ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 610 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 614 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 618 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กาฬพาหุชาดก
ว่าด้วย ลิงหลอกเจ้า

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัตผู้เสื่อมลาภสักการะ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยํ อนฺนปานสฺส ดังนี้.
               แท้จริง เมื่อพระเทวทัตผูกความโกรธอันไม่บังควรในพระตถาคต แล้วประกอบนายขมังธนู โทษผิดของพระเทวทัตนั้น ได้ปรากฏเพราะปล่อยช้างนาฬาคิรี. ลำดับนั้น คนทั้งหลายจึงพากันเลิกธุวภัตเป็นต้นที่เริ่มตั้งไว้แก่เธอเสีย แม้พระราชาก็ไม่ทรงเหลียวแลพระเทวทัตนั้น. พระเทวทัตนั้นเสื่อมลาภสักการะ จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลายบริโภคอยู่.
               ภิกษุทั้งหลายจึงนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตคิดว่า จักยังลาภสักการะให้เกิดขึ้น แม้แต่ลาภสักการะที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจทำให้มั่นคง. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า มิใช่บัดนี้เท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เทวทัตนี้ก็ได้เป็นผู้เสื่อมลาภสักการะ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าธนัญชัยครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นวานรเผือกชื่อราธะ มีบริวารมาก มีร่างกายบริบูรณ์ ส่วนวานรน้องชายของพระโพธิสัตว์นั้นชื่อโปฏฐปาทะ. พรานผู้หนึ่งจับวานรพี่น้องทั้งสองนั้นได้ จึงนำไปถวายพระเจ้าพาราณสี.
               พระราชาโปรดให้ใส่วานรทั้งสองนั้นไว้ในกรงทอง ให้บริโภคข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ให้ดื่มน้ำเจือด้วยน้ำตาลกรวดปรนนิบัติเลี้ยงดูอยู่ สักการะได้มีอย่างมากมาย. วานรทั้งสองนั้นได้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ.
               ต่อมา พรานป่าคนหนึ่งได้นำเอาวานรดำใหญ่ตัวหนึ่งชื่อกาฬพาหุ มาถวายพระราชา วานรกาฬพาหุนั้นมาทีหลังจึงได้มีลาภสักการะมากกว่า ลาภสักการะของวานรเผือกทั้งสองก็เสื่อมถอยไป. พระโพธิสัตว์มิได้พูดอะไรเลย เพราะประกอบด้วยลักษณะแห่งผู้คงที่ แต่วานรน้องชายเพราะไม่มีลักษณะแห่งผู้คงที่ จึงทนดูสักการะของกาฬพาหุวานรไม่ได้ ได้พูดกะพี่ชายว่า ข้าแต่พี่ เมื่อก่อน ในราชสกุลนี้ ย่อมให้ของกินมีรสดีเป็นต้นแก่พวกเรา แต่บัดนี้พวกเราไม่ได้ เขานำไปให้เจ้าลิงกาฬพาหุเท่านั้น พวกเราเมื่อไม่ได้ลาภสักการะจากสำนักของพระเจ้าธนัญชัย จักทำอะไรอยู่ ณ สถานที่นี้ มาเถิดพี่ พวกเราไปอยู่ป่าเถิด
               เมื่อจะเจรจากับวานรพี่ชายนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

               เมื่อก่อน เราได้ข้าวและน้ำอันใดจากสำนักพระราชา มาบัดนี้ ข้าวและน้ำนั้นมาขึ้นอยู่กับสาขมฤคหมด ข้าแต่พี่ราธะ บัดนี้ เราเป็นผู้อันพระเจ้าธนัญชัยไม่สักการะแล้ว พากันกลับไปป่าตามเดิมเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ อนฺนปานสฺส ความว่า ข้าวและน้ำใดจากสำนักของพระราชานั้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อนฺนปานสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถของทุยาวิภัตติ. บทว่า ธนญฺชยาย เป็นจตุตถีวิภัตติ ลงในอรรถของตติยาวิภัตติ. อธิบายว่า พวกเราเป็นผู้อันพระเจ้าธนัญชัยไม่สักการะเอื้อเฟื้อแล้ว และไม่ได้ข้าวและน้ำ คือเป็นผู้อันพระเจ้าธนัญชัยนี้แล ไม่ทรงเอื้อเฟื้อแล้ว.

               วานรราธะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนน้องโปฏฐปาทะ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เจ้าอย่าเศร้าโศกเลย จะเศร้าโศกไปทำไม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโส ได้แก่ อิสริยยศ และปริวารยศ. บทว่า อยโส ได้แก่ ความไม่มีอิสริยยศและปริวารยศนั้น. บทว่า เอเต ความว่า โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ แม้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ สมัยต่อมา ย่อมเป็นผู้มีลาภน้อย สักการะน้อย ชื่อว่าผู้จะมีลาภเป็นนิจเสมอไป ย่อมไม่มี. แม้ในยศเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

               วานรโปฏฐปาทะได้ฟังดังนั้น เมื่อไม่อาจทำความริษยาในลิงกาฬพาหุให้หายไปได้
               จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

               ข้าแต่พี่ราธะ พี่เป็นบัณฑิตแท้ ย่อมรู้ถึงผลประโยชน์อันยังมาไม่ถึง ทำอย่างไรหนอ เราจะได้เห็นเจ้าสาขมฤคผู้ลามก ถูกเขาขับไล่ออกจากราชสกุล.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถํ นุ โข ได้แก่ ด้วยอุบายอะไรหนอ. บทว่า ทกฺขาม แปลว่า จักเห็น. บทว่า นิทฺธาปิตํ ได้แก่ ถูกฉุดออกไป คือถูกลากออกไป. บทว่า ชมฺมํ แปลว่า ผู้ลามก.

               วานรราธะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ลิงกาฬพาหุ กระดิกหูและกลอกหน้ากลอกตา ทำให้พระราชกุมารทรงหวาดเสียวพระทัยอยู่บ่อยๆ มันจักทำตัวของมันเองให้จำต้องห่างไกลจากข้าวและน้ำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภายเต กุมาเร ความว่า ย่อมทำพระราชกุมารให้หวาดเสียว. บทว่า เยนารกา ฐสฺสติ ความว่า ตัวมันเองจักทำเหตุให้จำต้องอยู่ห่างไกลจากข้าวและน้ำนี้.

               เจ้าอย่าคิดริษยาต่อมันเลย.
               ฝ่ายลิงกาฬพาหุ พอล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ทำกระดิกหูเป็นต้นต่อหน้าพระราชกุมารทั้งหลาย ทำให้พระราชกุมารทั้งหลายกลัว. พระราชกุมารทั้งหลายเหล่านั้นตระหนกตกพระทัยกลัว ต่างทรงส่งเสียงร้อง.
               พระราชาตรัสถามว่า นี่อะไรกัน? ได้ทรงสดับเรื่องราวนั้นแล้วรับสั่งว่า จงไล่มันออกไป แล้วให้ไล่ลิงกาฬพาหุนั้นออกไป ลาภสักการะของวานรขาวทั้งสองก็ได้เป็นปกติตามเดิมอีก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ลิงกาฬพาหุในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
               วานรโปฏฐปาทะในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์
               ส่วนวานรราธะในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล

               จบ อรรถกถากาฬพาหุชาดกที่ ๙

.. อรรถกถา กาฬพาหุชาดก ว่าด้วย ลิงหลอกเจ้า จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 610 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 614 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 618 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3003&Z=3017
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=7239
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=7239
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :