ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาชนกชาดก
ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีเป็นร้อยๆ อย่างอยู่ครามครัน. พระราชนิเวศวังสถาน ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานท้องมหาสมุทรถูกลมพัดมาแต่ขุนเขายุคนธรฟัดฟาดแล้ว ฉะนั้น. สถานที่ซึ่งพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรแล้วๆ ก็กัมปนาทหวั่นไหว.
               พระมหาสัตว์ประทับ ณ พระราชอาสน์ ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรทอดพระเนตรสิริวิลาส อันใหญ่เพียงดังสิริของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงอนุสรณ์ถึงความพยายาม ที่พระองค์ได้ทรงทำในมหาสมุทร เมื่อท้าวเธอทรงอนุสรณ์ถึงความพยายามเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมนสิการว่า ชื่อว่าความเพียร ควรทำแท้ ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร เราจักไม่ได้สมบัตินี้. เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น ก็เกิดพระปีติโสมนัสซาบซ่าน จึงทรงเปล่งพระอุทานด้วยกำลังพระปีติ ตรัสว่า
               บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นการเป็นพระราชาสมปรารถนาแก่ตน. บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตัวท่านจากน้ำขึ้นสู่บก.
               บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นการเป็นพระราชาสมปรารถนาแก่ตน. บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตัวท่านจากน้ำขึ้นสู่บก.
               นรชนผู้มีปัญญาแม้ใกล้ถึงทุกข์แล้ว ก็ไม่พึงตัดความหวังที่จะถึงความสุข จริงอยู่ คนเป็นอันมากถูกทุกข์กระทบกระทั่ง ก็ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถูกสุขกระทบกระทั่ง ก็ทำสิ่งที่มีประโยชน์ คนเหล่านั้นไม่ตรึกถึงความข้อนี้จึงถึงความตาย.
               สิ่งที่มิได้คิดไว้ จะมีก็ได้ สิ่งที่คิดไว้จะพินาศไปก็ได้ โภคะทั้งหลายของหญิงก็ตาม ของชายก็ตาม มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึเสเถว ความว่า ไม่ตัดความหวังเสีย ทำความหวังการงานของตนร่ำไป.
               บทว่า น นิพฺพินฺเทยฺย ความว่า พึงกระทำความเพียรไม่เบื่อหน่าย คือไม่เกียจคร้าน.
               บทว่า ยถา อิจฺฉึ ความว่า เราได้เป็นพระราชาดังที่เราปรารถนาทีเดียว.
               บทว่า อุพฺภตํ ได้แก่ นำเข้าไปใกล้ คือนำเข้าไปแล้ว.
               บทว่า ทุกฺขูปนีโตปิ ความว่า แม้ความทุกข์ทางกายและทางใจถูกต้องแล้ว.
               บทว่า อหิตา หิตา จ ความว่า ผู้ที่มีทุกข์สัมผัส ย่อมไม่ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ผู้ที่มีสุขสัมผัส ย่อมทำสิ่งที่มีประโยชน์.
               บทว่า อวิตกฺกิตาโร ได้แก่ ไม่ตรึก คือไม่คิด ท่านอธิบายว่า บรรดาผัสสะเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่ผัสสะไม่มีประโยชน์ถูกต้อง ไม่คิดว่า แม้ผัสสะที่มีประโยชน์ ก็มีอยู่. ผู้ทำความเพียรย่อมบรรลุผัสสะแม้นั้น ไม่คิดดังนี้จึงไม่ทำความเพียร สัตว์เหล่านั้นไม่ตรึก คือไม่คิดเนื้อความนี้ จึงไม่ได้สัมผัสที่มีประโยชน์ ย่อมเข้าถึงมัจจุ คือถึงความตาย เพราะฉะนั้น ชื่อว่าความเพียรควรกระทำแท้.
               บทว่า อจินฺติตมฺปิ ความว่า แม้สิ่งที่สัตว์เหล่านี้มิได้คิดไว้ก็ย่อมมีได้.
               บทว่า จินฺติตมฺปิ วินสฺสติ ความว่า ก็เรื่องที่ว่า เราจะครองราชสมบัติโดยไม่ต้องรบเลยนี้ เรามิได้คิดไว้. เรื่องที่ว่าเราจักขนทรัพย์แต่สุวรรณภูมิมารบแล้วครองราชสมบัติ นี้เราคิดไว้. แต่ทั้งสองเรื่องนั้นบัดนี้ เรื่องที่เราคิดไว้ หายไปแล้ว เรื่องที่เรามิได้คิดไว้เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า น หิ จินฺตามยา โภคา ความว่า ด้วยว่าโภคะของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าสำเร็จด้วยความคิดหามิได้ เพราะมิได้สำเร็จด้วยความคิด ฉะนั้น ควรทำความเพียรทีเดียว เพราะสิ่งที่มิได้คิดไว้ ย่อมมีแก่ผู้มีความเพียร.

               ตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               กาลต่อมา พระนางสีวลีเทวีประสูติพระราชโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งความมั่งคั่งและความมีบุญ. พระชนกและพระชนนี ทรงขนานพระนามว่าทีฆาวุราชกุมาร. เมื่อทีฆาวุราชกุมารทรงเจริญวัย พระราชาประทานอุปราชาภิเษกแล้ว ครองราชสมบัติอยู่เจ็ดพันปี.
               วันหนึ่ง เมื่อนายอุทยานบาลนำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ และดอกไม้ต่างๆมาถวาย พระมหาชนกราชมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นของเหล่านั้น ทรงยินดี ทรงยกย่องนายอุทยานบาลนั้น ตรัสว่า ดูก่อนนายอุทยานบาล เราใคร่จะเห็นอุทยาน ท่านจงตกแต่งไว้ นายอุทยานบาลรับพระราชดำรัสแล้ว ทำตามรับสั่ง แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้างเสด็จออกจากพระนคร ด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ถึงประตูพระราชอุทยาน. ที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นหนึ่งมีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน ใครๆ ไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้น เพราะผลซึ่งมีรสเลิศอันพระราชายังมิได้เสวย พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้าง ทรงเก็บเอาผลหนึ่งเสวย ผลมะม่วงนั้นพอตั้งอยู่ที่ปลายพระชิวหาของพระมหาสัตว์ ปรากฏดุจโอชารสทิพย์ พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า เราจักกินให้มากเวลากลับ แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน คนอื่นๆ มีอุปราชเป็นต้น จนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้า รู้ว่าพระราชาเสวยผลมีรสเลิศแล้ว ก็เก็บเอาผลมากินกัน. ฝ่ายคนเหล่าอื่นยังไม่ได้ผลนั้น ก็ทำลายกิ่งด้วยท่อนไม้ ทำเสียไม่มีใบ ต้นก็หักโค่นลง. มะม่วงอีกต้นหนึ่งตั้งอยู่งดงาม ดุจภูเขามีพรรณดังแก้วมณี. พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงตรัสถามเหล่าอมาตย์ว่า นี่อะไรกัน เหล่าอมาตย์กราบทูลว่า มหาชนทราบว่า พระองค์เสวยผลมีรสเลิศแล้ว ต่างก็แย่งกันกินผลมะม่วงนั้น. พระราชาตรัสถามว่า ใบและวรรณะของต้นนี้สิ้นไปแล้ว ใบและวรรณะของต้นนอกนี้ยังไม่สิ้นไป เพราะเหตุไร. อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ใบและวรรณะของอีกต้นหนึ่งไม่สิ้นไป เพราะไม่มีผล.
               พระราชาทรงสดับดังนั้น ได้ความสังเวชทรงดำริว่า ต้นนี้มีวรรณะสดเขียวตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลง เพราะมีผล. แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้. ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล. ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล จักเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้. เราจักสละราชสมบัติออกบวช ทรงอธิษฐานพระมนัสมั่น เสด็จเข้าสู่พระนคร เสด็จขึ้นปราสาทประทับที่พระทวารปราสาท ให้เรียกเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า จำเดิมแต่วันนี้ ชนเหล่าอื่นนอกจากผู้บำรุงปฏิบัติผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เชิญเครื่องเสวยมา และเป็นผู้ถวายน้ำบ้วนพระโอฐและไม้สีพระทนต์ อย่ามาหาเราเลย ท่านทั้งหลายจงถือตามเหล่าอมาตย์ ผู้วินิจฉัยคนเก่าว่ากล่าวราชกิจ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักเจริญสมณธรรมในพระตำหนักชั้นบน ตรัสสั่งดังนี้แล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาท เจริญสมณธรรมพระองค์เดียวเท่านั้น. เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ มหาชนประชุมกันที่พระลานหลวง ไม่เห็นพระมหาสัตว์ ก็กล่าวว่า พระราชาของพวกเราไม่เหมือนพระองค์เก่า แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               พระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่เหมือนแต่ก่อน เพราะบัดนี้ ไม่ทรงตรวจตราเหล่าคนฟ้อนรำ ไม่ทรงใส่พระทัยเหล่าเพลงขับ ไม่ทอดพระเนตรสัตว์ทวิบทจตุบาท ไม่ประพาสพระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรหมู่หงส์. พระองค์เป็นประหนึ่งคนใบ้ ประทับนิ่งเฉยไม่ทรงว่าราชกิจอะไรๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิเค เป็นคำกล่าวรวมถึงสัตว์ทั้งปวง อธิบายว่า เมื่อก่อนทรงให้ช้างชนกัน ทรงให้แพะขวิดกัน ทรงให้เหล่ามฤคต่อสู้กัน วันนี้ พระองค์ไม่ทอดพระเนตรสัตว์แม้เหล่านั้น.
               บทว่า อุยฺยาเน ความว่า ไม่โปรดแม้กีฬาในพระราชอุทยาน. บทว่า หํเส ความว่า ไม่ทอดพระเนตรหมู่หงส์ในสระโบกขรณีในพระราชอุทยาน ซึ่งดาดาษไปด้วยบัวเบญจพรรณ.
               บทว่า มูโคว ความว่า ได้ยินว่า พวกเขาเหล่านั้น ถามผู้เชิญเครื่องเสวยและผู้ปฏิบัติบำรุงว่า พระราชาทรงปรึกษาข้อความอะไรๆ กับพวกท่านบ้าง เขากล่าวว่ามิได้ทรงปรึกษาเลย เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.

               พระราชาทรงมีพระมนัสไม่พัวพันในกามทั้งหลาย น้อมพระทัยไปในวิเวก ทรงระลึกถึงเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คุ้นเคยในราชสกุล ทรงดำริว่า ใครหนอจักบอกสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้หากังวลมิได้เหล่านั้นแก่เรา แล้วทรงเปล่งอุทานด้วยคาถา ๓ คาถาไว้ว่า
               ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้ใคร่ความสุข มีศีลอันปกปิดแล้ว ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส หนุ่มก็ตาม แก่ก็ตาม มีตัณหาอันก้าวล่วงแล้ว อยู่ที่ไหนในวันนี้. ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ท่านผู้มีปัญญาเหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่ในโลกที่มีความขวนขวาย. ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้นตัดเสีย ซึ่งข่ายแห่งมัจจุซึ่งขึงไว้มั่น ผู้มีมายาทำลายเสียด้วยญาณไปอยู่ ใครพึงนำเราไปสู่ภูมิที่อยู่แห่งท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขกามา ได้แก่ ผู้ใคร่ความสุข คือ พระนิพพาน.
               บทว่า รโหสีลา ความว่า มีศีลอันปกปิดแล้ว คือประกาศคุณหาที่สุดมิได้.
               บทว่า วคฺคพนฺธา ได้แก่ เครื่องผูกคือกิเลส. บทว่า อุปารุตา แปลว่า ไปปราศแล้ว.
               บทว่า ทหรา วุฑฺฒา จ แปลว่า หนุ่มก็ตาม แก่ก็ตาม.
               บทว่า อจฺฉเร แปลว่า ย่อมอยู่ เมื่อพระราชาทรงอนุสรณ์ถึงคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เกิดพระปีติอย่างมาก.

               ครั้งนั้น พระราชาเสด็จลุกจากบัลลังก์ ทรงเปิดสีหบัญชรด้านทิศอุดร ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ประดิษฐานอัญชลีไว้เหนือพระเศียร. เมื่อทรงนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณอันอุดมเห็นปานนี้ จึงตรัสว่า อติกฺกนฺตวถา เป็นต้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติกฺกนฺตวถา ได้แก่ ผู้ละตัณหาได้แล้ว.
               บทว่า มเหสินํ ได้แก่ ผู้แสวงหาคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นเป็นอันมากดำรงอยู่.
               บทว่า อุสฺสุกฺกมฺหิ ได้แก่ ผู้ถึงความขวนขวายจากราคะเป็นต้น.
               บทว่า มจฺจุโน ชาลํ ได้แก่ ข่ายคือตัณหาอันกิเลสมารขึงไว้.
               บทว่า ตนฺตํ มายาวิโน ความว่า ผู้มีมายายิ่งทั้งหลาย กำจัดคือทำลายด้วยญาณของตนไปอยู่.
               บทว่า โก เตสํ คติมานเย ความว่า ใครจะพึงให้เราถึง คือพาเราไปยังนิวาสสถานของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น.

               เมื่อพระมหาสัตว์ทรงเจริญสมณธรรมอยู่บนปราสาทนั่นแล เวลาล่วงไปสี่เดือน. ลำดับนั้น พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง พระราชนิเวศปรากฏดุจโลกันตนรก ภพทั้งสามปรากฏแก่พระองค์เหมือนถูกไฟไหม้ พระมหาสัตว์มีพระหฤทัยมุ่งเฉพาะต่อบรรพชา ทรงจินตนาการว่า เมื่อไรหนอ กาลเป็นที่ละกรุงมิถิลา ซึ่งประดับตกแต่งดังพิภพแห่งท้าวสักกเทวราชนี้ แล้วไปสู่ป่าหิมวันต์ทรงเพศบรรพชิต จักมีแก่เรา ทรงคิดฉะนี้แล้ว ทรงเริ่มพรรณนากรุงมิถิลาว่า
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดจัดการสร้างจำแนกสถานที่เป็นพระราชนิเวศเป็นต้น ปันส่วนออกเป็นประตูและถนนตามส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง กว้างขวางรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่งมีกำแพงและหอรบเป็นอันมาก ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีป้อมและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อย ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีร้านตลาดในระหว่างจัดไว้อย่างดี ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง เบียดเสียดไปด้วยรถเทียมโคและม้า ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งหมู่ไม้ในที่เที่ยวสำราญ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งหมู่ไม้ในพระราชอุทยาน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งปราสาทอันประเสริฐ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีปราการสามชั้น พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐผู้ทรงยศ พระนามว่าโสมนัส ทรงสร้างไว้ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐทรงสะสมธัญญาหารเป็นต้น ทรงปกครองโดยธรรม ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง อันหมู่ปัจจามิตรผจญไม่ได้ ทรงปกครองโดยธรรม ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ จำแนกปันสถานที่ไว้สมส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ ซึ่งฉาบทาด้วยปูนขาวและดิน ออกบวช ความประสงค์นั้นจัดสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันจำแนกปันสมส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันฉาบทาด้วยปูนขาวและดิน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันมีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันทาสีวิเศษ สวยสด ลาดรดประพรมด้วยแก่นจันทน์ ออกบวช ความประสงค์นั้นจัดสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละบัลลังก์ทอง ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละบัลลังก์แก้วมณี ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละผ้าฝ้ายผ้าไหม ผ้าอันเกิดแต่โขมรัฐและเกิดแต่โกทุมพรรัฐ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งนกจากพรากร่ำร้องแล้ว ดาดาษไปด้วยพรรณไม้น้ำทั้งปทุมและอุบล ออกบวช ความประสงค์สำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองช้าง ซึ่งประดับประดาไปด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง และเหล่าช้างมีสายรัดทองคำ บริบูรณ์ด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายทองคำ เหล่าควาญที่ประจำก็ถือโตมรและของ้าว ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองม้า ซึ่งประดับประดาด้วยสรรพาลังการ และเหล่าสินธพชาติอาชาไนย ซึ่งเป็นพาหนะเร็ว อันเหล่าคนฝึกประจำถือดาบและแล่งศรอยู่เป็นนิตย์ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองรถ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำรถถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองรถทองคำ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละรถเงิน ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำรถถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองรถม้า ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนึ่งเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองรถเทียมอูฐ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองรถเทียมแพะ แกะ เนื้อ โค ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศรสวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละกองฝึกช้าง ถือโตมรและของ้าว กองฝึกม้าทรงเครื่องประดับทองคำ กองพลธนูถือคันธนูพร้อมทั้งแล่งธนู เหล่าราชบุตรทรงเครื่องประดับทองคำ ทั้งสี่เหล่านี้ล้วนประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการ เป็นผู้กล้าหาญสวมเกราะมีวรรณะเขียว ส่วนราชบุตรสวมเกราะอันวิจิตรถือกริชทอง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละหมู่พราหมณ์ผู้ครองผ้าเครื่องบริขารครบครัน ทาตัวด้วยแก่นจันทน์เหลือง ทรงผ้ามาแต่แคว้นกาสีอันอุดม และนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ซึ่งประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการ เอวบาง สำรวมดีแล้ว เมื่อฟังคำสั่ง พูดจาน่ารัก ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักละภาชนะทองคำน้ำหนักร้อยปัลละ จำหลักลวดลายนับด้วยร้อย ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรกองช้างซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเป็นต้น จนถึงเหล่านางสนมกำนัลผู้เชื่อฟังคำสั่ง พูดจาน่ารัก เป็นที่สุด ผู้ติดตามเราไป เขาจักไม่ติดตามเราอันใด ความที่พวกนั้นๆ ไม่ติดตามเรานั้น จักมีจักเป็นได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักได้ปลงผมห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร เที่ยวบิณฑบาต จักทรงผ้าสังฆาฏิอันทำด้วยผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งไว้ตามถนนหนทาง เมื่อฝนตกเจ็ดวัน จักมีจีวรเปียกซุ่มเที่ยวบิณฑบาต จักจาริกไปตามต้นไม้ ตามราวป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน เที่ยวไปโดยไม่เหลียวแลถึงกิจการอันใดอันหนึ่ง จักละความกลัวความขลาดให้เด็ดขาด จักอยู่ผู้เดียวตามภูเขาและสถานที่อันลำบาก จักทำจิตให้ตรง ดุจคนดีดพิณดีดสายทั้งเจ็ดให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ.
               เมื่อไรเราจักตัดเสียซึ่งกามสังโยชน์ อันเป็นของทิพย์และของมนุษย์ ดุจช่างรถตัดรองเท้าโดยรอบฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทา เป็นบทกำหนดเวลา. บทว่า ผิตํ ความว่า แพร่ คือเต็มด้วยผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น.
               บทว่า วิภตฺตํ ภาคโส มิตํ ความว่า อันนายช่างผู้สร้างพระนครผู้ฉลาด แบ่งสถานที่เป็นพระราชนิเวศเป็นต้น ปันส่วนเป็นประตูและถนน.
               บทว่า ตํ กทา สุ ภวิสฺสติ ความว่า การละพระนครเห็นปานนี้ ออกบวชนั้น จักมีได้เมื่อไร.
               บทว่า สพฺพโต ปภํ ความว่า ประกอบด้วยแสงสว่างแห่งเครื่องประดับโดยรอบ.
               บทว่า พหุปาการโตรณํ ความว่า ประกอบด้วยกำแพงหนาแน่นและประตูหอรบ.
               บทว่า ทฬฺหมฏฏาลโกฏฺฐกํ ความว่า ประกอบด้วยป้อมและซุ้มประตูมั่นคง.
               บทว่า ปีฬิตํ ความว่า เกลื่อนกล่น. บทว่า ติปุรํ ความว่า ประกอบด้วยกำแพงสามชั้น คือ มีกำแพงสามชั้น อีกอย่างหนึ่งความว่า ล้อมรอบสามรอบ.
               บทว่า ราชพนฺธนึ ความว่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สามชั้นทีเดียว.
               บทว่า โสมนสฺเสน ความว่า พระเจ้าวิเทหราชมีพระนามอย่างนี้.
               บทว่า นิจฺจิเต ได้แก่ สะสมธัญญาหารเป็นต้นอุดมสมบูรณ์.
               บทว่า อชฺเชยฺย ได้แก่ หมู่ปัจจามิตรเอาชนะไม่ได้. บทว่า จนฺทนโผสิเต ได้แก่ ประพรมด้วยจันทน์แดง.
               บทว่า โขมโกทุมฺพรานิ ได้แก่ ผ้าที่เกิดแต่โขมรัฐและโกทุมพรรัฐ. บทว่า หตฺถิคุมฺเพ ได้แก่ โขลงช้าง.
               บทว่า เหมกปฺปนิวาสเส ได้แก่ ประกอบด้วยของสำเร็จรูป กล่าวคือเครื่องประดับศีรษะล้วนแล้วไปด้วยทอง และข่ายทอง.
               บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่าหัตถาจารย์. บทว่า อาชานีเย จ ชาติเย ได้แก่ ฝูงม้าทั้งหลายเช่นนั้น ชื่ออาชาไนย เพราะรู้เหตุและมิใช่เหตุ ชื่อมีชาติ เพราะสมบูรณ์ด้วยชาติ.
               บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่าอัศวาจารย์. บทว่า อินฺทิยา จาปธาริภิ ได้แก่ ทรงไว้ซึ่งดาบและแล่งศร.
               บทว่า รถเสนิโย ได้แก่ หมู่รถ. บทว่า สนฺนทฺเธ ได้แก่ สวมเกราะด้วยดี.
               บทว่า ทีเป อโถปิ เวยฺยคฺเฆ ได้แก่ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง.
               บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่ารถาจารย์. บทว่า สชฺฌุรเถ ได้แก่ รถเงิน ประกอบรถเทียมแพะ รถเทียมแกะ รถเทียมเนื้อ เพื่อความงดงาม.
               บทว่า อริยคเณ ได้แก่ หมู่พราหมณ์ ได้ยินว่า พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีอาจาระประเสริฐในเวลานั้น เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวถึงพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้.
               บทว่า หริจนฺทนลิตฺตงฺเค ได้แก่ มีสรีระไล้ทาด้วยจันทน์สีทอง พระมหาสัตว์กล่าวว่า สตฺตสตา หมายเอาเฉพาะภริยาที่รักเท่านั้น.
               บทว่า สุสญฺญา ได้แก่ สำรวมแล้วด้วยดี.
               บทว่า อสฺสวา ได้แก่ ทำตามถ้อยคำ. บทว่า สตปลฺลํ ได้แก่ สร้างด้วยทองคำหนักร้อยปัลละ.
               บทว่า กํสํ ได้แก่ ถาด. บทว่า สตราชิกํ ได้แก่ ประกอบด้วยลวดลายด้านหลังร้อยลาย.
               บทว่า ยนฺตํ มํ ความว่า ผู้ติดตามทั้งหลาย เมื่อไรจักไม่ติดตามเราผู้ไปไพรสณฑ์คนเดียวเท่านั้น.
               บทว่า สตฺตาหํ เมเฆ ได้แก่ เมื่อเมฆฝนตั้งขึ้นตลอดเจ็ดวัน ความว่า เวลาฝนตกตลอดเจ็ดวัน.
               บทว่า สพฺพณฺหํ แปลว่า ตลอดคืนตลอดวัน. บทว่า วีณรุชฺชโก แปลว่า ผู้บรรเลงพิณ.
               บทว่า กามสํโยชเน ได้แก่ กามสังโยชน์. บทว่า ทิพฺเพ แปลว่า เป็นของทิพย์. บทว่า มานุเส แปลว่า เป็นของมนุษย์.

               ได้ยินว่า พระมหาสัตว์บังเกิดในกาลที่คนมีอายุหมื่นปี เสวยราชสมบัติเจ็ดพันปี ได้ทรงผนวชในเมื่อพระชนมายุยังเหลืออยู่ประมาณสามพันปี ก็เมื่อจะทรงผนวช ได้เสด็จอยู่ในฆราวาสวิสัยสี่เดือน จำเดิมแต่กาลที่ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่ประตูพระราชอุทยาน ทรงดำริว่า เพศแห่งบรรพชิตประเสริฐกว่าเพศแห่งพระราชานี้ เราจักบวช จึงตรัสสั่งราชบุรุษผู้รับใช้เป็นความลับว่า เจ้าจงนำผ้าย้อมฝาดและบาตรดินมาแต่ร้านตลาด อย่าให้ใครๆ รู้. ราชบุรุษนั้นได้ทำตามรับสั่ง พระราชาโปรดให้เรียกเจ้าพนักงานภูษามาลามาให้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ. พระราชทานบ้านส่วยแก่ภูษามาลาแล้วโปรดให้กลับไป ทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ทรงพาดผืนหนึ่งที่พระอังสา สวมบาตรดินในถุงคล้องพระอังสา ทรงธารพระกรสำหรับคนแก่แต่ที่นั้น เสด็จจงกรมไปมาในปราสาทด้วยปัจเจกพุทธลีลาสิ้นวันเล็กน้อย ทรงเปล่งอุทานว่า โอ บรรพชาเป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขอันประเสริฐ.
               พระมหาสัตว์เสด็จประทับอยู่ในปราสาทนั้นแล ตลอดวันนั้น วันรุ่งขึ้นทรงปรารภจะเสด็จลงจากปราสาทในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น. คราวนั้น พระนางสีวลีเทวีตรัสเรียกสตรีคนสนิทเจ็ดร้อยเหล่านั้นมารับสั่งว่า พวกเราไม่ได้เห็นพระราชาของเราทั้งหลาย ล่วงมาได้สี่เดือนแล้ว. วันนี้เราทั้งหลายจักพากันไปเฝ้าท้าวเธอ ท่านทั้งหลายพึงตกแต่งด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แสดงเยื้องกรายมีกิริยาอาการร่าเริง เพ็ดทูล ขับร้องอย่างสตรีเป็นต้นตามกำลัง พยายามผูกพระองค์ไว้ด้วยเครื่องผูก คือกิเลส. แม้พระเทวีก็ทรงประดับตกแต่งพระองค์ แล้วเสด็จขึ้นปราสาทกับด้วยสตรีเหล่านั้น ด้วยทรงคิดว่า จักเฝ้าพระราชา แม้ทอดพระเนตรเห็นพระราชาเสด็จลงอยู่ ก็ทรงจำไม่ได้. ถวายบังคมพระราชาแล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยทรงสำคัญว่า บรรพชิตนี้จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถวายโอวาทพระราชา. ฝ่ายพระมหาสัตว์เสด็จลงจากปราสาท ฝ่ายพระเทวีเมื่อเสด็จขึ้นไปยังปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาของพระราชามีสีดุจปีกแมลงภู่ บนหลังพระที่สิริไสยาสน์ และห่อเครื่องราชาภรณ์ จึงตรัสว่า บรรพชิตนั้นไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า จักเป็นพระราชสวามีที่รักของพวกเรา มาเถิดท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายจักทูลวิงวอนพระองค์ให้เสด็จกลับ จึงเสด็จลงจากปราสาทตามไปทันพระราชาที่หน้าพระลาน. ครั้นถึงจึงสยายเกศาเรี่ยรายเบื้องพระปฤษฎางค์ กับด้วยสตรีทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง กราบทูลว่า พระองค์ทรงทำการอย่างนี้ เพราะเหตุไร พระเจ้าข้า ทรงคร่ำครวญติดตามพระราชาไปอย่างน่าสงสารยิ่ง.
               ครั้งนั้น พระนครทั้งสิ้นก็เอิกเกริกโกลาหล ฝ่ายชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า ได้ยินว่า พระราชาของพวกเราทรงผนวชเสียแล้ว พวกเราจักได้พระราชา ผู้ดำรงอยู่ในยุติธรรมเห็นปานนี้แต่ไหนอีกเล่า แล้วต่างร้องไห้ติดตามพระราชาไป.
               พระบรมศาสดาเมื่อทรงทำให้แจ้งซึ่งเสียงคร่ำครวญของหญิงเหล่านั้น และความที่พระราชาทรงละหญิงแม้ที่กำลังคร่ำครวญอยู่เหล่านั้นเสีย เสด็จไป เพราะเหตุการณ์นั้น จึงตรัสว่า
               พระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้น ประดับด้วยสรรพาลังการ เอวบางสำรวมดี เชื่อถ้อยฟังคำ พูดจาน่ารัก ประคองพาหาทั้งสองกันแสง คร่ำครวญว่า พระองค์ละพวกข้าพระองค์ เพราะเหตุไร พระราชาทรงละพระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้น ซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เอวบางสำรวมดี เชื่อถ้อยฟังคำ พูดจาน่ารัก เสด็จไปมุ่งการผนวชเป็นสำคัญ พระราชาทรงละภาชนะทองคำหนักร้อยปัลละ มีลวดลายนับด้วยร้อย ทรงอุ้มบาตรดินนั้นให้เป็นอันอภิเษกครั้งที่สอง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปคฺคยฺห ได้แก่ ยกขึ้นแล้ว.
               บทว่า สมฺปทวี ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้ามหาชนกราชนั้นทรงทิ้ง พระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้นซึ่งรำพันเพ้ออยู่ว่า พระองค์ละพวกข้าพระองค์เสด็จไปแต่ผู้เดียวทำไม ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความผิดอะไรหรือ พระองค์มุ่งเสด็จไปดุจถูกท้วงว่า พระองค์ปราศจากสมบัติเสด็จออกผนวช.
               บทว่า ตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้น ทรงอุ้มบาตรดินนั้นให้เป็นอันอภิเษกครั้งที่สอง เสด็จออกอยู่.

               พระนางสีวลีเทวีแม้ทรงคร่ำครวญอยู่ ก็ไม่อาจยังพระราชาให้เสด็จกลับได้ ทรงคิดว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง จึงให้เรียกมหาเสนาคุตมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงจุดไฟเผาเรือนเก่าศาลาเก่า ในส่วนทิศเบื้องหน้าที่พระราชาเสด็จไป จงรวบรวมหญ้าและใบไม้นำมาสุมให้เป็นควันมากในที่นั้นๆ. มหาเสนาคุตได้ทำอย่างนั้น. พระนางสีวลีเทวีเสด็จไปสู่สำนักของพระราชา หมอบแทบพระยุคลบาทกราบทูลความที่ไฟไหม้กรุงมิถิลา ตรัสสองคาถาว่า
               คลังทั้งหลาย คือคลังเงิน คลังทอง คลังแก้ว มุกดา คลังแก้วไพฑูรย์ คลังแก้วมณี คลังสังข์ คลังไข่มุกค์ คลังผ้า คลังจันทน์เหลือง คลังหนังเสือ คลังงาช้าง คลังพัสดุสิ่งของ คลังทองแดง คลังเหล็กเป็นอันมาก มีเปลวไฟเสมอเป็นอันเดียวกันอย่างน่ากลัว แม้อยู่คนละส่วนก็ไหม้หมด. ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับดับไฟเสียก่อน พระราชทรัพย์ของพระองค์นั้นอย่าได้ฉิบหายเสียเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เภสฺมา แปลว่า น่ากลัว.
               บทว่า อคฺคิสมาชาลา ความว่า เรือนทั้งหลายของมนุษย์นั้นๆ อันไฟไหม้อยู่ ไฟรุ่งเรืองด้วยเปลวเสมอเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า โกสา ได้แก่ เรือนคลังเงินเป็นต้น.
               บทว่า ภาคโส ความว่า พระนางสีวลีเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ คลังของเราทั้งหลายเหล่านั้น แม้แบ่งไว้เป็นส่วนๆ ก็ถูกไฟไหม้หมด.
               บทว่า โลหํ ได้แก่ ทองแดงเป็นต้น.
               บทว่า มา เต ตํ วินสฺสา ธนํ ความว่า ขอทรัพย์ของพระองค์นั้นจงอย่าพินาศ. อธิบายว่า มาเถิด ขอพระองค์จงดับไฟนั้น พระองค์จะเสด็จไปภายหลัง พระองค์จักถูกครหาว่า เสด็จออกไปโดยไม่เหลียวแลพระนคร ที่กำลังถูกไฟไหม้อยู่เลย พระองค์จักมีความวิปฏิสารเพราะความละอายนั้น มาเถิด พระองค์โปรดสั่งเหล่าอมาตย์ให้ดับไฟเถิด พระเจ้าข้า.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะพระนางสีวลีว่า พระเทวี เธอตรัสอะไรอย่างนั้น ความกังวลด้วยของเหล่าใดมีอยู่ ความกังวลนั้นด้วยของเหล่านั้นเพลิงเผาผลาญอยู่ แต่เราทั้งหลายหาความกังวลมิได้ เมื่อจะทรงแสดงข้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญอยู่ ของอะไรๆ ของเรามิได้ถูกเผาผลาญเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นตฺถิ กิญฺจนํ ความว่า ความกังวล กล่าวคือ กิเลสเครื่องกังวลของเราทั้งหลายเหล่าใดไม่มี เราทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตเป็นสุข เป็นสุขดีหนอ เพราะไม่มีความกังวลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญอยู่ ของอะไรๆ ของเรามิได้ถูกเผาผลาญเลย ความว่า เราไม่เห็นสิ่งของส่วนตัวของเราแม้หน่อยหนึ่งถูกเผาผลาญ.

               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้เสด็จออกทางประตูทิศอุดร. พระสนมกำนัลในทั้งเจ็ดร้อยแม้เหล่านั้นก็ออกตามเสด็จไป. พระนางสีวลีเทวีทรงคิดอุบายอีกอย่างหนึ่ง จึงตรัสสั่งอมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงแสดงเหตุการณ์ให้เป็น เหมือนโจรฆ่าชาวบ้านและปล้นแว่นแคว้น. อมาตย์ได้จัดการตามกระแสรับสั่ง. ขณะนั้น คนทั้งหลายก็แสดงพวกคนถืออาวุธวิ่งแล่นไปๆ แต่ที่นั้นๆ เป็นราวกะว่าปล้นอยู่ รดน้ำครั่งลงในสรีระเป็นราวกะว่า ถูกประหารให้นอนบนแผ่นกระดาน เป็นราวกะว่า ตายถูกน้ำพัดไป ต่อพระราชา. มหาชนทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พวกโจรปล้นแว่นแคว้น ฆ่าข้าแผ่นดินของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ แม้พระเทวี ก็ถวายบังคมพระราชา ตรัสคาถาเพื่อให้เสด็จกลับว่า
               เกิดโจรป่าขึ้นแล้วปล้นแว่นแคว้นของพระองค์ มาเถิดพระองค์ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด แว่นแคว้นนี้ อย่าพินาศเสียเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏวิโย ความว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่นี่แหละ เกิดโจรป่าขึ้นแล้ว.
               บทว่า รฏฺฐํ ความว่า พวกโจรทำลายแว่นแคว้นของพระองค์ อันธรรมรักษาแล้วเห็นปานนั้น มาเถิดพระองค์ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด แว่นแคว้นของพระองค์นี้ จงอย่าพินาศ.

               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วมีพระดำริว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จะไม่เกิดโจรปล้นทำลายแว่นแคว้นเลย นี้จักเป็นการกระทำของพระสีวลิเทวี. เมื่อจะทรงทำให้พระนางจำนนต่อถ้อยคำ จึงตรัสว่า
               เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เมื่อแว่นแคว้นถูกโจรปล้น พวกโจรมิได้นำอะไรๆ ของเราไปเลย เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เราทั้งหลายจักมีปีติเป็นภักษา เหมือนเทวดาชั้นอาภัสรา ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิลุมฺปมานมฺหิ ได้แก่ ถูกโจรปล้นอยู่.
               บทว่า อาภสฺสรา ยถา ความว่า พรหมเหล่านั้นเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา ยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในสมาบัติ ฉันใด เราทั้งหลายจักยังเวลาให้ล่วงไป ฉันนั้น.

               แม้เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว มหาชนก็ยังติดตามพระองค์ไปอยู่นั่นเอง. พระมหาสัตว์มีพระดำริว่า มหาชนเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะกลับ เราจักให้มหาชนนั้นกลับ เมื่อทรงดำเนินทางไปได้กึ่งคาวุต. พระองค์จึงทรงหยุดพักประทับยืนในทางใหญ่ ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า ราชสมบัตินี้ของใคร. อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ของพระองค์. ท้าวเธอจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงลงราชทัณฑ์แก่ผู้ทำรอยขีดนี้ให้ขาด. ตรัสฉะนี้แล้วทรงเอาธารพระกร ลากให้เป็นรอยขีดขวางทาง ใครๆ ไม่สามารถทำรอยขีดที่พระราชา ผู้มีพระเดชานุภาพได้ทรงขีดไว้ให้ขาดลบเลือน. มหาชนทำรอยขีดเหนือศีรษะคร่ำครวญกันอย่างเหลือเกิน. แม้พระนางสีวลีเทวีก็ไม่ทรงสามารถทำรอยขีดนั้นให้เลือนหายได้. ทอดพระเนตรเห็นพระราชาหันพระปฤษฏางค์เสด็จไปอยู่ ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนพระอุระ ล้มขวางทางใหญ่กลิ้งเกลือกไปมา ล่วงเลยรอยขีดนั้นเสด็จไป. มหาชนเข้าใจว่า เจ้าของรอยขีดได้ทำลายเจ้าของรอยขีดแล้ว จึงพากันโดยเสด็จไปตามมรรคาที่พระเทวีเสด็จไป. พระมหาสัตว์ทรงบ่ายพระพักตร์ เสด็จไปหิมวันตประเทศทางทิศอุดร. ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีก็พาเสนาพลพาหนะทั้งปวง ตามเสด็จไปด้วย. พระราชาไม่อาจที่จะให้มหาชนกลับได้ เสด็จไปสิ้นทางประมาณหกสิบโยชน์.
               ในกาลนั้น มีดาบสรูปหนึ่งชื่อ นารทะ อยู่ที่สุวรรณคูหาในหิมวันตประเทศ ให้เวลาล่วงไปด้วยสุขเกิดแต่ฌานอันสัมปยุตด้วยอภิญญาห้า. ล่วงเจ็ดวันก็ออกจากสุขเกิดแต่ฌาน เปล่งอุทานว่า โอ เป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง. ดาบสนั้นตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุว่า ใครๆ ในพื้นชมพูทวีปแสวงหาสุขนี้ มีบ้างหรือหนอ. ก็เห็นพระมหาชนกผู้พุทธางกูร จึงคิดว่า พระมหาชนกนั้นเป็นพระราชาออกมหาภิเนษกรมณ์ ไม่สามารถจะยังมหาชนราชบริพาร มีพระนางสีวลีเทวีเป็นประมุขให้กลับพระนครได้. ข้าราชบริพารนั้นพึงทำอันตรายแก่พระองค์ เราจักถวายโอวาทแก่พระองค์ เพื่อให้ทรงสมาทานมั่นโดยยิ่งโดยประมาณ. จึงไปด้วยกำลังฤทธิ์ สถิตอยู่ในอากาศตรงเบื้องพระพักตร์พระราชา กล่าวคาถาให้พระองค์เกิดอุตสาหะว่า
               ความกึกก้องของประชุมชนใหญ่นี้ เพื่ออะไร นั่นใครหนอมากับท่าน เหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน. สมณะ อาตมาขอถามท่าน ประชุมชนนี้แวดล้อมท่านเพื่ออะไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมฺเหโส ความว่า ความกึกก้องแห่งประชุมชนหมู่ใหญ่มีโขลงช้างเป็นต้นนี้ ในเพราะเหตุอะไร.
               บทว่า กานุ คาเมว กีฬิยา ความว่า นั่นใครหนอมากับท่าน ราวกะว่าเล่นกีฬากันอยู่ในบ้าน.
               บทว่า กตฺเถโส ได้แก่ มหาชนนี้เพื่ออะไร.
               บทว่า อภิสโฏ ความว่า มหาชนประชุมกันแวดล้อมท่านมา นารทดาบสถามดังนี้.

               พระราชาตรัสตอบว่า

.. อรรถกถา มหาชนกชาดก ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2871&Z=3200
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :