ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๒.


               จบ ภูริปัญหา

               เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าวิเทหราชจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร. พระองค์เองประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำ. ตรัสว่า พ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรถามปัญหา ๔ ข้อกะเรา. แต่เราไม่รู้ปัญหา ๔ ข้อนั้น. อาจารย์ ๔ คนก็ไม่รู้. เพราะฉะนั้น เจ้าจงกล่าวแก้ปัญหา ๔ ข้อนั้นแก่เรา. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรก็ยกไว้เถิด หรือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น ก็ยกไว้เถิด. ข้าพระองค์อาจกล่าวแก้ปัญหาที่ผู้ใดผู้หนึ่งถาม. ขอพระองค์ตรัสปัญหา ๔ ข้อที่เทวดาถามเถิด พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสตามทำนองที่เทวดาถาม จึงตรัสคาถาเป็นปฐมว่า
               บุคคลประหารร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือประหารปากผู้อื่น. บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ต้องประหาร. เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นที่รักนั้น ได้แก่ใคร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนฺติ แปลว่า ย่อมประหาร. บทว่า ปริสุมฺภติ แปลว่า ย่อมประหารเหมือนกัน. บทว่า สเว ราช ปิโย โหติ ความว่า บุคคลนั้นเมื่อกระทำอย่างนั้นย่อมเป็นที่รัก. บทว่า กนฺเตนมภิปสฺสสิ ความว่า เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นบุคคลผู้เป็นที่รัก ได้แก่คนไหน. เทวดาถามปัญหานั้นอย่างนี้.
               พอพระมหาสัตว์ได้สดับปัญหาเท่านั้น เนื้อความแห่งปัญหานั้นก็ปรากฏเหมือนดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในท้องฟ้า. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาให้คอยทรงสดับแล้ว. จึงกล่าวแก้เทวปัญหาทำให้ปรากฏ ประหนึ่งผู้มีฤทธิ์ชูดวงอาทิตย์ขึ้นไปกลางหาว ฉะนั้น. อย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อใด เด็กน้อยนอนบนตักมารดา ก็ร่าเริงยินดี เล่นประหารมารดาด้วยมือและเท้า ถอนผมมารดา เอามือประหารปากมารดา. เมื่อนั้นมารดาก็กล่าวคำดังนี้เป็นต้นกับบุตรนั้น ด้วยอำนาจความรักว่า แน่ะอ้ายลูกประทุษร้าย อ้ายโจร เองประหารข้าอย่างนี้ได้หรือ. กล่าวฉะนี้แล้ว ก็ไม่อาจจะกลั้นความรักไว้. ก็สวมกอดให้นอนระหว่างถัน จูบศีรษะ บุตรนั้นเป็นที่รักแห่งมารดาในกาลนั้น ฉันใด. ก็เป็นที่รักแห่งบิดาในกาลนั้น ฉันนั้น. เทวดาได้สดับอรรถาธิบายของพระโพธิสัตว์ ก็เผยกำพูฉัตรออกมาสำแดงกายกึ่งหนึ่งให้ปรากฏ ให้สาธุการด้วยเสียงอันไพเราะว่า โอ บัณฑิตกล่าวแก้ปัญหาถูกดีแล้วหนอ. แล้วบูชาพระมหาสัตว์ด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ อันบรรจุเต็มในผอบแก้ว แล้วอันตรธานหายไป. แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์ ด้วยบุปผชาติเป็นต้น. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นต่อไป. ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
               บุคคลด่าผู้อื่นตามความใคร่ แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่านั้นถึงภยันตราย. บุคคลผู้ถูกด่านั้นย่อมเป็นที่รักของผู้ด่า. เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นใครว่า เป็นที่รักแห่งผู้ด่า.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายปัญหาที่ ๒ นั้นว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มารดาสั่งบุตรอายุ ๗-๘ ขวบ ผู้สามารถจะทำตามสั่งได้ว่า แน่ะพ่อ เจ้าจงไปนา เจ้าจงไปร้านตลาด ดังนี้เป็นต้น. กุมารกล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าแม่ให้ของเคี้ยวของกินนี้ด้วยๆ แก่ลูก ลูกจักไป. ครั้นมารดากล่าวว่า เอาซิพ่อ. ก็เคี้ยวกินของกินแล้วบ้วนปาก ยืนอยู่ที่ประตูเรือน หาไปนาไม่. เล่นเสียกับหมู่เด็ก หาทำตามสั่งของมารดาไม่. ครั้นมารดาบังคับให้ไปก็กล่าวว่า แน่ะแม่ แม่นั่งยืนที่เงาเรือนเย็น ลูกจะทำตามคำสั่งของแม่ภายนอกอย่างไรได้ ดังนี้เป็นต้น. ครั้นมารดากล่าวว่า เองลวงข้า. ก็แสดงมือและปากแปลกๆ แล้วหนีไป. มารดาเห็นบุตรหนีก็ขัดเคือง ถือไม้ไล่ตาม. เมื่อไม่ทันบุตรก็คุกคามว่า อ้ายคนชั่ว อ้ายโจร เองกินของกินของข้าแล้วไม่ปรารถนาจะทำอะไรๆ ที่นา หยุดก่อนๆ. แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า เองไปเถิดอ้ายถ่อย พวกโจรจงตัดมึงให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ด่าบริภาษตามความใคร่ตามอัธยาศัย ก็แต่กาลใดปากกล่าวอะไรๆ ออกไป. กาลนั้น ใจก็ไม่ปรารถนาซึ่งความมีมาแห่งภยันตรายแม้หน่อยหนึ่งแก่บุตร. ฝ่ายทารกเล่นกับพวกทารกตลอดวัน ไม่อาจจะเข้าบ้านเวลาเย็น ก็ไปสำนักหมู่ญาติ. ฝ่ายมารดา เมื่อแลดูหนทางที่บุตรจะกลับมา เห็นบุตรที่รักยังไม่กลับบ้าน. ก็มีหัวใจเต็มไปด้วยความโศกว่า ชะรอยลูกของเราจะไม่อาจเข้าบ้าน มีน้ำตาไหลอาบหน้า. ไปค้นหาที่เรือนญาติ เห็นบุตรที่รักก็สวมกอดจูบที่ศีรษะ เอามือทั้งสองจับบุตรให้นั่ง. กล่าวว่า พ่อลูกรัก อย่าเอาถ้อยคำของแม่จดไว้ในใจเลย. กล่าวฉะนี้ ก็ยังความรักให้เกิดขึ้นอย่างเหลือเกิน. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุตรชื่อว่าเป็นที่รักยิ่ง ในกาลเมื่อมารดาโกรธ ด้วยประการฉะนี้. เทวดาได้สดับก็บูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้วมา. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้ว. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาที่ ๓. ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า
               บุคคลกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักแห่งกัน ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร.

                ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลแก้ปัญหานั้นแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อใดภรรยาและสามี ๒ คนอยู่ในที่ลับเล่นกันด้วยความเสนหา ตามความยินดีของโลก. แล้วกล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริงอย่างนี้ว่า ความรักในเราย่อมไม่มีแก่ท่าน. ได้ยินว่า ใจของท่านไปภายนอกแล้ว. แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ. เมื่อนั้น ภรรยาและสามีทั้ง ๒ นั้นก็รักกันเหลือเกิน. ขอพระองค์ทรงทราบเนื้อความแห่งปัญหานั้น ด้วยประการฉะนี้. เทวดาได้สดับแล้วก็บูชาพระโพธิสัตว์เหมือนดังก่อนอีก. ฝ่ายพระราชาก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์โดยนัยหนหลัง. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นอีก. ครั้นได้รับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า
               บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไปชื่อว่า ผู้นำไปมีอยู่โดยแท้. บุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นที่รักแห่ง ผู้เป็นเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น. พระองค์ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายแก้ เนื้อความแห่งปัญหาถวายพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ปัญหานี้เทวดากล่าวหมายเอาสมณะและพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม. จริงอยู่ สกุลทั้งหลายผู้มีศรัทธาเชื่อโลกนี้และโลกหน้า จึงบริจาคทานและใคร่จะให้อีก. สกุลเหล่านั้นเห็นสมณะและพราหมณ์เห็นปานดังนั้น ขอข้าวน้ำเป็นต้นไปก็ดี นำข้าวน้ำเป็นต้นที่ได้ แล้วไปบริโภคก็ดี. ก็เลื่อมใสรักใคร่ในสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเหลือเกิน. ด้วยเห็นว่า สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ขอข้าวน้ำเป็นต้นของเรา. บริโภคข้าวน้ำเป็นต้นเป็นของของเราทั้งนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้นำไป คือเป็นผู้ขอโดยส่วนเดียว แลเป็นผู้นำข้าวและน้ำเป็นต้นที่ได้แล้วไปโดยแท้ ชื่อว่าเป็นผู้เป็นที่รักของเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น. ก็ในเมื่อปัญหานี้อันมโหสถกล่าวแก้แล้ว เทวดาก็บูชาเหมือนอย่างนี้ แล้วกระทำสาธุการ. แล้วซัดผอบอันเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการมาแทบเท้าแห่งมโหสถแจ้งว่า ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ท่านจงรับผอบเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชโปรดปรานเลื่อมใสในมโหสถเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เขา. จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้มียศใหญ่.
               จบ เทวปัญหา

               ว่าด้วย ปัญหาแห่งบัณฑิต ๕ คน
               บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้นปรึกษากันอีกว่า บัดนี้ มโหสถบุตรคฤหบดีมียศใหญ่นัก เราจักทำอย่างไรดี. ลำดับนั้น เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตทั้งสามว่า การที่เขามียศใหญ่นั้นยกไว้เถิด เราเห็นอุบายแล้ว. เราทั้ง ๔ จักไปหามโหสถถามว่า ควรบอกความลับแก่ใคร. ถ้าเขาจักบอกว่า ไม่ควรบอกแก่ใครไซร้. เราทั้งหลายจักทูลยุยงพระราชาว่า คฤหบดีบุตรผู้มีนามว่ามโหสถ เป็นข้าศึกของพระองค์. บัณฑิตทั้ง ๓ เห็นชอบด้วย. บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้น จึงไปเรือนมโหสถทำปฎิสันถารแล้วกล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เราทั้ง ๔ ใคร่จะถามปัญหาท่าน. ครั้นมโหสถให้ถาม เสนกะจึงถามว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ควรตั้งอยู่ในธรรมอะไร. มโหสถตอบว่า ควรตั้งอยู่ในความจริง. เสนกะถามว่า ผู้ตั้งอยู่ในความจริงแล้วควรทำอะไร. มโหสถตอบว่า ควรให้ทรัพย์สมบัติเกิดขึ้น. เสนกะถามว่า ให้ทรัพย์สมบัติเกิดแล้ว ควรทำอะไร. มโหสถตอบว่า ควรคบมิตร. เสนกะถามว่า คบมิตรแล้วควรทำอะไรต่อไป. มโหสถตอบว่า ควรเรียนความคิดอ่านจากมิตร. เสนกะถามว่า เรียนความคิดอ่านจากมิตรแล้วควรทำอะไรอีก. มโหสถตอบว่า การได้ความคิดอ่านจากมิตรนั้น. ถ้าเป็นความลับ ไม่ควรบอกความลับของตนแก่ใคร. บัณฑิตทั้ง ๔ ก็รับว่าดีแล้ว. แล้วลากลับ เป็นผู้มีจิตยินดี คิดว่า บัดนี้เราทั้ง ๔ เห็นหลังมโหสถละ. แล้วไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถเป็นกบฏต่อพระองค์. พระเจ้าวิเทหราชตรัสห้ามว่า เราไม่เชื่อท่านทั้งหลาย มโหสถจักไม่เป็นกบฎต่อเรา. บัณฑิตทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่า จริงนะ พระเจ้าข้า. ขอได้ทรงเชื่อ ก็ถ้าไม่ทรงเชื่อ จงตรัสถามเขาดูว่า ความลับของเขา เขาไม่ควรบอกแก่ใคร. ถ้าเขาจักไม่เป็นกบฏต่อพระองค์ เขาจักทูลว่า ควรบอกแก่คนชื่อนั้น. ถ้าเขาจักเป็นกบฏต่อพระองค์ เขาจักทูลว่า ไม่ควรบอกแก่ใครๆ ในเมื่อความปรารถนาสำเร็จจึงควรบอก. ในกาลนั้น พระองค์จักทรงเชื่อข้าพระองค์หมดสงสัย. พระราชาทรงรับจะทดลอง.
               วันหนึ่ง เมื่อบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกันจึงตรัสคาถานี้ใน ปัญจปัณฑิตปัญหา ในวีสตินิบาตว่า
               ท่านทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกันแล้ว บัดนี้ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังปัญหานั้น บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญอันเป็นข้อความลับแก่ใคร.

               ครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว เสนกะคิดว่า เราจักให้พระราชาเข้าอยู่ในพวกเราด้วย จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระภูมิบาล พระองค์จงตรัสเปิดเผยแก่เหล่าข้าพระองค์ก่อน พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยง เป็นผู้ทรงอดทนต่อราชกรณียะอันหนัก จงตรัสก่อน. ข้าแต่พระจอมประชากร เหล่าข้าพระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ทั้ง ๕ จักพิจารณา สิ่งที่พระองค์พอพระราชหฤทัย และเหตุเป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัย แล้วกราบทูลภายหลัง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภตฺตา ความว่า พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยงเหล่าข้าพระองค์ และเป็นผู้ทรงอดทนต่อพระราชภารกิจที่เกิดขึ้น. ขอพระองค์โปรดตรัสข้อนั้นก่อนเถิด. บทว่า ตว ฉนฺทรุจีนิ ความว่า บัณฑิต ๕ คนเหล่านี้พิจารณา สิ่งที่พระองค์พอพระราชหฤทัย และเหตุเป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัยแล้ว จักกราบทูลในภายหลัง.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสคาถานี้ ด้วยความเป็นผู้เป็นไปในอำนาจกิเลสของพระองค์ว่า
               ภรรยาใดมีศีลาจารวัตร ไม่ให้ผู้อื่นลักสัมผัส คล้อยตามอำนาจความพอใจของภัสดา เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ. สามีควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่ภรรยา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนญฺญเถยฺยา ความว่า อันผู้อื่นไม่พึงจับต้องด้วยอำนาจกิเลส.
               แต่นั้นเสนกะยินดีว่า บัดนี้ เราทั้งหลายยังพระราชาให้เข้าในพวกเราได้แล้ว. เมื่อจะแสดงเหตุการณ์ที่ตนทำไว้เอง จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               สหายใดเป็นที่ระลึก เป็นที่ถึง เป็นที่พึ่งของบุคคล ผู้ถึงความทุกข์เดือดร้อนอยู่. บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับ แก่สหายนั้นเทียว.

               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามปุกกุสะว่า แน่ะอาจารย์ปุกกุสะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับของตนควรบอกแก่ใคร. ปุกกุสะเมื่อจะกราบทูล จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               พี่น้องชายใด ผู้เป็นพี่ใหญ่หรือพี่กลางหรือน้อง ถ้าว่าพี่น้องชายนั้นตั้งอยู่ในศีล เสพสิ่งที่ควรเสพ. บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่พี่น้องชายนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐิตตฺโต ความว่า ดำรงสภาวะไว้ได้ คือเป็นผู้มีการเสพผิดออกแล้ว.
               แต่นั้น พระราชาตรัสถามกามินทะว่า แน่ะอาจารย์กามินทะ ท่านเห็น อย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร กามินทะเมื่อจะกราบทูลจึงกล่าวคาถานี้ว่า
               บุตรใดดำเนินตามใจบิดา เป็นอนุชาตมีปัญญาไม่ทรามกว่าบิดา. บิดาควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่บุตรนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปตฺถคู ได้แก่ ผู้ทำตามถ้อยคำ. อธิบายว่า บุตรที่ทำตามใจของเรา คือเป็นไปในอำนาจจิตของบิดา เป็นผู้อดทนต่อโอวาท.
               บทว่า อนุชาโต ความว่า บุตรมี ๓ ประเภท คือ อภิชาต ๑ อนุชาต ๑ อวชาต ๑. บุตรผู้ยังยศที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ชื่อว่าอภิชาต. บุตรที่เป็นเชื้อสายของสกุล เป็นผู้ตัดวงศ์สกุล ทำทรัพย์ให้พินาศ ชื่อว่าอวชาต. บุตรผู้รักษาแบบแผนของสกุล ประเพณีของสกุลไว้ได้ ชื่ออนุชาต. อาจารย์กามินทะกล่าวอย่างนี้ หมายถึงอนุชาตบุตรนั้น.
               แต่นั้น พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า แน่ะอาจารย์เทวินทะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร. เทวินทะเมื่อจะกราบทูล เหตุการณ์ที่ตนทำไว้. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ประเสริฐที่สุดแห่งมนุษยนิกร มารดาใดเลี้ยงบุตรด้วยความพอใจรักใคร่. บุตรควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่มารดานั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฺวิปทชนินฺทเสฏฺฐ ได้แก่ จอมประชากรผู้ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ทั้งหลาย. บทว่า ฉนฺทสา ปิเยน ได้แก่ ด้วยความพอใจและด้วยความรัก.
               พระราชาครั้นตรัสถามอาจารย์ ๔ คนเหล่านั้น ซึ่งกล่าวตอบไปอย่างนี้แล้ว. จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า เจ้าเห็นอย่างไร พ่อบัณฑิต ความลับควรบอกแก่ใคร. มโหสถบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลเหตุแห่งความลับ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               การซ่อนความลับไว้ นั่นแลเป็นการดี. การเปิดเผยความลับไม่ดีเลย. บุคคลผู้มีปรีชา เมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จก็พึงกลั้นไว้. เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิปฺผนฺนาย ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สิ่งที่ตนปรารถนายังไม่สำเร็จเพียงใด. บัณฑิตพึงอดกลั้นไว้ ไม่พึงแจ้งแก่ใครๆ เพียงนั้น.
               เมื่อมโหสถบัณฑิตกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงเสียพระทัย. เสนกะแลดูพระพักตร์พระราชา. พระราชาก็ทอดพระเนตรหน้าเสนกะ. มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาแห่งเสนกะและพระราชา. ก็รู้ว่า อาจารย์ทั้ง ๔ นี้ได้ยุยง ในระหว่างเราและพระราชาไว้ก่อนแล้ว. พระราชาตรัสถามปัญญาเพื่อทดลองเรา. เมื่อพระราชาและราชบริษัทเจรจากันอยู่ ดวงอาทิตย์อัสดงคต เจ้าหน้าที่ตามประทีป. มโหสถดำริว่า ขึ้นชื่อว่าราชการเป็นของหนักย่อมไม่ปรากฏ ใครจะรู้เรื่อง อะไรจักมี. เราควรรีบกลับเสียก่อน. ดำริฉะนี้ จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระราชาออกไป. คิดว่า ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่สหาย. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่พี่น้องชาย. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่บุตร. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่มารดา. เราสำคัญว่า กิจนี้จักเป็นของคนเหล่านี้ได้ทำแล้วแน่ คนเหล่านี้คงกล่าวถึงกิจที่ตนเห็นแล้ว จงยกไว้เถิด เราจักรู้เหตุนี้ ในวันนี้. ฝ่ายราชบัณฑิตทั้ง ๔ ออกจากราชสำนักแล้ว ในวันอื่นๆ เคยนั่งที่หลังถังข้าวถังหนึ่งใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ ปรึกษากันถึงกรณียกิจ แล้วจึงกลับไปบ้าน. เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงดำริว่า วันนี้ เรานอนอยู่ภายใต้ถังข้าว ก็สามารถจะรู้ความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น จึงให้คนใช้ยกถังข้าวนั้นแล้วให้ลาดเครื่องลาด แล้วเข้าอยู่ภายใต้ถังข้าวนั้น แล้วให้สัญญาแก่คนใช้ว่า ในเมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ มานั่งปรึกษากันลุกไปแล้ว พวกเจ้าจงมานำถังข้าวออก. คนใช้เหล่านั้นรับคำสั่ง แล้วหลีกไป.
               ฝ่ายอาจารย์เสนกะทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อข้าพระบาทหรือ. บัดนี้ ข้อความนั้นเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับคำของพวกอาจารย์ผู้ยุยง ก็หาได้ทรงพิจารณาไม่ เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกพระหฤทัย. จึงตรัสถามว่า แน่ะท่านเสนกบัณฑิต บัดนี้ เราจักทำประการไร. เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าควรที่พระองค์จะไม่ชักช้า อย่าทันให้มโหสถรู้ตัว แล้วฆ่าเสีย. พระราชาตรัสว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ยกท่านเสียแล้ว คนอื่นชื่อว่า เป็นผู้ใคร่ความเจริญแก่เราย่อมไม่มี. ท่านจงชวนสหายของท่านคอยอยู่ที่ภายในประตู. เมื่อมโหสถบุตรคฤหบดีมาสู่ราชสำนักแต่เช้า จงตัดศีรษะเสียด้วยพระแสงขรรค์. ดำรัสสั่งฉะนี้แล้ว พระราชทานพระแสงขรรค์รัตนะที่ทรง. อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นกราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. ขอพระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกข้าพระบาทจักฆ่ามโหสถนั้นเสียให้จงได้. ทูลฉะนี้ แล้วออกมานั่งที่หลังถังข้าว. รำพึงกันว่า พวกเราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว.
               แต่นั้น เสนกะจึงเอ่ยขึ้นว่า ใครจักฆ่ามโหสถ. อาจารย์ทั้ง ๓ จึงตอบว่า ท่านอาจารย์นั่นแลจักฆ่าได้. แล้วทำกิจนั้นให้เป็นภาระของเสนกะนั้นผู้เดียว. ลำดับนั้น เสนกะจึงถามอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้ง ๓ กล่าวว่า ชื่อว่าความลับควรบอกแก่บุคคลชื่อโน้นๆ ดังนี้. กิจนั้นท่านทั้ง ๓ ได้ทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้สดับแล้วอย่างไร. ลำดับนั้น อาจารย์ทั้ง ๓ กล่าวกะเสนกะว่า ข้าแต่อาจารย์ กิจที่ท่านกล่าวว่า ความลับควรบอกแก่สหายนั้นเป็นของปรากฏแล้ว. กิจนั้นท่านทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้ฟังแล้วอย่างไรเล่า กิจนั้นเราได้ทำเอง. ข้าแต่อาจารย์ ถ้ากระนั้นท่านจงกล่าวให้ทราบ ความลับนี้พระราชาทรงทราบแล้ว ชีวิตของเราจะไม่มี. ข้าแต่อาจารย์ ท่านอย่ากลัวเลย บุคคลผู้ทำลายความลับของเราทั้งหลายในที่นี้ไม่มี. ขอจงกล่าวให้ทราบเถิด เสนกะเอาเล็บเคาะถังข้าวว่า มโหสถอยู่ใต้ถังข้าวนี้กระมัง อาจารย์ทั้ง ๓ ตอบว่า มโหสถเป็นคนเมาอิสริยยศ คงไม่เข้าไปอยู่ในที่เช่นนี้. บัดนี้จักเป็นคนเมายิ่งด้วยยศ ท่านเห็นซึ้งไปได้.
               ฝ่ายเสนกะ เมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า ท่านทั้ง ๓ รู้จักหญิงแพศยาชื่อโน้น ในนครนี้หรือ. ข้าพเจ้าทั้ง ๓ ทราบ. บัดนี้ นางคนนั้นยังปรากฏอยู่ หรือหายไปไม่พบเลย ท่านอาจารย์. เสนกะจึงแจ้งว่า เราทำกิจของบุรุษกับด้วยนางคนนั้นในสวนไม้รัง แล้วยังนางคนนั้นให้ตาย ด้วยโลภในเครื่องประดับ. แล้วนำเครื่องประดับของนางนั้นมาห่อด้วยผ้าสาฎก แล้วแขวนไว้บนไม้รูปเหมือนงาช้างในห้องเรือนของเรา. เรายังไม่อาจจะใช้เครื่องประดับนั้น เห็นความที่เครื่องประดับนั้นเป็นของเก่า. เราทำความผิดพระราชกำหนดอย่างนี้ ได้บอกแก่สหายคนหนึ่ง สหายคนนั้นมิได้บอกแก่ใคร. ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวว่า เราได้บอกความลับแก่สหาย. มโหสถเริ่มตั้งใจกำหนดความลับของเสนกะไว้เป็นอย่างดี.
               ฝ่ายปุกกุสะ เมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า โรคเรื้อนมีที่ขาของข้าพเจ้า. น้องชายน้อยของข้าพเจ้าเท่านั้นรู้ ข้าพเจ้าไม่ให้ใครๆ รู้. ชำระแผลนั้นทายา พันผ้าทับแผล. พระราชามีพระหฤทัยกรุณาในข้าพเจ้า ตรัสเรียกข้าพเจ้าว่า ปุกกุสะจงมา แล้วบรรทมที่ขาของข้าพเจ้าบ่อยๆ. ก็ถ้าราชาทรงทราบเรื่องนี้ พึงประหารชีวิตข้าพเจ้า. ยกน้องชายน้อยคนนั้นของข้าพเจ้าเสีย คนอื่นไม่รู้เลย. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่น้องชายน้อย.
               ฝ่ายกามินทะ เมื่อจะแสดงความลับของตน จึงกล่าวว่า ในวันอุโบสถข้างแรม ยักษ์ชื่อนรเทวะ มาสิงข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าก็ร้องดุจสุนัขบ้าร้อง ข้าพเจ้าได้แจ้งเนื้อความนี้แก่บุตร. บุตรของข้าพเจ้ารู้ว่า ยักษ์มาสิงข้าพเจ้า. ก็ให้ข้าพเจ้านอนในห้องข้างใน ปิดประตู ออกไปให้มีมหรสพที่ประตู เพื่อกลบเสียงของข้าพเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่บุตร.
               แต่นั้นอาจารย์ทั้ง ๓ จึงถามเทวินทะ. เทวินทะ เมื่อจะกล่าวความลับของตน จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำการขัดสีแก้วมณี มีแก้วมณีเป็นมงคล เป็นที่เข้าอยู่แห่งสิริ เป็นของหลวง. ซึ่งท้าวสักกเทวราชประทานพระเจ้ากุสราชไว้. ข้าพเจ้าลักเอามงคลมณีรัตน์นั้นมาให้มารดา มารดานั้นไม่ให้ใครรู้. ถึงเวลาข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชา ก็ให้มงคลมณีรัตน์แก่ข้าพเจ้า. ข้าพเจ้ายังสิริให้อยู่ในตัวข้าพเจ้า ด้วยอำนาจแห่งมงคลมณีรัตน์นั้น จึงเข้าไปสู่ราชสำนัก. พระราชาไม่ตรัสแก่ท่านทั้งหลาย ตรัสกับข้าพเจ้าก่อนกว่าใครๆ แล้วพระราชทานกหาปณะ ๘ กหาปณะบ้าง. ๑๖ กหาปณะบ้าง. ๓๒ กหาปณะบ้าง. ๖๔ กหาปณะบ้าง แก่ข้าพเจ้าเพื่อเป็นเสบียงได้เลี้ยงชีพทุกวัน. ถ้าพระราชาทรงทราบอานุภาพมณีรัตน์นั้นไซร้ ชีวิตของข้าพเจ้าก็จะไม่รอดอยู่. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่มารดา.
               พระมหาสัตว์ได้ทำความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ประจักษ์ ก็อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นแจ้งความลับแก่กันแลกัน ราวกะบุคคลผ่าอกของตน แผ่อวัยวะภายในออกมาภายนอก. แล้วเตือนกันว่า ท่านทั้งหลายอย่าประมาท มาช่วยกันฆ่ามโหสถ บุตรคฤหบดีแต่เช้า. กำชับกันดังนี้ แล้วต่างลุกขึ้นหลีกไป. ในกาลเมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ ไปแล้ว คนใช้ของมโหสถที่นัดหมายกันไว้ ก็มายกถังข้าว พาพระมหาสัตว์ออกหลีกไป. พระโพธิสัตว์กลับถึงเคหสถาน อาบน้ำ แต่งกาย บริโภคโภชนาหารแล้วรู้ว่า วันนี้ พระนางอุทุมพรเทวีผู้เชษฐภคินีของเรา คงประทานข่าวมาแต่พระราชวัง. จึงวางบุรุษพิเศษไว้ที่ประตูสั่งว่า เจ้าจงให้คนมาแต่พระราชวังเข้ามา แล้วบอกแก่เราโดยเร็ว. ก็แลครั้นสั่งฉะนั้นแล้วก็นอน ณ ที่นอนมีสิริ.
               ขณะนั้น พระเจ้าวิเทหราชบรรทม ณ ที่บรรทมอันมีสิริ ทรงอนุสรณ์ถึงคุณของมโหสถว่า มโหสถบัณฑิตบำรุงเรามาตั้งแต่เขามีอายุได้ ๗ ปี. ไม่ได้ทำความเสียหายหน่อยหนึ่งแก่เรา. เมื่อเทวดาถามปัญหา ถ้าจักไม่มีมโหสถไซร้ ชีวิตของเราก็จะไม่พึงมี. เรามาถือเอาคำของปัจจามิตรผู้มีเวร แล้วกล่าวสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่ามโหสถผู้มีธุระหาผู้เสมอมิได้ ฉะนี้. แล้วให้พระขรรค์ เป็นอันว่าเราทำสิ่งที่ไม่ควรทำ. บัดนี้แต่พรุ่งนี้ไป เราจักไม่ได้เห็นมโหสถอีก. ทรงรำพึงฉะนี้ก็ยังความโศกให้เกิดขึ้น พระเสโทไหลโซมพระกาย. พระราชานั้นเต็มไปด้วยความโศก ก็ไม่ทรงได้ความผ่องใสแห่งพระมนัส. พระนางอุทุมพรเทวีเสด็จไปบรรทมร่วมกับพระราชสามี ทอดพระเนตรเห็นพระอาการของพระราชสามี. ทรงดำริว่า เป็นไฉนหนอ ความผิดอย่างไรของเรามีอยู่ หรือเหตุการณ์แห่งความโศกอย่างไรอื่น เกิดขึ้นแก่พระองค์. เราจักทูลพระองค์ก่อน เมื่อจะทูลถาม จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐที่สุด พระองค์เป็นผู้มีพระมนัสวิปริตไปอย่างไรหรือ. ข้าแต่พระจอมประชากร ข้าพระบาทจะฟังพระดำรัสข้อนั้นของพระองค์. พระองค์ทรงพระดำริอย่างไรหรือจึงทรงโทมนัส ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ความผิดของข้าพระบาทไม่มีเลยหรือ พระเจ้าข้า.

               ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถาตอบพระนางว่า
               มโหสถผู้มีปัญญาจะถูกฆ่า เพราะมโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน. เราบังคับสั่งเพื่อฆ่าแล้ว. เราคิดถึงเรื่องนั้นจึงเป็นผู้โทมนัส. แน่ะพระเทวี ความผิดของเธอไม่มีเลย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาณตฺโต เม ความว่า แน่ะนางผู้เจริญ บัณฑิตทั้ง ๔ บอกแก่เรา มโหสถบัณฑิตเป็นศัตรูของเรา. เราไม่ได้พิจารณาโดยถ่องแท้ สั่งฆ่ามโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดินว่า พวกท่านจงฆ่าเขาเสีย. เมื่อเราคิดถึงการณ์นั้น จึงมีความโทมนัสว่า เราตายเสียดีกว่ามโหสถบัณฑิตตาย.
               ความโศกสักเท่าภูเขาเกิดขึ้นแก่พระนางอุทุมพร ด้วยความรักในพระมหาสัตว์ เพราะได้ทรงสดับพระราชาตรัสฉะนั้น. แต่นั้น พระนางจึงทรงคิดว่า เราจักยังพระราชาให้ทรงอุ่นพระหฤทัยด้วยอุบายหนึ่ง. ในกาลเมื่อพระราชาบรรทมหลับ เราจักส่งข่าวไปยังมโหสถผู้กนิษฐภาดาของเรา. ลำดับนั้น พระนางจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ผู้ยังมโหสถให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศใหญ่. ภายหลังมาทรงทำการดังนี้แก่เขาจะเป็นไรไป แล้วทูลเล้าโลมพระราชาว่า พระองค์ทรงสถาปนามโหสถในตำแหน่งเสนาบดี. ได้ยินว่า บัดนี้ เธอคิดกบฏต่อพระองค์ ก็บุคคลผู้ปัจจามิตร มิใช่เป็นคนเล็กน้อยเลย. พระองค์ควรประหารชีวิตเขาเสียทีเดียว. ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระราชามีความโศกเบาบางก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์. ขณะนั้น พระราชเทวีเสด็จลุกขึ้นเข้าสู่ห้อง ทรงพระอักษรมีความว่า ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้ง ๔ ทำลายเธอให้แตกกับพระราชา. พระราชากริ้ว ตรัสสั่งบัณฑิตทั้ง ๔ ให้ฆ่าเธอที่ประตูพระราชวังเวลาพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เธออย่ามาสู่ราชสำนัก. ถ้าจะมาก็พึงเป็นผู้สามารถทำชาวพระนคร ให้อยู่ในเงื้อมมือเธอแล้วพึงมา. ทรงพระอักษรมีความฉะนี้ แล้วสอดเข้าในห่อ เอาด้ายพันห่อแล้ว วางในสุพรรณภาชน์ใหม่ปิดฝา ประทับพระลัญจกรประทานแก่นางข้าหลวง ผู้ประพฤติประโยชน์ตรัสสั่งว่า เจ้าจงนำห่อนี้ไปให้แก่มโหสถบัณฑิตผู้น้องชายน้อยของเรา. นางข้าหลวงได้ทำตามคำสั่ง อันใครๆ ไม่ควรคิดว่า ทำไมนางข้าหลวงออกจากตำหนักข้างใน ในเวลากลางคืนได้. เพราะว่า พระราชาพระราชทานพรแก่พระนางไว้ก่อนแล้ว ให้พระนางใช้ใครนำของเสวยอันมีรสออกไปให้มโหสถ ได้ตามประสงค์. เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ห้ามนางข้าหลวงนั้น. พระโพธิสัตว์รับพระสุพรรณภาชน์แล้วให้นางข้าหลวงนั้นกลับ. นางข้าหลวงก็ลากลับมา. ทูลความที่ตนให้พระสุพรรณภาชน์แก่มโหสถแล้วแด่พระนาง. ขณะนั้น พระนางจึงเสด็จมาบรรทมกับพระราชสามี. ฝ่ายพระโพธิสัตว์แก้ห่อหนังสือออก อ่านรู้ความนั้นแล้ว. จัดกิจที่จะพึงทำแล้วเข้านอน.
               ฝ่ายอาจารย์ทั้ง ๔ ถือพระแสงขรรค์ ยืนอยู่ภายในประตูวัง แต่เช้า. เมื่อไม่เห็นมโหสถมาก็เสียใจ ไปเฝ้าพระราชา. ครั้นตรัสถามว่า เป็นอย่างไร. ท่านทั้งหลายฆ่ามโหสถแล้วหรือ. จึงกราบทูลว่า ไม่เห็นมโหสถมา พระเจ้าข้า. ฝ่ายพระมหาสัตว์ พออรุณขึ้นก็สนานกายด้วยน้ำหอม ประดับกายด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนะอันเลิศ ชำระสรีรกิจแล้ว. ทำชาวพระนครให้อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ตั้งการรักษาในที่นั้นๆ เป็นผู้อันมหาชนห้อมล้อม ขึ้นรถไปสู่ประตูวังด้วยยศใหญ่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชให้เปิดพระแกล ประทับยืนทอดพระเนตรอยู่. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ลงจากรถ ถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วยืนอยู่. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมโหสถทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นข้าศึกแก่เรา ที่ไหนเขาจะพึงไหว้เรา. ลำดับนั้น ก็ตรัสให้เรียกมโหสถมาเฝ้า แล้วเสด็จประทับ ณ พระราชอาสน์. ฝ่ายมโหสถถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนหนึ่ง. บัณฑิตทั้ง ๔ ก็นั่งอยู่ที่นั่น. ลำดับนั้น พระราชาเป็นเหมือนไม่ทรงทราบอะไร. ตรัสถามมโหสถว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อวานนี้ เจ้ากลับบ้านแต่ยามแรก เจ้าเพิ่งมาเดี๋ยวนี้ เจ้าสละเสียอย่างนี้ เพราะอะไร.
               ตรัสฉะนี้แล้ว ได้ตรัสคาถานี้ว่า
               เจ้าไปบ้านแต่หัวค่ำ มาเอาบัดนี้ ใจของเจ้ารังเกียจเพราะได้ฟังอะไรหรือ. ดูก่อนเจ้าผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ใครได้พูดอะไรแก่เจ้า เราจะฟังเจ้าบอกเรื่องของเจ้า เจ้าจงบอกเรื่องนั้นแก่เรา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิโทสคโต ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถบัณฑิต เมื่อวานเจ้าไปบ้านแต่หัวค่ำ คือปฐมยาม. บทว่า อิทานิ เอสิ ความว่า บัดนี้มาด้วยอิสริยยศ. บทว่า กิมาสงฺกิเต ได้แก่ รังเกียจอะไร. บทว่า กิมโวจ ความว่า ใครๆ ได้กล่าวกะเจ้าว่า อย่าไปเฝ้าพระราชาหรือ. พวกเราจะฟังคำของเจ้านั้น เชิญเจ้าบอก คือแจ้งการณ์นั้นแก่เรา.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ถือเอาคำบัณฑิตทั้ง ๔ แล้วมีพระราชาณัติให้ฆ่าข้าพระบาท. ด้วยเหตุนั้น ข้าพระบาทจึงยังไม่มา. ทูลฉะนี้ แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า
               มโหสถผู้มีปัญญาจะถูกฆ่า ข้าแต่พระปิ่นประชากร กาลใด พระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับได้ตรัส ข้อความลับที่รับสั่งแก่อาจารย์ทั้ง ๔ กับพระนางอุทุมพร เมื่อหัวค่ำ. ข้อความลับอย่างนั้นของพระองค์ พระองค์ได้เปิดเผยแล้ว ก็ข้อความลับนั้นอันข้าพระบาทได้ฟังแล้ว ในกาลนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทิ เต ได้แก่ กาลใดพระองค์. บทว่า มนฺตยิตํ ได้แก่ ตรัสแล้ว. บทว่า เทสํ ความว่า หัวค่ำ คือตอนกลางคืน. ถามว่า ตรัสแก่ใคร ตอบว่า แก่พระอัครมเหสี ด้วยว่าพระองค์ประทับอยู่ในที่ลับ ได้ตรัสข้อความนี้แก่พระอัครมเหสีนั้น. บทว่า คุยฺหํ ปาตุกตํ ความว่า ความลับของพระองค์เห็นปานฉะนี้ พระองค์ทรงทำให้ปรากฏแล้ว. บทว่า สุตํ มเมตํ ความว่า มโหสถโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ก็ความลับนั้นข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว ในขณะนั้นทีเดียว.
               พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของมโหสถ ก็ทรงพระพิโรธด้วยทรงเห็นว่า นางอุทุมพรจักส่งข่าวไปขณะนั้นเอง. จึงทอดพระเนตรดูพระราชเทวี. มโหสถรู้กิริยานั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพิโรธพระราชเทวีทำไม. ข้าพระองค์ทราบเหตุการณ์ อดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งสิ้น. พระนางตรัสความลับของพระองค์แก่ข้าพระองค์ จงยกไว้ก่อน. ความลับของเสนกะและปุกกุสะเป็นต้น ใครแจ้งแก่ข้าพระองค์เล่า. ปัญหาของกิ้งก่า ใครบอกแก่ข้าพระองค์. และปัญหาของเทวดาใครบอกแก่ข้าพระองค์เล่า. ข้าพระองค์ทราบความลับของชนเหล่านี้ก่อนแล้วทีเดียว.
               เมื่อจะทูลความลับของเสนกะก่อน จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
               เสนกะได้ทำกรรมลามกไม่ใช่กรรมดีอันใด คือฆ่าหญิงแพศยานางหนึ่งในสวนไม้รัง ในนครนี้เอง. แล้วถือเอาเครื่องประดับ ห่อด้วยผ้าสาฎกเก็บไว้ในเรือนของตน. อยู่ในที่ลับได้แจ้งเรื่องนี้แก่สหายคนหนึ่ง. กรรมลามกอันเป็นความลับของตนเห็นปานนี้ อันเสนกะทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูปํ ความว่า เสนกะได้กระทำอกุศลกรรม อันลามกไม่ใช่กรรมดี คือฆ่าหญิงแพศยาชื่อโน้น ในสวนไม้รัง ในนครนี้เอง. แล้วถือเอาเครื่องประดับ ห่อด้วยผ้าสาฎกของหญิงนั้นแหละ เก็บไว้ในที่โน้นในเรือนของตน. บทว่า สขิโนว รโหคโต อสํสิ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ครั้งนั้น เสนกะอยู่ในที่ลับได้บอกเรื่องนั้นแก่สหายคนหนึ่ง เรื่องแม้นั้นข้าพระองค์ก็ได้ฟังแล้ว. ข้าพระองค์มิได้คิดกบฏต่อสมมติเทพ. เสนกะนั่นแหละเป็นผู้คิดกบฏ. ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ด้วยคนกบฏ จงโปรดให้จับเสนกะ.
               พระราชาทอดพระเนตรดูเสนกะแล้วมีราชกระทู้ถามว่า จริงหรือ. เสนกะก็ได้ทรงรับกราบทูลตอบว่า จริง พระเจ้าข้า. จึงรับสั่งให้จำเสนกะในเรือนจำ. ฝ่ายมโหสถ เมื่อจะกราบทูลข้อความลับของปุกกุสะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระจอมประชากร โรคเรื้อนเกิดขึ้นแก่ปุกกุสะ เป็นโรคที่ไม่สมควรจะใกล้ชิดพระราชา. ปุกกุสะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่น้องชายน้อย. ความที่ปุกกุสะเป็นโรคเรื้อน เป็นข้อความลับเห็นปานนี้ อันปุกกุสะได้ทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อราชปฺปตฺโต ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โรคเรื้อนเกิดขึ้นแก่ปุกกุสะนั้น เป็นโรคที่ไม่สมควรจะใกล้ชิด คือไม่ควรจะถูกต้องพระราชา. พระองค์บรรทมที่ขาของปุกกุสะบ่อยๆ ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า ขาของปุกกุสะอ่อน. ที่แท้ขาของปุกกุสะนั้นมีสัมผัสอ่อน เพราะผ้าพันแผล พระเจ้าข้า.
               พระราชาทอดพระเนตรดูปุกกุสะแล้ว ตรัสถามว่า จริงหรือปุกกุสะ. ครั้นได้ทรงสดับรับสารภาพว่าจริง จึงรับสั่งให้เอาตัวเข้าเรือนจำ. มโหสถบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความลับของกามินทะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               กามินทะอันอาพาธซึ่งลามก กล่าวคือยักษ์ชื่อนรเทวะ สิงแล้วเป็นเหมือนสุนัขบ้าร้องอยู่. กามินทะอยู่ในที่ลับ ได้แจ้งความลับนี้แก่บุตร. ความลับเห็นปานนี้ อันกามินทะทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูโป ความว่า กามินทะนั้นอันอาพาธใดถูกต้อง แล้วร้องเหมือนสุนัขบ้า อาพาธนั้น คือยักษ์นรเทวะสิง เป็นอาพาธต่ำช้าลามก. กามินทะอันอาพาธนั้นถูกต้องแล้ว ไม่สมควรเข้าไปสู่ราชสกุล พระเจ้าข้า.
               พระราชาทอดพระเนตรดูกามินทะแล้วตรัสถามว่า จริงหรือกามินทะ. กามินทะทูลรับสารภาพ จึงตรัสสั่งให้นำกามินทะเข้าสู่เรือนจำ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ท้าวสักกเทวราชได้ประทานมณีรัตนะอันโอฬารมี ๘ คดแด่พระเจ้ากุสราช ผู้เป็นพระอัยยกาของพระองค์. มณีรัตนะนั้นเดี๋ยวนี้ตกถึงมือเทวินทะ ก็เทวินทะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่มารดา. ข้อความลับเห็นปานนี้ อันเทวินทะทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตามหสฺส ได้แก่ พระเจ้ากุสราชผู้เป็นพระอัยยกาของพระองค์. บทว่า ตทชฺช หตฺถํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มณีรัตนะซึ่งสมมติว่าเป็นมงคลนั้น เดี๋ยวนี้ตกถึงมือของเทวินทะแล้ว.
               พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า จริงหรือเทวินทะ. ครั้นเทวินทะกราบทูลสารภาพว่าจริง จึงโปรดให้ส่งเทวินทะเข้าเรือนจำ. อาจารย์ทั้ง ๔ ตั้งใจจะฆ่ามโหสถ กลับต้องเข้าเรือนจำเองทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
               พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์กราบทูลว่า อันบุคคลไม่ควรบอกความลับของตนแก่บุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้. อาจารย์ทั้ง ๔ กราบทูลว่า ควรบอก ก็ถึงความพินาศใหญ่.
               เมื่อจะแสดงธรรมให้ยิ่ง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
               การซ่อนความลับไว้นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับไม่ประเสริฐเลย. บุคคลผู้มีปัญญา ในเมื่อข้อความลับยังไม่สำเร็จ พึงอดทนไว้. ข้อความลับสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย.

               บุคคลไม่ควรเปิดเผยข้อความลับเลย ควรรักษาข้อความลับนั้นไว้ ดุจบุคคลรักษาขุมทรัพย์ ฉะนั้น. ข้อความลับอันบุคคลผู้รู้แจ้ง ไม่ทำให้ปรากฏนั่นแลดี. บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี และแก่คนไม่ใช่มิตร กับอย่าบอกความในใจแก่บุคคลที่อามิสลากไป และแก่คนไม่ใช่มิตร.
               ผู้มีปรีชาย่อมอดทนต่อคำด่าคำบริภาษ และการประหารแห่งบุคคลผู้รู้ข้อความลับซึ่งผู้อื่นไม่รู้ เพราะกลัวแต่แพร่ความลับที่คิดไว้. ประหนึ่งคนเป็นทาส อดทนต่อคำด่าเป็นต้นแห่งนาย ฉะนั้น. ชนทั้งหลายรู้ความลับที่ปรึกษากันของบุคคลผู้หนึ่ง เพียงใด. ความหวาดสะดุ้งของบุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้น เพียงนั้น. เพราะเหตุนั้น ผู้ฉลาดไม่ควรสละความลับ.
               บุคคลกล่าวความลับในเวลากลางวัน พึงหาโอกาสที่เงียบ. เมื่อจะพูดความลับในเวลาค่ำคืน อย่าปล่อยเสียงให้เกินเขต. เพราะว่า คนแอบฟังความ ย่อมจะได้ยินความลับที่ปรึกษากัน. เพราะฉะนั้น ความลับที่ปรึกษากันจะถึงความแพร่งพรายทันที.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถิยา แปลว่า แก่สตรี. บทว่า อมิตฺตสฺส จ ความว่า ไม่ควรบอกแก่ศัตรู. บทว่า สํหีโร ความว่า ก็บุคคลใดถูกอามิสอย่างใดอย่างหนึ่งลากไป คือถึงการพูดชักชวนและสงเคราะห์ ไม่พึงบอกความลับแก่บุคคลแม้นั้น. บทว่า หทยตฺเถ โน ความว่า ก็บุคคลใดไม่ใช่มิตร เป็นมิตรเทียม ปากพูดอย่างหนึ่ง ใจคิดอย่างหนึ่ง. ไม่พึงบอกแก่บุคคลแม้นั้น. บทว่า อสมฺพุทธํ ได้แก่ อันผู้อื่นไม่รู้ ปาฐะว่า อสมฺโพธํ ก็มี ความว่า ไม่ควรให้ผู้อื่นรู้. บทว่า ติติกฺขติ ความว่า ย่อมอดกลั้นคำบ้าง คำบริภาษบ้าง การประหารบ้างเสมือนทาส. บทว่า มนฺตินํ ความว่า ผู้มีความรู้ทั้งหลายย่อมรู้ข้อที่ปรึกษากันนั้น ในระหว่างผู้มีความรู้ทั้งหลายเพียงใด. บทว่า ตาวนฺโต ความว่า ความหวาดสะดุ้งของบุคคลนั้นเพียงนั้น. นั้นย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยผู้รู้ความลับแม้เหล่านั้น. บทว่า น วิสฺสเช ความว่า ไม่พึงสละ คือไม่ควรให้ผู้อื่นรู้. บทว่า วิวิจฺจ ความว่า ถ้าต้องการจะปรึกษาความลับในกลางวัน พึงปรึกษาในที่ปกปิดให้ทำโอกาสให้เงียบ. บทว่า นาติเวลํ ความว่า ก็เมื่อพูดความลับในราตรี ไม่พึงทำเสียงดังเปล่งเสียงเกินเวลา คือเกินขอบเขต. บทว่า อุปสฺสูติกา ได้แก่ ชนผู้ฟังเข้าไปสู่สถานที่ปรึกษายืนอยู่ที่นอกฝาเป็นต้น. บทว่า ตสฺมา ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ด้วยเหตุนั้น ความลับที่ปรึกษากันนั้นจะถึงความแพร่งพรายทันทีทีเดียว.
                พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับ ถ้อยคำแห่งมโหสถ ก็ทรงพิโรธว่า อาจารย์เหล่านี้ปองร้ายกันเอง มาลงเอามโหสถว่าเป็นผู้ปองร้ายเรา. จึงมีพระราชดำรัสสั่งราชบุรุษว่า พวกเจ้าจงไป จงนำอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น ออกจากพระนคร ให้นอนหงายบนหลาว แล้วตัดศีรษะเสีย. เมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ อันราชบุรุษมัดมือไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยไม้เรียวร้อยทีคราวละ ๔ คราวละ ๔ แล้วนำไปสู่ประหารชีวิต. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ อาจารย์เหล่านี้เป็นอมาตย์เก่าของพระองค์. ขอพระองค์ทรงงดโทษแก่อาจารย์เหล่านี้. พระราชาพระราชทานอนุญาต. แล้วให้เรียกอาจารย์ทั้ง ๔ มา ตรัสสั่งยกให้เป็นทาสแห่งมโหสถ. ก็แต่มโหสถทูลยกให้เป็นไทในเวลานั้น นั่นเอง. พระราชาตรัสสั่งให้ขับไล่อาจารย์ทั้ง ๔ จากพระราชอาณาจักร. มโหสถทูลขอพระราชทานโทษว่า ขอได้โปรดอดโทษแก่คนอันธพาลเหล่านั้น ขอให้ทรงยกย่องอยู่ในฐานันดรนั้น. พระราชาทรงเลื่อมใสในมโหสถเกินเปรียบ ด้วยทรงดำริว่า มโหสถได้มีเมตตาเห็นปานนี้ ในเหล่าปัจจามิตร. มโหสถจักไม่มีเมตตาเห็นปานนี้ ในชนเหล่าอื่นอย่างไร. จำเดิมแต่นั้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ เป็นผู้หมดพยศ ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว ไม่อาจจะกล่าวอะไรอีก.
               จบ ปัญหาบัณฑิต ๕
               จบ ปริภินทกถา

.. อรรถกถา มโหสถชาดก ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :