ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๐.

               มัทรีบรรพ

               ก็ในเมื่อ พระเวสสันดรราชฤาษีทรงบริจาคปิยบุตรมหาทาน เกิดมหัศจรรย์ มหาปฐพีบันลือลั่นโกลาหลเป็นอันเดียวกันตลอดถึงพรหมโลก หมู่เทวดาที่อยู่ ณ หิมวันตประเทศ เป็นประหนึ่งมีหทัยจะภินทนาการ ด้วยเหตุอันได้ยินเสียง พิลาปรำพันนั้นแห่งพระชาลีราชกุมาร และพระกัณหาชินาราชกุมารี ที่ชูชกพราหมณ์นำไป ต่างปรึกษากันว่า ถ้าพระนางมัทรีเสด็จมาสู่อาศรมสถานแต่วัน พระนางไม่เห็นพระโอรสธิดาในอาศรมนั้น ทูลถามพระเวสสันดรทรงทราบว่า พระราชทานแก่พราหมณ์ชูชกไปแล้ว พึงเสด็จแล่นตามไปด้วยความเสน่หาเป็นกำลัง ก็จะพึงเสวยทุกข์ใหญ่.
               ลำดับนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงบังคับสั่งเทพบุตร ๓ องค์ว่า ท่านทั้ง ๓ จงจำแลงกายเป็นราชสีห์ เป็นเสือโคร่ง เป็นเสือเหลือง กั้นทางเสด็จพระนางมัทรีไว้ แม้พระนางวิงวอนขอทางก็อย่าให้ จนกว่าดวงอาทิตย์อัสดงคต พึงจัดอารักขาให้ดี เพื่อไม่ให้ราชสีห์เป็นต้น เบียดเบียนพระนางได้ จนกว่าได้เสด็จเข้าอาศรม ด้วยแสงจันทร์.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เทพเจ้าทั้งหลายได้ฟังความคร่ำครวญของราชกุมารกุมารี จึงได้กล่าวกะเทพบุตรทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้งสามจงจำแลงกายเป็นสัตว์ร้ายในป่า คือเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง คอยกันพระนางมัทรีราชบุตรี อย่าพึงเสด็จกลับมาจากเสาะหาผลาผลแต่เย็นเลย เหล่าพาลมฤคในป่าอันเป็นเขตแดนของพวกเรา อย่าได้เบียดเบียนพระนางเจ้าเลย ถ้าราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง พึงเบียดเบียนพระนางเจ้าผู้มีลักษณะ พระชาลีราชกุมารจะไม่พึงมีพระชนม์อยู่ พระกัณหาชินาจะพึงมีพระชนม์ อยู่แต่ไหน พระนางเจ้าผู้มีลักษณะจะพึงเสื่อมจากพระราชสวามี และพระปิยบุตรทั้งสอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ วจนมพรวํ ความว่า เทวดาเหล่านั้นได้กล่าวคำนี้กะเทพบุตรทั้งสามว่า ท่านทั้งหลายคือทั้งสามองค์ จงแปลงเป็นพาลมฤคในป่า สามชนิดอย่างนี้คือราชสีห์หนึ่ง เสือโคร่งหนึ่ง เสือเหลืองหนึ่ง. บทว่า มา เหว โน ความว่า เทวดาทั้งหลายกล่าวว่า พระนางมัทรีราชบุตรีอย่าเสด็จกลับมาจากเสาะหาผลาผลแต่เย็นเลย จงเสด็จมาจนค่ำ อาศัยแสงเดือน. บทว่า มา เหวมหากํ นิพโภเค ความว่า พาลมฤคไรๆ ในป่าอันเป็นเขตแดน คือเป็นแว่นแคว้นของพวกเรา อย่าได้เบียดเบียนพระนางเจ้า ในป่าชัฏของพวกเราเลย เทวดาทั้งหลายสั่งเทพบุตรทั้งสามว่า พวกท่านจงอารักขาพระนางมัทรี โดยประการที่สัตว์ร้ายทั้งหลายเบียดเบียนไม่ได้. บทว่า สีโห เจ นํ ความว่า ก็ถ้าสัตว์ร้ายไรๆ ในบรรดาราชสีห์เป็นต้น พึงเบียดเบียนพระนางมัทรี ซึ่งไม่มีการระวังรักษา ครั้นเมื่อพระนางมัทรีถึงชีพิตักษัย พระชาลีราชกุมารจะไม่พึงมีพระชนม์อยู่ พระกัณหาชินาราชกุมารีจะพึงมีพระชนม์อยู่ แต่ไหน พระนางเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะนั้น จะพึงเสื่อมจากพระปิยบุตรทั้งสองทีเดียว. บทว่า ปติปุตเต จ ความว่า พระนางเจ้ามัทรีจะพึงเสื่อมจากส่วนทั้งสอง เพราะฉะนั้น ท่านทั้งสามจงจัดอารักขาให้ดี.

               ครั้งนั้น เทพบุตรทั้งสามรับคำของเทวดาเหล่านั้นว่า สาธุ. ต่างจำแลงกายกลายเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง มานอนหมอบเรียงกันอยู่ ในมรรคาที่พระนางเจ้ามัทรีเสด็จมา.
               ฝ่ายพระนางมัทรีหวั่นพระหฤทัยว่า วันนี้เราฝันร้าย จักหามูลผลาผลในป่ากลับอาศรมแต่วัน ก็ทรงพิจารณาหามูลผลาผลทั้งหลาย. ลำดับนั้น (เกิดลางร้าย) เสียมหลุดจากพระหัตถ์ของพระนางเจ้า กระเช้าก็หลุดจากพระอังสา. พระเนตรเบื้องขวาก็เขม่น พฤกษาชาติที่มีผลก็เป็นเหมือนไม่มีผล. พฤกษาชาติที่ไม่เคยมีผล ก็ปรากฏเป็นราวกะว่ามีผล. ทิศทั้งปวงก็ไม่ปรากฏ. พระนางเจ้ามัทรีทรงพิจารณาว่า นี่เป็นอย่างไรหนอ ไม่เคยมีมาแต่ก่อนก็มามี ในวันนี้เหตุการณ์อะไรจักมีแก่เราแก่ลูกทั้งสองของเรา หรือแด่พระเวสสันดรราชสวามี กระมัง.

               ทรงคิดฉะนี้แล้ว ตรัสว่า
               เสียมก็ตกจากมือของเรา และนัยน์ตาขวาของเราก็เขม่น รุกขชาติที่เคยมีผลก็หาผลมิได้. ทิศทั้งปวง เราก็ฟั่นเฟือนลุ่มหลง. พระนางเจ้าเสด็จมาสู่อาศรมในเวลาเย็น ในเมื่อดวงอาทิตย์อัศดงคต พาลมฤคก็ปรากฏในหนทาง.
               ครั้นเมื่อพระอาทิตย์โคจรลงต่ำ อาศรมก็ยังอยู่ไกล เราจักนำมูลผลาผลใดไปแต่ที่นี้ เพื่อพระราชสวามีและลูกทั้งสอง พระราชสวามีและลูกทั้งสองพึงเสวยมูลผลาผล อันเป็นของเสวยนั้น พระบรมกษัตริย์ผู้ภัสดาเสด็จอยู่ที่บรรณศาลา แต่พระองค์เดียวแท้ๆ ทรงเห็นว่า เรายังไม่กลับ ก็จะทรงปลอบโยนพระโอรสพระธิดาผู้หิว ลูกทั้งสองของเราเป็นกำพร้า ด้วยความเข็ญใจ. เคยเสวยนม เคยเสวยน้ำ ในเวลาที่คนสามัญเรียกให้อาหารเวลาเย็น ลูกทั้งสองของเราเป็นกำพร้า ด้วยความเข็ญใจ. เคยลุกยืนรับเรา เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยแม่โคนม ลูกทั้งสองของเราเป็นกำพร้า ด้วยความเข็ญใจ. หรือประหนึ่งลูกหงส์ยืนอยู่บนเปือกตมคอยแม่. ลูกทั้งสองของเราเป็นกำพร้าด้วยความเข็ญใจ. เคยยืนรับเราแต่ที่ใกล้อาศรม ทางเดินไปมีเฉพาะทางเดียว เป็นทางเดินได้คนเดียว เพราะมีสระและที่ลุ่มลึกอยู่ข้างๆ เราไม่เห็นทางอื่นซึ่งจะพึงแยกไปสู่อาศรม.
               ข้าขอนอบน้อมพระยาพาลมฤคผู้มีกำลังมากในป่า ท่านทั้งหลายจงเป็นพี่ของข้าโดยธรรม จงให้มรรคาแก่ข้าผู้ขอเถิด. ข้าเป็นมเหสีของพระเวสสันดรราชบุตรผู้มีสิริ ผู้ถูกเนรเทศจากแคว้น ข้าผู้อนุวัตรไม่ล่วงเกินพระราชสวามี ดุจนางสีดาผู้อนุวัตรไม่ล่วงเกินพระรามราชสวามี ฉะนั้น. ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ข้า แล้วไปพบลูกทั้งสอง เพราะถึงเวลาเรียกกินอาหารเย็นแล้ว. ส่วนข้าก็จะได้ไปพบชาลี และกัณหาชินาบุตรบุตรีทั้งสองของข้า. รากไม้ผลไม้นี้มีมากและภักษานี้ก็มีไม่น้อย. ข้าให้กึ่งหนึ่งแต่มูลผลาผลนั้น แก่ท่านทั้งหลาย. ท่านทั้งหลายจงให้มรรคาแก่ข้าผู้ขอเถิด พระมารดาของพวกข้าเป็นพระราชบุตรี และพระบิดาของพวกข้าก็เป็นพระราชบุตร. ท่านทั้งหลายจงเป็นภาดาของข้าโดยธรรม จงให้มรรคาแก่ข้าผู้ขอเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสสา ได้แก่ เรานั้น. บทว่า อสสมาคมนํ ปติ ความว่า มาหมายเฉพาะอาศรม. บทว่า อุปฏหํ ได้แก่ ปรากฏขึ้น เล่ากันมาว่า สามสัตว์เหล่านั้นนอนเรียงกันอยู่ก่อน. เวลาพระนางมัทรีเสด็จมา จึงลุกขึ้นบิดตัวแล้ว แล้วกั้นมรรคายืนขวางเรียงกันอยู่. บทว่า ยญฺจ เนสํ ความว่า ชนทั้งสามนั้น คือ พระเวสสันดรและลูกน้อยทั้งสองของพระองค์ พึงบริโภคมูลผลาผล ที่ข้านำไปแต่ป่านี้เพื่อเขา โภชนาหารอย่างอื่นไม่มีแก่เขาเหล่านั้น. บทว่า อนายตึ ความว่า พระเวสสันดรทราบว่า ข้ายังไม่กลับมา พระองค์เดียวนั่นแหละ ประทับนั่งปลอบโยนเด็กทั้งสองแน่ๆ. บทว่า สํเวสนากาเล ได้แก่ ในเวลาที่ตนให้กินอาหาร ให้ดื่มน้ำในวันอื่นๆ. บทว่า ขีรํ ปีตาว ความว่า พระนางมัทรีตรัสว่า ลูกน้อยมฤคีที่ยังไม่อดนมร้องหิวนม เมื่อไม่ได้นมก็ร้องไห้จนหลับไป ฉันใด. ลูกน้อยทั้งสองของข้า ร้องไห้อยากผลาผล เมื่อไม่ได้ผลาผลก็จักร้องไห้จนหลับไป ฉันนั้น. บทว่า วารึ ปีตาว ความว่า ในอาศรมบท พึงเห็นเนื้อความโดยนัยนี้ว่า เหมือนลูกน้อยมฤคีมีความระหาย ร้องหิวน้ำ. เมื่อไม่ได้น้ำก็ร้องคร่ำครวญจนหลับไป. บทว่า อจฉเร ได้แก่ อยู่. บทว่า ปจจุคตา มํ ตฏฺนติ ความว่า ยืนคอยรับเรา. ปาฐะว่า ปจจุคคตํ ก็มีความว่า ต้อนรับ. บทว่า เอกายโน ได้แก่ เป็นที่ไปแห่งคนผู้เดียวเท่านั้น คือเป็นทางเดินได้เฉพาะคนเดียว. บทว่า เอกปโถ ความว่า ทางนั้นเฉพาะคนเดียวเท่านั้น ไม่มีคนที่สอง คือไม่อาจแม้จะก้าวลงไปได้. เพราะเหตุไร เพราะมีสระและที่ลุ่มลึกอยู่ข้างทาง.
               บทว่า นมตฺถุ ความว่า พระนางมัทรีนั้นทอดพระเนตรไม่เห็นทางอื่นคิดว่า เราจักอ้อนวอนสามสัตว์เหล่านี้ให้ช่วยเรากลับไปได้ จึงลดกระเช้าผลไม้ลงจากพระอังสา ประคองอัญชลีนมัสการกล่าวอย่างนี้. บทว่า ภาตโร ความว่า ก็พวกเราเป็นลูกของเจ้ามนุษย์ แม้พวกท่านก็เป็นลูกของเจ้ามฤค. ดังนั้น ขอพวกท่านจงเป็นพี่โดยธรรมของข้าเถิด. บทว่า อวรุทธสส ได้แก่ ถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น. บทว่า รามํ สีตาวนุพพตา ความว่า พระนางมัทรีกล่าวว่า พระเทวีสีดาผู้พระกนิษฐาของพระราม เป็นพระอัครมเหสีของพระรามนั้นเอง เป็นผู้อนุวัตรตามพระราม คือ เคารพยำเกรงพระรามผู้สวามีเหมือนเทวดา เป็นผู้ไม่ประมาทบำรุงบำเรอพระรามราชโอรสของพระเจ้าทศรถมหาราช ฉันใด. แม้ข้าก็เป็นผู้ไม่ประมาทบำรุงบำเรอพระเวสสันดร ฉันนั้น. บทว่า ตุมฺเห จ ความว่า พระนางมัทรีอ้อนวอนว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้มรรคาแก่เราแล้วไปพบลูกๆ ของท่านในเวลากินอาหารเย็น. ส่วนข้าก็จะพบลูกๆ ของข้า. ขอท่านทั้งหลายจงให้มรรคาเถิด.

               ครั้งนั้น เทพบุตร (ที่จำแลงเป็นสามสัตว์) เหล่านั้น แลดูเวลาก็รู้ว่า บัดนี้เป็นเวลาที่จะให้มรรคาแก่พระนางแล้ว จึงลุกขึ้นหลีกไป.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เมื่อพระนางเจ้ามัทรีทรงพิไรรำพันอยู่ เหล่ามฤคจำแลงได้ฟังพระวาจาอันอ่อนหวาน กอรปด้วยน่าเอ็นดูมาก ก็หลีกไปจากทางเสด็จ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนลปตึ ความว่า วาจาอ่อนหวานบริสุทธิ์ ไม่มากไปด้วยน้ำลาย คือปราศจากน้ำลายแตก.

               เมื่อพาลมฤคทั้งสามหายไปแล้ว พระนางเจ้ามัทรีก็เสด็จไปถึงอาศรม ก็ในกาลนั้นเป็นวันบูรณมีอุโบสถ พระนางเจ้าเสด็จถึงท้ายที่จงกรม ไม่เห็นพระลูกรักทั้งสองซึ่งเคยเห็นในที่นั้นๆ จึงตรัสว่า
               พระลูกน้อยทั้งสองขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่น เคยลุกยืนรับเราในประเทศนี้ ดุจลูกวัวอ่อนยืนคอยแม่โคนม ฉะนั้น. พระลูกน้อยทั้งสองขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่น เคยยืนต้อนรับแม่อยู่ตรงนี้ดุจหงส์ยืนอยู่บนเปือกตม ฉะนั้น. พระลูกน้อยทั้งสองขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่น เคยยืนรับเราอยู่ที่ใกล้อาศรมนี้. ลูกทั้งสองเคยร่าเริงหรรษา วิ่งมาต้อนรับแม่ ดุจมฤคชาติชูหูวิ่งแล่นไปโดยรอบ ฉะนั้น. ร่าเริงบันเทิงเป็นไป ประหนึ่งยังหัวใจแม่ให้ยินดี.
               วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น วันนี้แม่ละลูกทั้งสองออกไปหาผลไม้ เหมือนแม่แพะแม่เนื้อและแม่นกพ้นไปจากรัง และแม่ราชสีห์อยากได้เหยื่อละลูกไว้ออกไป ฉะนั้น แม่กลับมาก็ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น ซึ่งมีรอยบาทก้าวไปมาปรากฏอยู่ ดุจรอยเท้าแห่งช้าง ข้างภูเขาและกองทรายที่ลูกทั้งสองกองไว้ ยังเกลื่อนอยู่ในที่ไม่ไกลอาศรม แม่ไม่เห็นลูกทั้งสองซึ่งเคยเอาทรายโปรยเล่น จนกายขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่นวิ่งไปรอบๆ วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสอง ซึ่งแต่ก่อนเคยต้อนรับแม่ผู้กลับจากป่ามาแต่ไกล วันนี้แม่ไม่เห็นลูกทั้งสองซึ่งคอยรับแม่ แลดูแม่แต่ไกลดุจลูกแพะลูกเนื้อวิ่งมาหาแม่ของตนแต่ไกล ก็ผลมะตูมเหลืองนี้เป็นของเล่นของลูกทั้งสองตกอยู่แล้ว วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น ถันทั้งสองของแม่นี้เต็มด้วยน้ำนม แต่อุระราวกะจะแตกทำลาย.
               วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น. ลูกชายหรือลูกหญิงเลือกดื่มนมอยู่บนตักของแม่ ราวกะถันข้างหนึ่งของแม่จะยาน. วันนี้แม่ไม่เห็นชาลีและกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น. ลูกน้อยทั้งสองขะมุกขะมอมไปด้วยฝุ่นในสายัณห์สมัย มาเกลือกกลิ้งไปมาบนตักแม่. แม่ไม่เห็นลูกทั้งสองนั้น เมื่อก่อนอาศรมนี้นั้นปรากฏแก่เราราวกะมีมหรสพ. วันนี้แม่ไม่เห็นลูกทั้งสองนั้น อาศรมเหมือนจะหมุนไป.
               นี่อย่างไร อาศรมสถานเงียบเสียงเสียทีเดียว ปรากฏแก่แม่. แม้แต่ฝูงกาก็ไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของแม่จักสิ้นชนมชีพเสียแน่แล้ว. นี่อย่างไร อาศรมสถานเงียบเสียงเสียทีเดียว ปรากฏแก่แม่. แม้แต่ฝูงสกุณชาติก็ไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของแม่จักสิ้นชนมชีพเสียแน่แล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า ปํสุกุณฐิตา ได้แก่ เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่น. บทว่า ปจจคคตา มํ ความว่า คอยรับเรา. ปาฐะว่า ปจจุคนตํ ดังนี้ก็มี ความว่า ต้อนรับ. บทว่า อุกกณณา ความว่า เหมือนพวกลูกเนื้อตัวน้อยๆ เห็นแม่ก็ยกหูชูคอเข้าไปหาแม่ ร่าเริงยินดี วิ่งเล่นอยู่รอบๆ. บทว่า วตมานาว กมปเร ความว่า เป็นไปราวกะยังหัวใจของแม่ให้ยินดี. เมื่อก่อนลูกทั้งสองของเราเป็นอย่างนี้. บทว่า ตยชฺช ความว่า วันนี้แม่ไม่เห็นลูกรักทั้งสองนั้น. บทว่า ฉคิลีว มิคี ฉาปํ ความว่า พระนางมัทรีกล่าวว่า แม่แพะ แม่เนื้อและแม่นกที่พ้นไปจากรัง คือกรง และแม่ราชสีห์ที่อยากได้เหยื่อ ละลูกน้อยของตนหลีกไปหาเหยื่อ ฉันใด. แม่ก็ละลูกทั้งสองออกไป ฉันนั้น.
               บทว่า อิทํ เนสํ ปรกกนตํ ความว่า รอยเท้าที่วิ่งไปวิ่งมาในสถานที่เล่นของลูกทั้งสองยังปรากฏอยู่ ดุจรอยเท้าช้างที่เนินเขาในฤดูฝน. บทว่า จิตกา ได้แก่ กองทรายที่ลูกทั้งสองกองเข้าไว้. บทว่า ปริกิณณาโย ได้แก่ กระจัดกระจาย. บทว่า สมนฺตามภิธาวนฺติ ความว่า วิ่งแล่นไปรอบๆ ในวันอื่นๆ. บทว่า ปจจเทนติ ได้แก่ ต้อนรับ. บทว่า ทูรมายตึ ได้แก่ ผู้มาแต่ไกล. บทว่า ฉคิลึว มิคึ ฉาปา ความว่า เห็นแม่ของตนแล้ววิ่งมาหา เหมือนลูกแพะเห็นแม่แพะ ลูกเนื้อเห็นแม่เนื้อ. บทว่า อิทญฺจ เนสํ กีฬนํ ความว่า ผลมะตูมมีสีดังทองนี้ เป็นของเล่นของลูกทั้งสองซึ่งเล่นตุ๊กตาช้างเป็นต้น กลิ้งตกอยู่แล้ว. บทว่า มยฺหิเม ความว่า ก็ถันทั้งสองของเรานี้เต็มด้วยน้ำนม. บทว่า อุโร จ สมปทาลิภิ ความว่า แต่หทัยเหมือนจะแตก. บทว่า อุจจงเก เม วิวตตนติ ความว่า กลิ้งเกลือกอยู่บนตักของเรา. บทว่า สมมชโช ปฏิภาติ มํ ความว่า ปรากฏแก่เราเหมือนโรงมหรสพ. บทว่า ตยชช ตัดบทเป็น เต อชช ความว่า วันนี้เราไม่เห็นลูกทั้งสองนั้น. น ปสสนตยา ได้แก่ เราไม่เห็นอยู่. บทว่า ภมเต วิย ความว่า ย่อมหมุนเหมือนจักรของช่างหม้อ. บทว่า กาโกลา ได้แก่ ฝูงกาป่า. บทว่า มตา นูน ความว่า จักตายคือจักถูกใครๆ นำไปแน่. บทว่า สกุณาปิ ได้แก่ ฝูงนกที่เหลือ. บทว่า มตา นูน ความว่า จักตายเสียเป็นแน่แล้ว

               พระนางมัทรีพิลาปรำพันอยู่ ด้วยประการฉะนี้ เสด็จไปเฝ้าพระเวสสันดรมหาสัตว์ ปลงกระเช้าผลไม้ลง เห็นพระมหาสัตว์ประทับนั่งนิ่งอยู่ เมื่อไม่เห็นพระโอรสธิดาในสำนักพระภัสดา จึงทูลถามว่า
               นี่อย่างไร พระองค์ทรงนิ่งอยู่ เออก็เมื่อหม่อมฉันฝันในราตรี ใจก็นึกถึงอยู่ แม้ฝูงกาฝูงนกก็ไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของหม่อมฉันจักสิ้นชีพเสียแน่แล้ว ข้าแต่พระลูกเจ้า พาลมฤคในป่าที่ไร้ผลและเงียบสงัด ได้กัดกินลูกทั้งสองของหม่อมฉันเสีย แล้วกระมัง หรือใครนำลูกทั้งสองของหม่อมฉันไปเสียแล้ว ลูกทั้งสองของหม่อมฉัน พระองค์ให้เป็นทูตส่งไปเฝ้าพระสีวีราชกรุงเชตุดร หรือเธอผู้ช่างตรัสเป็นที่รักบรรทม หลับในบรรณศาลา หรือเธอขวนขวายในการเล่นเสด็จออกไปข้างนอกหนอ เส้นพระเกสาของลูกทั้งสองไม่ปรากฏ พระหัตถ์และพระบาทซึ่งมีลายตาข่าย ก็ไม่ปรากฏเลย เห็นจะถูกนกทั้งหลายโฉบคาบไป ลูกทั้งสองของหม่อมฉัน อันใครนำไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ รตเตว เม มโน ความว่า เออ ก็ใจของหม่อมฉันเป็นเหมือนเห็นสุบิน ในเวลาใกล้รุ่ง. บทว่า มิคา ได้แก่ พาลมฤคมีราชสีห์เป็นต้น. บทว่า อีริเน ได้แก่ ไร้ผล. บทว่า วิวเน ได้แก่ เงียบสงัด. บทว่า อาทู เต ความว่า หรือว่าพระองค์ให้เป็นทูตส่งไปเฝ้าพระเจ้าสีวีราชกรุงเชตุดร. บทว่า อาทู สุตตา ความว่า เสด็จเข้าบรรทมภายในบรรณศาลา. บทว่า อาทู พหิ โน ความว่า พระนางมัทรีทูลถามว่า หรือว่าลูกทั้งสองของหม่อมฉันเหล่านั้น ขวนขวายในการเล่นออกไปข้างนอก. บทว่า เนวาสํ เกสา ทิสสนติ ความว่า ข้าแต่พระสวามีเวสสันดร เกสาสีดอกอัญชันดำของลูกทั้งสองนั้น ไม่ปรากฏเลย หัตถ์และบาทซึ่งมีลายตาข่าย ก็ไม่ปรากฏ. บทว่า สกุณานญฺจ โอปาโต ความว่า ในหิมวันตประเทศมีนกหัสดีลิงค์ นกเหล่านั้นบินมาพาไปทางอากาศนั่นแล เหตุนั้น หม่อมฉันอันนกเหล่านั้นนำไปหรือ แม้นกอะไรๆ อื่นจากนี้ซึ่งเป็นราวกะว่านกเหล่านั้นโฉบเอาไป ขอพระองค์โปรดบอก ลูกทั้งสองของหม่อมฉันอันใครนำไป.

               แม้เมื่อพระนางมัทรีกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็มิได้ตรัสอะไร ลำดับนั้น พระนางจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสกะหม่อมฉัน หม่อมฉันมีความผิดอย่างไร ทูลฉะนี้ แล้วตรัสว่า
               การที่พระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันนี้ เป็นทุกข์ยิ่งกว่า การที่วันนี้หม่อมฉันไม่เห็นชาลี และกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร การไม่เห็นลูกทั้งสองและพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉัน แม้นี้เป็นทุกข์ซ้ำสอง เหมือนลูกศรแทงหทัยของหม่อมฉัน
               ข้าแต่พระราชบุตร วันนี้ ถ้าพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันตลอดราตรีนี้ พรุ่งนี้เช้า ชะรอยพระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันปราศจากชีวิตตายเสียแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ตโต ทุกขตรํ ความว่า ข้าแต่พระสวามีเวสสันดร การที่พระองค์ไม่ตรัสกับหม่อมฉัน เป็นทุกข์แก่หม่อมฉันยิ่งกว่า ทุกข์ที่หม่อมฉันถูกเนรเทศจากแว่นแคว้นมาอยู่ป่า และทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นลูกทั้งสอง. เพราะพระองค์ทำให้หม่อมฉันลำบากด้วยความนิ่ง. เหมือนรื้อเรือนไฟไหม้ เหมือนเอาไม้ตีคนตกต้นตาล เหมือนเอาลูกศรแทงที่แผล. ด้วยว่า หทัยของหม่อมฉันนี้ย่อมหวั่นไหวและเจ็บปวด เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร. ปาฐะว่า สํวิทฺโธ ดังนี้ก็มี ความว่า แทงทะลุตลอด. บทว่า โอกกนตสนตมํ ได้แก่ ซึ่งหม่อมฉันผู้ปราศจากชีวิต. โน อักษร ในบทว่า ทกฺขสิ โน นี้เป็นเพียงนิบาต ความว่า พระองค์จะได้ทอดพระเนตร เห็นหม่อมฉันตายเสียแล้วตรงเวลาทีเดียว.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราจักให้พระนางมัทรีละความโศก เพราะบุตรเสียด้วยถ้อยคำหยาบ จึงตรัสคาถานี้ว่า
               แน่ะมัทรี เธอเป็นราชบุตร มีรูปงาม มียศ ไปเสาะหาผลไม้แต่เช้า ไฉนหนอ จึงกลับมาจนเย็น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมิทํ สายมาคตา ความว่า พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ตรัสคุกคามและลวงว่า แน่ะมัทรี เธอมีรูปงามน่าเลื่อมใส และในหิมวันตประเทศก็มีพรานป่า ดาบสและวิทยาธรเป็นต้น ท่องเที่ยวอยู่เป็นอันมาก ใครจะรู้เรื่องอะไรๆ ที่เธอทำแล้ว เธอไปป่าแต่เช้า กลับมาจนเย็น นี่อย่างไร ธรรมดา หญิงที่ละเด็กเล็กๆไปป่า จะเป็นหญิงมีสามีหรือไม่มีก็ตาม ย่อมไม่เป็นอย่างนี้ ความคิดแม้เพียงนี้ว่า ลูกน้อยของเราจะเป็นอย่างไร หรือสามีของเราจักคิดอย่างไร ดังนี้มิได้มีแก่เธอ เธอไปแต่เช้า กลับมาด้วยแสงจันทร์นี้ เป็นโทษแห่งความยากเข็ญของฉัน.

               พระนางมัทรีได้สดับพระราชดำรัสดังนั้น จึงทูลสนองว่า
               พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกึกก้องของพาลมฤค ที่มาสู่สระเพื่อดื่มน้ำ คือราชสีห์ เสือโคร่ง ผู้บันลือเสียงแล้ว มิใช่หรือ? บุรพนิมิตได้เกิดมีแก่หม่อมฉันผู้เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ เสียมหลุดจากมือของหม่อมฉัน กระเช้าที่คล้องอยู่บนบ่าก็พลัดตก กาลนั้น หม่อมฉันตกใจกลัว ได้กระทำอัญชลีไหว้ทิศต่างๆ ทุกทิศด้วยปรารถนาว่า ขอความปลอดโปร่งแต่ภัยนี้พึงมีแก่เรา และพระราชบุตรของเราทั้งหลาย อันราชสีห์และเสือเหลืองอย่าได้เบียดเบียนเลย ทั้งกุมารกุมารีทั้งสอง อันหมี หมาป่า และเสือดาว อย่าได้มาจับต้องเลย พาลมฤคในป่าทั้งสามสัตว์ คือราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง เหล่านั้น พบหม่อมฉันแล้วขวางทางไว้ ด้วยเหตุนั้น หม่อมฉันจึงได้กลับเย็นไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย สรํ ปาตุ ความว่า สัตว์เหล่าใดมาสู่สระนี้เพื่อดื่มน้ำ. บทว่า พยคฆสส จ ความว่า พระนางมัทรีทูลถามว่า พระองค์ได้ทรงสดับเสียงของเสือโคร่งและสัตว์สี่เท้าอื่นๆ มีช้างเป็นต้น และฝูงนกที่ส่งเสียงร้องกึกก้องเป็นอันเดียวกันแล้ว มิใช่หรือ. ก็เสียงนั้น ได้มีในเวลาที่พระมหาสัตว์พระราชทานพระโอรสและพระธิดา. บทว่า อหุ ปุพฺพนิมิตฺตํ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรพนิมิตเพื่อเสวยทุกข์อันนี้ ได้มีแก่หม่อมฉันแล้ว. บทว่า อุคฺคีวํ ได้แก่ กระเช้าที่คล้องอยู่บนบ่าพลัดตก. บทว่า ปุถุ ความว่า หม่อมฉันนมัสการแต่ละทิศทั่วสิบทิศ. บทว่า มา เหว โน ความว่า หม่อมฉันนมัสการปรารถนาว่า ขอพระราชบุตรเวสสันดรของพวกเรา จงอย่าถูกพาลมฤคมีราชสีห์เป็นต้นฆ่า ขอลูกทั้งสองจงอย่าถูกหมีเป็นต้นแตะต้อง. บทว่า เต มํ ปริยาวรุ มคฺคํ ความว่า พระนางมัทรีกราบทูลว่า ข้าแต่พระสวามี หม่อมฉันคิดว่า เราได้เห็นเหตุที่น่ากลัวเหล่านี้เป็นอันมาก และเห็นสุบินร้ายวันนี้ เราจักกลับมาให้ทันเวลาทีเดียว เห็นต้นไม้ที่ผลิตผลเหมือนไม่มีผล ต้นไม้ที่ไม่มีผล ก็เหมือนผลิตผล เก็บผลาผลได้โดยยาก ไม่อาจมาถึงประตูป่า ทั้งราชสีห์เป็นต้นเหล่านั้นเห็นหม่อมฉัน แล้วได้ยืนเรียงกันกั้นทางเสีย เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงมาจนเย็น ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าค่ะ.

               พระมหาสัตว์ตรัสพระวาจาเท่านี้กับพระนางมัทรีแล้ว มิได้ตรัสอะไรๆ อีกจนอรุณขึ้น จำเดิมแต่นี้ พระนางมัทรีพิลาปรำพันมีประการต่างๆ ตรัสว่า
               หม่อมฉันผู้เป็นชฏินีพรหมจารินี บำรุงพระสวามีและลูกทั้งสองตลอดวันคืน ดุจมาณพบำรุงอาจารย์ หม่อมฉันนุ่งห่มหนังเสือเหลืองนำมูลผลในป่ามา ประพฤติอยู่ตลอดวันคืน เพราะใคร่ต่อพระองค์และบุตรธิดา. หม่อมฉันฝนขมิ้นสีเหมือนทองนี้เพื่อทาลูกทั้งสอง และนำผลมะตูมสุกเหลืองนี้ เพื่อถวายให้ทรงเล่น และนำผลไม้ทั้งหลายมาด้วยหวังว่า ผลไม้เหล่านี้จะเป็นเครื่องเล่นของพระโอรสธิดาแห่งพระองค์.
               ข้าแต่บรมกษัตริย์ขอพระองค์ พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดา จงเสวยสายบัว เหง้าบัว กระจับประกอบด้วยรสหวานน้อยๆนี้ พระองค์จงประทานดอกกุมุทแก่แม่กัณหา พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมาร ผู้ประดับระเบียบดอกไม้ฟ้อนรำอยู่ โปรดตรัสเรียกสองพระราชบุตรมาเถิด แม่กัณหาชินาจะได้มานี่ ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ขอพระองค์จงพิจารณาดูแม่กัณหาชินาผู้มีเสียงดังไพเราะ ขณะเข้าไปสู่อาศรม เราทั้งสองถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ก็พระองค์ได้ทรงเห็น พระราชบุตรทั้งสองคือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาบ้าง หรือไม่ ชะรอยว่า หม่อมฉันได้บริภาษ สมณพราหมณ์ผู้มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้มีศีล ผู้พหูสูต ในโลกไว้กระมัง วันนี้จึงไม่พบลูกทั้งสอง คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาจริยมิว มาณโว ความว่า เหมือนอันเตวาสิกผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติอาจารย์. บทว่า อนุฏฺฐิตา ความว่า หม่อมฉันบำรุง คือเป็นผู้ไม่ประมาทปฏิบัติด้วยการลุกขึ้นบำเรอ. บทว่า ตุมฺหํ กามา ความว่า ปรารถนาพระองค์ด้วยใคร่ต่อพระองค์. พระนางมัทรีคร่ำครวญรำพันถึงสองกุมารด้วยบทว่า ปุตตกา. บทว่า สุวณณหาลิททํ ความว่า หม่อมฉันฝน คือบดขมิ้นซึ่งมีสีเหมือนทอง ถือมาเพื่อสรงสนานพระโอรสธิดาของพระองค์. บทว่า ปณฑุเวลุวํ ความว่า แม้ผลมะตูมสุกซึ่งมีสีเหมือนทองนี้ หม่อมฉันก็นำมาเพื่อพระองค์ทรงเล่น. บทว่า รุกขปกกานิ ความว่า แม้ผลไม้อื่นๆ ซึ่งเป็นที่ชอบใจ. หม่อมฉันก็ได้นำมาเพื่อพระองค์ทรงเล่น. บทว่า อิเมโว ความว่า พระนางมัทรีกล่าวว่า ลูกน้อยทั้งสองนี้เป็นเครื่องเล่นของพระองค์. บทว่า มูฬาลิวตตกํ ได้แก่ สายบัว. บทว่า สาลุกํ ความว่า แม้เหง้าบัวมีอุบลเป็นต้นนี้ หม่อมฉันก็นำมาเป็นอันมาก. บทว่า ชิญชโรทกํ ได้แก่ กระจับ. บทว่า ภุญฺช ความว่า พระนางมัทรีคร่ำครวญว่า ขอพระองค์โปรดเสวยของนี้ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อย พร้อมด้วยพระโอรสธิดา. บทว่า สิวิ ปุตตานิ อวยห ความว่า ข้าแต่พระเจ้าสีวีราชผู้สวามี ขอพระองค์โปรดรีบตรัสเรียกพระโอรสธิดาจากที่บรรทมในบรรณศาลา. บทว่า อปิ สิวิ ปุตเต ปสเสสิ ความว่า ข้าแต่พระเจ้าสีวีราชผู้สวามี ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูพระโอรสธิดาทั้งสองเถิด ถ้าทรงเห็นก็โปรดแสดงแก่หม่อมฉัน ขอได้โปรดอย่าให้หม่อมฉันลำบากนักเลย. บทว่า อภิสสึ ความว่า หม่อมฉันได้ด่าเป็นแน่อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงอย่าพบบุตรธิดาของพวกท่านเลย.

               แม้พระนางมัทรีทรงพิลาปรำพันอยู่อย่างนี้ พระเวสสันดรมหาสัตว์ก็มิได้ตรัสอะไรๆ ด้วยเลย ครั้นพระมหาสัตว์ไม่ตรัสด้วย พระนางมัทรีก็หวั่นพระหฤทัย เสด็จเที่ยวค้นหาพระโอรสพระธิดาของพระองค์ ด้วยอาศัยแสงจันทร์ เสด็จถึงสถานที่ทั้งปวงนั้นๆ มีต้นหว้าเป็นต้น ซึ่งเป็นที่พระโอรสพระธิดาเคยเล่น ทรงคร่ำครวญตรัสว่า
               รุกขชาติต่างๆ เช่นไม้หว้า ไม้ยางทรายซึ่งมีกิ่งห้อยย้อย อนึ่ง รุกขชาติที่มีผลต่างๆ เช่นไม้โพใบ ขนุน ไทร มะขวิด ปรากฏอยู่ทั้งนั้น แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่. ลูกทั้งสองเคยเล่นที่สวนและแม่น้ำซึ่งมีน้ำเย็น เคยทัดทรงบุปผชาติต่างๆ บนภูผา และเคยเสวยผลไม้ต่างๆ บนภูผา แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่. ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ที่ลูกทั้งสองเคยเล่นยังปรากฏอยู่ แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโม โน หตถิกา อสสา ความว่า พระนางมัทรีทรงค้นหาพระโอรสพระธิดาบนภูเขา ไม่เห็น ก็ทรงคร่ำครวญ เสด็จลงจากภูเขามาสู่อาศรมบทอีก ทรงคร่ำครวญถึงพระโอรสพระธิดาในอาศรมบทนั้น ทอดพระเนตรเห็นของเล่นทั้งหลายของพระโอรสพระธิดา จึงตรัสอย่างนี้.

               ครั้งนั้น ฝูงมฤคและปักษีต่างออกจากที่อยู่ เพราะสำเนียงทรงคร่ำครวญ และเสียงฝีพระบาทของพระนางมัทรี. พระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นสัตว์เหล่านั้น จึงตรัสว่า
               ตุ๊กตาเนื้อทรายทอง ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า และตุ๊กตาชะมดเหล่านี้เป็นอันมาก ที่ลูกทั้งสองเคยเล่นยังปรากฏอยู่ แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่. เหล่าตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน และตุ๊กตานกยูงขนหางวิจิตรเหล่านี้ ที่ลูกทั้งสองเคยเล่นปรากฏอยู่ แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามา ได้แก่ เนื้อทรายทองตัวเล็กๆ. บทว่า สโสลูกา ได้แก่ กระต่ายและนกเค้าป่า.

               พระนางมัทรีไม่เห็นพระปิยบุตรทั้งสอง ณ อาศรมบท จึงเสด็จออกจากอาศรมบทเข้าสู่ชัฏป่าดอกไม้ ทอดพระเนตรดูสถานที่นั้นๆ ตรัสว่า
               พุ่มไม้มีดอกตลอดกาล และสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ มีนกจากพรากส่งเสียงร้อง ดาดาษไปด้วยมณฑาดอกและปทุมอุบล ซึ่งเป็นที่ลูกทั้งสองเคยเล่นยังปรากฏอยู่ แต่ลูกทั้งสองหาปรากฏไม่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วนคุมพาโย ได้แก่ พุ่มดอกไม้ป่านั่นเอง.

               พระนางมัทรีไม่ประสบพระปิยบุตรทั้งสอง ณ ที่ไรๆ ก็เสด็จมาเฝ้าพระมหาสัตว์อีก เห็นพระองค์ประทับนั่งมีพระพักตร์เศร้าหมอง จึงทูลว่า
               พระองค์ไม่หักไม้แห้ง ไม่นำน้ำมา ไม่ติดไฟ เป็นไฉนหนอ พระองค์ดูเหมือนอ่อนแรงซบเซาอยู่ พระองค์เป็นที่รักของหม่อมฉัน ความทุกข์หายไปเพราะสมาคมกับพระองค์ ผู้เป็นที่รักของหม่อมฉัน วันนี้ หม่อมฉันไม่เห็นลูกทั้งสอง คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หาสิโต ได้แก่ ไม่ให้ลุกโพลง. ท่านอธิบายไว้ว่า ข้าแต่พระสวามี เมื่อก่อนพระองค์หักฟืน นำน้ำมาตั้งไว้ก่อไฟในกระเบื้องถ่านเพลิง วันนี้พระองค์ไม่ทำแม้อย่างเดียว ในเรื่องเหล่านั้น เป็นเหมือนอ่อนแรงซบเซาอยู่ เพราะเหตุไรหนอ หม่อมฉันไม่ชอบใจกิริยาของพระองค์เลย. บทว่า ปิโย ปิเยน ความว่า พระเวสสันดรเป็นที่รักของหม่อมฉัน ที่รักของหม่อมฉันยิ่งกว่าพระเวสสันดรนี้ ไม่มี เมื่อก่อน ความทุกข์ย่อมหายไป คือย่อมปราศจากไป เพราะมาสมาคม คือมาประชุมกับพระองค์ผู้เป็นที่รักของหม่อมฉันนี้ แต่วันนี้ แม้หม่อมฉันเห็นพระองค์อยู่ ความเศร้าโศกก็ไม่ปราศจากไป เหตุอะไรหนอ. บทว่า ตยชช ความว่า เหตุการณ์ที่หม่อมฉันเห็นแล้ว จงยกไว้เถิด วันนี้หม่อมฉันไม่เห็นลูกทั้งสองนั้น เพราะเหตุนั้น แม้เมื่อหม่อมฉันเห็นพระองค์อยู่ ความเศร้าโศกก็ไม่หายไป.

               แม้พระนางมัทรีกราบทูลถึงอย่างนี้ พระมหาสัตว์ก็ประทับนั่งนิ่งอยู่นั่นเอง เมื่อพระมหาสัตว์ไม่ตรัสด้วย พระนางเจ้าก็เต็มแน่นไปด้วยลูกศรคือความโศก พระกายสั่นดุจแม่ไก่ถูกตี เสด็จเที่ยวค้นหาตามที่เคยค้นหาครั้งแรกแล้ว เสด็จกลับมาเฝ้าพระมหาสัตว์ กราบทูลว่า
               ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่พบคนที่นำลูกทั้งสองไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนมชีพแล้ว ฝูงกาฝูงนกทั้งหลายไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของหม่อมฉันคงสิ้นชนมชีพเสียแล้ว เป็นแน่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น โข โน ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกทั้งสองของเราเลย. บทว่า เยน เต นีหฏา มตา ความว่า พระนางมัทรีทูลด้วยความประสงค์ว่า หม่อมฉันไม่ทราบว่า ใครนำลูกทั้งสองไป.

               แม้พระนางมัทรีกราบทูลถึงอย่างนี้ พระมหาสัตว์ก็มิได้ตรัสอะไรๆ พระนางมัทรีอันความโศกในเพราะพระโอรสถูกต้องแล้ว ทรงพิจารณาพระโอรสทั้งสอง เสด็จเที่ยวไปยังสถานที่นั้นๆ ด้วยความเร็วดุจลมถึง ๓ วาระ ได้ยินว่า สถานที่พระนางเจ้าเสด็จเที่ยวไปตลอดราตรีหนึ่ง ประมาณระยะทางราว ๑๕ โยชน์. ลำดับนั้น ราตรีสว่างอรุณขึ้น พระนางเจ้าเสด็จมาประทับยืนคร่ำครวญอยู่ ณ ที่ใกล้พระมหาสัตว์อีก.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระนางมัทรีเสด็จเที่ยวร่ำไรรำพันไปตามภูผา และป่าไม้ในเวิ้งเขาวงกตแล้ว เสด็จกลับมาสู่อาศรมอีก ทรงกันแสง ณ สำนักพระภัสดาว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่พบคนที่นำลูกทั้งสองไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนมชีพแล้ว ฝูงกาฝูงนกย่อมไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของหม่อมฉันคงสิ้นชีพเสียแล้ว เป็นแน่. เมื่อพระนางมัทรีผู้ทรงโฉม ผู้เป็นพระราชบุตรีพระเจ้ามัททราชผู้มียศเสด็จเที่ยวไป ณ ภูเขาและถ้ำทั้งหลาย ทรงประคองพระพาหากันแสงว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นคนที่นำลูกทั้งสองของเราไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนมชีพแล้ว ด้วยประการฉะนี้ แล้วก็ล้มลง ณ ภูมิภาคแทบพระยุคลบาทแห่งพระเวสสันดรนั้น นั่นเอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามิกสสนติ โรทติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนางมัทรีนั้นเสด็จเที่ยวคร่ำครวญไปตามเนินผา และป่าไม้ในเวิ้งเขาวงกตนั้น แล้วเสด็จมาอาศัยพระภัสดาอีก. ประทับยืน ณ ที่ใกล้พระภัสดา ทรงกันแสง คือทรงครวญคร่ำรำพันว่า น โข โน เป็นต้น. เพื่อต้องการพระโอรสและพระธิดา. บทว่า อิติ มทฺที วราโรหา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนางมัทรีผู้ทรงพระรูปอันอุดม ชื่อว่าผู้ทรงโฉมนั้นเสด็จเที่ยวไป ณ โคนไม้เป็นต้น. ไม่เห็นพระโอรสพระธิดา ประคองพระพาหาคร่ำครวญว่า ลูกทั้งสองจักตายเสียแน่แล้ว. ดังนี้ แล้วล้มลง ณ ภูมิภาคแทบพระยุคลบาทแห่งพระเวสสันดรนั้นเอง เสมือนต้นกล้วยสีทองถูกตัด ฉะนั้น.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าพระองค์สั่นด้วยทรงสำคัญว่า พระนางมัทรีสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ทรงรำพึงว่า มัทรีมาสิ้นพระชนม์ในที่ต่างด้าว อันไม่ใช่ฐานะ หากว่าเธอทำกาลกิริยาในเชตุดรราชธานี การบริหารก็จักเป็นการใหญ่ รัฐทั้งสองก็สะเทือนถึงกัน ก็ตัวเราอยู่ในอรัญญประเทศแต่ผู้เดียวเท่านั้น จักทำอย่างไรดีหนอ ทรงคำนึงดังนี้แล้ว แม้เป็นผู้มีความโศกมีกำลัง ก็ทรงตั้งพระสติให้มั่น เสด็จลุกขึ้นด้วยทรงสำคัญว่า เราจักต้องรู้ให้แน่ก่อน จึงวางพระหัตถ์เบื้องขวาตรงพระหทัยวัตถุแห่งพระนางเจ้า ก็ทรงทราบว่า ยังมีความอบอุ่นเป็นไปอยู่ จึงทรงนำน้ำมาด้วยพระเต้า แม้มิได้ทรงถูกต้องพระกายตลอด ๗ เดือน แต่ไม่อาจจะทรงกำหนดความที่พระองค์เป็นบรรพชิต เพราะความโศกมีกำลัง มีพระนัยนาเต็มไปด้วยพระอัสสุชล ช้อนพระเศียรของพระนางเจ้าขึ้นวางไว้บนพระเพลา พรมด้วยน้ำ ลูบพระพักตร์และที่ตรงพระหทัย ประทับนั่งอยู่. ฝ่ายพระนางมัทรี พอสักครู่หนึ่งก็กลับได้พระสติ เข้าตั้งไว้เฉพาะซึ่งหิริและโอตตัปปะ ลุกขึ้นกราบพระมหาสัตว์ ทูลถามว่า ข้าแต่พระสวามีเวสสันดร ลูกทั้งสองของพระองค์ไปไหน. พระมหาสัตว์ตรัสตอบว่า แน่ะพระเทวี ฉันให้เพื่อเป็นทาสแห่งพราหมณ์คนหนึ่งไปแล้ว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               วันนี้ พระเวสสันดรทรงประพรมพระนางมัทรีราชบุตรผู้ล้มลงด้วยน้ำ ทรงทราบว่า พระนางเจ้าค่อยสำราญ ทีนั้น จึงตรัสคำนี้กะพระนาง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมชช ปตตํ ความว่า ผู้ล้มลงใกล้พระองค์ อธิบายว่า ผู้ล้มลงถึงวิสัญญีภาพแทบพระยุคลบาท. บทว่า เอตมพรวิ ความว่า ได้ตรัสคำนี้ คือคำว่า ฉันให้เพื่อเป็นทาสแห่งพราหมณ์คนหนึ่งไปแล้ว.

               แต่นั้น เมื่อพระนางมัทรีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ประทานลูกทั้งสองแก่พราหมณ์แล้ว ไม่รับสั่งให้หม่อมฉันผู้คร่ำครวญเที่ยวอยู่ตลอดราตรี ทราบความ เพราะเหตุไร พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า
               แน่ะมัทรี ฉันไม่ปรารถนาจะบอกเธอแต่แรกให้เป็นทุกข์ว่า พราหมณ์แก่เป็นยาจกเข็ญใจมาสู่อาศรม บุตรบุตรีฉันให้แก่พราหมณ์นั้นแล้ว แน่ะมัทรี เธออย่ากลัวเลย จงยินดีเถิด เธอจงเห็นแก่ฉัน อย่าเห็นแก่บุตรบุตรี อย่าคร่ำครวญนักเลย เราทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีโรคก็จักได้พบบุตรบุตรี และสัตว์ของเลี้ยง ธัญญาหารทั้งทรัพย์อย่างอื่นในเรือน สัตบุรุษเห็นยาจกมาก็บริจาคทาน.
               ดูก่อนมัทรี เธอจงอนุโมทนาปิยบุตรทาน อันเป็นอุดมทานของฉัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทิเยเนว ได้แก่ แต่แรก มีคำอธิบายว่า ถ้าฉันบอกความเรื่องนี้แก่เธอแต่แรก เมื่อเธอได้ฟังดังนั้น ก็จะไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ หทัยพึงแตก เพราะฉะนั้น ฉันจึงไม่ปรารถนาจะบอกแก่เธอ แต่แรกให้เป็นทุกข์ นะมัทรี. บทว่า ฆรมาคโต ความว่า มายังสถานที่อยู่ของพวกเรานี้. บทว่า อโรคา จ ภวามหเส ความว่า พระเวสสันดรมหาสัตว์ตรัสว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น เราทั้งสองเป็นผู้ไม่มีโรค ยังมีชีวิตอยู่ จักพบลูกทั้งสองที่พราหมณ์นำไปเป็นแน่. บทว่า ยญฺจ อญฺญฆเร ธนํ ได้แก่ สวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์อย่างอื่นในเรือน. บทว่า ทชฺชา สปปุริโส ทานํ ความว่า สัตบุรุษเมื่อปรารถนาประโยชน์สูงสุด พึงผ่าอุระควักเนื้อหัวใจให้เป็นทาน.

               พระนางมัทรีทูลว่า
               ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนาปิยบุตรทานอันอุดมของพระองค์ พระองค์ทรงบริจาคทานแล้ว จงยังพระหฤทัยให้เลื่อมใส ขอจงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ข้าแต่พระชนาธิปราช ในเมื่อชนทั้งหลายมีความตระหนี่ พระองค์ผู้ยังแคว้นของชาวสีพีให้เจริญ ได้ทรงบริจาคบุตรทานแก่พราหมณ์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุโมทามิ เต ความว่า พระนางมัทรีทรงอุ้มพระครรภ์ ๑๐ เดือน ประสูติแล้วให้สรงสนาน ให้ทรงดื่มให้เสวยวันละสองสามครั้ง ประคับประคองพระลูกน้อยทั้งสองนั้น ให้บรรทมบนพระอุรประเทศ ครั้นพระโพธิสัตว์พระราชทานพระลูกน้อยทั้งสองไป จึงทรงอนุโมทนาส่วนบุญเอง พระนางมัทรีตรัสอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนี้ พึงทราบว่า บิดาเท่านั้นเป็นเจ้าของเด็กๆทั้งหลาย. บทว่า ภิยฺโย ทานํ ทโท ภว ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเป็นผู้บริจาคทานบ่อยๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด. ทานอันพระองค์ทรงบริจาคดีแล้ว ด้วยประการฉะนี้. ขอพระองค์ผู้ได้พระราชทานพระปิยบุตรทั้งสอง ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายมีความตระหนี่นั้น จงยังพระหฤทัยให้เลื่อมใสเถิด.

               ครั้นพระนางมัทรีทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสถึง เหตุอัศจรรย์ทั้งปวงมีแผ่นดินไหวเป็นต้นว่า แน่ะมัทรี นั่นเธอพูดอะไร ถ้าฉันให้ลูกทั้งสอง แล้วไม่ทำจิตให้เลื่อมใส ความอัศจรรย์ทั้งหลายของฉันเหล่านี้ ก็ไม่พึงเป็นไป แต่นั้น พระนางมัทรีได้ประกาศความอัศจรรย์เหล่านั้นนั่นแล.

               เมื่อจะทรงอนุโมทนาปิยบุตรทาน จึงตรัสว่า
               ปฐพีบันลือลั่นเสียงสาธุการก้องไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญปิยบุตรทาน สายฟ้าก็แวบวาบไปโดยรอบ เสียงโกลาหลนั้นปรากฏ ดังหนึ่งเสียงภูเขาถล่มทลาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชชุลตา อาคู ความว่า สายฟ้าผิดฤดูกาลแลบโดยรอบ ในหิมวันตประเทศ. บทว่า คิรีนํว ปฏิสสุตา ความว่า เสียงโกลาหลปรากฏ ราวกะเสียงภูเขาถล่มทลาย.

               เทพนิกายทั้งสอง คือนารทะและปัพพตะเหล่านั้น ย่อมอนุโมทนาแก่พระเวสสันดรนั้น พระอินทร์ พระพรหม พระปชาบดี พระโสม พระยม และพระเวสวัณมหาราช ทั้งเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมด พร้อมด้วยพระอินทร์ ต่างอนุโมทนาทานของพระองค์ พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงโฉม ผู้มียศ ทรงอนุโมทนาปิยบุตรทานอันอุดมแห่งพระเวสสันดร ด้วยประการฉะนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นารทปพฺพตา ความว่า เทพนิกายทั้งสองแม้เหล่านี้ สถิตอยู่ที่ประตูวิมานของตนๆ นั่นเอง. อนุโมทนาแด่พระองค์ว่า ทานอันพระองค์ประทานดีแล้วหนอ. บทว่า ตาวตึสา สอินฺทกา ความว่า แม้เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีพระอินทร์เป็นหัวหน้า ก็พากันอนุโมทนา ทานของพระองค์.

               พระมหาสัตว์ทรงสรรเสริญทานของพระองค์อย่างนี้แล้ว พระนางมัทรีก็ทรงกลับเอาข้อความนั้นเองมาทรงสรรเสริญว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ทานอันพระองค์ประทานดีแล้ว ดังนี้แล้ว ทรงอนุโมทนาประทับนั่งอยู่.
               ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสคาถาว่า อิติ มทฺที วราโรหา ดังนี้เป็นต้น.

               จบมัทรีบรรพ

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=6531
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=6531
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :