ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปญฺจาโล สพฺพเสนาย ดังนี้เป็นต้น.
               ความย่อว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา เมื่อจะสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระตถาคต ได้นั่งสรรเสริญพระคุณของพระศาสดาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอด ย่ำยีเสียซึ่งวาทะแห่งคนอื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์มีกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น เหล่าปริพาชกมีสัพภิยปริพาชกเป็นต้น เหล่ายักษ์มีอาฬวกยักษ์เป็นต้น เหล่าเทวดามีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น เหล่าพรหมมีพกพรหมเป็นต้น และเหล่าโจรมีโจรองคุลิมาลเป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทำให้สิ้นพยศ พระองค์ทรงทรมานชนเป็นอันมาก ประทานบรรพชาให้ตั้งอยู่ในมรรคผล. พระศาสดามีพระปัญญาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
               พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไร และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนาค้างในระหว่าง.
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจริยา เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน. ตรัสฉะนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุรพจริยา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่าวิเทหะ เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีบัณฑิต ๔ คน ชื่อเสนกะ ๑ ปุกกุสะ ๑ กามินทะ ๑ เทวินทะ ๑ เป็นผู้ถวายอนุศาสนอรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราชนั้น.
               กาลนั้น พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินในปัจจุสสมัย ในวันพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้ง ๔ มุม มีกองเพลิง ๔ กองประมาณเท่ากำแพงใหญ่ลุกโพลง. ก็ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้นมีกองเพลิงกอง ๑ ประมาณเท่าหิงห้อย ตั้งขึ้นลุกล่วงเลยกองเพลิงทั้ง ๔. ในขณะนั้นเอง ตั้งขึ้นจดประมาณอกนิฏฐพรหมโลกสว่างทั่วจักรวาล. สิ่งที่ตกในภาคพื้น แม้สักเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ปรากฏ. โลกทั้งเทวดาทั้งมารทั้งพรหม มาบูชากองไฟนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. มหาชนเที่ยวอยู่ในระหว่างเปลวเพลิง ก็มิได้ร้อนแม้สักว่าขุมขน. พระราชาทรงเห็นพระสุบินนี้แล้ว ทรงหวาดสะดุ้ง เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง. ทรงจินตนาการอยู่จนอรุณขึ้นว่า เหตุการณ์อะไรหนอจะพึงมีแก่เรา. บัณฑิตทั้ง ๔ มาเฝ้าแต่เช้าทูลถามถึงสุขไสยาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือ. พระราชาตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ ความสุขจะมีแก่เราแต่ไหน เราได้ฝันเห็นอย่างนี้. ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตกพระหฤทัย พระสุบินนั้นเป็นมงคล ความเจริญจักมีแด่พระองค์. เมื่อมีพระราชดำรัสถามว่า เพราะเหตุไร จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช บัณฑิตที่ ๕ อีกคนหนึ่งจักเกิดขึ้น ครอบงำพวกข้าพระองค์ ซึ่งเป็นบัณฑิตทั้ง ๔ ทำให้หมดรัศมี. พวกข้าพระองค์ทั้ง ๔ คน เหมือนกองเพลิง ๔ กอง. บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้น เหมือนกองเพลิงที่เกิดขึ้นในท่ามกลาง. ก็บัณฑิตนั้นหาผู้เสมอ ย่อมไม่มีในโลกทั้งเทวโลก. พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า ก็บัดนี้ บัณฑิตนั้นอยู่ที่ไหน. เสนกบัณฑิตทูลพยากรณ์ราวกะเห็นด้วยทิพยจักษุ เพราะกำลังแห่งการศึกษาของตนว่า วันนี้ บัณฑิตนั้นจักปฏิสนธิ หรือจักคลอดจากครรภ์มารดา. พระราชาทรงระลึกถึงคำแห่งเสนกบัณฑิตนั้น จำเดิมแต่นั้นมา.
               ก็บ้านทั้ง ๔ คือ บ้านชื่อทักขิณยวมัชฌคาม ๑. ปัจฉิมยวมัชฌคาม ๑. อุตตรมัชคาม ๑. ปาจีนยวมัชฌคาม ๑. มีอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ แห่งกรุงมิถิลา. ในบ้านทั้ง ๔ นั้น เศรษฐีชื่อสิริวัฒกะ อยู่ในบ้านชื่อปาจีนยวมัชฌคาม ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อสุมนาเทวี. วันนั้น พระมหาสัตว์จุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนาเทวี. ในเวลาที่พระราชาทรงพระสุบิน เทพบุตรอีกพันหนึ่งจุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในตระกูลแห่งเศรษฐีใหญ่น้อยในบ้านนั้นนั่นเอง. ฝ่ายนางสุมนาเทวีคลอดบุตรมีพรรณดุจทองคำ โดยกาลล่วงมาได้ ๑๐ เดือน.
               ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดูมนุษยโลก ทรงทราบว่า พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา. ทรงคิดว่า ควรเราจะทำพระพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในโลกทั้งเทวโลก จึงเสด็จมาด้วยอทิสมานกาย ไม่มีใครเห็นพระองค์. ในเวลาที่พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา วางแท่งโอสถแท่งหนึ่งที่หัตถ์แห่งพระมหาสัตว์นั้น แล้วเสด็จกลับไปยังทิพยพิมานแห่งตนทีเดียว. พระมหาสัตว์รับแท่งโอสถนั้นกำไว้. ก็เมื่อพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์นั้น ความทุกข์มิได้มีแก่มารดา แม้สักหน่อยหนึ่ง. คลอดง่ายคล้ายน้ำออกจากธมกรก ฉะนั้น. นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตรนั้น. จึงถามว่า พ่อได้อะไรมา. บุตรนั้นตอบมารดาว่า โอสถจ๊ะแม่. แล้ววางทิพยโอสถในมือมารดา. กล่าวว่า ข้าแต่แม่ แม่จงให้โอสถนี้แก่เหล่าคนเจ็บป่วย ด้วยความเจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               นางสุมนาเทวีมีความร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้สามี ก็เศรษฐีนั้นป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี มีความยินดีร่าเริง คิดว่า กุมารนี้เมื่อเกิดแต่ครรภ์มารดา ก็ถือโอสถมา. ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะที่เกิดนั่นเอง. โอสถที่ผู้มีบุญเห็นปานนี้ให้ จักมีอานุภาพมาก. คิดฉะนี้แล้ว จึงถือโอสถนั้นฝนที่หินบด แล้วเอาโอสถหน่อยหนึ่งทาที่หน้าผาก. โรคปวดศีรษะที่เป็นมา ๗ ปีก็หายไป ดุจน้ำหายไปจากใบบัว ฉะนั้น. ท่านเศรษฐีนั้นมีความดีใจว่า โอสถมีอานุภาพมาก.
               เรื่องพระมหาสัตว์ถือโอสถมา ก็ปรากฏไปในที่ทั้งปวง. บรรดาผู้เจ็บป่วยทั้งปวงนั้น พากันมาบ้านท่านเศรษฐีขอยา. ฝ่ายท่านเศรษฐีก็ถือเอาโอสถหน่อยหนึ่ง ฝนที่หินบด ละลายน้ำให้แก่คนทั้งปวง เพียงเอาทิพยโอสถทาสรีระเท่านั้น ความเจ็บป่วยทั้งปวงก็สงบ. มนุษย์ทั้งหลายได้ความสุข แล้วก็สรรเสริญว่า โอสถในเรือนท่านสิริวัฒกเศรษฐีมีอานุภาพมาก แล้วหลีกไป.
               ในวันตั้งชื่อพระมหาสัตว์ ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า เราไม่ต้องการชื่อ บรรพบุรุษมีปู่เป็นต้น มาเป็นชื่อบุตรของเรา. บุตรของเราจงชื่อโอสถ เพราะเมื่อเขาเกิดถือโอสถมาด้วย. แต่นั้นมา จึงตั้งชื่อพระมหาสัตว์นั้นว่า มโหสถกุมาร เพราะอาศัยคำเกิดขึ้นว่า โอสถนี้มีคุณมาก โอสถนี้มีคุณมาก ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดว่า บุตรของเรามีบุญมาก จักไม่เกิดคนเดียวเท่านั้น. ทารกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับบุตรของเรานี้จะพึงมี จึงให้ตรวจตราดู ก็ได้ข่าวพบทารกเกิดวันเดียวกัน ๑ พันคน จึงให้เครื่องประดับแก่กุมารทั้งหมด และให้นางนม ๑ พันคน ให้ทำมงคลแก่ทารกเหล่านั้น พร้อมกับพระโพธิสัตว์ทีเดียว. ด้วยคิดว่า ทารกเหล่านี้จักเป็น ผู้ปฏิบัติบำรุงบุตรของเรา. นางนมทั้งหลายตกแต่งทารก แล้วนำมาบำเรอพระมหาสัตว์. พระโพธิสัตว์เล่นอยู่ด้วยทารกเหล่านั้น เจริญวัย. เมื่อมีอายุได้ ๗ ขวบ มีรูปงามราวกะรูปเปรียบทองคำ. เมื่อพระโพธิสัตว์เล่นอยู่กับทารกเหล่านั้น ในท่ามกลางบ้าน. เมื่อช้างเป็นต้นมา สนามที่เล่นก็เสียหาย. ทารกทั้งหลายย่อมลำบาก ในเวลาเมื่อถูกลมและแดด. วันหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นกำลังเล่นกันอยู่ มหาเมฆตั้งขึ้น. พระมหาสัตว์ผู้มีกำลังดุจช้างสาร เห็นเมฆตั้งขึ้นก็วิ่งเข้าสู่ศาลาหลังหนึ่ง. พวกทารก นอกนี้วิ่งตามไปทีหลังพระมหาสัตว์ เหยียบเท้าของกันและกัน พลาดล้มถึงเข่าแตกเป็นต้น. พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า ควรทำศาลาเป็นที่เล่นในสถานที่นี้ เราทั้งหลายจักไม่ลำบากอย่างนี้. จึงแจ้งแก่ทารกเหล่านั้นว่า พวกเราจักลำบากด้วยลม ฝน และแดด พวกเราจักสร้างศาลาหลังหนึ่งในที่นี้ ให้พอเป็นที่ยืน นั่ง และนอนได้. ท่านทั้งหลายจงนำกหาปณะมาคนละหนึ่งกหาปณะ. ทารกเหล่านั้นก็กระทำตามนั้น.
               พระมหาสัตว์ให้เรียกนายช่างใหญ่มากล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ท่านจงสร้างศาลาในที่นี้ แล้วได้ให้กหาปณะพันหนึ่งแก่เขา. นายช่างใหญ่รับคำรับกหาปณะพันหนึ่งแล้ว ปราบพื้นที่ให้เสมอ ขุดหลักตอออก แล้วขึงเชือกกะที่. พระมหาสัตว์เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง. เมื่อจะบอกจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าขึงเชือกอย่างนี้ จงขึงให้ดี. นายช่างกล่าวว่า นาย ข้าพเจ้าขึงตามเหมาะสมแก่ศิลปะของตน. อย่างอื่นนอกจากนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้. พระมหาสัตว์กล่าวว่า แม้เพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ ท่านจักรับทรัพย์ของพวกเราทำศาลาได้อย่างไร. จงนำเชือกมา เราจักขึงให้ท่าน. ให้นำเชือกมาแล้วก็ขึงเอง เชือกที่พระมหาสัตว์ขึง ได้เป็นประหนึ่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรขึง. แต่นั้น พระมหาสัตว์ได้กล่าวกะนายช่างว่า ท่านสามารถขึงเชือกได้อย่างนี้ไหม ไม่สามารถนาย. ถ้าเช่นนั้น ท่านสามารถทำตามความเห็นของเราได้ไหม. สามารถนาย. พระมหาสัตว์จัดปันที่ศาลาให้เป็นส่วนๆ คือ ห้องสำหรับหญิงอนาถาคลอดบุตรห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับสมณพราหมณ์ ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับคฤหัสถ์ ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ทำห้องเหล่านั้นทั้งหมด ให้มีประตูทางหน้ามุข ให้ทำสนามเล่น ที่วินิจฉัย แม้โรงธรรมอย่างนั้นๆ. เมื่อศาลาแล้วเสร็จโดยวันเล็กน้อย ให้เรียกช่างเขียน มาเขียนให้น่ารื่นรมย์ ให้มีจิตรกรรมกว้างขวางโดยตนสั่งเอง. ศาลานั้นมีส่วนเปรียบด้วยเทวสภาชื่อ สุธรรมา. แต่นั้น พระมหาสัตว์ดำริว่าเพียงเท่านี้ ศาลายังหางามไม่. ควรสร้างสระโบกขรณีด้วยถึงจะงาม. จึงให้ขุดสระโบกขรณี ให้เรียกช่างอิฐมา ให้สร้างสระโบกขรณีให้มีคดลดเลี้ยวนับด้วยพัน ให้มีท่าลงนับด้วยร้อย โดยความคิดของตน. สระโบกขรณีนั้นดาดาษด้วยปทุมชาติ ๕ ชนิด เป็นราวกะว่านันทนโบกขรณี ให้สร้างสวนปลูกต้นไม้ต่างๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผลริมฝั่งสระนั้น ดุจอุทยานนันทนวัน และใช้ศาลานั้นแหละ เริ่มตั้งทานวัตร เพื่อสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม และผู้เดินทางที่จรมา เป็นต้น. การกระทำของพระมหาสัตว์นั้น ได้ปรากฏไปในที่ทั้งปวง มนุษย์เป็นอันมากได้มาอาศัยศาลานั้น. พระมหาสัตว์นั่งในศาลานั้น กล่าวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกและผิด แก่ผู้ที่มาแล้วๆ เริ่มตั้งการวินิจฉัย. กาลนั้นได้เป็นเสมือน พุทธุปบาทกาล.
               ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช กาลล่วงไปได้ ๗ ปี ทรงระลึกได้ว่า บัณฑิตทั้ง ๔ กล่าวแก่เราว่า บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้นครอบงำพวกเขา. บัณฑิตที่ ๕ นั้นบัดนี้อยู่ที่ไหน. โปรดให้อมาตย์ ๔ คนไปสืบเสาะหาทางประตูทั้ง ๔ ด้าน ให้รู้สถานที่อยู่แห่งบัณฑิตนั้น. อมาตย์ผู้ออกไปทางประตูอื่นๆ ไม่พบพระมหาสัตว์. อมาตย์ผู้ออกไปทางประตูด้านปราจีนทิศ นั่งที่ศาลาคิดว่า ศาลาหลังนี้ ต้องคนฉลาดทำเอง หรือใช้ให้คนอื่นทำ. จึงถามคนทั้งหลายว่า ศาลาหลังนี้ ช่างไหนทำ. คนทั้งหลายตอบว่า ศาลาหลังนี้นายช่างไม่ได้ทำเอง แต่ได้ทำตามวิจารณ์ของมโหสถบัณฑิต ผู้เป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐี ด้วยกำลังปัญญาแห่งตน. อมาตย์ถามว่า ก็บัณฑิตอายุเท่าไร คนทั้งหลายตอบว่า ๗ ปีบริบูรณ์. อมาตย์นับปีตั้งแต่วันที่พระราชาทรงเห็นพระสุบิน ก็ทราบว่า บัณฑิตนั้น คือผู้นี้เอง. สมกับพระราชาทรงเห็นพระสุบิน จึงส่งทูตไปทูลพระราชาว่า ขอเดชะ บุตรของสิริวัฒกเศรษฐีในบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ชื่อมโหสถบัณฑิต อายุได้ ๗ ปี ให้สร้างศาลา สระโบกขรณี และอุทยานอย่างนี้ๆ. ข้าพระบาทจะพาบัณฑิตนี้มาเฝ้าหรือยัง. พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้น มีพระหฤทัยยินดี. รับสั่งให้หาเสนกบัณฑิตมา ตรัสเล่าเนื้อความนั้น แล้วดำรัสถามว่า เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์เสนกะ เราจะนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง. เสนกบัณฑิตนั้นเป็นคนตระหนี่ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงให้สร้างศาลาเป็นต้น. ใครๆ ก็ให้สร้างได้ ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย. พระราชาทรงสดับคำของเสนกบัณฑิต ทรงดำริว่า เหตุการณ์ในข้อนี้จะพึงมี ก็ทรงนิ่งอยู่. ทรงส่งทูตของอมาตย์กลับไป ด้วยพระดำรัสว่า อมาตย์จงอยู่ในที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตไปก่อน. อมาตย์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็ยับยั้งอยู่ที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตต่อไป.
               รวมหัวข้อพิจารณาในเรื่องนั้น ดังนี้ ชิ้นเนื้อ โค เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ กลุ่มด้าย บุตร คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ รถ ท่อนไม้ ศีรษะคน งู ไก่ แก้วมณี ให้โคตัวผู้ตกลูก ข้าว ชิงช้าห้อยด้วยเชือก ทราย สระน้ำ อุทยาน ฬา แก้วมณีบนลังกา (รวม ๑๙ ข้อ)
               ว่าด้วยปัญหา ๑๙ ข้อ
               บรรดาหัวข้อเหล่านั้น หัวข้อว่าชิ้นเนื้อ มีความว่า วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ไปสู่สนามเล่น มีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาชิ้นเนื้อแต่เขียงฆ่าสัตว์ บินมาทางอากาศ. ทารกทั้งหลายเห็นเหยี่ยวคาบเนื้อบินมา ก็ติดตามไป ด้วยคิดจะให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อนั้น. เด็กเหล่านั้นวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ แลดูเบื้องบนไปข้างหน้าข้างหลังเหยี่ยวนั้น พลาดลงที่ตอมีแผ่นหินเป็นต้น ย่อมลำบาก.;ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวกะเด็กเหล่านั้นว่า กันจะให้เหยี่ยวนั้นทิ้งชิ้นเนื้อ เด็กทั้งหลายขอให้ลองดู จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น จงคอยดู. มโหสถวิ่งไปด้วยกำลังเร็วดังลม โดยไม่แลดูข้างบน พอเหยียบเงาเหยี่ยว ก็ตบมือร้องเสียงดังลั่น ด้วยเดชานุภาพแห่งมหาสัตว์ เสียงนั้นดุจเข้าไปก้องในท้องของเหยี่ยวนั้น เหยี่ยวนั้นกลัวก็ทิ้งชิ้นเนื้อ. พระมหาสัตว์รู้ว่า เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อแล้ว แลดูเงา รับเอาในอากาศไม่ให้ตกพื้นดิน. มหาชนเห็นการที่มหาสัตว์ทำดังนั้นเป็นอัศจรรย์ จึงบันลือโห่ร้องตบมือทำเสียงเซ็งแซ่. อมาตย์ทราบประพฤติเหตุนั้น จึงส่งทูตไปทูลพระราชาอีกว่า ขอเดชะ มโหสถบัณฑิตได้ยังเหยี่ยวให้ทิ้งชิ้นเนื้อด้วยอุบายนี้. ขอสมมติเทพ จงทรงทราบประพฤติเหตุนี้. พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านเสนกะ เราจะนำบัณฑิตมาหรือยัง. เสนกบัณฑิตคิดว่า จำเดิมแต่เวลาที่มโหสถกุมารมาในราชสำนักนี้ พวกเรา๔ คน จักหมดรัศมี. พระราชาจักไม่ทรงทราบว่า พวกเรามีอยู่. ไม่ควรให้นำมโหสถกุมารนั้นมา เพราะความตระหนี่ลาภ. จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย. พระราชาทรงมีพระองค์เป็นกลาง จึงส่งทูตนั้นกลับไปด้วยพระราชดำรัสสั่งว่า จงพิจารณามโหสถนั้น ในที่นั้นต่อไป.
               หัวข้อว่า โค มีความว่า บุรุษชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่งคิดว่า เมื่อฝนตก เราจักไถนา. จึงซื้อโคแต่บ้านอื่น นำมาให้อยู่ในบ้าน. รุ่งขึ้น นำไปสู่ที่มีหญ้าเพื่อให้หากิน นั่งอยู่บนหลังโค เหน็ดเหนื่อย ก็ลงนั่งโคนต้นไม้เลยหลับไป. ขณะนั้น โจรคนหนึ่งมาพาโคหนีไป. บุรุษเจ้าของโคนั้นตื่นขึ้นมา ไม่เห็นโค ค้นหาโคข้างโน้นข้างนี้ เห็นโจรจึงวิ่งไล่ไปโดยเร็วกล่าวว่า แกจะนำโคของข้าไปไหน. โจรกล่าวตอบว่า แกพูดอะไร ข้าจะนำโคของข้าไปสู่ที่ต้องการ. มหาชนต่างมาฟัง ชนทั้งสองวิวาทกันจนแน่น. มโหสถบันฑิตได้ฟังเสียงคนทั้งหลาย ไปทางประตูศาลา. จึงให้เรียกคนทั้งสองมา เห็นกิริยาของคนทั้งสองก็รู้ว่า คนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นเจ้าของโค. แต่ถึงรู้ ก็ถามว่า ท่านทั้งสองวิวาทกันเพราะเหตุไร. เจ้าของโคกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าซื้อโคนี้แต่คนชื่อนี้แต่บ้านโน้น นำมาให้อยู่ในบ้าน นำไปสู่ที่มีหญ้าแต่เช้า. ชายนี้พาโคหนีไป เพราะเห็นข้าพเจ้าประมาท. ในเวลานั้น ข้าพเจ้ามองหาข้างโน้นข้างนี้ เห็นชายคนนี้ จึงติดตามไปจับตัว. ชาวบ้านโน้นรู้การที่ข้าพเจ้าซื้อโคนี้มา. ฝ่ายโจรกล่าวว่า โคนี้เกิดในบ้านของข้าพเจ้า ชายนี้พูดปด. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามชายทั้งสองว่า เราจักวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยหรือ. เมื่อคนทั้งสองรับว่าจักตั้งอยู่ คิดว่า ควรจะถือเอาตามใจของมหาชน. จึงถามว่า โคเหล่านี้ท่านให้กินอะไร ให้ดื่มอะไร. โจรตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส. ต่อนั้นจึงถามเจ้าของโค เจ้าของโคตอบว่า อาหารมีข้าวยาคูเป็นต้น คนจนอย่างข้าจะได้ที่ไหนมา ข้าพเจ้าให้กินหญ้าเท่านั้น. มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของคนทั้งสองนั้นแล้ว จึงให้คนของตนนำถาดมา ให้นำใบประยงค์มาตำในครก ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า. มโหสถบันฑิตแสดงแก่มหาชนให้เห็น แล้วถามโจรว่า เจ้าเป็นโจรหรือมิใช่. โจรรับสารภาพว่าเป็นโจร. มโหสถบัณฑิตให้โอวาทว่า ถ้าอย่างนั้น จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำอย่างนี้. ฝ่ายบริษัทของพระโพธิสัตว์ก็ทุบตีโจรนั้น ด้วยมือและเท้าทำให้บอบช้ำ. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวสอนโจรนั้นว่า เจ้าจงเห็นทุกข์ของเจ้านี้ในภพนี้เพียงนี้ แต่ในภพหน้า เจ้าจักเสวยทุกข์ใหญ่ในนรกเป็นต้น. จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วให้เบญจศีลแก่โจรนั้น. อมาตย์ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระราชา ตามความเป็นจริง. พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง. เมื่อเสนกะทูลว่า ข้าแต่มหาราช คดีเรื่องโค ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อน. พระราชาทรงวางพระองค์เป็นกลาง จึงทรงส่งข่าวไปอย่างนั้นอีก.
               นักปราชญ์พึงทราบในวิธานทั้งปวงอย่างนี้ ก็เบื้องหน้าแต่นี้จักจำแนกเพียง หัวข้อเรื่องเท่านั้นแสดง.
               หัวข้อว่า เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ มีความว่า ยังมีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง เปลื้องเครื่องประดับทำเป็นปล้อง ถักด้วยด้ายสีต่างๆ จากคอวางไว้บนผ้าสาฎก ลงสู่สระโบกขรณีที่มโหสถบัณฑิตให้ทำไว้ เพื่ออาบน้ำ. หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นเครื่องประดับนั้น เกิดความโลภ หยิบเครื่องประดับขึ้นชมว่า เครื่องประดับนี้งามเหลือเกิน. แกทำราคาเท่าไร แม้กันก็จักทำรูปเหล่านี้ ตามควรแก่ศิลปะของตน. กล่าวชมฉะนี้แล้วประดับที่คอตน แล้วกล่าวว่า กันจะพิจารณาประมาณของเครื่องประดับนั้นก่อน. หญิงเจ้าของกล่าวว่า จงพิจารณาดูเถิด เพราะหญิงเจ้าของเป็นคนมีจิตซื่อตรง หญิงรุ่นสาวประดับที่คอตน แล้วหลีกไป. ฝ่ายหญิงเจ้าของเห็นดังนั้น ก็รีบขึ้นจากโบกขรณี นุ่งผ้าสาฎก แล้ววิ่งตามไปยึดผ้าไว้กล่าวว่า เอ็งจักถือเอาเครื่องประดับของข้า หนีไปไหน. ฝ่ายหญิงขโมยกล่าวตอบว่า ข้าไม่ได้เอาของของแก เครื่องประดับคอของข้าต่างหาก. มหาชนชุมนุมฟังวิวาทกัน. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเล่นอยู่กับเหล่าทารก ได้ฟังเสียงหญิงสองคนนั้นทะเลาะกันไปทางประตูศาลา ถามว่า นั่นเสียงอะไร. ได้ฟังเหตุที่หญิงสองคนทะเลาะกันแล้ว จึงให้เรียกเข้ามา แม้รู้อยู่โดยอาการว่า หญิงนี้เป็นขโมย หญิงนี้มิใช่ขโมย. ก็ถามเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของข้าหรือ เมื่อหญิงทั้งสองรับว่า จักตั้งอยู่ในวินิจฉัย. จึงถามหญิงขโมยก่อนว่า แกย้อมเครื่องประดับนี้ด้วยของหอมอะไร. หญิงขโมยตอบว่า ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมทุกอย่าง ของหอมที่ทำประกอบด้วยของหอมทั้งปวง ชื่อว่าของหอมทุกอย่าง. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงเจ้าของ นางตอบว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ของหอมทุกอย่างจะมีแต่ไหน ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอม คือดอกประยงค์เท่านั้นเป็นนิตย์. มโหสถบัณฑิตให้คนของตน กำหนดคำของหญิงทั้งสองนั้นไว้ แล้วให้นำภาชนะน้ำมาแช่เครื่องประดับน้ำในภาชนะน้ำนั้น. ให้เรียกคนรู้จักกลิ่นมาสั่งว่า ท่านจงดมเครื่องประดับนั้น จะเป็นกลิ่นอะไร. คนรู้จักกลิ่นดมเครื่องประดับนั้นแล้วก็รู้ว่า กลิ่นดอกประยงค์ จึงกล่าวคาถานี้ในเอกนิบาตว่า
               ของหอมทุกอย่างไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วน หญิงนักเลงคือหญิงขโมยกล่าวคำเท็จ หญิงแก่คือหญิงเจ้าของกล่าวคำจริง.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ยังมหาชนให้รู้เหตุการณ์นั้นแล้วถามว่า แกเป็นขโมยหรือ แล้วให้สารภาพว่าเป็นขโมย. จำเดิมแต่นั้น ความที่พระมหาสัตว์เป็นบัณฑิต ก็ปรากฏแก่มหาชน.
               หัวข้อว่า ด้ายกลุ่ม มีความว่า ยังมีสตรีคนหนึ่งรักษาไร่ฝ้าย. เมื่อเฝ้าไร่ได้เก็บฝ้ายที่บริสุทธิ์ในไร่นั้นมาปั่นให้เป็นเส้นเล็กๆ แล้วเอาเม็ดมะพลับมาไว้ข้างใน พันด้ายนั้นให้เป็นกลุ่ม เก็บไว้ในพก. เมื่อจะกลับบ้าน คิดว่า เราจักอาบน้ำในสระโบกขรณีของท่านบัณฑิต จึงวางกลุ่มด้ายนั้นไว้บนผ้าสาฎก แล้วลงอาบน้ำ. ยังมีหญิงคนหนึ่งเห็นด้ายกลุ่มนั้น ก็ถือเอาด้วยมีจิตโลภ ตบมือพูดว่า โอ ด้ายนี้สวยดี ท่านทำหรือ ทำเป็นเหมือนแลดู แล้วเอาใส่ในพกหลีกไป. เรื่องที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่มีในก่อน. มโหสถบัณฑิตถามหญิงขโมยก่อนว่า เมื่อแกทำด้ายให้เป็นกลุ่ม ได้ใส่อะไรไว้ข้างใน. หญิงขโมยนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าใส่ผลฝ้ายนั่นเองไว้ข้างใน. ต่อนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของ. นางตอบว่า ใส่เม็ดมะพลับไว้ข้างใน. มโหสถบัณฑิตให้คนของตนกำหนดคำของหญิงทั้งสองไว้ แล้วให้คลี่ด้ายกลุ่มนั้นออก เห็นเม็ดมะพลับ. จึงให้หญิงขโมยนั้นรับสารภาพว่าเป็นขโมย. มหาชนร่าเริงยินดี กล่าวว่ามโหสถบัณฑิตวินิจฉัยความดี ได้ให้สาธุการเป็นอันมาก.
               หัวข้อว่า บุตร มีความว่า ยังมีสตรีคนหนึ่งพาบุตร ไปสระโบกขรณีของมโหสถบัณฑิต. เพื่อล้างหน้า เอาบุตรอาบน้ำ แล้วให้นั่งบนผ้าสาฎกของตน ตนเองลงล้างหน้า. ขณะนั้น มียักขินีตนหนึ่งเห็นทารกนั้นอยากจะกิน จึงแปลงเพศเป็นสตรีมาถามว่า แน่ะสหายทารกนี้งามหนอ เป็นบุตรของเธอหรือ. ครั้นสตรีมารดาทารกนั้นรับว่า เป็นบุตรของตน. จึงกล่าวว่า ฉันจะให้ดื่มนม. เมื่อสตรีมารดาทารกอนุญาตแล้ว ก็อุ้มทารกนั้นให้เล่นหน่อยหนึ่ง แล้วพาทารกนั้นหนีไป. สตรีมารดาทารกเห็นดังนั้น จึงขึ้นจากน้ำวิ่งไปโดยเร็ว ยึดผ้าสาฎกไว้กล่าวว่า เองจะพาบุตรข้าไปไหน. นางยักขินีกล่าวว่า เจ้าได้บุตรมาแต่ไหน นี้บุตรของข้าต่างหาก. หญิงทั้งสองทะเลาะกันเดินไปถึงประตูศาล. มโหสถบัณฑิตได้ฟังเสียงนางทั้งสองทะเลาะกัน ให้เรียกเข้ามาถามว่า เรื่องเป็นอย่างไรกัน. นางทั้งสองก็แจ้งให้ทราบเรื่องนั้น. มโหสถบัณฑิตฟังความนั้นแล้ว แม้รู้ว่า หญิงนี้เป็นยักขินีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดงและไม่มีเงา จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้รับคำตอบว่าจักตั้งอยู่ในวินิจฉัย. จึงขีดรอยที่แผ่นดิน ให้ทารกนอนกลางรอยขีด ให้ยักขินีจับมือทารก ให้หญิงผู้เป็นมารดาจับเท้า แล้วกล่าวว่า แกทั้งสองคนจงฉุดคร่าเอาไป. ทารกนั้นเป็นบุตรของผู้สามารถเอาไปได้. นางทั้งสองก็คร่าทารกนั้น ทารกนั้นถูกคร่าไปด้วยความลำบากก็ร้องจ้า. หญิงมารดาได้ฟังเสียงนั้น ก็เป็นเหมือนหัวใจจะแตก ปล่อยบุตรยืนร้องไห้อยู่. มโหสถบัณฑิตถามมหาชนว่า ใจของมารดาทารกอ่อน หรือว่าใจของหญิงไม่ใช่มารดาอ่อน. มหาชนตอบว่า ใจของมารดาอ่อน. มโหสถบัณฑิตจึงถามมหาชนว่า บัดนี้เป็นอย่างไร หญิงผู้คร่าทารกไปได้ยืนอยู่เป็นมารดา หรือว่านางผู้สละทารกเสียยืนอยู่เป็นมารดา. มหาชนตอบว่า นางผู้สละทารกยืนอยู่เป็นมารดา. มโหสถกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายรู้หรือว่านางนี้เป็นคนขโมยทารก. มหาชนตอบว่า ไม่ทราบ. มโหสถจึงกล่าวว่า นางนี้เป็นยักขินีคร่าเอาทารกไปเพื่อกิน. มหาชนถามว่า รู้ได้อย่างไร. มโหสถตอบว่า รู้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยักขินีนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดง ไม่มีเงา และปราศจากความกรุณา. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ถามหญิงนั้นว่า แกเป็นใคร. ยักขินีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นยักขินี. พระมหาสัตว์ซักต่อไปว่า เจ้าจะเอาทารกนี้ไปทำไม. ยักขินีตอบว่า เอาไปกิน. พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางอันธพาล แต่ก่อนเองทำบาปจึงเกิดเป็นยักขินี. แม้บัดนี้ก็ยังจะทำบาปอีก โอ เองเป็นคนอันธพาล. กล่าวดังนี้แล้ว ให้ยักขินีตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วปล่อยตัวไป. ฝ่ายหญิงมารดาทารก กล่าวว่า จงมีอายุยืนนานเถิดนาย ชมมโหสถบัณฑิต แล้วพาบุตรหลีกไป.
               หัวข้อว่า คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ มีความว่า มีชายคนหนึ่งชื่อโคฬกาฬ เพราะเป็นคนเตี้ยและผิวดำ. เขาทำงาน ๗ ปี ได้ภรรยาชื่อทีฆตาหลา. วันหนึ่ง โคฬกาฬเรียกภรรยามากล่าวว่า เจ้าจงทอดขนมควรเคี้ยว. ครั้นนางถามว่า แกจะไปไหน. จึงบอกว่า ข้าจะไปเยี่ยมบิดามารดา. นางห้ามว่า แกจะต้องการอะไรด้วยบิดามารดา. โคฬกาฬก็คงสั่งให้ทอดขนมถึง ๓ ครั้ง จึงถือเอาเสบียง และของฝากเดินทางไปกับภรรยานั้น. ในระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำ มีกระแสน้ำไหลตื้น แต่สองสามีภรรยานั้นเป็นคนขลาด จึงไม่อาจลง ก็ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ. กาลนั้น มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อทีฆปิฏฐิ เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำ ถึงสถานที่นั้น สามีภรรยาเห็นชายนั้นจึงถามว่า แม่น้ำนี้ลึกหรือตื้น. นายทีฆปิฏฐิรู้อยู่ว่า สองสามีภรรยานั้นขลาดต่อน้ำ. จึงตอบว่า แม่น้ำนี้ลึกเหลือเกิน ปลาร้ายก็ชุม. สามีภรรยาจึงซักถามว่า สหายจักไปอย่างไรเล่า. ชายนั้นตอบว่า เรามีความคุ้นเคยกับจระเข้และมังกร ฉะนั้น. สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงไม่เบียดเบียนเรา. สองสามีภรรยากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น สหายจงพาเราทั้งสองไป. ชายนั้นรับคำ. ลำดับนั้น สองสามีภรรยาจึงให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ชายนั้น. ชายนั้นบริโภคอิ่มแล้ว จึงถามว่า สหายจะให้เราพาใครไปก่อน. นายโคฬกาฬตอบว่า จงพาภรรยาไปก่อน พาเราไปทีหลัง. ชายนั้นรับคำแล้วให้นางทีฆตาหลาขึ้นคอ ถือเสบียงและของฝากทั้งหมดลงข้ามแม่น้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง แล้วย่อตัวหลีกไป. ลำดับนั้น นายโคฬกาฬยืนอยู่ที่ฝั่งคิดว่า แม่น้ำนี้ลึกแท้ คนสูงยังเป็นอย่างนี้ แต่เราเป็นไม่ได้การทีเดียว. ฝ่ายนายทีฆปิฏฐิพานางทีฆตาหลาไปถึงกลางแม่น้ำ ก็พูดเกี้ยวว่า ข้าจักเลี้ยงดูเจ้า เจ้าจักมีผ้าและเครื่องประดับบริบูรณ์ มีทาสทาสีแวดล้อม. นายโคฬกาฬตัวเตี้ยคนนี้ จักทำอะไรแก่เจ้าได้ เจ้าจงทำตามคำข้า. นางทีฆตาหลาได้ฟังคำของนายทีฆปิฏฐินั้น ก็ตัดสิเนหาในสามีของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในนายทีฆปิฏฐินั้น ในขณะนั้นเอง. จึงกล่าวตอบว่า ถ้านายไม่ทิ้งฉัน ฉันจักทำตามคำของนาย. นายทีฆปิฏฐิกล่าวว่า นางพูดอะไร ข้าจะเลี้ยงดูนาง. คนทั้งสองนั้นไปถึงฝั่งโน้น ก็ชื่นชมต่อกันและกัน. ละนายโคฬกาฬเสีย กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน. ต่างเคี้ยวกินของควรเคี้ยว ต่อหน้านายโคฬกาฬผู้แลดูอยู่ แล้วพากันหลีกไป. นายโคฬกาฬเห็นดังนั้นจึงคิดว่า คนทั้งสองนี้เห็นจะร่วมกันทิ้งเราหนีไป ก็วิ่งไปวิ่งมา ข้ามลงได้หน่อยหนึ่งก็กลับขึ้นเพราะความกลัว ข้ามลงอีกหนหนึ่ง ด้วยความโกรธในคนทั้งสองนั้น โดดลงด้วยแน่ใจว่าเป็นหรือตายก็ตามที ลงไปในแม่น้ำ จึงรู้ว่าตื้น. ก็ข้ามขึ้นจากแม่น้ำติดตามไปโดยเร็ว. พอทันคนทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า แน่ะอ้ายโจรร้าย มึงจะพาเมียกูไปไหน. นายทีฆปิฏฐิกล่าวตอบว่า แน่ะอ้ายถ่อยแคระเตี้ยร้าย เมียมึงเมื่อไร. กล่าวดังนี้ แล้วก็ไสคอนายโคฬกาฬไป. นายโคฬกาฬจับมือนางทีฆตาหลา กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน เองจะไปไหน ข้าทำงานมา ๗ ปีจึงได้เองมาเป็นเมีย. เมื่อทะเลาะกับนายทีฆปิฏฐิ พลางมาถึงที่ใกล้ศาลาพระมหาสัตว์ มหาชนประชุมกัน.
               มโหสถบัณฑิตถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน. สดับความนั้นแล้วให้เรียกคนทั้งสองมา. ได้ฟังโต้ตอบกันแล้ว จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. ครั้นคนทั้งสองยอม. จึงถามนายทีฆปิฏฐิก่อนว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆปิฏฐิ. ก็ภรรยาของแกชื่ออะไร. เมื่อไม่ทันรู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของภรรยาชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้ก็บอกชื่ออื่น. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงให้คนของตนกำหนดถ้อยคำไว้. แล้วให้นายทีฆปิฏฐินั้นออกไป ให้เรียกนายโคฬกาฬมา ถามชื่อคนทั้งปวงโดยนัยหนหลัง. นายโคฬกาฬรู้อยู่ตามเป็นจริงก็บอกไม่ผิด. พระโพธิสัตว์ให้นำนายโคฬกาฬออกไป ให้เรียกนางทีฆตาหลามาถามว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆตาหลา. ผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่ทันรู้จักชื่อกันก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. มโหสถบัณฑิตให้เรียกนายทีฆปิฏฐิและนายโคฬกาฬมา แล้วถามมหาชนว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายทีฆปิฏฐิ หรือสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มหาชนตอบว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า นายโคฬกาฬเป็นผัวของนางทีฆตาหลา นายทีฆปิฏฐิเป็นโจร. ลำดับนั้น มโหสถจึงถามนายทีฆปิฏฐิว่า เจ้าเป็นโจรหรือ. นายทีฆปิฏฐิรับสารภาพว่าเป็นโจร. นายโคฬกาฬได้ภรรยาของตนคืน ด้วยวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต. ก็ชมเชยมโหสถบัณฑิต แล้วพาภรรยาหลีกไป. มโหสถบัณฑิตกล่าวกะนายทีฆปิฏฐิว่า จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำกรรมเช่นนี้อีก.
               หัวข้อว่า รถ มีความว่า กาลนั้นยังมีบุรุษคนหนึ่งนั่งในรถ ออกจากบ้านเพื่อล้างหน้า. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาเห็นพระโพธิสัตว์. จึงดำริว่า เราจักทำปัญญานุภาพแห่งมโหสถผู้พุทธางกูร ให้ปรากฏ. จึงเสด็จมาด้วยเพศแห่งมนุษย์จับท้ายรถไป. บุรุษเจ้าของรถถามว่า แน่ะพ่อ พ่อมาด้วยประโยชน์อะไร. ครั้นได้ฟังว่า จะมาเพื่ออุปัฏฐากตน. จึงรับว่าดีแล้ว ก็ลงจากรถไปเพื่อทำสรีรกิจ. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชขึ้นรถขับไปโดยเร็ว. บุรุษเจ้าของรถทำสรีรกิจ แล้วออกมาเห็น ท้าวสักกเทวราชลักรถหนีไป ก็ติดตามไปโดยเร็ว. กล่าวว่า หยุดก่อน หยุดก่อน แกจะนำรถของข้าไปไหน. เมื่อท้าวสักกะตอบว่า รถของแกคันอื่น แต่คันนี้รถของข้า. ก็เกิดทะเลาะกันไปถึงประตูศาลา. มโหสถบัณฑิตถามว่า เรื่องอะไรกัน แล้วให้เรียกคนทั้งสองนั้นมา. เห็นคนทั้งสองมาด้วยอาการนั้น ก็รู้ชัดว่า ผู้นี้เป็นท้าวสักกเทวราช เพราะปราศจากความกลัวเกรง และเพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ. ผู้นี้เป็นเจ้าของรถ. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น มโหสถก็ถามถึงเหตุแห่งการวิวาทกล่าวว่า ท่านทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้ฟังรับว่าจักตั้งอยู่. จึงกล่าวว่า เราจักขับรถไป ท่านทั้งสองจงจับท้ายรถ เจ้าของรถจักไม่ปล่อย ผู้ไม่ใช่เจ้าของรถจักปล่อย กล่าวฉะนี้แล้ว. บังคับบุรุษคนหนึ่งว่าจงขับรถไป บุรุษนั้นได้ทำตามนั้น. คนทั้งสองจับท้ายรถวิ่งตามไป เจ้าของรถไปได้หน่อยหนึ่งเหน็ดเหนื่อย จึงปล่อยรถยืนอยู่. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชวิ่งไปกับรถทีเดียว. มโหสถบัณฑิตสั่งให้กลับรถ แล้วแจ้งแก่มหาชนว่า บุรุษนี้ไปได้หน่อยหนึ่งก็ปล่อยรถยืนอยู่ แต่บุรุษนี้วิ่งไปกับรถ กลับมากับรถ. แม้เพียงหยาดเหงื่อ แต่สรีระของเขาก็ไม่มี. หายใจออกหายใจเข้าก็ไม่มี. หาความสะทกสะท้านมิได้ นัยน์ตาก็ไม่กระพริบ ผู้นี้คือท้าวสักกเทวราช. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตถามว่า ท่านเป็นท้าวสักกเทวราชมิใช่หรือ . ครั้นได้รับตอบว่าใช่. จึงถามว่า พระองค์เสด็จมาที่นี้เพื่ออะไร. ครั้นได้รับตอบว่า เพื่อประกาศปัญญาของเธอนั่นแหละ. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าได้กระทำอย่างนี้อีก. ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะแสดงสักกานุภาพ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ตรัสชมเชยมโหสถบัณฑิตว่า เธอวินิจฉัยความดี เธอวินิจฉัยความดี. แล้วเสด็จกลับยังทิพยสถานของตน. กาลนั้น อมาตย์นั้นไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตนเอง ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ความเรื่องรถมโหสถกุมารวินิจฉัยดีอย่างนี้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังแพ้. เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงทราบบุรุษพิเศษเล่า ขอเดชะ. พระราชาตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า ควรนำบัณฑิตมาหรือยัง. อาจารย์เสนกะเป็นคนตระหนี่จึงได้ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โปรดรอไปก่อน. เราจักทดลองเขาแล้วจักรู้ พระราชาทรงดุษณีภาพ.
               จบ ปัญหาของทารก ๗ ข้อ

.. อรรถกถา มโหสถชาดก ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :