ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 496 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา พกชาดก
ว่าด้วย การทำลายตบะ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภสันถัตเก่า จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปรปาณฆาต ดังนี้.
               แม้เรื่องนี้ก็ได้มาแล้วโดยพิสดาร ในพระวินัยนั่นแล
               ก็ในที่นี้มีความย่อดังต่อไปนี้ :-
               ท่านพระอุปเสนะมีพรรษาได้ ๒ พรรษาพร้อมด้วยสัทธิวิหาริกซึ่งมีพรรษาเดียว พากันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถูกพระศาสดาทรงติเตียน จึงกลับแล้วหลีกไปเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว ประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น สมาทานธุดงค์ ๑๓ กระทำการชักชวนบริษัทให้เป็นผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ ด้วย.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส จึงพร้อมด้วยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เพราะอาศัยบริษัทนั่นแหละ จึงได้รับการติเตียนเป็นครั้งแรก แต่เพราะประพฤติตามกติกาอันประกอบด้วยธรรม จึงได้รับสาธุการเป็นครั้งที่สอง เป็นผู้อันพระศาสดาทรงกระทำอนุเคราะห์ว่า จำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ จงเข้ามาเฝ้าเราตามสบายเถิด แล้วจึงออกไปแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายจึงพากันเป็นผู้ทรงธุดงค์ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อพระศาสดาเสด็จออกจากที่เร้น ก็พากันทิ้งผ้าบังสกุลไว้ในที่นั้นๆ ถือเอาไปเฉพาะบาตรและจีวรของตนเท่านั้น.
               พระศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปยังเสนาสนะพร้อมด้วยภิกษุมากด้วยกัน ทอดพระเนตรเห็นผ้าบังสุกุลตกเรี่ยราดอยู่ในที่นั้นๆ จึงตรัสถาม ได้ทรงสดับความนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การสมาทานวัตรของภิกษุเหล่านี้เป็นของไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน ได้เป็นเช่นกับอุโบสถกรรมของนกยาง แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกเทวราช. ครั้งนั้น มีนกยางตัวหนึ่งอยู่ที่หลังหินดาดใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา. ต่อมา ห้วงน้ำใหญ่ในแม่น้ำคงคาไหลมาจดรอบหินดาดนั้น นกยางจึงขึ้นไปนอนบนหลังหินดาด ที่แสวงหาอาหารและทางที่จะไปแสวงหาอาหารของนกยางนั้นไม่มีเลย. แม้น้ำก็เปี่ยมอยู่นั่นเอง นกยางนั้นคิดว่า เราไม่มีที่แสวงหาอาหาร และทางที่จะไปแสวงหาอาหาร ก็อุโบสถกรรมเป็นของประเสริฐกว่าการนอนของเราผู้ว่างงาน จึงอธิษฐานอุโบสถด้วยใจเท่านั้น สมาทานศีล นอนอยู่.
               ในกาลนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงอยู่ ทรงทราบการสมาทานอันทุรพลของนกยางนั้น ทรงพระดำริว่า เราจักทดลองนกยางนี้ จึงแปลงเป็นรูปแพะเสด็จมายืนแสดง พระองค์ให้เห็นในที่ไม่ไกลนกยางนั้น. นกยางเห็นแพะนั้นแล้วคิดว่า เราจักรู้การรักษาอุโบสถกรรมในวันอื่น จึงลุกขึ้นโผบินไปเพื่อจะเกาะแพะนั้น.
               ฝ่ายแพะวิ่งไปทางโน้นทางนี้ ไม่ให้นกยางเกาะตนได้.
               นกยางเมื่อไม่อาจเกาะแพะได้ จึงกลับมานอนบนหลังหินดาดนั้นนั่นแลอีกโดยคิดว่า อุโบสถกรรมของเรายังไม่แตกทำลายก่อน. ท้าวสักกเทวราชประทับยืนในอากาศด้วยอานุภาพของท้าวเธอ ทรงติเตียนนกยางนั้นว่า ประโยชน์อะไรด้วยอุโบสถกรรมของคนผู้มีอัธยาศัยอันทุรพลเช่นท่าน ท่านไม่รู้ว่าเราเป็นท้าวสักกะจึงประสงค์จะกินเนื้อแพะ ครั้นทรงติเตียนแล้วก็เสด็จไปยังเทวโลกทันที.
               มีอภิสัมพุทธคาถา แม้ ๓ คาถาว่า :-
[๔๙๙] หมาป่าตัวมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร เป็นอยู่ได้ เพราะฆ่าสัตว์อื่น
               สมาทานวัตรแล้ว รักษาอุโบสถอยู่.
[๕๐๐] ท้าวสักกะทรงทราบวัตรของหมาป่านั้นแล้ว จึงจำแลงเป็นแพะมา หมาป่า
               นั้นปราศจากตบะ ต้องการดื่มกินเลือดจึงวิ่งไปจะกินแพะ ได้ทำลายตบะ
               ธรรมเสียแล้ว.
[๕๐๑] บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีวัตรอันเลวทราม
               ในการสมาทานวัตร ย่อมทำตนให้เบา ดุจหมาป่าทำลายตบะของตน
               เพราะเหตุต้องการแพะ ฉะนั้น.


               นกยางแหละมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร เป็นอยู่ได้เพราะฆ่าสัตว์อื่น สมาทานเข้าจำอุโบสถกรรมนั้นแล้ว.
               ท้าวสักกะทรงทราบวัตรของนกยางนั้นแล้วจึงจำแลงเป็นแพะมา นกยางนั้นปราศจากตบะ ต้องการดื่มกินเลือด จึงโผไปจะกินแพะ ได้ทำลายตบะเสียแล้ว.
               บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีวัตรอันเลวทราม ในการสมาทานวัตร ย่อมทำตนให้เบา ดุจนกยางทำลายตบะของตน เพราะเหตุต้องการแพะฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปปชฺชิ อุโปสถํ ได้แก่ เข้าจำอุโบสถ.
               บทว่า วตญฺญาย ความว่า ทรงทราบวัตรอันทุรพลของนกยางนั้น.
               บทว่า วีตตโป อชฺฌปฺปตฺโต ความว่า เป็นผู้ปราศจากตบะบินเข้าไป. อธิบายว่า โผแล่นไปเพื่อจะกินแพะนั้น.
               บทว่า โลหิตโป แปลว่า ผู้ดื่มเลือดเป็นปกติ.
               บทว่า ตปํ ความว่า นกยางทำลายตบะที่ตนสมาทานแล้วนั้น.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ท้าวสักกะในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาพกชาดกที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

               รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก ว่าด้วย คนโง่เขลาเดือดร้อนภายหลัง
                         ๒. สุปัตตชาดก ว่าด้วย นางกาแพ้ท้อง
                         ๓. กายนิพพินทชาดก ว่าด้วย ความเบื่อหน่ายร่างกาย
                         ๔. ชัมพูขาทกชาดก ว่าด้วย การสรรเสริญกันและกัน
                         ๕. อันตชาดก ว่าด้วย ที่สุด ๓ ประเภท
                         ๖. สมุททชาดก ว่าด้วย สมุทรสาคร
                         ๗. กามวิลาปชาดก ว่าด้วย ผู้พิลาปถึงกาม
                         ๘. อุทุมพรชาดก ว่าด้วย ผู้อ่อนน้อมชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
                         ๙. โกมาริยปุตตชาดก ว่าด้วย ผู้ไกลจากภูมิฌาน
                         ๑๐. พกชาดก ว่าด้วย การทำลายตบะ
               จบ กุมภวรรคที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

               รวมวรรคที่มีในนิบาต คือ
                         ๑. สังกัปปวรรค
                         ๒. ปทุมวรรค
                         ๓. อุทปานทูสกวรรค
                         ๔. อัพภันตรวรรค
                         ๕. กุมภวรรค.
               จบ ติกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา พกชาดก ว่าด้วย การทำลายตบะ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 496 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2584&Z=2609
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4616
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4616
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :