ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 630 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 634 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โคธชาดก
ว่าด้วย เขารักก็รักมั่ง เขาชังก็ชังตอบ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกฎุมพีผู้หนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ตเทว เม ตฺวํ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบัน ได้ให้พิสดารแล้วในหนหลังนั่นแหละ
               แต่ในชาดกนี้ เมื่อสามีภรรยาทั้งสองนั้น ชำระสะสางหนี้สินเสร็จแล้วกลับมา ในระหว่างทาง พรานได้ให้เหี้ยย่างตัวหนึ่ง โดยพูดว่า ท่านทั้งสองจงกิน. บุรุษผู้เป็นสามีนั้นสั่งภรรยาไปหาน้ำดื่ม แล้วกินเหี้ยหมด ในเวลาภรรยานั้นกลับมา จึงกล่าวว่า นางผู้เจริญ เหี้ยหนีไปเสียแล้ว. ภรรยากล่าวว่า ดีละนาย เมื่อเหี้ยย่างมันหนีไป ดิฉันจะอาจทำอะไร.
               ภรรยานั้นดื่มน้ำในพระเชตวันแล้วนั่งรวมกันในสำนักของพระศาสดา ผู้อันพระศาสดาตรัสถามว่า อุบาสิกา สามีของท่านนี้ยังปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล มีความรักดี อุปการะช่วยเหลือแก่ท่านดีอยู่หรือ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังมีความปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล มีความรักแก่สามีนี้ดีอยู่ แต่สามีนี้ไม่มีความรักในข้าพระองค์เลย.
               พระศาสดาตรัสว่า ช่างเขาเถอะ อย่าคิดเลย สามีนี้ย่อมกระทำชื่ออย่างนี้ ก็เมื่อใด เขาระลึกคุณของท่านได้ เมื่อนั้น เขาจะให้ความเป็นใหญ่ทั้งหมดเฉพาะท่านเท่านั้น อันสามีภรรยาทั้งสองนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               แม้เรื่องในอดีต ก็เป็นเช่นกับที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั้นเหมือนกัน. แต่ในชาดกนี้ เมื่อพระราชบุตรและชายานั้นเสด็จกลับในระหว่างทาง นายพรานทั้งหลายเห็นความอิดโรยของคนทั้งสองจึงได้ให้เหี้ยย่างตัวหนึ่ง บอกว่า ท่านทั้งสองคนจงกินเสียเถิด. พระราชธิดาเอาเถาวัลย์พันเหี้ยนั้นแล้วถือเดินทางไป. เธอทั้งสองนั้นพบสระน้ำแห่งหนึ่ง จึงแวะลงจากทาง นั่งที่โคนต้นอัสสัตถะ. พระราชบุตรตรัสว่า นางผู้เจริญ เธอจงไปนำน้ำจากสระมาด้วยใบบัว เราจักได้กินเนื้อกัน. พระราชธิดานั้นแขวนเหี้ยไว้ที่กิ่งไม้แล้วไปเพื่อนำน้ำมา
               ฝ่ายพระราชบุตรเสวยเหี้ยหมดแล้ว ทรงนั่งเบือนพระพักตร์จับปลายหางเหี้ยอยู่. พระราชบุตรนั้น ในเวลาพระราชธิดาถือน้ำดื่มเสด็จมา จึงตรัสว่า นางผู้เจริญ เหี้ยลงจากกิ่งไม้เข้าไปยังจอมปลวก เราวิ่งไล่จับปลายหางไว้ได้ ตัวมันขาดเข้าปล่องไป เหลือแต่ที่จับได้เฉพาะในมือเท่านั้น. พระราชธิดาทูลว่า ช่างเถอะพระองค์ เมื่อเหี้ยย่างมันหนีไปได้ เราจักทำอะไรได้ มาเถิดพวกเราไปกันเถอะ. เธอทั้งสองนั้นดื่มน้ำแล้วไปถึงพระนครพาราณสี
               พระราชบุตรได้ราชสมบัติแล้ว ทรงตั้งพระราชธิดานั้นไว้เพียงในตำแหน่งอัครมเหสี ส่วนสักการะและสัมมานะไม่มีแก่พระนาง. พระโพธิสัตว์ประสงค์จะให้พระราชากระทำสักการะแก่พระนาง จึงยืนอยู่ในสำนักของพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้อะไรๆ จากสำนักของพระองค์มิใช่หรือ ทำไมไม่ทรงเหลียวแลข้าพระองค์เลย.
               พระเทวีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เราเองก็ไม่ได้อะไรจากสำนักของพระราชา เราจักให้อะไรท่านเล่า จนบัดนี้ แม้พระราชาก็จักประทานอะไรแก่ฉัน ในเวลาเสด็จมาจากป่า ท้าวเธอเสวยเหี้ยย่างแต่พระองค์เดียว. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์ผู้ประเสริฐจักไม่ทรงกระทำเช่นนี้แน่ พระองค์โปรดอย่าได้ตรัสอย่างนี้เลย.
               ลำดับนั้น พระเทวีจึงตรัสกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า ดูก่อนพ่อ เรื่องนั้นไม่ปรากฎแก่ท่าน ปรากฏเฉพาะแก่พระราชาและฉันเท่านั้น แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               หม่อมฉันทราบว่า พระองค์ผู้ประเสริฐจะไม่ทรงใยดีต่อหม่อมฉัน แต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงภูษาเปลือกไม้ เหน็บพระแสงขรรค์ ทรงผูกสอดเครื่องรบประทับอยู่ท่ามกลางป่า เหี้ยย่างได้หนีไปจากกิ่งไม้อัสสัตถะแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเทว ความว่า ในกาลนั้นนั่นแหละ หม่อมฉันทราบพระองค์ได้อย่างนี้ว่า พระราชานี้ไม่ประทานอะไรแก่หม่อมฉัน แต่คนอื่นๆ ย่อมไม่รู้สภาวะของพระองค์.
               บทว่า ขคฺคพนฺธสฺส ได้แก่ ผู้ทรงเหน็บพระขรรค์.
               บทว่า ติรีฏิโน ความว่า ในเวลาพระองค์ทรงฉลองพระภูษาเปลือกไม้เสด็จมาตามทาง.
               บทว่า ปกฺกา ความว่า เหี้ยย่างด้วยถ่านไฟหนีไปแล้ว.

               พระเทวีตรัสโทษที่พระราชาทรงกระทำไว้ให้ปรากฎ ในท่ามกลางบริษัท ด้วยประการอย่างนี้. พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เพราะกระทำความไม่ผาสุขให้แก่ทั้งสองพระองค์ จำเดิมแต่เวลาไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชาผู้ประเสริฐ พระองค์จะประทับอยู่ในที่นี้เพราะอะไร แล้วได้กล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-
               พึงอ่อนน้อมต่อผู้อ่อนน้อม พึงคบผู้ที่เขาพอใจจะคบด้วย พึงทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ ไม่พึงทำความเจริญแก่ผู้ที่ใคร่ความเสื่อม อนึ่ง ไม่พึงคบกับผู้ที่ไม่พอใจจะคบด้วย.
               พึงละทิ้งผู้ที่เขาทิ้งเรา ไม่พึงทำความสิเนหาในผู้เลิกลากัน ไม่พึงสมาคมกับผู้มีจิตคิดออกห่าง นกรู้ว่าต้นไม้มีผลหมดแล้ว ย่อมบินไปสู่ต้นอื่นที่เต็มไปด้วยผล ฉันใด
               คนก็ฉันนั้น รู้ว่าเขาหมดความอาลัยแล้ว ก็ควรจะเลือกหาคนอื่นที่เขาสมัครรักใคร่ เพราะว่าโลกกว้างใหญ่พอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นเม นมนฺตสฺส ความว่า ผู้ใดนอบน้อมตนด้วยจิตใจอันอ่อนโยน พึงนอบน้อมตอบผู้นั้นเท่านั้น.
               บทว่า กิจฺจานุกุพฺพสฺส ได้แก่ ผู้ช่วยทำกิจอันเกิดขึ้นแก่ตนเท่านั้น.
               บทว่า นานตฺถกามสฺส ได้แก่ ผู้ไม่ต้องการความเจริญ.
               บทว่า วนถํ น กยิรา ความว่า ไม่พึงกระทำความสิเนหาด้วยอำนาจความอยากในคนผู้ละทิ้งนั้น.
               บทว่า อเปตจิตฺเตน ได้แก่ ผู้มีจิตเหินห่าง คือผู้มีจิตหน่ายแหนง.
               บทว่า น สมฺภเชยฺย ได้แก่ ไม่พึงสมาคม.
               บทว่า อญฺญํ สเมกฺเขยฺย ได้แก่ พึงเลือกดูคนอื่น.
               อธิบายว่า นกรู้ว่าต้นไม้ไร้ผล ย่อมไปยังต้นอื่นซึ่งมีผลดก ฉันใด คนก็ฉันนั้น รู้ว่าชายเขาสิ้นความรักใคร่แล้ว พึงเข้าไปหาคนอื่นที่เขารักด้วยดี.

               พระราชา เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอยู่นั้นแล ระลึกถึงคุณความดีของพระเทวีนั้นได้ จึงตรัสว่า น้องนางผู้เจริญ พี่ไม่ได้กำหนดคุณความดีของเธอ สิ้นกาลมีประมาณเท่านี้ ฉันกำหนดได้เพราะถ้อยคำของบัณฑิตนี่เอง จะให้ราชสมบัตินี้เฉพาะแก่เธอผู้อดกลั้นความผิดของฉันได้ แล้วตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :-
               เรานั้นเป็นกษัตริย์มุ่งความกตัญญู จะกระทำตอบแทนเธอตามอานุภาพ อนึ่ง เราจะมอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดให้แก่เธอ เธออยากได้สิ่งใดเพื่อคนใด เราจะให้สิ่งนั้นแก่เธอเพื่อคนนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส แปลว่า เรานั้น.
               บทว่า ยถานุภาวํ ได้แก่ ตามสติกำลัง.
               บทว่า ยสฺสิจฺฉสิ ความว่า เธออยากได้เพื่อจะให้แก่คนใด เราจะให้สิ่งที่เธออยากได้ตั้งต้นแต่ราชสมบัตินี้ไป เพื่อคนนั้น.

               พระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วได้ประทานความเป็นใหญ่ทั้งปวงแก่พระเทวี และทรงดำริว่า บัณฑิตนี้ทำให้เราระลึกถึงคุณความดีของพระเทวีนี้ จึงได้ประทานอิสริยยศใหญ่แม้แก่บัณฑิตด้วย.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ผัวเมียทั้งสองคนได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ผัวและเมียในครั้งนั้น ได้เป็น ผัวและเมียนี่แหละในบัดนี้
               ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาโคธชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โคธชาดก ว่าด้วย เขารักก็รักมั่ง เขาชังก็ชังตอบ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 630 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 634 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3068&Z=3084
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=7480
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=7480
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :