ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 415 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 418 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 421 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กัจฉปชาดก
ว่าด้วย ลิงสัปดน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการสงบระงับความทะเลาะแห่งอำมาตย์ทั้งสองของพระเจ้าโกศล จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า โก นุ วฑฺฒิภตฺโตว ดังนี้.
               ก็เรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้กล่าวไว้แล้วในทุกนิบาตนั่นแล.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นกาสิกรัฐ พอเจริญวัยแล้ว เล่าเรียนศิลปศาสตร์ทุกอย่างในเมืองตักกสิลา แล้วละกามทั้งหลายออกบวชเป็นฤาษี สร้างอาศรมบทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้หิมวันตประเทศ ทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดในที่นั้นแล้ว เล่นฌานสำเร็จการอยู่ในที่นั้น.
               ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีตนเป็นกลางอย่างยิ่ง ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นนั่งอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ลิงทุศีลซุกซนตัวหนึ่งมาถึงก็เอาองคชาตสอดเข้าในช่องหูทั้งสองข้าง ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ห้ามวางเฉยอยู่นั่นแหละ.
               อยู่มาวันหนึ่ง เต่าตัวหนึ่งขึ้นมาจากน้ำนอนผิงแดดอ้าปากอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา. ลิงโลเลตัวนั้นเห็นดังนั้น จึงได้สอดองคชาตเข้าในปากของเต่านั้น. ลำดับนั้น เต่าตื่นขึ้นจึงงับองคชาตของลิงนั้นไว้ เหมือนกับใส่ไว้ในสมุคฉะนั้น เวทนามีกำลังเกิดขึ้นแก่ลิงนั้น มันไม่สามารถจะอดกลั้นเวทนาได้ จึงคิดว่า ใครหนอจักปลดเปลื้องเราจากทุกข์นี้ เราจักไปหาใครดี แล้วมาคิดว่า คนอื่นชื่อว่าผู้สามารถปลดเปลื้องเราจากทุกข์นี้ ยกเว้นพระดาบสเสีย ย่อมไม่มี เราควรจะไปหาพระดาบสเท่านั้น คิดแล้วจึงเอามือทั้งสองอุ้มเต่าไปหาพระโพธิสัตว์.
               พระโพธิสัตว์ เมื่อจะทำการเยาะเย้ยลิงทุศีลตัวนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
                         ใครหนอเดินมา เหมือนบุคคลผู้รวยอาหาร
                         เหมือนพราหมณ์ผู้ได้ลาภมาเต็มมือ
                         ท่านไปเที่ยวภิกขาจารที่ไหนหนอ
                         หรือท่านเข้าไปหาผู้มีศรัทธาคนไรมา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ วฑฺฒิตภตฺโตว ความว่า นั่นใคร เหมือนคนร่ำรวยภัต คือนั่นใครหนอเหมือนเอามือทั้งสองประคองถาดเต็มด้วยภัตที่เขาคดไว้พูนถาดหนึ่งเดินมา.
               บทว่า ปูรหตฺโถว พฺราหฺมโณ ความว่า นั่นใครหนอ เหมือนพราหมณ์มีลาภเต็มมือ เพราะได้ร่ายเวทในเดือน ๑๒ พระโพธิสัตว์หมายเอาวานร จึงกล่าวดังนี้.
               บทว่า กหนฺนุ ภิกฺขํ อจริ ความว่า วานรผู้เจริญ วันนี้ท่านไปเที่ยวภิกขาจารในถิ่นไหน.
               ด้วยบทว่า กํ สทฺธํ อุปสงฺกมิ นี้พระโพธิสัตว์แสดงว่า ภัตของผู้มีศรัทธาที่เขาทำอุทิศบุรพเปตชนชื่อไร หรือบุคคลผู้มีศรัทธาคนไหนที่ท่านเข้าไปหา คือว่าไทยธรรมนี้ ท่านได้มาแต่ไหน.

               วานรทุศีลได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นลิงทรามปัญญา จับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง ขอพระคุณเจ้าโปรดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นทุกข์ด้วยเถิด ขอความเจริญจงมีแก่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าพ้นจากความฉิบหายนี้แล้วจะไปอยู่ที่ภูเขา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ กปิสฺมิ ทุมฺเมโธ ความว่า ขอความเจริญจงมีแก่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าเป็นลิงทรามปัญญา มีใจรวนเร.
               บทว่า อนามาสานิ อามสึ ได้แก่ จับต้องฐานะที่ไม่ควรจับต้อง.
               บทว่า ตฺวํ มํ โมเจยฺย ภทฺทนฺเต ความว่า ขอความเจริญจงมีแก่พระคุณเจ้าผู้มีความเอ็นดู กรุณาปลดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นจากทุกข์นี้.
               บทว่า มุตฺโต คจฺเฉยฺย ปพฺพตํ ความว่า ข้าพเจ้านั้นพ้นจากความฉิบหายนี้ด้วยอานุภาพของท่านจะไปอยู่ยังภูเขา จะไม่แสดงตนในคลองจักษุของท่านอีก.

               พระโพธิสัตว์ เพราะความกรุณาในลิง
               เมื่อจะเจรจากับเต่า จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               เต่าทั้งหลายเป็นสัตว์สืบเนื่องมาจากกัสสปโคตร ลิงทั้งหลายเป็นสัตว์สืบเนื่องมาจากโกณฑัญญโคตร ดูก่อนเต่าผู้เทือกแถวกัสสปโคตร ท่านจงปล่อยลิงผู้เทือกแถวโกณฑัญญโคตรเสียเถิด ท่านคงเคยทำเมถุนธรรมกันแล้ว.


               คาถานั้นมีใจความว่า
               ธรรมดาเต่าทั้งหลายเป็นกัสสปโคตร ส่วนลิงทั้งหลายเป็นโกณฑัญญโคตร ก็กัสสปโคตรกับโกณฑัญญโคตรต่างมีความสัมพันธ์กันและกันโดยอาวาหะและวิวาหะ คือนำเจ้าสาวมาบ้านเจ้าบ่าว และนำเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว ลิงโลเลกับท่าน หรือท่านกับลิงทุศีลตัวนี้ คงจะได้กระทำเมถุนธรรม กล่าวคือกรรมของผู้ทุศีล อันสมควรแก่เมถุนธรรม คือที่เหมือนกับโคตรทำมาแล้วเป็นแน่ เพราะฉะนั้น ดูก่อนเต่าผู้เป็นกัสสปโคตร ท่านจงปล่อยลิงผู้เป็นโกณฑัญญโคตรเสียเถิด.

               เต่าได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์มีความเลื่อมใสในเหตุผล จึงปล่อยองคชาตของลิง.
               ฝ่ายลิงพอหลุดพ้นเท่านั้นได้ไหว้พระโพธิสัตว์แล้วหนีไป ทั้งไม่กลับมามองดูสถานที่นั้นอีก.
               ฝ่ายเต่าไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว ได้ไปยังที่อยู่ของตนทันที.
               แม้พระโพธิสัตว์ก็มิได้เสื่อมจากฌาน ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔ แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               เต่าและลิงในครั้งนั้นได้เป็น อำมาตย์ ๒ คนในบัดนี้
               ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล

               จบ อรรถกถากัจฉปชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กัจฉปชาดก ว่าด้วย ลิงสัปดน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 415 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 418 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 421 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2261&Z=2274
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=2223
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=2223
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :