ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 203 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 205 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 207 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กัจฉปชาดก
ว่าด้วย เต่า

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภผู้รอดจากอหิวาตกโรคคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ชนิตํ เม ภวิตํ เม ดังนี้.
               มีเรื่องเล่าว่า ที่กรุงสาวัตถีได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในตระกูลหนึ่ง มารดาบิดาจึงบอกแก่บุตรว่า ลูก เจ้าอย่าอยู่ในเรือนนี้เลย จงพังฝาหนีไปเสียในที่ใดที่หนึ่ง รักษาชีวิตไว้ภายหลัง จึงค่อยกลับมาขุดทรัพย์ซึ่งฝังไว้มีอยู่ในที่นี้ แล้วเก็บทรัพย์ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด บุตรรับคำของมารดาบิดาแล้วพังฝาหนีไป เมื่อโรคของตนหายดีแล้ว จึงกลับมาขุดเอาทรัพย์ที่ฝังไว้ อยู่ครองเรือนอย่างเป็นสุข.
               วันหนึ่งเขาให้คนถือเนยใสและน้ำมัน ผ้า เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ไปวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง. พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขาแล้ว ตรัสถามว่า ได้ยินว่า อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในเรือนของท่าน ท่านทำอย่างไรจึงรอดมาได้. เขาได้กราบทูลเรื่องราวนั้นให้ทรงทราบ. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก แม้แต่ก่อนชนเหล่าใด เมื่อภัยเกิดขึ้นทำความอาลัยในที่อยู่ของตน ไม่ยอมไปอยู่ที่อื่น ชนเหล่านั้นถึงสิ้นชีวิต แต่ชนเหล่าใดไม่ทำความอาลัยไปอยู่เสียที่อื่น ชนเหล่านั้นรอดชีวิตแล้ว ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลช่างหม้อใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทำการปั้นหม้อเลี้ยงบุตรภรรยา. ในครั้งนั้น ใกล้กรุงพาราณสี ได้มีสระใหญ่ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกับแม่น้ำใหญ่ สระนั้นมีน้ำไหลถึงกันกับแม่น้ำในคราวน้ำมาก เมื่อน้ำน้อยก็แยกกัน ปลาและเต่าย่อมรู้ว่า ปีนี้ฝนดี ปีนี้ฝนแล้ง. ครั้นต่อมา ปลาและเต่าที่เกิดในสระนั้นรู้ว่า ในปีนี้ฝนจะแล้ง ครั้นถึงเวลาน้ำไหลต่อเนื่องกันเป็นอันเดียว จึงพากันออกจากสระไปสู่แม่น้ำ แต่เต่าตัวหนึ่งไม่ยอมไป ด้วยคิดเสียว่านี้เป็นที่เกิดของเรา เป็นที่เติบโตของเรา เป็นที่ที่พ่อแม่ของเราเคยอยู่ เราไม่อาจจะละที่นี้ไปได้.
               ครั้นถึงคราวหน้าแล้ง น้ำแห้งผาก. เต่านั้นขุดคุ้ยดิน เข้าไปอยู่ในที่ที่ขนดินของพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ได้ไป ณ ที่นั้นด้วยประสงค์ว่าจักเอาดิน จึงเอาจอบใหญ่ขุดดิน สับถูกเต่าแล้วเอาจอบงัดมันขึ้น คล้ายก้อนดินทิ้งกลิ้งอยู่บนบก. เต่านั้นได้รับเวทนา จึงพูดคร่ำครวญว่า เราไม่อาจละที่อยู่ได้ จึงถึงความพินาศอย่างนี้ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

               เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เพราะเหตุนี้ เราจึงได้อาศัยอยู่ที่เปือกตม เปือกตมกลับทับถมเราให้ทุรพล ดูก่อนท่านภัคควะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ขอท่านจงฟังคำของข้าพเจ้าเถิด.

               บุคคลได้รับความสุขในที่ใด จะเป็นในบ้านหรือในป่าก็ตาม ที่นั้นเป็นที่เกิด เป็นที่เติบโตของบุรุษผู้รู้จักเหตุผล บุคคลพึงเป็นอยู่ได้ในที่ใด ก็พึงไปในที่นั้น ไม่พึงให้ที่อยู่ฆ่าตนเสีย.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า ชนิตํ เม ภวิตํ เม ได้แก่ นี้เป็นที่เกิดของเรา นี้เป็นที่เติบโตของเรา. บทว่า อิติ ปงฺเก อวสฺสยึ ความว่า เราอาศัย คือนอน คือสำเร็จการอยู่ในเปือกตมนี้ เพราะเหตุนี้. บทว่า อชฺฌภวิ ได้แก่ ครอบงำคือให้ถึงความพินาศ. เรียกช่างหม้อว่า ภัคควะ ภัคควะนี้เป็นบัญญัตินามและโคตรของช่างหม้อ. บทว่า สุขํ ได้แก่ ความสบายทางกายและทางจิต. บทว่า ตํ ชนิตํ ภวิตญฺจ ได้แก่ นั้นเป็นที่เกิดและเป็นที่เติบโต. บทว่า ปชานโต ได้แก่ ผู้รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์คือ เหตุและมิใช่เหตุ. บทว่า น นิเกตหโต สิยา ความว่า ทำความอาลัยในที่อยู่แล้วไม่ไปในที่อื่นถูกที่อยู่ฆ่า ไม่ควรให้ถึงมรณทุกข์เช่นนี้.

               เต่า เมื่อพูดกับพระโพธิสัตว์อย่างนี้ก็ตาย พระโพธิสัตว์จับเอาเต่าไปแล้วให้ชาวบ้านทั้งหมดมาประชุมกัน เมื่อจะสอนมนุษย์ทั้งหลาย จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
               พวกท่านจงดูเต่านี้ ในขณะที่ปลาและเต่าอื่นๆไปสู่แม่น้ำใหญ่ เต่านี้ไม่อาจตัดความอาลัยในที่อยู่ของตนได้ ไม่ไปกับสัตว์เหล่านั้น เขาไปนอนยังที่ขนดินของเรา ครั้นเราขนดินได้เอาจอบใหญ่สับหลังมันเหวี่ยงมันลงบนบกเหมือนก้อนดิน เต่านี้จึงเปิดเผยกรรมที่ตนกระทำคร่ำครวญ ด้วยคาถาสองคาถาแล้วก็ตาย มันทำความอาลัยในที่อยู่ของตนถึงแก่ความตาย แม้พวกท่านก็อย่าได้เป็นเช่นเต่าตัวนี้ ตั้งแต่นี้ไป พวกท่านจงอย่ายึดด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจเครื่องอุปโภคและบริโภคว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเรา บุตรของเรา ธิดาของเรา ทาสีและทาสเงินทองของเราแท้ สัตว์ผู้เดียวนี้เท่านั้น วนเวียนไปในภพสาม.
               พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่มหาชน ด้วยพุทธสีลา ด้วยประการฉะนี้. โอวาทนั้นแผ่ไปทั่วชมพูทวีป ดำรงอยู่ตลอดเวลาประมาณเจ็ดพันปี มหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญมีทานเป็นต้น ทำทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ในคราวสิ้นอายุ.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ทรงประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจ กุลบุตรนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               เต่าในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์ ในครั้งนี้
               ส่วนช่างหม้อ คือ เราตถาคต นี้แล.

.. อรรถกถา กัจฉปชาดก ว่าด้วย เต่า จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 203 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 205 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 207 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1276&Z=1284
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=2064
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=2064
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :