ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 622 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 630 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา รถลัฏฐิชาดก
ว่าด้วย ใคร่ครวญก่อนแล้วทำ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภปุโรหิตของพระเจ้าโกศล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อปิ หนฺตฺวา หโต พฺรูติ ดังนี้
               ได้ยินว่า ปุโรหิตนั้นไปบ้านส่วยของตนด้วยรถ ขับรถไปในทางแคบ พบหมู่เกวียนพวกหนึ่ง จึงกล่าวว่า พวกท่านจงหลีกเกวียนของพวกท่าน ดังนี้แล้วก็จะไป เมื่อเขายังไม่ทันจะหลีกเกวียนก็โกรธ จึงเอาด้ามปฏักประหารที่แอกรถของนายเกวียนในเกวียนเล่มแรก. ด้ามปฏักนั้นกระทบแอกรถก็กระดอนกลับมาพาดหน้าผากของปุโรหิตนั้นเข้า ทันทีนั้นที่หน้าผากก็มีปมปูดขึ้น. ปุโรหิตนั้นจึงกลับไปกราบทูลแก่พระราชาว่า ถูกพวกนายเกวียนตี พระราชาจึงทรงสั่งพวกตุลาการให้วินิจฉัย พวกตุลาการจึงให้เรียกพวกนายเกวียนมา แล้ววินิจฉัยอยู่ ได้เห็นแต่โทษผิดของปุโรหิตนั้นเท่านั้น.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลายได้ยินว่า ปุโรหิตของพระราชาเป็นความหาว่า พวกเกวียนตีตน แต่ตนเองกลับเป็นฝ่ายผิด.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ปุโรหิตนี้ก็กระทำกรรมเห็นปานนี้เหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยของพระเจ้าพาราณสีนั้นเอง.
               ข้อความทั้งหมดที่ว่า ครั้งนั้น ปุโรหิตของพระราชาไปยังบ้านส่วยของตนด้วยรถดังนี้เป็นต้น เป็นเช่นกับข้อความอันมีแล้วในเบื้องต้นนั่นแหละ.
               แต่ในชาดกนี้ เมื่อปุโรหิตนั้นกราบทูลพระราชาแล้ว พระราชาประทับนั่ง ณ โรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้เรียกพวกนายเกวียนมา มิได้ทรงชำระการกระทำให้ชัดเจน ตรัสว่าพวกเจ้าตีปุโรหิตของเรา ทำให้หน้าผากโปขึ้น แล้วตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงปรับพวกเกวียนเหล่านั้นทั้งหมดคนละพัน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ยังมิได้ทรงชำระการกระทำให้ชัดแจ้งเลย ทรงให้ปรับพวกเกวียนเหล่านั้นทั้งหมดคนละพัน ด้วยว่าคนบางจำพวก แม้ประหารตนด้วยตนเองก็กล่าวหาว่า ถูกคนอื่นประหาร เพราะฉะนั้น การไม่วินิจฉัยแล้วสั่งการ ไม่ควร ธรรมดาพระราชาผู้ครองราชสมบัติใคร่ครวญแล้วสั่งการจึงจะควร แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

               ข้าแต่พระราชา บุคคลทำร้ายตนเอง กลับกล่าวหาว่า คนอื่นทำร้าย ดังนี้ก็มี โกงเขาแล้ว กลับกล่าวหาว่า เขาโกงดังนี้ก็มี ไม่ควรเชื่อคำของโจทก์ฝ่ายเดียว.

               เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นเชื้อชาติบัณฑิต ควรฟังคำแม้ของฝ่ายจำเลยด้วย เมื่อฟังคำของโจทก์และจำเลย คู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว พึงปฏิบัติตามธรรม.

               คฤหัสถ์ผู้ยังบริโภคกาม เกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่ดี พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่ดี.

               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรกระทำ ไม่ทรงใคร่ครวญก่อน ไม่ควรกระทำ อิสริยยศและเกียรติศัพท์ ย่อมเจริญแก่กษัตริย์ผู้ทรงใคร่ครวญแล้วกระทำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ หนฺตฺวา ความว่า เออก็ คนบางพวกทำร้ายตนด้วยตนเอง ยังพูดคือกล่าวหาว่า ถูกคนอื่นทำร้าย. บทว่า เชตฺวา ชิโต ความว่า ก็หรือว่า ตนเองโกงคนอื่นแล้วกล่าวหาว่าเราถูกโกง. บทว่า เอตทตฺถุ ความว่า ข้าแต่มหาราช บุคคลไม่ควรเชื่อคำของโจทก์ผู้ไปยังราชสกุลแล้วกล่าวหาก่อน ชื่อว่าผู้ฟ้องร้องก่อนโดยแท้ คือไม่พึงเชื่อคำของโจทก์โดยส่วนเดียว. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่ไม่ควรเชื่อคำของผู้ที่มาพูดก่อนโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ยถา ธมฺโม ความว่า สภาวะ (หลักการ) วินิจฉัยตั้งไว้อย่างใด พึงกระทำอย่างนั้น. บทว่า อสญฺญโต ได้แก่ ผู้ไม่สำรวมกายเป็นต้น คือเป็นผู้ทุศีล. บทว่า ตํ น สาธุ ความว่า ความโกรธ กล่าวคือความขุ่นเคืองอันมั่นคง โดยการยึดถือไว้ตลอดระยะกาลนานของบัณฑิต คือบุคคลผู้มีความรู้นั้น ไม่ดี. บทว่า นานิสมฺม ได้แก่ ไม่ทรงใคร่ครวญแล้ว ไม่ควรกระทำ. บทว่า ทิสมฺปติ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้เป็นใหญ่แห่งทิศทั้งหลาย. บทว่า ยโส กิตฺติ จ ความว่า บริวาร คือความเป็นใหญ่ และเกียรติศัพท์ย่อมเจริญ.

               พระราชาได้สดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงวินิจฉัยตัดสินโดยธรรม เมื่อทรงวินิจฉัยโดยธรรม โทษผิดจึงมีแก่พราหมณ์เท่านั้นแล.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้เป็น พราหมณ์นี่แหละในบัดนี้
               ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถารถลัฏฐิชาดกที่ ๒

.. อรรถกถา รถลัฏฐิชาดก ว่าด้วย ใคร่ครวญก่อนแล้วทำ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 622 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 630 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3053&Z=3067
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=7423
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=7423
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :