ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 44 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 45 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 46 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อัตถกามวรรค
๕. โรหิณีชาดก ว่าด้วยผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระมหาวิหาร ชื่อว่าเชตวัน ทรงปรารภทาสีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า “ เสยฺโย อมิตฺโต ” ดังนี้.
               ได้ยินมาว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีทาสีคนหนึ่ง ชื่อว่า โรหิณี. วันหนึ่ง มารดาของนางทาสีซึ่งเป็นหญิงแก่ มานอนอยู่ในโรงกระเดื่อง. ฝูงแมลงวันรุมกันตอมมารดาของนางโรหิณีนั้น กัดเจ็บเหมือนกับแทงด้วยเข็ม นางจึงบอกกับลูกสาวว่า แม่หนู แมลงวันรุมกัดแม่ เจ้าจงไล่มันไป. นางรับคำว่า จ๊ะแม่ ฉันจะไล่มัน เงื้อสาก คิดในใจว่า เราจักตีแมลงวันที่รุมตอมตัวของแม่ให้ตาย ให้ถึงความพินาศ แล้วก็เหวี่ยงสากตำข้าว ถูกมารดาตายคาที่.
               ครั้นเห็นมารดาตาย ก็ร้องไห้คร่ำครวญว่า แม่ของเราตายเสียแล้วๆ. คนทั้งหลาย จึงบอกเรื่องราวแก่ท่านเศรษฐี. ท่านเศรษฐีได้จัดการสรีรกิจตามสมควร แล้วก็ไปสู่วิหาร กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่พระบรมศาสดา.
               พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางทาสีนี้ประหารมารดาของตนตายด้วยสากตำข้าว เพราะมั่นหมายว่า จักประหารแมลงวันที่ตอมตัวของมารดา แม้ในปางก่อน ก็ได้เคยประหารมารดาให้ตาย ด้วยสากซ้อมข้าวมาแล้วเหมือนกัน.
               ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา แล้ว.
               ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในกรุงพาราณสี. พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้น บิดาวายชนม์ก็ครองตำแหน่งเศรษฐีแทน ท่านมีทาสีคนหนึ่ง ชื่อ โรหิณี. เหมือนกัน แม้ทาสีนั้นก็ได้ประหารมารดาของตน ผู้มาสู่โรงกระเดื่อง บอกให้ช่วยปัดแมลงวันให้ ด้วยสากซ้อมข้าวอย่างนี้นั่นแหละ. ครั้นมารดาสิ้นชีวิต ก็ร้องไห้คร่ำครวญ.
               พระโพธิสัตว์ฟังเรื่องนั้นแล้ว ดำริว่า ถึงแม้จะเป็นศัตรู ก็ขอให้เป็นบัณฑิตเถิด ประเสริฐแน่.
               แล้วกล่าวคาถานี้ความว่า :-
               “ ศัตรูเป็นคนมีปัญญา ดีกว่าคนผู้อนุเคราะห์ แต่เป็นคนโง่ ไม่ประเสริฐเลย จงดูนางโรหิณีผู้โง่เง่า ฆ่าแม่ตายแล้ว ร้องไห้อยู่. ”

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เมธาวี ได้แก่บัณฑิต คือท่านที่มีความรู้แจ่มแจ้ง. บทว่า ยํ ในบาทคาถาว่า ยญฺเจ พาลานุกมฺปโก นี้ ท่านทำเป็นลิงควิปวาส. ศัพท์ว่า เจ เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่งนาม. ความว่า บัณฑิตถึงแม้จะเป็นศัตรู ก็ยังดีกว่าคนโง่เขลาที่มีใจเอ็นดูกรุณา ตั้งร้อยเท่าพันเท่าทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยํ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ปฏิเสธ ความว่า คนโง่เขลา ผู้มีใจเอ็นดู จะประเสริฐได้อย่างไร?
               บทว่า ชมฺมึ แปลว่า ผู้ชั่วช้า โง่เซอะ.
               บทว่า มาตรํ หนฺตวาน โสจติ ความว่า นางโรหิณีผู้โง่เง่า หมายใจว่า เราจักฆ่าแมลงวัน กลับฆ่าแม่บังเกิดเกล้า แล้วร้องไห้คร่ำครวญอยู่ด้วยตนเอง. ด้วยเหตุนี้ในโลกนี้ แม้ถึงจะมีศัตรู ก็ขอให้เป็นบัณฑิตเถิด ยังดีกว่าแน่นอน.
               พระโพธิสัตว์ เมื่อสรรเสริญบัณฑิต ทรงแสดงธรรมแล้วด้วยคาถานี้.
               พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางโรหิณีหมายใจว่า เราจักฆ่าแมลงวัน กลับฆ่ามารดาเสีย แม้ในปางก่อน ก็เคยฆ่ามาแล้ว เหมือนกัน.
               ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดก ว่า
               มารดานางโรหิณีในครั้งนั้น ก็มาเป็นมารดา ในครั้งนี้
               ธิดาในครั้งนั้น ก็มาเป็นธิดา ในครั้งนี้เหมือนกัน
               แต่มหาเศรษฐีในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อัตถกามวรรค ๕. โรหิณีชาดก ว่าด้วยผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 44 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 45 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 46 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=300&Z=304
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=36&A=412
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=36&A=412
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :