ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา เตมิยชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ วิภาวย ดังนี้เป็นต้น.
               ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันอยู่ในโรงธรรมสภา พรรณนามหาภิเนกขัมบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นด้วยทิพโสต เสด็จออกจากพระคันธกุฎีมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมเจรจากันถึงเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีบารมีเต็มแล้ว ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย เมื่อก่อนญาณยังไม่แก่กล้า เรากำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้ทิ้งราชสมบัติออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่นั้น จึงน่าอัศจรรย์. ตรัสดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพอยู่. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่อง จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่ากาสิกราช ครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอในกรุงพาราณสี พระองค์มีสนมนารีประมาณหนึ่งหมื่นหกพันคน. บรรดาสนมนารีเหล่านั้น แม้สักคนหนึ่งก็ไม่มีโอรสหรือธิดาเลย. กาลนั้นชาวพระนครกล่าวกันว่า พระราชาของพวกเราไม่มีพระโอรส แม้องค์หนึ่งที่จะสืบพระวงศ์ จึงประชุมกันที่พระลานหลวงโดยนัยอันมาแล้วในกุสราชชาดกนั่นแล กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงปรารถนาพระโอรสเถิด พระราชาทรงสดับคำแห่งชาวเมืองนั้นแล้ว ตรัสเรียกสนมนารีหนึ่งหมื่นหกพันมาในขณะนั้น แล้วมีพระราชดำรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงปรารถนาบุตร. สนมนารีเหล่านั้นทำกิจเป็นต้นว่า วิงวอนและบำรุงเทวดาทั้งหลายมีพระจันทร์เป็นต้น แม้ปรารถนาก็หาได้โอรสหรือธิดาไม่.
               ฝ่ายอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช ผู้เป็นพระธิดาแห่งพระเจ้ามัททราช พระนามว่าจันทาเทวี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสีลาจารวัตร. พระราชามีพระราชดำรัสสั่งว่า แน่ะนางผู้เจริญ แม้เธอก็จงปรารถนาพระโอรส. พระเทวีได้สดับพระราชดำรัสของพระราชสวามีแล้ว ทรงทูลรับว่า สาธุ แล้วจึงสมาทานอุโบสถในวันเพ็ญ เปลื้องสรรพาภรณ์ บรรทมเหนือพระยี่ภู่น้อย ทรงอาวัชนาการถึงศีลของพระองค์ ได้ทรงกระทำกิริยาว่า ถ้าข้าพเจ้ารักษาศีลไม่ขาด ขอบุตรของข้าพเจ้าจงเกิดขึ้นด้วยสัจจวาจานี้.
               ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลของพระนางจันทาเทวีนั้น. บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะเมื่อทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้นว่า พระนางจันทาเทวีปรารถนาโอรส ตกลงเราจักให้โอรสแก่พระนางนั้น. ทรงพิจารณาถึงโอรสที่สมควรแก่พระนางก็ทรงเห็นพระโพธิสัตว์.
               กาลนั้น พระโพธิสัตว์ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีได้ยี่สิบปี เคลื่อนจากมนุษยโลกนั้น บังเกิดในอุสสุทนรก เสวยทุกข์อยู่ในนรกนั้นแปดหมื่นปี เคลื่อนจากนรกนั้น บังเกิดในพิภพดาวดึงส์ ตั้งอยู่ในดาวดึงส์นั้นตลอดอายุ เคลื่อนจากดาวดึงส์นั้น ประสงค์จักไปเทวโลกชั้นสูง. ครั้งนั้น ท้าวสักกะเสด็จไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์ ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อท่านเกิดในมนุษยโลก บารมีทั้งหลายของท่านจักเต็มเปี่ยม ความเจริญจักมีแก่ท่านและแก่พระชนกชนนีของท่าน ด้วยว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช พระนามว่าจันทาเทวี ปรารถนาโอรส. ท่านจงอุบัติในพระครรภ์ของพระนางนั้น แล้วท้าวสักกะทรงถือเอาซึ่งปฏิญญาแก่พระโพธิสัตว์นั้น และแก่เทวบุตรทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ องค์ผู้จักจุติ แล้วเสด็จกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ทีเดียว. พระโพธิสัตว์นั้นรับคำว่า สาธุ แล้วจุติพร้อมกับเทวบุตร ๕๐๐ องค์. พระองค์เองถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี ส่วนเทวบุตรประมาณ ๕๐๐ องค์นอกนี้ ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภริยาอมาตย์ทั้งหลาย.
               กาลนั้น พระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี เป็นประหนึ่งเต็มไปด้วยแก้ววิเชียร. พระนางทรงทราบว่าตั้งครรภ์ จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงทราบดังนั้น จึงได้พระราชทานครรภ์บริหารแก่พระนาง. พระนางมีพระครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็ประสูติพระโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม ภรรยาอมาตย์ทั้งหลายก็คลอดกุมาร ๕๐๐ ในเรือนอมาตย์ ในวันนั้นเหมือนกัน. ขณะนั้น พระราชาประทับอยู่ในที่เสด็จออก แวดล้อมไปด้วยหมู่อมาตย์ราชบริพาร. ลำดับนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้าข้า. พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ทรงมีความรักในพระโอรสเป็นครั้งแรกเกิดขึ้น ตัดพระฉวีจดพระอัฐิมิญชะ ดำรงอยู่เกิดพระปีติซาบซ่านภายในพระกมล แม้หทัยของอมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็เกิดเยือกเย็นทั่วกัน พระราชาตรัสถามเหล่าอมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายดีใจหรือ? เมื่อลูกชายของเราเกิด. อมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พระองค์ตรัสถามไย? พระเจ้าข้า เมื่อก่อนพวกข้าพระองค์ไร้ที่พึ่ง บัดนี้พวกข้าพระองค์มีที่พึ่ง ได้เจ้านายแล้ว.
               พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเหล่าอมาตย์ ก็เกิดพระปีติปลื้มพระทัย จึงตรัสเรียกมหาเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า ท่านมหาเสนาบดีผู้เจริญ ลูกชายของฉันควรจะได้บริวาร ท่านจงไปตรวจดูว่า ในเรือนอมาตย์มีทารกเกิดในวันนี้เท่านี้. มหาเสนาบดีรับพระราชบัญชาแล้ว ไปตรวจดูเห็นทารกในเรือนอมาตย์ ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาได้ทรงสดับคำของอมาตย์เหล่านั้นก็เกิดพระปิติ จึงมีรับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับสำหรับกุมารแก่ทารกทั้ง ๕๐๐ คน และให้พระราชทานนางนม ๕๐๐ คน. แต่สำหรับพระมหาสัตว์ พระราชาพระราชทานนางนม ๖๔ นาง ล้วนแต่เป็นนางนมผู้เว้นโทษมีสูงนักเป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน เว้นนางนมที่มีโทษเช่นนั้น เพราะเหตุไร เพราะเมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีที่สูงนัก คอทารกจักยืดยาวเกินไป เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีเตี้ยนัก กระดูกคอทารกจักหดสั้น. เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีผอมนัก ขาทั้งสองของทารกจักเสียดสีกัน. เมื่อทารกนั่งดื่มนมข้างสตรีอ้วนนัก เท้าทั้งสองของทารก จักเพลีย. สตรีมีผิวดำนัก น้ำนมเย็นเกินไป สตรีมีผิวขาวนัก น้ำนมร้อนเกินไป. เมื่อทารกดื่มนมของสตรีนมยาน จมูกจักแฟบ. สตรีเป็นโรคหืด มีน้ำนมเปรี้ยวนัก. เมื่อทารกดื่มโรคมองคร่อ น้ำนมจักมีรสวิการต่างๆ มีเผ็ดจัด เป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงเว้นโทษทั้งปวงเหล่านั้น พระราชทานนางนม ๖๔ คนที่เว้นจากโทษมีสูงนักเป็นต้น นมไม่ยาน น้ำนมมีรสหวาน. ทรงทำสักการะใหญ่ ได้พระราชทานพร แม้แก่พระนางจันทาเทวี พระนางรับพระพรแล้วถวายคืนไว้ก่อน
               ในวันขนานพระนามพระโพธิสัตว์ พระเจ้ากาสิกราชทรงทำสักการะ เป็นอันมากแก่เหล่าพราหมณ์ ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์ แล้วตรัสถามถึง อันตรายของพระมหาสัตว์. พราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์เหล่านั้น เห็นพระลักษณสมบัติแห่งพระโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า พระโอรสของพระองค์สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันอุดม อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเลย พระโอรสของพระองค์ทรงสามารถครองราชสมบัติ ในมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร (จักรพรรดิ) อันตรายอะไรๆ จะไม่ปรากฎแก่พระโอรสเลย. พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของพราหมณ์เหล่านั้น ก็ดีพระหฤทัย. เมื่อทรงขนานพระนามพระกุมารได้ทรงขนานพระนามว่าเตมิยกุมาร เพราะเหตุในวันที่พระกุมารประสูติ ฝนตกทั่วกาสิกรัฐ และเพราะพระกุมารประสูติ เป็นเหมือนยังพระหฤทัยแห่งพระราชา และหัวใจแห่งหมู่อมาตย์ และมหาชนให้ชุ่มชื่น. ลำดับนั้น นางนมทั้งหลายยังพระโพธิสัตว์ ผู้มีพระชนม์ได้หนึ่งเดือนให้สนานประดับองค์ แล้วนำขึ้นเฝ้าพระราชบิดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปิโยรส ทรงสวมกอดจุมพิตที่พระเศียรแล้ว ให้พระทับบนพระเพลา ประทับนั่งรื่นรมย์อยู่ด้วยพระกุมาร ขณะนั้น พวกราชบุรุษนำโจร ๔ คนมาหน้าที่นั่ง. พระราชาทอดพระเนตรเห็นโจรเหล่านั้นแล้ว มีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระอาญาโจรเหล่านั้น ให้เอาหวายทั้งหนามเฆี่ยนโจรคนหนึ่ง ๑,๐๐๐ ที ให้จำโจรคนหนึ่งด้วยโซ่ตรวนแล้วส่งเข้าเรือนจำ ให้เอาหอกแทงที่สรีระของโจรคนหนึ่ง ให้เอาหลาวเสียบโจรคนหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ได้ทรงฟังพระดำรัสของพระบิดา ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ทรงจินตนาการว่า โอ พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติ ทำกรรมอันหนักเกินซึ่งจะไปสู่นรก. วันรุ่งขึ้น พระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายให้ พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ ซึ่งตกแต่งแล้วภายใต้เศวตฉัตร. พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง ตื่นบรรทมลืมพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเนตรเศวตฉัตรเห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่. ลำดับนั้น ความกลัวอย่างเหลือเกินได้เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์ ผู้ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งอยู่เป็นปกติแล้ว พระองค์ทรงดำริว่า เราจากที่ไหนมาสู่พระราชมณเฑียรนี้ เมื่อทรงใคร่ครวญดูก็ทรงทราบโดยทรงระลึกชาติได้ว่ามาจากเทวโลก เมื่อทรงทอดพระเนตร ต่อจากนั้นไปอีก ก็ทอดพระเนตรเห็นว่า ไปไหม้อยู่ในอุสสุทนรก เมื่อทรงทอดพระเนตรต่อจากนั้นไปอีก ก็ทรงทราบว่า พระองค์เป็นพระราชาในพระนครนั้นเทียว เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาอยู่ว่า เราได้ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ๒๐ ปี แล้วไหม้อยู่ในอุสสุทนรก ๘๐,๐๐๐ ปี. บัดนี้เราเกิดในเรือนหลวงดุจเรือนโจรนี้อีก เมื่อวานนี้ เมื่อเขานำโจร ๔ คนมา พระบิดาของเราได้กล่าวผรุสวาจาเช่นนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ตกนรก หากว่าเราครองราชสมบัติ ก็จักบังเกิดในนรกเสวยทุกข์ใหญ่อีก ดังนี้ ได้เกิดความกลัวเป็นอันมาก พระสรีระซึ่งมีวรรณะดุจทองของพระโพธิสัตว์ ได้เหี่ยวมีวรรณะเศร้าหมอง ราวกะว่าดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ฉะนั้น พระองค์บรรทมจินตนาการอยู่ว่า ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียรซึ่งดุจเรือนโจรนี้เสียได้.
               คราวนั้น เทพธิดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตร เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพ ในระหว่างอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้สบายพระทัยแล้วกล่าวว่า พ่อเตมิยกุมาร พ่ออย่าเศร้าโศก อย่าคิด อย่ากลัวเลย ถ้าพ่อประสงค์จะพ้นจากพระราชมณเฑียรนี้ พ่อไม่เป็นคนง่อยเปลี้ยเลย ก็จงเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย พ่อไม่เป็นคนหนวก ก็จงเป็นเหมือนคนหนวก พ่อไม่เป็นคนใบ้ ก็จงเป็นเหมือนคนใบ้เถิด พ่อจงอธิษฐานองค์สามเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว อย่าประกาศความที่พ่อเป็นคนฉลาด.

               เทพธิดากล่าวแล้ว จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า
               พ่ออย่าแสดงว่า เป็นคนฉลาด. จงให้ชนทั้งปวงรู้กันว่า พ่อเป็นคนโง่. ชนในที่นั้นทั้งหมดจะได้ดูหมิ่นพ่อว่า เป็นคนกาลกรรณี. ความปรารถนาของพ่อจักสำเร็จได้ ด้วยอุบายอย่างนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา ปณฺฑิจฺจยํ ความว่า จงอย่าประกาศความเป็นบัณฑิตของตน.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ปณฺฑิจฺจํ ความก็อย่างนี้แหละ.
               บทว่า พาลมโต แปลว่า รู้กันว่าเป็นคนโง่. บทว่า สพฺพปาณินํ ได้แก่ อันเหล่าสัตว์ทั้งปวง คือชนทั้งหลาย. บทว่า สพฺโพ ตญฺชโน ได้แก่ ทั้งชนภายในทั้งชนภายนอกทั้งสิ้น. บทว่า โอจินายตุ ได้แก่ จงเข้าใจต่ำ คือจงดูหมิ่นว่า พวกท่านจงนำคนกาลกรรณีนั่นออกไป.

               พระโพธิสัตว์กลับได้ความอุ่นพระหฤทัย เพราะคำของเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาที่สองว่า
               ดูก่อนเทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ที่ท่านกล่าวกะข้าพเจ้า ข้าแต่แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ใคร่เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.

               ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว พระโพธิสัตว์ได้อธิษฐานองค์สามเหล่านั้น เทพธิดานั้นก็อันตรธานหายไป.
               ลำดับนั้น พระเจ้ากาสิกราชมีพระดำริว่า ลูกควรจะได้กุมาร ๕๐๐ เหล่านั้นเป็นบริวาร เพื่อเป็นที่พอใจ จึงรับสั่งให้กุมารทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้น นั่งอยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์ ทารกเหล่านั้นร้องไห้อยากดื่มน้ำนม. ส่วนพระมหาสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม ทรงดำริว่า จำเดิมแต่วันนี้ กายของเราแม้เหือดแห้งตายเสียเลยยังประเสริฐกว่า ดำริดังนี้ จึงไม่ทรงกันแสง นางนามทั้งหลายกราบทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางจันทาเทวี พระนางก็กราบทูลแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียกเหล่าพราหมณ์ผู้รู้ทำนายนิมิตมาตรัสถาม พราหมณ์ทั้งหลายได้กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ นางนมควรจะถวายน้ำนมแด่พระกุมาร ให้ล่วงเวลาตามปกติ เมื่อทำอย่างนี้ พระกุมารจะทรงกันแสง จับนมมั่นเสวยเองทีเดียว. ตั้งแต่นั้น นางนมทั้งหลายเมื่อถวาย ก็ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์ ล่วงเวลาตามปกติ บางคราวถวายล่วงเวลาวาระหนึ่ง บางคราวไม่ถวายน้ำนมตลอดทั้งวัน. พระโพธิสัตว์ถูกความกลัวนรกคุกคาม แม้พระกายเหี่ยวแห้ง ก็ไม่ทรงกันแสงอยากเสวยนม. ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวีเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ก็ทรงพระดำริว่า ลูกเราหิวจึงให้ดื่มน้ำพระถันของพระนางเอง บางคราวนางนมทั้งหลายให้ดื่มน้ำนม เหล่าทารกที่เหลือต่างร้องไห้ ไม่นอนในเวลาไม่ได้ดื่มน้ำนม. พระโพธิสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่บรรทม ไม่คู้พระหัตถ์และพระบาท ไม่เปล่งพระวาจา.
               ครั้งนั้น นางนมทั้งหลายคิดกันว่า ธรรมดามือและเท้าของคนง่อยเปลี้ยไม่เป็นอย่างนี้ ปลายคางของคนใบ้ไม่เป็นอย่างนี้ ช่องหูของคนหนวกก็ไม่เป็นอย่างนี้ จะต้องมีเหตุในพระกุมารนี้ พวกเราจักทดลองพระกุมาร จึงไม่ถวายน้ำนมแด่พระโพธิสัตว์นั้นตลอดทั้งวัน ด้วยประสงค์ว่า จักทดลองพระกุมารด้วยเรื่องนมก่อน. พระโพธิสัตว์แม้เหี่ยวแห้ง ก็ไม่ทรงกันแสง อยากเสวยนม. ครั้งนั้นพระชนนีของพระโพธิสัตว์ตรัสสั่งให้นางนมถวายนม ด้วยพระราชเสาวนีย์ว่า ลูกฉันหิว จงให้น้ำนมแก่เขา. นางนมเหล่านั้น แม้ทดลองไม่ถวายน้ำนมในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. ลำดับนั้น หมู่อมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกอายุขวบหนึ่ง ชอบกินขนมและของเคี้ยว พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยขนม และของเคี้ยว กราบทูลดังนี้แล้วให้กุมารทั้ง ๕๐๐ คนเหล่านั้นนั่งใกล้ๆ พระราชกุมาร นำขนมและของเคี้ยวต่างๆ เข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระมหาสัตว์ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาขนมและของเคี้ยวเหล่านั้นตามชอบใจ แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ พวกทารกที่เหลือทะเลาะยื้อแย่งกันและกัน ถือเอาขนมและของเคี้ยวมาเคี้ยวกิน. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ขนมและของเคี้ยว เป็นผู้กลัวภัยในนรก จึงไม่ทอดพระเนตรดูขนมและของเคี้ยวเลย แม้ทดลองด้วยขนมและของเคี้ยวในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสองขวบชอบผลไม้น้อยใหญ่ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยผลไม้ กราบทูลดังนี้แล้ว นำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆเข้าไปวางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอา ผลไม้น้อยใหญ่เหล่านั้น ตามชอบใจเถิด แล้วพากันยืนแอบดูอยู่ เหล่าทารกที่เหลือต่างต่อสู้ทุบตีกันและกัน ถือเอาผลไม้เหล่านั้นเคี้ยวกินอยู่. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็โอวาทพระองค์ว่า แน่ะพ่อเตมิยกุมาร ถ้าเจ้าประสงค์นรก ก็จงประสงค์ผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหลาย เป็นผู้ถูกภัยในนรกคุกคาม ไม่ทอดพระเนตรดูผลไม้น้อยใหญ่เลย แม้ทดลองด้วยผลไม้น้อยใหญ่ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาทารกสามขวบชอบของเล่น พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของเล่น กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้ทำรูปช้าง เป็นต้นสำเร็จด้วยทอง เป็นต้น วางไว้ใกล้ๆ พระโพธิสัตว์ เหล่าทารกที่เหลือต่างแย่งกันและกันถือเอา ฝ่ายพระมหาสัตว์ ไม่ทรงทอดพระเนตรดูอะไรๆ เลย แม้ทดลองด้วยของเล่นในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาหนึ่งปี ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกสี่ขวบชอบโภชนาหาร พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยโภชนาหาร กราบทูลดังนี้แล้ว จึงน้อมโภชนาหารต่างๆ เข้าถวายพระมหาสัตว์ แม้เหล่าทารกที่เหลือต่างก็ทำเป็นคำๆ บริโภค. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงโอวาทพระองค์ว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร อัตภาพของเจ้าที่ไม่ได้โภชนะบริโภคนับไม่ถ้วน ทรงกลัวภัยนรก มิได้ทอดพระเนตรดูโภชนาหารนั้น. ลำดับนั้น พระชนนีของพระโพธิสัตว์ เป็นผู้เหมือนมีพระหฤทัยแตกทำลาย ให้พระโอรสเสวยโภชนาหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แม้ทดลองด้วยโภชนาหารในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ธรรมดาทารกห้าขวบย่อมกลัวไฟ พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยไฟ กราบทูลด้วยนี้แล้ว ให้ทำเรือนใหญ่มีหลายประตู ที่พระลานหลวง มุงด้วยใบตาล ให้พระมหาสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ นั่งท่ามกลางทารกเหล่านั้นแล้วจุดไฟ เหล่าทารกที่เหลือเห็นเรือนไฟลุกโพลง ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ต่างร้อนลั่นวิ่งหนีไป. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ความร้อนแห่งเพลิงนี้ ยังดีกว่าไหม้ด้วยไฟนรก. พระมหาสัตว์มิได้มีความหวั่นไหวเลย เหมือนพระมหาเถระผู้เข้านิโรธสมาบัติ. ครั้นเมื่อเพลิงลุกลามมา อมาตย์ทั้งหลายก็อุ้มพระโพธิสัตว์ออกไป แม้ทดลองด้วยไฟในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาทารกหกขวบย่อมกลัวช้างตกมัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยช้างตกมัน กราบทูลดังนี้แล้ว ให้ฝึกช้างเชือกหนึ่งซึ่งฝึกอย่างดี ให้พระโพธิสัตว์ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ประทับนั่ง ณ พระลานหลวง แล้วปล่อยช้าง. ช้างนั้นบันลือเสียงโกญจนาท เอางวงตีพื้นดินสำแดงภัยมา เหล่าทารกที่เหลือเห็นช้างตกมัน ก็กลัวมรณภัย จึงวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง. ฝ่ายพระมหาสัตว์เห็นช้างตกมันนั้นมา ทรงคิดว่า เราตายเสียที่งาช้างตกมัน ตัวดุร้าย ยังประเสริฐกว่า ไหม้ในนรกอันร้ายกาจ. พระมหาสัตว์ถูกภัยนรกคุกคาม ประทับนั่งตรงนั้นเอง ไม่หวั่นไหวเลย. ลำดับนั้น ช้างที่ฝึกดีแล้วนั้นเล่นเข้ามาจับพระมหาสัตว์ เหมือนจับกำดอกไม้ วิ่งไปวิ่งมาทำให้พระมหาสัตว์ลำบากยิ่ง. มหาชนรับพระมหาสัตว์จากงวงช้างแล้วนำออกไป แม้ทดลองด้วยช้างตกมันในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็ไม่เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเจ็ดขวบย่อมกลัวงู พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยงู กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้พระมหาสัตว์กับเหล่าทารกที่เหลือ นั่งที่พระลานหลวง ปล่อยงูทั้งหลายซึ่งถอดเขี้ยวแล้ว เย็บปากแล้ว ในกาลที่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งแวดล้อมไปด้วยเหล่าทารกที่เหลือ ทารกที่เหลือทั้งหลายเห็นงูดุร้ายเหล่านั้น ก็ร้องลั่นวิ่งหนีไป. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงดำริว่า ความพินาศไปในปากของงูดุร้ายยังดีกว่าตายในนรกอันร้ายกาจ ดังนี้แล้ว จึงทรงนิ่งเฉยเหมือนเข้านิโรธสมาบัติ. คราวนั้น งูทั้งหลายก็เลื้อยมารัดพระสกลกายของพระมหาสัตว์ แผ่พังพานอยู่บนพระเศียรของพระมหาสัตว์. แม้ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ก็มิได้หวั่นไหวเลย แม้ทดลองด้วยงูในระหว่างๆ อย่างนี้ เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกแปดขวบย่อมชอบมหรสพ ฟ้อนรำ. พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยมหรสพ ฟ้อนรำ กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระกุมารประทับนั่ง ณ พระลานหลวงกับทารก ๕๐๐ คน แล้วให้แสดงมหรสพฟ้อนรำ เหล่าทารกที่เหลือเห็นมหรสพ ฟ้อนรำแล้ว ต่างกล่าวว่า ดี ดี พากันหัวเราะเฮฮา. ส่วนพระมหาสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรกว่า ในเวลาที่เราบังเกิดในนรก ความรื่นเริงหรือโสมนัส ไม่มีแม้ชั่วขณะหนึ่ง จึงนิ่งเฉยมิได้ทอดพระเนตรดูอะไรๆนั้นเลย แม้ทดลองด้วยมหรสพฟ้อนรำในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกเก้าขวบย่อมกลัวศัสตรา พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยศัสตรา จึงให้พระมหาสัตว์ประทับนั่ง ณ พระลานหลวงกับทารก ๕๐๐ คน ในเวลาที่ทารก ๕๐๐ คนกำลังเล่นกันอยู่ บุรุษผู้หนึ่งถือดาบมีสีดังแก้วผลึก กวัดแกว่ง บันลือ โห่ร้อง โลดเต้น ปรบมือ ยักเยื้องท่าทาง ขู่ตวาดว่า ได้ยินว่า ราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ากาสิกราช เป็นกาลกรรณี เขาอยู่ไหน เราจักเอาดาบตัดศีรษะเขา วิ่งกล่าวอยู่ดังนี้ เหล่าทารกที่เหลือเห็นดังนั้น ทั้งกลัวทั้งสะดุ้ง ร้องลั่นวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง. ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาภัยในนรก ทรงเห็นว่า พินาศเสียในคมดาบอันร้ายกาจ ยังดีกว่า ตายในอุสสุทนรก ดังนี้ ประทับนั่งเหมือนไม่ทรงทราบ. ลำดับนั้น บุรุษนั้นเอาดาบจดลงที่ศีรษะ แล้วกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า เราจักตัดศีรษะท่าน แม้ทำให้พระมหาสัตว์สะดุ้ง ก็ไม่สามารถจะให้สะดุ้งได้ จึงหลีกไป. แม้ทดลองด้วยดาบในระหว่างๆ อย่างนี้ เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า พวกท่านรับพระกุมารนำออกไปในเวลามา พระกุมารไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบขวบย่อมกลัวเสียง ควรจะใช้เสียงทดลองพระกุมารว่า หนวกหรือไม่ กราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้แวดวงที่บรรทมด้วยม่าน ทำช่องไว้สี่ข้าง ให้คนเป่าสังข์นั่งอยู่ใต้ที่บรรทมไม่ให้พระโพธิสัตว์เห็นตัว ให้เป่าสังข์ขึ้นพร้อมกันได้มีเสียงกังวานพร้อมกัน นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์ บรรทมเหนือที่บรรทม อมาตย์ ๔ คน ยืนอยู่ที่ข้างทั้ง ๔ แลดูอิริยาบถของพระมหาสัตว์ตามช่องม่าน มิได้เห็นวิการแห่งพระหัตถ์พระบาท หรือเพียงกระดิกไหว อันเผลอพระสติของพระมหาสัตว์ แม้วันหนึ่ง. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร. แม้ทดลองด้วยเป่าสังข์ ในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์เลย.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบเอ็ดขวบ ย่อมกลัวเสียงกลอง ควรจะทดลองพระกุมารด้วยเสียงกลอง (เมื่อล่วงไปหนึ่งปี). อมาตย์ทั้งหลาย แม้ทดลองด้วยเสียงกลองในระหว่างๆ อย่างนั้นแลเป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสองขวบ ย่อมกลัวประทีป พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยประทีป กราบทูลดังนี้แล้ว ให้พระโพธิสัตว์บรรทมในที่มืดเวลาราตรี คิดว่า พระกุมารจะยังพระหัตถ์หรือพระบาทให้ไหวหรือไม่หนอ ทำประทีปให้ลุกโพลงในหม้อทั้งหลาย ให้ดับประทีปอื่นๆ เสีย ให้พระโพธิสัตว์บรรทมหน่อยหนึ่ง ในที่มืด แล้วยกหม้อประทีปน้ำมันทั้งหลายขึ้น ทำให้สว่างพร้อมกันทีเดียว พิจารณาดูอิริยาบถของพระโพธิสัตว์ ก็มิได้เห็นแม้สักว่า ความไหวพระกายของพระมหาสัตว์. แม้ทดลองด้วยประทีปในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นแม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารกสิบสามขวบย่อมกลัวแมลงวัน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยน้ำอ้อย กราบทูลดังนี้แล้ว จึงเอาน้ำอ้อยทาทั่วพระสรีระพระโพธิสัตว์ แล้วให้บรรทมในสถานที่มีแมลงวันชุกชุม เลี้ยงบำรุงแมลงวันทั้งหลาย แมลงวันเหล่านั้นก็ตอมพระสรีระทั้งสิ้นแห่งพระโพธิสัตว์ กินน้ำอ้อย ดุจแทงด้วยเข็มเป็นอันมาก. พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราตายในปากแมลงวันทั้งหลายดีกว่าตายในนรกอเวจี จึงอดกลั้นทุกขเวทนา ไม่หวั่นไหวเลย ดุจพระมหาเถระเข้านิโรธสมาบัติ. แม้ทดลองด้วยน้ำอ้อยในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็น แม้เพียงความไหวอะไรๆ ของพระโพธิสัตว์. พระราชาตรัสถามพวกราชบุรุษว่า ลูกของเราไหวมือหรือเท้าบ้างหรือไม่? ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้เลย พระเจ้าข้า. ทรงหารือว่า พวกเราจะทำอย่างไร.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ เมื่อเวลาทารกมีอายุได้สิบสี่ขวบ ก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว บัดนี้พระกุมารนี้เป็นผู้ใหญ่ ใคร่ของสะอาด รังเกียจของโสโครก พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยของโสโครก กราบทูลดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมาไม่สรงสนานพระโพธิสัตว์ ไม่จัดให้ลงบังคน ไม่ช่วยให้ลุกจากที่บรรทม. พระโพธิสัตว์ก็ลงบังคนหนักเบาบรรทมเกลือกกลั้วอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ก็เพราะกลิ่นเหม็น. กาลนั้นได้เป็นเสมือน กาลสำแดงพระอัธยาศัยภายในแห่งพระโพธิสัตว์ออกมาภายนอก แมลงวันทั้งหลายก็มาตอมกิน อยู่ที่พระสรีระของพระโพธิสัตว์. คราวนั้นพระชนกพระชนนีประทับนั่งล้อม พระโพธิสัตว์ ตรัสอย่างนี้ว่า พ่อเตมิยกุมาร บัดนี้พ่อก็โตแล้ว ใครเขาจะประคับประคองพ่อเสมอไป พ่อไม่ละอายหรือ พ่อนอนอยู่ทำไม ลุกขึ้นชำระร่างกายซิ แล้วตรัสตัดพ้อบริภาษ พระโพธิสัตว์ แม้จมอยู่ในกองคูถซึ่งปฏิกูลอย่างนั้น ก็ทรงวางพระอารมณ์เป็นกลาง เพราะทรงพิจารณาเห็นความมีกลิ่นเหม็นของคูถนรก ซึ่งสามารถฟุ้งตลบขึ้นในใจของผู้ที่แม้ยืนอยู่ในที่สุด ของร้อยโยชน์ เพราะมีกลิ่นเหม็น แม้ทดลองด้วยของโสโครกในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               แต่นั้น คณะอมาตย์กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ธรรมดาทารก สิบห้าขวบย่อมกลัวความร้อน พวกข้าพระองค์จักทดลองพระกุมารด้วยถ่านเพลิง. ลำดับนั้น อมาตย์ทั้งหลายได้วางกระเบื้องเต็มด้วยไฟไว้ใต้พระแท่นของพระโพธิสัตว์ด้วยคิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารถูกความร้อนเบียดเบียน เสวยทุกขเวทนา เมื่ออดกลั้นทุกขเวทนาไม่ได้ ก็พึงแสดงความกระดิกไหวพระหัตถ์หรือพระบาทบ้าง. นางนมทั้งหลายให้พระมหาสัตว์บรรทมเหนือพระแท่นแล้วออกมาเสีย พระมหาสัตว์ถูกความร้อนเบียดเบียน เปลวไฟปรากฎเหมือนลุกโพลงทั่วพระสรีระของพระมหาสัตว์ แม้พระมหาสัตว์ก็ทรงโอวาทพระองค์เองว่า แน่ะ พ่อเตมิยกุมาร ความร้อนในนรกอเวจีแผ่ไปตั้งร้อยโยชน์ ทำลายนัยน์ตาของบรรดาสัตว์ที่อยู่ในที่ร้อยโยชน์ได้ ความร้อนแห่งเพลิงนี้ยังดีกว่าความร้อนในนรกนั้นตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า ดังนี้แล้วทรงอดกลั้น ความร้อนนั้นเสีย มิได้หวั่นไหวเลย เหมือนผู้เข้านิโรธสมาบัติ. ลำดับนั้น พระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ถูกความทุกข์เบียดเบียน ก็เป็นเหมือนพระหฤทัยจักแตก จึงแหวกฝูงชนเข้าไปนำพระโพธิสัตว์ออกมาจากความร้อนของไฟนั้น แล้วตรัสวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า พ่อเตมิยกุมาร พวกเรารู้ว่า มิใช่คนง่อยคนเปลี้ยเป็นต้น เพราะคนพิการเหล่านั้นมิได้มีมือ เท้า ปากและช่องหูอย่างนี้ พ่อเป็นบุตรที่พวกเราปรารถนาจึงได้ พ่ออย่าให้พวกเราฉิบหายเลย พ่อจงเปลื้องพวกเราจากครหาแต่สำนักพระราชาทั่วชมพูทวีปเถิด. แม้พระชนกพระชนนีวิงวอนถึงอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็บรรทมนิ่ง เหมือนมิได้ทรงสดับพระวาจานั้น. ลำดับนั้น พระชนกพระชนนีของพระโพธิสัตว์ก็ทรงกันแสงเสด็จหลีกไป บางคราวพระชนกของพระโพธิสัตว์ แต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวก็พระชนนี แต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปวิงวอนพระโพธิสัตว์ บางคราวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปวิงวอนด้วยกัน. แม้ทดลองด้วยถ่านเพลิงในระหว่างๆ อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่ง ก็มิได้เห็นความพิรุธของพระโพธิสัตว์.
               ลำดับนั้น กาลเมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา หมู่อมาตย์และพราหมณ์เป็นต้น คิดกันว่า

.. อรรถกถา เตมิยชาดก ว่าด้วย พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2607&Z=2870
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :