ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 550 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 554 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 558 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โลหกุมภิชาดก
ว่าด้วย สัตว์นรกในโลหกุมภี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าโกศล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทุชฺชีวิตมชีวิมฺหา ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พระเจ้าโกศลได้ทรงสดับเสียงของสัตว์นรก ๔ ตนในตอนกลางคืน คือ
                         สัตว์นรกตนหนึ่งกล่าวเฉพาะ ทุ อักษรเท่านั้น
                         ตนหนึ่งกล่าว อักษร
                         ตนหนึ่งกล่าว อักษร
                         ตนหนึ่งกล่าว โส อักษรเท่านั้น.
               นัยว่า ในอดีตภพ สัตว์นรกเหล่านั้นได้เป็นราชโอรสทำปรทาริกกรรมอยู่ในพระนครสาวัตถีนั่นเอง. พระราชโอรสเหล่านั้นผิดมาตุคามทั้งหลายที่คนอื่นรักษาคุ้มครอง เล่นเพลิดเพลินใจทำบาปกรรม ถูกกงจักรคือความตายตัดแล้ว บังเกิดในโลหกุมภี ๔ ขุม ณ ที่ใกล้พระนครสาวัตถี ไหม้อยู่ในโลหกุมภีนั้น ๖ หมื่นปี ผุดขึ้นมาเห็นขอบปากโลหกุมภี ทั้ง ๔ ตนพากันร้องตามลำดับกันด้วยเสียงอันดังว่า เมื่อไรหนอ พวกเราจักพ้นทุกข์นี้.
               พระราชาได้ทรงสดับเสียงของสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัวต่อมรณภัย ประทับนั่งอยู่นั่นแหละจนอรุณขึ้น. ในเวลารุ่งอรุณแล้ว พราหมณ์ทั้งหลายมาเฝ้าทูลถามพระราชาถึงสุขไสยาส. พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย เราจะนอนสบายมาแต่ไหน วันนี้ เราได้ยินเสียงน่าหวาดเสียว ๔ เสียงเห็นปานนี้. พราหมณ์ทั้งหลายพากันสะบัดมือ.
               พระราชาตรัสถามว่า เป็นอย่างไรหรือท่านอาจารย์.
               พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เสียงหยาบช้าสาหัสมาก พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า แก้ไขได้หรือไม่.
               พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ถึงจะแก้ไขไม่ได้ แต่พวกข้าพระองค์ได้ศึกษามาดีแล้ว.
               พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไรจึงจักห้ามได้.
               พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์ไม่อาจทำพิธีกรรมแก้ไขให้เป็นการใหญ่โต แต่พวกข้าพระองค์จักบูชายัญประกอบด้วยเครื่อง ๔ ทุกอย่างป้องกันไว้.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงรีบจับสัตว์มีชีวิตอย่างละ ๔ ตั้งต้นแต่นกมูลไถไป คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ โคผู้ ๔ มนุษย์ ๔ แล้วบูชายัญประกอบด้วยสิ่งทั้งปวงอย่างละ ๔ กระทำความสวัสดีแก่เราเถิด.
               พราหมณ์ทั้งหลายรับพระดำรัสว่า ดีละข้าแต่มหาราช แล้วถือเอาสิ่งที่ต้องการไปขุดหลุมยัญ นำสัตว์เป็นอันมากเข้าไปผูกไว้ที่หลัก ถึงความอุตสาหะว่า พวกเราจักกินเนื้อปลามาก จักได้ทรัพย์มาก จึงกราบทูลว่า. ข้าแต่สมมติเทพ ได้สิ่งนี้ควร ได้สิ่งนี้ควร เที่ยววุ่นวายอยู่.
               พระนางมัลลิกาเทวีเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วทูลถามว่า ข้าแต่มหาราช เหตุไรหนอ พวกพราหมณ์จึงร่าเริงเหลือเกินเที่ยวไปอยู่.
               พระราชาตรัสว่า เทวี ประโยชน์อะไรด้วยเรื่องนี้แก่เธอ เธอประมาทมัวเมาอยู่ด้วยยศอย่างของตน ส่วนความทุกข์ตกอยู่แก่เราเท่านั้น.
               พระนางมัลลิกาทูลถามว่า เรื่องอะไรเล่า มหาราชเจ้า.
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเทวี ฉันได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินชื่อเห็นปานนี้ แต่นั้นจึงได้ถามพราหมณ์ทั้งหลายว่า เพราะได้ยินเสียงเหล่านี้ เหตุการณ์อะไรจักเกิดมี พวกพราหมณ์พากันกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า อันตรายแห่งราชสมบัติ แห่งโภคทรัพย์หรือแห่งชีวิต จักปรากฎแก่พระองค์ พวกข้าพระองค์จักบูชายัญด้วยสิ่งทั้งปวงอย่างละ ๔ แล้วจักมีความสวัสดี พราหมณ์เหล่านั้นรับคำสั่งของฉันแล้ว ทำหลุมยัญแล้วพากันมา เพราะเหตุแห่งของที่ต้องการนั้น.
               พระนางมัลลิกากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ก็พระองค์ทูลถามพราหมณ์ผู้เลิศในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ถึงความสำเร็จผลแห่งเสียงเหล่านี้แล้วหรือ?
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเทวี ใครนั่น? เป็นพราหมณ์ผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               พระนางมัลลิกากราบทูลว่า พระมหาโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               พระราชาตรัสว่า พระเทวี ฉันยังไม่ได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               พระนางมัลลิกากราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงเสด็จไปทูลถามท่านเถิด.
               พระราชาทรงเชื่อถือถ้อยคำของพระนางมัลลิกานั้น เสวยพระกระยาหารเช้า แล้วเสด็จขึ้นทรงรถอันประเสริฐ เสด็จไปยังพระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลถามว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตอนกลางคืนหม่อมฉันได้ยินเสียง ๔ เสียง ถามพวกพราหมณ์ดูแล้ว เขาบอกว่า จักบูชายัญด้วยสิ่งของทั้งปวงอย่างละ ๔ แล้วจักทำความสวัสดีให้เพราะได้ยินเสียงเหล่านั้น เหตุอะไรจักมีแก่หม่อมฉัน พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร เหตุอะไรๆ ไม่มีแก่พระองค์ สัตว์นรกทั้งหลายเสวยทุกข์อยู่จึงร้องอย่างนี้ เสียงเหล่านี้ พระองค์ได้ฟังอย่างนี้ เฉพาะในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ พระราชาครั้งเก่าก่อนทั้งหลายก็ได้ทรงสดับมาแล้วเหมือนกัน ท้าวเธอมีพระประสงค์จะทำยัญด้วยการฆ่าปศุสัตว์ เพราะตรัสถามพวกพราหมณ์ แต่ไม่ทรงกระทำ เพราะได้ฟังถ้อยคำของบัณฑิตทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวแถลงเค้าเงื่อนแห่งเสียงเหล่านั้น ได้ให้ปล่อยมหาชนไป ได้กระทำความสวัสดีปลอดภัยให้แล้ว อันพระราชานั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในกาสิกคามแห่งหนึ่ง เจริญวัยแล้วก็ละกามทั้งหลายบวชเป็นฤาษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น เล่นฌานอยู่ในไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์ ณ ประเทศหิมพานต์.
               ในกาลนั้น พระเจ้าพาราณสีได้สดับเสียง ๔ ประการนี้ของสัตว์นรก ๔ ตน ทรงหวาดกลัวสะดุ้งพระทัย เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลโดยทำนองนี้แหละว่า อันตราย ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งจักบังเกิดมี ข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำอันตรายนั้นให้สงบลงด้วยยัญ ประกอบด้วยสิ่งทั้งปวงอย่างละ ๔ จึงทรงรับเอา.
               ปุโรหิตพร้อมกับพวกพราหมณ์ให้ขุดหลุมสำหรับบูชายัญ. มหาชนถูกนำเข้าไปที่หลัก.
               ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์กระทำเมตตาภาวนาให้เป็นปุเรจาริก ตรวจดูชาวโลกด้วยทิพยจักษุ ได้เห็นเหตุนี้แล้วคิดว่า วันนี้ เราควรจะไป ความสวัสดีปลอดภัยจักมีแก่มหาชน จึงเหาะขึ้นยังเวหาสด้วยกำลังฤทธิ์ แล้วลงที่พระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี นั่งอยู่ที่แผ่นมงคลศิลาประดุจรูปทอง.
               ในกาลนั้น อันเตวาสิกผู้ใหญ่ของปุโรหิต เข้าไปหาอาจารย์แล้วกล่าวว่า ท่านอาจารย์ ในเวทย์ของเราทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการฆ่าผู้อื่นแล้วกระทำความสวัสดีปลอดภัยให้ย่อมไม่มี มิใช่หรือ. ปุโรหิตห้ามอันเตวาสิกนั้นว่า เจ้าจงพอใจราชทรัพย์ เราจักได้กินมัจฉมังสาหารเป็นอันมาก จักได้ทรัพย์ เจ้าจงนิ่งเสียเถิด. อันเตวาสิกนั้นคิดว่า เราจักไม่เป็นสหายในเรื่องนี้ จึงออกไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์แล้วจึงไหว้ กระทำปฏิสันถารแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               พระโพธิสัตว์ถามว่า มาณพพระราชาครองราชสมบัติโดยธรรมหรือ?
               อันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พระราชาทรงครองราชสมบัติโดยธรรม แต่ในตอนกลางคืน พระราชาได้ทรงสดับเสียง ๔ ประการจึงตรัสถามพราหมณ์ทั้งหลาย พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายจักบูชายัญด้วยสิ่งทั้งปวงอย่างละ ๔ แล้วจักกระทำความสวัสดีให้ พระราชาทรงพระประสงค์จะทำกรรม คือฆ่าปศุสัตว์ แล้วกระทำความสวัสดีให้แก่ตน มหาชนถูกนำเข้าไปไว้ที่หลัก ท่านผู้เจริญ การที่ผู้มีศีลเช่นกับท่านจะบอกความสำเร็จผลแห่งเสียงเหล่านั้น แล้วปลดปล่อยมหาชนจากปากแห่งความตาย ย่อมไม่ควรหรือหนอ.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า มาณพ พระราชาไม่ทรงรู้จักพวกเรา แม้พวกเราก็ไม่รู้จักพระราชาพระองค์นั้น แต่เราทั้งหลายรู้จักความสำเร็จผลแห่งเสียงเหล่านี้ ถ้าพระราชาจะเสด็จมาหาเราแล้วถาม เราจะทูลถวายพระราชาให้หมดความสงสัย.
               อันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงอยู่ที่นี้แหละ สักครู่เราจักนำพระราชามา. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดีละมาณพ. อันเตวาสิกนั้นไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชาแล้วนำพระราชาเสด็จมา.
               พระราชาทรงไหว้พระโพธิสัตว์แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า ได้ยินว่า ท่านรู้ความสำเร็จผลแห่งเสียงที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา จริงหรือ. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอก.
               พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า มหาบพิตร ในภพก่อนสัตว์นรกเหล่านี้ ถึงความประพฤติในทาระทั้งหลายที่คนอื่นรักษาคุ้มครอง จึงบังเกิดในโลหกุมภีทั้ง ๔ ขุม ณ ที่ใกล้พระนครพาราณสี ถูกเคี่ยวจนกายเป็นฟองในน้ำด่างโลหะอันเดือดพล่าน ตกไปเบื้องล่างจรดถึงภาคพื้นสิ้นเวลา ๓ หมื่นปี ผุดขึ้นเบื้องบนได้เห็นปากหม้อโลหกุมภีโดยกาล ๓ หมื่นปีเช่นกัน ได้แลไปภายนอก ทั้ง ๔ คน แม้ประสงค์จะกล่าวคาถา ๔ คาถาให้ครบบริบูรณ์ ก็ไม่อาจกระทำได้อย่างนั้น กล่าวได้แต่คนละอักขระเดียวเท่านั้น กลับจมลงในโลหกุมภีตามเดิมอีก
               ในสัตว์นรกทั้ง ๔ ตนนั้น
               สัตว์ที่กล่าว ทุ อักษรแล้วจมลงไป ได้เป็นผู้ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า :-
               เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ เราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่ตน เราจึงมีชีวิตเป็นอยู่ได้แสนยาก.


               แต่ไม่อาจกล่าวได้ แล้วพระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถานั้นให้ครบบริบูรณ์ด้วยฌานของตน.
               แม้ในคาถาที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บรรดาสัตว์เหล่านั้น คาถาของสัตว์ที่กล่าวแต่ สุ อักษรแล้วจะกล่าวต่อไปมีดังนี้ว่า :-
               เมื่อเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักปรากฎ.


               คาถาของสัตว์ที่กล่าวแต่ น อักษร แล้วจะกล่าวต่อไป มีดังนี้ว่า :-
               ดูก่อนชาวเราเอ๋ย ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดจักไม่ปรากฏก่อน ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะในกาลนั้น ทั้งเราและท่านได้กระทำบาปกรรมไว้มาก.


               คาถาของสัตว์ผู้ที่กล่าวแต่ โส อักษร แล้วจะกล่าวต่อไปมีดังนี้ว่า :-
               เรานั้นไปจากที่นี้ ได้กำเนิดมนุษย์รู้ภาษาแล้ว จักเป็นคนสมบูรณ์ด้วยศีล จักทำกุศลให้มากทีเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุชฺชีวิตํ ความว่า เมื่อประพฤติทุจริต ๓ อยู่ ชื่อว่าย่อมเป็นอยู่ชั่ว คือเป็นอยู่ลามก. แม้สัตว์นั้นก็หมายเอาความเป็นอยู่ชั่วนั้นนั่นแหละจึงกล่าวว่า มีชีวิตเป็นอยู่ชั่วช้า ดังนี้.
               บทว่า เยสนฺโน น ททามฺหเส ความว่า เมื่อไทยธรรมและปฏิคาหกมีอยู่ทีเดียว เราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน.
               บทว่า ทีปํ นากมฺห ความว่า ไม่กระทำที่พึ่งแก่ตน.
               บทว่า สพฺพโส แปลว่า โดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า ปริปุณฺณานิ ได้แก่ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               บทว่า ปจฺจมานานํ ได้แก่ เมื่อเราทั้งหลายไหม้อยู่ในนรกอยู่.
               บทว่า นตฺถิ อนฺโต ความว่า ไม่มีกำหนดกาลอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักพ้นในกาลชื่อโน้น.
               บทว่า กุโต อนฺโต ความว่า เพราะเหตุไรที่สุดจักปรากฏ.
               บทว่า น อนฺโต ความว่า ที่สุดแห่งทุกข์จักไม่ปรากฏแก่เราทั้งหลายแม้ผู้ใคร่จะเห็นที่สุด.
               บทว่า ตทา หิ ปกตํ ความว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในกาลนั้น เราและท่านได้ทำบาปกรรมไว้มาก คือทำไว้อย่างอุกฤษฏ์ยิ่ง.
               บาลีว่า ตถา หิ ปกตํ จริงอย่างนั้น เราและท่านทำบาปกรรมไว้มาก ดังนี้ก็มี อธิบายว่า เพราะเหตุที่ทำบาปกรรมไว้นั้น จึงไม่อาจเห็นที่สุดแห่งทุกข์นั้น. บทว่า มาริสา แปลว่า ผู้เช่นกับด้วยเรา. คำว่า มาริสา นี้เป็นคำเรียกด้วยความรัก. ศัพท์ว่า นูน เป็นนิบาตลงในอรรถว่าแน่นอน. ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า เรานั้นไปจากนี้แล้วได้กำเนิดมนุษย์ เป็นผู้โอบอ้อมอารี สมบูรณ์ด้วยศีล จักกระทำกุศลให้มากโดยส่วนเดียวแน่.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวคาถาหนึ่งๆ ด้วยประการดังนี้แล้วให้พระราชาทรงทราบชัดว่า ดูก่อนมหาบพิตร สัตว์นรกนั้นประสงค์จะกล่าวคาถานี้ให้ครบบริบูรณ์ แต่ไม่อาจทำอย่างนั้นได้ เพราะความที่บาปของตนใหญ่หลวงนัก ดังนั้น สัตว์นรกนั้นเมื่อได้เสวยวิบากแห่งกรรมของตน จึงได้ร้อง ชื่อว่าอันตราย เพราะเหตุปัจจัยที่ฟังเสียงนี้ ย่อมไม่มี พระองค์อย่ากลัวเลย.
               พระราชารับสั่งให้ปล่อยมหาชนแล้ว ให้เที่ยวตีกลองสุวรรณเภรี ป่าวประกาศให้ทำลายหลุมยัญ พระโพธิสัตว์กระทำความสวัสดีปลอดภัยให้แก่มหาชนแล้วพักอยู่ ๒-๓ วัน จึงได้ไปที่หิมวันตประเทศนั้นนั่นเอง เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม จึงบังเกิดในพรหมโลก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               มาณพของปุโรหิตในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
               ส่วนดาบสได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาโลหกุมภีชาดกที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โลหกุมภิชาดก ว่าด้วย สัตว์นรกในโลหกุมภี จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 550 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 554 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 558 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2801&Z=2812
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=5820
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=5820
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :