ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา โสณกชาดก
ว่าด้วย เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภถึงเนกขัมบารมี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กสส สุตวา สตํ ทมมิ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในท่ามกลางแห่งภิกษุทั้งหลายผู้กำลังพรรณนาถึงเนกขัมมบารมี ณ โรงธรรมสภา ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์แต่ในกาลนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ได้ออกมหาภิเนษกรมณ์แล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว.
               จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า
               ในอดีตกาล พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงราชคฤห์. พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสี ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นแล้ว. ก็ในวันที่จะขนานพระนาม พระชนกและพระชนนีได้ทรงขนานพระนามพระโอรสนั้นว่า อรินทมกุมาร. แม้บุตรของท่านปุโรหิต ก็ได้คลอดในวันที่พระราชกุมารนั้นประสูติแล้วเหมือนกัน มารดาบิดาได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า โสณกกุมาร. พระราชกุมารและกุมารทั้งสองนั้นเจริญวัยขึ้นด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
               ครั้นเจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีรูปร่างอันสง่างดงาม เป็นผู้พิเศษด้วยรูป ได้ไปเมืองตักกสิลา เล่าเรียนศิลปศาสตร์จนจบสิ้น แล้วออกจากเมืองตักกสิลานั้น พากันคิดว่า เราทั้งสองจักศึกษาให้รู้ถึงศิลปะในลัทธิทั้งหมด และการเที่ยวจาริกไปในประเทศ ดังนี้แล้ว จึงพากันเที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองพาราณสีแล้ว พักอยู่ในพระราชอุทยาน พอวันรุ่งขึ้นจึงพากันเข้าไปยังพระนคร.
               ก็ในวันนั้น มนุษย์บางพวกพากันคิดว่า พวกเราจักจัดทำสถานที่สวดมนต์ของพราหมณ์ จึงจัดแจงข้าวปายาส ปูลาดเสนาสนะ เห็นกุมารทั้งสองคนนั้นเดินมา จึงเชื้อเชิญให้เข้าไปในเรือนแล้ว ให้นั่งบนอาสนะที่ตระเตรียมไว้. บนอาสนะทั้งสองนั้น เขาปูลาดผ้าที่ทำมาจากแคว้นกาสีขาวสะอาด บนอาสนะที่ปูลาดไว้สำหรับพระโพธิสัตว์ ปูลาดผ้ากัมพลสีแดงไว้สำหรับโสณกุมาร. กุมารนั้นมองดูเครื่องหมายก็รู้ว่า ในวันนี้นั่นแหละ อรินทมกุมารสหายผู้เป็นที่รักของเราจักได้เป็นพระราชา ครอบครองพระนครพาราณสี จักพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เรา.
               กุมาร แม้ทั้งสองคนนั้นกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็ได้พากันไปยังอุทยานนั่นแหละ ในกาลนั้นเป็นวันที่พระเจ้ากรุงพาราณสีสวรรคตมาได้เป็นวันที่ ๗ ราชตระกูลไม่มีพระโอรส. ประชาชนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นหัวหน้า สนานศีรษะแล้วประชุมกัน เทียมผุสยรถปล่อยไปด้วยคิดว่า ผุสยรถจักแล่นไปหาท่านผู้ควรแก่พระราชสมบัติ. ผุสยรถนั้นออกจากพระนคร แล่นไปยังอุทยานโดยลำดับ กลับที่ประตูอุทยาน แล้วหยุดเตรียมรับ ท่านผู้ควรครอบครองพระราชสมบัติให้ขึ้นไป.
               พระโพธิสัตว์ได้นอนคลุมศีรษะอยู่บนแผ่นศิลาอันเป็นมงคลแล้ว โสณกกุมารนั่งอยู่ใกล้พระโพธิสัตว์นั้นแล้ว. โสณกกุมารนั้นได้ยินเสียงดนตรี จึงดำริว่า ผุสยรถมาถึงอรินทมกุมาร วันนี้เธอจักเป็นพระราชา จักพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่เรา แต่เราไม่ต้องการด้วยอิสริยยศเลย เมื่อพระกุมารนี้เสด็จไปแล้ว เราจักออกบวช ดังนี้จึงได้ยืนแอบอยู่ในที่กำบังแห่งหนึ่ง ปุโรหิตเข้าไปยังอุทยาน เห็นพระมหาสัตว์หลับอยู่ จึงได้ให้เจ้าพนักงานประโคมดนตรีขึ้น. พระมหาสัตว์ตื่นนอนขึ้น พลิกตัวกลับหลับต่ออีกหน่อยแล้ว จึงลุกขึ้นนั่งบนบัลลังก์ที่แผ่นศิลา.
               ลำดับนั้น ท่านปุโรหิตประคองอัญชลี กราบทูลพระองค์ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชสมบัติถึงแก่พระองค์แล.
               พระมหาสัตว์ถามว่า ราชตระกูลไม่มีพระโอรสหรือ?
               ปุโรหิตทูลว่า เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
               พระมหาสัตว์ตอบรับว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดี.
               ลำดับนั้น ประชาชนทั้งหลายก็พากันอภิเษกพระมหาสัตว์นั้นในอุทยานนั้นทีเดียว แล้วเชิญเสด็จให้ขึ้นรถ กลับเข้าสู่พระนครด้วยบริวารใหญ่. พระโพธิสัตว์นั้นทรงกระทำประทักษิณพระนครแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาท. พระองค์มิได้ทรงระลึกถึงโสณกกุมาร เพราะความมีอิสริยยศใหญ่.
               ฝ่ายโสณกกุมารนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นเสด็จเข้าไปสู่พระนครแล้ว ตนเองก็มานั่งที่แผ่นศิลา. ลำดับนั้น ใบไม้สีเหลืองของต้นสาละหลุดร่วงจากขั้วตกลงตรงหน้าของกุมารนั้น เขาพอได้เห็นใบไม้เหลืองนั้นแล้ว จึงคิดว่า ใบไม้นั้นหล่นลงฉันใด แม้สรีระของเราก็จักถึงความชรา หล่นไปฉันนั้น ดังนี้แล้ว จึงเริ่มตั้งวิปัสสนาด้วยสามัญลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้น บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว. ในขณะนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของกุมารนั้นก็อันตรธานไป เพศบรรพชิตก็ได้ปรากฏแทน. พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อเปล่งอุทานว่า บัดนี้ ภพใหม่ของเราไม่มี ดังนี้แล้วจึงได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อว่า นันทมูลกะ.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์ทรงระลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นได้ โดยล่วงไปประมาณ ๔๐ ปี แม้จะทรงระลึกถึงพระโสณกะบ่อยๆ ว่า โสณกะสหายของเราไปไหนหนอ ไม่ได้ข่าวที่ใครจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ยินข่าว หรือว่าข้าพเจ้าได้พบเห็น ประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์ ก็มีพื้นกว้างใหญ่อันประดับประดาแล้ว เป็นผู้อันเหล่าชนผู้ประโคมฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นแวดล้อมแล้ว เสวยสมบัติอยู่ ทรงดำริว่า ผู้ใดได้ยินในสำนักแห่งใครๆ แล้วบอกแก่เราว่า โสณกกุมารอยู่ในที่ชื่อโน้น ดังนี้ เราจักให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ผู้นั้น ผู้ใดเห็นด้วยตัวเองแล้วบอกแก่เรา เราจักให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ผู้นั้น ดังนี้แล้วทรงนิพนธ์อุทานขึ้นบทหนึ่ง
               เมื่อจะทรงเปล่งด้วยทำนองเพลงขับ จึงตรัสเป็นคาถาที่ ๑ ว่า
               เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ใครๆ ผู้ได้ยินข่าวแล้วมาบอกแก่เรา ใครพบโสณกะ ผู้สหายเคยเล่นมาด้วยกันแล้ว บอกแก่เรา เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ผู้ที่พบโสณกะนั้น.

               ลำดับนั้น หญิงนักฟ้อนนางหนึ่งจำเอาอุทานนั้นได้ เหมือนถอดออกจากพระโอษฐ์ของพระราชานั้น จึงขับเป็นเพลงขับ. หญิงคนอื่นๆ ก็ขับเพลงขับนั้นต่อๆ กันมาเป็นลำดับจนถึงนางสนมทั้งหมดก็ได้ขับเพลงขับนั้น ด้วยพากันคิดว่า บทเพลงนี้เป็นบทเพลงขับที่พระราชาของเราทรงโปรดปรานด้วยประการฉะนี้ แม้ชาวพระนครและชาวชนบทก็ได้พากันขับเพลงขับนั้นโดยลำดับเหมือนกัน. แม้พระราชาก็ทรงขับเพลงขับนั้นอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกัน.
               ก็โดยล่วงไปเป็นเวลาประมาณ ๕๐ ปี พระราชาพระองค์นั้นได้มีพระโอรสและพระธิดาเป็นอันมาก พระโอรสองค์ใหญ่มีพระนามว่า ทีฆาวุกุมาร. ในกาลนั้น พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าปรารถนาจะพบเห็นพระเจ้าอรินทมราช จึงคิดว่า เราจะไปแสดงถึงโทษในกาม และอานิสงส์ในการออกบวชแล้ว จะชี้ช่องให้พระราชานั้นทรงออกผนวช ดังนี้ จึงเหาะมาโดยอากาศด้วยฤทธิ์แล้ว นั่งในอุทยาน. ในกาลนั้น เด็กชายมีผม ๕ แหยม อายุ ๗ ขวบคนหนึ่งถูกมารดาใช้ให้ไปหาฟืนในป่าใกล้อุทยาน ก็ขับเพลงขับนั้นบ่อยๆ อย่างนั้น.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเรียกกุมารนั้นมา ถามว่า ดูก่อนกุมารเอ๋ย ทำไมเจ้าจึงไม่ขับเพลงอื่นบ้างเล่า ขับร้องแต่เพลงนี้เพลงเดียวเท่านั้น เจ้าจำเพลงอื่นไม่ได้บ้างหรือ.
               กุมารนั้นตอบว่า จำได้ขอรับ แต่บทเพลงนี้เป็นเพลงที่โปรดปรานแห่งพระราชาของพวกผม เพราะฉะนั้น ผมจึงขับร้องเพลงนั้นบ่อยๆ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าถามว่า ก็เจ้าเคยเห็นใครๆ ขับร้องตอบเพลงนี้บ้างหรือไม่.
               กุมารนั้นตอบว่า ไม่เคยเห็นเลย ขอรับ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เราจักสอนให้เจ้าเรียนเพลงขับตอบนั้น เจ้าจักอาจไปยังสำนักของพระราชาแล้วขับตอบหรือ.
               กุมารนั้นตอบว่า ได้ ขอรับ.
               ลำดับนั้น พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อจะบอกเพลงขับตอบแก่กุมารนั้น จึงกล่าวคาถาว่า มยหํ สุตวา ดังนี้เป็นต้น ก็แลครั้นให้เรียนแล้ว จึงส่งกุมารนั้นไปด้วยคำว่า ดูก่อนกุมาร เจ้าจงไป จงขับร้องเพลงขับตอบนี้กับพระราชา พระราชาจักพระราชทานอิสริยยศใหญ่ให้แก่เจ้า เจ้าจะต้องการอะไรด้วยฟืน จงรีบไปเถิด.
               กุมารนั้นรับว่า ดีแล้ว เรียนเพลงขับตอบแล้ว ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้จนกว่าผมจะพาพระราชามา ดังนี้แล้ว รีบไปหามารดากล่าวว่า คุณแม่ครับ แม่จงอาบน้ำให้ผมแล้ว รีบแต่งตัวให้ผมเร็ว วันนี้ผมจะเปลื้องแม่ให้พ้นจากความยากจน. ครั้นมารดาอาบน้ำแต่งตัวให้แล้ว จึงมายังประตูวังแล้วกล่าวว่า นายประตูขอรับ ขอท่านจงกราบทูลแด่พระราชาว่า มีเด็กคนหนึ่งมากล่าวว่า ผมจะขับเพลงขับตอบกับพระองค์ ยืนคอยอยู่ที่ประตูวัง. นายประตูรีบไปกราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาตรัสสั่งให้เรียกเด็กมาว่า จงมาเถิด แล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าจักขับเพลงขับตอบกับเรา หรือ.
               เด็กนั้นกราบทูลว่า เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงขับเถิด.
               เด็กนั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ขับในที่นี้ไม่ได้ ก็แต่ว่า พระองค์จงให้พวกราชบุรุษเที่ยวตีกลองป่าวประกาศในเมืองแล้ว ให้มหาชนประชุมกัน ข้าพระองค์จักขับในท่ามกลางมหาชน.
               พระราชาให้ทำตามที่กุมารนั้นกล่าว เสด็จประทับนั่งในท่ามกลางราชบัลลังก์ ในมณฑปที่เขาประดับประดาแล้ว สั่งให้พระราชทานอาสนะที่สมควรแก่เด็กคนนั้นแล้ว ตรัสว่า บัดนี้ เจ้าจงขับเพลงขับของเจ้าได้แล้ว.
               กุมารนั้นจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์จงขับก่อน ข้าพระองค์จักขับตอบในภายหลัง.
               ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะทรงขับก่อนจึงตรัสคาถาว่า
               เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ใครๆ ผู้ได้ยินข่าวแล้วมาบอกแก่เรา ใครพบโสณกะ ผู้สหายเคยเล่นมาด้วยกันแล้วบอกแก่เรา เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ผู้ที่พบโสณกะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตวา ความว่า เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ใครๆ ที่ได้ยินที่อยู่ของโสณกะนั้นแล้วมาบอกว่า โสณกะสหายที่รักของท่านอยู่ในที่ชื่อโน้น.
               บทว่า ทิฏฐํ ความว่า เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ใครๆ ที่พบเห็นโสณกะ แล้วมาบอกว่า ข้าพเจ้าพบเห็นโสณกะในที่ชื่อโน้น ดังนี้.

               เมื่อพระราชาทรงขับอุทานคาถาแรก อย่างนี้แล้ว
               พระศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยเฉพาะ เมื่อจะทรงประกาศคาถาที่เด็กผู้มีผม ๕ แหยมขับตอบ จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถานี้ว่า
               ลำดับนั้น มาณพน้อยผู้มีผม ๕ แหยม ได้กราบทูลพระราชาว่า พระองค์จงทรงพระราชทานทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ข้าพระองค์ผู้ได้ยินข่าว แล้วมากราบทูล
               ข้าพระองค์พบเห็นโสณกะพระสหายเคยเล่นมาด้วยกันแล้ว จึงกราบทูลแด่พระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งแก่ข้าพระองค์ผู้พบเห็นโสณกะ.


               ก็เนื้อความแห่งคาถาที่กุมารนั้นกล่าวแล้ว มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า เราจะให้ทรัพย์แก่ผู้ที่ได้ยินข่าวนั้นแล้วมาบอกแก่เรา ดังนี้ ขอพระองค์จงพระราชทานทรัพย์นั้นแก่ข้าพระองค์ทีเดียว อนึ่ง พระองค์ตรัสว่า เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ผู้ที่พบเห็นแล้วกลับมาบอก ดังนี้ ขอพระองค์จงพระราชทานทรัพย์แม้นั้นแก่ข้าพระองค์ด้วย ข้าพระองค์พบเห็นสหายที่รักของพระองค์แล้ว จึงได้ทูลพระองค์ว่า บัดนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นโสณกะผู้นี้แล้ว.
               เนื้อความต่อแต่นี้ไป บัณฑิตพึงเข้าใจได้โดยง่ายทีเดียว.
               บัณฑิตพึงทราบพระคาถาของพระสัมพุทธเจ้าโดยนัยพระบาลีนั่นแล.
               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า โสณกกุมารนั้นอยู่ในชนบท แว่นแคว้น หรือนิคมไหน ท่านได้พบเห็นโสณกกุมาร ณ ที่ไหน เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด.


               กุมารกราบทูลว่า
               ขอเดชะ ต้นรังใหญ่หลายต้นมีลำต้นตรง มีสีเขียวเหมือนเมฆ เป็นที่ชอบใจน่ารื่นรมย์ อันอาศัยกันและกัน ตั้งอยู่ในภาคพื้นพระราชอุทยาน ในแว่นแคว้นของพระองค์นั่นเอง พระโสณกะ เมื่อสัตวโลกมีความยึดมั่น เป็นผู้ไม่ยึดมั่น เมื่อสัตวโลกถูกไฟเผา เป็นผู้ดับแล้ว เพ่งฌานอยู่ที่โคนแห่งต้นรังเหล่านั้น.

               
ลำดับนั้นแล พระราชาตรัสสั่งให้ทำทางให้ราบเรียบแล้ว เสด็จไปยังที่อยู่ของพระโสณกะพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา เมื่อเสด็จประพาสไปในไพรวัน ก็เสด็จถึงภูมิภาคแห่งอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโสณกะผู้นั่งอยู่ เมื่อสัตว์โลกถูกไฟเผา เป็นผู้ดับแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุชุวสา ได้แก่ มีลำต้นตั้งตรง.
               บทว่า มหาสาลา ได้แก่ ต้นไม้ใหญ่.
               บทว่า เมฆสมานา คือ เช่นกับเมฆสีดำ.
               บทว่า รมมา คือเป็นที่น่ายินดี.
               บทว่า อญโญญญนิสสิตา ได้แก่ กิ่งกับกิ่งเกี่ยวเกาะกันอยู่ รากกับรากเกี่ยวพันกันอยู่.
               บทว่า เตสํ ได้แก่ ภายใต้พฤกษาในป่า อันเป็นอุทยานของพระองค์ เห็นปานนั้นเหล่านั้น.
               บทว่า ฌายติ ความว่า เพ่งอยู่ด้วยฌานทั้ง ๒ คือ ลักขณูปนิชฌาน และอารัมมณูปนิชฌาน.
               บทว่า อนุปาทโน คือ เป็นผู้เว้นจากความยึดมั่นในกาม.
               บทว่า ทยหมาเนสุ คือ เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟ ๑๑ กองเผาอยู่.
               บทว่า นิพพุโต ความว่า พระโสณกะผู้เป็นสหายของพระองค์นี้ ทำไฟทุกกองเหล่านั้นให้ดับได้แล้ว เพ่งอยู่ด้วยหทัยอันเย็น นั่งอยู่บนแผ่นหิน ณ ที่โคนไม้รังอันเป็นมงคล ในอุทยานของพระองค์ ท่านงดงามเปรียบปานรูปทอง ฉะนั้น.
               คำว่า ตโต จ อธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในลำดับนั้น พระเจ้าอรินทมะนั้น พอได้ทรงสดับคำของกุมารนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า เราจักพบเห็นพระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว เสด็จออกไปพร้อมด้วยจตุรงคเสนา.
               บทว่า วิจรนโต ความว่า เสด็จมาตามหนทางตรงทีเดียว เมื่อเสด็จประพาสไปในชัฏป่าใหญ่นั้นแล้ว จึงเสด็จไปยังสำนักของพระโสณกะ ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านกำลังนั่งอยู่ พระราชานั้นทรงนมัสการพระโสณกะนั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.

               เมื่อทรงสำคัญซึ่งพระโสณกะนั้นว่า เป็นคนกำพร้า เพราะว่า พระองค์ยังทรงยินดีในกิเลสอยู่ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
               ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้าหนอ ศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฌายติ ความว่า เป็นผู้ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ถึงความกรุณาแล้ว (น่าสงสาร) จึงนั่งเข้าฌานอยู่.

               พระโสณกะได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว จึงได้ทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลผู้ถูกต้องธรรมด้วยนามกาย ไม่ชื่อว่า เป็นคนกำพร้า
               ผู้ใดในโลกนี้ นำเสียซึ่งธรรม ประพฤติตามอธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เป็นคนกำพร้า เป็นคนลามก มีบาปกรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ขอถวายพระพร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมํ ความว่า พระโสณกะได้สดับคำติเตียนถึง เรื่องการบรรพชานี้ของพระราชานั้น ผู้ทรงยินดียิ่งในกิเลส ไม่ทรงพอพระทัยการบรรพชา.
               บทว่า เอตทพรวี ความว่า พระโสณกะ เมื่อจะประกาศถึงคุณในการบรรพชา จึงได้กล่าวคำนี้.
               บทว่า ผสสยํ คือ ถูกต้องอยู่ พระโสณกะ เมื่อจะแสดงว่า บุคคลผู้ต้องอริยมรรคธรรมนั้นด้วยกาย ย่อมไม่ชื่อว่า เป็นคนกำพร้า ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า นิรกตวา ได้แก่ นำออกจากอัตภาพ.
               บทว่า ปาโป ปาปปรายโน ความว่า ชื่อว่า เป็นคนลามก เพราะตนเองกระทำแต่ความชั่ว ชื่อว่า เป็นผู้มีบาปกรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเป็นที่พึ่งแก่ชนเหล่าอื่นผู้กำลังทำบาป.

               พระโสณกะนั้นติเตียนพระโพธิสัตว์ด้วยถ้อยคำอย่างนี้. พระโพธิสัตว์ทรงทำเป็นเหมือนไม่ทรงทราบว่า พระโสณกะติเตียนพระองค์ ทรงบอกนามและโคตรของพระองค์.
               เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับพระโสณกะนั้น จึงตรัสคาถาว่า
               มหาชนรู้จักนามของข้าพเจ้าว่า อรินทมะ และรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้ากาสี ดูก่อนท่านโสณกะ การอยู่เป็นสุข ย่อมมีแก่ท่านผู้อยู่ในที่นี้แลหรือ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กจจิ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ความไม่สบายน้อยหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้าก่อน แต่ความอยู่เป็นสุข ย่อมมีแก่พระคุณเจ้าผู้ถึงแล้วในที่นี้ คือผู้อยู่ในอุทยานนี้แลหรือ.

               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงทูลตอบพระราชานั้นว่า ขอถวายพระพร ขึ้นชื่อว่าความไม่สำราญ ย่อมไม่มีแก่อาตมภาพผู้อยู่ในอุทยานนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้อาตมภาพจะอยู่ในที่อื่นๆ ก็ยังไม่มีเลย ดังนี้แล้ว.
               จึงเริ่มคาถาแสดงความเจริญของสมณะ แด่พระราชาพระองค์นั้นว่า
               (ข้อที่ ๑) ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน ทุกเมื่อ (คือ) ทรัพย์และข้าวเปลือก ย่อมไม่เข้าไปในฉาง ในหม้อ และในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้แสวงหาอาหารอันสำเร็จแล้ว มีวัตรอันงาม เยียวยาอัตภาพให้เป็นไป ด้วยบิณฑบาตนั้น.
               ข้อที่ ๒ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุพึงบริโภคบิณฑบาต ที่ไม่มีโทษ และกิเลสอะไรๆ ย่อมไม่ประทุษร้าย
               ข้อที่ ๓ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุพึงบริโภคบิณฑบาตอันดับแล้ว และกิเลสอะไร ย่อมไม่ประทุษร้าย.
               ข้อที่ ๔ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวไปในแว่นแคว้นไม่มีความข้อง.
               ข้อที่ ๕ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อไฟไหม้พระนครอยู่ อะไรๆ สักหน่อยหนึ่งของภิกษุนั้น ย่อมไม่ไหม้.
               ข้อที่ ๖ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อโจรปล้นแว่นแคว้น อะไรๆ สักหน่อยหนึ่งของภิกษุนั้นก็ไม่หาย.
               ข้อที่ ๗ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุผู้มีวัตรงาม ถือบาตรและจีวร ไปสู่หนทางที่พวกโจรรักษา หรือไปสู่หนทางที่มีอันตรายอื่นๆ ย่อมไปได้โดยสวัสดี.
               ข้อที่ ๘ ความเจริญ ย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุจะหลีกไปยังทิศใดๆ ก็ไม่มีห่วงใยไปยังทิศนั้นๆ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาคารสส ความว่า ขอถวายพระพร ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีความกังวล ไม่มีทรัพย์ ละเพศฆราวาสเสียแล้ว ถึงความเป็นผู้ไม่มีเรือนตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า น เตสํ ความว่า มหาบพิตร ความเจริญข้อแรก คือ ทรัพย์และข้าวเปลือกทั้งหลาย ย่อมไม่เข้าไปในเรือนคลัง ไม่เข้าไปในหม้อข้าว ไม่เข้าไปในกระเช้า ของภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่มีทรัพย์เหล่านั้น เพราะภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีวัตรอันงาม.
               บทว่า ปรินฏฐิตํ ความว่า ห่มผ้าสังฆาฏิแล้ว ถือบาตร (กระเบื้อง) แสวงหาอาหารที่เขาหุงไว้สุกแล้ว ในเรือนของชนเหล่าอื่นตามลำดับเรือน พิจารณาอาหารนั้นด้วยอำนาจความเป็นของปฏิกูล ๙ อย่างแล้วจึงบริโภค ย่อมยังความเป็นอยู่แห่งชีวิตให้เป็นไป ด้วยบิณฑบาตที่ได้แล้วจากการแสวงหานั้น.
               บทว่า อนวชชปิณโฑ โภตตพโพ ความว่า ปัจจัย ๔ ที่เกิดขึ้นด้วยการแสวงหาไม่สมควร มีเวชกรรมเป็นต้น หรือด้วยอาชีพที่ผิดเห็นปานนี้ คือ การกล่าวโกหกหลอกลวง การเป็นหมอดู การรับใช้คฤหัสถ์ การบริโภคลาภด้วยลาภก็ดี แม้ที่เกิดขึ้นโดยธรรม ภิกษุไม่พิจารณาเสียก่อนแล้วบริโภค ชื่อว่า บิณฑบาตมีโทษ.
               ปัจจัย ๔ ที่ภิกษุละการแสวงหาอันไม่สมควร เว้นอาชีพที่ผิดเสียแล้ว ให้ปัจจัยเกิดขึ้นโดยชอบธรรม ภิกษุพิจารณาโดยนัยดังกล่าวแล้วว่า เราพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงใช้สอยจีวร ดังนี้เป็นต้นแล้ว จึงบริโภค ชื่อว่า บิณฑบาตไม่มีโทษ.
               ภิกษุพึงบริโภคบิณฑบาตที่ไม่มีโทษเช่นนี้ทีเดียว เมื่อภิกษุบริโภคบิณฑบาตที่ไม่มีโทษอยู่อย่างนี้ กิเลสแม้มีประมาณน้อยหนึ่ง ก็ย่อมไม่เบียดเบียน คือ ย่อมไม่บีบคั้น เพราะอาศัยปัจจัยทั้งหลาย ความเจริญ แม้ที่สอง ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือนนั้น ฉะนี้แล.
               บทว่า นิพพุโต ความว่า แม้บิณฑบาตที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม ของภิกษุผู้เป็นปุถุชน ภิกษุพิจารณาแล้วจึงบริโภค ชื่อว่า บิณฑบาตดับแล้ว ส่วนบิณฑบาตของพระขีณาสพ ชื่อว่า บิณฑบาตดับแล้วโดยส่วนเดียว
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะว่า ในบรรดาการบริโภค ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ไถยบริโภค ลักขโมยเขาบริโภค อิณบริโภค บริโภคอย่างคนที่เป็นหนี้เขา ทายัชชบริโภค บริโภคโดยได้รับมรดก สามิบริโภค บริโภคโดยความเป็นเจ้าของ.
               พระขีณาสพนั้นย่อมบริโภคบิณฑบาตนั้น ด้วยอำนาจแห่งสามิบริโภค. ท่านเป็นเจ้าของ บริโภคบิณฑบาตโดยพ้นจากความเป็นทาสแห่งตัณหา กิเลสแม้มีประมาณน้อยหนึ่ง ย่อมไม่เบียดเบียนท่าน เพราะการบริโภคเช่นนั้นเป็นปัจจัย.
               บทว่า มุตตสส รฏเฐ จรโต ความว่า เมื่อภิกษุไม่ข้องอยู่ในตระกูลอุปัฏฐากเป็นต้น ประหนึ่งท้องฟ้าไม่มีเมฆ หรือเหมือนกับดวงจันทร์ที่ผ่องอำไพ พ้นจากปากราหู ฉะนั้น เที่ยวไปในบ้านแลนิคมเป็นต้น บรรดาความข้องมีราคะเป็นต้น ความข้องแม้สักอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มี.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนคลุกคลีอยู่กับสกุลทั้งหลาย พลอยร่วมโศกเศร้า และพลอยร่วมยินดีอยู่กับเขา. บุคคลบางคนมีใจไม่ข้องอยู่ แม้ในมารดาบิดา อยู่คนเดียว เหมือนเด็กหนุ่มชาวบ้านโกรุนคร ฉะนั้น. แม้ปุถุชนผู้เป็นแบบนี้ ก็ย่อมมีความเจริญเหมือนกัน.
               บทว่า นาสส กิญจิ ความว่า จริงอยู่ ภิกษุรูปใดเป็นผู้มีบริขารมาก ภิกษุรูปนั้นคิดว่า โจรทั้งหลายอย่าลักบริขารของเราไปเลย ดังนี้ จึงเก็บบริขารทั้งหลายมีผ้าจีวรเป็นต้นที่เหลือใช้ไว้ในตระกูลอุปัฏฐากภายในเมือง ต่อมาเมื่อไฟไหม้ในเมือง พอทราบข่าวว่า ต้นเพลิงเกิดขึ้นที่ตระกูลโน้น ก็เศร้าโศก ทุกข์ใจ. ขึ้นชื่อว่า ความเจริญย่อมไม่มีแก่ภิกษุเช่นนี้เลย.
               ดูก่อนมหาบพิตร ส่วนภิกษุใดบำเพ็ญวัตรของสกุณชาติให้เต็มบริบูรณ์ คือ มีแต่บริขารที่ติดกายเท่านั้น บริขารอะไรๆ ของภิกษุเช่นนั้น ย่อมไม่ถูกไฟไหม้ แม้ความเจริญข้อที่ห้า ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น ด้วยประการนั้นแล.
               บทว่า วิลุปปมานมหิ ได้แก่ พากันปล้น. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็ได้รูปอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อหาริถ ความว่า เมื่อพวกโจรออกจากชัฏภูเขาเป็นต้น พากันมาปล้นแว่นแคว้น มีโจรคนหนึ่งแย่งเอาบริขารของภิกษุผู้มีบริขารมากซึ่งฝากเก็บไว้ภายในบ้าน ฉันใด โจรย่อมลักเอาบริขารอะไรๆ ของภิกษุผู้มีแต่บริขารที่ติดกาย ไม่มีทรัพย์ ฉันนั้นไม่ได้เลย แม้ความเจริญอันเป็นข้อที่หก ก็ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นเหมือนกันแล.
               บทว่า เย จญญเญ ปริปนถิกา ความว่า ไปสู่หนทางที่พวกโจรตั้งด่านรักษาคุ้มครอง เพื่อเก็บภาษีคนเหล่าอื่นในที่นั้นๆ.
               บทว่า ปตตจีวรํ ความว่า ภิกษุกระทำบริขาร ๘ แม้ทั้งหมด คือ บาตรดิน ผ้าบังสุกุลจีวร ที่เย็บย้อมเรียบร้อยแล้ว ประคดเอว ผ้ากรองน้ำ กล่องเข็ม มีด ถลกบาตร ซึ่งมีราคาน้อย ไม่มีประโยชน์แก่พวกโจร ไม่เหมาะที่จะเป็นค่าภาษีแก่คนผู้เก็บภาษี มีแต่บริขารติดกายเดินไปตามหนทาง ใครๆ ก็ไม่เบียนเบียด ย่อมไปได้โดยสวัสดี.
               บทว่า สุพพโต ความว่า จริงอยู่ โจรทั้งหลายเห็นจีวรเป็นต้น ทำให้เกิดความโลภ ย่อมลักไปก็มี นายด่านภาษีคิดว่า อะไรหนอที่มีอยู่ในมือของภิกษุรูปนี้ แล้วจึงทำการตรวจค้นถลกบาตรเป็นต้น ส่วนภิกษุผู้มีวัตรอันงาม เมื่อชนเหล่านั้นเห็นเธอผู้มีความประพฤติเบาพร้อม ย่อมไปได้สะดวก แม้ความเจริญข้อที่ ๗ ก็ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นด้วยประการฉะนี้แล.

               ความเจริญที่ ๘ คือภิกษุไม่ต้องเหลียวแลที่อยู่ เพราะไม่มีบริขารอะไรๆ ที่ตนเก็บไว้ในวิหาร เกินกว่าบริขารที่เนื่องในกาย จะต้องไปสู่ทิศใด ก็ไปสู่ทิศนั้นได้อย่างไม่ต้องห่วงใย เหมือนกุลบุตรทั้ง ๒ ผู้บวชแล้วในถูปาราม บรรพชิตรูปที่แก่กว่า ออกจากเมืองอนุราธบุรีแล้ว เดินทางไป ฉะนั้น.
               พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าแสดงความเจริญแห่งสมณะ ๘ อย่างด้วยประการฉะนี้ แต่แท้ที่จริง ท่านเป็นผู้สามารถจะแสดงความเจริญแห่งสมณะให้ยิ่งกว่านั้นได้ตั้งร้อยตั้งพัน จนหาประมาณมิได้.
               ฝ่ายพระราชาทรงละเลยซึ่งถ้อยคำของพระโสณกะนั้น เพราะทรงยินดียิ่งในกาม จึงตรัสว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความต้องการด้วยความเจริญแห่งสมณะ.
               เมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์มีพระทัยน้อมไปในกาม จึงตรัสว่า

.. อรรถกถา โสณกชาดก ว่าด้วย เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 90 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=452&Z=594
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1637
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1637
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :