงกล่าวอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในคาถาที่ทาสกล่าว บทว่า คามณี ความว่า เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทาสแม้นี้ก็ติเตียนกามทั้งหลายเหมือนกัน จึงกล่าวอย่างนี้.
               ในคาถาที่กาญจนเทวีกล่าว บทว่า ยํ ได้แก่ หญิงใด.
               บทว่า เอกราชา คือ อัครราชา.
               บทว่า อิตฺถีสหสฺสานํ ท่านกล่าวด้วยความสละสลวยแห่งคำ. อธิบายว่า ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าหญิง ๑๖,๐๐๐ นาง.
               บทว่า สีมนฺตินีนํ ความว่า แห่งหญิงผู้ประเสริฐกว่านางสนมทั้งหลาย. กาญจนเทวีนั้น แม้ดำรงอยู่ในความเป็นหญิงก็ติเตียนกามทั้งหลาย ดุจกองคูถที่มีกลิ่นเหม็นฉะนั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ในคาถาที่ทาสีกล่าว บทว่า สพฺพสมาคตานํ ความว่า ให้ผู้นั้นเป็นทาสีนั่งไม่หวั่นไหวไม่สะดุ้งสะเทือน บริโภคของมีรสดี ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่ประชุมกัน ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า การนั่งกินในสำนักของเจ้านายทั้งหลาย เป็นเรื่องอัปรีย์ของพวกทาสี เหตุนั้น นางทาสีนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องอัปรีย์ของตน.
               บทว่า จราตุ แปลว่า จงประพฤติ.
               บทว่า ปรลาเภน วิกตถมานา ความว่า กระทำกรรมแห่งผู้ล่อลวงเพราะเหตุแห่งลาภ ยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นเถิด. นางแม้ดำรงอยู่ในความเป็นทาสี ก็ยังติเตียนวัตถุแห่งกิเลสเหมือนกันด้วยคาถานี้.
               ในคาถาที่เทวดากล่าว บทว่า อาวาสิโก ความว่า ผู้ปกครองอาวาส.
               บทว่า กชงฺคลายํ ความว่า ในนครมีชื่ออย่างนั้น ได้ยินว่า ในนครนั้นมีทัพสัมภาระหาได้ง่าย.
               บทว่า อาโลกสนฺธึ ทิวสา ความว่า จงกระทำบานหน้าต่างตลอดวันเถิด ได้ยินว่า เทวบุตรนั้น ในกาลแห่งพระพุทธกัสสป ได้เป็นพระเถระในสงฆ์ ในมหาวิหารเก่ามีบริเวณ ๑ โยชน์ ติดกับเมืองกชังคละ เมื่อกระทำนวกรรมในวิหารเก่านั่นแล ต้องเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง เหตุนั้นจึงปรารภถึงทุกข์นั้นแล จึงได้กล่าวอย่างนี้.
               ในคาถาที่ช้างกล่าว บทว่า ปาสสเตหิ ความว่า ด้วยบ่วงจำนวนมาก.
               บทว่า ฉพฺภิ ความว่า ในฐานะ ๖ คือ เท้า ๔ คอ ๑ ส่วนสะเอว ๑.
               บทว่า คุตฺเตหิ ความว่า ด้วยปลอกเหล็กยาว มีเงี่ยงสองทาง.
               บทว่า ปาจเนภิ ได้แก่ ด้วยปฏักคือด้วยขอสับ ได้ยินว่า ช้างนั้นปรารภถึงทุกข์ที่ตนเข็ดหลาบมาแล้วนั้นเอง จึงกล่าวอย่างนี้.
               ในคาถาที่วานรกล่าว บทว่า อลกฺกมาลิ ความว่า ประกอบด้วยมาลาสวมคอที่หมองูใส่คอวางไว้.
               บทว่า ติปุกณฺณวิทฺโธ ความว่า ถูกเจาะหูด้วยดีบุก.
               บทว่า ลฏฺฐิหโต ความว่า หมองูให้ศึกษากีฬางู ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว. แม้วานรนั้นได้กล่าวอย่างนี้ หมายถึงทุกข์ที่ตนได้เสวยในเงื้อมมือของหมองู.

               ก็เมื่อชนทั้ง ๑๓ สบถกันอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ดำริว่า บางทีพวกเหล่านี้พึงกินแหนงในเราว่าผู้นี้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่หายไปเลยว่าหายไป ดังนี้ เราต้องสบถบ้าง.
               เมื่อทำสบถ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแลแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้สงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึงความตายอยู่ในท่ามกลางเรือน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โภนฺโต เป็นอาลปนะ. ท่านอธิบายไว้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดเล่ากล่าวถึงส่วนที่มิได้หายไปว่าหายไปหมดแล้ว หรือผู้ใดสงสัยในพวกเธอคนใดคนหนึ่ง ให้ผู้นั้นจงได้และจงบริโภคเบญจกามคุณ อย่าได้บรรพชาอันน่ารื่นรมย์เลยเทียวนะ จงตายเสียในท่ามกลางเรือนนั่นเทียว.

               ก็แลเมื่อฤาษีทั้งหลายพากันสบถแล้ว ท้าวสักกะทรงกลัวคิดว่า เราหมายจะทดลองพวกนี้ดู จึงทำให้เหง้าบัวหายไป พวกเหล่านี้พากันติเตียนกามทั้งหลาย ประหนึ่งก้อนน้ำลายที่ถ่มทิ้ง ทำสบถกัน เราต้องถามพวกเหล่านั้น ถึงเหตุที่ติเตียนกามคุณดู แล้วทรงสำแดงกายให้ปรากฏ ทรงไหว้พระโพธิสัตว์
               เมื่อตรัสถาม ตรัสคาถาสืบไปว่า
               สัตว์ทั้งหลายในโลก ย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมากในชีวโลกนี้ เพราะเหตุใด ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามนั้นเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเทสมานา มีอรรถาธิบายว่า ฝูงสัตว์ต่างเสาะหาวัตถุกามและกิเลสกามอันใด ด้วยกรรมทั้งสมควรและไม่สมควร มีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น พากันท่องเที่ยวไปในโลก กามนั้นเป็นสิ่งน่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก และน่าชื่นใจของสัตว์เป็นอันมาก คือของมวลเทพดาและมนุษย์ เหตุไรเล่า หมู่ฤาษีจึงมิได้สรรเสริญกามทั้งหลายเลย. ด้วยบทว่า กามทั้งหลาย นี้ท้าวสักกะทรงแสดงวัตถุนั้นโดยสรุป.

               ครั้งนั้น เมื่อพระมหาสัตว์จะแก้ปัญหาของท้าวเธอ ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ดูก่อนท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิด เพราะกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลง กระทำกรรมอันเป็นบาป
               สัตว์เหล่านั้นมีบาป จึงประสบบาปกรรม เมื่อตายแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็นโทษในกามคุณดังนี้ ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเมสุ ความว่า คนทั้งหลายย่อมกระทำทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น เพราะเหตุแห่งกาม คือ เพราะอาศัยกามทั้งหลาย.
               บทว่า หญฺญเร ความว่า ย่อมเดือดร้อนเพราะอาชญาเป็นต้น.
               บทว่า พชฺฌเร ความว่า ย่อมถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือเชือกเป็นต้น.
               บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์มิใช่ความสำราญอันเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต.
               บทว่า ภยํ ได้แก่ ภัยทั้งปวง มีการติเตียนตนเป็นต้น.
               พระมหาสัตว์เรียกท้าวสักกะว่า ภูตาธิบดี.
               บทว่า อาทีนวํ กามคุเณสุ ทิสฺวา ความว่า เพราะเห็นโทษเห็นปานนี้ ก็โทษนี้นั้นพึงแสดงด้วยสูตรทั้งหลาย มีทุกขักขันธสูตร เป็นต้น.

               ท้าวสักกะทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์มีพระมนัสสลด ตรัสคาถาต่อไปว่า
               ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่าฤาษีเหล่านี้ยังน้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้าบัวที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤาษีทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้าบัวของท่าน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วีมํสมาโน ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมทดลองว่า ฤาษีเหล่านี้น้อมจิตไปในกามหรือไม่.
               บทว่า อิสิโน ความว่า ถือเอาเหง้าบัวอันเป็นของท่านผู้แสวงหา.
               บทว่า ตีเร คเหตฺวาน ความว่า ถือเอาเหง้าบัวที่ท่านเก็บไว้ที่ฝั่งแม่น้ำแล้วฝังไว้ ณ ส่วนหนึ่งบนบก.
               บทว่า สุทฺธา ความว่า บัดนี้เรารู้ถึงการกระทำสบถของท่าน ฤาษีเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาปอยู่.

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น แล้วกล่าวว่า
               ดูก่อนท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤาษีเหล่านี้มิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไร ท่านจึงมาดูหมิ่น ล้อเล่นกับฤาษีทั้งหลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เต นฏา ความว่า ดูก่อนท้าวเทวราช พวกกระผมไม่ใช่เป็นนักฟ้อนของท่าน และเป็นผู้ไม่สมควรที่ใครๆ จะพึงล้อเล่น ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่สหายของท่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะอะไร พระองค์จึงทำการดูหมิ่น เพราะอาศัยอะไร พระองค์จึงล้อเล่นกับฤาษีทั้งหลาย.

               ครั้งนั้นท้าวสักกะ เมื่อจะขอขมาท่าน จึงกล่าวคาถาที่ ๒๐ ว่า
               ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ท่านเป็นอาจารย์และเป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้งพลาด ขอได้โปรดอดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นกำลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสา ปติฏฺฐา ความว่า เงาแห่งเท้าของท่านนี้ จงเป็นที่พึ่งแห่งความพลั้งพลาดของข้าพเจ้าในวันนี้.
               บทว่า โกปพลา ความว่า ขึ้นชื่อว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมมีขันติเป็นกำลัง มิใช่เป็นผู้มีความโกรธเป็นกำลัง.

               พระมหาสัตว์อดโทษแก่ท้าวสักกเทวราชแล้ว เมื่อจะให้คณะฤาษีอดโทษด้วยตนเอง จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า
               การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวกเราเหล่าฤาษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะท่านพราหมณ์ได้เหง้าบัวคืนแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวาสิตํ อิสีนํ เอกรตฺตึ มีอรรถาธิบายว่า เป็นราตรีเอกที่ผู้มีอายุทั้งหลายพากันอยู่ในป่านี้ เป็นอันอยู่ดีกันทั้งนั้น เพราะเหตุไร เหตุว่าพวกเราพากันเห็นท้าววาสวะผู้เป็นเจ้าแห่งภูต ถ้าพวกเราอยู่ในเมืองละก็คงไม่ได้เห็น.
               บทว่า โภนฺโต ความว่า พ่อมหาจำเริญเอ๋ย ทุกคนจงดีใจเถิด จงปลื้มใจเถิด จงอดโทษแก่ท้าวสักกเทวราชเถิด เพราะเหตุไรเล่า เพราะท่านพราหมณ์ได้เหง้าบัวคืนแล้ว คือเหตุว่าอาจารย์ของพวกเธอได้คืนเหง้าบัว.

               ท้าวสักกเทวราชบังคมคณะฤาษีแล้วเสด็จไปสู่เทวโลก. ฝ่ายคณะฤาษีพากันยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว ต่างได้เข้าถึงพรหมโลก.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โบราณกบัณฑิตพากันทำสบถละกิเลสอย่างนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะ เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันดำรงในพระโสดาปัตติผล.
               เมื่อพระศาสดาจะทรงประชุมชาดก ได้ตรัสพระคาถาสุดท้ายอีก ๓ คาถาว่า
               เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ
               และอานนท์เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น
                         อุบลวรรณาเป็นน้องสาว
                         ขุชชุตตราเป็นทาสี
                         จิตตคฤหบดีเป็นทาส
                         สาตาคีระเป็นเทวดา
                         ปาลิเลยยกะเป็นช้าง
                         มธุระผู้ประเสริฐ เป็นวานร
                         กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ
               ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาภิสกชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ภิสชาดก ว่าด้วย ผู้ลักเอาเหง้ามัน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1907 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1921 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1942 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=7429&Z=7503
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=5826
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=5826
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :