ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 834 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา จันทกุมารชาดก
ว่าด้วย พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ราชาสิ ลุทฺทกมฺโม ดังนี้.
               เรื่องของพระเทวทัตนั้น มาแล้วใน สังฆเภทขันธกะ แล้วนั่นแล. เรื่องนั้น นับจำเดิมแต่เวลาที่ท่านออกผนวชแล้ว ตราบเท่าถึงให้ปลงพระชนมชีพของพระเจ้าพิมพิสาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในที่นั้นนั่นเอง.
               ฝ่ายพระเทวทัต ครั้นให้ปลงพระชนมชีพพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า ดูก่อนมหาราช มโนรถของพระองค์ถึงที่สุดแล้ว ส่วนมโนรถของของอาตมา ก็ยังหาถึงที่สุดก่อนไม่. พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น จึงตรัสถามว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ก็มโนรถของท่านเป็นอย่างไร? พระเทวทัต. ดูก่อนมหาราช เมื่อฆ่าพระทศพลแล้วอาตมาจักเป็นพระพุทธเจ้า มิใช่หรือ? พระราชาตรัสถามว่า ก็ในเพราะเรื่องนี้ควรเราจะทำอย่างไรเล่า? เทวทัต. ดูก่อนมหาราช ควรจะให้นายขมังธนูทั้งหลายประชุมกัน. พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ จึงให้ประชุมนายขมังธนู จำพวกที่ยิงไม่ผิดพลาดรวม ๕๐๐ ตระกูล ทรงเลือกจากคนเหล่านั้นไว้ ๓๑ คน ตรัสสั่งว่า พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงทำตามคำสั่งของพระเถระ. ดังนี้แล้วจึงส่งไปยังสำนักพระเทวทัต.
               พระเทวทัตเรียกผู้เป็นใหญ่ ในบรรดาพวกนายขมังธนูเหล่านั้นมาแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ พระสมณโคดมประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เสด็จจงกรมอยู่ในที่พักกลางวันในที่โน้น. ส่วนท่านจงไปในที่นั้น ยิงพระสมณโคดมด้วยลูกศรอาบด้วยยาพิษ ให้สิ้นพระชนมชีพแล้ว จงกลับโดยทางชื่อโน้น. พระเทวทัตนั้น ครั้นส่งนายขมังธนูผู้ใหญ่นั้นไปแล้ว จึงพักนายขมังธนูไว้ในทางนั้น ๒ คน ด้วยสั่งว่า จักมีบุรุษคนหนึ่งเดินทางมาโดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ พวกท่านจงปลงชีวิตบุรุษนั้นเสีย แล้วกลับมาโดยทางโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตจึงวางบุรุษไว้สี่คนด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ จักมีบุรุษเดินมา ๒ คน ท่านจงปลงชีวิตบุรุษ ๒ คนนั้นเสีย แล้วกลับมาโดยทางชื่อโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตวางคนไว้ ๘ คน ด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านยืนอยู่ จักมีบุรุษ ๔ คนเดินทางมา พวกท่านจงปลงชีวิตบุรุษทั้ง ๔ คนนั้นเสีย แล้วกลับโดยทางชื่อโน้น. ในทางนั้น พระเทวทัตวางบุรุษไว้ ๑๖ คน ด้วยสั่งว่า โดยทางที่พวกท่านไปยืนอยู่ จักมีบุรุษเดินมา ๘ คน ท่านจงปลงชีวิตบุรุษทั้ง๘ คนนั้นเสีย. แล้วจงกลับมาโดยทางชื่อโน้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเทวทัตจึงทำอย่างนั้น. แก้ว่า เพราะปกปิดกรรมชั่วของตน. ได้ยินว่า พระเทวทัตได้ทำดังนั้น เพื่อจะปกปิดกรรมชั่วของตน.
               ลำดับนั้น นายขมังธนูผู้ใหญ่ ขัดดาบแล้วทางข้างซ้าย ผูกแล่งและศรไว้ข้างหลัง จับธนูใหญ่ทำด้วยเขาแกะ ไปยังสำนักพระตถาคตเจ้า จึงยกธนูขึ้นด้วยสัญญาว่า เราจักยิงดังนี้แล้ว จึงผูกสอดลูกศร ฉุดสายมาเพื่อจะยิง ก็ไม่สามารถจะยิงไปได้. พระศาสดา ได้ทรงให้คร่าธนูมาแล้ว หาได้ประทานให้ยิงไปได้ไม่. นายขมังธนูผู้ใหญ่นั้น เมื่อไม่อาจแม้จะยิงลูกศรไปก็ดี ลดลงก็ดี ก็ได้เป็นคนลำบากใจ เพราะสีข้างทั้งสองเป็นเหมือนจะหักลง น้ำลายก็ไหลนองออกจากปาก. ร่างกายทั้งสิ้นเกิดแข็งกระด้าง ได้เป็นเสมือนถึงอาการอันเครื่องยนต์บีบคั้น. นายขมังธนูนั้นได้เป็นคนอันมรณภัย คุกคามแล้วยืนอยู่.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้นแล้ว ทรงเปล่งด้วยเสียงอันไพเราะ ตรัสปลอบนายขมังธนูว่า พ่อบุรุษผู้โง่เขลา ท่านอย่ากล่าวเลย จงมาที่นี้เถิด. ในขณะนั้น นายขมังธนูก็ทิ้งอาวุธเสีย กราบลงด้วยศีรษะ แทบพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ล่วงข้าพระพุทธเจ้าแล้ว โดยที่เป็นคนเขลา คนหลง คนชั่วบาป. ข้าพระพุทธเจ้ามิได้รู้จักคุณของพระองค์ จึงได้มาแล้ว เพื่อปลงพระชนมชีพของพระองค์ ตามคำเสี้ยมสอนของพระเทวทัตผู้เป็นอันธพาล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า. ข้าแต่พระสุคตขอพระองค์ จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้รู้โลก ขอพระองค์จงอดโทษข้าพระพุทธเจ้า. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอดโทษให้ตนแล้ว ก็นั่งลงในที่สุดส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ยังนายขมังธนูให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดำรัสสอนว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเดินทางไปตามทางที่พระเทวทัตชี้ให้ จงไปเสียทางอื่น แล้วส่งนายขมังธนูนั้นไป. ก็แล้วครั้นส่งนายขมังธนูไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรมไป ประทับอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง.
               ลำดับนั้น เมื่อนายขมังธนูผู้ใหญ่มิได้กลับมา นายขมังธนูอีก ๒ คนที่คอยอยู่ก็คิดว่า อย่างไรหนอเขาจึงล่าช้าอยู่ ออกเดินสวนทางไป. ครั้นเห็นพระทศพล ก็เข้าไปถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดา ครั้นทรงประกาศพระอริยสัจแก่ชนทั้ง ๒ ยังเขาให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วดำรัสสอนว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านอย่าเดินไปทางที่พระเทวทัตบอก จงไปโดยทางนี้ แล้วก็ส่งเขาไป โดยอุบายนี้ เมื่อทรงประกาศพระอริยสัจ ยังนายขมังธนูแม้นอกนี้ที่มานั่งเฝ้า ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ก็ทรงส่งไปโดยทางอื่น.
               ลำดับนั้น นายขมังธนูผู้ใหญ่นั้นกลับมาถึงก่อนก็เข้าไปหาพระเทวทัตกล่าวว่า ข้าแต่พระเทวทัตผู้เจริญ ข้าพเจ้าหาได้อาจปลงพระชนมชีพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมทรงฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ ทรงอานุภาพอันยิ่งใหญ่. ส่วนบรรดานายขมังธนูเหล่านั้น รำพึงว่า เราทั้งหมดนั้นอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้รอดชีวิตแล้ว ก็ออกบรรพชาในสำนักพระศาสดา แล้วทรงบรรลุพระอรหัตทุกท่าน.
               เรื่องนี้ได้ปรากฏในภิกษุสงฆ์. ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ได้ยินว่าพระเทวทัต ได้กระทำความพยายาม เพื่อจะปลงชีวิตชนเป็นอันมาก เพราะจิตก่อเวรในพระตถาคตเจ้าพระองค์เดียว. แต่ชนเหล่านั้น อาศัยพระศาสดาได้รอดชีวิตแล้วทั้งสิ้น. ฝ่ายพระศาสดาเสด็จออกจากที่บรรทม อันประเสริฐได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์. เสด็จมายังโรงธรรมสภาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น. แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็กระทำความพยายาม เพื่อจะฆ่าชนเป็นอันมาก อาศัยเราผู้เดียว เพราะจิตมีเวรในเรา. ดังนี้แล้วได้ทรงนิ่งเสีย. เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลวิงวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล กรุงพาราณสีนี้ชื่อว่าเมืองปุปผวดี. พระโอรสของพระเจ้าวสวัตดีทรงพระนามว่าเอกราช ได้ครองราชสมบัติในเมืองนั้น. พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าพระจันทกุมาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช พราหมณ์ชื่อว่ากัณฑหาละ(๑. บาลีเป็น ขัณฑหาละ) ได้เป็นปุโรหิต. เขาถวายอนุศาสน์ทั้งอรรถและธรรมแด่พระราชา.
               ได้ยินว่า พระราชา ครั้นทรงสดับว่า กัณฑหาละเป็นบัณฑิต ก็ทรงให้ดำรงไว้ในหน้าที่ตัดสินอรรถคดี. ก็กัณฑหาลพราหมณ์นั้น เป็นคนมีจิตใจฝักใฝ่ในสินบน. ครั้นได้รับสินบนแล้ว ก็ตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของมิให้ได้เป็นเจ้าของ. ครั้นภายหลังวันหนึ่ง มีบุรุษผู้แพ้คดีคนหนึ่ง โพนทนาด่าว่า อยู่ในที่เป็นที่วินิจฉัยอรรถคดี. ครั้นออกมาภายนอก เห็นพระจันทกุมารจะเสด็จมาสู่ที่เฝ้าพระราชา ก็กราบลงแทบพระบาทแล้วร้องไห้ พระจันทกุมารนั้นถามเขาว่า เรื่องอะไรกัน บุรุษผู้เจริญ. เขาทูลว่า กัณฑหาลนี้ปล้นเขาในการตัดสินความ ถึงข้าพระองค์ เมื่อเขารับสินบนแล้ว เขาก็ทำให้ถึงความพ่ายแพ้ในอรรถคดี พระเจ้าข้า. พระจันทกุมารตรัสปลอบว่า อย่ากลัวไปเลย ดังนี้แล้ว ก็ทรงพาบุรุษนั้นไปสู่โรงเป็นที่วินิจฉัยอรรถคดี กระทำผู้เป็นเจ้าของนั่นแลให้เป็นเจ้าของ ผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นผู้มิใช่เจ้าของ. มหาชนพากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันดัง. พระราชา ได้ทรงสดับเสียงนั้นจึงตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไร? มีผู้ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ได้ยินว่า มีอรรถคดีอันพระจันทกุมารทรงตัดสินแล้วโดยชอบธรรม เสียงนั้น คือเสียงสาธุการของมหาชน. เพราะฟังเสียงนั้นพระราชา จึงเกิดปีติ.
               พระจันทกุมารเสด็จมาถวายบังคมพระราชบิดาแล้ว ก็ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะท่านว่า แน่ะ พ่อได้ยินว่า เจ้าได้ตัดสินความเรื่องหนึ่งหรือ? พระจันทกุมารทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทได้ตัดสินเรื่องหนึ่ง พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้ากระนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าคนเดียวจงยังการตัดสินอรรถคดีให้ดำเนินไปเถิด. แล้วทรงประทานหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีแก่พระกุมาร. ผลประโยชน์ของกัณฑหาลพราหมณ์ ย่อมขาดไป. เขาก็ผูกอาฆาตประพฤติเป็นผู้เพ่งโทษ จะจับผิดในพระจันทกุมาร ตั้งแต่นั้นมา.
               ส่วนพระราชานั้นเป็นผู้มีปัญญาอ่อน วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง ได้ทรงสุบินเห็นปานนี้ว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นดาวดึงส์พิภพ มีซุ้มประตูอันประดับแล้ว มีกำแพงแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีวิถีอันแล้วไปด้วย ทรายทอง กว้างประมาณ ๖๐ โยชน์ ประดับไปด้วยเวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ เป็นที่รื่นรมย์ไปด้วยสวนมีนันทวันเป็นต้น ประกอบด้วยสระโบกขรณี อันน่ายินดี มีนันทโบกขรณีเป็นต้น มีหมู่เทพเกลื่อนกล่น. นางเทพอัปสรเป็นอันมากก็ฟ้อนรำขับร้อง และประโคมดนตรี ในเวชยันตปราสาท ในดาวดึงส์พิภพนั้น. พระราชาได้ทรงเห็นดังนั้น ครั้นทรงตื่นบรรทม ใคร่จะเสด็จไปสู่พิภพนั้น จึงทรงดำริว่า พรุ่งนี้ในเวลาที่อาจารย์กัณฑหาละมาเฝ้า เราจะถามถึงหนทางอันเป็นที่ไปยังเทวโลกแล้ว. เราจักไปสู่เทวโลกโดยทางที่อาจารย์บอกให้นั้น. พระราชานั้นก็เสด็จสรงสนานแต่เช้าตรู่ ทรงนุ่งห่มภูษา เสวยโภชนาหารอันมีรสเลิศต่างๆ ทรงไล้ทาเครื่องหอมแล้วเสด็จประทับนั่ง. ส่วนกัณฑหาลพราหมณ์อาบน้ำแต่เช้าตรู่ นุ่งผ้า บริโภคอาหาร ไล้ทาเครื่องหอมแล้ว ไปยังที่บำรุงพระราชา เข้าไปยังพระราชนิเวศน์ แล้วทูลถามถึงพระสำราญในที่พระบรรทม. ลำดับนั้น พระราชาประทานอาสนะแก่กัณฑหาลพราหมณ์นั่นแล้ว จึงทรงถามปัญหา.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               พระราชาพระนามว่า เอกราช เป็นผู้มีกรรมอันหยาบช้า อยู่ในพระนครปุปผวดี ท้าวเธอตรัสถามกัณฑหาลปุโรหิต ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ เป็นผู้หลงว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเป็นผู้ฉลาดในธรรมวินัย ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา เหมือนอย่างนรชนทำบุญแล้ว ไปจากภพนี้สู่สุคติภพ ฉะนั้นเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชาสิ ความว่า ท่านเป็นพระราชา. บทว่า ลุทฺทกกมฺโม ได้แก่ ท่านเป็นผู้มีกรรมอันหยาบช้าทารุณ. บทว่า สคฺคานมคฺคํ ความว่า ทางแห่งสวรรค์. บทว่า ธมฺมวินยกุสโล ความว่า ด้วยบทว่า ยถา นี้ ท่านถามว่า เหมือนอย่างว่าคนทั้งหลาย ทำบุญแล้วจากโลกนี้ไปสุคติ ด้วยประการใด. ขอท่านจงบอกทางแห่งสุคติแก่ข้าพเจ้า โดยประการนั้น.

               ก็ปัญหานี้ ท่านควรจะถามกะพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือกะพระโพธิสัตว์. เพราะไม่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือพระสาวก ส่วนพระราชาทรงถามกะกัณฑหาลพราหมณ์ ผู้ไม่รู้อะไรๆ เหมือนบุรุษผู้หลงทาง ๗ วัน พึงถามกะบุรุษคนอื่นผู้หลงทาง มาประมาณกึ่งเดือน.
               กัณฑหาลพราหมณ์คิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่จะได้เห็นหลังปัจจามิตรของเรา. บัดนี้เราจักกระทำพระจันทกุมารให้ถึงสิ้นชีวิตแล้ว จักทำมโนรถของเราให้สำเร็จบริบูรณ์. ครั้งนั้นกัณฑหาลพราหมณ์ ครั้นกราบทูลพระราชาแล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนทั้งหลายให้ทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าแล้วซึ่งบุคคลอันไม่พึงฆ่า ชื่อว่าทำบุญแล้ว ย่อมไปสู่สุคติ ด้วยประการฉะนี้.


               ความแห่งคำในคาถานั้นมีดังนี้ว่า ดูก่อนมหาราช ชื่อว่า บุคคลผู้ไปสวรรค์ ย่อมให้ทานล่วงล้ำทาน ย่อมฆ่าบุคคลอันไม่ควรฆ่า. ถ้าท่านปรารถนาจะไปสุคติไซร้ แม้ท่านก็จงทำอย่างนั้นนั่นแล.

               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามถึง อรรถแห่งปัญหากะกัณฑหาลพราหมณ์ นั้นว่า
               ก็ทานอันล่วงล้ำทานนั้นคืออะไร ใครเป็นบุคคลอันไม่พึงฆ่าในโลกนี้. ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา เราจักบูชายัญ เราจะให้ทาน.


               กัณฑหาลพราหมณ์ ทูลแก้ปัญหาแก่พระราชานั้นว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ยัญพึงบูชาด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย ด้วยพระมเหสีทั้งหลาย ด้วยชาวนิคมทั้งหลาย ด้วยโคอุสภราชทั้งหลาย ด้วยม้าอาชาไนยทั้งหลาย อย่างละ ๔. ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพยัญพึงบูชาด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวง.


               กัณฑหาลพราหมณ์นั้น เมื่อจะถวายพยากรณ์แก่พระราชานั้น ถูกพระราชานั้นทรงถามถึงทางไปสู่สวรรค์ แต่กลับพยากรณ์ทางไปนรก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺเตหิ ความว่า พระราชบุตรเป็นที่รักทั้งหลาย พระธิดาทั้งหลายผู้เกิดแล้วแก่พระองค์ด้วย. บทว่า มเหสีหิ ได้แก่ ด้วยพระชายาทั้งหลาย. บทว่า เนคเมหิ แปลว่า ด้วยเศรษฐีทั้งหลาย. บทว่า อุสเภหิ ความว่า อุสภราชทั้งหลายอันขาวปลอด. บทว่า อาชานีเยหิ ความว่า ด้วยม้าอันเป็นมงคลทั้งหลาย.
               บทว่า จตูหิ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พึงบูชายัญด้วยหมู่ ๔ แห่ง สัตว์ทั้งปวงอย่างนี้ คือ สัตว์เหล่านี้ และสัตว์เหล่าอื่นทั้งหมด และสัตว์ ๔ เหล่ามีช้างเป็นต้น. กัณฑหาลพราหมณ์ ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยว่า พระราชาทั้งหลาย ผู้ทรงบูชายัญ เมื่อได้ตัดศีรษะแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีพระราชบุตรเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระขรรค์ ถือเอาโลหิตในลำคอด้วยถาดทองคำ ทิ้งลงไปในหลุมยัญแล้ว. ย่อมเสด็จไปสู่เทวโลก พร้อมทั้งพระสรีระกายนั่นเอง. ข้าแต่มหาราช อันการให้ทาน มีให้ของกิน และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น แก่สมณพราหมณ์ คนยากไร้ คนเดินทางวณิพกและยาจก จะได้เป็นอติทาน ทานอันล่วงล้ำทานหามิได้เลย. ส่วนการฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า มีบุตรและธิดาเป็นต้น. แล้วกระทำยัญบูชา ด้วยเลือดในลำคอของคนจำพวกนั้น ชื่อว่าอติทาน กัณฑหาลพราหมณ์นั้นคิดดังนี้ว่า ถ้าเราจักจับแต่พระจันทกุมารคนเดียว คนทั้งหลายจักสำคัญ ถึงเหตุเพราะจิตมีเวร เพราะฉะนั้น เขาจึงรวมพระจันทกุมาร เข้าในระหว่างมหาชน.

               ฝ่ายชนชาวพระราชวังใน ได้สดับเรื่องที่พระราชาและกัณฑหาละเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้. จึงตกใจกลัว ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังพร้อมเป็นเสียงเดียวกัน.
               พระศาสดา เมื่อจะประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               เสียงกึกก้องน่ากลัว ได้เกิดขึ้นในพระราชวัง เพราะได้สดับว่า พระกุมาร และพระมเหสีทั้งหลาย จะต้องถูกฆ่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ความว่า เพราะได้ฟังว่า พระราชกุมารและพระมเหสีทั้งหลายจะต้องถูกฆ่า. บทว่า เอโก ความว่า ได้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน ทั่วพระราชนิเวศน์. บทว่า เภสฺมา แปลว่า น่ากลัว. บทว่า อจฺจุคฺคโต ความว่า ได้เกิดขึ้นอื้ออึง.

               ในกาลนั้น ราชตระกูลทั้งสิ้นได้เป็นดังป่าไม้รัง อันลมยุคันตวาตพัดต้อง หักโค่นลงแล้ว. ฝ่ายพราหมณ์ทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจเพื่อกระทำยัญบูชานี้ หรือไม่อาจ. ราชาตรัสว่า ดูก่อนอาจารย์ ท่านกลัวอย่างไร เราบูชายัญแล้ว จักไปสู่เทวโลก. กัณฑหาลพราหมณ์ ทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุรุษทั้งหลายเกิดมาเป็นคนขลาด มีอัธยาศัยอ่อนกำลัง ไม่ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเพื่อจะบูชายัญได้. ขอพระองค์จงให้ประชุมสัตว์ มีลมปราณทั้งปวงไว้ในที่นี้. ข้าพระองค์จักกระทำกรรมในหลุมยัญ. ดังนี้แล้วจึงพาพรรคพวก ผู้มีกำลังสามารถของตนอันพอเพียง ออกจากพระนคร ไปกระทำหลุมยัญให้มี พื้นราบเรียบสม่ำเสมอ แล้วล้อมรั้วไว้. เพราะเหตุไร? เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ทรงธรรม พึงมาแล้วห้ามการกระทำยัญนั้น. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ในโบราณกาลจึงบัญญัติตั้งไว้ว่า หลุมยัญต้องล้อมรั้ว จึงจะเป็นจารีต.
               ฝ่ายพระราชาทรงมีรับสั่งให้เรียกราชบุรุษทั้งหลายมา แล้วสั่งว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เราฆ่าบุตร ธิดาและภรรยาทั้งหลายของเราบูชายัญแล้ว เราจักไปสู่เทวโลก เจ้าจงไปทูลพระราชบุตร พระราชธิดา และพระมเหสีเหล่านั้น แล้วพามาสู่ที่นี้ทั้งสิ้น ดังนี้แล้ว เพื่อจะให้ราชบุรุษนำพระราชบุตรทั้งหลายมาก่อน จึงได้ตรัสว่า
               พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย คือพระจันทกุมาร พระสุริยกุมาร พระภัททเสนกุมาร พระสูรกุมาร พระรามโคตตกุมารว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่ยัญ อันจะพึงบูชา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺทญฺจ สุริยญฺจ ความว่า พระจันทกุมารและพระสุริยกุมารทั้ง ๒ เป็นพระราชบุตรของพระนางโคตมีเทวีพระอัครมเหสี. พระภัททเสนกุมาร พระสูรกุมาร พระรามโคตตกุมาร เป็นพระภาดาต่างมารดาของ พระจันทกุมารแลพระสุริยกุมารเหล่านั้น.
               บทว่า ปสุ กิร โหถ ความว่า ขอท่านจงอยู่เป็นเป็นหมู่เป็นกองในที่เดียวกัน. อธิบายว่า จงอย่ากระจัดกระจายกัน.

               ราชบุรุษเหล่านั้นไปยังสำนักพระจันทกุมารก่อนแล้วทูลว่า ดูก่อนพ่อกุมาร ดังได้สดับมาว่า พระราชบิดาของพระองค์ทรงพระประสงค์จะฆ่าพระองค์แล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงสั่งพวกข้าพระองค์มาเพื่อคุมพระองค์ไป. พระจันทกุมารตรัสว่า พระราชานั้นใช้ให้ท่านมาจับเราตามคำของใคร? ราชบุรุษทูลว่า ตามคำของกัณฑหาลพราหมณ์ พระเจ้าข้า.
               จันทกุมารตรัสถามว่า อย่างไรพระองค์ทรงใช้ให้ท่านมาจับเราคนเดียว หรือว่าให้จับคนอื่นด้วย.
               ราชบุรุษทูลว่า พระองค์โปรดให้จับผู้อื่นด้วย ได้ยินว่า พระองค์ทรงใคร่จะบูชาด้วยหมวด ๔ แห่งสัตว์ทั้งปวง. พระจันทกุมารคิดว่า กัณฑหาลพราหมณ์นี้มิได้จองเวรกับด้วยผู้อื่น. แต่เมื่อไม่ได้กระทำการปล้นทางวินิจฉัยอรรถคดี ก็จะฆ่าคนเสียเป็นอันมาก เพราะจิตคิดจองเวรในเราแต่ผู้เดียว. เมื่อเราได้ช่องเฝ้าพระราชบิดา ความพ้นภัยของคนทั้งหมดนี้ จักเป็นภาระของเราเป็นแน่. ลำดับนั้น พระจันทกุมารจึงตรัสแก่ราชบุรุษว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทำตามพระราชบัญชาของพระบิดาเถิด. ราชบุรุษเหล่านั้นนำพระจันทกุมารมา ให้ประทับที่พระลานหลวง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นำพระราชกุมารอื่นอีก ๓ พระองค์มาประทับใกล้ๆ กันแล้ว ก็ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ข้าพระองค์ได้นำพระราชโอรสทั้งหลายของพระองค์มาแล้ว. พระราชานั้นได้ทรงสดับคำของราชบุรุษเหล่านั้น แล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย บัดนี้ เจ้าจงไปนำพระราชธิดาทั้งหลายของเรามา แล้วจึงให้ประทับในที่ใกล้แห่งพระภาดาของเธอ เพื่อจะให้เขานำพระราชธิดาทั้ง ๔ มา จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า
               เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย คือพระอุปเสนากุมารี พระโกกิลากุมารี พระมุทิตากุมารีและพระนันทากุมารีว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.


               ราชบุรุษเหล่านั้นไปสู่สำนักพระราชธิดาทั้งหลาย ด้วยคิดว่า เราจักกระทำด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล้ว นำพระธิดาเหล่านั้นผู้กำลังทรงกรรแสงคร่ำครวญ ให้มาประทับในที่ใกล้พระภาดา จากนั้น พระราชาเมื่อจะให้ราชบุรุษไปคุมพระมเหสีทั้งหลายของพระองค์มา จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า
               อนึ่ง เจ้าทั้งหลายจงไปทูลพระนางวิชยา พระนางเอราวดี พระนางเกศินีและพระนางสุนันทา ผู้เป็นมเหสีของเรา ผู้สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะอันประเสริฐว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขณวรูปปนฺนา ความว่า ท่านทั้งหลายจงทูลพระมเหสีแม้เหล่านี้ ผู้เลอโฉม ผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งสัตว์ อันอุดม ๖๔ ประการ.

               ราชบุรุษเหล่านั้นก็นำพระนางทั้ง ๔ อันกำลังปริเทวนาการคร่ำครวญอยู่ แม้เหล่านั้นมาให้ประทับอยู่ในที่ใกล้พระกุมาร. ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงให้ราชบุรุษนำเศรษฐีทั้ง ๔ มา ตรัสพระคาถานอกนี้ว่า
               เจ้าทั้งหลายจงไปบอกคฤหบดีทั้งหลายคือ ปุณณมุขคฤหบดี ภัททิยคฤหบดี สิงคาลคฤหบดี และวัฑฒคฤหบดีว่า ขอท่านทั้งหลายจงอยู่เป็นหมู่กัน เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ.


               ราชบุรุษทั้งหลายก็ไปนำคฤหบดีเหล่านั้นมา เมื่อพระราชาให้จับกุมพระกุมารและพระมเหสีทั้งหลาย ทั่วพระนคร. ไม่มีใครๆ ได้กล่าวคำอะไรเลย แต่ตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งหลาย ย่อมมีเครือญาติเกี่ยวพันกันเป็นอันมาก. เพราะฉะนั้น ในกาลที่เศรษฐีเหล่านั้นถูกจับกุม มหาชนจึงพากันกำเริบขึ้นทั่วพระนคร. คนเหล่านั้นพูดกันว่า เราจักไม่ยอมให้พระราชาฆ่าเศรษฐีบูชายัญ. ดังนี้แล้วก็พากัน แวดล้อมเศรษฐีไว้. ลำดับนั้น เศรษฐีเหล่านั้น มีหมู่ญาติห้อมล้อมอยู่รอบด้าน ถวายบังคมพระราชาแล้ว ก็ขอประทานชีวิตของตน.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
               คฤหบดีเหล่านั้น เกลื่อนกล่นไปด้วยบุตรและภรรยา มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น ได้กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงกระทำข้าพระองค์ทุกคนให้เป็นคนมีแหยม หรือขอจงทรงประกาศ ข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นข้าทาสเถิด พระเจ้าข้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพ สิขิโน ความว่า ขอพระองค์จงทรงกระทำให้ข้าพระองค์ทุกคน มุ่นจุกผมบนกระหม่อม จงกระทำให้พวกข้าพระองค์เป็นคนรับใช้ของพระองค์ ข้าพระองค์จักกระทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ของพระองค์.
               บทว่า อถ วา โน ทาเส สาเวหิ ความว่า เมื่อไม่ไว้พระทัยเชื่อข้าพระองค์ ก็จงให้ประชุมกองทัพทั้งหมด แล้วจงประกาศในท่ามกลางกองทัพเหล่านั้น ให้พวกข้าพระองค์เป็นทาส ข้าพระองค์ทั้งหลายก็จักกระทำวัตรของทาสแด่พระองค์.

               คฤหบดีเหล่านั้น แม้ทูลอ้อนวอนขอชีวิตอยู่อย่างนี้ ก็หาอาจได้ไม่. ราชบุรุษทั้งหลายให้คฤหบดีทั้งหมดนั้น ถอยกลับไปแล้วก็คุมเอาพวกเขาไป ให้นั่งในที่ใกล้พระราชกุมารนั่นแล. ภายหลัง พระราชา เมื่อจะทรงสั่งราชบุรุษเพื่อให้นำ สัตว์ทั้งหลายมีช้างเป็นต้น จึงตรัสว่า
               เจ้าทั้งหลายจงรีบนำช้างของเรา คือช้างอภยังกร ช้างนาฬาคิรี ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ ช้างเหล่านี้จักเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมาซึ่งม้าอัสดรของเรา คือม้าเกศี ม้าสุรามุข ม้าปุณณมุข ม้าวินัตกะ. ม้าเหล่านั้นจักเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ. เจ้าทั้งหลายจงรีบไปนำมา ซึ่งโคอุสุภราชของเรา คือโคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ โคควัมปติ. จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมด เข้าเป็นหมู่กัน เราจักบูชายัญ จักให้ทาน. อนึ่ง จงตระเตรียมทุกสิ่งให้พร้อม. วันพรุ่งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ เจ้าทั้งหลายจงนำเอาพวกกุมารมา จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้ เจ้าจงตั้งไว้แม้ทุกสิ่ง วันพรุ่งนี้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เราจะบูชายัญ เจ้าทั้งหลาย จงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้ วันนี้เป็นคืนสุดท้าย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุหํ กโรนฺตุ สพฺพํ ความว่า จงกระทำให้เป็นหมวดละสิ่งๆ ไม่ใช่แต่สัตว์ทั้งหมดมีประมาณเท่านี้. แม้สัตว์ทั้งปวงที่เหลือจากนี้ จำพวกสัตว์ ๔ เท้าก็ดี จำพวกนกก็ดี ก็จงกระทำให้เป็นหมวดละ ๔ แล้วรวมไว้เป็นกอง. เราจักบูชายัญอันประกอบด้วยหมวด ๔ แห่ง. สัตว์ทุกชนิด เราจักให้ทานแก่ยาจกทั้งหลาย และสมณพราหมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า สพฺพํปิ ปฏิยาเทถ ความว่า จงจัดตั้งสิ่งที่เหลือที่เรากล่าวแล้วนั้น. บทว่า อุคฺคตมฺหิ ความว่า ส่วนเราจักบูชายัญในวันพรุ่งนี้ แต่เช้าตรู่ ในเมื่อพระอาทิตย์อุทัย.
               บทว่า สพฺพํปิ อุปฏฺฐเปถ ความว่า จงจัดตั้งเครื่องอุปกรณ์แก่ยัญแม้ที่เหลือทั้งหมด.

               ส่วนพระราชมารดาและพระราชบิดาของพระราชานั้น ยังมีพระชนม์อยู่ทั้งสองพระองค์. ลำดับนั้น พวกอำมาตย์จึงไปทูลพระราชมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระลูกเจ้าของพระองค์ทรงใคร่จะฆ่าพระราชบุตรและพระชายา แล้วบูชายัญ. พระราชมารดาตรัสว่า พ่อเอ๋ย นี่เจ้าพูดอะไรอย่างนี้ แล้วก็ข้อนพระทรวงเข้าด้วยพระหัตถ์ กรรแสงคร่ำครวญเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนลูก ได้ยินว่า พ่อจะกระทำยัญบูชาเห็นปานนี้จริงหรือ?
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               พระราชมารดาเสด็จมาแต่พระตำหนัก ทรงกรรแสงพลางตรัสถามพระเอกราชนั้นว่า พระลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระราชบุตรทั้ง ๔ หรือ?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ตํ ได้แก่ ซึ่งพระเจ้าเอกราชนั้น.
               บทว่า สวิมานโต ได้แก่ จากพระตำหนักของพระองค์.

               พระราชากราบทูลว่า
               เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคน หม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญ ด้วยบุตรทั้งหลาย แล้วจักไปสู่สุคติสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตา ความว่า เมื่อต้องฆ่าจันทกุมารนั่นแล บุตรแม้ทั้งหมดหม่อมฉันก็สละ เพื่อบูชายัญ.

               ลำดับนั้น พระราชมารดาตรัสกะพระราชานั้นว่า
               ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่า สุคติจะมีเพราะเอาบุตรบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์. ดูก่อนลูกโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย นี่เป็นทางไปสู่สุคติ ทางไปสู่สุคติไม่ใช่เพราะเอาบุตรบูชายัญ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรยาเนโส ความว่า นั่นเป็นทางแห่งอบาย ๔ ที่ชื่อว่านรก เพราะไม่มีความแช่มชื่น. พระราชมารดาเรียกพระราชาด้วยพระโคตรว่าโกณฑัญญะ. บทว่า ภูตภพฺยานํ ความว่า แก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว และแก่สัตว์ที่จะพึงเกิด. บทว่า ยญฺเญน ความว่า ชื่อว่าทางไปสวรรค์ย่อมไม่มี ด้วยการฆ่าบุตรและธิดาบูชายัญ เห็นปานนี้.

               พระราชาทูลว่า
               คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจักฆ่าจันทกุมาร และสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย อันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาจริยานํ วจนํ ความว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า มตินี้จะเป็นของข้าพระองค์ก็หามิได้. คำกล่าวนี้ คำสั่งสอนนี้เป็นของกัณฑหาลาจารย์ ผู้ยังข้าพระองค์ให้ศึกษาซึ่งความประพฤติชอบ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักฆ่าบุตรทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อบูชายัญแล้วด้วยบุตรอันสละได้ยาก ข้าพระองค์จักไปสู่สวรรค์.

               ลำดับนั้น พระราชมารดาเมื่อมิอาจจะยังพระราชาให้เชื่อถือพระวาจาของพระองค์ได้ ก็เสด็จหลีกไป. พระราชบิดาได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว ก็เสด็จมาทรงไต่ถามพระเจ้าเอกราชนั้น.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               แม้พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดา ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า ดูก่อนลูกรัก ทราบว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสวตฺติ นี้เป็นชื่อของพระราชานั้น.

               พระราชาทูลว่า
               เมื่อต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคน หม่อมฉันก็สละ หม่อมฉันบูชายัญ ด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

               ลำดับนั้น พระราชบิดาตรัสว่า
               ลูกเอ๋ย พ่อจงอย่าเชื่อคำนั้น ข่าวที่ว่าสุคติ จะมีเพราะฆ่าบุตรแล้วบูชายัญ ทางนั้นเป็นทางไปสู่นรก หาใช่หนทางไปสู่สวรรค์ไม่. ดูก่อนโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน ไม่เบียดเบียนซึ่งสัตว์ทั้งปวง อันเกิดมาแล้ว และจะพึงเกิด. นี้เป็นทางไปสู่สุคติ มิใช่ทางที่ไป ด้วยการฆ่าบุตรบูชายัญ.

               พระราชาตรัสว่า
               คำของอาจารย์ทั้งหลายมีอยู่ หม่อมฉันจักฆ่าจันทกุมาร และสุริยกุมาร หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายอันสละได้ยากแล้ว จักไปสู่สุคติสวรรค์.

               ลำดับนั้น พระราชบิดาจึงตรัสกะพระราชาว่า
               ดูก่อนโกณฑัญญะ พ่อจงให้ทาน อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงเลย พ่อจงเป็นอันพระราชบุตรห้อมล้อมรักษากาสิกรัฐ และชนบทเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺตปริวุโต แปลว่า อันบุตรทั้งหลายห้อมล้อมแล้ว. บทว่า รฏฺฐํ ชนปทญฺจ ความว่า ท่านสามารถจะรักษากาสิกรัฐทั้งสิ้น และชนบท อันเป็นส่วนนั้นๆ ของกาสิกรัฐนั้นนั่นแล.

               ครั้งนั้น พระราชบิดาก็หาอาจกระทำให้พระเจ้าเอกราช ทรงเชื่อถือพระราชดำรัสของพระองค์ไม่. ลำดับนั้น พระจันทกุมารทรงพระดำริว่า อาศัยเราผู้เดียว ทุกข์เกิดขึ้นแล้วแก่คนมีประมาณเท่านี้. เราจะทูลวิงวอนพระราชบิดาของเรา แล้วปล่อยชนมีประมาณเท่านี้เสียให้พ้นจากทุกข์ คือความตาย.

               พระองค์ เมื่อจะทรงเจรจากับด้วยพระราชบิดา ตรัสว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขา. ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าพระองค์ทั้งหลายเสียเลย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิตเถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่ ก็จะขนมูลม้าให้เขา. ขอเดชะ อย่าได้ทรงฆ่าข้าพระองค์ทั้งหลายเสีย. โปรดพระราชทานข้าพระองค์ทั้งหลายให้เป็นทาสของกัณฑหาลปุโรหิต ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด พระเจ้าข้า. ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลายจะถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิคฬพนฺธกาปิ ความว่า ถึงแม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่.
               บทว่า ยสฺส โหนฺติ ตว กามา ความว่า แม้ถ้าท่านปรารถนาจะให้แก่กัณฑหาลปุโรหิต ท่านจงกระทำพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาส แล้วให้กัณฑหาลปุโรหิตเถิด แล้วกล่าวว่า พวกเราจักกระทำกรรมคือ ความเป็นทาสแก่กัณฑหาลปุโรหิต ด้วยบทว่า อปิ รฏฺฐา นี้ ท่านบ่นพร่ำว่า ถ้าพวกข้ามีโทษอะไรๆ ท่านจงขับพวกข้าพระองค์เสียจากแว่นแคว้น อนึ่ง พวกข้าพระองค์ถูกขับไล่จากพระนครแล้ว จักถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน เหมือนคนกำพร้า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าข้าพระองค์เลย จงให้ชีวิตแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด.

               พระราชาได้ทรงฟังคำพร่ำกล่าวมีประการต่างๆ นั้นของพระราชกุมารแล้ว ถึงซึ่งความทุกข์ ประหนึ่งว่า พระอุระจะแตกมีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล ประกาศว่า ใครๆ ย่อมไม่ได้เพื่อฆ่าลูกเรา ความต้องการด้วยเทวโลกไม่มีแก่เราแล้ว เพื่อจะปล่อยคนทั้งปวงนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               เจ้าพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ย่อมให้ทุกข์แก่เรานักแล พวกท่านจงปล่อยพระกุมารทั้งหลาย ไป ณ บัดนี้ เราขอพอกันที ด้วยการเอาบุตรบูชายัญ.


               ราชบุรุษทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ก็ปล่อยสัตว์ที่รวมไว้เป็นหมู่ๆ นั้นทั้งสิ้น. ตั้งต้นแต่พระราชบุตรทั้งหลาย ตลอดไปถึงหมู่นกเป็นที่สุด.
               ฝ่ายกัณฑหาลพราหมณ์กำลังจัดแต่งกรรมอยู่ในหลุมยัญ. ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งกล่าวกะกัณฑหาละนั้นว่า เฮ้ย กัณฑหาละ คนชั่วร้าย. พระราชบุตรและราชธิดาทั้งหลายนั้น พระราชาทรงปล่อยไปแล้ว เจ้าต้องฆ่าลูกเมียของตนเอง เอาเลือดในลำคอของคนเหล่านั้นบูชายัญ.
               กัณฑหาลพราหมณ์นั้นคิดว่า นี่พระราชาทรงกระทำอย่างไรหนอ ลุกขึ้นแล่นมาด้วยกำลังเร็ว ประหนึ่งว่า ถูกไฟประลัยกัลป์เผาอยู่ฉะนั้น จึงกล่าวคาถาว่า

.. อรรถกถา จันทกุมารชาดก ว่าด้วย พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 834 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=4761&Z=5179
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1951
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1951
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :