ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 493 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 496 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โกมาริยปุตตชาดก
ว่าด้วย ผู้ไกลจากภูมิฌาน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ บุพพาราม ทรงปรารภภิกษุทั้งหลายผู้มักเล่นเป็นปกติ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปุเร ตุวํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในปราสาทชั้นบน ต่างพากันนั่งพูดถึงเรื่องที่ตนได้เห็นและได้ยินมาเป็นต้น ทำความตลก คะนองและหัวเราะเฮฮา อยู่ในปราสาทชั้นล่าง.
               พระศาสดาตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาแล้วตรัสว่า เธอจงทำภิกษุเหล่านี้ให้สังเวชสลดใจ. พระเถระเหาะขึ้นไปในอากาศ แล้วเอาปลายนิ้วหัวแม่เท้ากระทุ้งยอดปราสาท ทำให้ปราสาทสั่นสะเทือนจนถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด. ภิกษุเหล่านั้นกลัวมรณภัย จึงได้ออกไปยืนข้างนอก.
               ความที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีปกติเล่นคะนองนั้น เกิดปรากฎไปในหมู่ภิกษุทั้งหลาย.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุพวกหนึ่งบวชในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ยังพากันเที่ยวเล่นคะนองเป็นปกติอยู่ ไม่กระทำวิปัสสนากรรมฐานว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุเหล่านี้ก็เป็นผู้เล่นคะนองเป็นปกติเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชนทั้งหลายจำกุมารนั้นได้โดยชื่อว่า โกมาริยบุตร. ในเวลาต่อมา โกมาริยบุตรนั้นออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในหิมวันตประเทศ.
               ครั้งนั้น มีดาบสผู้มักเล่นคะนองพวกอื่น สร้างอาศรมอยู่ในหิมวันตประเทศ. กิจแม้เพียงกสิณบริกรรม ก็ไม่มีแก่ดาบสนั้น ดาบสเหล่านั้นนำผลาผลไม้น้อยใหญ่มาจากป่าเคี้ยวกินหัวเราะร่าเริง ยังกาลเวลาให้ล่วงเลยไปด้วยการเล่นมีประการต่างๆ. ในสำนักของดาบสเหล่านั้น มีลิงอยู่ตัวหนึ่ง แม้ลิงตัวนั้นก็มักเล่นคะนองเหมือนกัน กระทำหน้าตาวิการต่างๆเป็นต้น แสดงการเล่นคะนองมีอย่างต่างๆ อย่างดาบสทั้งหลาย. ดาบสเหล่านั้นอยู่ในที่นั้นนานแล้ว จึงได้พากันไปยังถิ่นมนุษย์ เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว.
               จำเดิมแต่ ดาบสเหล่านั้นไปแล้ว พระโพธิสัตว์จึงมายังที่นั้นแล้วสำเร็จการอยู่อาศัย. ลิงจึงแสดงการเล่นคะนองแม้แก่พระโพธิสัตว์ เหมือนดังแสดงแก่ดาบสเหล่านั้น. พระโพธิสัตว์จึงดีดนิ้วมือแล้วให้โอวาทแก่ลิงนั้นว่า ธรรมดาผู้อยู่ในสำนักของบรรพชิตผู้มีการศึกษาดีแล้ว ควรจะถึงพร้อมด้วยอาจารมารยาท สำรวมระวังกายและวาจา ประกอบขวนขวายในฌาน.
               จำเดิมแต่นั้น ลิงตัวนั้นได้เป็นสัตว์มีศีลถึงพร้อมด้วยอาจารมารยาท. พระโพธิสัตว์ได้จากแม้ที่นั้นไปอยู่ในที่อื่น. ลำดับนั้น ดาบสขี้เล่นเหล่านั้นเสพรสเค็มและเปรี้ยวแล้ว ได้ไปยังสถานที่นั้น. ลิงไม่แสดงการเล่นคะนองแก่ดาบสเหล่านั้น เหมือนอย่างเมื่อก่อน.
               ลำดับนั้น ดาบสเหล่านั้นเมื่อจะถามลิงนั้นว่า ดูก่อนอาวุโส เมื่อก่อนเจ้าได้กระทำการเล่นคะนองเบื้องหน้าพวกเรา เพราะเหตุไร บัดนี้ เจ้าจึงไม่กระทำ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
               เมื่อก่อน เจ้าเคยโลดเต้นเล่นคะนองในอาศรมสำนักเราทั้งหลายผู้มีปกติเล่นคะนอง. เฮ้ยเจ้าลิง เจ้าจงกระทำกิริยาของลิง บัดนี้ เราไม่ชื่นชมยินดีศีลและพรตอันนั้นของเจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลวตํ สกาเส ได้แก่ ในอาศรมอันเป็นสำนักของเราทั้งหลายผู้คะนองเล่นเป็นปกติ.
               บทว่า โอกฺกนฺทิกํ ได้แก่ โลดเล่นคะนอง ดังมฤคชาติ.
               บทว่า กโรหเร แปลว่า จงกระทำ. ศัพท์ว่า เร เป็น อาลปนะ คำร้องเรียก.
               บทว่า มกฺกฏิยานิ ได้แก่ ทำปากให้แปลกๆ ไปเป็นต้น กล่าวคือ เล่นซนทางปาก.
               บทว่า น ตํ มยํ สีลวตํ รมาม ความว่า ศีลวัตรคือการเล่นคะนองของเจ้าในกาลก่อนนั้น บัดนี้ พวกเราไม่ยินดี คือไม่ยินดียิ่ง แม้เจ้าก็ไม่ทำให้พวกเรายินดี มีเหตุอะไรหนอ.

               ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
               ความหมดจดด้วยฌานชั้นสูง เราได้ฟังมาจากอาจารย์ชื่อโกมาริยบุตร ผู้เป็นพหูสูตร บัดนี้ ท่านอย่าเข้าใจเราว่าเหมือนแต่ก่อน ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราประกอบด้วยฌานอยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มยฺหํ เป็นจตุตถีวิภัติใช้ในอรรถของตติยาวิภัติ.
               บทว่า วิสุทฺธิ ได้แก่ ความหมดจดด้วยฌาน.
               บทว่า พหุสฺสุตสฺส ได้แก่ ชื่อว่าผู้เป็นพหูสูตร เพราะได้ฟังและเพราะได้รู้แจ้งกสิณบริกรรมและสมาบัติ ๘.
               บทว่า ตุวํ นี้ ลิงเมื่อจะเรียกดาบสรูปหนึ่งในบรรดาดาบสเหล่านั้น จึงแสดงว่า บัดนี้ ท่านอย่าได้จำหมายข้าพเจ้าเหมือนเมื่อก่อน ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนเมื่อกาลก่อน ข้าพเจ้าได้อาจารย์แล้ว.

               ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า
               เจ้าลิงเอ๋ย ถ้าแม้บุคคลจะพึงหว่านพืชลงบนแผ่นหิน ถึงฝนจะตกลงมา พืชนั้นก็งอกงามขึ้นไม่ได้แน่ ความหมดจดด้วยฌานชั้นสูงนั้น ถึงเจ้าจะได้ฟังมา เจ้าก็ยังเป็นผู้ไกลจากภูมิฌานมากนัก.


               ความของคาถานั้นว่า ถ้าแม้บุคคลจะพึงหว่านพืช ๕ ชนิด ลงบนหลังแผ่นหิน และฝนจะตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ พืชนั้นจะงอกขึ้นไม่ได้ เพราะแผ่นหินนั้นไม่ใช่เนื้อนา ความหมดจดแห่งฌานชั้นสูงที่เจ้าได้ฟังมา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนเจ้าลิง ก็เพราะเจ้าเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เจ้าจึงยังห่างไกลจากภูมิฌานนัก คือเจ้าไม่อาจทำฌานให้บังเกิดได้ ดาบสเหล่านั้นติเตียนลิงด้วยประการดังนี้.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               พวกดาบสผู้เล่นคะนองเป็นปกติในกาลนั้น ได้เป็น ภิกษุเหล่านี้
               ส่วนโกมาริยบุตร คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาโกมาริยปุตตชาดกที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โกมาริยปุตตชาดก ว่าด้วย ผู้ไกลจากภูมิฌาน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 493 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 496 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2572&Z=2583
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4546
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4546
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :