ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 514 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 518 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ทัททรชาดก
ว่าด้วย ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิมานิ มํ ททฺทร ตาปยนฺติ ดังนี้.
               เรื่องได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั้นแล.
               ก็ครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันด้วยเรื่องที่ภิกษุนั้นเป็นคนขี้โกรธ ในโรงธรรมสภา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงรับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นคนขี้โกรธจริงหรือ
               เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นคนขี้โกรธเหมือนกัน ก็เพราะความเป็นคนขี้โกรธของเธอ โบราณกบัณฑิตทั้งหลายแม้ตั้งอยู่ในความเป็นนาคราชผู้บริสุทธิ์ ก็ได้อยู่ในพื้นที่เปื้อนคูถซึ่งเต็มไปด้วยคูถถึง ๓ ปี
               แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นโอรสของพระยาทัททรนาคราชผู้ครองราชสมบัติ อยู่ในทัททรนาคภพ อันมีอยู่ ณ เชิงเขาทัททรบรรพต ในหิมวันตประเทศ ได้มีนามว่า มหาทัททระ ส่วนน้องชายของมหาทัททรนาคราชนั้นชื่อว่าจุลลทัททระ. จุลลทัททรนาคนั้น มักโกรธ หยาบคาย เที่ยวด่า เที่ยวประหารพวกนาคมาณพอยู่. พระยานาคราชรู้ว่าจุลลทัททรนาคนั้นเป็นผู้หยาบช้า จึงสั่งให้นำจุลลทัททรนาคนั้นออกจากนาคภพ. แต่มหาทัททรนาคขอให้บิดาอดโทษแล้วทัดทานห้ามไว้.
               แม้ครั้งที่สอง พระยานาคทรงกริ้วต่อจุลลทัททรนาคนั้น.
               แม้ครั้งที่สอง มหาทัททรนาคนั้นก็ทูลขอให้อดโทษไว้.
               แต่ในวาระที่สาม พระยานาคผู้บิดาตรัสว่า เจ้าห้ามมิให้พ่อขับไล่มันผู้ประพฤติอนาจาร เจ้าแม้ทั้งสองจงไป จงออกจากนาคภพนี้ไปอยู่ที่พื้นเปื้อนคูถ ในนครพาราณสีกำหนด ๓ ปี แล้วให้ฉุดคร่าออกจากนาคภพ. นาคพี่น้องทั้งสองนั้นจึงไปอยู่ที่พื้นเปื้อนคูถในเมืองพาราณสีนั้น.
               ครั้งนั้น พวกเด็กชาวบ้านเห็น นาคพี่น้องทั้งสองนั้นเที่ยวหาเหยื่ออยู่ที่ชายน้ำ ใกล้พื้นที่เปื้อนคูถ จึงพากันประหารขว้างปาท่อนไม้และก้อนดินเป็นต้น พากันด่าว่าคำหยาบเป็นต้นว่า นี้ตัวอะไรหัวใหญ่ หางเหมือนเข็ม มีกบเขียดเป็นภักษาหาร.
               จุลลทัททรนาค อดกลั้นการดูหมิ่นของพวกเด็กชาวบ้านเหล่านั้นไม่ได้ เพราะตนเป็นผู้ดุร้ายหยาบช้า จึงกล่าวว่า ข้าแต่พี่ เจ้าพวกเด็กเหล่านี้ดูหมิ่นพวกเรา ไม่รู้ว่าพวกเราเป็นผู้มีพิษร้าย น้องไม่อาจอดกลั้นการดูหมิ่นของพวกมันได้ น้องจะทำพวกมันให้ฉิบหายด้วยลมจมูก
               เมื่อจะเจรจากับพี่ชาย จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               พี่ทัททระ คำว่าหยาบคายทั้งหลายในมนุษยโลกเหล่านี้ ย่อมทำข้าพเจ้าให้เดือดร้อน พวกเด็กชาวบ้านผู้ไม่มีพิษฤทธิ์เดช พากันสาปแช่งว่า เราผู้มีพิษร้ายว่าเป็นสัตว์กินกบกินเขียด และว่าเป็นสัตว์น้ำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาปยนฺติ แปลว่า ย่อมทำให้ลำบาก.
               บทว่า มณฺฑูกภกฺขา อุทกนฺตเสวี ความว่า พวกเด็กชาวบ้านผู้ไม่มีพิษฤทธิ์เดชเหล่านั้นกล่าวกันว่า สัตว์กินกบกินเขียด และว่าเป็นสัตว์น้ำ สาปแช่งคือด่าว่าเราซึ่งเป็นผู้มีพิษร้าย.

               มหาทัททรนาคผู้พี่ได้ฟังคำของจุลลทัททรนาคผู้น้องนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
               บุคคลถูกขับไล่จากแว่นแคว้นของตน ไปอยู่ยังถิ่นอื่น ควรทำฉางใหญ่ไว้ เพื่อเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย.
               บุคคลอยู่ในหมู่ชนผู้ไม่รู้จักตน ไม่ควรทำการถือตัว ในที่ที่ไม่มีคนรู้จักตน โดยชาติหรือโดยวินัย.
               บุคคลผู้มีปัญญาแม้เปรียบเสมอด้วยไฟ เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นไกล พึงอดทนแม้คำขู่ตะคอกของทาส.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุรุตฺตานํ นิเธตเว ความว่า ชนทั้งหลายสร้างฉางใหญ่ไว้เพื่อเก็บข้าวเปลือก ทำฉางให้เต็มไว้ เมื่อกิจเกิดขึ้นก็ใช้สอยข้าวเปลือก ฉันใด บุรุษผู้เป็นบัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปต่างถิ่นพึงสร้างฉางใหญ่ไว้ภายในหทัยเพื่อเก็บคำหยาบคาย ครั้นเก็บคำหยาบคายเหล่านั้นไว้ในหทัยนั้นแล้ว กลับจักกระทำกิจที่ควรทำในเวลาอันเหมาะแก่ตน.
               บทว่า ชาติยา วินเยน วา ความว่า ในที่ใด ชนทั้งหลายย่อมไม่รู้จักตนโดยชาติหรือโดยวินัยว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์ ผู้นี้เป็นพราหมณ์ หรือว่าเป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูตร เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม.
               บทว่า มานํ ความว่า ไม่พึงกระทำการถือตัวว่า เขาเรียกเรารู้เห็นปานนี้ด้วยโวหารอันลามก ไม่สักการะ ไม่เคารพ.
               บทว่า วสํ อญฺญาตเก ชเน ความว่า อยู่ในสำนักของคนผู้ไม่รู้จักชาติและโคตรของตน.
               บทว่า วสโต แก้เป็น วสตา แปลว่า อยู่. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็เป็น (ศัพท์ว่า วสตา) ดังนี้เหมือนกัน.

               นาคพี่น้องทั้งสองนั้นอยู่ ณ ที่นั้น สิ้นกำหนด ๓ ปี ด้วยอาการอย่างนี้.
               ลำดับนั้น พระยานาคผู้บิดาให้เรียกนาคพี่น้องทั้งสองนั้นมา ตั้งแต่นั้นมา นาคพี่น้องทั้งสองนั้น ก็สิ้นมานะการถือตัว.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้มักโกรธได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               จุลลทัททรนาคในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้
               ส่วนมหาทัททรนาคในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาทัททรชาดกที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทัททรชาดก ว่าด้วย ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 510 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 514 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 518 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2659&Z=2670
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=5059
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=5059
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :