ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา ภูริทัตชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี

หน้าต่างที่ ๕ / ๕.

               จบการพรรณนายัญญวาท
               นาคเป็นอันมากผู้มาเยี่ยมเยียนพระมหาสัตว์ ฟังถ้อยคำนั้นของกาณาริฏฐะนั้นแล้ว ก็พลอยถือเอาผิดๆ ด้วยคิดว่า กาณาริฏฐะพูดแต่ความจริงเท่านั้น. พระมหาสัตว์นอนป่วยอยู่ ได้ฟังคำนั้นทั้งหมดแล้ว. ทั้งพวกก็มาแจ้งให้ท่านทราบอีก. ลำดับนั้น ท่านคิดว่า อริฏฐะพรรณนาทางผิดๆ เอาเถอะเราจะทำลายวาทะของกาณาริฏฐะนั้น แล้วจักกระทำบริษัทให้เป็นสัมมาทิฏฐิ. ท่านลุกขึ้นอาบน้ำ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง นั่งบนธรรมาสน์. สั่งให้นาคบริษัททั้งหมดประชุมกัน ให้เรียกกาณาริฏฐะมาแล้วกล่าวว่า เจ้ากล่าวสรรเสริญสิ่งที่ไม่จริง คือ เวท ยัญ และพราหมณ์ทั้งหลาย. ก็ขึ้นชื่อว่า การบูชายัญด้วยวิธีเวทของพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่นับว่าเป็นสิ่งประเสริฐเลย และไม่ใช่เป็นทางแห่งสวรรค์. เราจะชี้ข้อไม่เป็นจริงในวาทะของท่าน ดังนี้แล้ว.

               เมื่อจะเริ่มชื่อวาทะ อันว่าด้วยประเภทแห่งยัญ จึงกล่าวว่า
               ดูก่อนอริฏฐะ ความกาลี คือความปราชัยของนักปราชญ์ทั้งหลาย กลับเป็นความมีชัยของคนโง่เขลา ผู้ทรงเวท. ไตรเพทเป็นเหมือนอาการของพยับแดด เพราะเป็นของไม่เห็นเสมอไป มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนมีปัญญาไปไม่ได้. ไตรเพทมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ล้างผลาญความเจริญ. เหมือนไฟที่คนบำเรอแล้ว ย่อมป้องกันโทสจริตทำกรรมชั่วไม่ได้.
               ถ้าคนทั้งหลายจะเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตน คลุกกับหญ้าให้ไฟเผา. ไฟอันมีเดชไม่มีใครเทียม เผาสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็ไม่อิ่ม. ใครจะพึงทำให้ไฟซึ่งรู้รส ๒ อย่าง ให้อิ่มได้ นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือแปรเป็นนมส้ม แล้วเป็นเนยข้นฉันใด ไฟก็มีความแปรเป็นธรรมดาฉันนั้น.
               ไฟประกอบด้วยความเพียร (ในการสีไฟ) จึงจะเกิดได้. ไม่เคยได้เห็นไฟ เข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด คนสีไฟไม่สี ไฟก็ไม่เกิด ไฟไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด. ถ้าแหละไฟพึงอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้งไป และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลง. ถ้าคนทำบุญได้โดยเอาไม้และหญ้าให้ไฟกิน คนเผาถ่าน คนหุงเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ ก็จะพึงได้ทำบุญ.
               ถ้าแม้พราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้ เพราะการเลี้ยงไฟ เพราะเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงให้อิ่มหนำ. ในโลกนี้ใครๆ ผู้เอาของให้ไฟกิน จะไม่ชื่อว่าได้ทำบุญอย่างไรเล่า. เพราะเหตุไรเล่า เพราะไฟเป็นสิ่งอันโลกยำเกรง. รู้รสสองอย่าง พึงกินได้มาก ทั้งเป็นของเหม็นมีกลิ่นอันไม่น่าฟูใจ คนเป็นอันมากไม่ชอบ พวกมนุษย์ละเว้น และเป็นของไม่ประเสริฐ คนบางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา ส่วนพวกมิลักขุนับถือน้ำเป็นเทวดา. คนเหล่านี้ทั้งหมดนี้พูดผิด ไฟไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง และน้ำไม่ใช่เทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง โลกบำเรอไฟซึ่งไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายจะรู้สึกได้ ส่องแสงสว่างเป็นเครื่องทำการงานของประชาชน เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงไปสุคติได้อย่างไร.
               พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตในโลกนี้กล่าวว่า พระพรหมครอบงำได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ. พระพรหมมีอานุภาพกว่าทุกสิ่ง และมีอำนาจไม่มีใครสร้าง กลับไปไหว้ไฟที่ตนสร้างเพื่อประโยชน์อะไร. คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ ไม่ควรแก่การเพ่งเล็ง ไม่เป็นความจริง. พวกพราหมณ์ในปางก่อนก่อขึ้นไว้ เพราะเหตุแห่งสักการะ. พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อลาภและสักการะเกิดขึ้น จึงร้อยกรองยัญพิธีว่า เป็นธรรมสงบระงับ ด้วยการฆ่าสัตว์บูชายัญ.
               พวกพราหมณ์ถือการทรงไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และพวกศูทรยึดการบำเรอ วรรณะทั้ง ๔ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมา เฉพาะอย่างๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจจัดไว้. ถ้าคำนี้พึงเป็นคำจริงเหมือนดังที่พวกพราหมณ์กล่าวไว้ คนที่ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่พึงได้ราชสมบัติ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ไม่พึงศึกษามนต์ คนนอกจากแพศย์ไม่พึงทำการไถนาเลย และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น. เพราะคำนี้เป็นคำไม่จริงเป็นคำเท็จ. พวกคนหาเลี้ยงท้องกล่าวไว้ คนไม่มีปัญญาหลงเชื่อ.
               บัณฑิตทั้งหลายย่อมเห็นด้วยตนเอง เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บส่วยจากพวกแพศย์ พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์. เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่ทำโลก อันแตกต่างกันเช่นนั้นให้ตรงเสีย.
               ถ้าแหละพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ทำไมจึงจัดโลกทั้งปวงให้มีความทุกข์. ทำไมจึงไม่ทำโลกทั้งปวงให้มีความสุข แหละพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์. เหตุไรจึงทำโลกโดยไม่เป็นธรรม คือมารยาและเจรจาคำเท็จมัวเมา.
               ถ้าแหละพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้เจริญในโลกทั้งปวง เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าชีวิตอยุติธรรม เมื่อธรรมมีอยู่. พรหมนั้นก็จัดไม่เที่ยงธรรม ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอนและแมลงวัน. ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์ ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ของพระอริยะ เป็นธรรมผิดๆ ของชาวกัมโพชรัฐเป็นอันมาก.


               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า เวทชฺฌคตาริฏฺฐ ความว่า ดูก่อนอริฏฐะ ชื่อว่าความสำเร็จไตรเพทในบัดนี้ ก็เป็นความยึดถือเอาความกาลี อันนับว่าเป็นความปราชัยของนักปราชญ์ แต่กลับเป็นความมีชัยชนะของคนโง่เขลาเบาปัญญา.
               บทว่า มรีจิธมฺมํ ความว่า จริงอยู่ไตรเพทนี้เป็นเหมือน อาการธรรมดาของพยับแดด. เพราะเป็นของไม่เห็นเสมอไป. คนพาลทั้งหลายไม่รู้ซึ่งธรรมดาของพยับแดดนี้นั้น อันไม่มีจริงเป็นเหมือนมีจริง เพราะการเห็นไม่ติดต่อกันเหมือน หมู่เนื้อมองเห็นพยับแดด ด้วยสัญญาว่า น้ำจึงพาตนเข้าถึงความพินาศ เพราะสัญญาว่ามีจริงและไม่มีโทษ.
               บทว่า นาติวหนฺติ ปญฺญํ ความว่า ก็มารยาเห็นปานนี้เป็นส่วนหนึ่ง ย่อมล่วงเลย คือไม่หลอกลวงบุรุษผู้มีปัญญา คือผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา. อักษร ในบทว่า ภวนฺติรสฺส นี้ พึงเป็นบทพยัญชนะสนธิ.
               บทว่า ภูนหุโน ความว่า เวททั้งหลายของคนประทุษร้ายมิตร ผู้ฆ่าความเจริญ ย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน. อธิบายว่า ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้.
               บทว่า ปริจิณฺโณว อคฺคิ ความว่า อนึ่ง ไฟที่เขาบำเรอบูชา.
               บทว่า โทสนฺตรํ ความว่า กรรมชั่ว ย่อมไม่ต้านทาน คือไม่รักษาบุรุษผู้มีจิต อันประกอบด้วยโทษ เพราะโทษแห่งทุจริตทั้ง ๓ ได้.
               บทว่า สพฺพญฺจ มจฺจา ความว่า แม้ถ้าว่า คนทั้งหลาย ผู้มีทรัพย์ มีโภคะจะเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตน คลุกกับหญ้าแล้วให้ไฟเผา. ไฟของท่านนี้ อันเดชไม่มีใครสามารถเท่า อันมีเดชไม่มีใครเหมือน. เมื่อจะเผาสิ่งทั้งหมดนั้นที่พวกนั้นให้เผาแล้ว ก็ไม่พึงไหม้ได้. เมื่อเป็นอย่างนั้นมันก็เผาให้อิ่มไม่ได้นะพี่.
               บทว่า ทิรสญฺญู ความว่า บุคคลผู้สามารถรู้รสได้ด้วยลิ้น ๒ ลิ้น ว่าสิ่งนั้นเป็นภักษาดี หรือน่าพอใจด้วยเนยใสเป็นต้น.
               บทว่า กิริยา ความว่า ใครพึงกระทำ คือพึงสามารถเพื่อจะทำ. อธิบายว่า ใครเล่าจักให้ผู้ไม่อิ่มอย่างนี้ คือผู้กินจุนี้ให้อิ่มแล้วไปสู่สวรรค์. ดูเถิดท่าน ข้อนั้นก็ยังผิดอยู่ตลอดกาล.
               บทว่า โยคยุตฺโต ความว่าเป็นผู้ประกอบด้วยไม้สีไฟ พอได้สิ่งนั้นเป็นปัจจัย ก็เกิดขึ้น คือบังเกิด. ท่านกล่าวกะไฟนั้นซึ่งไม่มีจิตที่เกิดขึ้น เพราะความพยายามของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ท่านจงว่าฉันเป็นเทวดา. พูดแต่สิ่งไม่เป็นจริงนี้เท่านั้น.
               บทว่า อคฺคิมนุปฺปวิฏฺโฐ ความว่า ไม่เคยได้เห็นไฟเข้าไปในไม้แห้ง.
               บทว่า นามตฺถมาโน ความว่า ถึงไม้แห้งคนสีไฟไม่สีด้วยไม้สีไฟ ไฟก็เกิดไม่ได้.
               บทว่า นากมฺมุนา ชายติ ชายเวโท ความว่า เว้นการกระทำของบุรุษผู้ต้องการเวท ไฟก็ไม่เกิดได้เองตามธรรมดาของตนนั่นแล.
               บทว่า สุสฺเสยฺยุ ความว่า ป่าไม้ที่กำลังเหี่ยวแห้งด้วยไฟ ภายใน พึงแห้ง แม้ป่าไม้ที่ยังสดอยู่นั่นแหละก็พึงแห้งเหี่ยว.
               บทว่า โภชํ แปลว่า ให้บริโภค.
               บทว่า ธุมสิขึ ปตาปวํ ความว่า ประกอบด้วยเปลวควัน ให้ร้อนอยู่.
               บทว่า องฺคาริกา แปลว่า คนเผาถ่าน.
               บทว่า โลณกรา แปลว่า คนต้มน้ำเค็มทำเกลือ.
               บทว่า สูทา แปลว่า คนครัว.
               บทว่า สรีรทาหา แปลว่า คนเผาศพ.
               บทว่า ปุญฺญํ ความว่า คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พึงทำแต่บุญเท่านั้น.
               บทว่า อชฺเฌนมคฺคึ ความว่า แม้พราหมณ์ทั้งหลายจะเป็นผู้เลี้ยงไฟเรียนมนต์ก็ตาม. คนบางคนให้เชื้อ ทำให้มีควันมีเปลวให้ร้อน แม้อิ่มแล้วก็ไม่ชื่อว่าทำบุญ.
               บทว่า โลกาปจิโต สมาโน ความว่า เทวดาของท่านชื่อว่า อันโลกยำเกรง อันโลกบูชา.
               บทว่า ยเทว ความว่า คนพึงเว้นสิ่งซึ่งปฏิกูลน่าเกลียด มีซากงูเป็นต้นให้ห่างไกล.
               บทว่า ตทปฺปสฏฺฐํ ความว่า ดูก่อนสหาย คนรู้รส ๒ อย่าง พึงกินของที่ไม่ประเสริฐนั้น ได้อย่างไร คือเพราะเหตุไร.
               บทว่า เทเวสุ ความว่า คนบางพวกนับถือนกยูง นับถือเทวดาตนใดตนหนึ่ง บรรดาเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า มิลกฺขู ปน ความว่า ส่วนพวกมิลักขุผู้ไม่รู้ นับถือน้ำว่าเป็นดังเทวดา.
               บทว่า อสญฺญกายํ ความว่า โลกบำเรอไฟ อันได้ชื่อว่าเวสสานระซึ่งไม่มีอินทรีย์ มีกายที่ไม่มีจิตจะรู้สึกได้ ไม่มีความจงใจ กระทำกรรมมีการหุงต้มเป็นต้น แก่ประชาชนแล้วกระทำกรรมชั่ว จักไปสุคติได้อย่างไร. คำนี้ท่านพูดผิดยิ่งนัก.
               บทว่า สพฺพาภิภูตาหุ ชีวิกตฺถ ความว่า พวกพราหมณ์เหล่านี้ กล่าวว่า มหาพรหมครอบงำได้ทั้งหมด เพื่อความเป็นอยู่ของตน. และกล่าวว่า โลกทั้งหมด อันมหาพรหมนั่นแหละสร้างขึ้น. กล่าวอีกว่า พระพรหมบำเรอไฟ. เล่ากันมาว่า พระพรหมนั่นแหละบูชาไฟ.
               บทว่า สพฺพานุภาวี จ วสี ความว่า และพระพรหมนั้น ถ้ามีอานุภาพทุกอย่าง และมีความคล่องในฤทธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรตนเองจึงไม่ใช้คนอื่นสร้าง ตนเองเท่านั้นสร้างขึ้นเอง.
               บทว่า วนฺทิตสฺส ความว่า พระพรหมนั้น พึงเป็นผู้อันเขากราบไหว้ แม้คำนี้ท่านกล่าวไม่ถูกเหมือนกัน.
               บทว่า หาสํ ความว่า ดูก่อนอริฏฐะ ขึ้นชื่อว่าคำของพราหมณ์ เป็นคำที่ควรจะหัวเราะ ไม่ควรจะเพ่งดูสำหรับบัณฑิตทั้งหลาย.
               บทว่า ปริกรึสุ ความว่า พราหมณ์เหล่านี้มุสาวาทเห็นปานนี้. พวกพราหมณ์ได้ก่อสร้างขึ้นในกาลก่อน เพราะเหตุแห่งสักการะเพื่อตน.
               บทว่า สนฺธาภิตา ชนฺตูภิ สนฺติธมฺมํ ความว่า พราหมณ์เหล่านี้ประกอบลาภและสักการะเพียงเท่านี้ที่ไม่ปรากฏกับพวกสัตว์ แล้วผูกพันสันติธรรมคือ ลัทธิธรรมของตน อันเกี่ยวด้วยการฆ่าสัตว์ จึงร้อยกรองยัญวิธี ชื่อว่ายัญสูตร.
               บทว่า เอตญฺเจ สจจํ ความว่า หากจะพึงมีความจริงไซร้ ก็จะพึงมีเป็นต้นว่า นั่นเป็นสิ่งประเสริฐ ด้วยการที่ท่านอ้างเอาเอง.
               บทว่า นาติขตฺติโย ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ไม่ใช่กษัตริย์ จะครองรัฐไม่ได้ แม้ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ก็ศึกษาบทมนต์ไม่ได้.
               บทว่า มุสวิเม ตัดเป็น มุสาว อิเม.
               บทว่า โอทริยา ความว่า พวกคนหาเลี้ยงท้อง หรือเพราะเหตุจะให้เต็มท้อง.
               บทว่า ตทปฺปญฺญา ความว่า เขากล่าวไว้ว่าคนพวกนั้น คือคนไม่มีปัญญา.
               บทว่า อตฺตนาว ความว่า ส่วนบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมเห็นด้วยตนเอง คำของพวกนั้นเป็นคำมีโทษ จึงไม่หลงเชื่อ.
               บทว่า ตํ ตาทิสํ ได้แก่ คำนั้นคือเห็นปานนั้น.
               บทว่า สํขุภิตํ ความว่า เพราะเหตุไร พระพรหมของท่านนั้น จึงไม่ทำโลกอันกำเริบแตกต่างกัน ที่ตั้งทำลายมารยาทที่พรหมตั้งไว้ให้ตรง.
               บทว่า อลกฺขึ ความว่า เพราะเหตุไร พระพรหมของท่านจึงสร้างโลกทั้งปวงให้เป็นทุกข์.
               บทว่า สุขํ ความว่า เพราะเหตุไร พระพรหมของท่าน จึงไม่สร้างโลกทั้งปวงให้รับแต่ความสุขโดยส่วนเดียว พระพรหมของท่านเห็นจะเป็นโจรผู้ทำให้โลกพินาศ.
               บทว่า มายา ได้แก่ มารยา.
               บทว่า อธมฺเมน กิมตฺถการี ความว่า เพราะเหตุไร พระพรหมของท่านจึงทำโลกทั้งปวงให้พินาศ คือประกอบไว้ในทางไร้ประโยชน์ ด้วยอรรถมีมารยาเป็นต้นนี้.
               บทว่า อริฏฺฐ ความว่า ดูก่อนอริฏฐะ ผู้เป็นใหญ่ของท่านไม่ประกอบด้วยธรรม ซึ่งเมื่อกุศลธรรม ๑๐ ประการมีอยู่ ไม่จัดแจงธรรมเลย จัดแจงแต่อธรรม. คำในบทว่า กีฏา เป็นต้น เป็นปฐมาวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ. คนฆ่าสัตว์มีตั๊กแตนเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ ย่อมไปสู่สวรรค์ ก็ธรรมเหล่านั้นเป็นของคนมาก ผู้ไม่ใช่พระอริยะ มีชาวแคว้นกัมโพชเป็นต้น. แต่ธรรมเหล่านั้นไม่แท้ ไม่เป็นธรรม กล่าวว่าเป็นธรรม ธรรมเหล่านั้นเป็นของที่พรหมของท่านสร้างขึ้น.

               บัดนี้ พระภูริทัต เมื่อจะแสดงความไม่จริงแห่งธรรมเหล่านั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
               ถ้าแหละคนฆ่าเขาแล้วย่อมบริสุทธิ์ และผู้ถูกฆ่าย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พวกพราหมณ์ก็พึงฆ่าพวกพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ หรือพึงฆ่าพวกที่หลงเชื่อถ้อยคำ ของพราหมณ์ด้วยกันเสียซิ พวกเนื้อ ปศุสัตว์ และโคตัวไหนๆ ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเลย ล้วนแต่ดิ้นรน ต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้.
               ชนทั้งหลายย่อมนำเอา สัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกที่เสายัญ พวกคนพาล ย่อมยื่นหน้าเข้าไปที่เสาบูชายัญ เป็นที่ผูกสัตว์ด้วยการพรรณนาต่างๆ ว่า เสายัญนี้จะให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน ในโลกหน้า จะเป็นของยั่งยืนในสัมปรายภพ. ถ้าว่าบุคคลพึงได้แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญ ในไม้แห้ง และไม้สดไซร้. อนึ่ง เสายัญจะพึงให้ สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ได้ พราหมณ์เท่านั้นพึงบูชายัญ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ก็จะไม่พึงให้พราหมณ์บูชายัญอะไรๆ เลย. แก้วมณี สังข์ มุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง ที่ไม้สด ที่ไหน. เสายัญจะพึงให้ สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวง ในไตรทิพย์ที่ไหน.
               พราหมณ์เหล่านี้เป็นคนโอ้อวด หยาบช้า โง่เขลา โลภจัด ยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ว่า จงถือเอาไฟมา และจงให้ทรัพย์แก่เรา. แต่นั้นท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงแล้ว จักมีความสุข. พวกที่โกนผม โกนหนวดและตัดเล็บ พาพระราชาหรือมหาอำมาตย์ เข้าไปในโรงบูชาไฟ ยื่นหน้าเข้าไปด้วยการพรรณนาต่างๆ ย่อมถือเอาทรัพย์ด้วยเวท.
               พวกพราหมณ์ผู้โกหก พอหลอกลวงได้คนหนึ่ง ก็มาประชุมกินกันเป็นอันมาก เหมือนฝูงกาตอมนกเค้า หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้ว เก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามล่อหลอกพรรณนา ด้วยสิ่งที่ไม่แลเห็น. ปล้นเอาทรัพย์ที่แลเห็นไป เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนให้เก็บส่วย เก็บเอาทรัพย์ของพระราชาไป ฉะนั้น.
               ดูก่อนอริฏฐะ พราหมณ์เช่นนั้นเป็นเหมือนโจร ไม่ใช่สัตบุรุษ เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก.
               พวกพราหมณ์กล่าวว่า ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์ จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้. ถ้าคำนั้นเป็นคำจริง พระอินทร์ก็แขนขาด ทำไมพวกพระอินทร์จึงชนะพวกอสูร ด้วยกำลังแขนนั้นได้. คำนั้นเป็นคำเท็จ พระอินทร์ยังมีแขน พร้อมเป็นเทวดาชั้นดีเลิศ ไม่มีใครฆ่าได้ กำจัดอสูรได้.
               มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เหลวเปล่า หลอกลวงกันให้เห็นได้เฉพาะในโลกนี้ ภูเขามาลาคิรี ขุนเขาหิมวันต์ ภูเขาวิชฌะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่นๆ ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้. ที่กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา อิฐเช่นนั้นก็ไม่ใช่ธรรมชาติของภูเขา ภูเขาเป็นอย่างอื่น ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดๆ ว่าเป็นหิน ไม่ใช่อิฐ เป็นหินมานมนาน เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐ. ที่พวกพราหมณ์สรรเสริญยัญกล่าวไว้ว่า ผู้บูชายัญก่อสร้างไว้. ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า ผู้ประกอบในการขอ
               มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทรจึงดื่มไม่ได้. แม่น้ำพัดเอาพราหมณ์ ผู้เรียนเวท ทรงมนต์ ไปเกินกว่าพัน. เหตุไรน้ำในแม่น้ำจึงมีรสไม่เสีย มหาสมุทรเท่านั้นดื่มไม่ได้. บ่อน้ำทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ ที่เขาขุดไว้เกิดเป็นน้ำเค็มก็มี แต่ไม่ใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ เป็นน้ำรู้รสสองอย่าง.
               ครั้งดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ปฐมกัป ใครเป็นภรรยาใคร ใครได้ให้มนุษย์เกิดขึ้นก่อน โดยธรรมแม้นั้น ใครๆ ไม่เลวไปกว่าใคร. ท่านกล่าวจำแนกส่วนไว้อย่างนี้ แม้ลูกคนจัณฑาลก็พึงเรียนเวท สวดมนต์ได้ (ถ้า) เป็นคนฉลาด มีความคิด หัวของเขาก็ไม่พึงแตกเจ็ดเสี่ยง. มนต์เหล่านี้พวกพรหมสร้างไว้เพื่อฆ่าตน เป็นการสร้างแต่ปาก เป็นการสร้างยึดถือไว้ด้วยความโลภ เปลื้องได้ยาก เข้าถึงคลอง ด้วยคำของพวกพราหมณ์ ผู้แต่งกาพย์กลอน จิตของพวกคนโง่ ยังหลงใหลในทางลุ่มๆ ดอนๆ คนไม่มีปัญญาเชื่อเอาจริงจัง.
               ราชสีห์ เสีอโคร่ง เสือเหลือง มีกำลังอย่างลูกผู้ชาย พราหมณ์ไม่มีกำลังเช่นนั้นเลย ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้น พึงเห็นเหมือนของโค. ชาติของพราหมณ์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีใครเสมอ สิ่งอื่นๆ เสมอกันหมด ถ้าแหละพระราชาทรงชำนะหมู่ศัตรูได้ โดยลำพังพระองค์เอง ประชาราษฏร์ของพระราชานั้นพึงมีสุขอยู่เสมอ มนต์ของกษัตริย์ และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์ และไตรเพทนั้นก็ไม่รู้ เหมือนทางที่น้ำท่วม มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้ มีความหมายเสมอกัน ลาภ ไม่มีลาภ ยศ ไม่มียศ ทั้งหมดเทียว เป็นธรรมดาของวรรณะทั้ง ๔ นั้น.
               พวกคฤหบดี ใช้คนจำนวนมากให้ทำการงานในแผ่นดิน เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือก ฉันใด แม้พวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรเพท ก็ฉันนั้น ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมาก ให้ทำการงานในแผ่นดิน. ในวันนี้พราหมณ์เหล่านั้นเสมอกันกับคฤหบดี มีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์ ใช้คนจำนวนมาก ให้ทำการงานในแผ่นดินเหมือนกัน. พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้รู้รสสองอย่าง หาปัญญามิได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โภวาที ได้แก่ พวกพราหมณ์.
               บทว่า โภวาทินมารเภยฺยุ ความว่า พึงฆ่าแต่พวกพราหมณ์เท่านั้น.
               บทว่า เยวาปิ ความว่า ก็หรือว่า พวกใดพึงเชื่อถ้อยคำของพวกพราหมณ์. พวกพราหมณ์พึงฆ่าแต่พวกผู้อุปัฏฐากนั้นเท่านั้น. ส่วนพราหมณ์ไม่ฆ่าพวกพราหมณ์และพวกอุปัฏฐาก ฆ่าแต่สัตว์ดิรัจฉานซึ่งมีประการต่างๆ เท่านั้น ดังนั้น คำของพวกพราหมณ์เหล่านั้นจึงผิด.
               บทว่า เกจิ ความว่า พวกไหนๆ ที่จะร้องขอว่า ขออย่าฆ่าพวกเราเลย พวกเราจักไปสวรรค์ ย่อมไม่มีในยัญทั้งหลาย.
               บทว่า ปาเณ ปสุมารภนฺติ ความว่า ย่อมฆ่าพวกเนื้อเป็นต้น และปศุสัตว์ซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่ เลี้ยงชีพ.
               บทว่า มุขํ นยนฺติ ความว่า คนพาลทั้งหลาย ย่อมนำเอาสัตว์และปศุสัตว์ สิ่งของทั้งหมด เช่น แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินทอง ที่จัดแจงไว้ทั้งหมด ยื่นหน้าไปกล่าวคำนั้นๆ ถือผิดๆ ด้วยเห็นเข้าใจไปว่า สิ่งนี้จักให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่านในโลกหน้า และจักนำมาซึ่งความเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน.
               บทว่า สเจ จ ความว่า ถ้าพึงได้แก้วมณีเป็นต้นนี้ที่เสา หรือที่ไม้นอกนั้น หรือว่าเสาเป็นต้นนั้น พึงให้ไตรทิพย์ หรือสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวง. หมู่พวกที่ไตรวิชาเป็นอันมาก จะพึงบูชายัญเพราะมีทรัพย์มากและใคร่ต่อสวรรค์ ไม่พึงให้พราหมณ์อื่นบูชา, ก็เพราะเหตุที่หวังแต่ ทรัพย์เพื่อตนจึงไม่ให้ผู้อื่นบูชา ฉะนั้นพึงทราบว่า อภูตวาทิโน ผู้กล่าวสิ่งซึ่งไม่มีจริงเป็นจริง.
               บทว่า กุโต จ ความว่า สิ่งทั้งปวงมีแก้วมณีเป็นต้นนี้ไม่มีที่เสา หรือที่ไม้นอกนั้นเลย จักรีดเอาไตรทิพย์อันเป็นสิ่งให้ความใคร่ทั้งปวงได้แต่ที่ไหน คำของพวกนั้น ไม่จริงทั้งนั้นแม้โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า สฐา จ ลุทฺทา ปลุทฺธพาลา ความว่า ดูก่อนอริฏฐะ ขึ้นชื่อว่า พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้หลอกลวง ไร้กรุณาปราณี คนพาลเหล่านั้น ล่อลวงโลก ตลบตะแลงยื่นหน้าไปด้วยเหตุต่างๆ.
               บทว่า สพฺพกาเม ความว่า ท่านจงเอาไฟบูชา และให้สิ่งเครื่องปลื้มใจแก่เรา.
               บทว่า ตโต สุขี ความว่า ท่านจงให้สิ่งซึ่งน่าใคร่ทั้งปวงแล้วจงมีความสุข.
               บทว่า ตมคฺคิหุตฺตํ สรณํ ปวิสฺส ความว่า จงพาพระราชา หรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชา เข้าไปโรงบูชาไฟ เข้าไปยังที่มิใช่เรือน.
               บทว่า โอโรปยิตฺวา ความว่า พรรณนาเหตุต่างๆ โกนผมโกนหนวดตัดเล็บ.
               บทว่า อติคาฬฺหยนฺติ ความว่า อาศัยเวท ๓ ตามที่กล่าวแล้ว พลางกล่าวว่า สิ่งนี้ควรให้ สิ่งนี้ควรทำ ปราบปราม ทำให้พินาศ คือกำจัดทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันเป็นของผู้นั้น.
               บทว่า อนฺนานิ โภตฺวา กหุกา กุหิตฺวา ความว่า ผู้หลอกลวงเหล่านั้น กระทำกรรมคือการหลอกลวงมีประการต่างๆ มาประชุมร่วมกันพรรณนายัญ หลอกลวงผู้ให้ บริโภคโภชนะดีๆ มีรสเลิศ อันเป็นของผู้นั้น ครั้นแล้วทำผู้นั้นให้เป็นคนโล้น แล้วปล่อยเข้าไปในทางยัญ. อธิบายว่า พาไปยังหลุมยัญในภายนอก.
               บทว่า โยคโยเคน ความว่า พราหมณ์เหล่านั้นประชุมกันเป็นอันมากแล้ว หลอกลวงผู้นั้นได้คนหนึ่ง ด้วยความพยายามนั้นๆ คือการประกอบนั้นๆ พรรณนาหลอกลวงทรัพย์ของผู้นั้นที่เห็นประจักษ์ และเทวโลกที่ไม่เห็น ด้วยเทวโลกที่ไม่เห็น ทำให้เป็นสถานเทวดา.
               บทว่า อกาสิยา ราชูหิ วานุสิฏฺฐา ความว่า ถูกพระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชา พร่ำสอนว่า พวกท่านจงถือเอาพลีกรรมของเรานี้และนี้ เป็นเหมือนราชบุรุษ กล่าวคือคนผู้เก็บส่วย.
               บทว่า ตทสฺส ความว่า ได้ถือเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป.
               บทว่า โจรสฺมา ความว่า ผู้ถือเอาพลีที่ไม่เป็นจริง เป็นเหมือนโจรตัดที่ต่อ.
               บทว่า วชฺฌา ความว่า บาปธรรมเห็นปานนี้ควรฆ่า แต่ไม่ถูกฆ่าในโลกเหล่านี้.
               บทว่า พาหารสิ ตัดเป็น พาหา อสิ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนอริฏฐะ ท่านจงดูมุสาวาทของพราหมณ์แม้นี้ เล่ากันมาว่า พราหมณ์เหล่านั้น กล่าวกำใบไม้ใหญ่ในยัญทั้งหลาย ว่าท่านเป็นแขนขวาของพระอินทร์จึงตัดเสีย หากคำของพราหมณ์เหล่านั้น นั้นเป็นความจริง. เมื่อเป็นเช่นนั้น จะเป็นมีผู้แขนขาด. พระอินทร์ชนะอสูร เพราะกำลังแขนได้อย่างไร.
               บทว่า สมงฺคี ความว่า ผู้พรั่งพร้อมด้วยแขน ไม่ขาดแขนไม่มีโรคเลย.
               บทว่า หนฺตฺวา ได้แก่ ฆ่าพวกอสูร.
               บทว่า ปรโม ความว่า เป็นผู้สูงสุด คือประกอบด้วยบุญฤทธิ์ ไม่ฆ่าคนเหล่าอื่น.
               บทว่า พฺราหฺมณา ได้แก่มนต์ของพราหมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า ตุจฺฉรูปา ได้แก่ ความว่างเปล่า คือไม่มีผล.
               บทว่า วญฺจนา ได้แก่ ความล่อลวงที่เห็นกันได้ในโลกนี้ ชื่อว่าเป็นมนต์ของพราหมณ์เหล่านั้น.
               บทว่า ยถาปการานิ ความว่า พราหมณ์บูชายัญถือเอาอิฐอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อสร้างกระทำไว้.
               บทว่า ทิฏฺฐเสลา ความว่า จริงอยู่ ภูเขาทั้งหลาย ไม่หวั่นไหว เห็นได้เองไม่มีใครก่อสร้างขึ้น เป็นแท่งทึบ และล้วนแล้วด้วยหิน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น อิฐทั้งหลายหวั่นไหว ไม่เป็นแท่งทึบ ไม่ล้วนแล้วแต่หิน.
               บทว่า ปริวณฺณยนฺตา ความว่า พราหมณ์ทั้งหลายพรรณาถึงยัญนี้.
               บทว่า สมนฺตเวเท ได้แก่ พวกพราหมณ์ผู้มีเวทบริบูรณ์.
               บทว่า วหนฺติ ความว่า ย่อมพัดผู้ที่ตกไปในกระแสน้ำก็ดี ในแม่น้ำวนก็ดีไปสู่แม่น้ำ ให้จมลง ให้ถึงความสิ้นชีวิต. อักษร ศัพท์หนึ่งในบทว่า น เตน พฺยาปนฺนรสูทกานิ นี้ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าเข้าไปตัด.
               จริงอยู่ เมื่อถามท่านว่า แม่น้ำมีน้ำมีรสวิบัติเพราะเหตุนั้นมิใช่หรือ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า กสฺมา ความว่า ดูก่อน เพราะเหตุไร น้ำในมหาสมุทรจึงทำให้ดื่มไม่ได้. มหาพราหมณ์ไม่สามารถจะทำน้ำในแม่น้ำทั้งหลายมีแม่น้ำยมุนาเป็นต้น ให้ดื่มไม่ได้เท่านั้นหรือ หรือว่าสามารถแต่ในมหาสมุทรเท่านั้น.
               บทว่า ทิรสญฺญราหุ ความว่า เป็นน้ำรู้รส ๒ อย่าง.
               บทว่า ปเร ปุรตฺถ ความว่า ก่อนแต่นี้ คือประโยชน์ในเบื้องหน้าเขาทั้งปวง ได้แก่ในกาลแห่งปฐมกัป.
               บทว่า กา กสฺส ภริยา ความว่า เป็นภรรยาของใครชื่อไร? จริงอยู่ในกาลนั้น ไม่มีเพศหญิงและเพศชายเลย. ภายหลัง เกิดชื่อว่ามารดาและบิดา ด้วยอำนาจอสัทธรรม.
               บทว่า มโน มนุสฺสํ ความว่า ก็ในกาลนั้นให้เกิดเป็นมนุษย์ อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายสำเร็จด้วยใจบังเกิดขึ้น. บทว่า เตนาปิ ธมฺเมน ความว่า ด้วยเหตุแม้นั้นคือโดยสภาวะนั้น ใครๆ ชื่อว่า เลวโดยชาติย่อมไม่มี. จริงอยู่ในกาลนั้น ความต่างแห่งกษัตริย์เป็นต้น หามีไม่ เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวคำใดไว้ว่า พราหมณ์เท่านั้นประเสริฐโดยชาติ คนนอกนั้นเลว เพราะเหตุนั้นคำนั้น จึงชื่อว่าผิด.
               บทว่า เอวมฺปิ ความว่า เมื่อโลกเป็นไปอย่างนี้ กษัตริย์เป็นต้นจึงแบ่งเป็น ๔ ส่วนด้วยอำนาจละวัตร อันเป็นของโบราณ. ภายหลังจึงกำหนดตัดขาด กระทำด้วยตนเอง.
               บทว่า เอวํปิ โวสฺสคฺควิภงฺคมาหุ ความว่า พราหมณ์กล่าวจำแนกไว้อย่างนี้ว่า ด้วยการสละกรรมที่ตนกระทำไว้. บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกเกิดเป็นกษัตริย์ บางพวกเป็นพราหมณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่า พวกพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐจึงผิดทีเดียว.
               บทว่า สตฺตธา ความว่า ถ้าว่ามหาพรหมให้ไตรเพทแก่พวกพราหมณ์เท่านั้น. ไม่ให้แก่พวกอื่น ศีรษะของจัณฑาลผู้กล่าวมนต์จะพึงแตก ๗ เสี่ยง แต่ก็ไม่แตก. เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านี้ สร้างมนต์ขึ้นเพื่อฆ่าตนเอง. ประกาศความที่ตนกล่าวมุสาแก่พวกนั้น จึงชื่อว่า กระทำการฆ่าคุณ.
               บทว่า วาจา กตา ความว่า ชื่อว่ามนต์เหล่านี้ อันพวกพราหมณ์คิดทำด้วยมุสาวาท.
               บทว่า คิทฺธิ กตา คหิตา ความว่า ชื่อว่าอันพวกพราหมณ์ยึดถือ โดยความเป็นผู้ติดอยู่ในลาภ. บทว่า ทุมฺโมจยา ความว่า เปลื้องได้ยาก เหมือนปลาติดเบ็ดฉะนั้น.
               บทว่า กาพฺยาปถานุปนฺนา ความว่า ดำเนินตาม คือเข้าถึงทางแห่ง ถ้อยคำของพวกพราหมณ์ ผู้แต่งกาพย์กลอน. พวกพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวมุสาผูกขึ้น โดยประการที่ตนปรารถนา.
               บทว่า พาลานํ ความว่า ก็จิตของคนโง่เหล่านั้น ยังตั้งไว้ผิด ลุ่มๆ ดอนๆ พวกไม่มีปัญญาเหล่าอื่นย่อมเชื่อคำของคนโง่นั้น.
               บทว่า โปริสยพเลน ความว่า ด้วยกำลังกล่าว คือความเป็นบุรุษ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ราชสีห์เป็นต้น ผู้ประกอบด้วยกำลังซึ่งเป็นของบุรุษ กล่าวคือเรี่ยวแรงแห่งบุรุษ ย่อมไม่มีแก่พราหมณ์. คนพาลทั้งหมดเลวกว่า แม้กว่าพวกเดียรัจฉานเหล่านี้ทีเดียว.
               บทว่า มนุสฺสภาโว จ ควํว เปกฺโข ความว่า ก็อีกอย่างหนึ่งภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ของพวกพราหมณ์เหล่านั้น พึงเห็นเหมือนฝูงโค. ถามว่า เพราะเหตุอะไร? แก้ว่า เพราะชาติของพราหมณ์เหล่านั้นไม่เสมอกัน อธิบายว่า ชาติของผู้เสมอกับพวกพราหมณ์เหล่านั้นไม่เสมอกัน เพราะพวกพราหมณ์เหล่านั้นมีปัญญาทราม ความจริง สัณฐานของพวกโคก็อย่างหนึ่ง ของพวกพราหมณ์เหล่านั้นก็อย่างหนึ่ง. เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กระทำพราหมณ์เหล่านั้นแม้ให้เสมอกัน ในจำพวกเดียรัจฉานมีสีหะเป็นต้น กระทำให้เสมอกันกับโคเท่านั้น.
               บทว่า สเจ ราชา ความว่า ดูก่อนอริฏฐะ ถ้าว่ากษัตริย์เท่านั้น ปกครองแผ่นดินโดยภาวะที่มหาพรหมให้ไซร้.
               บทว่า สชีววาความว่า ประกอบด้วยอำมาตย์เป็นอยู่ร่วมกัน.
               บทว่า อสฺสวา ปาริสชฺโช ความว่า พึงเป็นผู้ใช้คนผู้ทำตามโอวาทของตน เมื่อเป็นเช่นนั้น บริษัทของพระราชา ชื่อว่าพึงรบแล้วให้ราชสมบัติแก่พระราชา ไม่พึงมี. พระราชาพระองค์นั้นผู้เดียวเท่านั้น พึงชนะหมู่ศัตรูด้วยพระองค์เท่านั้น เมื่อการรบมีอยู่อย่างนี้ ประชาราษฏร์ของพระองค์ พึงมีความสุขเป็นนิตย์. เพราะไม่มีความทุกข์ และข้อนั้นไม่เป็นความจริง แม้เพราะเหตุนั้น คำของพวกพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมผิด.
               บทว่า ขตฺติยมนฺตา ความว่า ราชศาสตร์และไตรเพทเหล่านั้น ที่เป็นไปตามอำนาจราชอาณา ตามความชอบใจของตนว่า สิ่งนี้เท่านั้นควรทำ ย่อมมีความหมายเสมอกัน.
               บทว่า อวินิจฺฉินิตฺวา ความว่า กษัตริย์ไม่วินิจฉัยความหมายของมนต์แห่งกษัตริย์เหล่านั้น และความหมายของเวททั้งหลาย ถือเอาด้วยอำนาจอาชญาเท่านั้น ย่อมหยั่งรู้ถึงความหมายนั้น เหมือนทางที่ถูกห้วงน้ำตัดขาดฉะนั้น.
               บทว่า อตฺเถน เอเต ความว่า ราชศาสตร์และเวทเหล่านั้น ย่อมเสมอกันด้วยความหมายว่า หลอกลวง. เพราะเหตุไร? เพราะพวกพราหมณ์กล่าวว่า พวกพราหมณ์เท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ วรรณะเหล่าอื่นเลว.
               ก็โลกธรรม มีลาภเป็นต้นเหล่านั้นใด ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมของวรรณะทั้ง ๔ ทั้งหมด. จริงอยู่ แม้สัตว์ตนหนึ่งชื่อว่า พ้นไปจากโลกธรรมเหล่านี้ ย่อมไม่มี. ดังนั้น พวกพราหมณ์จึงกล่าวมุสาวาทว่า เราผู้ไม่พ้นไปจากโลกธรรมนั่นแลประเสริฐ.
               บทว่า อิพฺภา ได้แก่ คฤหบดี.
               บทว่า เตวิชฺชสํฆาปิ ความว่า ฝ่ายพวกพราหมณ์ ย่อมทำกรรมเป็นอันมากมีกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้น อย่างนั้นเหมือนกัน. บทว่า นิจฺจุสฺสุกา ความว่า เกิดความขวนขวายความพอใจเป็นนิตย์.
               บทว่า ตทปฺปปญฺญา ทิรสญฺญุรา เต ความว่า ดูก่อนน้องชายผู้รู้รสทั้ง ๒ เพราะเหตุนั้น พวกพราหมณ์ผู้รู้รส ๒ อย่าง เป็นผู้ไม่มีปัญญา พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ไกลจากธรรม ก็ธรรมของพวกพราหมณ์แต่โบราณ ย่อมปรากฎในสุนัข ในบัดนี้แล.
               พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ให้ตั้งวาทะของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้. นาคบริษัททั้งหมดนั้น ได้ฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ก็พากันเกิดโสมนัส. ฝ่ายพระมหาสัตว์จึงสั่งให้นาคบริษัท นำพราหมณ์เนสาท ออกไปจากนาคพิภพ. แม้เพียงการบริภาษ ก็มิได้กระทำแก่พราหมณ์นั้น.
               จบยัญญเภทกัณฑ์

               ฝ่ายพระเจ้าสาครพรหมทัต มิได้ล่วงเลยวันที่ทรงกำหนดไว้ เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชบิดา พร้อมด้วยจตุรงคเสนา. ส่วนพระมหาสัตว์ก็สั่งให้ตี กลองร้องประกาศว่า เราจะไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลุง และพระเจ้าตาของเรา. แล้วก็เสด็จขึ้นจากแม่น้ำยมุนาด้วยสิริอันงามเลิศ มุ่งไปยังอาศรมบทนั้น. พี่น้องนอกนั้นกับชนกชนนี ก็ติดตามไปเบื้องหลัง. ในขณะนั้น พระเจ้าสาครพรหมทัต ทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์ ผู้มากับนาคบริษัทเป็นอันมาก ทรงจำไม่ได้ เมื่อจะทูลถามพระราชบิดา จึงตรัสว่า
               กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหรทึกของใคร มาข้างหน้า ทำให้พระราชาจอมทัพทรงหรรษา. ใครมีสีหน้าสุกใส ด้วยแผ่นทองคำ อันหนามีพรรณดังสายฟ้า ชันษายังหนุ่มแน่น สอดสวมแล่งธนู รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่ นั่นเป็นใคร. ใครมีพักตร์ผ่องใสเพียงดังทองคำ เหมือนถ่านไฟไม้ตะเคียน ซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่. ใครนั่นมีฉัตรทองชมพูนุท มีซี่น่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกันรัศมีพระอาทิตย์ รุ่งเรืองด้วยสิริมาอยู่. ใครนั่นมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวิชนีอย่างยอดเยี่ยม อันคนใช้ประคอง ณ เบื้องบนเศียรทั้งสองข้าง. คนทั้งหลายถือกำหางนกยูงอันวิจิตร อ่อนสลวย มีด้ามล้วนแล้วด้วยทอง และแก้วมณี จรลีมาทั้งสองข้าง ข้างหน้าของใคร กุณฑลอันกลมเกลี้ยง มีรัศมีดังสีถ่านไม้ตะเคียน ซึ่งลุกโชนอยู่ปากเบ้า งดงามอยู่ทั้งสองข้าง ข้างหน้าของใคร เส้นผมของใครต้องลมอยู่ไหวๆ ปลายสนิทละเอียดดำ งามจดนลาต ดังสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า.
               ใครมีเนตรซ้ายขวากว้างและใหญ่ งาม มีพักตร์ผ่องใส ดังคันฉ่องทอง. ใครมีโอฐสะอาดเหมือนสังข์อันขาวผ่อง. เมื่อเจรจา (แลเห็น) ฟันขาวสะอาด งามดังดอกมณฑารพตูม. ใครมีมือและเท้าทั้งสองมีสีเสมอด้วยน้ำครั่ง ตั้งอยู่ในที่สบาย. มีริมฝีปากเปล่งปลั่ง ดังผลมะพลับงามดังดวงอาทิตย์. ใครนั่นมีเครื่องปกคลุมขาวสะอาด ดังหนึ่งต้นสาละใหญ่ ดอกบานสะพรั่ง ข้างเขาหิมวันต์ในฤดูหิมะตก งามปานดังพระอินทร์ ผู้ได้ชัยชนะ. ใครนั่น นั่งอยู่ท่ามกลางบริษัท คล้องพระแสงขรรค์คร่ำทอง วิจิตรด้วยด้ามแก้วมณีที่อังสา. ใครนั่นสวมรองเท้าทอง อันวิจิตร เย็บเรียบร้อย สำเร็จเป็นอันดี ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่าน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิปนฺนานิ ความว่า ดนตรีเหล่านี้เป็นของใคร ดำเนินมาข้างหน้า.
               บทว่า หาสยนฺตา ความว่า ทำให้พระราชานี้ทรงหรรษา.
               บทว่า กสฺส กาญฺจนปฏฺเฏน ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ใครมีสีหน้าโชติช่วง ด้วยแผ่นกรอบหน้าที่นลาต เหมือนก้อนเมฆโชติช่วงด้วยสายฟ้าฉะนั้น.
               บทว่า ยุวา กลาปสนฺนทฺโธ แปลว่า ยังเป็นหนุ่ม สอดสวมแล่งธนู.
               บทว่า อุกฺกามุเข ปหฏฺฐํว ความว่า เหมือนทองคำที่ลุกโชน ที่เตาไฟของช่างทอง.
               บทว่า ขทิรงฺคารสนฺนิภํ แปลว่า เสมือนถ่านไม้ตะเคียนที่ลุกโชน.
               บทว่า ชมฺโพนทํ ความว่า ล้วนแล้วด้วยทองคำมีสีสุกปลั่ง.
               บทว่า องฺคปริคฺคยฺห ความว่า อันคนใช้ถือแส้จามรประคองมาอยู่.
               บทว่า วาลวีชนึ แปลว่า พัดวาลวิชนีอันแล้วด้วยแก้วมณี.
               บทว่า อุตฺตมํ แปลว่า อันยอดเยี่ยม.
               บทว่า เปกฺขุณหตฺถานี แปลว่า ต่างถือกำหางนกยูง.
               บทว่า จิตฺรานิ แปลว่า วิจิตรด้วยแก้ว ๗ ประการ.
               บทว่า สุวณฺณมณิทณฺฑานิ ความว่า มีด้ามขจิตด้วยทองที่สุกปลั่ง และด้วยแก้วมณี.
               บทว่า อุภโต มุขํ ความว่า เที่ยวไปข้างหน้าทั้งสองข้าง.
               บทว่า วาเตน ฉุปิตา แปลว่า อันลมรำเพยพัด.
               บทว่า สินิทฺธคฺคา แปลว่า มีปลายสนิท.
               บทว่า นลาตนฺตํ ความว่า เส้นผมเห็นปานนี้ นี่ของใครงดงามจดที่สุดนลาต.
               บทว่า นภา วิชฺชุริวุคฺคตา ความว่า ดุจดังสายฟ้าขึ้นจากท้องฟ้า ฉะนั้น.
               บทว่า อุณฺณชํ ความว่า บริสุทธิ์ ดุจคันฉ่องทองคำ.
               บทว่า ลปนชาตา แปลว่า ปาก.
               บทว่า กุปฺปิลสาทิสา แปลว่า เสมือนดอกมณฑารพตูม.
               บทว่า สุเข ฐิตา ความว่า ยิ้มแย้มได้สบาย.
               บทว่า ชยํ อินฺโทว ความว่า ดุจดังพระอินทร์ได้ชัยชนะ.
               บทว่า สุวณฺณปีลกากิณฺณํ แปลว่า เกลื่อนไปด้วยไฝทอง.
               บทว่า มณิทณฺฑวิจิตฺตกํ ความว่า วิจิตรไปด้วยแก้วมณีอังสา.
               บทว่า สุวณฺณขจิตา แปลว่า ขจิตไปด้วยทอง.
               บทว่า จิตฺรา ได้แก่ วิจิตรไปด้วยแก้ว ๗ ประการ.
               บทว่า สุกตา ความว่า สำเร็จเรียบร้อยแล้ว.
               บทว่า จิตฺรสิพฺพินี แปลว่า เย็บอย่างสวยงาม.
               ด้วยบทว่า ปาทา นี้ ท่านถามว่า ใครนั่นสวมรองเท้าทอง เห็นปานนี้โดยเท้า.

               พระดาบสผู้มีฤทธิ์ได้อภิญญา ถูกพระเจ้าสาครพรหมทัต ผู้เป็นโอรสทูลถามอย่างนี้. เมื่อจะบอกว่า ดูก่อนพ่อ ผู้ที่มาเหล่านั้น คือนาคลูกท้าวธตรฐ หลานของเจ้า จึงกล่าวคาถาว่า
               ผู้ที่มาเหล่านั้น เป็นนาคที่มีฤทธิ์เรืองยศ เป็นลูกของท้าวธตรฐ เกิดแต่นางสมุททชา นาคเหล่านี้มีฤทธิ์มาก.


               เมื่อพระราชฤาษี และพระเจ้าสาครพรหมทัต ตรัสอยู่อย่างนี้ นาคบริษัททั้งหลาย จึงพากันถวายบังคมบาทพระดาบส แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายนางสมุททชาก็ถวายบังคมพระราชบิดา และพระราชภาดาแล้ว ก็ปริเทวนากรรแสงร้องไห้ แล้วก็พานาคบริษัทกลับไปยังนาคพิภพ. ฝ่ายพระเจ้าสาครพรหมทัตประทับ ณ ที่นั้นนั่นเอง สองสามวันจึงถวายบังคมลา ขมาพระราชบิดาแล้วก็กลับยังกรุงพาราณสี. นางสมุทชาเทวีก็สิ้นชีพในนาคพิภพนั้นนั่นเอง.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็รักษาศีลอยู่จนตลอดชีวิต ในที่สุดแห่งชนมายุ ก็ได้ดำเนินไปในทางสวรรค์ กับนาคบริษัท.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย โบราณบัณฑิต เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น ก็ยังทรงสละนาคสมบัติเห็นปานนี้ กระทำอุโบสถกรรมดังนี้ จึงประชุมชาดกว่า
               มารดาบิดา (ของพระภูริทัต) ในกาลนั้น ได้มาเป็นศากยราชตระกูล
               พราหมณ์เนสาท มาเป็น พระเทวทัต.
               โสมทัต มาเป็น พระอานนท์.
               นางอัจจิมุขี มาเป็น นางอุบลวรรณา.
               สุทัสสนะ มาเป็น พระสารีบุตร.
               สุโภคะ มาเป็น พระโมคคัลลานะ.
               กาณาริฏฐะ มาเป็น สุนักขัตตลิจฉวี.
               ภูริทัต มาเป็น เราผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ภูริทัตชาดก ว่าด้วย พระเจ้าภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 600 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 687 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 775 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=4328&Z=4760
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :