ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา เนมิราชชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานอัมพวันของพระเจ้ามฆเทวราช ทรงอาศัยกรุงมิถิลา เป็นที่ภิกษาจาร. ทรงปรารภการทำความแย้มพระพระโอษฐ์ให้ปรากฏ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อจฺเฉรํ วต โลกสฺมึ ดังนี้เป็นต้น.
               เรื่องย่อมีว่า วันหนึ่ง พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จจาริกไปในอัมพวันนั้น. ในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศแห่งหนึ่งเป็นรมณียสถาน ทรงใคร่จะตรัสบุรพจริยาของพระองค์ จึงทรงแย้มพระโอษฐ์. ท่านพระอานนทเถระกราบทูลถาม เหตุที่ทรงแย้มพระโอฐ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ภูมิประเทศนี้ เราเคยอาศัยอยู่ เจริญฌาน ในกาลที่เราเสวยชาติเป็นมฆเทวราชา. ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอนเพื่อให้ทรงแสดง. จึงประทับนั่ง ณ บวรพุทธาสนะที่ปูลาดไว้ ทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ณ กรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ ได้มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่ามฆเทวราช. พระองค์ทรงเล่นอย่างราชกุมารอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ครองไอศวรรย์ ๘๔,๐๐๐ ปี. เมื่อเสวยราชย์เป็นพระราชาธิราชได้ ๘๔,๐๐๐ ปี มีพระราชดำรัสกะเจ้าพนักงานภูษามาลาว่า เมื่อใดเจ้าเห็นผมหงอกในศีรษะเรา เจ้าจงบอกข้าเมื่อนั้น. ครั้นกาลต่อมา เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เห็นเส้นพระศกหงอก จึงกราบทูลแด่พระราชา พระองค์ตรัสสั่งให้ถอนด้วยแหนบทองคำ ให้วางไว้ในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรพระศกหงอก ทรงพิจารณาเห็นมรณะเป็นประหนึ่งว่ามาข้องอยู่ที่พระนลาต มีพระดำริว่า บัดนี้เป็นกาลที่จะผนวช จึงพระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วตรัสเรียกพระเชษฐโอรสมา มีพระดำรัสว่า พ่อจงรับครองราชสมบัติ พ่อจักบวช. พระราชโอรสทูลถามถึงเหตุที่จะทรงผนวช
               เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถานี้ว่า
               ผมหงอกที่งอกบนศีรษะของพ่อนี้ นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว คราวนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.

               ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็อภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติ แล้วพระราชทานพระโอวาทว่า แม้ตัวเธอเห็นผมหงอกอย่างนี้แล้ว ก็พึงบวช. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จออกจากพระนคร ทรงผนวชเป็นฤาษี เจริญพรหมวิหาร ๔ ตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี บังเกิดในพรหมโลก. แม้พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวราช ก็ทรงผนวชโดยอุบายนั้นแหละ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. กษัตริย์ผู้เป็นพระราชโอรสของพระราชาเป็นลำดับมานับได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ หย่อน ๒ องค์ ทอดพระเนตรเห็นเส้นพระศกหงอกบนพระเศียร แล้วทรงผนวชในพระราชอุทยานอัมพวันนี้ เจริญพรหมวิหาร ๔ บังเกิดในพรหมโลก.
               บรรดากษัตริย์เหล่านั้น กษัตริย์มีพระนามว่ามฆเทวะ บังเกิดในพรหมโลกก่อนกว่ากษัตริย์ทั้งปวง สถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นแหละ ตรวจดูพระวงศ์ของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ หย่อน ๒ องค์ ผู้บวชแล้ว ก็มีพระมนัสยินดี ทรงพิจารณาว่า เบื้องหน้าแต่นี้ วงศ์ของเราจักเป็นไป หรือจักไม่เป็นไปหนอ. ก็ทรงทราบว่าจักไม่เป็นไป จึงทรงคิดว่า เรานี่แหละจักสืบต่อวงศ์ของเรา ก็จุติจากพรหมโลกนั้น ลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสีของพระราชาในกรุงมิถิลา.
               กาลล่วงไป ๑๐ เดือน ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา. พระราชาตรัสเรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้ทำนาย มาถามเหตุการณ์ ในวันขนานพระนามพระราชกุมาร พราหมณ์ทั้งหลายตรวจดูพระลักษณะแล้ว กราบทูลว่า พระราชกุมารนี้สืบต่อวงศ์ของพระองค์เกิดแล้ว. ด้วยว่าวงศ์ของพระองค์เป็นวงศ์บรรพชิต ต่อแต่พระกุมารนี้ไปเบื้องหน้า จักไม่มี. พระราชาทรงสดับดังนั้น มีพระดำริว่า พระราชโอรสนี้สืบต่อวงศ์ของเรามาเกิด ดุจวงล้อรถ ฉะนั้น. เราจักขนานนามพระโอรสนั้นว่า เนมิกุมาร ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงพระราชทานพระนามพระโอรสว่าเนมิกุมาร. พระเนมิกุมารนั้นเป็นผู้ทรงยินดีในการบำเพ็ญรักษาศีลและอุโบสถกรรม จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์.
               ลำดับนั้น พระราชาผู้พระชนกของเนมิราชกุมารนั้น ทอดพระเนตรเห็นเส้นพระศกบนพระเศียรหงอก ก็พระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส ทรงผนวชในพระราชอุทยานอัมพวันนั่นเอง เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า โดยนัยหนหลังนั่นแล.
               ฝ่ายพระเจ้าเนมิราชโปรดให้สร้างโรงทาน ๕ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง ยังมหาทานให้เป็นไปด้วยความเป็นผู้มีพระอัธยาศัยในทาน พระราชทานทรัพย์ที่โรงทานแห่งละ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๕๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทุกๆ วัน ทรงเบญจศีลเป็นนิจ. ทรงสมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์ ทรงชักชวนมหาชนในการบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น. ทรงแสดงธรรมสอนให้ทราบทางสวรรค์ คุกคามประชุมชนให้กลัวนรก. ประชุมชนตั้งอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ บำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น. จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เทวโลกเต็ม นรกเป็นดุจว่างเปล่า.
               กาลนั้นหมู่เทวดาในดาวดึงสพิภพ ประชุมกัน ณ เทวสถานชื่อสุธรรมา กล่าวสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ว่า โอ พระเจ้าเนมิราช เป็นพระอาจารย์ของพวกเรา ชาวเราทั้งหลายอาศัยพระองค์ จึงได้เสวยทิพยสมบัตินี้. แม้พระพุทธญาณก็มิได้กำหนด แม้ในมนุษยโลก มหาชนก็สรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ คุณกถาแผ่ทั่วไป ราวกะน้ำมันที่เทราดลงบนหลังมหาสมุทร ฉะนั้น.

               พระศาสดา เมื่อตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ ทรงทำเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสว่า
               เมื่อใด พระเจ้าเนมิราชผู้เป็นบัณฑิต มีพระประสงค์ด้วยกุศล เป็นพระราชาผู้ปราบข้าศึก ทรงบริจาคทานแก่ชาววิเทหะทั้งปวง.
               เมื่อนั้น บุคคลผู้ฉลาดก็ย่อมเกิดขึ้นในโลก ความเกิดขึ้นของท่านเหล่านั้น น่าอัศจรรย์หนอ.
               เมื่อพระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญทานนั้นอยู่ ก็เกิดพระราชดำริขึ้นว่า ทาน หรือพรหมจรรย์ อย่างไหนมีผลานิสงส์มาก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา อหุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด พระเจ้าเนมิราชผู้เป็นบัณฑิต มีพระประสงค์ด้วยกุศลเพื่อพระองค์ด้วย เพื่อชนเหล่าอื่นด้วย. เมื่อนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้กล่าวคุณกถาของพระเจ้าเนมิราชนั้นอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ ที่พุทธญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็มีคนฉลาดสามารถยัง พุทธกิจให้สำเร็จแก่มหาชนเห็นปานนี้เกิดขึ้นในโลก.
               ปาฐะว่า ยถา อหุ ดังนี้ก็มี ปาฐะนั้นมีความว่า พระเจ้าเนมิราชเป็นบัณฑิต มีพระประสงค์ด้วยกุศลเท่านั้น ฉันใด คนฉลาดทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมเกิดขึ้นยังพุทธกิจให้สำเร็จแก่มหาชน การเกิดขึ้นของคนฉลาดเหล่านั้น นั้นน่าอัศจรรย์ในโลกหนอ. พระศาสดาทรงเป็นอัจฉริยะเองทีเดียว จึงตรัสอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สพฺพวิเทหานํ ได้แก่ ชาววิเทหรัฐทั้งปวง.
               บทว่า กตมํ สุ ความว่า บรรดาทานและพรหมจรรย์สองอย่างนี้ อย่างไหนหนอมีผลมาก.

               ได้ยินว่า พระเจ้าเนมิราชนั้นทรงสมาทานอุโบสถศีล ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทรงเปลื้องราชาภรณ์ทั้งปวง บรรทมบนพระยี่ภู่มีสิริ. หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ตลอดสองยาม. ตื่นบรรทมในปัจฉิมยาม ทรงคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ ทรงดำริว่า เราให้ทานไม่มีปริมาณแก่ประชุมชนและรักษาศีล ผลแห่งทานบริจาคมีมาก หรือแห่งพรหมจริยาวาสมีผลมากหนอ ทรงดำริฉะนี้ ก็ไม่ทรงสามารถตัดความสงสัยของพระองค์ได้.
               ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการเร่าร้อน. ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการเหตุนั้น ก็ทรงเห็นพระเจ้าเนมิราชกำลังทรงปริวิตกอยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า เราจักตัดความสงสัยของเธอ จึงเสด็จมาโดยพลันแต่พระองค์เดียว ทำสกลราชนิเวศน์ให้มีรังสิโยภาสเป็นอันเดียวกัน เข้าสู่ห้องบรรทมอันมีสิริ แผ่รัศมีสถิตอยู่ในอากาศ ทรงพยากรณ์ปัญหาที่พระเจ้าเนมิราชตรัสถาม.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตรทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิราช ทรงกำจัดความมืดด้วยรัศมีปรากฏขึ้น. พระเจ้าเนมิราชจอมมนุษย์มีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสกะท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อน. รัศมีของท่านเช่นนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็น หรือไม่ได้ยินมาเลย ขอท่านจงแจ้งตัวท่าน แก่ข้าพเจ้า ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร.
               ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิราชมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสตอบว่า
               หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาสู่สำนักพระองค์ท่าน ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ พระองค์อย่าทรงสยดสยองเลย. เชิญตรัสถามปัญหาที่ต้องพระประสงค์เถิด.
               พระเจ้าเนมิราชทรงได้โอกาสฉะนั้นแล้ว จึงตรัสถามท้าววาสวะว่า
               ข้าแต่เทวราชผู้เป็นอิสระแห่งปวงภูต หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ท่าน ทานหรือพรหมจรรย์อย่างไหนมีผลานิสงส์มาก.
               อมรินทรเทพเจ้าอันนรเทพเนมิราชตรัสถามดังนี้ พระองค์ทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์ จึงตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิราชผู้ยังไม่ทรงทราบว่า
               บุคคลย่อมบังเกิดในขัตติยสกุล เพราะประพฤติพรหมจรรย์อย่างต่ำ. บุคคลได้เป็นเทพเจ้า เพราะประพฤติพรหมจรรย์ปานกลาง. บุคคลย่อมหมดจดวิเศษ เพราะประพฤติพรหมจรรย์สูงสุด. หมู่พรหมเหล่านั้น อันใครๆ จะพึงได้เป็น ด้วยการประพฤติวิงวอน ก็หาไม่. ต้องเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนบำเพ็ญตบธรรม จึงจะได้บังเกิดในหมู่พรหม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สโลมหฏฺโฐ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าเนมิราชนั้นทอดพระเนตรเห็นแสงสว่าง จึงทรงแลไปในอากาศ ก็ทอดพระเนตรเห็นท้าวสักกเทวราชนั้นประดับด้วยทิพยาภรณ์ มีพระโลมชาติชูชันเพราะความกลัว จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นเทวดาหรือ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อโลมหฏฺโฐ ความว่า พระองค์อย่าทรงกลัว อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชันเลย จงถามเถิด มหาราช.
               บทว่า วาสวํ อวจ ความว่า ทรงมีพระทัยยินดีได้ตรัสแล้ว.
               บทว่า ชานํ อกฺขาสิชานโต ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกเทวราชนั้นทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งเคยทรงเห็นประจักษ์ด้วยพระองค์เองในอดีตภพ จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิราชผู้ยังไม่ทรงทราบ.
               ในบทว่า หีเนน เป็นต้นมีวินิจฉัยว่า ในลัทธิเดียรถีย์โดยมากศีลเพียงเมถุนวิรัติ ชื่อว่าพรหมจรรย์อย่างต่ำ. ผู้บำเพ็ญย่อมเกิดในขัตติยสกุล ด้วยพรหมจรรย์อย่างต่ำนั้น. การได้อุปจารฌาน ชื่อว่าพรหมจรรย์อย่างกลาง. ผู้บำเพ็ญย่อมเกิดเป็นเทวดา ด้วยพรหมจรรย์อย่างกลางนั้น. ก็การให้สมาบัติแปดเกิด ชื่อว่าพรหมจรรย์อย่างสูงสุด. ผู้บำเพ็ญย่อมบังเกิดในพรหมโลก ด้วยพรหมจรรย์อย่างสูงสุดนั้น. ชนภายนอกพระพุทธศาสนากล่าว พรหมจรรย์อย่างสูงสุดนั้นว่านิพพาน ผู้บำเพ็ญย่อมบริสุทธิ์ด้วยนิพพานนั้น.
               แต่ในพระพุทธศาสนานี้ ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ปรารถนาเทพนิกายอย่างใดอย่างหนึ่ง พรหมจรรย์ของเธอชื่อว่าต่ำ เพราะเจตนาต่ำ. เธอย่อมบังเกิดในเทวโลกตามผลที่เธอปรารถนานั้น. ก็การที่ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ยังสมาบัติแปดให้บังเกิด ชื่อว่าพรหมจรรย์อย่างกลาง. เธอย่อมบังเกิดในพรหมโลก ด้วยพรหมจรรย์อย่างกลางนั้น. การที่ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ เจริญวิปัสสนา ยังอรหัตมรรคให้บังเกิด ชื่อว่าพรหมจรรย์อย่างสูงสุด. เธอย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์อย่างสูงสุดนั้น.
               บทว่า กายา ได้แก่ หมู่พรหม.
               บทว่า ยาจโยเคน ได้แก่ ด้วยประกอบการขอร้อง หรือด้วยประกอบการวิงวอน. อธิบายว่า ด้วยประกอบการบูชายัญ. บทนี้เป็นชื่อของผู้ให้นั่นเอง แม้ด้วยประการทั้งสอง.
               บทว่า ตปสฺสิโน ได้แก่ ผู้อาศัยตบะ.

               ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญว่า ดูก่อนพระมหาราช การประพฤติพรหมจรรย์เป็นคุณมีผลมากกว่าทาน ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ด้วยประการฉะนี้. ครั้นทรงแสดงความที่การอยู่พรหมจรรย์เป็นคุณมีผลมาก ด้วยคาถาแม้นี้แล้ว. บัดนี้จะทรงแสดงพระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาคมหาทานแล้ว ไม่สามารถจะก้าวล่วงกามาพจรไปได้ จึงตรัสว่า
               พระราชาเหล่านี้ คือ พระเจ้าทุทีปราช พระเจ้าสาครราช พระเจ้าเสลราช พระเจ้ามุจลินทราช พระเจ้าภคีรสราช พระเจ้าอุสินนรราช พระเจ้าอัตถกราช พระเจ้าอัสสกราช พระเจ้าปุถุทธนราช และกษัตริย์เหล่าอื่นกับพราหมณ์เป็นอันมาก บูชายัญมากมาย ก็ไม่ล่วงพ้นความละโลกนี้ไป.


               คาถานั้นมีความว่า ดูก่อนมหาราช พระราชาพระนามว่าทุทีปราช ณ กรุงพาราณสีในกาลก่อน ทรงบริจาคทานเป็นอันมาก สวรรคตแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาพจรนั่นแล. พระราชาแปดองค์มีพระเจ้าสาครราชเป็นต้นก็เหมือนกัน ก็พระราชามหากษัตริย์และพราหมณ์อื่นๆ เหล่านี้มากมาย ได้บูชายัญเป็นอันมาก บริจาคทานมีประการไม่น้อย ก็ไม่ล่วงพ้นความละโลกนี้ กล่าวคือกามาวจรภูมิไปได้. จริงอยู่ เหล่าเทพชั้นกามาพจร เรียกกันว่าเปตะ เพราะสำเร็จได้โดยอาศัยผู้อื่น เพราะเหตุกิเลสวัตถุมีรูปเป็นต้น
               สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า
               ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อนสอง อยู่คนเดียว ย่อมไม่รื่นรมย์ ย่อมไม่ได้ปีติเกิดแต่วิเวก. ชนเหล่านั้น ถึงจะมีโภคสมบัติเสมอด้วยพระอินทร์ ก็ชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะได้ความสุขที่ต้องอาศัยผู้อื่น.


               ท้าวสักกเทวราชทรงแสดงความที่ผลแห่งพรหมจรรย์นั่นแล เป็นของมากกว่าผลแห่งทาน แม้อย่างนี้แล้ว. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงดาบสผู้ก้าวล่วงเปตภพ ด้วยการอยู่พรหมจรรย์ บังเกิดในพรหมโลก จึงตรัสว่า
               ฤาษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือ ฤาษี ๗ ตน. อันมีนามว่า ยามหนุฤาษี โสมยาคฤาษี มโนชวฤาษี สมุททฤาษี มาฆฤาษี ภรตฤาษี และกาลปุรักขิตฤาษี และฤาษีอีก ๔ ตน คือ อังคีรสฤาษี กัสสปฤาษี กีสวัจฉฤาษี และอกันติฤาษี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติวตฺตึสุ ได้แก่ ก้าวล่วงกามาวจรภพ.
               บทว่า ตปสฺสิโน ความว่า อาศัยตบะ คือศีล และตบะ คือสมาบัติแปด.
               บทว่า สตฺติสโย ท่านกล่าวหมายเอาฤาษีพี่น้องกัน ๗ ตน มียามหนุฤาษีเป็นต้น ฤาษีเหล่านี้กับฤาษี ๔ ตน มีอังคีรสฤาษีเป็นต้น รวมเป็นฤาษี ๑๑ ตน.

               ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญ พรหมจริยวาสว่ามีผลมาก ตามที่ได้สดับมาอย่างนี้ก่อน.
               บัดนี้ เมื่อทรงนำเรื่องที่เคยทรงเห็น ด้วยพระองค์เองมาจึงตรัสว่า
               แม่น้ำชื่อ สีทา มีอยู่ทางด้านทิศอุดร เป็นแม่น้ำลึกข้ามยาก กาญจนบรรพตมีสีประหนึ่ง ไฟที่ไหม้ไม้อ้อโชติช่วงอยู่ในกาลทุกเมื่อ. ที่ฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นกฤษณางอกงาม มีภูเขาอื่นอีกมีป่าไม้งอกงาม.
               แต่ก่อนมามีฤาษีเก่าแก่ประมาณหมื่นตน อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้น. หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยทาน ด้วยสัญญมะและทมะ. หม่อมฉันอุปัฏฐากดาบสเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติวัตรจริยาไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า ละหมู่คณะไปอยู่ผู้เดียว มีจิตมั่นคง. หม่อมฉันจักนมัสการนรชนผู้ปฏิบัติตรง จะมีชาติก็ตาม ไม่มีชาติก็ตาม เป็นนิตยกาล เพราะสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ วรรณะทั้งปวงที่ตั้งอยู่ในอธรรม ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ. วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ เพราะประพฤติธรรมสูงสุด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺตเรน ความว่า ดูก่อนมหาราช ในอดีตกาล มีแม่น้ำชื่อว่าสีทา ไหลมาระหว่างสุวรรณบรรพตทั้งสอง. ในหิมวันตประเทศด้านทิศอุดร เป็นแม่น้ำลึก ยานมีเรือเป็นต้นข้ามยาก เพราะเหตุไร เพราะแม่น้ำนั้นมีน้ำใสยิ่ง. แม้เพียงแต่แววหางนกยูงตกในแม่น้ำนั้นก็ไม่ลอยอยู่ จมลงถึงพื้นทีเดียวเพราะน้ำใส ด้วยเหตุนั้นแหละ แม่น้ำนี้จึงมีชื่อว่าสีทา. ก็กาญจนบรรพตเหล่านั้นใกล้ฝั่งแห่งแม่น้ำนั้น มีพรรณดุจไฟไหม้ ไม้อ้อโชติช่วง คือสว่างอยู่ทุกเมื่อ.
               บทว่า ปรุฬฺหคจฺฉา ตครา ความว่า ริมฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นกฤษณางอกงาม เป็นกฤษณาที่มีกลิ่นหอม.
               บทว่า ปรุฬฺหคจฺฉา วนา นคา ความว่า ภูผาอื่นๆ ในที่นั้นมีพื้นที่งอกงามไปด้วยหมู่ไม้. อธิบายว่า ปกคลุมไปด้วยพฤษชาติทรงดอกและผล.
               บทว่า ตตฺราสุํ ความว่า มีฤาษีนับด้วยหมื่นอาศัยอยู่ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์นั้น. ท่านเหล่านั้นทั้งหมดล้วนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘. บรรดาฤาษีเหล่านั้น ถึงเวลาภิกษาจาร บางพวกไปถึงอุตตรกุรุทวีป. บางพวกนำผลชมพู่ใหญ่มา. บางพวกนำผลไม้น้อยใหญ่ที่มีรสหวานในหิมวันตประเทศมาฉัน. บางพวกไปสู่นครนั้นๆ ในพื้นชมพูทวีป. แม้ตนหนึ่งที่ถูกตัณหาในรสครอบงำ ก็ไม่มี. ท่านเหล่านั้นยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในฌานเท่านั้น.

               ครั้งนั้น มีดาบสรูปหนึ่งมาสู่กรุงพาราณสีทางอากาศ นุ่งห่มเรียบร้อย เที่ยวบิณฑบาตถึงประตูเรือนแห่งปุโรหิต. ปุโรหิตนั้นเลื่อมใสในความสงบของท่าน นำท่านมาสู่ที่อยู่ของตนให้ฉันแล้ว ปฏิบัติอยู่สองสามวัน. เมื่อเกิดความคุ้นเคยกันจึงถามว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหน. ท่านตอบว่าอยู่ในที่โน้น. ปุโรหิตจึงถามต่อไปว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ในที่นั้นรูปเดียว หรือรูปอื่นๆ ก็มีอยู่. ท่านตอบว่า พูดอะไร ฤาษีนับด้วยหมื่นอยู่ในที่นั้น ล้วนแต่ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ กันทั้งนั้น. ปุโรหิตได้ฟังคุณสมบัติของฤาษีเหล่านั้นจากดาบสรูปนั้น จิตก็น้อมไปในบรรพชา. จึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า ขอผู้เป็นเจ้าโปรดพาข้าพเจ้าไปบวช ในที่นั้นเถิด. ท่านกล่าวว่า เธอเป็นราชบุรุษ อาตมาไม่อาจให้บวชได้. ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น วันนี้ข้าพเจ้าจะทูลลาพระราชา พรุ่งนี้ผู้เป็นเจ้าโปรดมาที่นี้ ดาบสนั้นรับคำ.
               ฝ่ายปุโรหิตบริโภคอาหารเช้าแล้ว เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าพระบาทปรารถนาจะบวช. พระราชาตรัสถามว่า ท่านอาจารย์จะบวชด้วยเหตุไร. ปุโรหิตกราบทูลว่า ด้วยเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในเนกขัมม์. พระราชาทรงอนุญาตว่า ถ้าเช่นนั้น จงบวชเถิด แม้บวชแล้วจงมาเยี่ยมเราบ้าง. ปุโรหิตรับพระโองการแล้วถวายบังคมพระราชา กลับไปสู่เรือนของตน พร่ำสอนบุตรภรรยา มอบสมบัติทั้งปวง ถือบรรพชิตบริขารเพื่อตนนั่งคอยดาบสมา. ฝ่ายดาบสมาทางอากาศเข้าภายในพระนคร เข้าสู่เรือนของปุโรหิต. ปุโรหิตนั้นอังคาสดาบสนั้น โดยเคารพแล้วแจ้งว่า ข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร ดาบสนั้นนำปุโรหิตไปนอกเมือง ใช้มือจับนำไปที่อยู่ของตนด้วยอานุภาพของตน ให้บวชแล้ว. วันรุ่งขึ้นให้พราหมณ์ผู้บวชแล้วยับยั้งอยู่ในที่นั้น นำภัตตาหารมาให้บริโภค แล้วบอกกสิณบริกรรม. ดาบสที่บวชใหม่นั้นทำอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้เกิดโดยวันล่วงไปเล็กน้อย ก็เที่ยวบิณฑบาตมาฉันได้เอง.
               กาลต่อมา ดาบสนั้นคิดว่า เราได้ถวายปฏิญญาเพื่อไปเฝ้าพระราชา. เราจะไปเฝ้าตามปฏิญญาไว้ จึงไหว้ดาบสทั้งหลายไปสู่กรุงพาราณสีทางอากาศ เที่ยวบิณฑบาตลุถึงพระราชทวาร. พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นฤาษีนั้น ทรงจำได้ นิมนต์ให้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ ทรงทำสักการะแล้วตรัสถามว่า ผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหน. ฤาษีนั้นทูลตอบว่า อาตมาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทา อันอยู่ในระหว่างกาญจนบรรพตในหิมวันตประเทศ ด้านทิศอุดร. พระราชาตรัสถามว่า ท่านอยู่ในที่นั้นรูปเดียว หรือมีดาบสอื่นๆ ในที่นั้นด้วย. ฤาษีนั้นทูลตอบว่า พระองค์ตรัสอะไร ดาบสนับด้วยหมื่นรูปอยู่ในที่นั้น และท่านเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ทั้งนั้น.
               พระราชาทรงสดับคุณสมบัติแห่งดาบสเหล่านั้น ทรงประสงค์จะถวายภิกษาหารแก่ดาบสทั้งหมด. จึงตรัสกะดาบสนั้นว่า ข้าพเจ้าใคร่จะถวายภิกษาหารแก่ฤาษีเหล่านั้น ผู้เป็นเจ้าจงนำท่านเหล่านั้นมาในที่นี้. ดาบสนั้นทูลว่า ฤาษีเหล่านั้นไม่ยินดีในรสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น. อาตมาไม่อาจจะนำมาในที่นี้ได้. พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า ข้าพเจ้าจักอาศัยผู้เป็นเจ้าให้ฤาษีเหล่านั้นบริโภค ขอผู้เป็นเจ้าจงบอกอุบายแก่ข้าพเจ้า. ดาบสทูลว่า ถ้าพระองค์ประสงค์จะถวายทานแก่ฤาษีเหล่านั้น จงเสด็จออกจากเมืองนี้ ไปประทับแรมอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทา. แล้วทรงถวายทานแก่ท่านเหล่านั้น พระราชาทรงรับคำ. โปรดให้ถืออุปกรณ์ทั้งปวง เสด็จออกจากพระนครกับด้วยจตุรงคินีเสนา เสด็จลุถึงสุดแดนราชอาณาเขตของพระองค์. ลำดับนั้น ดาบสจึงนำพระราชาไปที่ฝั่งสีทานที พร้อมด้วยเสนาด้วยอานุภาพของตน. ให้ตั้งค่ายริมฝั่งแม่น้ำ ทูลเตือนพระราชามิให้ทรงประมาท. แล้วเหาะไปยังที่อยู่ของตน กลับมาในวันรุ่งขึ้น.
               ลำดับนั้น พระราชาให้ดาบสนั้นฉันโดยเคารพแล้วตรัสว่า พรุ่งนี้ผู้เป็นเจ้าจงพาฤาษีหมื่นรูปมาในที่นี้. ดาบสนั้นรับพระราชดำรัสแล้วกลับไป. วันรุ่งขึ้นในเวลาภิกษาจาร แจ้งแก่ฤาษีทั้งหลายว่า พระเจ้าพาราณสีมีพระราชประสงค์จะถวายภิกษาหารแก่ท่านทั้งหลาย เสด็จมาประทับอยู่แถบฝั่งสีทานที. พระองค์อาราธนาท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปยังค่ายหลวง รับภิกษาเพื่ออนุเคราะห์พระองค์. ฤาษีเหล่านั้นรับคำ จึงเหาะลงมาที่ใกล้ค่ายหลวง.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จต้อนรับฤาษีเหล่านั้น แล้วอาราธนาให้เข้าในค่ายหลวง ให้นั่ง ณ อาสนะที่แต่งไว้. เลี้ยงดูหมู่ฤาษีให้อิ่มหนำ ด้วยอาหารประณีต ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น จึงนิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้อีก ได้ทรงถวายทานแก่ดาบสหมื่นรูป โดยอุบายนี้ ตลอดหมื่นปี. ก็แลเมื่อทรงถวายโปรดให้สร้างนครในประเทศนั้นทีเดียว ให้ทำกสิกรรม.
               ดูก่อนมหาราช ก็พระเจ้าพาราณสีในกาลนั้น มิใช่ผู้อื่น คือหม่อมฉันนี่เอง. หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐด้วยทานในครั้งนั้นโดยแท้ เพราะว่า ครั้งนั้นหม่อมฉันนี่แหละเป็นผู้ประเสริฐด้วยทาน ได้บริจาคมหาทานนั้น ก็หาสามารถจะก้าวล่วงเปตโลกนี้ บังเกิดในพรหมโลกไม่. แต่ฤาษีเหล่านั้นทั้งหมดนั่นแล บริโภคทานที่หม่อมฉันบริจาค ก้าวล่วงกามาวจรภพบังเกิดในพรหมโลก. ก็พรหมจริยวาสเป็นคุณธรรม มีผลานิสงส์มากอย่างใด ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนั้น ด้วยอุทาหรณ์ที่แสดงมาแล้วนี้. ท้าวสักกเทวราชประกาศความที่พระองค์เป็นผู้ประเสริฐด้วยทานอย่างนี้แล้ว ประกาศคุณธรรมแห่งฤาษีเหล่านั้น ด้วยบทสามบทนอกนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สญฺญเมน ได้แก่ ด้วยศีล. บทว่า ทเมน ได้แก่ ด้วยการฝึกอินทรีย์.
               บทว่า อนุตฺตรํ ความว่า ประพฤติวัตรสมาทานอันอุดมเนืองนิจด้วยคุณธรรมเหล่านี้. บทว่า ปกีรจารี ความว่า กระจัดกระจาย คือซัดไป คือละหมู่คณะ เที่ยวไปผู้เดียว คือถึงความเป็นผู้ผู้เดียว.
               บทว่า สมาหิเต ได้แก่ผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ. ท้าวสักกเทวราชทรงแสดงว่า หม่อมฉันบำรุงดาบสผู้มีตบะเห็นปานนี้.
               บทว่า อหมุชุคตํ ความว่า ดูก่อนมหาราช ฤาษีทั้งหมื่นรูปเหล่านั้น หม่อมฉันมิได้เลือกแม้สักรูปหนึ่ง ซึ่งดำเนินตรง เพราะไม่มีคดกายเป็นต้น. โดยชาติ คือมีชาติต่ำ หรือสมบูรณ์ด้วยชาติเป็นต้น. มีใจเลื่อมใสในคุณสมบัติของท่านเหล่านั้น นมัสการท่านเหล่านี้ทั้งหมดเกินเวลา คือนมัสการตลอดกาล เป็นนิจทีเดียว. ท้าวสักกเทวราชตรัสดังนี้. เพราะเหตุไร. เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์. อธิบายว่า เพราะเหตุว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย.
               บทว่า สพฺเพ วณฺณา พึงทราบด้วยเหตุนั้นนั่นแล.
               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชทรงโอวาทพระเจ้าเนมิราชนั้นว่า ดูก่อนมหาราช พรหมจริยวาสเป็นธรรมมีผลมากกว่าทานโดยแท้. ถึงอย่างนั้น ธรรมทั้งสองนั้นก็เป็นมหาปุริสวิตก เพราะฉะนั้น พระองค์จงอย่าประมาทในธรรมทั้งสอง จงทรงบริจาคทานด้วย จงทรงรักษาศีลด้วย. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จไปสู่ทิพยสถานวิมานของพระองค์นั่นแล.

               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               องค์มฆวาสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงอนุศาสน์พระเจ้าวิเทหรัฐ แล้วเสด็จหลีกไปสู่หมู่เทพในสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปกฺกมิ แปลว่า หลีกไปแล้ว. อธิบายว่า ท้าวสักกเทวราชแสดงพระองค์แก่หมู่เทพสองหมู่ผู้นั่งอยู่ในเทวสภาชื่อ สุธรรมา.

               ลำดับนั้น หมู่เทพยดาได้ทูลถามท้าวสักกะว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ไม่ปรากฏเสด็จไปไหนหนอ. ท้าวสักกะตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ความกังขาอันหนึ่งเกิดขึ้นแก่พระเจ้าเนมิราช กรุงมิถิลา. ข้าจึงไปกล่าวปัญหาทำให้เธอหายกังขาแล้วกลับมา.
               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชเพื่อตรัสเหตุนั้นอีกด้วยคาถา จึงตรัสว่า
               ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายที่มาประชุม ในที่นี้มีประมาณเพียงไร. จงตั้งใจสดับคุณที่ควรพรรณนา ทั้งสูงทั้งต่ำเป็นอันมากนี้ของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม อย่างพระเจ้าเนมิราชนี้เป็นบัณฑิต มีพระราชประสงค์ด้วยกุศล. พระองค์เป็นราชาของชาววิเทหรัฐทั้งปวง ทรงปราบข้าศึก พระราชทานไทยธรรม. เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานหรือพรหมจรรย์อย่างไหนมีผลมากหนอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมํ ความว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งใจสดับ คือจงฟังซึ่งคุณที่ควรพรรณนาสูงด้วยอำนาจศีล. ต่ำด้วยอำนาจทานเป็นอันมากนี้ ของมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยธรรม คือผู้มีกัลยาณธรรม อันเรากล่าวอยู่.
               บทว่า ยถา อยํ ความว่า อย่างพระเจ้าเนมิราชนี้ เป็นบัณฑิต คือเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง.

               ท้าวสักกเทวราชตรัสคุณที่ควรพรรณนาของพระเจ้าเนมิราช อย่างไม่บกพร่องด้วยประการฉะนี้.
               หมู่เทวดาได้ฟังท้าวเธอตรัสดังนี้ ก็ใคร่จะเห็นพระเจ้าเนมิราช จึงทูลว่า ข้าแต่มหาเทวราช พระเจ้าเนมิราชเป็นพระอาจารย์ของพวกข้าพระเจ้า. พวกข้าพระเจ้าตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ อาศัยพระองค์จึงได้ทิพยสมบัตินี้. ข้าพระเจ้าทั้งหลายใคร่จะเห็นพระองค์ ขอองค์มหาเทวราชเชิญเสด็จพระองค์มา. ท้าวสักกเทวราชทรงรับคำ จึงมีเทวบัญชามาตลีเทพสารถีว่า ท่านจงเทียมเวชยันตรถไปกรุงมิถิลา. เชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชขึ้นทิพยาน นำเสด็จมาเทวสถานนี้. มาตลีเทพบุตรรับเทพโองการแล้วเทียมเทพรถขับไป ก็เมื่อท้าวสักกะมีเทพดำรัสอยู่กับเทวดาทั้งหลาย ตรัสเรียกมาตลีเทพสารถีมาตรัสสั่ง และเมื่อมาตลีเทพสารถีเทียมเวชยันตราชรถ ล่วงไปหนึ่งเดือน โดยกำหนดนับวันในมนุษย์.
               เมื่อพระเจ้าเนมิราชทรงรักษาอุโบสถศีลในวันเพ็ญ เปิดสีหบัญชรด้านทิศตะวัน ออกประทับนั่งอยู่ในพระตำหนัก คณะอมาตย์แวดล้อมทรงพิจารณาศีลอยู่. เวชยันตราชรถนั้นปรากฏ พร้อมกับจันทรมณฑล อันขึ้นแต่ปราจีนโลกธาตุ. ชนทั้งหลายกินอาหารเย็นแล้ว นั่งที่ประตูเรือนของตนๆ พูดกันถึงถ้อยคำอันให้เกิดความสุข ก็พูดกันว่า วันนี้พระจันทร์ขึ้นสองดวง.
               ลำดับนั้น เทพรถนั้นก็ได้ปรากฏแก่ประชุมชนผู้สนทนากันอยู่. มหาชนกล่าวว่า นั่นไม่ใช่พระจันทร์ รถนะ. ในเมื่อเวชยันตรถเทียมสินธพ นับด้วยพันมีมาตลีเทพบุตรขับ ปรากฏแล้วในขณะนั้น. จึงคิดกันว่า ทิพยานนี้มาเพื่อใครหนอ. ลงความเห็นว่า ไม่ใช่มาเพื่อใครอื่น พระราชาของพวกเราเป็นธรรมิกราช องค์สักกเทวราชจะส่งมาเพื่อพระราชานั้นนั่นเอง. เทพรถนี้สมควรแก่พระราชาของพวกเราแท้ เห็นฉะนี้แล้ว ก็ร่าเริงยินดี กล่าวคาถาว่า
               เกิดพิศวงขนพองขึ้นในโลกแล้วหนอ รถทิพย์ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหรัฐ ผู้มียศ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อพฺภูโต ได้แก่ ไม่เคยมีแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ อัศจรรย์ ประชาชนกล่าวอย่างนี้ด้วยความพิศวง.

               ก็เมื่อประชาชนกล่าวกันอย่างนี้ มาตลีเทพบุตรมาโดยเร็ว กลับรถจอดท้ายรถที่พระสีหบัญชร ทำการจัดแจงให้เสด็จขึ้นแล้ว. ได้เชิญพระเจ้าเนมิราชเสด็จขึ้นทรง.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               เทพบุตรมาตลีผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก อัญเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหรัฐ ผู้ทรงสงเคราะห์ชาวเมืองมิถิลาว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศ ขอเชิญเสด็จมาทรงรถนี้ เทพเจ้าชาวดาวดึงส์ พร้อมด้วยพระอินทร์ใคร่จะเห็นพระองค์ ประชุมคอยเฝ้าอยู่ ณ เทพสภา ชื่อสุธรรมา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิถิลคฺคหํ ความว่า ผู้มีปราสาทประดิษฐานอยู่ในกรุงมิถิลา ทรงสงเคราะห์ชาวมิถิลา ด้วยสังคหวัตถุ ๔.
               บทว่า สมจฺฉเร ความว่า นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์.

               พระเจ้าเนมิราชได้ทรงสดับคำนั้น มีพระดำริว่า เราจักได้เห็นเทวโลก ซึ่งยังไม่เคยเห็น. มาตลีเทพบุตรจักสงเคราะห์เรา เราจักไป. ตรัสเรียกนางใน และมหาชนมาตรัสว่า เราจักไปไม่นานนัก ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท จงกระทำบุญทั้งหลาย มีการให้ทานเป็นต้น. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จขึ้นทิพยรถ.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหรัฐผู้สงเคราะห์ชาวมิถิลา ผู้เป็นประมุข รีบเสด็จลุกจากอาสน์ขึ้นสู่รถ. มาตลีเทพสารถีได้ทูลถามพระเจ้าวิเทหราช ผู้เสด็จขึ้นทรงทิพยรถแล้วว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศ ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปทางหนึ่ง ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญทางหนึ่ง จะโปรดให้ข้าพระองค์นำเสด็จไปทางไหน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมุโข ความว่า เป็นผู้สูงสุด หรือเป็นหัวหน้า ทรงหันพระปฤษฎางค์ต่อมหาชนแล้วเสด็จขึ้น.
               บทว่า เยน วา ความว่า บรรดาทางเหล่านี้คือ ทางที่บุคคลไปแล้วสามารถเห็น สถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปหนึ่ง. ทางที่บุคคลไปแล้วสามารถเห็น สถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญหนึ่ง จะโปรดให้ข้าพระองค์นำเสด็จทางไหนก่อน. มาตลีเทพสารถีนั้น แม้ท้าวสักกะมิได้สั่งถึงข้อนี้ ก็ทูลเพื่อแสดงถึงความวิเศษแห่งทูตของตน.

               ลำดับนั้น พระราชามีพระดำริว่า สถานที่ทั้งสองเรายังไม่เคยเห็น เราจักดูทั้งสองแห่ง จึงตรัสว่า
               ดูก่อนมาตลีเทพสารถี ท่านจงนำเราไปโดยทางทั้งสอง คือทางไปที่อยู่ของผู้ทำบาป และทางไปที่อยู่ของผู้ทำบุญ.


               ลำดับนั้น มาตลีเทพบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ไม่อาจจะแสดงสถานที่ทั้งสองในขณะเดียวกัน.
               จึงได้ทูลถามพระองค์ เมื่อจะทูลถาม จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ในทิศทางหนึ่งไปที่อยู่ของผู้ทำบาป ทางหนึ่งไปที่อยู่ของผู้ทำบุญ จะโปรดให้ข้าพระองค์นำเสด็จไปทางไหนก่อน.


               ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชเสด็จไปทอดพระเนตรนรก

.. อรรถกถา เนมิราชชาดก ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3442&Z=3860
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=3284
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=3284
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :