ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 224อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 268อ่านอรรถกถา 29 / 321อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๘. ปสูรสุตตนิเทสนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บรรดาบทเหล่านั้น ชื่อว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ เพราะอรรถว่าควรรู้. ชื่อว่าพระญาณมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ เพราะอรรถว่า พระญาณนั้นมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำคือที่สุดแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ ก็ที่สุดแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำนั่นแล ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มิใช่สัพพัญญู แม้ในบทธรรมที่ควรแนะนำที่มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณก็นัยนี้เหมือนกัน. ในคู่แรกมีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแล พระเถระแสดงให้วิเศษด้วยคู่นี้ แสดงกำหนดด้วยสามารถปฏิเสธ ด้วยคู่ที่ ๓. ก็ในที่นี้บทธรรมที่ควรแนะนำ ชื่อว่าทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ.
               บทว่า อญฺญมญฺญปริยนฺตฏฺฐายิโน ความว่า มีปกติตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน โดยตั้งซึมซาบทั้งบทธรรมที่ควรแนะนำและญาณ.
               บทว่า อาวชฺชนปฏิพทฺธา ความว่า อาศัยความนึกทางมโนทวาร. อธิบายว่า ย่อมรู้ในลำดับความนึกนั้นนั่นเอง.
               บทว่า อากงฺขปฏิพทฺธา ความว่า อาศัยความชอบใจ. อธิบายว่า ย่อมรู้ด้วยชวนะญาณในลำดับความนึก.
               บท ๒ บทนอกนี้ ท่านกล่าวเพื่อประกาศเนื้อความตามลำดับของบท ๒ บทเหล่านี้.
               ชื่อว่าอาสยะ ในบทว่า อาสยํ ชานาติ นี้ เพราะอรรถว่าเป็นที่พักพิงคืออาศัยของเหล่าสัตว์. บทนี้เป็นชื่อของสันดานที่ได้รับอบรมด้วยมิจฉาทิฏฐิบ้าง ด้วยสัมมาทิฏฐิบ้าง ด้วยกามเป็นต้นบ้าง ด้วยเนกขัมมเป็นต้นบ้าง
               ชื่อว่าอนุสัย เพราะอรรถว่านอนเนื่อง คือเป็นไปตามสันดานของสัตว์ คำนี้เป็นชื่อของกามราคะเป็นต้นที่มีกำลัง กถาว่าด้วยอนุสัยว่า อนุสยํ ชานาติ ดังนี้ กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า จริตํ ได้แก่ กุศลกรรมที่ทำไว้ในก่อน.
               บทว่า อธิมุตฺตึ ได้แก่ การสละจิตในกุศลก็ตาม ในอกุศลก็ตาม.
               บทว่า อปฺปรชกฺเข ความว่า ชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสน้อยในจักษุ เพราะอรรถว่ามีธุลีคือกิเลสมีราคะเป็นต้น ในจักษุที่สำเร็จด้วยปัญญาน้อย.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสน้อยในจักษุเพราะอรรถว่า มีธุลีคือกิเลสมีราคะเป็นต้นน้อย.
               บทว่า มหารชกฺเข ความว่า ชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสมากในญาณจักษุ เพราะอรรถว่ามีธุลีคือกิเลสมีราคะเป็นต้น ในจักษุที่สำเร็จด้วยญาณมาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสมากในจักษุ เพราะอรรถว่ามีธุลีคือกิเลสมีราคะเป็นต้นมาก.
               บทว่า ติกฺขินฺทฺริเย มุทินฺทฺริเย ความว่า ชื่อว่ามีอินทรีย์แก่กล้า เพราะอรรถว่ามีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นแก่กล้า. ชื่อว่ามีอินทรีย์อ่อน เพราะอรรถว่ามีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นอ่อน.
               บทว่า สฺวากาเร ทฺวากาเร ความว่า ชื่อว่ามีอาการดี เพราะอรรถว่ามีอาการคือโกฏฐาส มีศรัทธาเป็นต้น อันเป็นธรรมดี. ชื่อว่ามีอาการเลว เพราะอรรถว่ามีอาการคือโกฏฐาส มีอศรัทธาเป็นต้นอันเป็นธรรมน่าเกลียด น่าติเตียน.
               บทว่า สุวิญฺญาปเย ทุพฺพิญฺญาปเย ความว่า สัตว์เหล่าใดกำหนดเหตุการณ์ที่กล่าวแล้ว อาจให้รู้แจ้งได้โดยง่าย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าให้รู้แจ้งได้โดยง่าย. สัตว์ทั้งหลายที่ตรงกันข้ามกับสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าให้รู้แจ้งได้โดยยาก.
               บทว่า ภพฺพาภพฺเพ ได้แก่ เป็นภัพพสัตว์ และเป็นอภัพพสัตว์.
               ชื่อว่าเป็นภัพพสัตว์เพราะอรรถว่าเป็นคือเกิดในอริยชาติ เป็นคำปัจจุบันกาล ลงในอรรถว่าใกล้ที่กำลังเป็นไปอยู่. ชื่อว่าเป็นภัพพสัตว์ เพราะอรรถว่าจักเป็นหรือจักเกิด ความว่า เป็นภาชนะ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้สมควร คือถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งการแทงตลอดอริยมรรค สัตว์เหล่านั้นเป็นภัพพสัตว์. เหล่าสัตว์ที่เป็นคนละฝ่ายกับสัตว์ที่กล่าวแล้ว เป็นอภัพพสัตว์.
               บทว่า สตฺเต ปชานาติ ความว่า ย่อมทรงทราบซึ่งเหล่าสัตว์ผู้ข้องคือติดอยู่ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า สเทวโก โลโก เป็นต้นความว่าพร้อมกับเทวดาทั้งหลาย ชื่อสเทวกะ. พร้อมกับมาร ชื่อสมารกะ. พร้อมกับพรหม ชื่อสพรหมกะ. พร้อมกับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อสัสสมณพราหมณี. ชื่อปชา เพราะความเป็นหมู่สัตว์. พร้อมกับเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อสเทวมนุสสา.
               บทว่า ปชา นี้เป็นคำเรียกสัตวโลกโดยปริยาย บรรดาคำเหล่านั้น.
               ด้วยคำว่า สเทวกะ หมายเอาเทวดาชั้นกามาพจร ๕ ชั้น
               ด้วยคำว่า สมารกะ หมายเอาเทวดาชั้นกามาพจรที่ ๖
               ด้วยคำว่า สพรหมกะ หมายเอาพรหม มีพรหมกายิกะเป็นต้น.
               ด้วยคำว่า สัสสมณพราหมณี หมายเอาสมณพราหมณ์ที่เป็นข้าศึก เป็นปัจจามิตรต่อพระศาสนา และหมายเอาสมณพราหมณ์ผู้สงบบาปผู้ลอยบาปแล้ว.
               ด้วยคำว่า ปชา หมายเอาสัตวโลก.
               ด้วยคำว่า สเทวมนุสสา หมายเอาสมมติเทพและพวกมนุษย์ที่เหลือลงในที่นี้พึงทราบว่าโอกาสโลก ถือเอาด้วยบท ๓ บท สัตวโลกด้วยสามารถเป็นหมู่สัตว์ ถือเอาด้วยบท ๒ บทด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง อรูปาวจรโลก ถือเอาด้วยศัพท์ว่า สเทว. ฉกามาวจรโลกถือเอาด้วยศัพท์ว่า สมาร. รูปาวจรพรหมโลก ถือเอาด้วยศัพท์ว่า สพฺรหฺม. มนุษยโลกพร้อมกับสมมติเทพด้วยสามารถแห่งบริษัท ๔ หรือสัตวโลกที่เหลือลง ถือเอาด้วยศัพท์ว่า สัสสมณพราหมณี เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดอย่างเลิศลอยด้วยคำว่า สเทวกะ ในที่นี้ย่อมยังความเป็นไปในภายในพระพุทธญาณให้สำเร็จแก่โลกแม้ทั้งปวง จากนั้น ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า มารมีอานุภาพมาก เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นกามาพจร ๖ ชั้นเป็นผู้ยังอำนาจให้เป็นไป มารแม้นั้นจะเป็นไปในภายในพระพุทธญาณได้อย่างไร พระเถระเมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า สมารโก ดังนี้.
               อนึ่ง ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า พรหมมีอานุภาพมาก แผ่แสงสว่างไปในพันจักรวาล ๑ ด้วยนิ้วมือ ๑ นิ้ว ในพันจักรวาล ๒ ด้วยนิ้วมือ ๒ นิ้ว ฯลฯ ในพันจักรวาล ๑๐ ด้วยนิ้วมือ ๑๐ นิ้ว และเสวยสุขเกิดแต่ฌานสมาบัติที่ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า พรหมแม้นั้นจะเป็นไปในภายในพระพุทธญาณได้อย่างไร พระเถระเมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า สพฺรหฺมโก ดังนี้ จากนั้น ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่าสมณพราหมณ์เป็นอันมากที่เป็นข้าศึกต่อพระศาสนา สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นจะเป็นไปในภายในพระพุทธญาณได้อย่างไร พระเถระเมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณี ปชา ดังนี้. พระเถระ ครั้นประกาศความเป็นไปในภายในพระพุทธญาณของเหล่าผู้เลิศลอยอย่างนี้แล้ว ต่อนั้นเมื่อจะประกาศความเป็นไปในภายในพระพุทธญาณของสัตวโลกที่เหลือ ด้วยสามารถแห่งการกำหนดอย่างเลิศลอย รวมทั้งสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือลง จึงกล่าวว่า สเทวมนุสฺสา ดังนี้ ในข้อนี้มีลำดับอนุสนธิดังนี้ แต่โบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า บทว่า สเทวโก ได้แก่ สัตวโลกที่เหลือลงกับเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า สมารโก ได้แก่ สัตวโลกที่เหลือลงกับมาร.
               บทว่า สพฺรหฺมโก ได้แก่ สัตวโลกที่เหลือลงกับพรหมทั้งหลาย.
               พระเถระใส่เหล่าสัตว์ผู้เข้าถึงภพ ๓ แม้ทั้งหมดเข้าในบท ๓ บท ด้วยอาการ ๓ แล้วจึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณี ปชา สเทวมนุสฺสา เพื่อถือเอาด้วยอาการ ๒ อีก ธาตุ ๓ นั่นแลย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยอาการนั้นๆ ด้วยบททั้งหลาย ๕ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อนฺตมโส ความว่า โดยที่สุดเบื้องบน.
               ในบทว่า ติมิติมิงฺคลํ นี้ มัจฉาชาติชนิดหนึ่งชื่อติมิ. มัจฉาชาติชนิดหนึ่งชื่อติมิงคละ ตัวใหญ่กว่าปลาติมินั้น สามารถกลืนกินปลาติมิได้. มัจฉาชาติชนิดหนึ่งชื่อติมิติมิงคละ ตัวยาวประมาณ ๕๐๐ โยชน์ สามารถกลืนกินแม้ปลาติมิงคละได้. ในที่นี้พึงทราบว่าท่านทำเอกวจนะด้วยศัพท์ว่าชาติ.
               ในบทว่า ครุฬํ เวนเตยฺยํ นี้ :-
               บทว่า ครุโฬ เป็นชื่อโดยชาติ.
               บทว่า เวนเตยฺโย เป็นชื่อโดยโคตร.
               บทว่า ปเทเส ได้แก่ เอกเทส.
               บทว่า สารีปุตฺตสฺมา พึงทราบว่าท่านกล่าวถือเอาพระธรรมเสนาบดีเถระทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยว่า พระสาวกที่เหลือทั้งหลายที่มีปัญญาเสมอด้วยพระธรรมเสนาบดีเถระ ไม่มี เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นเลิศ และในอรรถกถาท่านกล่าวว่า :-
                         ก็เหล่าสัตว์อื่นๆ บรรดามี เว้นพระโลกนาถเสีย
               ย่อมมีปัญญาไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของพระสารีบุตร.

               บทว่า ผริตฺวา ความว่า พระพุทธญาณถึงปัญญาแม้ของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง คือแผ่คลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงเหล่านั้นตั้งอยู่ตามฐาน.
               บทว่า อภิภวิตฺวา ความว่า ก้าวล่วงปัญญาแม้ของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง ครอบงำบทธรรมที่ควรแนะนำทั้งหมดว่า แม้เป็นวิสัยของเทวดา และมนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่ แต่ปาฐะในปฏิสัมภิทามรรคว่า อติฆํสิตฺวา ความว่า บด ขัดสี พระเถระแสดงเหตุที่ประจักษ์ของการแผ่คลุมตั้งอยู่อย่างนี้ ด้วยบทว่า เยปิ เต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิตา ความว่า ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า นิปุณา ความว่า ละเอียดอ่อน คือสามารถแทงตลอดในระหว่างอรรถที่สุขุมของผู้มีปัญญาสุขุม.
               บทว่า กตกรปฺปวาทา ความว่า รู้วาทะของผู้อื่น และร่วมกับผู้อื่นสนทนากัน.
               บทว่า วาลเวธิรูปา ความว่า เช่นกับนายขมังธนูผู้ยิงขนหางสัตว์.
               บทว่า โวภินฺทนฺตา มญฺเญ จรนฺติ ปญฺญาคเตน ทิฏฺฐิคตานิ ความว่า เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของคนเหล่าอื่น แม้ละเอียดดังขนหางสัตว์. ด้วยปัญญาของตน.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาคตะคือปัญญานั่นแหละ ทิฏฐิคตะคือทิฏฐินั่นแหละ ดุจในประโยคว่า คูถมูตร เป็นต้น.
               บทว่า ปญฺเห อภิสงฺขริตฺวา อภิสงฺขริตฺวา ความว่า แต่งคำถาม ๒ บทบ้าง ๓ บทบ้าง ๔ บทบ้าง กล่าว ๒ ครั้งเพื่อรวบรวมปัญหาทั้งหมด เพราะปัญหาเหล่านั้นมากเหลือเกิน ปาฐะที่เหลือว่า ข้อความที่ลี้ลับและปกปิดบ้าง.
               เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นวินัยของบัณฑิตเหล่านั้น อย่างนั้นแล้วมีพระพุทธประสงค์อย่างนี้ว่าจงถามปัญหาที่ตนปรุงแต่งเถิด. บัณฑิตเหล่านั้นจึงทูลถามปัญหา แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ประทานโอกาสเพื่อถามแก่คนเหล่าอื่นเลย ทรงแสดงธรรมแก่พวกที่เข้าเฝ้าอยู่ เหมือนอย่างที่กล่าวว่าบัณฑิตเหล่านั้นปรุงแต่งปัญหาด้วยคิดว่า พวกเราจักเข้าเฝ้าพระสมณโคดมทูลถามปัญหานี้ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้แก่พวกเราไซร้ พวกเราจักยกวาทะของพระองค์เสียอย่างนี้
               แม้ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้แก่พวกเราไซร้ พวกเราก็จักยกวาทะของพระองค์เสียแม้อย่างนี้ บัณฑิตเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ พระสมณโคดมทรงชี้ชวน ปลุก ปลอบบัณฑิตเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา บัณฑิตเหล่านั้นที่พระสมณโคดมทรงชี้ชวน ปลุกปลอบด้วยธรรมีกถา ย่อมไม่ทูลถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย จักยกวาทะของพระองค์แต่ไหน ย่อมเป็นสาวกเลื่อมใสต่อพระสมณโคดมโดยแท้ทีเดียว
               หากจะถามว่าเพราะเหตุไรจึงไม่ทูลถามปัญหา
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของบริษัทแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ลำดับนั้นทรงทราบว่า บัณฑิตเหล่านี้มาทำปัญหามีรหัสลี้ลับเป็นเครื่องผูกมัด บัณฑิตเหล่านั้นยังไม่ทันถามเลย พระองค์ทรงทราบว่า ในการถามปัญหามีโทษเท่านี้ ในการวิสัชนามีโทษเท่านี้ ในอรรถ บทอักษรมีโทษเท่านี้ และทรงทราบว่า เมื่อจะถามปัญหานี้ พึงถามอย่างนี้ เมื่อจะวิสัชนา พึงวิสัชชนาอย่างนี้ จึงทรงใส่ปัญหาทั้งหลายที่พวกบัณฑิตนำมาทำเป็นเครื่องผูกมัดพระองค์ เข้าไปในระหว่างธรรมกถา แสดงด้วยประการฉะนี้.
               บัณฑิตเหล่านั้นคิดว่า เป็นความประเสริฐของพวกเราหนอที่พวกเราไม่ทูลถามปัญหาเหล่านี้ แม้ถ้าพวกเราทูลถาม พระสมณโคดมพึงทำให้พวกเราตั้งตัวไม่ติดซัดทิ้งไป ดังนี้ ย่อมพากันดีใจ.
               อนึ่ง ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรงแผ่พระเมตตาไปยังบริษัท มหาชนย่อมมีจิตเลื่อมใสในพระทศพล ด้วยทรงแผ่พระเมตตา.
               ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยรูป สมบูรณ์ด้วยทัศนะ มีพระสุรเสียงไพเราะ พระชิวหาอ่อน ริมฝีพระโอษฐ์สนิทดี ตรัสพระธรรมเหมือนรดหทัยด้วยน้ำอมฤต.
               ในการนั้น พวกบัณฑิตผู้มีจิตเลื่อมใสด้วยการแผ่พระเมตตาเหล่านั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราจักไม่อาจจับคู่เป็นข้าศึกกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสกถาไม่เป็นที่น่าสงสัย กถาไม่เป็นโมฆะ กถาเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ จึงไม่ทูลถามปัญหาด้วยความเลื่อมใสของตน ดังนี้แล.
               บทว่า กถิตา จ วิสชฺชิตา จ ความว่า ปัญหาเหล่านั้นย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วทีเดียว ด้วยการเปล่งพระสุรเสียงถึงปัญหาที่พวกบัณฑิตไม่ทูลถาม ว่า พวกท่านจงถามอย่างนี้ และปัญหาเหล่านั้นย่อมเป็นอันทรงวิสัชนาแล้วทีเดียวโดยประการที่ควรจะวิสัชนา.
               บทว่า นิทฺทิฏฺฐการณา ความว่า ปัญหาเหล่านั้นย่อมมีเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไขและทรงใส่เข้าแล้ว ด้วยทรงวิสัชนากระทำให้มีเหตุอย่างนี้ว่า ด้วยการณ์นี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอย่างนี้.
               บทว่า เต ภควโต สมฺปชฺชนฺติ ความว่า พวกบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์เป็นต้น ที่ถูกชักชวนเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นสาวกเลื่อมใสบ้าง เป็นอุบาสกเลื่อมใสบ้าง ด้วยการวิสัชนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล. มีอธิบายว่า ย่อมถึงสมบัติของสาวกบ้าง สมบัติของอุบาสกบ้าง.
               บทว่า อถ ลงในอรรถว่า ไม่มีระหว่าง. ความว่า ใกล้ที่สุดต่อสมบัติที่ทรงใส่เข้าแก่บัณฑิตเหล่านั้นทีเดียว.
               บทว่า ตตฺถ ความว่า ในที่นั้นหรือในอธิการนั้น.
               บทว่า อติโรจติ ความว่า ย่อมทรงรุ่งเรืองสว่างไสวเหลือเกิน.
               บทว่า ยทิทํ ปญฺญาย ความว่า พระปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ใด ด้วยพระปัญญานั้น. อธิบายว่า และพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรุ่งเรืองยิ่ง.
               อิติ ศัพท์ลงในอรรถว่า เหตุ ความว่า เพราะเหตุนั้น.
               คำที่เหลือปรากฏแล้วในที่ทั้งปวงนั่นเทียวแล.


               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถาปสูรสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๘. ปสูรสุตตนิเทสนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 224อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 268อ่านอรรถกถา 29 / 321อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=3568&Z=4022
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=6518
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=6518
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :