ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๐.

               กาลนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า ชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจารได้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเพื่อประโยชน์แสวงหาทรัพย์อีก. เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะเสียหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวง ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์นั้น จึงยกธิดาชื่อ นางอมิตตตาปนา ให้ชูชก. ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านทุนนวิฏฐพราหมณ์คามในกาลิงครัฐ นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์โดยชอบ.
               ครั้งนั้น พวกพราหมณ์หนุ่มๆ เหล่าอื่น เห็นอาจารสมบัติของนาง จึงคุกคามภรรยาของตนๆ ว่า นางอมิตตตาปนานี้ปฏิบัติพราหมณ์ชราโดยชอบ พวกเจ้าทำไมประมาทต่อเราทั้งหลาย. ภรรยาพราหมณ์เหล่านั้นจึงคิดว่า พวกเราจักยังนางอมิตตตาปนานี้ให้หนีไปเสียจากบ้านนี้ คิดฉะนี้แล้ว จึงไปประชุมกันด่านางอมิตตตาปนาที่ท่าน้ำ เป็นต้น.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อชูชก มีปกติอยู่ในกาลิงครัฐ ภรรยาสาวของพราหมณ์นั้นชื่ออมิตตตาปนา นางพราหมณีเหล่านั้นในหมู่บ้านนั้นไปตักน้ำที่ท่าน้ำ เป็นประหนึ่งแตกตื่นกัน มาประชุมกันกล่าวบริภาษนางอมิตตตาปนาว่า
               แน่ะนางอมิตตตาปนา บิดามารดาของเจ้า เมื่อเจ้ายังเป็นสาวอยู่อย่างนี้ ยังมอบตัวเจ้าให้แก่ชูชกพราหมณ์แก่ได้ พวกญาติของเจ้าผู้มอบตัวเจ้าแก่พราหมณ์แก่ ทั้งที่เจ้ายังเป็นสาวอยู่อย่างนี้ เขาอยู่ในที่ลับปรึกษากันถึง เรื่องไม่เป็นประโยชน์ เรื่องทำชั่ว เรื่องลามก เรื่องไม่ยังใจให้เอิบอาบ เจ้าอยู่กับผัวแก่ไม่ยังใจให้เอิบอาบ เจ้าอยู่กับผัวแก่ เจ้าตายเสียดีกว่ามีชีวิตอยู่ บิดามารดาของเจ้าคงหาชายอื่นให้เป็นผัวไม่ได้แน่ จึงยกเจ้าซึ่งยังเป็นสาวอยู่อย่างนี้ให้พราหมณ์แก่.
               เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดี ในดิถีที่ ๙ คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟไว้ เจ้าคงจักด่าสมณพราหมณ์ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ในโลกเป็นแน่ จึงได้มาอยู่ในเรือนพราหมณ์แก่แต่ยังเป็นสาวอยู่อย่างนี้ ถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์ ถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์ การที่เห็นผัวแก่นั้นแล เป็นความทุกข์ด้วย เป็นความร้ายกาจด้วย. การเล่นหัว การรื่นรมย์ย่อมไม่มีกับผัวแก่ การเจรจาปราศรัยก็ไม่มี แม้การกระซิกกระซี้ก็ไม่งาม. เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ เมื่อนั้นความเศร้าโศกทุกอย่างที่เสียดแทงหัวใจอยู่ ย่อมพินาศไปสิ้น. เจ้ายังเป็นสาวรูปสวย พวกชายปรารถนายิ่งนัก เจ้าจงไปอยู่เสียที่ตระกูลญาติเถิด คนแก่จักให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหุ แปลว่า ได้มีแล้ว. บทว่า วาสี กลิงเคสุ ความว่า เป็นชาวบ้านพราหมณ์ทุนนวิฏฐะ แคว้นกาลิงครัฐ. บทว่า ตา นํ ตตถ คตาโวจํ ความว่า หญิงในบ้านนั้นเหล่านั้นไปตักน้ำที่ท่าน้ำ ได้กล่าวกะนางอมิตตตาปนานั้น. บทว่า ถิโย นํ ปริภาสึสุ ความว่า หญิงเหล่านั้นมิได้กล่าวกะใครๆ อื่น ด่านางอมิตตตาปนานั้น โดยแท้แล. บทว่า กุตุหลา ได้แก่ เป็นประหนึ่งแตกตื่นกัน. บทว่า สมาคนตวา ได้แก่ ห้อมล้อมโดยรอบ. บทว่า ทหริยํ ได้แก่ ยังเป็นสาวรุ่นมีความงามเลิศ. บทว่า ชิณณสส ได้แก่ ในเรือนของพราหมณ์แก่เพราะชรา.
               บทว่า ทุยิฏฐนเต นวมิยํ ความว่า เจ้าจักบูชายัญไว้ไม่ดีในดิถีที่ ๙ คือเครื่องบูชายัญของเจ้านั้น จักเป็นของที่กาแก่ถือเอาแล้วก่อน. ปาฐะว่า ทุยิฏฐา เต นวมิยา ดังนี้ก็มี ความว่า เจ้าจักบูชายัญในดิถีที่ ๙ ไว้ไม่ดี.
               บทว่า อกตํ อคคิหุตตกํ ความว่า แม้การบูชาไฟท่านก็จักไม่กระทำ. บทว่า อภิสสสิ ความว่า ด่าสมณพราหมณ์ผู้มีบาปอันสงบแล้ว หรือผู้มีบาปอันลอยแล้ว. หญิงทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ด้วยความประสงค์ว่า นี้เป็นผลแห่งบาปของเจ้านั้น. บทว่า ชคฆิตํปิ น โสภติ ความว่า แม้การหัวเราะของคนแก่ที่หัวเราะเผยฟันหัก ย่อมไม่งาม. บทว่า สพเพ โสกา วินสสนติ ความว่า ความเศร้าโศกของเขาเหล่านั้นทุกอย่างย่อมพินาศไป. บทว่า กึ ชิณโณ ความว่า พราหมณ์แก่คนนี้จักยังเจ้าให้รื่นรมย์ด้วยกามคุณ ๕ ได้อย่างไร.

               นางอมิตตตาปนาได้รับบริภาษแต่สำนักนางพราหมณีเหล่านั้น ก็ถือหม้อน้ำร้องไห้กลับไปเรือน ครั้นชูชกถามว่า ร้องไห้ทำไม.
               เมื่อจะแจ้งความแก่ชูชก จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พราหมณ์ ฉันจะไม่ไปสู่แม่น้ำเพื่อน้ำตักมาให้ท่าน. ข้าแต่พราหมณ์ พราหมณีทั้งหลายบริภาษฉัน เพราะเหตุที่ท่านเป็นคนแก่.


               ความของคาถานั้นว่า ข้าแต่พราหมณ์ พราหมณีทั้งหลายบริภาษฉันเพราะท่านแก่ เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่นี้ไป ฉันจักไม่ไปสู่แม่น้ำตักน้ำมาให้ท่าน.

               ชูชกกล่าวว่า
               แน่ะนางผู้เจริญ เจ้าอย่าได้ทำการงานเพื่อฉันเลย อย่าตักน้ำมาเพื่อฉันเลย ฉันจักตักน้ำเอง เจ้าอย่าขัดเคืองเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทกมาหิสฺสํ ความว่า ฉันจักนำน้ำมาเอง.

               พราหมณีอมิตตตาปนากล่าวว่า
               แน่ะพราหมณ์ ฉันไม่ได้เกิดในตระกูลที่ใช้ผัวให้ตักน้ำ ท่านจงรู้อย่างนี้ ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ท่านจงรู้อย่างนี้ ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาหํ ตมฺหิ ความว่า ฉันไม่ได้เกิดในตระกูลที่ใช้สามีให้ทำการงาน. บทว่า ยํ ตฺวํ ความว่า ฉันไม่ต้องการน้ำที่ท่านจักนำมา.

               ชูชกกล่าวว่า
               แน่ะพราหมณี พื้นฐานศิลปะหรือสมบัติ คือทรัพย์และข้าวเปลือกของฉันไม่มี ฉันจะหาทาสหรือทาสีมาเพื่อนางผู้เจริญแต่ไหน ฉันจักบำรุงนางผู้เจริญเอง แน่ะนางผู้เจริญ เจ้าอย่าขัดเคืองเลย.


               นางอมิตตตาปนาอันเทวดาดลใจ กล่าวกะพราหมณ์ชูชกว่า
               มาเถิดท่าน ฉันจักบอกท่านตามที่ฉันได้ยินมา พระราชาเวสสันดรนั้นประทับอยู่ที่เขาวงกต ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงไปทูลขอทาสและทาสีกะพระองค์ เมื่อท่านทูลขอแล้ว พระองค์ผู้เป็นขัตติยชาติจักพระราชทานทาสและทาสีแก่ท่าน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอหิ เต อหมกขิสสํ ความว่า ฉันจักบอกแก่ท่าน นางอมิตตตาปนานั้นถูกเทวดาดลใจ จึงกล่าวคำนี้.

               ชูชกกล่าวว่า
               ฉันเป็นคนแก่ ไม่มีกำลัง และหนทางก็ไกล ไปแสนยาก แน่ะนางผู้เจริญ เจ้าอย่าคร่ำครวญไปเลย อย่าน้อยใจเลย ฉันจักบำรุงนางผู้เจริญเอง เจ้าอย่าขัดเคืองฉันเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชิณโณหมสมิ ความว่า แน่ะนางผู้เจริญ ฉันเป็นคนแก่จักไปอย่างไรได้.

               พราหมณีอมิตตตาปนากล่าวว่า
               คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ ฉันใด ดูก่อนพราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไปเลยก็ยอมแพ้ ฉันนั้น. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านไม่หาทาสและทาสีมาให้ฉัน ท่านจงรู้อย่างนี้ ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน เมื่อใด ท่านเห็นฉันแต่งกายในงานมหรสพประกอบด้วยนักขัตฤกษ์ หรือพิธีตามที่เคยมี เมื่อนั้น ความทุกข์ก็จักมีแก่ท่าน เมื่อฉันรื่นรมย์กับด้วยชายอื่นๆ ความทุกข์ก็จักมีแก่ท่าน เมื่อท่านผู้ชราแล้วพิไรคร่ำครวญอยู่ เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น ผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมนาปนฺเต ความว่า เมื่อท่านไม่ยอมไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอทาสและทาสีมา ฉันจักกระทำกรรมที่ท่านไม่ชอบใจ. บทว่า นกขตเต อุตปุพเกพสุ ความว่า ในงานมหรสพที่เป็นไปด้วยสามารถที่จัดขึ้นในคราวนักขัตฤกษ์ หรือด้วยสามารถที่จัดขึ้นประจำฤดูกาล ในบรรดาฤดูกาลทั้งหก.

               ชูชกพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็ตกใจกลัว.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               แต่นั้น พราหมณ์ชูชกนั้นก็ตกใจกลัว ตกอยู่ในอำนาจของนางอมิตตตาปนาพราหมณี ถูกกามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกะนางว่า แน่ะนางพราหมณี เจ้าจงจัดเสบียงเดินทางเพื่อฉัน คือจัดขนมที่ทำด้วยงา ขนมที่ปรุงด้วยน้ำตาล ขนมที่ทำเป็นก้อนด้วยน้ำผึ้ง ทั้งสัตตุก้อนสัตตุผงและข้าวผอก จัดให้ดี ฉันจักนำพี่น้องสองกุมารมาให้เป็นทาส กุมารกุมารีทั้งสองนั้นจักไม่เกียจคร้าน บำเรอปฏิบัติเจ้าตลอดคืนตลอดวัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อททิโต ได้แก่ เบียดเบียน คือบีบคั้น. บทว่า สํกุโล ได้แก่ ขนมที่ทำด้วยงา. บทว่า สงคุฬานิ จ ได้แก่ ขนมที่ปรุงด้วยน้ำตาล. บทว่า สตตภตตํ ได้แก่ ข้าวสัตตุก้อน ข้าวสัตตุผงและข้าวผอก. บทว่า เมถุนเก ได้แก่ ผู้เช่นเดียวกันด้วยชาติโคตรสกุลและประเทศ. บทว่า ทาสกุมารเก ได้แก่ สองกุมาร เพื่อประโยชน์เป็นทาสของเจ้า.

               นางอมิตตตาปนารีบตระเตรียมเสบียง แล้วบอกแก่พราหมณ์ชูชก. ชูชกซ่อมประตูเรือน ทำที่ชำรุดให้มั่นคง หาฟืนแต่ป่ามาไว้ เอาหม้อตักน้ำใส่ไว้ในภาชนะทั้งปวงในเรือนจนเต็ม แล้วถือเพศเป็นดาบสในเรือนนั้นนั่นเอง สอนนางอมิตตตาปนาว่า แน่ะนางผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ไป ในเวลาค่ำมืดเจ้าอย่าออกไปนอกบ้าน. จงเป็นผู้ไม่ประมาท จนกว่าฉันจะกลับมา สอนฉะนั้นแล้วสวมรองเท้า ยกถุงย่ามบรรจุเสบียงขึ้นสะพายบ่า ทำประทักษิณนางอมิตตตาปนา มีนัยน์ตาเต็มด้วยน้ำตาร้องไห้หลีกไป.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์พรหมทำกิจนี้เสร็จแล้ว สวมรองเท้า แต่นั้น แกเรียกนางอมิตตตาปนาผู้ภรรยา มาพร่ำสั่งเสีย ทำประทักษิณภรรยา สมาทานวัตร มีหน้านองด้วยน้ำตา หลีกไปสู่นคร อันเจริญรุ่งเรืองของชาวสีพี เที่ยวแสวงหาทาสและทาสี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุณณมุโข ได้แก่ ร้องไห้น้ำตาอาบหน้า. บทว่า สหิตพพโต ได้แก่ มีวัตรอันสมาทานแล้ว อธิบายว่า ถือเพศเป็นดาบส. บทว่า จรํ ความว่า ชูชกเที่ยวแสวงหาทาสและทาสี มุ่งพระนครของชาวสีพีหลีกไปแล้ว.

               ชูชกไปสู่นครนั้น เห็นชนประชุมกัน จึงถามว่า พระราชาเวสสันดรเสด็จไปไหน.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พราหมณ์ชูชกไปในนครนั้นแล้ว ได้ถามประชาชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นๆ ว่า พระเวสสันดรราชาประทับอยู่ที่ไหน เราทั้งหลายจะไปเฝ้าพระบรมกษัตริย์ได้ที่ไหน. ชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นได้ตอบพราหมณ์นั้นว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป ถึงถูกขับไล่จากแว่นแคว้นของพระองค์ เสด็จไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต ดูก่อนพราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป จึงทรงพาพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีเสด็จไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกโต ความว่า พระเวสสันดรถูกเบียดเบียนบีบคั้น จึงไม่ได้ประทับอยู่ในพระนครของพระองค์ บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต.

               ชนเหล่านั้นกล่าวกะชูชกว่า พวกแกทำพระราชาของพวกเราให้พินาศแล้ว ยังมายืนอยู่ในที่นี้อีก กล่าวฉะนี้ แล้วก็ถือก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ไล่ตามชูชกไป ชูชกถูกเทวดาดลใจ ก็ถือเอามรรคาที่ไปเขาวงกตทีเดียว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พราหมณ์ชูชกถูกนางอมิตตตาปนาเตือนแล้ว เป็นผู้ติดใจในกาม จึงประสบทุกข์นั้น ในป่าที่เกลื่อนไปด้วยพาลมฤค มีแรดและเสือเหลืองเสพอาศัย. แกถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม อีกทั้งเครื่องบูชาไฟและเต้าน้ำ เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ซึ่งแกได้ฟังว่า พระเวสสันดรราชฤาษี ผู้ประทานผลที่บุคคลปรารถนาประทับอยู่ ฝูงสุนัขป่าก็ล้อมพราหมณ์นั้นผู้เข้าไปสู่ป่าใหญ่ แกหลงทางร้องไห้ ได้หลีกไปไกลจากทางไปเขาวงกต. แต่นั้น แกผู้โลภในโภคะ ไม่มีความสำรวมเดินไปแล้ว หลงทางที่จะไปสู่เขาวงกต ถูกฝูงสุนัขล้อมไว้ นั่งบนต้นไม้ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฆนฺตํ ได้แก่ ทุกข์นั้น คือทุกข์ที่ติดตามโดยมหาชน และทุกข์ที่จะต้องไปเดินป่า.
               บทว่า อคคิหุตตํ ได้แก่ ทัพพีเครื่องบูชาไฟ.
               บทว่า โกกา นํ ปริวารยุํ ความว่า ก็ชูชกนั้นเข้าสู่ป่าทั้งที่ไม่รู้ทางที่จะไปเขาวงกต จึงหลงทางเที่ยวไป. ลำดับนั้น สุนัขทั้งหลายของพรานเจตบุตร ผู้นั่งเพื่ออารักขาพระเวสสันดร ได้ล้อมชูชกนั้น.
               บทว่า วิกนฺทิ โส ความว่า ชูชกนั้นขึ้นต้นไม้ต้นหนึ่งร้องไห้เสียงดัง.
               บทว่า วิปฺปรฏฺโฐ ได้แก่ ผิดทาง.
               บทว่า ทูเร ปนฺถา ความว่า หลีกไปไกลจากทางที่ไปเขาวงกต.
               บทว่า โภคลทโธ ได้แก่ เป็นผู้โลภในลาภคือโภคสมบัติ.
               บทว่า อสญฺญโต ได้แก่ ผู้ทุศีล.
               บทว่า วงกสโสกรเณเนตโถ ได้แก่ หลงในทางที่จะไปเขาวงกต.

               ชูชกนั้นถูกฝูงสุนัขล้อมไว้ ขึ้นนั่งบนต้นไม้ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดร พระราชบุตรผู้ประเสริฐ ผู้ทรงชำนะมัจฉริยะ ไม่ปราชัยอีก ผู้ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา พระองค์เป็นที่อาศัยของเหล่ายาจก เช่นธรณีดลเป็นที่อาศัยแห่งเหล่าสัตว์.
               ใครจะบอกข่าวพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนแม่ธรณีแก่เราได้ พระองค์เป็นที่ไปเฝ้าของเหล่ายาจก ดังสาครเป็นที่ไหลไปแห่งแม่น้ำน้อยใหญ่. ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดร ผู้เปรียบเหมือนสาครแก่เราได้ พระองค์เป็นดังสระน้ำมีท่าอันงาม ลงดื่มได้ง่ายมีน้ำเย็น น่ารื่นรมย์ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริกบัวขาบ ประกอบด้วยละอองเกสร.
               ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดร ผู้เปรียบเสมือนสระน้ำแก่เราได้ พระองค์เปรียบประหนึ่งต้นนิโครธใกล้ทาง มีร่มเงาน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน. ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดรมหาราชแก่เราได้ พระองค์เปรียบเหมือนต้นไทรที่ใกล้ทาง มีร่มเงา น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน.
               ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดรมหาราชแก่เราได้ พระองค์เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่ใกล้ทาง มีร่มเงาน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน. ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดรมหาราชแก่เราได้ พระองค์เปรียบเหมือนต้นรังที่ใกล้ทาง มีร่มเงาน่ารื่นรมย์ใจ. เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน.
               ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดรมหาราชแก่เราได้ พระองค์เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ใกล้ทาง มีร่มเงาน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน. ใครจะแจ้งข่าวของพระองค์ ผู้ทรงคุณเห็นปานนั้นแก่เรา. เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ พร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้. บุคคลใดบอกว่า ข้าพเจ้ารู้ข่าว บุคคลนั้นชื่อว่ายังความร่าเริงให้เกิดแก่เรา.
               อนึ่ง เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ พร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้ บุคคลใดบอกข่าวว่า ข้าพเจ้ารู้จักราชนิวาสสถานของพระเวสสันดร บุคคลนั้นพึงประสพบุญมิใช่น้อย ด้วยคำบอกเล่าคำเดียวนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชยนตํ ได้แก่ ผู้ชนะความตระหนี่. บทว่า โก เม เวสสนตรํ วิทู ความว่า ชูชกกล่าวว่า ใครจะพึงบอกข่าวพระเวสสันดรแก่เรา. บทว่า ปติฏฺฐาสิ ความว่า ได้เป็นที่พึ่งอาศัย. บทว่า สนฺตานํ ได้แก่ เป็นไปโดยรอบ. บทว่า กิลนฺตานํ ได้แก่ ผู้ลำบากในหนทาง. บทว่า ปฏิคฺคหํ ได้แก่ เป็นผู้รับ คือเป็นที่พึ่งอาศัย. บทว่า อหํ ชานนฺติ โย วชฺชา ความว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้สถานที่ประทับของพระเวสสันดร.

               พรานเจตบุตรเป็นพรานล่าเนื้อ ที่เหล่าพระยาเจตราชตั้งไว้ เพื่ออารักขาพระเวสสันดร. เที่ยวอยู่ในป่า ได้ยินเสียงคร่ำครวญของชูชกนั้น จึงคิดว่า พราหมณ์นี้ย่อมคร่ำครวญอยากจะพบพระเวสสันดร. แต่แกคงไม่ได้มาตามธรรมดา คงจักขอพระมัทรีหรือพระโอรสพระธิดา เราจักฆ่าแกเสียในที่นี้แหละ. คิดฉะนี้ แล้วจึงไปใกล้ชูชก กล่าวว่า ตาพราหมณ์ ข้าจักไม่ให้ชีวิตแก. กล่าวฉะนี้ แล้วยกหน้าไม้ขึ้นสายขู่จะยิง.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พรานผู้เที่ยวอยู่ในป่าชื่อเจตบุตร กล่าวแก่ชูชกว่า แน่ะพราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ถูกพวกแกเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป จึงถูกขับไล่ออกจาก แว่นแคว้นของพระองค์ เสด็จไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต. แน่ะพราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ถูกพวกแกเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป จนต้องพาพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีเสด็จไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต. แกเป็นคนมีปัญญาทราม ทำสิ่งที่มิใช่กิจ มาจากรัฐสู่ป่าใหญ่ แสวงหาพระราชบุตร ดุจนกยางหาปลา. แน่ะพราหมณ์ ข้าจักไม่ไว้ชีวิตแก ในที่นี้ เพราะลูกศรนี้อันข้ายิงไปแล้ว จักดื่มโลหิตแก. แน่ะพราหมณ์ ข้าจักตัดหัวของแก เชือดเอาหัวใจพร้อมทั้งไส้พุง แล้วจักบูชาปันถสกุณยัญพร้อมด้วยเนื้อของแก. แน่ะพราหมณ์ ข้าจักเฉือนหัวใจของแกพร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และเยื่อในสมองของแกบูชายัญ. แน่ะพราหมณ์ ข้าจักบูชาบวงสรวงด้วยเนื้อของแก จักไม่ให้แกนำพระราชเทวี พระโอรสพระธิดาของพระราชบุตรเวสสันดรไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกิจจการี ความว่า แกเป็นผู้กระทำสิ่งที่มิใช่กิจ. บทว่า ทุมเมโธ ได้แก่ ไม่มีปัญญา. บทว่า รฏฺฐ วิวนมาคโต ความว่า จากแว่นแคว้นมาป่าใหญ่. บทว่า สโร ปาสสติ ความว่า ลูกศรนี้จักดื่มโลหิตของแก. บทว่า วชฌยิตวาน ความว่า เราจักฆ่าแกแล้วตัดศีรษะของแกผู้ตกจากต้นไม้ให้เหมือนผลตาล. แล้วเฉือนเนื้อหัวใจพร้อมทั้งตับไตไส้พุง บูชายัญชื่อปันถสกุณแก่เทวดา ผู้รักษาหนทาง. บทว่า น จ ตฺวํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น แกจักนำพระมเหสี หรือพระโอรสพระธิดาของพระราชบุตรเวสสันดรไปไม่ได้.

               ชูชกได้ฟังคำของพรานเจตบุตรแล้ว ก็ตกใจกลัวแต่มรณภัย เมื่อจะกล่าวมุสาวาท จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนเจตบุตร ข้าเป็นพราหมณทูตไม่ควรฆ่า เจ้าจงฟังข้าก่อน เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายจึงไม่ฆ่าทูต นี่เป็นธรรมเนียมเก่า ชาวสีพีทั้งปวงหายขัดเคือง พระชนกก็ทรงปรารถนาจะพบพระเวสสันดร ทั้งพระชนนีของท้าวเธอก็ถอยพระกำลัง พระเนตรทั้งสองพึงเสื่อมโทรม โดยกาลไม่นาน. ดูก่อนเจตบุตร ข้าเป็นผู้อันพระราชาพระราชินี ทรงส่งมาเป็นทูต เจ้าจงฟังข้าก่อน ข้าจักเชิญพระเวสสันดรราชโอรสกลับ ถ้าเจ้ารู้จงบอกหนทางแก่เรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิชฌตตา ได้แก่ เข้าใจกันแล้ว. บทว่า อจิรา จกขุนิ ขียเร ความว่า พระเนตรทั้งสองจักเสื่อมโทรม ต่อกาลไม่นานเลย เพราะทรงกันแสงเป็นนิตย์.

               กาลนั้น พรานเจตบุตรก็มีความโสมนัส ด้วยคิดว่า ได้ยินว่า บัดนี้ พราหมณ์นี้จะมาเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับ จึงผูกสุนัขทั้งหลายไว้ให้อยู่ที่ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วให้ชูชกลงจากต้นไม้ ให้นั่งบนที่ลาดกิ่งไม้ ให้โภชนาหาร. เมื่อจะทำปฏิสันถาร จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่ตาพราหมณ์ ตาเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของข้า ข้าจะให้กระบอกน้ำผึ้งและขาเนื้อย่างเป็นบรรณาการแก่ตา และจักบอกประเทศที่ พระเวสสันดรผู้ประทานความประสงค์ประทับอยู่แก่ตา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิยสส เม ความว่า ตาเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดร ผู้เป็นที่รักของข้า ข้าจะให้บรรณาการแก่ตาเพื่อความเต็มแห่งอัธยาศัย.
               จบชูชกบรรพ

               จุลวนวรรณนา
               พรานเจตบุตรให้พราหมณ์ชูชกบริโภคแล้ว ให้กระบอกน้ำผึ้งและขาเนื้อย่างแก่ชูชก เพื่อเป็นเสบียงเดินทางอย่างนี้แล้ว ยืนที่หนทางยกมือเบื้องขวาขึ้น.
               เมื่อจะแจ้งโอกาสเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเวสสันดรมหาสัตว์ จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ล้วนแล้วไปด้วยศิลา ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา. ทรงเพศบรรพชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษาทรง บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง
               ทิวไม้เขียวนั้นทรงผลต่างๆ และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม. นั่นแลเป็นเหล่าอัญชนภูผาเห็นปรากฏอยู่ นั่นเหล่าไม้ตะแบก ไม้หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้สะคร้อและเถายางทราย อ่อนไหวไปตามลม ดังมาณพดื่มสุราครั้งแรกก็โซเซ ฉะนั้น. เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงร้องบนกิ่งต้นไม้ พึงฟังดุจสังคีตโผผินบินจากต้นนั้นสู่ต้นนี้. กิ่งไม้และใบไม้ทั้งหลาย อันลมให้หวั่นไหวแล้วเสียดสีกัน ดังจะชวนบุคคลผู้ผ่านไปให้มายินดี และยังบุคคลผู้อยู่ในที่นั้นให้เพลิดเพลิน ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดรพร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา ทรงเพศบรรพชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษาทรง บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนธมาทโน ความว่า นั่นภูเขาคันธมาทน์ ท่านบ่ายหน้าทางทิศอุดร เดินไปตามเชิงภูเขาคันธมาทน์ จักเห็นอาศรมที่ท้าวสักกะประทาน ซึ่งเป็นที่พระราชาเวสสันดรพร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีประทับอยู่. บทว่า พฺราหฺมณวณฺณํ ได้แก่ เพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ. บทว่า อาสทญฺจ มสญฺชฏํ ความว่า ทรงขอสำหรับสอยเก็บผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง และชฎา. บทว่า จมมวาสี ได้แก่ ทรงหนังเสือเหลือง. บทว่า ฉมา เสติ ความว่า บรรทมเหนือเครื่องปูลาดใบไม้บนแผ่นดิน. บทว่า ธวสสกณณา ขทิรา ได้แก่ ไม้ตะแบก ไม้หูกวาง และไม้ตะเคียน. บทว่า สกึ ปีตาว มาณวา ความว่า เป็นราวกะนักเลงดื่มน้ำเมา ดื่มครั้งเดียวเท่านั้น. บทว่า อุปริ ทุมปริยาเยสุ ได้แก่ ที่กิ่งแห่งต้นไม้ทั้งหลาย. บทว่า สงคีติโยว สุยยเร ความว่า จะได้ฟังเสียงของเหล่านกต่างๆ ที่อยู่กัน ดุจทิพยสังคีต. บทว่า นชชหา ได้แก่ นกโพระดก. บทว่า สมปตนติ ได้แก่ เที่ยวส่งเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าว. บทว่า สาขาปตฺตสมีริตา ความว่า เหล่านกถูกใบแห่งกิ่งไม้ เสียดสีก็พากันส่งเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าว หรือกิ่งไม้มีใบอันลมพัดแล้ว นั่นแล. บทว่า อาคนตํ ได้แก่ คนที่จะจากไป. บทว่า ยตถ ความว่า ท่านไปในอาศรมบท ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเวสสันดรแล้ว จักเห็นสมบัติแห่งอาศรมบทนี้.

               พรานเจตบุตร เมื่อจะพรรณนาถึงอาศรมบทให้ยิ่งขึ้นกว่าที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงกล่าวว่า
               ที่บริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้มะม่วง มะขวิด ขนุน ไม้รัง ไม้หว้า สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม ไม้โพธิ์ พุทรา มะพลับทอง ไม้ไทร ไม้มะสัง ไม้มะซางมีรสหวาน งามรุ่งเรือง และมะเดื่อผลสุก อยู่ในที่ต่ำทั้งกล้วยงาช้าง กล้วยหอม ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ในป่านั้นมีรวงผึ้งไม่มีตัว คนถือเอาบริโภคได้เอง.
               อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีดงมะม่วงตั้งอยู่ บางต้นกำลังออกช่อ บางต้นมีผลเป็นหัวแมลงวัน บางต้นมีผลห่ามเป็นปากตะกร้อ บางต้นมีผลสุก ทั้งสองอย่างนั้นมีพรรณดังสีหลังกบ. อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น บุรุษยืนอยู่ใต้ต้นก็เก็บมะม่วงสุกกินได้. ผลมะม่วงดิบและสุกทั้งหลาย มีสีสวยกลิ่นหอมรสอร่อยที่สุด.
               เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน. ถึงกับออกอุทานว่า อือๆ ที่ประทับของพระเวสสันดรนั้น เป็นดังที่อยู่แห่งเทวดาทั้งหลาย งดงามปานนันทนวัน. มีหมู่ตาล มะพร้าว และอินทผลัมในป่าใหญ่ ราวกะระเบียบดอกไม้ที่ช่างร้อยกรองตั้งไว้ ปรากฏดังยอดธง วิจิตรด้วยบุปผชาติมีพรรณต่างๆ เหมือนดาวเรื่อเรืองอยู่ในนภากาศ แลมีไม้มูกมัน โกฐ สะค้าน และแคฝอย บุนนาค บุนนาคขาและทองหลาง มีดอกบานสะพรั่ง.
               อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะเกลือ กฤษณา รักดำ ก็มีมาก ต้นไทรใหญ่ ไม้รกฟ้า ไม้ประดู่ มีดอกบานสะพรั่งในบริเวณอาศรมนั้น. มีไม้อัญชันเขียว ไม้สน ไม้กะทุ่ม ขนุนสำมะกอ ไม้ตะแบก ไม้รังล้วนมีดอกเป็นพุ่มคล้ายลอมฟาง. ในที่ไม่ไกลอาศรมนั้น มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคน่ารื่นรมย์. ดาดาษไปด้วยปทุมและอุบล ดุจในนันทนอุทยานของเหล่าทวยเทพ ฉะนั้น.
               อนึ่ง ในที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสบุปผชาติ ส่งเสียงไพเราะจับใจ ทำป่านั้นอื้ออึงกึกก้อง ในเมื่อหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบานตามฤดูกาล รสหวานดังน้ำผึ้งร่วงหล่นจากเกสรดอกไม้ลงมาค้างอยู่บนใบบัว เรียกว่าโบกขรมธุ น้ำผึ้งใบบัว (ขันฑสกร) อนึ่ง ลมทางทิศทักษิณและทิศประจิม ย่อมพัดมาที่อาศรมนั้น อาศรมเป็นสถานที่เกลื่อนกล่นด้วยละอองเกสรปทุมชาติ. ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับใหญ่ๆ ทั้งข้าวสาลีร่วงลง ณ ภูมิภาค เหล่าปูในสระนั้นก็มีมาก ทั้งมัจฉาชาติและเต่าว่ายไปตามกันเห็นปรากฏ ในเมื่อเหง้าบัวแตก น้ำหวานก็ไหลออก ดุจนมสด เนยใส ไหลออกจากเหง้าบัว ฉะนั้น.
               วนประเทศนั้นฟุ้งไปด้วยกลิ่นต่างๆ หอมตลบไป วนประเทศนั้น เหมือนดังจะชวนเชิญชนผู้มาถึงแล้ว ให้ยินดีด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม. แมลงผึ้งทั้งหลายก็ร้องตอมอยู่โดยรอบ ด้วยกลิ่นดอกไม้. อนึ่ง ในที่ใกล้อาศรมนั้นมีฝูงวิหคเป็นอันมากมีสีสันต่างๆ กัน บันเทิงอยู่กับคู่ของตนๆ ร่ำร้องขานกะกันและกัน มีฝูงนกอีก ๔ หมู่ ทำรังอยู่ใกล้สระโบกขรณี คือหมู่ที่ ๑ ชื่อนันทิกา ย่อมร้องทูลเชิญพระเวสสันดรให้ชื่นชมยินดี อยู่ในป่านี้. หมู่ที่ ๒ ชื่อชีวปุตตา ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงมีพระชนม์ยืนนานด้วยความสุขสำราญ. หมู่ที่ ๓ ชื่อชีวปุตตาปิยาจโน ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระเวสสันดร พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี ผู้เป็นที่รักของพระองค์จงทรงสำราญ มีพระชนมายุยืนนานไม่มีข้าศึกศัตรู. หมู่ที่ ๔ ชื่อปิยาปุตตาปิยานันทา ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้พระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงเป็นที่รักของพระองค์. ขอพระองค์จงเป็นที่รักของพระโอรสพระธิดาและมเหสี ทรงชื่นชมโสมนัสต่อกันและกัน.
               ทิวไม้ราวกะระเบียบดอกไม้ที่ช่างร้อย กรองตั้งไว้ ปรากฏดังยอดธง วิจิตรด้วยบุปผชาติมีพรรณต่างๆ เหมือนคนฉลาดเก็บมาร้อยกรองไว้. ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระราชาเวสสันดร พร้อมด้วยพระมัทรีราชเทวี ทั้งพระชาลีและพระกัณหาชินา ทรงเพศบรรพชิตอันประเสริฐ และทรงขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิงกับทั้งชฏา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นภูษาทรง บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงนมัสการเพลิง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จารุติมพรุกขา ได้แก่ ต้นมะพลับทอง. บทว่า มธุมธุกา ได้แก่ มะซางมีรสหวาน. บทว่า เถวนติ แปลว่า ย่อมรุ่งเรือง. บทว่า มธุตถิกา ได้แก่ เหมือนน้ำผึ้ง หรือเช่นกับรวงผึ้งเพราะมีน้ำหวานไหลเยิ้ม. บทว่า ปาเรวตา ได้แก่ ต้นกล้วยงาช้าง. บทว่า ภเวยยา ได้แก่ กล้วยมีผลยาว. บทว่า สกมาทาย ความว่า ถือเอารวงผึ้งนั้นบริโภคได้เองทีเดียว. บทว่า โทวิลา ได้แก่ มีดอกและใบร่วงหล่น มีผลดาษดื่น. บทว่า เภงควณณา ตทูภยํ ความว่า มะม่วงทั้งสองอย่างนั้นคือ ดิบบ้าง สุกบ้าง มีสีเหมือนสีของหลังกบทีเดียว. บทว่า อเถตถ เหฏฐา ปุริโส ความว่า อนึ่ง ณ อาศรมนั้น บุรุษยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้น ย่อมเก็บผลมะม่วงได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นต้น. บทว่า วณณคนธรสุตตมา ได้แก่ อุดมด้วยสีเป็นต้นเหล่านี้. บทว่า อเตว เม อจฉริยํ ความว่า เป็นที่อัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน. บทว่า หิงกาโร ได้แก่ ทำเสียงว่า หึๆ.
               บทว่า วิเภทิกา ได้แก่ ต้นตาล. บทว่า มาลาว คนถิตา ความว่า ดอกไม้ทั้งหลายตั้งอยู่บนต้นไม้ ที่มีดอกบานสะพรั่ง เหมือนพวงมาลัยที่นายมาลาการร้อยกรองไว้. บทว่า ธชคคาเนว ทิสสเร ความว่า ต้นไม้เหล่านั้นปรากฏราวกะยอดธงที่ประดับแล้ว. บทว่า กุฏชี กุฏฐตครา ได้แก่ รุกขชาติอย่างหนึ่งชื่อว่าไม้มูกมัน กอโกฐ และกอกฤษณา. บทว่า คิริปุนนาคา ได้แก่ บุญนาคใหญ่. บทว่า โกวิฬารา ได้แก่ ต้นทองหลาง. บทว่า อุทธาลกา ได้แก่ ต้นราชพฤกษ์ดอกสีเหลือง. บทว่า ภลลิยา ได้แก่ ต้นรักดำ. บทว่า ลพุชา ได้แก่ ต้นขนุนสำมะลอ. บทว่า ปุตตชีวา ได้แก่ ต้นไทรใหญ่. บทว่า ปลาลขลสนนิภา ความว่า พรานเจตบุตรกล่าวว่า ดอกไม้ที่ร่วงหล่นใต้ต้นไม้เหล่านั้น คล้ายลอมฟาง. บทว่า โปกขรณี ได้แก่ สระโบกขรณีสี่เหลี่ยม. บทว่า นนทเน ได้แก่ เป็นราวกะสระนันทนโบกขรณี ในนันทนวนอุทยาน. บทว่า ปุปผรสมตตา ได้แก่ เมาด้วยรสของบุปผชาติ คือถูกรสของบุปผชาติรบกวน. บทว่า มกรนเทหิ ได้แก่ เกสรดอกไม้.
               บทว่า โปกขเร โปกขเร ความว่า เรณูร่วงจากเกสรดอกบัวเหล่านั้นลงบนใบบัว ชื่อโปกขรมธุน้ำผึ้งใบบัว (ซึ่งแพทย์ใช้เข้ายาเรียกว่า ขัณฑสกร). บทว่า ทกขิณา อถ ปจฉิมา ความว่า ลมจากทิศน้อยทิศใหญ่ทุกทิศ ท่านแสดงด้วยคำเพียงเท่านี้. บทว่า ถูลา สึฆาฏกา ได้แก่ กระจับขนาดใหญ่. บทว่า สสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเล็กๆ ซึ่งเป็นข้าวสาลีที่เกิดเองตั้งอยู่ เรียกว่าข้าวสาลีบริสุทธิ์ ก็มี. บทว่า ปสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเหล่านั้นแหละร่วงลงบนพื้นดิน. บทว่า พฺยาวิธา ความว่า เหล่าสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เที่ยวไปเป็นกลุ่มๆ ในน้ำใส ว่ายไปตามลำดับปรากฏอยู่. บทว่า มูปยานกา ได้แก่ ปู. บทว่า มธํ ภึเสหิ ความว่า เมื่อเหง้าบัวแตก น้ำหวานไหลออกเช่นกับน้ำผึ้ง. บทว่า ขีรํ สปปิ มูฬาลิภิ ความว่า น้ำหวานที่ไหลออกจากเหง้าบัว เป็นราวกะเนยข้นเนยใสผสมน้ำนม. บทว่า สมโมทิเตว ความว่า เป็นเหมือนจะยังชนที่ถึงแล้วให้ยินดี. บทว่า สมนตามภินาทิตา ความว่า เที่ยวบินร่ำร้องอยู่โดยรอบ.
               บทว่า นนฺทิกา เป็นต้นเป็นชื่อของนกเหล่านั้น ก็บรรดานกเหล่านั้น นกหมู่ที่ ๑ ร้องถวายพระพรว่า ข้าแต่พระเวสสันดรเจ้า ขอพระองค์จงชื่นชมยินดีประทับอยู่ในป่านี้เถิด. นกหมู่ที่ ๒ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระองค์พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีจงมีพระชนม์ยืนนาน ด้วยความสุขสำราญเถิด. นกหมู่ที่ ๓ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระองค์พร้อมทั้งพระโอรสพระธิดา และพระมเหสีผู้เป็นที่รักของพระองค์ จงทรงสำราญมีพระชนม์ยืนนาน. ไม่มีข้าศึกศัตรูเถิด. นกหมู่ที่ ๔ ร้องถวายพระพรว่า ขอพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี จงเป็นที่รักของพระองค์. ขอพระองค์จงเป็นที่รักของพระโอรสพระธิดา และพระมเหสี. ทรงชื่นชมโสมนัสกันและกันเถิด. เพราะเหตุนั้น นกเหล่านั้นจึงได้มีชื่ออย่างนี้แล. บทว่า โปกขรณีฆรา ได้แก่ ทำรังอยู่ใกล้สระโบกขรณี.

               พรานเจตบุตรแจ้งสถานที่ประทับของพระเวสสันดรอย่างนี้แล้ว ชูชกก็ยินดี เมื่อจะทำปฏิสันถาร จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ก็สัตตูผงอันระคนด้วยน้ำผึ้งและสัตตูก้อน มีรสหวานอร่อยของลุงนี้ อมิตตตาปนาจัดแจงให้แล้ว ลุงจะแบ่งให้แก่เจ้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตตุภตตํ ได้แก่ ภัตตาหาร คือสัตตูที่คล้ายน้ำผึ้งเคี่ยว. มีคำอธิบายว่า สัตตูของลุงที่มีอยู่นี้นั้น ลุงจะให้แก่เจ้า เจ้าจงรับเอาเถิด.

               พรานเจตบุตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ จงเอาไว้เป็นเสบียงทางของลุงเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการเสบียงทาง ขอเชิญลุงรับน้ำผึ้งกับขาเนื้อย่าง จากสำนักของข้านี้เอาไปเป็นเสบียงทาง ขอให้ลุงไปตามสบายเถิด ทางนี้เป็นทางเดินได้คนเดียว มาตามทางนี้ ตรงไปสู่อาศรมอัจจุตฤาษี.
               พระอัจจุตฤาษีอยู่ในอาศรมนั้น มีฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ทรงเพศเป็นพราหมณ์ มีขอสำหรับสอยผลาผล ภาชนะสำหรับใช้ในการบูชาเพลิง กับทั้งชฎา ครองหนังเสือเหลือง นอนเหนือแผ่นดิน นมัสการเพลิง ลุงไปถึงแล้วถามท่านเถิด ท่านจักบอกหนทางให้แก่ลุง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมพลํ ได้แก่ เสบียงทาง. บทว่า เอติ ความว่า หนทางเดินได้เฉพาะคนเดียวมาตรงหน้าเราทั้งสองนี้ ตรงไปอาศรมบท. บทว่า อจจโต ความว่า ฤาษีองค์หนึ่งมีชื่ออย่างนี้ อยู่ในอาศรมนั้น.

               ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์ได้ฟังคำนี้แล้ว ทำประทักษิณเจตบุตร มีจิตยินดี เดินทางไปยังสถานที่ อัจจุตฤาษีอยู่
ดังนี้แล.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยนาสิ ความว่า อัจจุตฤาษีอยู่ในที่ใด ชูชกไปแล้วในที่นั้น.
               จบจุลวนวรรณนา

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=6531
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=6531
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :