ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 307 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 309 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 311 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ทุติยปลายิชาดก
ว่าด้วย คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้

               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภปลายิปริพาชก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธชมปริมิตํ อนนฺตปารํ ดังนี้.
               แต่ในเรื่องนี้ปริพาชกนั้นเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร.
               ขณะนั้น พระศาสดาแวดล้อมด้วยมหาชน ประทับนั่งบนธรรมาสน์อันประดับประดาแล้ว แสดงธรรมดุจลูกสีหะแผดเสียงสีหนาทอยู่เหนือพื้นมโนสิลา. ปริพาชกเห็นพระรูปของพระทศพลมีส่วนสัดงามดังรูปพรหม พระพักตร์มีสิริฉายดังจันทร์เพ็ญ และพระนลาฏดังแผ่นทองคำ กล่าวว่าใครจักอาจเอาชนะบุรุษผู้อุดมมีรูปอย่างนี้ ได้หันกลับไม่ยอมเข้าหมู่บริษัทหนีไป. มหาชนไล่ตามปริพาชกแล้ว กลับมากราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า ปริพาชกนั้นเห็นพระพักตร์มีฉวีวรรณดังทองคำของเราหนีไปแล้วในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนก็ได้หนีไปแล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระเจ้าคันธารราชพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองตักกสิลา. พระเจ้าคันธารราชนั้นดำริว่าจะไปตีกรุงพาราณสี พรั่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ยกทัพมาล้อมกรุงพาราณสีไว้ ประทับยืนใกล้ประตูนคร ทอดพระเนตรดูพลพาหนะของพระองค์ คิดว่าใครจะอาจเอาชนะพลพาหนะมีประมาณเท่านี้ได้. ได้กล่าวคาถาแรกสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า :-
               ธงสำหรับรถของเรามีมากมาย พลพาหนะของเราก็นับไม่ถ้วน แสนยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้าสู้รบได้ ดุจสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามให้ถึงฝั่งได้ฉะนั้น
               อนึ่ง กองพลของเรานี้ยากที่กองพลอื่นจะหาญเข้าตีหักได้ ดุจภูเขาอันลมไม่อาจให้ไหวได้ฉะนั้น วันนี้เราประกอบด้วยกองพลเท่านี้ อันกองพลเช่นนั้นยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้ารุกรานได้.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธชมปริมิตํ ความว่า เฉพาะธงที่ปักไว้ที่งอนพลรถของเรานี้เท่านั้น ก็นับไม่ถ้วนมากมายหลายร้อย.
               บทว่า อนนฺตปารํ ความว่า แม้พลพาหนะของเราดูสุดสายตาเหลือที่จะคณานับได้ พลช้างมีเท่านี้ พลม้ามีเท่านี้ พลรถมีเท่านี้ พลราบมีเท่านี้.
               บทว่า ทุปฺปสหํ ได้แก่ ศัตรูทั้งหลายไม่สามารถจะข่มขี่ย่ำยีได้.
               ถามว่า เหมือนอย่างอะไร
               ตอบว่า เหมือนดังสมุทรสาครอันกาทั้งหลายแม้มาก ยากที่จะเอาชนะได้ด้วยการแข่งความเร็ว หรือการบินข้ามฉะนั้น.
               บทว่า คิริมิว อนิเลน ทุปฺปสโห ความว่า อนึ่ง พลนิกายของเรานี้ยากที่พลนิกายอื่นจะรานรอนได้ ดุจภูเขาอันลมจะพัดให้โยกคลอนไม่ได้ ฉะนั้น.
               บทว่า ทุปฺปสโห อหมชฺช ตาทิเสน ความว่า เรานั้นสะพรั่งด้วยกองพลเช่นนี้ ยากที่ศัตรูเช่นท่านจะชิงชัยได้ในวันนี้. พระเจ้าคันธารราชตรัสหมายถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งประทับยืนอยู่บนป้อม.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงแสดงพระพักตร์ของพระองค์ อันทรงสิริดุจจันทร์เพ็ญแก่พระเจ้าคันธารราชนั้น ทรงขู่ขวัญว่า พระราชาผู้เป็นพาล อย่าพร่ำเพ้อไปเลย บัดนี้เราจักบดขยี้พลพาหนะของท่านเสีย ให้เหมือนช้างซับมันเหยียบย่ำพงอ้อ ฉะนั้น
               ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ท่านอย่าพูดเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนโง่เขลาไปเลย
               คนเช่นท่านจะเรียกว่าผู้สามารถมิได้
               ท่านถูกความเร่าร้อน คือราคะ โทสะ โมหะ และมานะเผารนอยู่เสมอ
               ไม่อาจจะกำจัดเราได้เลย จะต้องหนีเราไป
               กองพลของเราจักย่ำยีท่านหมดทั้งกองพล ดุจช้างเมามันขยี้ไม้อ้อด้วยเท้าฉะนั้น.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า มา พาลิยํ วิปฺปลปิ ความว่า ท่านอย่าพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นพาลไปเลย.
               บทว่า น หิสฺส ตาทิสํ บาลีว่า น หิสฺส ตาทิโส บ้าง ความว่า ด้วยว่าไม่มีบุคคลผู้คิดว่า พาหนะของเราสุดสายตา สามารถจะชิงราชสมบัติได้ดังเช่นท่าน.
               บทว่า วิทยฺหเส ความว่า ท่านถูกความเร่าร้อน คือราคะ โทสะ โมหะ และมานะเผารนอยู่เสมอ.
               บทว่า น หิ ลภเส นิเสธกํ ความว่า ท่านจะไม่ได้การข่มขู่ครอบงำปราบปรามคนเช่นเราได้เลย วันนี้เราจะให้ท่านหนีไปตามทางที่ท่านมานั่นเอง.
               บทว่า อาสชฺชสิ ได้แก่ เข้าไปใกล้.
               บทว่า คชมิว เอกจารินํ ได้แก่ ดุจช้างเมามันผู้เที่ยวไปโดดเดี่ยว.
               บทว่า โย ตํ ปทา นฬมิว โปถยิสฺสติ ความว่า กองทัพของเราจักบดขยี้ท่านให้แหลกไป เหมือนช้างเมามันบดขยี้ไม้อ้อแหลกลาญด้วยเท้าฉะนั้น.

               ฝ่ายพระเจ้าคันธารราชได้สดับคำของพระโพธิสัตว์ตรัสขู่ขวัญฉะนี้แล้ว ทอดพระเนตรดู ทรงเห็นพระนลาฎเช่นกับแผ่นทองคำ กลัวจะถูกจับ พระองค์จึงหันกลับหนีคืนสู่นครของพระองค์.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พระเจ้าคันธารราชในครั้งนั้น ได้เป็นปริพาชกในครั้งนี้.
               ส่วนพระเจ้าพาราณสี คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาทุติยปลายิชาดกที่ ๑๐               

               รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. กาสาวชาดก ว่าด้วย ผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
                         ๒. จุลลนันทิยชาดก ว่าด้วย ผลของกรรมดีกรรมชั่ว
                         ๓. ปุฏภัตตชาดก ว่าด้วย การคบ
                         ๔. กุมภีลชาดก ว่าด้วย คุณธรรมเครื่องให้เจริญ
                         ๕. ขันติวรรณนชาดก ว่าด้วย ต้องอดใจในคนที่หาคุณธรรมยาก
                         ๖. โกสิยชาดก ว่าด้วย ผู้รู้กาลควรไม่ควร
                         ๗. คูถปาณกชาดก ว่าด้วย หนอนท้าช้างสู้
                         ๘. กามนีตชาดก ว่าด้วย ผู้ถูกโรครักครอบงำรักษายาก
                         ๙. ปลายิชาดก ว่าด้วย ขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ
                         ๑๐. ทุติยปลายิชาดก ว่าด้วย คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้
               จบ กาสาววรรคที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปลายิชาดก ว่าด้วย คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 307 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 309 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 311 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1764&Z=1784
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=5773
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=5773
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :