ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 674 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 678 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 682 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา คชกุมภชาดก
ว่าด้วย ช้าๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเกียจคร้านรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วนํ ยทคฺคิ ทหติ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี แม้บวชถวายตนในพระศาสนา ก็ได้เป็นผู้เกียจคร้าน เหินห่างจากอุทเทสการเรียนพระบาลี การสอบถาม การโยนิโสมนสิการกัมมัฏฐาน และวัตรปฏิบัติกิจวัตรเป็นต้น เป็นผู้ถูกนิวรณ์ครอบงำ เป็นอยู่อย่างนั้นทุกอิริยาบถ มีการนั่งและการยืนเป็นต้น.
               ภิกษุทั้งหลายสนทนากัน ปรารภถึงความเกียจคร้านนั้นของเธอ ในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้น บวชในพระศาสนาอันเป็นนิยยานิกะเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ยังเป็นผู้ขี้เกียจขี้คร้าน ถูกนิวรณ์ครอบงำอยู่.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นผู้เกียจคร้านเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้:-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์แก้วของพระเจ้าพาราณสีนั้น. พระเจ้าพาราณสีได้เป็นผู้มีพระอัธยาศัยเกียจคร้าน พระโพธิสัตว์คิดว่าเราจักให้พระราชาทรงรู้สึกพระองค์ จึงเที่ยวเสาะหาข้อเปรียบเทียบอย่างหนึ่ง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน อันหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จเที่ยวไปในพระราชอุทยานนั้น ทอดพระเนตรเห็นตัวกระพองช้างตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์เกียจคร้านเฉื่อยช้า. เขาว่าสัตว์จำพวกนั้นเป็นสัตว์เฉื่อยช้า แม้จะเดินไปตลอดทั้งวัน ก็ไปได้ประมาณนิ้วหนึ่งหรือสองนิ้ว.
               พระราชาทรงเห็นดังนั้น จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า สัตว์นั้นชื่ออะไร? พระมหาสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า สัตว์นั้นชื่อคชกุมภะตัวกระพองช้าง แล้วกราบทูลว่า ก็สัตว์เห็นปานนี้เฉื่อยช้าแม้จะเดินไปตลอดทั้งวัน ก็ไปได้เพียงนิ้วหนึ่งหรือสองนิ้วเท่านั้น
               เมื่อจะเจรจากับตัวกระพองช้างนั้น จึงกล่าวว่า ดูก่อนคชกุมภะผู้เจริญ พวกท่านเดินช้า เมื่อไฟป่าเกิดขึ้นในป่านี้ พวกท่านจะกระทำอย่างไร แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ดูก่อนเจ้าตัวโยก ไฟไหม้ป่าคราวใด คราวนั้น เจ้าจะทำอย่างไร เจ้าเป็นสัตว์มีความบากบั่นอ่อนแออย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทคฺคิ ตัดเป็น ยทา อคคิ.
               บทว่า ปาวโก กณฺหวตฺตนิ เป็นชื่อของไฟ. พระโพธิสัตว์เรียกตัวคชกุมภะนั้นว่า ปจลกะ ตัวโยก เพราะตัวคชกุมภะนั้นเดินโยกตัว หรือโยกตัวอยู่เป็นนิตย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปจลกะ.
               บทว่า ทนฺธปรกฺกโม แปลว่า มีความเพียรอ่อน.

               ตัวคชกุมภะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               โพรงไม้และช่องแผ่นดิน (ระแหง) มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าพวกข้าพเจ้าไปไม่ถึงโพรงไม้หรือช่องแผ่นดินเหล่านั้น พวกข้าพเจ้าก็ต้องตาย.


               คำที่เป็นคาถานั้นมีใจความว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ชื่อว่าการไปที่ยิ่งกว่านี้ของพวกข้าพเจ้าไม่มี ก็ในป่านี้มีโพรงไม้และช่องแผ่นดินอยู่เป็นอันมาก ถ้าพวกข้าพเจ้าไปไม่ทันถึงโพรงไม้หรือช่องแผ่นดินเหล่านั้น พวกข้าพเจ้าก็ต้องตาย คือว่าความตายเท่านั้นจะมีแก่พวกข้าพเจ้า.

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถานอกนี้ว่า :-
               ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดรีบด่วนทำเสียเร็ว ในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ กลับทำช้าไป ผู้นั้นย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคนเหยียบใบตาลแห้งให้แหลกละเอียดไปฉะนั้น.
               ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดทำช้า และในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ ก็รีบด่วนทำ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์กำจัดมืดเต็มดวงอยู่ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺธกาเล ความว่า ในเวลาที่จะต้องค่อยๆ ทำการงานนั้นๆ ก็รีบด่วนทำการงานนั้นๆ โดยเร็ว.
               บทว่า สุกฺขปณฺณํว ความว่า ผู้นั้นย่อมหักรานประโยชน์ของตน เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียบใบตาลแห้ง เพราะลมและแดดให้ยับเยิน คือทำให้แหลกละเอียดลงในที่นั้นเท่านั้น.
               บทว่า ทนฺเธติ ความว่า ย่อมชักช้า คือการงานที่จะต้องทำช้าๆ ก็กระทำให้ช้าไว้.
               บทว่า ตารยิ ความว่า และการงานที่จะต้องรีบด่วนกระทำ ก็ด่วนกระทำเสีย.
               บทว่า สสีว รตฺตึ วิภชํ นี้ ท่านอธิบายว่า ประโยชน์ของบุรุษนั้นย่อมเต็มบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ทำราตรีข้างแรมให้โชติช่วง ชื่อว่ากำจัดราตรีข้างแรมเต็มดวงอยู่ทุกวันๆ ฉะนั้น.

               พระราชาได้ทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ตั้งแต่นั้นก็มิได้ทรงเกียจคร้าน.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               ตัวคชกุมภะในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุเกียจคร้าน ในบัดนี้
               ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาคชกุมภชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา คชกุมภชาดก ว่าด้วย ช้าๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 674 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 678 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 682 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3242&Z=3254
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=8348
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=8348
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :