ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 91 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 92 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 93 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มหาสารชาดก
ว่าด้วย ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระอานันทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อุกกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติ ดังนี้.
               สมัยหนึ่ง เหล่าพระสนมของพระเจ้าโกศลคิดกันว่า ขึ้นชื่อว่า การเสด็จอุปบัติแห่งพระพุทธเจ้าเป็นสภาพหาได้ยาก การกลับได้เกิดเป็นมนุษย์ และความเป็นผู้มีอายตนะบริบูรณ์เล่า ก็หาได้ยากเหมือนกัน อนึ่ง พวกเราแม้จะได้พบความพร้อมมูลแห่งขณะซึ่งหาได้ยากนี้ ก็ไม่ได้เพื่อจะไปสู่พระวิหาร ฟังธรรม หรือกระทำการบูชา หรือให้ทานตามความพอใจของตนได้ ต้องอยู่กันเหมือนถูกเก็บเข้าไว้ในหีบ พวกเราจักกราบทูลพระราชาให้ทรงพระกรุณาโปรดนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งสมควรแสดงธรรมโปรดพวกเรา จักพากันฟังธรรมในสำนักของท่าน ข้อใดที่พวกเราต้องศึกษา ก็จักพากันเรียนข้อนั้นจากท่าน พากันบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น ด้วยประการอย่างนี้ การได้เฉพาะซึ่งขณะนี้ของพวกเรา จักมีผล.
               พระสนมเหล่านั้น แม้ทั้งหมดพากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลเหตุที่คบคิดกัน พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีแล้ว. ครั้นวันหนึ่ง มีพระประสงค์จะทรงเล่นอุทยาน รับสั่งให้เรียกนายอุทยานบาลมาเฝ้า ตรัสว่า เจ้าจงชำระอุทยาน. นายอุทยานบาล เมื่อจะชำระอุทยาน พบพระศาสดาประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง รีบไปสู่ราชสำนัก กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ อุทยานสะอาดราบรื่นแล้ว ก็แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง ในอุทยานนั้น พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ดีแล้วสหาย เราจักไปฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา. เสด็จขึ้นราชรถทรงอันประดับแล้วเสด็จไปสู่พระอุทยาน ได้เสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา.
               ก็ในสมัยนั้น อุบาสกผู้เป็นพระอนาคามีผู้หนึ่ง ชื่อว่า ฉัตตปาณี นั่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา. พระราชาเห็นฉัตตปาณีอุบาสก แล้วเกิดระแวง ประทับหยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทรงพระดำริว่า ถ้าบุรุษผู้นี้เป็นคนชั่วละ ก็คงไม่นั่งฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ชะรอยบุรุษผู้นี้จักไม่ใช่คนชั่ว แล้วเสด็จเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วเสด็จประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกมิได้กระทำการรับเสด็จ หรือการถวายบังคม ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนั้น พระราชาจึงไม่ทรงพอพระทัยฉัตตปาณีอุบาสก.
               พระศาสดาทรงทราบความที่พระราชาไม่ทรงพอพระทัยอุบาสก จึงตรัสคุณของอุบาสกว่า มหาบพิตร ผู้นี้เป็นอุบาสก เป็นพหูสูต คงแก่เรียน ปราศจากความกำหนัดในกาม. พระราชาทรงพระดำริว่า พระศาสดาทรงทราบคุณของผู้ใด ต้องเป็นคนไม่ต่ำ จึงตรัสว่า อุบาสก ท่านต้องการสิ่งใด ก็ควรบอกได้. อุบาสกรับสนองพระดำรัสว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับพระธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว ทรงกระทำประทักษิณพระศาสดา แล้วเสด็จกลับไป.
               วันหนึ่ง พระราชาทรงเปิดพระแกล ประทับยืน ณ ปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรเห็นอุบาสกนั้น บริโภคอาหารเย็นแล้ว ถือร่มเดินไปสู่พระเชตวัน ก็รับสั่งให้ราชบุรุษไปเชิญมาเฝ้า แล้วตรัสอย่างนี้ว่า อุบาสก ได้ยินว่า ท่านเป็นพหูสูต พวกหญิงของเราต้องการจะฟังและต้องการจะเรียนธรรม พึงเป็นการดีหนอ. ธรรมดาคฤหัสถ์ทั้งหลายไม่เหมาะสมที่จะแสดงธรรม หรือบอกธรรมในพระราชสถานฝ่ายใน เรื่องนั้นเหมาะแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเท่านั้น พระเจ้าข้า. พระราชาทรงพระดำริว่า อุบาสกนี้พูดจริง ทรงส่งท่านไป รับสั่งให้หาพระสนมมาเฝ้า มีพระดำรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เราจะไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลขอภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อแสดงธรรมและบอกธรรมแก่พวกเธอ ในพระมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์ เราจักทูลขอองค์ไหนดี. พระสนมทั้งหมดปรึกษากัน กราบทูลถึงพระอานนทเถระผู้เป็นคลังพระธรรมองค์เดียว.
               พระราชาก็เสด็จไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้วประทับ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พลางกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกหญิงในวังของหม่อมฉัน ปรารถนาจะฟังและเรียนธรรมในสำนักของพระอานนทเถระ จะพึงเป็นการดีหนอ พระเจ้าข้า ถ้าพระเถระพึงแสดงธรรม พึงบอกธรรมในวังของหม่อมฉัน. พระศาสดาทรงรับคำว่า ดีแล้ว มหาบพิตร แล้วตรัสสั่งพระเถระเจ้า. จำเดิมแต่นั้น พระสนมของพระราชา ก็พากันฟังและเรียนธรรมในสำนักของพระเถระเจ้า.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระจุฬามณีของพระราชาหายไป พระราชาทรงทราบความที่พระจุฬามณีนั้นหายไป ทรงบังคับพวกอำมาตย์ว่า พวกเจ้าจงจับมนุษย์ผู้รับใช้ภายในทั้งหมด บังคับให้นำจุฬามณีคืนมาให้ได้ พวกอำมาตย์สืบถามพระจุฬามณี ตั้งต้นแต่มาตุคาม ก็ไม่ได้ความ ทำให้มหาชนพากันลำบาก. ในวันนั้น พระอานันทเถระเจ้าเข้าสู่พระราชวัง พวกพระสนมเหล่านั้นก่อนๆ พอเห็นพระเถระเจ้าเท่านั้น ก็พากันร่าเริงยินดี ตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียนธรรม หาได้กระทำอย่างนั้นไม่ ทุกๆ คนได้พากันโทมนัสไปทั่วหน้า ครั้นพระเถระถามว่า เหตุไร พวกเธอจึงพากันเป็นเช่นนี้ ในวันนี้ ก็พากันกราบเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกอำมาตย์กล่าวว่า พวกเราจักค้นหาพระจุฬามณีของพระราชา พากันจับพวกมาตุคามไว้ ทำให้คนใช้สอยข้างในลำบากไปตามๆ กัน พวกดิฉันก็ไม่ทราบว่า ใครจักเป็นอย่างไร? เหตุนั้น พวกดิฉันจึงพากันกลุ้มใจเจ้าค่ะ.
               พระเถระกล่าวปลอบพวกนางว่า อย่าคิดมากไปเลย ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนักพระราชา นั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ถวายพระพรถามว่า มหาบพิตร ได้ทราบว่า แก้วมณีของมหาบพิตรหายไปหรือ? พระราชารับสั่งว่า ขอรับ พระคุณเจ้าผู้เจริญ.
               ถวายพระพรว่า ก็มหาบพิตรไม่ทรงสามารถจะให้ใครนำพาคืนได้หรือ ขอถวายพระพร?
               รับสั่งว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าสั่งให้จับคนข้างในทุกคน ถึงจะทำให้ลำบาก ก็ยังไม่อาจให้นำมาได้ ขอรับ.
               ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อุบายที่จะไม่ต้องให้มหาชนลำบาก แล้วให้เขานำมาคืน ยังพอมีอยู่ ขอถวายพระพร.
               รับสั่งว่า เป็นอย่างไร พระคุณเจ้า?
               ถวายพระพรว่า บิณฑทานซิ มหาบพิตร.
               รับสั่งถามว่า บิณฑทานเป็นอย่างไร ขอรับ ?
               ถวายพระพรว่า มหาบพิตรมีความสงสัยคนมีประมาณเท่าใด ก็จับคนเหล่านั้นเท่านั้น แล้วให้ฟ่อนฟาง หรือก้อนดินไปคนละฟ่อน หรือคนละก้อน บอกว่า เวลาย่ำรุ่งให้นำฟ่อนฟาง หรือก้อนดินนี้มาโยนทิ้งไว้ที่ตรงโน้น ผู้ใดเป็นคนเอาไป ผู้นั้นจักซุกจุฬามณีไว้ในฟ่อนฟางหรือก้อนดินนั้น นำมาโยนไว้ ถ้าพากันเอามาโยนให้ในวันแรกทีเดียว นั่นเป็นความดี ผิไม่นำมาโยนให้ ก็พึงกระทำอย่างนั้นแหละต่อไป แม้ในวันที่สองที่สาม ด้วยวิธีนี้มหาชนจักไม่ต้องพลอยลำบากด้วย จักต้องได้แก้วมณีด้วย ขอถวายพระพร. ครั้นถวายพระพรอย่างนี้แล้ว พระเถระเจ้าก็ถวายพระพรลาไป.
               พระราชาได้รับสั่งให้พระราชทาน โดยนัยที่พระเถระเจ้าถวายพระพรไว้ตลอด ๓ วัน ไม่มีใครนำแก้วมณีมาคืนเลย ในวันที่ ๓ พระเถระเจ้าก็มาถวายพระพรถามว่า มหาบพิตร ใครเอาแก้วมณีมาโยนให้แล้วหรือ?
               รับสั่งว่า ยังไม่มีใครนำมาโยนให้เลย ขอรับ.
               ถวายพระพรว่า ถ้าเช่นนั้น มหาบพิตรจงโปรดรับสั่งให้ตั้งตุ่มใหญ่ไว้ในที่กำบังในท้องพระโรงใหญ่นั่นแหละ ให้ตักน้ำใส่ให้เต็ม ให้วงม่าน แล้วรับสั่งว่า พวกมนุษย์ที่รับใช้ข้างใน ทุกคนและพวกสตรีจงห่มผ้าเข้าไปในม่านทีละคนๆ จงล้างมือเสียแล้วออกมา. พระเถระเจ้าถวายพระพรบอกอุบายนี้แล้ว ก็ถวายพระพรลาหลีกไป. พระราชารับสั่งให้กระทำอย่างนั้น. คนที่ขโมยแก้วมณีไปได้คิดว่า พระเถระเจ้าผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก มาคุมอธิกรณ์เรื่องนี้ ยังไม่ได้แก้วมณี จักระบุตัวได้ คราวนี้ เราควรจะทิ้งแก้วนั้น แล้วถือเอาแก้วซ่อนไว้มิดชิด เข้าไปภายในม่าน ทิ้งไว้ในตุ่มแล้วรีบออก ในเวลาออกกันหมดทุกคนแล้ว พวกราชบุรุษเทน้ำทิ้ง ได้เห็นแก้วมณี.
               พระราชาทรงดีพระทัยว่า เราอาศัยพระเถระเจ้า มิต้องให้มหาชนลำบากเลย ได้แก้วมณีแล้ว. ถึงพวกมนุษย์ที่เป็นพวกรับใช้ฝ่ายใน ก็พากันยินดีว่า พวกเราพากันอาศัยพระเถระเจ้า พากันพ้นจากทุกข์อันใหญ่หลวง. อานุภาพของพระเถระเจ้าที่ว่า พระราชาทรงได้พระจุฬามณี ด้วยอานุภาพของพระเถระเจ้า ลือชาปรากฏไปในพระนครทั้งสิ้น และในภิกษุสงฆ์.
               พวกภิกษุนั่งประชุมกันในธรรมสภา พรรณนาคุณของพระเถระเจ้าว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระอานนท์เถระไม่ต้องให้มหาชนลำบาก ใช้อุบายเท่านั้น แสดงแก้วมณีให้พระราชาได้ เพราะท่านเป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ฉลาดในอุบาย.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า มิใช่อานนท์ผู้เดียวที่แสดงภัณฑะอันตกถึงมือผู้อื่นได้ ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายมิต้องให้มหาชนลำบากเลย ใช้แต่อุบายเท่านั้นก็แสดงภัณฑะ อันตกถึงมือสัตว์เดียรัจฉานได้. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เรียนจบศิลปศาสตร์ทุกอย่างแล้ว ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้นแหละ. อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปสู่พระอุทยาน ด้วยบริวารเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวไปสู่ละแวกป่า แล้วทรงพระประสงค์จะทรงอุทกกีฬา เสด็จลงสู่สระโบกขรณีอันเป็นมงคล รับสั่งเรียกแม้นางใน. พวกสตรีต่างก็เปลื้องอาภรณ์มีเครื่องประดับศีรษะและประดับคอเป็นต้น ใส่ในผ้าห่มวางไว้บนหลังหีบ มอบให้ทาสีทั้งหลายรับไว้ แล้วพากันลงสู่โบกขรณี.
               ครั้งนั้น นางลิงอยู่ในสวนตัวหนึ่งนั่งเจ่าเหนือกิ่งไม้ เห็นพระเทวีทรงเปลื้องเครื่องประดับทรงใส่ไว้ในผ้าทรงสพัก แล้วทรงวางไว้หลังพระสมุค นึกอยากจะแต่งสร้อยมุกดาหารของพระนาง นั่งจ้องดูความเผลอเลอของนางทาสีอยู่. ฝ่ายนางทาสีผู้เฝ้า ก็มัวนั่งมองดูในที่นั้นอยู่ เลยง่วงหลับไป นางลิงรู้ความที่นางทาสีประมาท โดดลงโดยรวดเร็วปานลมพัด สอดสวมสร้อยมุกดาหารใหญ่ที่คอ แล้วโดดขึ้นรวดเร็วปานลมเหมือนกัน กลับนั่งเหนือกิ่งไม้ กลัวนางลิงตัวอื่นๆ จะเห็น จึงซุกไว้ที่โพรงไม้แห่งหนึ่ง แสร้งทำเป็นเหมือนสงบเสงี่ยม นั่งเฝ้าเครื่องประดับนั้นไว้.
               ฝ่ายนางทาสีนั้นเล่า ตื่นขึ้นไม่เห็นมุกดาหาร ก็ตัวสั่น ครั้นไม่เห็นอุบายอื่น ก็ต้องตะโกนว่า คนแย่งมุกดาหารของพระเทวีหนีไปแล้ว พวกมนุษย์ที่เฝ้าแหน ประชุมกันตามตำแหน่งนั้นๆ ครั้นได้ยินคำของนาง ก็กราบทูลแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกท่านจงจับโจรให้ได้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็พากันออกจากพระราชอุทยาน กล่าวว่า พวกท่านจงจับโจร จงจับโจร พากันค้นหาทางโน้น ทางนี้.
               ขณะนั้น บุรุษผู้กระทำพลีกรรมชาวชนบทคนหนึ่ง ได้ยินเสียงนั้น ก็หวั่นหวาดวิ่งหนี พวกราชบุรุษเห็นเข้าก็กวดตามไปว่า คนนี้เป็นโจร จับเขาได้ โบยพลางตวาดพลาง เฮ้ย ไอ้โจรชั่ว มึงกล้าลักเครื่องประดับชื่อมหาสารอย่างนี้เทียวนะ เขาคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ฉันไม่ได้เอาไป วันนี้คงไม่รอดชีวิต พวกราชบุรุษคงโบยเราเรื่อยไปจนถึงตาย จำเราต้องรับ เขาจึงบอกว่า นายขอรับกระผมนำไปเอง ทีนั้น พวกราชบุรุษก็พากันมัดเขา นำมาสู่สำนักพระราชา.
               ฝ่ายพระราชาตรัสถามว่า เครื่องประดับมีค่ามาก เจ้าลักไปหรือ? กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เป็นความจริง พระเจ้าข้า. รับสั่งถามว่า บัดนี้ เอาไปไว้ที่ไหน? บุรุษนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีค่ามาก แม้เตียงตั่ง ข้าพระองค์ก็ไม่เคยเห็น แต่ท่านเศรษฐีบอกให้ข้าพระองค์ลักเครื่องประดับมีค่ามากนั้น ข้าพระองค์จึงลักเอาไป แล้วมอบให้ท่านไป ท่านเศรษฐีนั่นแหละถึงจะรู้. พระราชารับสั่งให้หาท่านเศรษฐีมาเฝ้า รับสั่งถามว่า เครื่องประดับมีค่ามาก ท่านรับเอาจากมือคนนี้ไว้หรือ? เศรษฐีกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ. รับสั่งถามว่า ท่านเอาไว้ที่ไหนเล่า? กราบทูลว่า ให้ท่านปุโรหิตไปแล้ว พระเจ้าข้า. รับสั่งให้เรียกปุโรหิตแม้นั้นมาเฝ้า รับสั่งเช่นนั้นแหละ ถึงท่านปุโรหิตเองก็รับ แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์ให้แก่คนธรรพ์ไปแล้ว รับสั่งให้เรียกคนธรรพ์มาเฝ้า รับสั่งถามว่า เจ้ารับเอาเครื่องประดับมีค่ามากไปจากมือปุโรหิต หรือ? กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ. รับสั่งถามว่า เอาไว้ที่ไหน? กราบทูลว่า ข้าพระองค์ให้แก่นางวัณณทาสีไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งกิเลส รับสั่งให้เรียกนางวัณณทาสีมา ตรัสถามนางกราบทูลว่า กระหม่อมฉันมิได้รับไว้.
               เมื่อสอบถามคนทั้ง ๕ กว่าจะทั่ว ดวงอาทิตย์ก็อัสดง พระราชารับสั่งว่า บัดนี้ มืดค่ำเสียแล้ว เราจักต้องรู้เรื่องในวันพรุ่งนี้ มอบคนทั้ง ๕ เหล่านั้นแก่พวกอำมาตย์ แล้วเสด็จเข้าสู่พระนคร.
               พระโพธิสัตว์ดำริว่า เครื่องประดับนี้หายในวงภายใน ส่วนคฤหบดีนี้เป็นคนภายนอก การเฝ้าประตูเล่าก็เข้มแข็ง เหตุนั้น แม้จะเป็นคนอยู่ข้างในลักเครื่องประดับนั้น ก็ไม่อาจหนีรอด เมื่อเป็นเช่นนี้ ลู่ทางที่คนข้างนอกจะลักก็ดี ที่คนรับใช้ในสวนจักลักก็ดี ไม่มีวี่แววเลย คำที่ทุคคตมนุษย์นี้กล่าวว่า ข้าพระองค์ให้เศรษฐีไปแล้ว ต้องเป็นคำกล่าวเพื่อเปลื้องตน ถึงที่เศรษฐีกล่าวว่าให้แก่ปุโรหิตเล่า จักเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราต้องร่วมกันสะสาง แม้ที่ท่านปุโรหิตกล่าวว่า ให้คนธรรพ์ไปแล้ว ก็คงเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราต้องอาศัยคนธรรพ์ จักพากันอยู่สบายในเรือนจำ ที่คนธรรพ์พูดว่าให้นางวัณณทาสีไปแล้ว ก็จักเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราจักไม่ต้องนึกกระสันอยู่ แม้ทั้ง ๕ คนเหล่านี้คงไม่ใช่โจรทั้งนั้น ในอุทยานมีลิงเป็นอันมาก อันเครื่องประดับคงตกอยู่ในมือนางลิงตัวหนึ่งเป็นแน่ พระโพธิสัตว์จึงเข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอได้โปรดทรงพระกรุณามอบโจรเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะชำระเรื่องนั้นเอง พระเจ้าข้า.
               พระราชารับสั่งว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต เธอจงชำระเถิด แล้วทรงมอบคนเหล่านั้นแก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ให้เรียกคนใช้ผู้ชายของตนมา ให้คนทั้ง ๕ ไปอยู่ในที่แห่งเดียวกันทั้งหมด กระทำการควบคุมโดยสงบ สั่งให้แอบฟังว่า พวกนั้นพูดคำใดกันบ้าง เจ้าทั้งหลายจงบอกคำนั้นแก่เรา แล้วหลีกไป พวกคนเหล่านั้นก็ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว.
               ครั้นถึงเวลาที่พวกมนุษย์สนทนากัน ท่านเศรษฐีกล่าวกะคฤหบดีนั้นว่า เฮ้ย! ไอ้คฤหบดีชั่ว มึงเคยพบกู หรือกูเคยพบมึงในครั้งไหน มึงให้เครื่องประดับกูเมื่อไร? คฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้านาย ผมไม่รู้จักสิ่งที่ชื่อว่า มหาสาร จะเป็นเตียงตั่งที่มีเท้าทำด้วยแก่นไม้ ก็ไม่รู้จัก ที่ได้พูดอย่างนั้น เพราะคิดว่า จักอาศัยท่านได้ความรอดพ้น โปรดอย่าโกรธผมเลย ขอรับ.
               แม้ปุโรหิตก็พูดกับท่านเศรษฐีว่า ท่านให้เครื่องประดับที่คฤหบดีนี้มิได้ให้แก่ท่านเลย แก่เราได้อย่างไรกัน? ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ข้าพเจ้ากล่าวไป เพราะคิดว่า เราทั้งสองเป็นคนใหญ่คนโต ในเวลาที่เราไปร่วมพูดจากัน การงานจักสำเร็จไปโดยเร็ว.
               ฝ่ายคนธรรพ์ก็กล่าวกะปุโรหิตว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านให้เครื่องประดับแก่ผม เมื่อไรกัน? ปุโรหิตกล่าวว่า ข้าพเจ้ากล่าวไป เพราะคิดว่า จักได้อาศัยท่านอยู่เป็นสุขในที่ที่ถูกคุมขัง.
               แม้นางวัณณทาสีก็กล่าวกะคนธรรพ์ว่า ไอ้คนร้าย คนธรรพ์ชาติชั่ว เราเคยไปหาเจ้า หรือเจ้าเคยมาหาเราแต่ครั้งไร เจ้าให้เครื่องประดับแก่เราในเวลาไร? คนธรรพ์กล่าวว่า น้องเอ๋ย เพราะเหตุไรจะต้องมาโกรธเคืองข้าพเจ้าด้วยเล่า เมื่อพวกเราทั้ง ๕ คนอยู่ร่วมกัน เรื่องเพศสัมพันธ์จักต้องมี อาศัยเจ้า พวกเราจักไม่ต้องหงอยเหงา อยู่ร่วมกันอย่างสบาย ดังนี้.
               พระโพธิสัตว์ฟังถ้อยคำนั้นจากสำนักของคนที่จัดไว้ ทราบความที่พวกนั้นไม่ใช่โจรโดยแน่นอน คิดว่า เครื่องประดับต้องเป็นนางลิงหยิบเอาไป จักทำอุบายให้มันโยนลงมาจงได้ แล้วทำเครื่องประดับสำเร็จด้วยยางไม้ ให้จับเหล่านางลิงในอุทยาน แล้วให้แต่งเครื่องประดับยางไม้ที่มือที่เท้าและที่คอ แล้วปล่อยไป. ฝ่ายนางลิงตัวที่เฝ้าเครื่องทรงอยู่ ก็นั่งอยู่ในอุทยานนั่นเอง.
               พระโพธิสัตว์สั่งคนทั้งหลายว่า พวกเธอพากันไปเถิด พากันตรวจดูฝูงนางลิงในอุทยานทุกตัว เห็นเครื่องทรงนั้นอยู่ที่ตัวใด จงทำให้มันตกใจ แล้วเอาเครื่องประดับมาให้จงได้. ฝูงนางลิงนั้นเล่าก็พากันร่าเริงยินดีว่า พวกเราได้เครื่องแต่งตัวกันแล้ว ต่างก็วิ่งเที่ยวไปมาในอุทยาน ถึงสำนักของนางลิงนั้น พากันกล่าวว่า จงดูเครื่องประดับของพวกเรา. นางลิงทนไม่ไหว คิดว่า เรื่องอะไรด้วยเครื่องประดับทำด้วยยางไม้นี้ แล้วแต่งเครื่องมุกดาหารมาอวด.
               ครั้งนั้น คนเหล่านั้นเห็นมันแล้ว ทำให้มันทิ้งเครื่องทรงแล้วนำมามอบให้พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์นำเครื่องทรงนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นี้เครื่องทรงของพระองค์คนแม้ทั้ง ๕ นั้นมิใช่โจร แต่เครื่องทรงนี้ได้มาจากนางลิงในอุทยาน พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า พ่อบัณฑิต ก็พ่อรู้ความที่เครื่องทรงนี้ตกอยู่ในมือนางลิงได้อย่างไร เอาคืนมาได้อย่างไร? พระโพธิสัตว์กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ.
               พระราชาทรงดีพระทัย ตรัสว่า ธรรมดาคนกล้าเป็นต้น เป็นบุคคลที่น่าปรารถนา ในฐานะตำแหน่งจอมทัพเป็นต้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ ตรัสพระคาถานี้ ความว่า :-
               ยามคับขัน ย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ
               ยามปรึกษาการงาน ย่อมปรารถนาคนไม่พูดพล่าม
               ยามมีข้าวน้ำ ย่อมปรารถนาคนเป็นที่รักของตน
               ยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต
ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺกฏฺเฐ ความว่า ในยามคับขัน คือคราวที่ทั้งสองฝ่ายเข้าประชิดกัน อธิบายว่า เมื่อการรุกรบในสงครามกำลังดำเนินไป.
               บทว่า สูรมิจฺฉนฺติ ความว่า ย่อมปรารถนาผู้ที่กล้าหาญ อันมีปกติไม่รู้จักถอย แม้เมื่อสายฟ้าจะฟาดลงมาบนกระหม่อม เพราะว่า ในขณะนั้น คนอย่างนี้ควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นจอมทัพ.
               บทว่า มนฺตีสุ อกุตูหลํ ความว่า เมื่อเวลามีกิจการที่จะต้องปรึกษาถึงกิจที่ควรทำและไม่ควรทำ ในเวลาปรึกษากิจการ ย่อมปรารถนาคนที่ไม่พูดพร่ำ ไม่พูดเลื่อนเปื้อน คือไม่แพร่งพรายข้อที่ปรึกษากัน เพราะคนลักษณะเช่นนั้น เหมาะที่จะแต่งตั้งในตำแหน่งนั้นๆ.
               บทว่า ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ ความว่า เมื่อข้าวน้ำมีรสอร่อยปรากฏขึ้น ย่อมปรารถนาคนอันเป็นที่รัก เพื่อชักชวนให้บริโภคร่วมกัน เพราะคนเช่นนั้นจำปรารถนาในเวลานั้น.
               บทว่า อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ ความว่า เมื่ออรรถอันลึกซึ้ง ธรรมอันลึกซึ้งเกิดขึ้น หรือเมื่อเหตุ หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมปรารถนาบัณฑิตผู้มีปัญหาประจักษ์ เพราะท่านผู้มีลักษณะเช่นนั้น ชอบที่จะปรารถนาในสมัยนั้น.

               พระราชาตรัสพรรณนาชมเชยพระโพธิสัตว์ด้วยประการฉะนี้ ทรงบูชาด้วยรัตนะ ๗ ประการ ปานประหนึ่งมหาเมฆยังฝนลูกเห็บให้ตกฉะนั้น ดำรงค์พระองค์ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม แม้พระโพธิสัตว์ก็ไปตามยถากรรม.
               พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสคุณของพระเถระเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า
               พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
               ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาสารชาดก ว่าด้วย ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 91 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 92 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 93 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=611&Z=616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=36&A=4378
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=36&A=4378
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :