ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2327 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ฉัททันตชาดก
ว่าด้วย พญาช้างฉัททันต์

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กึ นุ โสจสิ ดังนี้.
               เล่ากันมาว่า นางภิกษุณีนั้นเป็นธิดาของตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี เห็นโทษในฆราวาส แล้วออกบวชในพระศาสนา. วันหนึ่งไปเพื่อจะฟังธรรม พร้อมกับพวกนางภิกษุณี เห็นพระรูปโฉมอันบังเกิดขึ้น ด้วยบุญญานุภาพหาประมาณมิได้. กอปรด้วยพระรูปสมบัติอันอุดมของพระทศพล ซึ่งประทับเหนือธรรมาสน์อันอลงกต กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า “เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ได้เคยเป็นบาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้ หรือไม่หนอ?” ในทันใดนั้นเอง นางก็เกิดระลึกชาติในหนหลังได้ว่า เราเคยเป็นบาทบริจาริกาของมหาบุรุษนี้ ในคราวที่ท่านเป็นพญาช้างฉัททันต์.
               เมื่อนางระลึกได้เช่นนั้น ก็บังเกิดปีติปราโมทย์ใหญ่ยิ่ง. ด้วยกำลังแห่งความปีติยินดี นางจึงหัวเราะออกมาดังๆ แล้วหวนคิดอีกว่า ขึ้นชื่อว่า บาทบริจาริกาที่มีอัธยาศัย มุ่งประโยชน์ต่อสามีมีน้อย มิได้มุ่งประโยชน์แลมีมาก. เราได้มีอัธยาศัย มุ่งประโยชน์ต่อบุรุษนี้ หรือหาไม่หนอ. นางระลึกไปพลางก็ได้เห็นความจริงว่า “แท้จริง เราสร้างความผิดไว้ในหทัยมิใช่น้อย ค่าที่ใช้นายพรานโสณุดรให้เอาลูกศรอาบด้วยยาพิษ ยิงพญาช้างฉัททันต์ สูงประมาณ ๑๒๐ ศอก ให้ถึงความตาย.” ทันใดนั้น ความเศร้าโศกก็บังเกิดแก่นาง ดวงหทัยเร่าร้อน ไม่สามารถจะกลั้นความเศร้าโศกไว้ได้ จึงร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยเสียงอันดัง.
               พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงแย้มให้ปรากฏ. อันภิกษุสงฆ์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการทรงทำความแย้มให้ปรากฏ. จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีสาวกผู้นี้ระลึกถึงความผิดที่เคยทำต่อเรา ในชาติก่อนเลยร้องไห้. แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสดังต่อไปนี้
               ในอดีตกาล มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ อาศัยสระฉัททันต์ อยู่ในป่าหิมพานต์. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นลูกของช้างจ่าโขลง มีสีกายเผือกผ่อง ปากแลเท้าสีแดง. ต่อมา เมื่อเจริญวัยขึ้น สูงได้ ๘๘ ศอก ยาว ๑๒๐ ศอก ประกอบด้วยงวงคล้ายกับพวงเงินยาวได้ ๕๘ ศอก ส่วนงาทั้งสองวัดโดยรอบได้ ๑๕ ศอก ส่วนยาว ๓๐ ศอก ประกอบด้วยรัศมี ๖ ประการ. พระโพธิสัตว์นั้นเป็นหัวหน้าช้างแห่งช้าง ๘,๐๐๐ เชือก บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์. อัครมเหสีของพระโพธิสัตว์นั้นมีสอง ชื่อจุลลสุภัททา ๑ มหาสุภัททา ๑. พญาช้างนั้นมีช้างถึง ๘,๐๐๐ เชือกเป็นบริวารอยู่ในกาญจนคูหา.
               อนึ่ง สระฉัททันต์นั้น ทั้งส่วนยาวส่วนกว้างประมาณ ๕๒ โยชน์ ตรงกลางลึกประมาณ ๑๒ โยชน์ ไม่มีสาหร่าย จอกแหน หรือเปลือกตมเลย. เฉพาะน้ำขังอยู่ มีสีใสเหมือนก้อนแก้วมณี. ถัดจากนั้น มีกอจงกลนีแผ่ล้อมรอบ กว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากกอจงกลนีนั้น มีกออุบลเขียว ตั้งล้อมรอบกว้างได้หนึ่งโยชน์ ต่อจากนั้น ที่กว้างแห่งละหนึ่งโยชน์ มีกออุบลแดง อุบลขาว ปทุมแดง ปทุมขาว และโกมุท ขึ้นล้อมอยู่โดยรอบ.
               อนึ่ง ระหว่างกอบัว ๗ แห่งนี้ มีกอบัวทุกชนิด เป็นต้นว่า จงกลนีสลับกันขึ้นล้อมรอบ มีปริมณฑลกว้างได้หนึ่งโยชน์เหมือนกัน. ถัดออกมาถึงน้ำลึกแค่สะเอวช้าง มีป่าข้าวสาลีแดงขึ้นแผ่ไปได้โยชน์หนึ่ง ถัดออกมาถึงชายน้ำที่กว้างโยชน์หนึ่งเหมือนกัน มีกอตะไคร่น้ำ เกลื่อนกลาดด้วยดอกสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว กลิ่นหอมฟุ้งขจรไป. ป่าไม้ ๑๐ ชนิดเหล่านี้ มีเนื้อที่หนึ่งโยชน์เท่ากัน ด้วยประการฉะนี้. ต่อจากนั้นไป มีป่าแตงโม ฟักเหลือง น้ำเต้า และฟักแฟง. ต่อจากนั้นมีป่าอ้อย ขนาดลำเท่าต้นหมาก. ต่อจากนั้นมีป่ากล้วยผลโตขนาดเท่างาช้าง. ต่อจากนั้นมีป่าไม้รัง ป่าขนุนหนัง ผลโตขนาดเท่าตุ่ม. ถัดไปมีป่าขนุนสำมะลอ อันมีผลอร่อย. ถัดไปมีป่ามะขวิด. ถัดไปมีไพรสณฑ์ใหญ่ มีพันธุ์ไม้ระคนปนกัน. ถัดไปมีป่าไม้ไผ่ นี้เป็นความสมบูรณ์แห่งสระฉัททันต์ ในสมัยนั้น.
               และในอรรถกถาสังยุตตนิกาย ท่านก็พรรณนาความสมบูรณ์ อันมีอยู่ในปัจจุบันนี้ไว้เหมือนกัน.
               อนึ่ง มีภูเขาตั้งล้อมรอบป่าไม้ไผ่อยู่ถึง ๗ ชั้น นับแต่รอบนอกไป ภูเขาลูกที่หนึ่งชื่อจุลลกาฬบรรพต ที่สองชื่อมหากาฬบรรพต ที่สามชื่ออุทกปัสสบรรพต ที่สี่ชื่อจันทปัสสบรรพต ที่ห้าชื่อสุริยปัสสบรรพต ที่หกชื่อมณีปัสสบรรพต ที่เจ็ดชื่อสุวรรณปัสสบรรพต.
               สุวรรณปัสสบรรพตนั้นสูงถึง ๗ โยชน์ ตั้งล้อมรอบสระฉัททันต์เหมือนขอบปากบาตร. ด้านในสุวรรณปัสสบรรพตนั้นมีสีเหมือนทอง. เพราะฉายแสงออกจากสุวรรณปัสสบรรพตนั้น. สระฉัททันต์นั้น ดูประหนึ่งแสงอาทิตย์อ่อนๆ เรืองรองแรกอุทัย.
               อนึ่ง ในภูเขาที่ตั้งถัดมาภายนอก ภูเขาลูกที่ ๖ สูง ๖ โยชน์. ที่ ๕ สูง ๕ โยชน์. ที่ ๔ สูง ๔ โยชน์. ที่ ๓ สูง ๓ โยชน์. ที่ ๒ สูง ๒ โยชน์. ที่ ๑ สูง ๑ โยชน์. ที่มุมด้านทิศอีสานแห่งสระฉัททันต์ อันมีภูเขา ๗ ชั้นล้อมรอบอยู่อย่างนี้ มีต้นไทรใหญ่ตั้งอยู่ในโอกาสที่น้ำและลมถูกต้องได้. ลำต้นไทรนั้นวัดโดยรอบได้ ๕ โยชน์ สูง ๗ โยชน์ มีกิ่งยาว ๖ โยชน์ ทอดไปในทิศทั้ง ๔. แม้กิ่งที่พุ่งตรงขึ้นบน ก็ยาวได้ ๖ โยชน์เหมือนกัน. วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูงได้ ๑๓ โยชน์ วัดโดยรอบปริมณฑลกิ่งได้ ๑๒ โยชน์ ประดับด้วยย่านไทรแปดพัน ตั้งตระหง่าน ดูเด่นสง่าคล้ายภูเขามณีโล้น.
               อนึ่ง ในด้านทิศปัจฉิมแห่งสระฉัททันต์ ที่สุวรรณปัสสบรรพต มีกาญจนคูหาใหญ่ประมาณ ๑๒ โยชน์. ถึงฤดูฝน พญาช้างฉัททันต์มีช้าง ๘,๐๐๐ เป็นบริวาร จะพำนักอยู่ในกาญจนคูหา. ในฤดูร้อนก็มายืนรับลมและน้ำอยู่ระหว่างย่านไทร โคนต้นนิโครธใหญ่.
               ต่อมาวันหนึ่ง ช้างทั้งหลายมาแจ้งว่า ป่ารังใหญ่ดอกบานแล้ว. พญาฉัททันต์คิดว่า เราจักเล่นกีฬาดอกรัง พร้อมทั้งบริวารไปยังป่ารังนั้น เอากระพองชนไม้รังต้นหนึ่ง ซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง. นางจุลลสุภัททายืนอยู่ด้านเหนือลม. ใบรังที่เก่าๆ ติดกับกิ่งแห้งๆ และมดแดงมดดำ จึงตกต้องสรีระของนาง. นางมหาสุภัททายืนอยู่ด้านใต้ลม เกสรดอกไม้และใบสดๆ ก็โปรยปรายตกต้องสรีระของนาง. นางจุลลสุภัททาคิดว่า พญาช้างนี้โปรยปรายเกสรดอกไม้และใบสดๆ ให้ตกต้องบนสรีระภรรยาที่ตนรักใคร่โปรดปราน. ในเรือนร่างของเราสิ ให้ใบไม้เก่าติดกับกิ่งแห้งๆ ทั้งมดแดงมดดำหล่นมาตกต้อง เราจักตอบแทนให้สาสม. แล้วจองเวร ในพระมหาสัตว์เจ้า.
               อยู่มาวันหนึ่ง พญาช้างพร้อมด้วยบริวารลงสู่สระฉัททันต์ เพื่อต้องการอาบน้ำ. ขณะนั้น ช้างหนุ่ม ๒ เชือก เอางวงกำหญ้าไทรมาให้พญาช้างชำระขัดสีกาย คล้ายกับแย้งกวาดยอดเขาไกรลาส ฉะนั้น. ครั้นพญาช้างอาบน้ำขึ้นมาแล้ว จึงให้นางช้างทั้งสองลงอาบ. ครั้นนางช้างทั้งสองขึ้นมาแล้ว พากันไปยืนเคียงพระมหาสัตว์เจ้า. ต่อแต่นั้น ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ ก็ลงสระเล่นกีฬาน้ำ แล้วนำเอาดอกไม้นานาชนิดมาจากสระ ประดับตบแต่งพระมหาสัตว์เจ้า คล้ายกับประดับสถูปเงิน ฉะนั้น. เสร็จแล้วประดับนางช้างต่อภายหลัง. คราวนั้น มีช้างเชือกหนึ่งเที่ยวไปในสระได้ดอกปทุมใหญ่มีกลีบ ๗ ชั้น จึงนำมามอบแด่พระมหาสัตว์เจ้า. พญาช้างฉัททันต์เอางวงรับดอกปทุมมาโปรยเกสรลงที่กระพอง แล้วยื่นให้แก่นางมหาสุภัททาผู้เชษฐภรรยา. นางจุลลสุภัททาเห็นดังนั้น จึงคิดน้อยใจว่า พญาช้างนี้ให้ดอกปทุมใหญ่กลีบ ๗ ชั้นแม้นี้แก่ภรรยาที่รักโปรดปรานแต่ตัวเดียว ส่วนเราไม่ให้. จึงได้ผูกเวรในพระมหาสัตว์ซ้ำอีก.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพญาช้างโพธิสัตว์จัดปรุงผลมะซาง และเผือกมันด้วยน้ำผึ้ง ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ ให้ฉัน. นางจุลลสุภัททาได้ถวายผลาผล ที่ตนได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า
               “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเคลื่อนจากอัตภาพนี้ในชาตินี้แล้ว ขอให้ได้บังเกิดในตระกูลมัททราช และได้นามว่า สุภัททาราชกัญญา. ครั้นเจริญวัยแล้ว ขอให้ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระองค์ จนสามารถทำอะไรได้ตามชอบใจ และสามารถจะทูลท้าวเธอให้ทรงใช้นายพรานคนหนึ่งมายิงช้างเชือกนี้ ด้วยลูกศรอาบยาพิษ จนถึงแก่ความตาย และให้นำงาทั้งคู่อันเปล่งปลั่งด้วยรัศมี ๖ ประการมาได้. ”
               นับแต่วันนั้นมา นางช้างจุลลสุภัททานั้นมิได้จับหญ้าจับน้ำ ร่างกายผ่ายผอมลง ไม่นานนักก็ล้มไปบังเกิดในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสีของพระราชาในแคว้นมัททรัฐ และเมื่อประสูติออกมาแล้ว ชนกชนนีพาไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี. นางเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าพาราณสี จนได้เป็นประมุขแห่งนางสนมหมื่นหกพันนาง ทั้งได้ญาณเครื่องระลึกชาติหนหลังได้. พระนางสุภัททานั้นทรงดำริว่า ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว คราวนี้จักให้ไปเอางาทั้งคู่ของพญาช้างนั้นมา. แต่นั้น พระนางก็เอาน้ำมันทาพระสรีระ ทรงผ้าเศร้าหมอง แสดงพระอาการเป็นไข้ เสด็จสู่ห้องสิริไสยาสน์ บรรทมเหนือพระแท่นน้อย. พระเจ้าพาราณสีตรัสถามว่า พระนางสุภัททาไปไหน? ทรงทราบว่า ประชวร. จึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพระแท่น ทรงลูบคลำปฤษฎางค์ของพระนาง แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑ ความว่า
               ดูก่อนพระน้องนาง ผู้มีพระสรีระอร่ามงามดังทอง มีผิวพรรณผ่องเหลืองเรืองรอง พระเนตรทั้งสองแจ่มใส. เหตุไรหนอ พระน้องจึงดูเศร้าโศก ซูบไป ดุจดอกไม้ที่ถูกขยี้ ฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุจฺจงฺคี ความว่า ผู้มีพระสรีระอร่ามงามดังทอง. บทว่า มาลาว ปริมทฺทิตา ความว่า คล้ายดอกปทุมถูกขยี้ด้วยมือ ฉะนั้น.
               พระนางสุภัททาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาต่อไป ความว่า
               ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันแพ้พระครรภ์ โดยการแพ้พระครรภ์ เป็นเหตุให้หม่อมฉันฝันเห็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่าย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น โส ความว่า ความแพ้พระครรภ์อันกระหม่อมฉันฝันเห็นเช่นใดนั้น.
               บทว่า สุปินนฺเตนุปจฺจคา ความว่า พระเทวีทูลว่า กระหม่อมฉันฝันเห็นเป็นนิมิต ในที่สุดแห่งการฝันจึงแพ้พระครรภ์ สิ่งที่แพ้พระครรภ์เพราะฝันเห็นนั้น ใช่ว่าจะเป็นเหมือนสิ่งที่หาได้ง่ายๆ ก็หามิได้ คือสิ่งนั้นหาได้โดยยาก แต่เมื่อหม่อมฉันไม่ได้สิ่งนั้น คงไม่มีชีวิตอยู่ได้.
               พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสพระคาถาความว่า
               กามสมบัติของมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ และในสวนนันทนวัน กามสมบัติทั้งหมดนั้น เป็นของเราทั้งสิ้น เราหาให้เธอได้ทั้งนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจุรา ความว่า ดูก่อนนางสุภัททาผู้เจริญ กามสมบัติอันเป็นของมนุษย์ ที่พวกมนุษย์ปรารถนากันในโลกนี้ และรัตนะเจ็ดอย่างใดอย่างหนึ่งในนันทนวัน มีมากหาได้ง่าย คือกามคุณ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในมนุษยโลก. เราจะให้วัตถุกาม และกิเลสกามทั้งหมดนั้นแก่เธอ.
               พระเทวีได้สดับดังนั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ความแพ้ท้องของหม่อมฉันแก้ได้ยาก หม่อมฉันจะไม่ทูลให้ทราบก่อนในบัดนี้ ก็ในแว่นแคว้นของทูลกระหม่อม มีพรานป่าอยู่จำนวนเท่าใด ได้โปรดให้มาประชุมกันทั้งหมดเถิดพะย่ะค่ะ กระหม่อมฉันจักทูลให้ทรงทราบ ในท่ามกลางพรานป่าเหล่านั้น. แล้วตรัสคาถาในลำดับต่อไปความว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายพรานป่าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในแว่นแคว้นของพระองค์ จงมาประชุมพร้อมกัน. หม่อมฉันจะแจ้งเหตุที่แพ้พระครรภ์ของหม่อมฉัน ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทราบ.

               ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ในแคว้นของทูลกระหม่อม มีนายพรานจำพวกใดซึ่งเป็นผู้สมควรอยู่. นายพรานทั้งหมดจำพวกนั้นจงประชุมกัน คือเรียกร้องกันมา. หม่อมฉันจักบอก คือกล่าวชี้แจงความแพ้ท้องของหม่อมฉันอันมีอยู่อย่างใด แก่นายพรานเหล่านั้น.
               พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสรับคำ แล้วเสด็จออกจากห้องบรรทม ตรัสสั่งหมู่อำมาตย์ว่า นายพรานป่าจำนวนเท่าใด มีอยู่ในกาสิกรัฐอันมีอาณาเขตสามร้อยโยชน์. ขอท่านจงให้ตีกลองประกาศ ให้นายพรานป่าเหล่านั้นทั้งหมดมาประชุมกัน. อำมาตย์เหล่านั้นก็กระทำตามพระราชโองการ. ไม่นานเท่าใด นายพรานป่าชาวกาสิกรัฐต่างก็ถือเอาเครื่องบรรณาการตามกำลัง พากันมาเฝ้า ให้กราบทูลการที่พวกตนมาถึงให้ทรงทราบ. นายพรานป่าทั้งหมด ประมาณหกหมื่นคน. พระราชาทรงทราบว่าพวกนายพรานมาแล้ว จึงประทับยืนอยู่ที่พระบัญชร.
               เมื่อจะชี้พระหัตถ์ตรัสบอกพระเทวี จึงตรัสพระคาถาความว่า
               ดูก่อนเทวี นายพรานป่าเหล่านี้ ล้วนแต่มีฝีมือเป็นคนแกล้วกล้า ชำนาญป่า รู้จักชนิดของเนื้อ ยอมสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเราได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิเม ความว่า ดูก่อนเทวี เธอให้นายพรานเหล่าใดมาประชุมกัน นายพรานเหล่านั้น คือพวกนี้.
               บทว่า กตหตฺถา ความว่า ล้วนมีฝีมือ คือฉลาด ได้รับการศึกษาจนช่ำชอง ในกระบวนการยิงและการตัดเป็นต้น.
               บทว่า วิสารทา ความว่า เป็นผู้ปลอดภัย. บทว่า วนญฺญ จ มิคญฺญ จ ความว่า ชำนาญป่าและรู้ชนิดสัตว์.
               บทว่า มมตฺเถ ความว่า อนึ่ง พวกนายพรานทั้งหมดนี้ ยอมสละชีวิตในประโยชน์ของเราได้ คือเขากระทำตามที่เราปรารถนาได้.

               พระเทวีทรงสดับดังนั้นตรัสเรียกพวกนายพรานมาแล้ว ตรัสคาถาต่อไปความว่า
               ท่านทั้งหลาย ผู้เป็นเชื้อแถวของนายพราน ที่มาพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงฟังเรา เราฝันเห็นช้างเผือกผ่อง งามีรัศมี ๖ ประการ ฉันต้องการงาช้างคู่นั้น เมื่อไม่ได้ชีวิตก็เห็นจะหาไม่.


               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น ดังต่อไปนี้.
               พระนางเทวีตรัสว่า ท่านทั้งหลายผู้เป็นเทือกเถาเหล่าพรานไพร บรรดาที่มาพร้อมกัน ณ ที่นี้ จงตั้งใจฟังคำของเรา.
               บทว่า ฉพฺพิสาณํ ได้แก่ ช้างเผือกมีงามีรัศมี ๖ ประการ. เราฝันเห็นช้างเผือกมีงามีรัศมี ๖ ประการ เราฝันเห็นคชสารเห็นปานนี้ จึงมีความต้องการงาทั้งสองของพญาช้างนั้น เมื่อไม่ได้ ชีวิตก็เห็นจะหาไม่.

               พวกบุตรพรานป่าได้ฟังพระเสาวนีย์เช่นนั้น พากันกราบทูลว่า
               บิดาหรือปู่ทวด ของข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็ยังไม่เคยได้เห็น ทั้งยังไม่เคยได้ยินว่า พญาช้างที่มีงามีรัศมี ๖ ประการ. พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็นพญาช้างมีลักษณะเช่นไร ขอได้ตรัสบอกพญาช้างที่มีลักษณะเช่นนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตูนํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               มีคำอธิบายว่า พวกนายพรานกราบทูลว่า ขอเดชะ เศวตกุญชร งามีรัศมี ๖ ประการ ลักษณะเช่นนี้ บิดาหรือปู่ของพวกข้าพระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ฟัง ไม่จำต้องพูดถึงพวกข้าพระพุทธเจ้า. เพราะเหตุนั้น พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็นพญาช้างมีลักษณะเช่นใด ขอทรงโปรดตรัสบอกลักษณะอาการที่ทรงนิมิตเห็นเช่นนั้นแก่พวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
               พวกบุตรพรานไพร กล่าวแม้คาถาต่อไป ความว่า
               ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เบื้องบน ๑ เบื้องล่าง ๑ ทิศทั้ง ๑๐ นี้. พระองค์ทรงนิมิตเห็นพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการ อยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสา ได้แก่ ในทิศทั้งหลาย.
               บทว่า กตมํ ความว่า ในบรรดาทิศทั้งหลายเหล่านี้ พญาช้างอยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า.
               เมื่อพวกพรานทูลถามอย่างนี้แล้ว พระนางเจ้าสุภัททาราชเทวีจึงทรงพินิจดูพรานป่าทั้งหมดในจำนวนนั้น ทรงเห็นพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อโสณุดร เคยเป็นคู่เวรของพระมหาสัตว์ ปรากฏเป็นเยี่ยมกว่าพรานทุกคน รูปทรงสัณฐานชั่วเห็นแจ้งชัด เช่น มีเท้าใหญ่ แข้งเป็นปมเช่นก้อนภัตต์ เข่าโต สีข้างใหญ่ หนวดดก เคราแดง ตาเหลือง. จึงทรงดำริว่า ผู้นี้จักสามารถทำตามคำของเราได้. แล้วกราบทูลขอพระบรมราชานุญาต ทรงพาพรานโสณุดรขึ้นไปยังพื้นปราสาทชั้นที่เจ็ด ทรงเปิดสีหบัญชรด้านทิศอุดร แล้วเหยียดพระหัตถ์ ชี้ตรงไปยังป่าหิมพานต์ด้านทิศอุดร. ได้ตรัสคาถา ๔ คาถาความว่า
               จากที่นี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ ลูก เขาลูกสูงที่สุดชื่อ สุวรรณปัสสคิรี มีพรรณไม้ผลิดอกออกบานสะพรั่ง มีฝูงกินนรเที่ยวสัญจรไปมาไม่ขาด.
               ท่านจงขึ้นไปบนภูเขา อันเป็นที่อยู่แห่งหมู่กินนร แล้วมองลงมาตามเชิงเขา. ทันใดนั้น จะได้เห็นต้นไทรใหญ่ สีเสมอเหมือนสีเมฆ มีย่านไทร ๘,๐๐๐ ห้อยย้อย. ใต้ต้นไทรนั้น พญาเศวตกุญชรตัวมีงามีรัศมี ๖ ประการอยู่อาศัย ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่จับได้.
               ช้างประมาณ ๘,๐๐๐ มีงาเท่างอนไถ วิ่งไล่เร็วปานลมพัด พากันแวดล้อมรักษาพญาเศวตกุญชรนั้นอยู่ ช้างเหล่านั้นย่อมบันลือเสียงน่าหวาดกลัว. โกรธแม้แต่ลมที่พัดถูกตัว ถ้าเห็นมนุษย์ ณ ที่นั้นเป็นต้องขยี้เสียให้เป็นภัสมธุลี แม้แต่ละอองก็ไม่ให้ถูกต้องพญาช้างได้เลย.

               บทว่า อิโต ความว่า ดูก่อนนายพรานผู้เจริญ เจ้าจากสถานที่นี้ไปแล้ว.
               บทว่า อุตฺตรายํ ความว่า ท่านจงไปตรงเบื้องทิศอุดร เดินข้ามภูเขาสูงใหญ่เจ็ดลูก เมื่อเจ้าข้ามไปพอเลยภูเขาหกลูก ชั้นแรกไปได้แล้วจะถึงภูเขาชื่อสุวรรณปัสสคิรี ล้วนแพรวพราวด้วยทอง.
               บทว่า อุฬาโร ความว่า สูงใหญ่กว่าภูเขาหกลูกนอกนั้น. บทว่า โอโลกย ความว่า ท่านจงก้มลงตรวจดู.
               บทว่า ตตฺถจฺฉติ ความว่า ในฤดูร้อน พญาเศวตกุญชรนั้นยืนรับน้ำและลมอยู่ที่โคนต้นไทรนั้น.
               บทว่า ทุปฺปสโห ความว่า คนเหล่าอื่นที่ชื่อว่าสามารถ เพื่อจะเข้าไปทำการข่มขี่ จับเอาพญาเศวตกุญชรนั้นไม่มีเลย. ฉะนั้น จึงชื่อว่าใครอื่นข่มขี่ได้ยาก. ถึงฤดูร้อนเศวตกุญชรเห็นปานนี้ ยืนรับน้ำและลมอยู่ที่โคนต้นไทรนั้น. ดูก่อนนายพราน ช้าง ๘,๐๐๐ เป็นเช่นไร? บทว่า อีสาทนฺตา แปลว่า มีงาเท่างอนรถ.
               บทว่า วาตชวปฺปหาริโน ความว่า ช้างเหล่านั้นมีปกติ วิ่งไปประหารปัจจามิตรได้เร็วปานลมพัด. ช้าง ๘,๐๐๐ เห็นปานนี้ เฝ้ารักษาพญาช้างนั้นอยู่.
               บทว่า ตุมูลํ ความว่า ช้างเหล่านั้นยืนพ่นลมหายใจเข้าออกน่ากลัว คือมีเสียงดังสนั่น ติดต่อกันเป็นลำดับไป.
               บทว่า เอริตสฺส ความว่า ช้างเหล่านั้นย่อมโกรธ แม้แต่ลมที่มากระทบ ติดตามเสียงและต้านเสียงให้หวั่นไหว เห็นมนุษย์มาในที่นั้นๆ แล้ว ร้ายกาจอย่างนี้.
               บทว่า นาสฺส ความว่า เมื่อมนุษย์ถูกลมหายใจนั้นแหละ กำจัดทำให้เป็นภัสมธุลี แล้วก็ยังไม่ยอม แม้จะให้ละอองตกต้องพญาช้างนั้น.
               นายพรานโสณุดรฟังพระเสาวนีย์แล้ว หวาดกลัวต่อมรณภัย กราบทูลเป็นคาถาความว่า
               ข้าแต่พระราชเทวี เครื่องอาภรณ์ที่แล้วไปด้วยเงิน แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ มีอยู่ในราชสกุลมากมาย. เหตุไร พระแม่เจ้าจึงทรงประสงค์เอางาช้างมาทำเป็นเครื่องประดับเล่า.
               พระแม่เจ้าทรงปรารถนาจะให้ฆ่าพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการเสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่าพวกเชื้อแถวของนายพราน เสียกระมัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิลนฺธนา ได้แก่ เครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า เวฬุริยามยา ได้แก่ เครื่องแก้วไพฑูรย์.
               บทว่า ฆาเฏสฺสติ ความว่า นายพรานโสณุดรทูลถามว่า หรือว่าพระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้พญาช้างฆ่าเทือกเถาเหล่านายพรานเสีย โดยยกเอาเครื่องประดับเป็นเลศอ้าง.
               ลำดับนั้น พระนางเทวีตรัสคาถา ความว่า
               ดูก่อนนายพราน เรามีทั้งความริษยา ทั้งความน้อยใจ เพราะนึกถึงความหลังเข้า ก็ตรอมใจ ขอท่านจงทำตามความประสงค์ของเรา เราจักให้บ้านส่วยแก่ท่าน ๕ ตำบล.

               บทว่า สา ได้แก่ สา อหํ แปลว่า เรานั้น.
               บทว่า อนุสฺสรนฺตี ความว่า เราระลึกถึงเวรที่พญาช้างนั้นทำกับฉันไว้ในปางก่อน ก็ตรอมใจ.
               บทว่า ทสฺสามิ เต ความว่า เมื่อความต้องการข้อนี้ของเราสำเร็จลง ฉันจักยกบ้านส่วย ๕ ตำบล ซึ่งมีรายได้หนึ่งแสนทุกๆ ปี เป็นรางวัลแก่เจ้า.
               ก็แล ครั้นพระนางเทวีตรัสอย่างนี้แล้ว ตรัสปลอบโยนว่า สหายพรานเอ๋ย ในชาติก่อน เราได้ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้เราเป็นคนสามารถ ที่จะให้ฆ่าพญาช้างฉัททันต์เชือกนี้ เอางาทั้งคู่มาให้ได้. ใช่ว่า ฉันจะฝันเห็นก็หามิได้. อนึ่ง ความปรารถนาที่ฉันตั้งไว้ต้องสำเร็จ เจ้าไปเถิด อย่ากลัวเลย. นายพรานโสณุดรรับปฏิบัติ ตามพระเสาวนีย์ของพระนางเทวีว่า ตกลงพระแม่เจ้า. แล้วทูลว่า ถ้าเช่นนั้น พระแม่เจ้า โปรดชี้แจงที่อยู่ของพญาช้างฉัททันต์นั้นให้แจ่มแจ้ง.
               เมื่อจะทูลถามต่อไป จึงกล่าวคาถา ความว่า
               พญาช้างนั้นอยู่ที่ตรงไหน เข้าไปยืนอยู่ที่ไหน ทางไหนเป็นทางที่พญาช้างไปอาบน้ำ อนึ่ง พญาช้างนั้นอาบน้ำอย่างไร ทำไฉนข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้คติของพญาช้างได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺถจฺฉติ ความว่า พญาช้างอยู่ที่ตรงไหน.
               บทว่า กตฺถ มุเปติ ความว่า เข้าไปในที่ไหน? อธิบายว่า ยืนที่ไหน.
               บทว่า วีถิสฺส กา ความว่า ทางไหนเป็นทางที่พญาช้างไปอาบน้ำ คือพญาช้างไปอาบน้ำทางไหน.
               บทว่า กถํ วิชาเนมุ คตึ ความว่า เมื่อพระแม่เจ้าไม่ทรงชี้แจง ข้าพระพุทธเจ้าจักทราบถิ่นไปมาของพญาช้างนั้นได้ อย่างไร? เพราะเหตุนั้น ขอพระแม่เจ้าโปรดตรัสบอกข้าพระพุทธเจ้าเถิด.
               เมื่อพระนางเทวีจะตรัสบอกสถานที่อันเล็งเห็นโดยประจักษ์ ด้วยญาณเครื่องระลึกชาติได้ แก่นายพรานโสณุดร. ได้ตรัสคาถา ๒ คาถา ความว่า
               ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ใกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ ทั้งน้ำก็มาก สะพรั่งไปด้วยพรรณไม้ดอก มีหมู่ภมรมาคลึงเคล้า พญาช้างลงอาบน้ำในสระนี้แหละ.
               พญาช้างชำระศีรษะแล้ว ทัดทรงมาลัยอุบล มีร่างเผือกผ่องขาว ราวกะดอกบุณฑริก บันเทิงใจ. ให้มเหสีชื่อว่าสัพพภัททา เดินหน้า ดำเนินไปยังที่อยู่ของตน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺตเถว ความว่า ในสถานที่อยู่ของพญาช้างนั้นเอง.
               บทว่า โปกฺขรณี นี้ พระนางเทวีตรัส หมายถึง สระฉัททันต์.
               บทว่า สํปุปฺผิตา ความว่า มีดอกโกมุทสองชนิด ดอกอุบลสามชนิด ดอกปทุมห้าชนิด ผลิบานอยู่โดยรอบ.
               บทว่า เอตฺถ หิ โส ความว่า พญาช้างนั้นลงอาบน้ำในสระฉัททันต์นี้.
               บทว่า อุปฺปลมาลธารี ความว่า ทัดทรงมาลัยปุปผชาติ อันเกิดในน้ำและบนบก มีอุบลเป็นต้น.
               บทว่า ปุณฺฑรีกตจงฺคี ความว่า ประกอบด้วยอวัยวะขาวเผือก มีผิวหนังราวกะดอกบุณฑริก.
               บทว่า อาโมทมาโน ความว่า ทั้งยินดีร่าเริง. บทว่า สนิเกตํ ความว่า ไปสู่ที่อยู่ของตน.
               บทว่า ปุรกฺขตฺวา ความว่า พระนางเทวีตรัสว่า พญาช้างทำมเหสี ชื่อสัพพภัททา ไว้เบื้องหน้า แวดล้อมด้วยช้าง ๘,๐๐๐ เป็นบริวารไปสู่ที่อยู่ของตน.
               นายพรานโสณุดรฟังพระเสาวนีย์แล้ว ทูลรับสนองว่า ดีละ พระแม่เจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักฆ่าช้างนั้นนำเอางามาถวาย. ครั้งนั้น พระเทวีทรงชื่นชมยินดีประทานทรัพย์แก่เขาพันหนึ่ง รับสั่งว่า เจ้ากลับไปเรือนก่อนเถิด อีกเจ็ดวันจึงค่อยไปที่นั่น.
               ครั้นส่งเขาไปแล้ว รับสั่งให้ช่างเหล็กมาเฝ้า ทรงบัญชาว่า พ่อคุณ ฉันต้องการมีดพับ ขวาน จอบ สิ่ว ค้อน มีดตัดพุ่มไผ่ เคียวเกี่ยวหญ้า มีดดาบ ท่อนโลหะแหลม เลื่อย และหลักเหล็กสามง่าม พ่อจงรีบทำของทั้งหมดมาให้ฉัน. แล้วรับสั่งให้ช่างหนังมาเฝ้า ทรงบัญชาว่า พ่อคุณ พ่อควรจะจัดทำกระสอบหนัง สำหรับใส่สัมภาระ หนักประมาณหนึ่งกุมภะ ให้เรา. เราต้องการเชือกหนัง สายรัด ถุงมือ รองเท้า และร่มหนัง. พ่อจงช่วยทำของทั้งหมดนี้ มาให้เราด่วนด้วย. นับแต่นั้น ช่างทั้งสองก็รีบทำของทั้งหมด นำมาถวายแด่พระเทวี.
               พระนางจึงทรงตระเตรียมเสบียงให้นายพรานโสณุดรนั้น ตั้งแต่ไม้สีไฟเป็นต้นไป บรรจุเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างและเสบียงมีสัตตุก้อนเป็นต้น ใส่ลงในกระสอบหนัง เครื่องอุปกรณ์และเสบียงทั้งหมดนั้นหนักประมาณกุมภะหนึ่ง.
               ฝ่ายนายพรานโสณุดรนั้นเตรียมตัวเสร็จแล้ว ถึงวันที่เจ็ดก็มาเฝ้าถวายบังคมพระราชเทวี. ลำดับนั้น พระนางเทวีรับสั่งกะเขาว่า เครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างของเจ้าสำเร็จแล้ว เจ้าจงลองยกกระสอบนี้ดูก่อน. ก็นายพรานโสณุดรนั้นเป็นคนมีกำลังมาก ทรงกำลังประมาณห้าช้างสาร เพราะฉะนั้น จึงยกกระสอบขึ้นคล้ายกระสอบพลูแล้วสะพายบ่า ยืนเฉยดุจยืนมือเปล่า. พระนางสุภัททาจึงประทานข้าวของแก่พวกลูกๆ ของนายพราน แล้วกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จัดส่งนายพรานโสณุดรไป.
               ฝ่ายนายพรานโสณุดรนั้น ครั้นถวายบังคมลาพระราชาและพระราชเทวีแล้ว ก็ลงจากพระราชนิเวศน์. ขึ้นรถออกจากพระนครด้วยบริวารเป็นอันมาก ผ่านคามนิคมและชนบทมาตามลำดับ ถึงปลายพระราชอาณาเขตแล้ว จึงให้ชาวชนบทกลับ. เดินทางเข้าป่าไปกับชาวบ้านชายแดน จนเลยถิ่นของมนุษย์ จึงให้ชาวบ้านชายแดนกลับทั้งหมด แล้วเดินไปเพียงคนเดียว สิ้นระยะทาง ๓๐ โยชน์.
               ถึงป่าชัฏ ๑๘ แห่งโดยลำดับ คือ ตอนแรกป่าหญ้าแพรก ป่าเลา ป่าหญ้า ป่าแขม ป่าไม้มีแก่น ป่าไม้มีเปลือก ชัฏ ๖ แห่ง เป็นชัฏพุ่มหนาม ป่าหวาย ป่าไม้ต่างพรรณระคนคละกัน ป่าไม้อ้อ ป่าทึบ แม้งูก็เลื้อยไปได้ยาก คล้ายป่าแขม ป่าไม้สามัญ ป่าไผ่ ป่าที่มีเปลือกตมแล้ว มีน้ำล้วน มีภูเขาล้วน. ครั้นเข้าไปแล้ว ก็เอาเคียวเกี่ยวหญ้าแพรกเป็นต้น เอามีดสำหรับตัดพุ่มไม้ไผ่ ฟันป่าแขมเป็นต้น เอาขวานโคนต้นไม้ ใช้สิ่วใหญ่เจาะทำทางเดิน ที่ป่าไผ่ก็ทำพะองพาดขึ้นไป ตัดไม้ไผ่ให้ตกบนพุ่มไผ่อื่น แล้วเดินไปบนยอดพุ่มไผ่ ถึงที่ซึ่งมีเปลือกตมล้วน ก็ทอดไม้เลียบแห้งเดินไปตามนั้น แล้วทอดท่อนอื่นต่อไปอีก ยกท่อนนอกนี้ขึ้น ทอดต่อไปข้างหน้าอีก ข้ามชัฏที่มีเปลือกตมไปได้.
               ถึงชัฏที่มีน้ำล้วน ก็ต่อเรือโกลนข้ามไปยืนอยู่ที่เชิงเขา เอาเชือกผูกเหล็กสามง่าม ขว้างขึ้นไปให้ติดอยู่ที่ภูเขา แล้วโหนขึ้นไปตามเชือกหนัง จนยืนอยู่บนภูเขาได้ แล้วหย่อนเชือกหนังลงไป ยึดเชือกหนังลงมาผูกที่หลักข้างล่าง แล้วไต่ขึ้นทางเชือก เอาท่อนโลหะซึ่งมีปลายแหลมดุจเพชรเจาะภูเขาแล้วตอกเหล็ก เสร็จแล้วยืนอยู่ที่นั้น แล้วกระตุกเหล็กสามง่ามออก แล้วขว้างไปติดอยู่ข้างบนอีก ยืนอยู่บนนั้น แล้วหย่อนเชือกหนังลงไปผูกไว้ที่หลักข้างล่าง ไต่ขึ้นไปตามเชือก มือซ้ายถือเชือก มือขวาถือค้อน แก้เชือกแล้ว ถอนหลักขึ้นต่อไปอีก. โดยทำนองนี้ จนขึ้นไปถึงยอดเขา เมื่อจะลงด้านโน้น ก็ตอกเหล็กลงที่ยอดเขาลูกแรก โดยทำนองเดิมนั่นเอง. เอาเชือกผูกกระสอบหนัง พันเข้าที่หลักแล้ว ตนเองนั่งภายในกระสอบโรยเชือกลง คล้ายอาการที่แมงมุมชักใย. บางอาจารย์กล่าวว่า นายพรานโสณุดรลงจากเขาโดยร่มหนัง เหมือนนกถาปีกโฉบลง ฉะนั้น.

.. อรรถกถา ฉัททันตชาดก ว่าด้วย พญาช้างฉัททันต์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2327 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2352 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=9415&Z=9524&bgc=ivory
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=4638
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=4638
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :