ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2024 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2033 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2054 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มาตังคชาดก
ว่าด้วย อานุภาพของมาตังคฤาษี

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุเทนราชวงศ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กุโต นุ อาคจฺฉสิ ทุมฺมวาสี ดังนี้.
               ความพิสดารว่า ในกาลครั้งนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะมาจากพระเชตวันมหาวิหารทางอากาศ ไปสู่พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทนในเมืองโกสัมพี เพื่อพักผ่อนในเวลากลางวันโดยมาก.
               ได้ยินว่า ในภพก่อนๆ พระเถรเจ้าเคยเสวยราชย์ ครอบครองสมบัติมีบริวารเป็นอันมากในพระราชอุทยานนั้นตลอดกาลนาน ด้วยบุรพจรรยาที่ได้เคยสั่งสมมา พระเถระจึงมักไปนั่งพักผ่อนกลางวันในพระราชอุทยานนั้นเสมอมา ให้กาลเวลาล่วงไปด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติโดยมาก.
               วันหนึ่ง เมื่อพระเถระไปนั่งพักผ่อนอยู่ที่โคนต้นรังอันมีดอกบานสะพรั่งดี ในพระราชอุทยานนั้น พระเจ้าอุเทนทรงพระดำริว่า เราจักดื่มน้ำจัณฑ์ฉลองใหญ่ แล้วเล่นอุยยานกีฬาตลอด ๗ วัน แล้วจึงเสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ทรงซบพระเศียรลงบนตักของนางสนมคนหนึ่ง บนแท่นมงคลศิลาอาสน์ แล้วทรงนิทราหลับสนิท เพราะความเมามายในการเสวยน้ำจัณฑ์.
               เหล่านางสนมที่นั่งขับกล่อม ต่างวางเครื่องดุริยางคดนตรีไว้แล้ว เข้าไปสู่พระราชอุทยาน กำลังเลือกเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้นอยู่ เห็นพระเถระแล้ว พากันไปกราบไหว้แล้วนั่งอยู่.
               พระเถระจึงนั่งแสดงธรรมกถาแก่หญิงเหล่านั้น.
               ฝ่ายนางสนมที่นั่งให้พระเจ้าอุเทนหนุนตัก จึงสั่นพระเพลาให้กระเทือน เตือนพระราชาให้ตื่นบรรทม
               เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า หญิงถ่อยเหล่านั้นไปไหนกันหมด?
               จึงกราบทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมสมณะรูปหนึ่งอยู่.
               ท้าวเธอสดับดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ เสด็จไปด่าบริภาษพระเถระ แล้วตรัสว่า เอาเถิด เราจักให้มดแดงรุมต่อยสมณะรูปนี้ แล้วตรัสสั่งให้เอารังมดแดง มาแกล้งทำให้กระจายลงที่ร่างกายพระเถระ ด้วยอำนาจแห่งความพิโรธ. พระเถระเหาะขึ้นไปยืนในอากาศ ให้โอวาทพระราชา แล้วเหาะลอยไปลงตรงประตูพระคันธกุฎีที่พระเชตวันนั่นเอง
               เมื่อพระตถาคตเจ้าตรัสถามว่า เธอมาจากไหนจึงกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภารทวาชะ พระเจ้าอุเทนเบียดเบียนบรรพชิตทั้งหลาย แต่ในชาตินี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อนก็เบียดเบียนมาแล้วเหมือนกัน
               พระปิณโฑลภารทวาชะทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระมหาสัตว์บังเกิดในกำเนิดตระกูลคนจัณฑาลภายนอกพระนคร. มารดาบิดาขนานนามเขาว่า มาตังคมาณพ.
               ในเวลาต่อมา มาตังคมาณพเจริญวัยแล้ว ได้มีนามปรากฏว่า มาตังคบัณฑิต.
               ในกาลนั้น ธิดาเศรษฐีในเมืองพาราณสี ชื่อทิฏฐมังคลิกา เมื่อถึงวาระเดือนหนึ่งหรือกึ่งเดือน ก็พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก จะไปยังอุทยานเพื่อเล่นสนุกสนานกัน. อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิตเดินทางเข้าไปยังพระนครด้วยกิจธุระบางประการ ได้เห็นนางทิฏฐมังคลิกา ระหว่างประตู จึงหลบไปยืนแอบอยู่ ณ เอกเทศหนึ่ง.
               นางทิฏฐมังคลิกามองดูตามช่องม่าน เห็นพระโพธิสัตว์จึงถามว่า นั่นเป็นใคร?
               เมื่อบริวารชนตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้า ผู้นั้นเป็นคนจัณฑาล จึงคิดว่า เราเห็นคนที่ไม่สมควรจะเห็นแล้วหนอดังนี้แล้ว จึงล้างตาด้วยน้ำหอม กลับแค่นั้น. ส่วนมหาชนที่ออกไปกับธิดาของท่านเศรษฐี บริภาษว่า เฮ้ยไอ้คนจัณฑาลชาติชั่ว เพราะอาศัยเจ้าแท้ๆ วันนี้พวกเราจึงไม่ได้ลิ้มสุราและกับแกล้มที่ไม่ต้องซื้อหา อันความโกรธครอบงำแล้ว จึงรุมซ้อมมาตังคบัณฑิต ด้วยมือและเท้า จนถึงสลบแล้วหลีกไป.
               มาตังคบัณฑิตสลบไปชั่วครู่ กลับฟื้นขึ้นรู้ตัว คิดว่า บริวารชนของนางทิฏฐมังคลิกาโบยตีเราผู้ไม่มีความผิด โดยหาเหตุมิได้ เราได้นางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยาแล้วนั่นแหละ จึงจะยอมลุกขึ้น ถ้าไม่ได้จักไม่ยอมลุกขึ้นเลย ครั้นตั้งใจดังนี้แล้ว จึงเดินไปนอนที่ประตูเรือนบิดาของนางทิฏฐมังคลิกานั้น.
               เมื่อเศรษฐีผู้บิดาของนางทิฏฐมังคลิกา มาถามว่า เพราะเหตุไร เจ้าจึงมานอนที่นี่?
               มาตังคบัณฑิตจึงตอบว่า เหตุอย่างอื่นไม่มี แต่ข้าพเจ้าต้องการนางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยา.
               ล่วงมาได้วันหนึ่ง เศรษฐีนั้นก็มาถามอีก พระโพธิสัตว์ก็ตอบยืนยันอยู่อย่างนั้น จนล่วงมาถึงวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ พระโพธิสัตว์ก็ยังคงนอนและตอบยืนยันอย่างนั้น. ธรรมดาว่าการอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น เมื่อครบ ๗ วัน คนทั้งหลายมีท่านเศรษฐีเป็นต้น จึงนำนางทิฏฐมังคลิกามามอบให้มาตังคบัณฑิต.
               ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกากล่าวกะมาตังคบัณฑิตว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี เชิญท่านลุกขึ้นเถิด เราจะไปเรือนของท่าน. มาตังคบัณฑิตจึงกล่าวว่า นางผู้เจริญ เราถูกบริวารชนของเจ้าโบยตีเสียยับเยินจนทุพพลภาพ เจ้าจงยกเราขึ้นหลังแล้วพาไปเถิด. นางก็ทำตามสั่ง เมื่อชาวพระนครกำลังมองดูอยู่นั่นแล ก็พามาตังคบัณฑิตออกจากพระนครไปสู่จัณฑาลคาม.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์มิได้ล่วงเกินนางให้ผิดประเพณีแห่งเผ่าพันธุ์วรรณะ ให้นางพักอยู่ในเรือนสอง-สามวัน แล้วคิดว่า เมื่อตัวเราจักกระทำให้นางถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภยศ จำต้องบวชเสียก่อน จึงจักสามารถกระทำได้ นอกจากนี้แล้วไม่มีทาง.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงเรียกนางมากล่าวว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เมื่อเรายังไม่ได้นำอะไรๆ ออกมาจากป่า การครองชีพของเราทั้งสองย่อมเป็นไปไม่ได้ เจ้าอย่ากระสันวุ่นวายไปจนกว่าเราจะกลับมา เราจักเข้าไปสู่ป่าดังนี้แล้ว กล่าวเตือนบริวารว่า แม้พวกเจ้าผู้อยู่เฝ้าเรือนก็อย่าละเลย ช่วยดูนางผู้เป็นภรรยาของเราด้วย ดังนี้แล้วก็เข้าไปสู่ป่าบรรพชาเพศเป็นสมณะ มิได้ประมาทมัวเมา บำเพ็ญสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้นในวันที่ ๗ คิดว่า บัดนี้ เราจักสามารถเป็นที่พึ่งแก่นางทิฏฐมังคลิกาได้ จึงเหาะมาด้วยฤทธิ์ไปลงตรงประตูจัณฑาลคาม แล้วได้เดินไปสู่ประตูเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา.
               นางได้ยินข่าว การมาของมาตังคบัณฑิตแล้วจึงออกจากเรือน แล้วร้องไห้คร่ำครวญว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี เหตุไฉนท่านจึงไปบวช ทิ้งฉันไว้ไร้ที่พึ่งเล่า. ลำดับนั้น มาตังคดาบสจึงปลอบโยนนางว่า ดูก่อนน้องนางผู้เจริญ เจ้าอย่าเสียใจไปเลย คราวนี้เราจักกระทำให้เจ้ามียศใหญ่ยิ่งกว่ายศที่มีอยู่เก่าของเจ้า ก็แต่ว่า เจ้าจักสามารถประกาศแม้ข้อความเพียงเท่านี้ในท่ามกลางบริษัทได้ไหมว่า มาตังคบัณฑิตไม่ใช่สามีของเรา ท้าวมหาพรหมเป็นสามีของเรา ดังนี้.
               นางรับคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ดิฉันสามารถประกาศได้.
               มาตังคดาบสจึงกล่าวว่า คราวนี้ ถ้ามีผู้ถามว่า สามีของเธอไปไหน? ก็จงตอบว่า ไปพรหมโลก
               เมื่อเขาถามว่า เมื่อไรจักมา จงบอกเขาว่า นับแต่วันนี้ไปอีก ๗ วัน ท้าวมหาพรหมผู้เป็นสามีของเราจักแหวกพระจันทร์มาในวันเพ็ญ.
               ครั้นมหาสัตว์เจ้ากล่าวกะนางอย่างนี้แล้ว ก็เหาะกลับไปสู่หิมวันตประเทศทันที. ฝ่ายนางทิฏฐมังคลิกาก็เที่ยวไปยืนประกาศข้อความตามที่พระโพธิสัตว์สั่งไว้ ในที่ทุกหนทุกแห่งท่ามกลางมหาชน ในพระนครพาราณสี. มหาชนชาวพาราณสีพากันเชื่อว่า ท้าวมหาพรหมของเรามีอยู่จริง จะยังไม่ได้เป็นอะไรกันกับนางทิฏฐมังคลิกา ข้อนั้นจักเป็นความจริงอย่างนี้แน่.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ครั้นถึงวันบุรณมีดิถีเพ็ญ ๑๕ ค่ำ ในยามเมื่อพระจันทร์ตั้งอยู่ท่ามกลางทิฆัมพร ก็เนรมิตอัตภาพเป็นท้าวมหาพรหม บันดาลแว่นแคว้นกาสิกรรัฐทั้งสิ้น ซึ่งมีอาณาเขต กว้างยาว ๑๒ โยชน์ ให้รุ่งโรจน์สว่างไสวเป็นอันเดียวกัน แล้วแหวกมณฑลแห่งพระจันทร์ เหาะลงมาเวียนวนเบื้องบน พระนครพาราณสี ๓ รอบ
               เมื่อมหาชนบูชาอยู่ด้วยเครื่องสักการะ มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ได้บ่ายหน้าไปหมู่บ้านจัณฑาลคาม. บรรดาประชาชนที่นับถือพระพรหม ก็ประชุมกัน พากันไปยังหมู่บ้านจัณฑาลคาม ช่วยกันเอาผ้าขาวที่บริสุทธิ์สะอาด ปิดบังมุงเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา แล้วไล้ทาพื้นเรือนด้วยของหอมจตุรชาติ โปรยดอกไม้เรี่ยรายไว้ จัดแจงปักไม้ดาดเพดานเบื้องบน แต่งตั้งที่นอนใหญ่ไว้แล้วจุดตามประทีปด้วยน้ำมันหอม แล้วช่วยกันขนทรายขาวราวกับแผ่นเงินมาโปรยไว้ที่ประตูเรือน แล้วแขวนพวงดอกไม้ ผูกธงทิวปลิวไสวงดงาม.
               เมื่อมหาชนตกแต่งบ้านเรือนอย่างนี้เสร็จแล้ว พระมหาสัตว์เจ้าจึงเลื่อนลอยลงจากนภากาศ เข้าไปภายใน แล้วนั่งบนที่นอนหน่อยหนึ่ง. ในกาลนั้น นางทิฏฐมังคลิกากำลังมีระดู. ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เอาหัวแม่มือเบื้องขวาลูบคลำนาภีของนาง นางตั้งครรภ์ทันที
               ต่อมาพระมหาสัตว์จึงเรียกนางมาบอกว่า น้องนางผู้เจริญ เจ้าตั้งครรภ์แล้วจักคลอดบุตรเป็นชาย ทั้งตัวเจ้าและบุตรจักเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยลาภยศอันเลิศล้ำ น้ำสำหรับล้างเท้าของเจ้าจักเป็นน้ำอภิเษก สรงของพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น สำหรับน้ำอาบของเจ้า จักเป็นโอสถอมตะ ชนเหล่าใดนำน้ำอาบของเจ้าไปรดศีรษะ ชนเหล่านั้นจักหายจากโรคทุกๆ อย่างทั้งปราศจากเสนียดจัญไรกาลกรรณี อนึ่ง ผู้คนที่วางศีรษะลงบนหลังเท้าของเจ้า กราบไหว้อยู่ จักให้ทรัพย์พันหนึ่ง ผู้ที่ยืนไหว้ในระยะทางที่ฟังเสียงได้ยิน จักให้ทรัพย์แก่เจ้าหนึ่งร้อย ผู้ที่ยืนไหว้ในชั่วคลองจักษุ จักให้ทรัพย์หนึ่งกหาปณะ เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท
               ครั้นให้โอวาทนางแล้วก็ออกจากเรือน เมื่อมหาชนกำลังมองดูอยู่นั่นเทียว ก็เหาะลอยเข้าไปสู่จันทรมณฑล. ประชาชนที่นับถือพระพรหม ต่างยืนประชุมกันอยู่จนเวลารัตติกาลผ่านไป
               ครั้นเวลาเช้าจึงเชิญนางทิฏฐมังคลิกาขึ้นสู่วอทอง แล้วยกขึ้นด้วยเศียรเกล้า พาเข้าไปสู่พระนคร. มหาชนต่างพากันหลั่งไหลเข้าไปหานาง ด้วยสำคัญว่าเป็นภรรยาของท้าวมหาพรหม แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมระเบียบดอกไม้เป็นต้น. คนทั้งหลายผู้ได้ซบศีรษะบนหลังเท้า กราบไหว้ ได้ให้ถุงกหาปณะพันหนึ่ง ผู้ที่ยืนไหว้อยู่ในระยะโสตสดับเสียงได้ยินให้ร้อยกหาปณะ ผู้ที่ยืนไหว้ในชั่วระยะคลองจักษุให้หนึ่งกหาปณะ ประชาชนผู้พานางทิฏฐมังคลิกา เที่ยวไปในพระนครพาราณสี อันมีอาณาเขต ๑๒ โยชน์ ได้ทรัพย์นับได้ ๑๘ โกฏิด้วยอาการอย่างนี้.
               ลำดับนั้น ประชาชนทั้งหลาย ครั้นพานางทิฏฐมังคลิกาเที่ยวไปรอบพระนครแล้ว จึงนำเอาทรัพย์นั้นมาสร้างมหามณฑปใหญ่ท่ามกลางพระนคร แวดวงด้วยม่านปูลาดที่นอนใหญ่ไว้ แล้วเชิญนางทิฏฐมังคลิกาให้อยู่อาศัยในมณฑปนั้นด้วยสิริโสภาคอันใหญ่ยิ่ง แล้วเริ่มจัดการก่อสร้างปราสาท ๗ ชั้นมีประตูซุ้มถึง ๗ แห่งไว้ ณ ที่ใกล้มหามณฑปนั้น การก่อสร้างอย่างมโหฬารได้มีแล้วในครั้งนั้น.
               นางทิฏฐมังคลิกาก็คลอดบุตรในมณฑปนั่นเอง. ต่อมาในวันที่จะตั้งชื่อกุมาร พราหมณ์ทั้งหลายจึงมาประชุมกันขนานนามกุมารว่า มัณฑัพยกุมาร เพราะเหตุที่คลอดในมณฑป แม้ปราสาทนั้นก็สร้างสำเร็จโดยเวลา ๑๐ เดือนพอดี
               จำเดิมแต่นั้นมา นางก็อยู่ในปราสาทนั้น ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก. แม้มัณฑัพยกุมารก็เจริญวัย พรั่งพร้อมด้วยหมู่บริวารเป็นอันมาก. ในเวลาที่มัณฑัพยกุมารมีอายุได้ ๗-๘ ปี อาจารย์ผู้อุดมด้วยวิทยาการทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป จึงประชุมกันให้กุมารนั้นเรียนไตรเพท ๓ พระคัมภีร์. มัณฑัพยมาณพ นั้นนับแต่อายุครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ ก็เริ่มตั้งนิตยภัตสำหรับพวกพราหมณ์ทั้งหลาย. พราหมณ์หมื่นหกพันคนก็ได้บริโภคอาหารในสำนักของมัณฑัพยมาณพเป็นประจำ
               เขาถวายทานแก่พราหมณ์ทั้งหลายที่ซุ้มประตูที่ ๔.
               ต่อมาในวันประชุมใหญ่คราวหนึ่ง มัณฑัพยมาณพให้จัดเตรียมข้าวปายาสไว้ในเรือนเป็นอันมาก. พราหมณ์ทั้งหมื่นหกพันก็นั่ง ณ ซุ้มประตูที่ ๔ บริโภคข้าวปายาสอันปรุงดีแล้วด้วยเนยข้น เนยใส และน้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดที่เขาจัดมาถวายด้วยถาดทองคำ. แม้มัณฑัพยมาณพก็ประดับประดาตกแต่งด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมรองเท้าทอง มือถือไม้เท้าทอง เที่ยวตรวจตราการเลี้ยงดู สั่งบริวารชนว่า ท่านทั้งหลายจงให้เนยใสในสำรับนี้ จงให้น้ำผึ้งที่สำรับนี้ ดังนี้.
               ขณะนั้น มาตังคบัณฑิตนั่งอยู่ที่อาศรมบทในหิมวันตประเทศ ตรวจดูว่า ความประพฤติแห่งบุตรของนางทิฏฐมังคลิกาเป็นอย่างไร?  เห็นการกระทำของเขาโน้มเอียงไปในลัทธิอันไม่สมควรแล้วคิดว่า วันนี้แหละ เราจักไปทรมานมาณพให้บริจาคทานในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมาก แล้วจึงจักกลับมา ดังนี้แล้วเหาะไปสู่สระอโนดาตโดยทางอากาศ ทำกิจวัตรมีการล้างหน้าเป็นต้นแล้ว ยืนอยู่ที่พื้นมโนศิลา ครองจีวรสองชั้น คาดรัดประคดมั่น แล้วห่มผ้าสังฆาฏิ อันเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วถือเอาบาตรดินเหาะมาทางอากาศ เลื่อนลอยลงตรงโรงทานที่ซุ้มประตูที่ ๔ แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง
               มัณฑัพยมาณพกำลังตรวจตราดูแลทางโน้นทางนี้อยู่ แลเห็นพระดาบสนั้นแต่ไกล คิดว่า บรรพชิตรูปนี้มีรูปร่างคล้ายยักษ์ปีศาจเปื้อนฝุ่นเห็นปานนี้ มาสู่ที่นี่ ท่านมาจากที่ไหนหนอ ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะสนทนาปราศรัยกับมาตังคดาบสนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า
               ท่านมีปกตินุ่งห่มไม่สมควร ดุจปีศาจเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นละออง สวมใส่ผ้าขี้ริ้วที่ได้จากกองขยะไว้ที่คอ มาจากไหน ท่านเป็นใคร เป็นผู้ไม่สมควรแก่ทักษิณาทานเลย ดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุมฺมวาสี ความว่า ท่านเป็นผู้นุ่งห่มผ้าเก่าขาดเป็นรอยต่อ ไม่ได้ซักชำระสะสางเลย.
               บทว่า โอคลฺลโก ความว่า เป็นผู้สกปรกลามก ครองผ้าเห็นเส้นด้ายมากมาย หลุดลุ่ยห้อยย้อยลง.
               บทว่า ปํสุปีสาจโกว ความว่า คล้ายกับปีศาจยืนอยู่ที่กองขยะ.
               บทว่า สงฺการโจฬํ ได้แก่ ผ้าท่อนเก่าที่เก็บได้ในกองหยากเยื่อ.
               บทว่า ปฏิมุญฺจ แปลว่า สวมใส่.
               บทว่า อทกฺขิเณยฺโย ความว่า ท่านเป็นผู้ไม่สมควรแก่ทักษิณาทาน มาสู่สถานที่นั่งของพระทักขิเณยยบุคคลชั้นเยี่ยมเหล่านี้ แต่ที่ไหนเล่า?

               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะสนทนากับมัณฑัพยมาณพ ด้วยจิตที่เยือกเย็นอ่อนโยน จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ความว่า
               ข้าวน้ำนี้ท่านจัดไว้เพื่อท่านผู้เรืองยศ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมขบเคี้ยวบริโภคและดื่มข้าวน้ำของท่านนั้น ท่านรู้จักข้าพเจ้าว่า เป็นผู้อาศัยโภชนะที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต แม้ถึงจะเป็นคนจัณฑาล ก็ขอจงได้ก้อนข้าวบ้างเถิด ดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกตํ แปลว่า จัดแจงไว้. บทว่า ยสสฺสินํ แปลว่า สมบูรณ์ด้วยบริวาร.
               บทว่า ตํ ขชฺชเร ความว่า พราหมณ์ทั้งหลายขบเคี้ยวบริโภคและดื่มกินของนั้นอยู่ที่เดียว เพราะเหตุไร ท่านจึงโกรธเคืองข้าพเจ้า.
               บทว่า อุตฺติฏฺฐปิณฺฑํ ได้แก่ก้อนข้าวอันจำต้องยืนขอจึงได้ หรือก้อนข้าวอันคนทั้งหลายลุกขึ้นยืนให้ จะพึงได้ ก็เพราะยืนอยู่ข้างหลัง.
               บทว่า ลภตํ สปาโก ความว่า แม้จะเป็นสปากจัณฑาลก็ขอจึงได้ เพราะว่าพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ ย่อมได้โภชนะทุกแห่งหน แต่สำหรับสปากจัณฑาลเล่า ใครเขาจักให้ ข้าพเจ้าหาปิณฑะได้อย่างแร้นแค้น เพราะฉะนั้น ดูก่อนกุมาร ท่านจงบอกให้โภชนะแก่เราเพื่อเป็นเครื่องยังชีพให้เป็นไปเถิด.

               ลำดับนั้น มัณฑัพยกุมารจึงกล่าวคาถา ความว่า
                         ข้าวน้ำของเรานี้ เราจัดไว้เพื่อพราหมณ์ทั้งหลาย
                         ทานวัตถุนี้ เราเชื่อว่าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตน
                         ท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี่ จะมายืนอยู่ที่นี่เพื่ออะไร
                         เจ้าคนเลว คนอย่างเราย่อมไม่ให้ทานแก่เจ้าดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตตฺถาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความเจริญของตน.
               บทว่า อเปหิ เอโต ความว่า ท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี่.
               บทว่า น มาทิสา ความว่า ดูก่อนท่านผู้มีเชื้อชาติเลวทราม คนเช่นเราย่อมถวายทานแก่พราหมณ์อุทิจจโคตรทั้งหลาย ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ ย่อมไม่ให้ทานแก่ท่านผู้เป็นคนจัณฑาล ท่านจงไปเสียเถิด.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวคาถาความว่า
               ชาวนาทั้งหลายเมื่อหวังผลในข้าวกล้า ย่อมหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารลงในที่ดอนบ้าง ในที่ลุ่มบ้าง ในที่เสมอไม่ลุ่มๆ ดอนๆ บ้างฉันใด ท่านจงให้ทานแก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ด้วยศรัทธานี้ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อให้ทานอยู่อย่างนี้ ไฉนจะพึงได้ทักขิเณยบุคคลที่น่ายินดีเล่า ดังนี้.


               คาถานั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ ดูก่อนกุมาร ชาวนาทั้งหลาย เมื่อหวังผลข้าวกล้าย่อมหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารลงในเนื้อที่นา แม้ทั้ง ๓ อย่าง
               ในกาลที่ฝนตกมากเกินไป ข้าวกล้าในนาดอนนั้น ย่อมสำเร็จผล ข้าวกล้าในนาลุ่มย่อมเสียหาย ส่วนข้าวกล้าที่อาศัยแม่น้ำและพึงกระทำในที่เสมอ ไม่ลุ่มไม่ดอน ย่อมถูกห้วงน้ำพัดไปเสีย
               ในเมื่อฝนตกเล็กน้อย ข้าวกล้าในนาดอนย่อมเสียหายไม่ได้ผล ข้าวกล้าในนาลุ่มย่อมได้ผลเล็กน้อย ส่วนข้าวกล้าในนาที่ไม่ลุ่มไม่ดอน คงได้ผลดีทีเดียว
               ในกาลที่ฝนตกสม่ำเสมอไม่มากไม่น้อย ข้าวกล้าในนาดอนได้ผลเล็กน้อย แต่ข้าวกล้าในนานอกนี้ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ดี
               เพราะฉะนั้น ชาวนาทั้งหลาย เมื่อหวังผลข้าวกล้า ย่อมเพาะหว่านในเนื้อนาทั้ง ๓ อย่างฉันใด แม้ท่านก็จงบริจาคทานแก่ปฏิคาหกทั้งหลายผู้มาแล้วๆ ทั้งหมด ด้วยศรัทธาคือผลนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อท่านบริจาคทานอยู่อย่างนี้ ไฉนเล่าจะพึงให้ยินดี คือได้ทักขิเณยบุคคลที่ดี ดังนี้.

               ลำดับนั้น มัณฑัพยมาณพจึงกล่าวคาถาต่อไปความว่า
               เราย่อมตั้งไว้ซึ่งพืชทั้งหลายในเขตเหล่าใด เขตเหล่านั้นเรารู้แจ้งแล้วในโลก พราหมณ์เหล่าใด สมบูรณ์ด้วยชาติแลมนต์ พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าเป็นเขต มีศีลเป็นที่รักในโลกนี้ ดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยสาหํ ตัดบทเป็น เยสุ อหํ.
               บทว่า ชาติมนฺตูปนฺนา ความว่า พราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้เข้าถึง ด้วยชาติและมนต์ทั้งหลาย.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
               กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ คือ
                         ชาติมทะ ความเมาเพราะชาติ ๑ อติมานะ ความดูหมิ่นท่าน ๑
                         โลภะ ความโลภอยากได้ของเขา ๑ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ๑
                         มทะ ความประมาทมัวเมา ๑ โมหะ ความหลง ๑
               ทั้งหมดเป็นโทษมิใช่คุณ ย่อมมีในเขตเหล่าใด
               เขตเหล่านั้นไม่ใช่เขตอันดีมีศีลเป็นที่รักในโลกนี้
               กิเลสทั้งหลายเหล่านี้คือ
                         ชาติมทะ อติมานะ โลภะ โทสะ มทะ และโมหะ
               ทั้งหมดเป็นโทษมิใช่คุณ ไม่มีในเขตเหล่าใด
               เขตเหล่านั้นจัดว่าเป็นเขตมีศีล เป็นที่รักในโลกนี้ ดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มโท ได้แก่ ความเมาเพราะชาติอันบังเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ.
               บทว่า อติมานตา ได้แก่ ความประพฤติดูหมิ่นว่า คนอื่นที่จะเสมอกับเราโดยชาติเป็นต้นไม่มี กิเลสทั้งหลายมีความโลภเป็นต้น เป็นเพียงความอยากได้ ความคิดประทุษร้าย ความมัวเมา และความหลงเท่านั้น.
               บทว่า อเปสลานิ ความว่า ก็บุคคลทั้งหลายเห็นปานนี้ เป็นผู้มิใช่มีศีลเป็นที่รัก ราวกะว่าจอมปลวกอันเต็มไปด้วยอสรพิษฉะนั้น ทานที่บุคคลให้แล้วแก่บุคคลเห็นปานนี้ ย่อมไม่มีผลมาก เพราะฉะนั้น ท่านอย่าสำคัญความที่ชนทั้งหลายผู้มิใช่มีศีลเป็นที่รักเหล่านี้ว่าเป็นเขตอันดี เพราะว่าพราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์มิใช่ผู้จะไปสวรรค์ได้
               ส่วนชนเหล่าใด เป็นอริยชนเว้นจากการถือชาติและมานะเป็นต้นได้ อริยชนเหล่านั้นเป็นเขตอันดีมีศีลเป็นที่รัก ทานที่บุคคลให้แล้วในอริยชนเหล่านั้นมีผลมาก ทั้งอริยชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ให้ไปสวรรค์ได้ ดังนี้.

               เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอยู่บ่อยๆ เช่นนี้ มัณฑัพยมาณพนั้นขุ่นเคืองจึงพูดว่า ดาบสผู้นี้พูดเพ้อเจ้อมากเกินไป คนรักษาประตูเหล่านี้ไปไหนหมด จงมานำเอาคนจัณฑาลนี้ออกไป
               แล้วกล่าวคาถา ความว่า
               คนเฝ้าประตูทั้งสาม คือ อุปโชติยะ อุปวัชฌะและภัณฑกุจฉิ ไปไหนกันเสียหมดเล่า ท่านทั้งหลายจงลงอาญา และเฆี่ยนตีคนจัณฑาลนี้ แล้วลากคอคนลามกนี้ไสหัวไปให้พ้น ดังนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กวตฺถ คตา มีอธิบายว่า โทวาริกบุรุษทั้ง ๓ คือ อุปโชติยะ อุปวัชฌะและภัณฑกุจฉิ ซึ่งยืนเฝ้าประตูทั้ง ๓ อยู่นี้ ไปไหนกันเสียหมดเล่า.

               ฝ่ายคนเฝ้าประตูเหล่านั้นได้ยินถ้อยคำของมัณฑัพยมาณพแล้ว ก็รีบมาไหว้แล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ จะสั่งให้พวกผมทำอะไร?
               มัณฑัพยมาณพจึงบอกว่า ท่านทั้งหลายเห็นคนจัณฑาลชาติชั่วคนนี้ที่ไหน?
               พวกนายประตูกล่าวว่า ท่านผู้ประเสริฐ พวกกระผมไม่เห็นเลยจึงไม่รู้ว่า เขามาจากที่ไหน?
               เขาดำริว่า ชะรอยมันจะเป็นนักเล่นกล หรือโจรวิชาธรบางคนเป็นแน่ดังนี้ กล่าวสำทับพวกนายประตูว่า บัดนี้พวกเจ้ายังจะยืนเฉยอยู่ทำไม?
               นายประตูทั้งสามจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ จะโปรดให้พวกผมทำอะไร?
               มัณฑัพยมาณพตอบว่า พวกท่านจงโบยตีตบต่อยปากเจ้าคนถ่อยจัณฑาลผู้นี้ทีเดียว แล้วเอาเรียวไม้ไผ่สำหรับลงอาญาโบย ถลกหนังมันขึ้น แล้วฆ่ามันเสีย จับคอลากเจ้าคนลามกนี้ไปให้พ้นจากที่นี่. เมื่อนายประตูทั้ง ๓ ยังไม่ทันมาใกล้ชิด
               พระมหาสัตว์ก็เหาะลอยขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศกล่าวคาถาความว่า
                         ผู้ใดบริภาษฤาษี ผู้นั้นชื่อว่าขุดภูเขาด้วยเล็บ
               ชื่อว่าเคี้ยวกินก้อนเหล็กด้วยฟัน ชื่อว่าพยายามกลืนกินไฟ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตเวทํ ปทหสิ ความว่า ย่อมพยายามเพื่อจะกลืนกินซึ่งไฟ.

               ก็แล ครั้นพระมหาสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว เมื่อมาณพและพราหมณ์ทั้งหลายกำลังแลดูอยู่นั่นแล ได้แล่นลอยไปในอากาศ.

               เมื่อจะประกาศความข้อนี้ พระศาสดาจึงตรัสว่า
               มาตังคฤาษีผู้มีสัจจะเป็นเครื่องก้าวไปเบื้องหน้าเป็นสภาพ
               ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายแลดูอยู่
               ได้เหาะหลีกผ่านไปในอากาศ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจปรกฺกโม ความว่า มีความบากบั่นมุ่งก้าวไปข้างหน้าเป็นสภาพ.

               มาตังคดาบสนั้นแล บ่ายหน้ามุ่งสู่ทิศปราจีน เหาะไปลง ณ ถนนสายหนึ่ง แล้วอธิษฐานว่า ขอรอยเท้าของเราจงปรากฏ แล้วบิณฑบาตใกล้ประตูด้านทิศปราจีน รวบรวมอาหารที่เจือปนกัน แล้วไปนั่งฉันภัตตาหารที่เจือปนกัน ณ ศาลาแห่งหนึ่ง.
               เทพยดาผู้รักษาพระนครทั้งหลายกล่าวกันว่า มัณฑัพยกุมารผู้นี้พูดก้าวร้าวเบียดเบียนพระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ดังนี้ อดทนไม่ได้ จึงมาประชุมกัน
               ลำดับนั้น ยักขเทวดาผู้เป็นหัวหน้าก็พากันจับคอของมัณฑัพยกุมารบิดกลับเสีย.
               เทวดาที่เหลือก็พากันจับคอของพราหมณ์ที่เหลือทั้งหลาย บิดกลับเสียอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เพราะเทวดาเหล่านั้นมีจิตอ่อนน้อมในพระโพธิสัตว์ จึงไม่ฆ่ามัณฑัพยมาณพเสีย ด้วยคิดว่าเป็นบุตรของพระโพธิสัตว์ เพียงแต่ทำให้ทรมานลำบากอย่างเดียวเท่านั้น.
               ศีรษะของมัณฑัพยมาณพบิดกลับไป มีหน้าอยู่เบื้องหลัง มือและเท้าเหยียดตรงแข็งทื่อตั้งอยู่ กระดูกทั้งหลายก็กลับกลายเป็นเหมือนกระดูกของคนที่ตายแล้ว เขามีร่างกายแข็งกระด้างนอนแซ่วอยู่. ถึงพราหมณ์ทั้งหลายก็สำรอกน้ำลายไหลออกทางปาก กระเสือกกระสนไปมา.
               คนทั้งหลายรีบไปแจ้งเรื่องราวแก่นางทิฏฐมังคลิกาว่า ข้าแต่แม่เจ้า บุตรของท่านเกิดเป็นอะไรไปไม่ทราบได้? นางทิฏฐมังคลิการีบมาโดยเร็ว เห็นบุตรแล้วกล่าวว่า นี่อะไรกัน?
               แล้วกล่าวคาถาความว่า
               ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยียดตรงไม่ไหวติง นัยน์ตาขาวเหมือนคนตาย ใครมาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาเวลิตํ แปลว่า บิดกลับไป.

               ลำดับนั้น คนผู้ยืนอยู่ในที่นั้น เพื่อจะแจ้งให้นางทราบ จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า
               สมณะรูปหนึ่ง มีปกตินุ่งห่มไม่สมควรสกปรกดุจปีศาจ เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นละออง สวมใส่ผ้าขี้ริ้วที่ได้จากกองขยะไว้ที่คอ ได้มา ณ ที่นี้ สมณะรูปนั้นได้ทำบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้.


               นางทิฏฐมังคลิกาได้ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า นี้ไม่ใช่พลังของผู้อื่น คงจักเป็นมาตังคบัณฑิตสามีของเราโดยไม่ต้องสงสัย ก็แต่ว่า ท่านมาตังคบัณฑิตนั้นเป็นนักปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยเมตตาภาวนา คงจักทรมานคนพวกนี้ให้ลำบากแล้วไปเสีย และท่านจักไปทิศไหนเล่าหนอ
               แต่นั้น เมื่อนางจะถามถึงมาตังคบัณฑิต จึงกล่าวคาถาความว่า
               ดูก่อนมาณพทั้งหลาย สมณะผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดินได้ไปแล้วสู่ทิศใด ท่านทั้งหลายจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา เราจักไปยังสำนักของท่าน ขอให้ท่านอดโทษนั้นเสีย ไฉนหนอ เราจะพึงได้ชีวิตบุตรคืนมา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺตฺวาน ความว่า ไปสู่สำนักของดาบสนั้น.
               บทว่า ตํ ปฏิกเรมุ อจฺจยํ ความว่า เราจักกระทำคืน คือแสดงโทษนั้น ได้แก่ขอให้ท่านอดโทษนั้นให้.
               บทว่า ปุตฺตํ ลเภมุ ความว่า ชื่อแม้ไฉน เราพึงได้ชีวิตบุตรคืนมา.

               ลำดับนั้น มาณพทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในที่นั้น เมื่อจะบอกความนั้นแก่นาง
               ได้กล่าวคาถาความว่า
               ฤาษีผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ได้ไปแล้วในอากาศวิถี ราวกะว่าพระจันทน์ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างอากาศ อนึ่ง พระฤาษีผู้มีปฏิญาณมั่นในสัจจะ ทรงคุณธรรมอันดีงามนั้น ได้ไปทางทิศบูรพา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปถทฺธุโน ความว่า ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างอากาศ กล่าวคือทางสัญจรในอากาศ.
               บทว่า อปิจาปิ โส ความว่า ก็อีกประการหนึ่งแล พระฤาษีนั้นไปสู่ทิศบูรพา.

               นางทิฏฐมังคลิกานั้นสดับคำของมาณพเหล่านั้นแล้ว จึงคิดว่า เราจักไปค้นหาสามีของเรา จึงใช้ให้ทาสีถือเอาน้ำเต้าทองคำกับขันน้ำทองคำแวดล้อมด้วยหมู่ทาสี เดินไปจนถึงสถานที่ที่พระโพธิสัตว์อธิษฐานเหยียบรอยเท้าไว้ จึงเดินตามรอยเท้านั้นไป เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังนั่งฉันภัตตาหารอยู่บนตั่งที่ศาลานั้น นางจึงเดินเข้าไปสู่ที่ใกล้พระมหาสัตว์ ทำความเคารพแล้วยืนอยู่.
               พระโพธิสัตว์เห็นนางแล้ว จึงเหลือข้าวสุกไว้ในบาตรหน่อยหนึ่ง. นางทิฏฐมังคลิกาจึงถวายน้ำแก่พระโพธิสัตว์ด้วยน้ำเต้าทอง. พระโพธิสัตว์จึงล้างมือบ้วนปากลงในบาตรนั้นเอง.
               ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกา เมื่อจะถามพระโพธิสัตว์ว่า ใครกระทำบุตรของตนให้ถึงอาการอันแปลกประหลาดนั้น จึงกล่าวคาถาความว่า
               ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยียดตรงไม่ไหวติง นัยน์ตาขาวเหมือนคนตาย ใครมาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้.


               ชื่อว่าคาถาอันเป็นคำถามและคำตอบของชนทั้งสองที่ยิ่งไปกว่านั้นมีดังนี้
               พระโพธิสัตว์ได้สดับแล้วจึงตอบนางทิฏฐมังคลิกา โดยคาถาว่า
               ยักษ์ทั้งหลายผู้มีอานุภาพมากมีอยู่แล ยักษ์เหล่านั้นพากันติดตามพระฤาษี มีคุณธรรม มาแล้ว รู้ว่าบุตรของท่าน มีจิตคิดประทุษร้ายโกรธเคือง จึงทำบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้แล.


               นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า
               ถ้ายักษ์ทั้งหลายได้ทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้ ขอท่านผู้เป็นพรหมจารีเท่านั้น อย่าได้โกรธบุตรดิฉันเลย ดิฉันขอถึงฝ่าเท้าของท่านนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ดิฉันตามมาก็เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร.


               พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวตอบว่า
               ในคราวที่บุตรของท่านด่าเราก็ดีและเมื่อท่านมาอ้อนวอนอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี จิตคิดประทุษร้ายแม้หน่อยหนึ่งมิได้มีแก่เราเลย แต่บุตรของท่านเป็นคนประมาท เพราะความมัวเมาว่าเรียนจบไตรเพท แม้จะเรียนจบไตรเพทแล้ว ก็ยังไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์.


               นางทิฏฐมังคลิกาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ความจำของบุรุษย่อมหลงลืมได้โดยครู่เดียวเป็นแน่แท้ ท่านผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ขอได้โปรดอดโทษสักครั้งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นผู้มีความโกรธเป็นกำลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยกฺขา ได้แก่ ยักษ์ทั้งหลายผู้รักษาพระนคร.
               บทว่า อนฺวาคตา ความว่า ยักษ์ทั้งหลายมาแล้วรู้อย่างนี้ว่า พระฤาษีทั้งหลายมีคุณธรรมดี ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ.
               บทว่า เต ความว่า ยักษ์เหล่านั้น ครั้นรู้คุณความดีของพระฤาษีแล้ว ก็รู้แจ้งซึ่งบุตรของท่านอันเป็นผู้กำเริบจิตคิดประทุษร้าย.
               บทว่า ตวญฺเญว เม ความว่า ถ้าหากว่า ยักษ์ทั้งหลายโกรธเคืองแล้วได้กระทำอย่างนี้ ก็จงทำเถิด ขึ้นชื่อว่าเทวดาทั้งหลาย ใครๆ อาจทำให้สงบระงับ(หายโกรธ) ได้ด้วยดี ด้วยวิธีสักว่าเอาน้ำจอกหนึ่งให้ดื่ม เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่กลัวเทวดาเหล่านั้น ขออย่างเดียวท่านเท่านั้นซึ่งเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อย่าโกรธเคืองบุตรชายของดิฉันเลย.
               บทว่า อนฺวาคตา ความว่า ดิฉันเป็นผู้ติดตามมา.
               นางทิฏฐมังคลิกาเรียกพระมหาสัตว์ว่า ภิกษุวิงวอนขอร้องให้ไว้ชีวิตบุตร.
               บทว่า ตเทว ความว่า ดูก่อนนางทิฏฐมังคลิกา ในกาลเมื่อบุตรของท่านด่าเราอยู่ในคราวนั้นก็ดี และเมื่อท่านมาอ้อนวอนขอโทษ อยู่ในคราวนี้ก็ดี โทสจิตคิดประทุษร้ายมิได้มีแก่เราเลย.
               บทว่า เวทมเทน ความว่า เพราะความเมาว่าเราเรียนจบไตรเพทแล้ว.
               บทว่า อธิจฺจ ความว่า แม้จะเรียนจบไตรเพทแล้ว ก็ยังไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์
               บทว่า มุหุตฺตเกน ความว่า เรียนวิชาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วย่อมหลงลืมได้โดยครู่เดียวเท่านั้น

               พระมหาสัตว์ ผู้อันนางทิฏฐมังคลิกาอ้อนวอนขอโทษบุตรชายอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราจักให้อมฤตโอสถไปเพื่อขับไล่ยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้นให้หนีไป
               แล้วกล่าวคาถา ความว่า
               มัณฑัพยมาณพบุตรของท่านผู้มีปัญญาน้อย จงบริโภคก้อนข้าวที่เราฉันเหลือนี้เถิด ยักษ์ทั้งหลายจะไม่พึงเบียดเบียนบุตรของท่านเลย อนึ่ง บุตรของท่านจะหายโรคในทันที.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺติฏฺฐปิณฺฑํ ได้แก่ ก้อนข้าวที่ฉันเหลือ. ปาฐะเป็น อุจฺฉิฏฺฐปิณฺฑํ ดังนี้ก็มี.

               นางทิฏฐมังคลิกาฟังถ้อยคำของมหาสัตว์แล้ว จึงน้อมขันทองเข้าไป กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ท่านได้โปรดให้อมฤตโอสถเถิด. พระมหาสัตว์จึงเทข้าวสุกที่ฉันเหลือกับน้ำล้างมือลงในขันทองนั้น แล้วสั่งว่า ท่านจงหยอดน้ำครึ่งหนึ่งจากส่วนนี้ ใส่ในปากบุตรของท่านก่อนทีเดียว ส่วนที่เหลือจงเอาน้ำผสมใส่ไว้ในตุ่มให้หยอดลงในปากพราหมณ์ที่เหลือทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทั้งหมด ก็จะเป็นผู้หายโรคภัยไข้เจ็บทันที
               ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็เหาะลอยกลับไปสู่หิมวันตประเทศในทันที.
               ฝ่ายนางทิฏฐมังคลิกาก็เอาศีรษะทูนขันทองนั้น กล่าวว่า เราได้อมฤตโอสถแล้ว รีบไปยังนิเวศน์ของตน หยอดน้ำข้าวล้างมือใส่ในปากบุตรชายของตนก่อน. ยักษ์ผู้เป็นหัวหน้ารักษาพระนครก็หนีไป
               มัณฑัพยมาณพลุกขึ้นปัดฝุ่นที่เปื้อนกายแล้วถามว่า ข้าแต่คุณแม่ นี่อะไรกัน?
               นางจึงกล่าวกะบุตรชายว่า เจ้านั่นแหละจักรู้สิ่งที่ตนทำไว้ มาเถิดพ่อคุณ เจ้าจงไปดูความวิบัติแห่งทักขิเณยยชนของเจ้าบ้าง.
               มัณฑัพยมาณพเห็นพราหมณ์เหล่านั้น เสือกสนสลบอยู่ ก็ได้เป็นผู้มีวิปฏิสาร เดือดร้อนใจ ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกาผู้มารดาจึงกล่าวกะมัณฑัพยมาณพว่า พ่อมัณฑัพยกุมาร เจ้าเป็นคนโง่เขลา ไม่รู้จักสถานที่จะให้ทานมีผลมาก ขึ้นชื่อว่าทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย มิใช่ผู้มีสภาพเห็นปานนี้ ต้องเป็นเช่นกับมาตังคบัณฑิต นับแต่นี้ต่อไป เจ้าอย่าให้ทานแก่คนทุศีลจำพวกนี้เลย จงให้ทานแก่ผู้มีศีลทั้งหลายเถิด ดังนี้
               แล้วกล่าวคาถาความว่า
               พ่อมัณฑัพยะ เจ้ายังเป็นคนโง่เขลามีปัญญาน้อย เจ้าเป็นผู้ไม่ฉลาดในเขตบุญทั้งหลาย ได้ให้ทานในหมู่ชนผู้ประกอบด้วยกิเลส ดุจน้ำฝาดใหญ่ มีกรรมเศร้าหมอง ไม่สำรวม
               บรรดาทักขิเณยยบุคคลของเจ้าบางพวกเกล้าผมเป็นเซิง นุ่งห่มหนังเสือ ปากรกรุงรังไปด้วยหนวดเครา ดังปากบ่อน้ำเก่ารกไปด้วยกอหญ้า เจ้าจงดูหมู่ชนที่มีรูปร่างน่าเกลียดนี้ การเกล้าผมผูกเป็นเซิง หาป้องกันผู้มีปัญญาน้อยได้ไม่
               ท่านเหล่าใดสำรอกราคะโทสะและอวิชชาแล้ว หรือเป็นพระอรหันต์ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ทานที่บุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหกฺกสาเวสุ ความว่า ในบรรดาหมู่ชนผู้ประกอบด้วยกิเลส ดุจน้ำฝาดใหญ่ทั้งหลายได้ให้ทาน ในบุคคลผู้ประกอบไปด้วยกิเลสดุจน้ำฝาด มีราคะเป็นต้นใหญ่.
               บทว่า ชฏา จ เกสา ความว่า ดูก่อนพ่อมัณฑัพยะ ในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลายของเจ้า บางเหล่าก็เกล้าผมผูกเป็นเซิง.
               บทว่า อชินา นิวตฺถา ความว่า นุ่งผ้าหนังเสือระคายปลายขนแหลม.
               บทว่า ชรูทปานํ ว ความว่า ปากรกรุงรัง เพราะมีหนวดเครายาว ราวกะปากบ่อน้ำเก่า รกรุงรังด้วยกอหญ้า.
               บทว่า ปชํ อิมํ ความว่า เจ้าจงพิจารณาดูหมู่ชนผู้มีรูปร่างหน้าเกลียด ยินดีประดับเพศตน ด้วยเครื่องอันเศร้าหมองนี้ คือเห็นปานฉะนี้.
               บทว่า ชฏาชินํ ความว่า การที่มุ่นเกล้าทำเป็นชฎาเห็นปานนี้ ไม่อาจเป็นที่พึงต้านทานบุคคลผู้มีปัญญาน้อยได้ กุศลกรรม คือศีล ญาณ และตบะเท่านั้น จึงจะเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์เหล่านี้ได้.
               บทว่า เยสํ ความว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น อันมีความยินดียินร้าย และความหลงเป็นสภาพ และอวิชชามีวัตถุ ๘ ประการเหล่านี้แห่งทักขิเณยยบุคคลทั้งหลายเหล่าใดไปปราศแล้ว หรือทักขิเณยยบุคคลเหล่าใดได้นามว่าเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะ เพราะกิเลสเหล่านี้ไปปราศแล้ว ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิเณยยบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก.

               นางทิฏฐมังคลิกากล่าวต่อไปว่า ดูก่อนลูกรัก เพราะเหตุนั้น จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ให้ทานแก่บุคคลผู้ทุศีลเห็นปานนี้ จงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ และแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกเหล่านั้น มาเถิดลูกรัก เราจักให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยชอบพอของเจ้า ดื่มอมฤตโอสถแล้วทำให้หายโรคเสียให้หมด ดังนี้แล้ว จึงให้เอาข้าวสุกที่เป็นเดนเทใส่ลงในตุ่มน้ำ แล้วให้หยอดลงในปากของพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งหมื่นหกพันคน.
               พราหมณ์แต่ละคนได้สติลุกขึ้นปัดฝุ่นที่กายของตนๆ. ลำดับนั้น พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าอื่นพากันติเตียนว่า พราหมณ์เหล่านี้พากันดื่มกินน้ำเดนเหลือของคนจัณฑาล แล้วยกโทษทำไม่ให้เป็นพราหมณ์ต่อไป. พราหมณ์เหล่านั้นมีความละอายจึงออกจากพระนครพาราณสี ไปสู่แคว้นเมชฌรัฐ แล้วพำนักอยู่ในสำนักของพระเจ้าเมชฌราช. ส่วนมัณฑัพยมาณพยังคงอยู่ในพระนครพาราณสีนั้นต่อไปตามเดิม.
               ในครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ชาติมันต์ บวชเป็นดาบสอยู่ที่ริมฝั่งน้ำเวตตวตีนที อาศัยเวตตวตีนครเป็นแหล่งโคจร อาศัยชาติเป็นเหตุก่อเกิดมานะยิ่งใหญ่. พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิตคิดว่า เราจักทำลายมานะของพราหมณ์นี้ จึงไปยังสถานที่นั้น อาศัยอยู่ด้านเหนือน้ำ ใกล้สำนักของชาติมันตดาบส.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เคี้ยวไม้สีฟันแล้วอธิษฐานว่า ไม้สีฟันนี้จงลอยไปติดอยู่ที่ชฎาของดาบสชาติมันต์ ดังนี้แล้วทิ้งไม้สีฟันนั้นลงไปในแม่น้ำ. ไม้สีฟันก็ลอยไปติดอยู่ที่ชฎาของชาติมันตดาบสผู้กำลังอาบน้ำชำระกายอยู่. ชาติมันตดาบสเห็นดังนั้นก็กล่าวบริภาษว่า คนฉิบหาย คนวายร้าย แล้วคิดว่า ไอ้คนกาลกรรณีนี้ มันมาจากไหน เราต้องไปตรวจดูจึงเดินไปตามฝั่งเหนือน้ำ พบพระมหาสัตว์แล้วถามว่า ท่านเป็นชาติอะไร?
               พระมหาสัตว์ตอบว่า เราเป็นชาติจัณฑาล.
               ชาติมันตดาบสถามว่า ท่านทิ้งไม้สีฟันลงไปในแม่น้ำใช่ไหม?
               พระมหาสัตว์ตอบว่า ใช่ ข้าพเจ้าทิ้งไปเอง.
               ชาติมันตดาบสจึงบริภาษว่า คนฉิบหาย คนวายร้าย คนจัณฑาล คนกาลกรรณี เจ้าอย่าอยู่ในสถานที่นี้เลย จงไปอยู่เสียที่ฝั่งใต้น้ำทางโน้น เมื่อพระมหาสัตว์ไปอยู่ฝั่งใต้นที ทิ้งไม้สีฟันลงไปในแม่น้ำ ไม้สีฟันนั้นกลับลอยทวนน้ำขึ้นไปติดอยู่ในชฎาของดาบสนั้นอีก ชาติมันตดาบสโกรธ กล่าวว่าไอ้คนฉิบหาย ไอ้คนถ่อย ถ้าเจ้ายังอยู่ในที่นี้ ศีรษะของเจ้าจักแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงภายในเจ็ดวัน.
               พระมหาสัตว์ดำริว่า ถ้าเราจักโกรธดาบสผู้นี้ ศีลของเราจักขาดไม่เป็นอันรักษา เราจะทำลายมานะของดาบสด้วยอุบายวิธี ครั้นถึงวันที่ ๗ จึงบันดาลฤทธิ์ ห้ามมิให้พระอาทิตย์ขึ้น.
               มนุษย์ทั้งหลายพากันวุ่นวาย เข้าไปหาชาติมันตดาบส ถามว่า ท่านขอรับ ท่านห้ามมิให้พระอาทิตย์ขึ้นหรือ?
               ดาบสตอบว่า กรรมนั้นไม่ใช่ของเรา แต่มีดาบสจัณฑาลผู้หนึ่งอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งนที ชะรอยกรรมนี้จักเป็นของดาบสจัณฑาลผู้นั้น.
               มนุษย์ทั้งหลายพากันเข้าไปหาพระมหาสัตว์เจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ให้พระอาทิตย์อุทัยขึ้นหรือ?
               พระมหาสัตว์รับว่า ใช่ เราห้ามไม่ให้ขึ้นไปเอง.
               พวกมนุษย์จึงถามว่า เพราะเหตุอะไร?
               พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า พระดาบสผู้คุ้นเคยในตระกูลของท่านทั้งหลายได้สาปแช่งข้าพเจ้าผู้หาความผิดมิได้ เมื่อดาบสผู้นั้นมาหมอบลงแทบเท้าของข้าพเจ้าเพื่อขอขมาโทษ ข้าพเจ้าจึงจักปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้น.
               มนุษย์เหล่านั้นพากันไปฉุดลากชาติมันตดาบสนำมา บังคับให้หมอบลงแทบเท้าของพระมหาสัตว์ให้ขอขมาโทษ แล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านโปรดปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้นเถิด.
               พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า เรายังไม่อาจที่จะปล่อยได้ ถ้าหากว่า เราจักปล่อยพระอาทิตย์ขึ้นไซร้ ศีรษะของดาบสผู้นี้จักแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง.
               ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะทำอย่างไร?
               พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำเอาก้อนดินเหนียวมา ครั้นให้นำมาแล้ว สั่งว่าจงเอาดินเหนียววางไว้บนศีรษะของดาบสนี้ แล้วบังคับให้ลงไปยืนในน้ำ แล้วจึงปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้น. ก็เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นไปกระทบเข้าเท่านั้น ก้อนดินเหนียวก็แตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง ดาบสก็ดำลงไปในน้ำ.
               ครั้นพระมหาสัตว์เจ้าทรมานดาบสนั้นแล้ว จึงใคร่ครวญว่า พราหมณ์หมื่นหกพันเหล่านั้นไปอยู่ ณ ที่แห่งใดหนอ? ทราบว่า ไปอยู่ในสำนักของพระเจ้าเมชฌราช คิดว่า เราจักไปทรมานพราหมณ์เหล่านั้น แล้วเหาะไปด้วยฤทธิ์ลงที่ใกล้พระนคร ถือบาตรสัญจรไปเพื่อบิณฑบาตในเวตตวตีนคร.
               พราหมณ์ทั้งหลายเห็นพระมหาสัตว์แล้วคิดว่า แม้เมื่อพระดาบสนี้มาอยู่ในที่นี้เพียงวันสองวัน ก็จักทำให้เราทั้งหลายไม่มีที่พึ่ง จึงพากันไปยังราชสำนักโดยเร็ว กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า มีวิชาธรนักเล่นกลตนหนึ่งเป็นโจร มาอาศัยอยู่ในพระนครนี้ ขอพระองค์โปรดตรัสสั่งให้จับมันเถิด.
               พระราชก็ตรัสรับรองว่า ดีละ เราจะจัดการ.
               พระมหาสัตว์ได้มิสสกภัตแล้ว จึงนำมานั่งบนตั่ง พิงฝาแห่งหนึ่งฉันอยู่.
               ลำดับนั้น ราชบุรุษที่พระราชาส่งมา ติดตามมา เอาดาบฟันคอพระมหาสัตว์ซึ่งกำลังบริโภคอาหารอยู่ มิได้ระมัดระวังตัว ให้ถึงชีพิตักษัย.
               พระมหาสัตว์นั้นทำกาลกิริยาแล้วไปเกิดในพรหมโลก.
               ได้ยินว่า ในชาดกนี้พระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้ทรมานโกณฑพราหมณ์แล้ว และถึงซึ่งชีพิตักษัย เพราะเป็นผู้ขวนขวายที่จะทรมานผู้อื่นเท่านั้น เทพยดาทั้งหลายพากันโกรธเคืองจึงบันดาลให้ฝนเถ้ารึงอันร้อนตกลงในเมชฌรัฐทั้งสิ้น ทำให้แว่นแคว้นพินาศไปสิ้น.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               เมื่อพระเจ้าเมชฌราช เข้าไปทำลายชีวิตท่านมาตังคบัณฑิตผู้ยงยศ วงศ์กษัตริย์เมชฌราชพร้อมด้วยราชบริษัท ก็ได้ขาดสูญในกาลครั้งนั้น.


               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเจ้าอุเทนราชก็ทรงเบียดเบียนบรรพชิตเหมือนกัน
               แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         มัณฑัพยกุมารในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเจ้าอุเทน
                         ส่วนมาตังคบัณฑิตได้มาเป็น เราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล.

               จบอรรถกถามาตังคชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มาตังคชาดก ว่าด้วย อานุภาพของมาตังคฤาษี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2024 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2033 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2054 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=7993&Z=8064
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :