ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               บทว่า ทฺวตฺตึสาย ติรจฺฉานกถาย คือ ไม่ประกอบด้วยดิรัจฉานกถา ๓๒ ประการของสัตว์ผู้พ้นจากสวรรค์.
               บทว่า ทส กถาวตฺถูนิ กถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือเหตุอันเป็นวัตถุแห่งกถาอาศัยวิวัฏฏะ (นิพพาน) ๑๐ ประการมีความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยเป็นต้น.
               บทว่า อปฺปิจฺโฉ มีความปรารถนาน้อย ในบทว่า อปฺปิจฺฉกถํ นี้ ได้แก่ เว้นความปรารถนา ไม่มีความปรารถนา ไม่มีความอยาก.
               อันที่จริงพยัญชนะในบทว่า อปฺปิจฺโฉ นี้ดูเหมือนจะยังมีพยัญชนะเหลืออยู่. แต่อรรถไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เพราะพระขีณาสพไม่มีความปรารถนาแม้แต่น้อย.
               อีกอย่างหนึ่ง ในความปรารถนานี้พึงทราบประเภทดังนี้ คือความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ ความปรารถนาน้อย.
               ในประเภทความปรารถนาเหล่านั้นพึงทราบดังนี้
               ความปรารถนาลาภของผู้อื่นเพราะไม่อิ่มในลาภของตน ชื่อว่าปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน. ผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตนนั้น แม้ขนมสุกในภาชนะหนึ่งที่เขาใส่บาตรของตน ก็ปรากฏเหมือนยังไม่สุกดีและเหมือนเล็กน้อย. วันรุ่งขึ้นเขาใส่บาตรของผู้อื่น ก็ปรากฏเหมือนสุกดีแล้วและเหมือนมาก. ความสรรเสริญในคุณอันไม่มี และความไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่ามีความปรารถนาลามก. ความปรารถนาลามกนั้นมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธาปรารถนาว่า ขอให้ชนรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา. บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความหลอกลวง. ความสรรเสริญคุณอันมีอยู่ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่ามีความปรารถนาใหญ่. แม้ความปรารถนาใหญ่นั้นก็มาแล้วโดยนัยนี้ว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศีล ดังนี้ บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาใหญ่นั้นเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยท่อนผ้า, แม้มารดาผู้ให้กำเนิดก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งความคิดของเขาได้.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   กองไฟ มหาสมุทร และบุคคลผู้มีความปรารถนา
                         ใหญ่ ชนทั้งหลายให้ปัจจัยจนเต็มเกวียน แม้ทั้งสาม
                         ประเภทนั้นก็หาอิ่มไม่.

               ส่วนความเป็นผู้ปิดบังคุณอันมีอยู่ และรู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่ามีความปรารถนาน้อย. บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาน้อยนั้น เพราะประสงค์จะปกปิดคุณแม้ที่มีอยู่ในตน ถึงมีศรัทธา ก็ไม่ปรารถนาว่าขอชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา ถึงมีศีล เป็นผู้สงัด เป็นพหูสูต เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เป็นผู้มีปัญญาเป็นพระขีณาสพก็ไม่ปรารถนาว่าชนจงรู้จักเราว่า เป็นพระขีณาสพ เหมือนพระมัชฌันติกเถระฉะนั้น.
               ก็แลภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ ย่อมยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้ถาวร ยังจิตของทายกให้ยินดี. มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในวัตรของภิกษุนั้นย่อมถวายมาก โดยอาการที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย จึงรับแต่น้อย.
               ยังมีความปรารถนาน้อยอื่นอีก ๔ อย่าง คือ ปรารถนาน้อยในปัจจัย ปรารถนาน้อยในธุดงค์ ปรารถนาน้อยในปริยัติ ปรารถนาน้อยในอธิคม (ความสำเร็จ, การบรรลุ).
               ใน ๔ อย่างนั้น ความปรารถนาน้อยในปัจจัย ๔ ชื่อว่าปรารถนาน้อยในปัจจัย. ภิกษุใดรู้กำลังของทายก รู้กำลังของไทยธรรม รู้กำลังของตน ผิว่า ไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะให้น้อยย่อมรับแต่น้อยด้วยกำลังของทายก. ไทยธรรมมีน้อย ทายกประสงค์จะให้มาก ย่อมรับแต่น้อยด้วยกำลังของไทยธรรม. แม้ไทยธรรมก็มีมาก แม้ทายกก็ประสงค์จะให้มาก รู้กำลังของตนย่อมรับพอประมาณเท่านั้น.
               ไม่ประสงค์จะให้รู้ว่าการสมาทานธุดงค์มีอยู่ในตน ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในธุดงค์.
               ส่วนภิกษุใดไม่ประสงค์จะให้รู้ว่าตนเป็นพหูสูต ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในปริยัติ. ส่วนภิกษุใดได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ปรารถนา จะให้รู้ว่าตนเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในอธิคม.
               ส่วนพระขีณาสพละความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความปรารถนาน้อยด้วยความบริสุทธิ์ คือไม่โลภอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความปรารถนาโดยประการทั้งปวง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงโทษในธรรมเหล่านั้นว่า
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ควรละเสีย ทรงแสดงว่า ควรประพฤติสมาทานความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเห็นปานนี้ ชื่อว่าตรัส อปฺปิจฺฉกถา ความปรารถนาน้อย.
               เราจักแสดงอรรถที่ต่างกันในบทเป็นต้นว่า สนฺตุฏฺฐิกถํ กล่าวถึงสันโดษ. แต่พึงทราบการประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สนฺตุฏฺฐิกถํ คือ กถาอิงความยินดีปัจจัยตามมีตามได้.
               ก็สันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง. ๑๒ อย่างนั้นอย่างไร.
               คือสันโดษในจีวรมี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ๑ ยถาพลสันโดษ ๑ ยถาสารุปปสันโดษ ๑. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้นก็เหมือนกัน จะพรรณนาถึงประเภทของสันโดษนั้นต่อไป.
               ภิกษุในศาสนานี้ได้จีวรดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ภิกษุนั้นใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายินดีตามได้ในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาลาภสันโดษ).
               อนึ่ง ภิกษุใดปกติมีกำลังน้อย หรือถูกอาพาธและชราครอบงำ ห่มจีวรหนักย่อมลำบาก ภิกษุนั้นแลกเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน แล้วใช้สอยจีวรผืนที่เบาเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่ายินดีตามกำลังในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาพลสันโดษ).
               ภิกษุรูปอื่นได้ปัจจัยประณีต ภิกษุนั้นได้จีวรมีค่ามาก มีจีวรผ้าไหมเป็นต้นผืนใดผืนหนึ่งหรือจีวรหลายผืนแล้วถวายว่า ผืนนี้สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน ผืนนี้สมควรแก่ท่านผู้เป็นพหูสูต ผืนนี้สมควรแก่ภิกษุอาพาธ ผืนนี้สมควรแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ดังนี้แล้วเลือกจีวรเก่าๆ ของภิกษุเหล่านั้น หรือจีวรที่เปื้อนจากกองหยากเยื่อเป็นต้น เอาจีวรเหล่านั้นใช้เป็นสังฆาฏิ ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่ายินดีตามความสมควรในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาสารุปปสันโดษ).
               ส่วนภิกษุในศาสนานี้ได้บิณฑบาตเศร้าหมองก็ตาม ประณีตก็ตาม ภิกษุนั้นยังชีวิตให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายินดีตามได้ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้บิณฑบาตอันแสลงหรือผิดสำแดงของตน ฉันบิณฑบาตนั้นแล้วไม่สบาย ภิกษุนั้นถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วฉันโภชนะเป็นที่สบายจากมือของภิกษุนั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรม ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่ายินดีตามกำลังในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุรูปอื่นได้บิณฑบาตอันประณีตมาก ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย ผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรนั้น หรือเที่ยวบิณฑบาต แล้วฉันอาหารสำรวมที่เหลือของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่ายินดีตามสมควรในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ได้เสนาสนะที่ชอบใจก็ตาม ไม่ชอบใจก็ตาม ภิกษุนั้นไม่เกิดโสมนัส ไม่เกิดขุ่นข้องด้วยเสนาสนะนั้น ย่อมยินดีตามได้ แม้โดยที่สุดเครื่องลาดทำด้วยหญ้า. นี้ชื่อว่ายินดีตามได้ในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้เสนาสนะอันทำลายสุขภาพก็ตาม ทำให้เจ็บป่วยก็ตาม เมื่ออยู่ในเสนาสนะใดไม่สบาย ภิกษุนั้นให้เสนาสนะนั้น แก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้อยู่ในเสนาสนะอันเป็นที่สบายในสำนักของภิกษุนั้น ก็เป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามกำลังในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุรูปอื่นมีบุญมาก ได้เสนาสนะอันประณีตมาก มีถ้ำ มณฑปและเรือนยอดเป็นต้น ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน เป็นพหูสูต มีลาภน้อย ผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรเหล่านั้นแล้ว แม้จะอยู่ในที่ไหนๆ ก็ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่ายินดีตามสมควรในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               แม้ภิกษุใดสำเหนียกอยู่ว่า ชื่อว่าเสนาสนะดีเกินไป เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่ง ณ เสนาสนะนั้นย่อมถูกความหลับครอบงำ ย่อมก้าวลงสู่ความง่วงเหงาหาวนอน ความวิตกลามกย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ตื่นอยู่อีกแล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้มาถึงแล้ว ภิกษุนั้นปฏิเสธเสนาสนะนั้นแล้ว แม้อยู่ในกลางแจ้งและโคนต้นไม้เป็นต้น ก็เป็นผู้สันโดษแม้นี้ก็ชื่อว่ายินดีตามสมควรในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุได้เภสัชเศร้าหมองก็ตาม ภิกษุนั้นได้เภสัชใดยินดีด้วยเภสัชนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามได้ในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุใดต้องการน้ำมันแต่ได้น้ำอ้อย ภิกษุนั้นถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วรับน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาอย่างอื่น แม้เอาน้ำมันและน้ำอ้อยเหล่านั้นทำเภสัช ก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน. นี้ชื่อว่ายินดีตามกำลังในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               ภิกษุรูปอื่นมีบุญมากได้เภสัชอันประณีต มีน้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย ผู้อาพาธเหมือนถวายจีวรนั้นแล้ว แม้ยังชีวิตของภิกษุเหล่านั้นรูปใดๆ ที่มาแล้วๆ ให้เป็นไปก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน.
               อนึ่ง ภิกษุใดอันภิกษุตั้งของหวาน ๔ อย่างไว้ในภาชนะเดียวกันแล้วกล่าวว่า พระคุณเจ้าจงรับสมอดองด้วยน้ำมูตรในภายในภาชนะหนึ่งที่พระคุณเจ้าปรารถนาเถิด หากโรคของภิกษุนั้นสงบด้วยขนานใดขนานหนึ่งในยาเหล่านั้น ห้ามของหวาน ๔ ว่า ชื่อว่าสมอดองด้วยน้ำมูตร อันพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญ แล้วเอาสมอดองด้วยน้ำมูตรทำเภสัช ย่อมเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งทีเดียว. นี้ชื่อว่ายินดีตามสมควรในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               บรรดาสันโดษแต่ละ ๓ อย่าง ในปัจจัยทั้งหลาย เฉพาะอย่างเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร) เป็นเลิศ. พระอรหันต์เป็นผู้สันโดษด้วยสันโดษแม้ ๓ อย่างเหล่านี้ในปัจจัยอย่างหนึ่งๆ.
               บทว่า ปวิเวกกถํ ได้แก่ กถาเกี่ยวกับความสงัด.
               จริงอยู่ ความสงัดมี ๓ อย่าง คือ สงัดกาย ๑ สงัดจิต ๑ สงัดจากอุปธิ (กิเลส) ๑.
               ในความสงัด ๓ อย่างนั้น รูปหนึ่งเดิน รูปหนึ่งยืน รูปหนึ่งนั่ง รูปหนึ่งนอน รูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาต รูปหนึ่งก้าวไป รูปหนึ่งเดินจงกรม รูปหนึ่งเที่ยวไป รูปหนึ่งอยู่ นี้ชื่อว่ากายปวิเวก (สงัดกาย). สมาบัติ ๘ ชื่อว่าจิตตปวิเวก (สงัดจิต). นิพพานชื่อว่าอุปธิปวิเวก (สงัดจากกิเลส).
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กายปวิเวกของผู้มีกายตั้งอยู่ในความสงัด จิตตปวิเวกของผู้ยินดีในเนกขัมมะแล้ว อุปธิปวิเวกของบุคคลผู้ไม่มีอุปธิ ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง ถึงนิพพานแล้วดังนี้.
               สังสัคคะ (ความเกี่ยวข้อง) ในบทว่า อสํสคฺคกถํ (กถาเรื่องการไม่เกี่ยวข้องกัน) นี้มีอยู่ ๕ อย่าง คือ สวนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการฟัง) ๑ ทัสสนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการเห็น) ๑ สมุลปนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการสนทนา) ๑ สัมโภคสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการบริโภคร่วมกัน) ๑ กายสังสัคคะ (เกี่ยวข้องทางกาย) ๑.
               ในสังสัคคะ ๕ อย่างนั้น ภิกษุในศาสนานี้ได้ฟังมาว่า ที่บ้านหรือนิคมโน้นมีหญิงหรือหญิงวัยรุ่น มีรูปสวย น่าดู น่ารัก ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ดังนี้ ภิกษุนั้นได้ฟังดังนั้นแล้วตกหลุมรัก ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ หมดกำลังที่จะเล่าเรียน เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เพราะเหตุนั้น ราคะจึงเกิดด้วยวิถีแห่งโสตวิญญาณของภิกษุนั้น ผู้ฟังซึ่งสมบัติมีรูปเป็นต้นที่คนอื่นบอกอย่างนี้ หรือฟังเสียงแม้หัวเราะและรำพันด้วยตนเอง ชื่อว่าสวนสังสัคคะ.
               ภิกษุในศาสนานี้ไม่ได้ฟัง แต่เห็นเองซึ่งหญิงหรือหญิงวัยรุ่นรูปสวย น่าดู น่ารัก ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ภิกษุนั้นเห็นเข้าแล้วตกหลุมรัก ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ หมดกำลังที่จะเล่าเรียน เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เพราะเหตุนั้น ราคะจึงเกิดด้วยวิถีแห่งจักขุวิญญาณของภิกษุผู้แลดูรูปอันเป็นข้าศึกอย่างนี้ ชื่อว่าทัสสนสังสัคคะ.
               อนึ่ง ราคะเกิดด้วยการสนทนาปราศรัยกันและกัน ชื่อว่าสมุลปนสังสัคคะ.
               ราคะเกิดด้วยภิกษุรับของของภิกษุณี หรือภิกษุณีรับของของภิกษุแล้วบริโภคร่วมกัน ชื่อว่าสัมโภคสังสัคคะ.
               อนึ่ง ราคะเกิดด้วยการจับมือเป็นต้น ชื่อว่ากายสังสัคคะ.
               พระอรหันต์ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ๔ ด้วยสังสัคคะ ๕ เหล่านี้ พ้นจากการยึดถือและพ้นจากการเกี่ยวข้อง กล่าวสรรเสริญคุณของการไม่เกี่ยวข้อง ชื่อว่ากล่าวอสังสัคกถา.
               ในบทว่า วีริยารมฺภกถา กถาปรารภความเพียรนี้ มีความว่า
               ภิกษุใดเป็นผู้ประคองความเพียรไว้ เป็นผู้มีความเพียรทางกายและทางจิตบริบูรณ์ ในเวลาเดิน ก็ไม่ให้กิเลสเกิด ในเวลายืนนั่งนอน ก็ไม่ให้กิเลสเกิด ประพฤติดุจจับบีบงูเห่าด้วยมนต์ และดุจเหยียบศัตรูที่คอ กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ปรารภความเพียรเช่นนั้น ชื่อว่ากล่าววีริยารัมภกถา.
               บทว่า สีลํ ในบทว่า สีลกถํ กถาว่าด้วยศีลนี้ ได้แก่ จตุปาริสุทธศีล.
               บทว่า สมาธิ ได้แก่ สมาบัติ ๘ อันมีวิปัสสนาเป็นบาท.
               บทว่า ปญฺญา ได้แก่ ญาณอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ วิมุตติอันเป็นอรหัตผล.
               บทว่า วิมุตฺติญาณทสฺสนํ ได้แก่ ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง.
               เมื่อจะประกาศคุณของศีลเป็นต้น ชื่อว่ากล่าวกถาเรื่องศีลเป็นต้น.
               บทมีอาทิว่า สติปฏฺฐานกถํ อันเป็นบทสุดท้ายของบทว่า สงฺคชาลมติจฺจ โส มุนิ ก้าวล่วงธรรมเครื่องข้อง และตัณหาเพียงดังว่าตาข่าย บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นมุนี พึงทราบโดยทำนองดังกล่าวแล้วในบทก่อนๆ.
               บทว่า นิราสตฺตี บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้อง คือไม่มีตัณหา.
               บทว่า วิเวกทสฺสี ผสฺเสสุ ผู้มีปกติเห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย ได้แก่เห็นวิเวก ในความเป็นตนเป็นต้น ในจักษุสัมผัสเป็นต้นอันเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า ทิฏฺฐีสุ จ น นิยฺยติ และไม่ถูกนำไปในเพราะทิฏฐิทั้งหลาย ได้แก่ไม่ถูกนำไปในเพราะทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒.
               บทว่า วิปริณตํ วา วตฺถุํ น โสจติ ไม่เศร้าโศกถึงวัตถุที่แปรปรวน คือละภาวะเดิมแล้วย่อมไม่ถึงความเศร้าโศกในวัตถุไรๆ ที่เสื่อมไป.
               บทว่า วิปริณตสฺมึ วา คือ เมื่อวัตถุแปรปรวนไปแล้ว.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ได้แก่ ผัสสะเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ ทำจักษุให้เป็นวัตถุ ชื่อว่าจักขุสัมผัส.
               แม้ในผัสสะที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ในบทนี้ผัสสะที่มีในก่อน ก็มีจักขุประสาทเป็นต้นเป็นวัตถุทั้งนั้น. มโนสัมผัสมีหทยะเป็นวัตถุก็มี ไม่มีวัตถุก็มี ทั้งหมดเป็นผัสสะเป็นไปในภูมิ ๔.
               บทว่า อธิวจนสมฺผสฺโส คือ เป็นชื่อของสัมผัสนั้นโดยปริยาย เพราะอรูปขันธ์ ๓ อย่างหมุนไปตามข้างหลังเอง ย่อมทำชื่อของสัมผัสที่เกิดพร้อมกับตนว่าอธิวจนสัมผัส.
               บทว่า ปฏิฆสมฺผสฺโส ปฏิฆสัมผัสโดยนิปริยาย สัมผัสเป็นไปในปัญจทวาร ชื่อปฏิฆสัมผัส สัมผัสเป็นไปในมโนทวาร ชื่อว่าอธิวจนสัมผัส.
               บทว่า สุขเวทนีโย ผสฺโส ได้แก่ ผัสสะอันเกิดขึ้นเกื้อกูลแก่สุขเวทนา.
               แม้ในสัมผัสทั้งสองนอกจากนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กุสโล ผสฺโส ผัสสะอันเป็นกุศล ได้แก่ผัสสะอันเกิดพร้อมกับกุศลจิต ๒๑.
               บทว่า อกุสโล ผัสสะเป็นอกุศล ได้แก่ผัสสะอันเกิดพร้อมกับอกุสลจิต ๑๒.
               บทว่า อุพฺยากโต ผัสสะอันเป็นอัพยากฤต ได้แก่ผัสสะอันเกิดพร้อมกับอัพยากตจิต ๕๖.
               บทว่า กามาวจโร ผัสสะอันเป็นกามาวจร ได้แก่ผัสสะอันเกิดพร้อมกับกามาวจรจิต ๕๔.
               บทว่า รูปาวจโร ผัสสะอันเป็นรูปาวจร ได้แก่ผัสสะอันเกิดพร้อมกับรูปาวจรจิต ๑๕ มีกุศลจิตเป็นต้น.
               บทว่า อรูปาวจโร ผัสสะอันเป็นอรูปาวจร ได้แก่ผัสสะที่สัมปยุตด้วยอรูปาวจรจิต ๑๒ ด้วยอำนาจแห่งกุศลจิตและอัพยากตจิต.
               บทว่า สุญฺญโต ผัสสะอันเป็นสุญญตะ ได้แก่มรรคอันเกิดขึ้นแก่ผู้เห็นแจ้งด้วยอำนาจแห่งอนัตตานุปัสสนา ชื่อว่าสุญญตะ ความเป็นของสูญ. ผัสสะอันเกิดพร้อมกับมรรคนั้น ชื่อว่าสุญญตผัสสะ.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทว่า อนิมิตฺโต ผัสสะอันเป็นอนิมิตตะนี้ ได้แก่มรรคอันเกิดขึ้นแก่ผู้เห็นแจ้งด้วยอำนาจแห่งอนิจจานุปัสสนา ชื่อว่าอนิมิตตะ (หานิมิตมิได้).
               บทว่า อปฺปณิหิโต ผัสสะอันเป็นอัปปณิหิตะ (ไม่มีที่ตั้ง) ได้แก่มรรคอันเกิดขึ้นแก่ผู้เห็นแจ้งด้วยอำนาจทุกขานุปัสสนา ชื่อว่าอัปปณิหิตะ.
               บทว่า โลกิโย ผัสสะอันเป็นโลกิยะ คือวัฏฏะท่านเรียกว่าโลก เพราะอรรถว่าเสื่อมโทรมแตกสลายไป ธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นโลกิยะเพราะประกอบอยู่ในโลกด้วยความนับเนื่องกันในวัฏฏะนั้น.
               บทว่า โลกุตฺตโร ผัสสะอันเป็นโลกุตระ ได้แก่ผัสสะ ชื่อว่าโลกุตระเพราะข้ามพ้นไปจากโลก. ผัสสะอันเป็นโลกุตระ เพราะไม่นับเนื่องในโลก.
               บทว่า อตฺเตน วา คือ จากความเป็นตนบ้าง.
               บทว่า อตฺตนิเยน วา คือ จากธรรมที่เนื่องในตนบ้าง.
               บทว่า ปฏิลีโน บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น คือปราศจากอกุศลธรรมนั้น เพราะละราคะเป็นต้นได้.
               บทว่า อกุหโก ไม่หลอกลวง คือไม่ทำให้พิศวงด้วยวัตถุเป็นเครื่องหลอกลวง ๓ อย่าง.
               บทว่า อปิหาลุ คือ มีปกติไม่ทะเยอทะยาน. ท่านอธิบายว่า เว้นจากความปรารถนาและความอยาก.
               บทว่า อมจฺฉรี ไม่ตระหนี่ คือเว้นจากความตระหนี่ ๕ อย่าง.
               บทว่า อปฺปคพฺโภ ผู้ไม่คะนอง คือเว้นจากความเป็นผู้คะนองกายเป็นต้น.
               บทว่า อเชคุจฺโฉ ไม่เป็นที่รังเกียจ คือไม่น่ารังเกียจ ชื่นตา ชื่นใจ เพราะสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น.
               บทว่า เปสุเณยฺเย จ โน ยุโต ไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือไม่ประกอบในความส่อเสียดอันควรนำเข้าไปด้วยอาการสองอย่าง.
               บทว่า ราคสฺส ปหีนตฺตา เพราะละเสียซึ่งราคะ คือเพราะละราคกิเลสได้ด้วยอรหัตมรรค.
               บทว่า อสฺมิมาโน ปหีโน โหติ เป็นผู้ละความถือตัวว่าเป็นเรา คือละความหยิ่งและความถือตัวว่าเป็นเราได้โดยเด็ดขาด.
               บทว่า ตีณิ กุหนวตฺถูนิ วัตถุแห่งความหลอกลวง ๓ อย่าง คือเหตุให้เกิดความพิศวง ๓ อย่าง.
               ในบทมีอาทิว่า ปจฺจยปฏิเสวนสงฺขาตํ กุหนวตฺถุํ เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยการเสพปัจจัย มีความว่า เมื่อภิกษุได้รับนิมนต์ด้วยจีวรเป็นต้น ทั้งมีความต้องการจีวรนั้นเหมือนกัน อาศัยความปรารถนาลามก และรู้ว่าคหบดีเหล่านั้นมีศรัทธาตั้งมั่นด้วยดีในตนเพราะการปฏิเสธ เมื่อคหบดีเหล่านั้นคิดว่า น่าอัศจรรย์ใจ พระคุณเจ้ามีความปรารถนาน้อย ไม่ปรารถนาจะรับอะไรๆ อีก พึงเป็นสิ่งที่เราได้ดีแล้วหนอ หากพระคุณเจ้าจะพึงรับอะไรๆ แม้มีประมาณน้อยดังนี้ แสดงความประสงค์จะอนุเคราะห์เขาแล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้พิศวงด้วยการรับ อันเป็นเหตุให้เขานำของเข้าไปถวายเป็นเกวียนๆ.
               พึงทราบว่า นี้คือเรื่องหลอกลวงกล่าวด้วยการเสพปัจจัย.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุมีความปรารถนาลามกทำให้พิศวงด้วยอิริยาบถอันแสดงความประสงค์จะยกย่อง พึงทราบว่า นี้คือเรื่องการหลอกลวงอาศัยอิริยาบถ.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุมีความปรารถนาลามก ทำให้พิศวงด้วยอาการนั้นๆ โดยการกล่าวแสดงถึงการบรรลุอุตริมนุสธรรม พึงทราบว่า นี้คือเรื่องหลอกลวงกล่าวด้วยการพูดเลียบเคียง.
               ในบทว่า เรื่องการหลอกลวงกล่าวด้วยการเสพปัจจัยเป็นไฉนนี้ พึงทราบว่า ได้แก่การหลอกลวงกล่าวด้วยการเสพปัจจัย คือกล่าวอย่างนี้ว่าการซ่องเสพปัจจัย.
               บทว่า อิธ คหปติกา ภิกฺขุํ นิมนฺเตนฺติ คือ คหบดีในโลกนี้ย่อมนิมนต์ภิกษุ. ปาฐะอย่างนี้เหมือนกัน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า นิมนฺเตนฺติ บ้าง วทนฺติ บ้าง.
               บทว่า จีวรํ ปจฺจกฺขาติ บอกคืนจีวร คือปฏิเสธจีวร.
               บทว่า เอตํ สารุปฺปํ ยํ สมโณ ข้อนั้นเป็นการสมควรแก่สมณะ คือข้อนี้สมณะทำการทรงจีวรไว้เป็นการสมควร คือเหมาะสม.
               บทว่า ปาปณิกา วา นนฺตกานิ ผ้าเก่าจากตลาด คือผ้าขี้ริ้ว เว้นผ้าใหม่อันตกอยู่ที่ประตูตลาด.
               บทว่า อุจฺจินิตฺวา คือ เก็บเอามา.
               บทว่า อุญฺฉาจริยาย คือ ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา.
               บทว่า ปิณฺฑิยาโลเปน ได้แก่ ข้าวทำเป็นก้อนได้มา.
               บทว่า ปูติมุตฺเตน วา ด้วยน้ำมูตรเน่า คือน้ำมูตรโค.
               บทว่า โอสธํ กเรยฺย คือ พึงทำเป็นยา.
               บทว่า ตทุปาทาย คือ ตั้งแต่นั้นมา.
               บทว่า ธุตวาโท มีวาทะกำจัดกิเลสคือกล่าวคุณแห่งธุดงค์.
               บทว่า ภิยฺโย ภิยฺโย นิมนฺเตนฺติ ยิ่งนิมนต์ คือนิมนต์บ่อยๆ.
               บทว่า สมฺมุขีภาวา คือ เพราะประจวบกัน. อธิบายว่า เพราะความมีอยู่.
               บทว่า ปสวติ คือ ย่อมได้. สามารถจะทำโดยประจวบด้วยศรัทธา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สทฺธาย สมฺมุขีภาวา เพราะประจวบด้วยศรัทธาเป็นอาทิ.
               ไทยธรรมหาได้ง่ายแต่ทักขิไณยบุคคลและศรัทธาหาได้ยาก.
                                   ปุถุชฺชนสฺส หิ สทฺธา อถาวรา ปทวาเร ปทวาเร
                         นานา โหติ ฯ เตเนวสฺส มหาโมคฺคลฺลานสทิโสปิ อคฺคสาวโก
                         ปาฏิโภโค ภวิตุํ อสกฺโกนฺโต อาห ทฺวินฺนํ โข เต (๑) อาวุโส
                         ธมฺมานํ ปาฏิโภโค โภคานญฺจ ชีวิตสฺส จ สทฺธาย ปน
                         ตฺวํ ปาฏิโภโคติ ฯ
               # ๑. ม. เนส

               เพราะศรัทธาของปุถุชนไม่มั่นคงเปลี่ยนไปทุกๆ ย่างก้าว. ด้วยเหตุนั้นแล แม้พระอัครสาวกเช่นกับพระมหาโมคคัลลานะ ยังไม่สามารถเป็นผู้รับรองปุถุชนนั้นได้ จึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ฉันจะเป็นผู้ประกันธรรม ๒ อย่าง คือโภคสมบัติและชีวิตของท่าน ส่วนท่านเองเป็นผู้ประกันศรัทธา ฯ
               บทว่า ปุญฺเญน ในบทว่า เอวํ ตุมฺเห ปุญฺเญน ปริหีนา ภวิสฺสถ ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้เสื่อมจากบุญด้วยอาการอย่างนี้ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งปัญจมีวิภัตติ. คือท่านจักเป็นผู้เสื่อมจากบุญคือหันหลังให้บุญ.
               บทว่า ภากุฏิกา หน้าสยิ้ว คือทำหน้าสยิ้วด้วยการเห็นหน้ายู่ยี่. อธิบายว่า มีหน้าเบี้ยวบูด. ชื่อว่าภากุฏิกะ เพราะมีหน้าสยิ้ว. ความเป็นผู้มีหน้าสยิ้ว ชื่อว่าภากุฏิกะ.
               บทว่า กุหนา ความหลอกลวง คือความพิศวง. กิริยาที่หลอกลวง ชื่อว่ากุหายนา. ความเป็นผู้หลอกลวง ชื่อว่ากุหิตัตตะ.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ มีความปรารถนาลามก คือใคร่จะแสดงคุณที่ไม่มีอยู่.
               บทว่า อิจฺฉาปกโต คือ ถูกความปรารถนาครอบงำ.
               บทว่า สมฺภาวนาธิปฺปาโย มีความประสงค์ในการยกย่อง คือมีอัธยาศัยถือตัวจัด.
               บทว่า คมนํ สณฺฐเปติ สำรวมการเดิน คือระมัดระวังการเดินมีการก้าวไปเป็นต้น. อธิบายว่า ทำความน่าเลื่อมใส.
               แม้ในบทนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปณิธาย คจฺฉติ ตั้งสติเดิน คือตั้งใจเดิน. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมาหิโต วิย คจฺฉติ ทำเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน คือทำเหมือนภิกษุได้อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อาปาถกชฺฌายีว โหติ ทำเหมือนภิกษุที่เจริญอาปาถกฌาน (เจริญฌานต่อหน้าพวกมนุษย์) คือแสดงความเป็นผู้สงบ ทำเป็นเหมือนเข้าฌานต่อหน้าพวกมนุษย์ที่เดินมา.
               บทว่า อิริยาปถสฺส ได้แก่ อิริยาบถ ๔.
               บทว่า อาฐปนา การตั้งใจ คือตั้งใจไว้แต่ต้นหรือตั้งใจไว้โดยเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า ฐปนา คือ การตั้งใจ.
               บทว่า สณฺฐปนา ทำเป็นตั้งใจ. อธิบายว่า ทำความน่าเลื่อมใส.
               บทว่า อริยธมฺมสนฺนิสิตํ กล่าววาจาอิงอริยธรรม คือเนื่องด้วยโลกุตรธรรม.
               บทว่า กุญฺจิกํ คือ ลูกกุญแจสำหรับเปิด.
               บทว่า มิตฺตา คือ มีความเยื่อใย.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐา คือ เพียงเห็นกัน.
               บทว่า สมฺภตฺตา คือ เป็นมิตรสนิทกันมาก.
               บทว่า อุทฺทณฺโฑ ได้แก่ เรือนที่พักหลังหนึ่ง.
               บทว่า โกรชิกโกรชิโก คือ ทำหน้าบูดเบี้ยว. อธิบายว่า หน้านิ่วยิ่งนัก. ปาฐะว่า โกรชโก ก็มี.
               บทว่า ภากุฏิกภากุฏิโก ทำหน้าสยิ้วบูดเบี้ยว คือทำหน้าสยิ้วเป็นปกติเหลือเกิน.
               บทว่า กุหกกุหโก หลอกลวง คือทำให้พิศวงยิ่งนัก.
               บทว่า ลปกลปโก ปลิ้นปล้อนตลบตะแลง คือช่างพูดเกินไป.
               บทว่า มุขสมฺภาวิโต อันผู้อื่นสรรเสริญ คือผู้อื่นสรรเสริญด้วยปากของตน. อาจารย์บางท่านกล่าวว่า อปฺปิตจิตฺโต คือ ไม่หนำใจ.
               บทว่า สนฺตานํ มีอยู่คือมีอยู่เพราะสืบเนื่องด้วยกิเลส.
               บทว่า สมาปตฺตีนํ สมาบัติ คือธรรมที่ควรบรรลุ.
               บทว่า คมฺภีรํ ลึกซึ้ง คือที่พึ่งขาดหายไป.
               บทว่า คุฬฺหํ ลับ คือยากที่จะให้เห็นได้.
               บทว่า นิปุณํ คือ สุขุม.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ปิดบัง คืออธิบายให้รู้แจ้งแทงตลอดได้ยากด้วยอรรถแห่งบท.
               บทว่า โลกุตฺตรํ คือ แสดงถึงโลกุตรธรรม.
               บทว่า สุญฺญตาปฏิสญฺญุตํ คือ ปฏิสังยุตด้วยนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โลกุตฺตรสุญฺญตาปฏิสญฺญุตํ ได้แก่ ปฏิสังยุตด้วยนิพพานอันเป็นโลกุตรธรรม.
               บทว่า กายิกํ ปคพฺภิยํ ความคะนองทางกาย คือเป็นไปทางกาย ชื่อว่ากายิกะ. แม้ความคะนองเป็นไปทางวาจาและเป็นไปทางจิต ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อจิตฺติการกโต ไม่ทำความเคารพ คือเว้นจากความนับถือมาก.
               บทว่า อนุปาหนานํ จงฺกมนฺตานํ เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระเดินไม่สวมรองเท้า คืออยู่ในที่ใกล้ภิกษุผู้เป็นเถระผู้เดินไม่สวมรองเท้า. หรือบทนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอนาทระ คือแปลว่า เมื่อ.
               บทว่า สอุปาหโน คือ เดินสวมรองเท้า.
               บทว่า นีเจ จงฺกเม จงฺกมนฺตานํ เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระเดินในที่จงกรมต่ำ คือเมื่อภิกษุผู้เป็นเถระเดินจงกรมในพื้นที่ที่มิได้ทำการกำหนดไว้ เดินจงกรมในที่จงกรมซึ่งกำหนดไว้ เกลี่ยทรายทำที่เกาะแม้ต่ำ.
               บทว่า อุจฺเจ จงฺกเม จงฺกมติ เดินในที่จงกรมสูง คือในที่จงกรมสูงล้อมด้วยเวทีก่ออิฐ.
               หากล้อมด้วยกำแพงประกอบด้วยซุ้มประตูก็ย่อมควรเพื่อเดินในที่จงกรมเช่นนั้น ซึ่งปกปิดไว้ด้วยดี ในระหว่างภูเขา ระหว่างป่าและระหว่างพุ่มไม้. แม้ในที่ไม่ปกปิดละอุปจารเสียก็ควร.
               บทว่า ฆฏยนฺโตปิ ติฏฺฐติ ยืนเบียดบ้าง คือยืนใกล้เกินไป.
               บทว่า ปุรโตปิติฏฺฐติ คือ ยืนบังหน้าบ้าง.
               บทว่า ฐิตโกปิ ภณติ ยืนทื่อพูดบ้าง คือพูดไม่ก้มเหมือนตอไม้.
               บทว่า พาหาวิกฺเขปโก แกว่งแขน คือแกว่งแขนไปข้างโน้นข้างนี้พูด.
               บทว่า อนุปขชฺช นั่งแทรกแซง คือเข้าไปยังที่ที่พระเถระทั้งหลายนั่ง.
               บทว่า นเวปิ ภิกฺขู อาสเนน ปฏิพาหติ นั่งกีดกันอาสนะพวกภิกษุนวกะบ้าง คือไม่นั่งบนอาสนะที่ถึงตนแล้ว เข้าไปแทรกข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง ชื่อว่ากีดกันอาสนะ.
               บทว่า อนาปุจฺฉาปิ กฏฺฐํ ปกฺขิปติ ไม่บอกก่อนแล้วใส่ฟืนบ้าง คือไม่บอกไม่ขอความยินยอมแล้วใส่ฟืนในไฟบ้าง.
               บทว่า ทฺวารํ ปิทหติ ปิดประตู คือปิดเรือนไฟ.
               บทว่า โอตรติ หยั่งลง คือเข้าไปยังท่าน้ำ.
               บทว่า นหายติ อาบน้ำ คือชำระร่างกาย.
               บทว่า อุตฺตรติ ขึ้น คือขึ้นฝั่งจากท่าน้ำ.
               บทว่า โวกฺกมฺมาปิ คือ เดินเลยหน้าบ้าง.
               บทว่า โอวรกานิ ห้องเล็ก คือห้องนอนที่เขาตกแต่งเป็นห้อง.
               บทว่า คุฬฺหานิ คือ ปิดบัง.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนานิ ปกปิด คือมีอย่างอื่นบังไว้.
               บทว่า อนชฺฌิฏฺโฐ วา ไม่ได้เชื้อเชิญ คือพระเถระมิได้ขอร้องและเชื้อเชิญว่า ท่านจงฟังธรรมเถิดดังนี้.
               บทว่า ปาปธมฺโม มีบาปธรรม คือมีธรรมลามก.
               บทว่า อสุจิสงฺกสฺสรสมาจาโร มีความประพฤติไม่สะอาดที่พึงระลึกด้วยความระแวง คือชื่อว่ามีความประพฤติไม่สะอาดที่พึงระลึกด้วยความระแวง เพราะมีความประพฤติ คือมีการประกอบที่ผู้อื่นพึงระลึกด้วยความระแวง ผู้เป็นคนทุศีลดังนี้.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺโต มีการงานอันปกปิด คือมีการงานทางกายและวาจาอันปกปิด.
               บทว่า อสฺสมโณ คือ มิใช่สมณะ.
               บทว่า สมณปฏิญฺโญ คือ ปฏิญาณว่าเราเป็นสมณะ.
               บทว่า อพฺรหฺมจารี คือ เว้นจากการประพฤติอันประเสริฐ.
               บทว่า พฺรหฺมจารีปฏิญฺโญ ปฏิญาณว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อนฺโตปูติ เน่าใน คือถึงความเป็นผู้เน่าใน เพราะเว้นจากกุศลธรรมในภายใน.
               บทว่า อวสฺสุโต คือ ชุ่มอยู่ด้วยราคะ.
               บทว่า กสมฺพุชาโต คือ มีสภาพเป็นหยากเยื่อ.
               ในบทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรนี้พึงทราบความต่อไปนี้ ภิกษุมีความเคารพ มีความยำเกรง ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ นุ่งเรียบร้อย ห่มเรียบร้อย ก้าว ถอย มอง เหลียว คู้ เหยียด น่าเลื่อมใส ทอดตา ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเนืองๆ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มักน้อยสันโดษ ปรารภความเพียร ทำความเคารพในอภิสมาจาริกวัตร มากไปด้วยความยำเกรงครู นี้ท่านเรียกว่าอาจาระ.
               พึงทราบอาจาระเพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนโคจรมี ๓ อย่าง คืออุปนิสสยโคจร (โคจรอันเป็นอุปนิสัย) ๑ อารักขโคจร (โคจรอันควรรักษาไว้) ๑ อุปนิพันธโคจร (โคจรอันเข้าไปผูกพัน) ๑.
               ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสสยโคจรเป็นอย่างไร. ภิกษุประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ มีมิตรดี เข้าไปอาศัยมิตรดีย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังมิได้เคยฟัง ย่อมทำสิ่งที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ข้ามความสงสัย ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตให้ผ่องใส เมื่อศึกษาตามย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา นี้ชื่อว่าอุปนิสสยโคจร.
               อารักขโคจรเป็นอย่างไร. ภิกษุในศาสนานี้เข้าไปในระหว่างเรือนแล้ว เดินไปตามถนน ทอดตา มองดูเพียงชั่วแอก สำรวมเป็นอย่างดีเดินไป ไม่มองดูช้าง ม้า รถ คนเดินทาง สตรี บุรุษ ไม่แหงนดู ไม่ก้มดู ไม่จ้องทิศน้อยใหญ่เดินไป นี้ชื่อว่าอารักขโคจร.
               อุปนิพันธโคจรเป็นอย่างไร. สติปัฏฐาน ๔ จิตเข้าไปผูกพันไว้ในสติปัฏฐานข้อใด.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โคจรเป็นของตน เป็นของบิดา เป็นวิสัยคืออะไร คือสติปัฏฐาน ๔. นี้ชื่อว่าอุปนิพันธโคจร.
               ภิกษุเข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบแล้วด้วยอาจาระนี้ และด้วยโคจรนี้ด้วยประการฉะนี้แหละ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียก อาจารโคจรสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร.
               บทว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย คือมีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประเภทเป็นต้นว่า การต้องอาบัติโดยไม่เจตนา เสขิยะวัตรและจิตตุปบาทอันเป็นอกุศล มีประมาณน้อย.
               บทว่า สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย คือถือเอาโดยชอบศึกษาสิกขาบทที่ควรศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่งในสิกขาบททั้งหลาย.
               อนึ่ง ในบทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต สำรวมระวังในพระปาติโมกข์นี้ ท่านแสดงถึงศีล คือการสำรวมในพระปาติโมกข์ด้วยเทศนาอันเป็นบุคลาธิษฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
               พึงทราบบททั้งปวงมีอาทิว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติที่มีศีลสมบูรณ์แล้ว.
               บทว่า สาติเยสุ อนสฺสาวี บุคคลผู้ไม่มีความยินดีในวัตถุเป็นที่น่ายินดี คือเว้นจากความชมเชยด้วยตัณหาในกามคุณทั้งหลายอันเป็นวัตถุที่น่ายินดี.
               บทว่า สณฺโห ผู้ละเอียด คือประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันละเอียด.
               บทว่า ปฏิภาณวา มีปฏิภาณ คือประกอบด้วยปริยัติ ปริปุจฉา (การสอบกาม) อธิคม (การบรรลุ) และปฏิภาณ.
               บทว่า น สทฺโธ ไม่มีศรัทธา คือไม่เชื่อถึงธรรมที่บรรลุเองของใครๆ.
               บทว่า น วิรชฺชติ ไม่คลายกำหนัด คือไม่คลายกำหนัดในบัดนี้ เพราะความกำหนัดคลายไปแล้วเพราะความสิ้นไป.
               บทว่า เยสํ เอสา สาติยา ความยินดีนั้นของบุคคลเหล่าใด ได้แก่ความปรารถนาในกามคุณ มีวัตถุน่ายินดีของบุคคลเหล่าใด.
               บทว่า ตณฺหา อปฺปหีนา ตัณหาอันสัมปยุตด้วยความชมเชย อันบุคคลยังละไม่ได้ด้วยอรหัตมรรค.
               บทว่า เตสํ จกฺขุโต รูปตณฺหา สวติ ชนเหล่านั้นก็มีรูปตัณหาไหลหลั่งไปทางจักษุ คือตัณหามีรูปเป็นอารมณ์สัมปยุตด้วยชวนวิถีจิตอันเป็นไปแล้ว ย่อมเกิดจากจักขุทวารของชนเหล่านั้น.
               บทว่า ปสวติ ไหลไป คือโดยภูมิตัณหาย่อมไหลไปถึงภวัคคพรหม โดยธรรมย่อมไหลไปถึงโคตรภู.
               บทว่า สนฺทติ หลั่งไหล คือไหลไปสู่ปากเบื้องต่ำดุจกระแสน้ำ.
               บทว่า ปวตฺตติ ย่อมเป็นไป คือเป็นไปด้วยเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               แม้ในทวารที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ตัณหาเป็นอันละแล้วด้วยดีด้วยอรหัตมรรคโดยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วในธรรมฝ่ายขาว รูปตัณหาย่อมไม่ไหลไปทางจักษุของชนเหล่านั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 321อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 374อ่านอรรถกถา 29 / 442อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=4612&Z=5616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=7251
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=7251
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :