ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               บทว่า ฌายี น ปาทโลลสฺส ความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌานและไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า.
               บทว่า วิรเม กุกฺกุจฺจํ นปฺปมชฺเชยฺย พึงเว้นขาดจากความคะนองไม่พึงประมาท คือพึงบรรเทาความคะนองมีคะนองมือเป็นต้น และไม่พึงประมาทในที่นี้ เพราะภิกษุเป็นผู้ที่เขาทำความเคารพอยู่แล้ว.
               บทว่า เอกตฺตมนุยุตฺโต คือ ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า สทตฺถครุโก เป็นผู้หนักอยู่ในประโยชน์ของตน คือหนักในประโยชน์อันสูงสุด. ปาฐะว่า สกตฺถครุโก ก็มี แปลว่า หนักอยู่ในประโยชน์ของตน.
               บทว่า ปฏิสลฺลานาราโม พึงเป็นผู้ชอบในความหลีกเร้น คือสถานที่ชอบใจ ชื่อว่า อาราม. ภิกษุรวบรวมจากอารมณ์นั้นๆ แล้วชอบใจในความหลีกเร้น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ชื่อว่า ปฏิสลฺลานาราโม.
               บทว่า อสฺส คือ พึงเป็น.
               ภิกษุยินดีแล้วในความหลีกเร้นนั้น ชื่อว่า ปฏิสลฺลานรโต. ท่านแสดงถึงความเป็นผู้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายด้วยบทเหล่านี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะแม้ภิกษุผู้มีศีลวิบัติ มีอารมณ์เป็นหนึ่งก็ยังไม่สำเร็จ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ เจโตสมถมนุยุตฺโต ขวนขวายในความสงบจิต ณ ภายใน คือขวนขวายในความสงบจิตของตน.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ในภายในก็ดี อตฺตโน ของตนก็ดี มีความอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน.
               บทว่า เจโตสมถํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ แปลว่า ในความสงบจิต. สำเร็จรูปด้วยการประกอบด้วยอุปสัคนี้ว่า อนุ.
               บทว่า อนิรากตชฺฌาโน ไม่เหินห่างจากฌาน คือไม่นำฌานออกไปภายนอก หรือไม่ยังฌานให้เสื่อม.
               อนึ่ง พึงเห็นประโยคในบทมีอาทิว่า นี้ชื่อว่ามิใช่ไม่กระทำเพื่อความนำออกและเพื่อความเสื่อม เป็นความประพฤติสุภาพ เพราะไม่หัวดื้อ.
               บทว่า วิปสฺสนาย สมนฺนาคโต ประกอบด้วยวิปัสสนา คือประกอบด้วยอนุปัสสนา ๗ อย่าง.
               อนุปัสสนา ๗ คืออนิจจานุปัสสนา พิจารณาเนืองๆ ในความไม่เที่ยง ๑ ทุกขานุปัสสนา พิจารณาเนืองๆ ในความเป็นทุกข์ ๑ อนัตตานุปัสนา พิจารณาเนืองๆ ในความเป็นอนัตตา ๑ นิพพิทานุปัสนา พิจารณาเนืองๆ ในความเบื่อหน่าย ๑ วิราคานุปัสสนา พิจารณาเนืองๆ ในความคลายกำหนัด ๑ นิโรธานุปัสสนา พิจารณาเนืองๆ ในความดับตัณหา ๑ ปฏินิสสัคคานุปัสสนา พิจารณาเนืองๆ ในความสละคืน ๑, วิปัสสนาเหล่านั้นพิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า พฺรูเหตา สุญฺญาคารานํ คือ เพิ่มพูนสุญญาคาร.
               ก็ในบทนี้ พึงทราบว่า ภิกษุเรียนกรรมฐานทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เข้าไปนั่งยังสุญญาคารตลอดคืนและวัน ชื่อว่าเพิ่มพูนสุญญาคาร. แม้บำเพ็ญอยู่ในปราสาทอันมีพื้นชั้นเดียวเป็นต้น ก็พึงเห็นว่าเพิ่มพูนสุญญาคาร.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า สกฺกจฺจการี พึงเป็นผู้ทำโดยความเคารพดังต่อไปนี้.
               พึงเป็นผู้ทำความเคารพ ด้วยทำความเคารพต่อบุคคลหรือต่อไทยธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมมีทานเป็นต้น.
               บทว่า อสฺส คือ พึงเป็น. ความเป็นผู้ทำเนืองๆ ชื่อว่า สาตจฺจ ความทำติดต่อชื่อว่า สาตจฺจการี เป็นผู้ทำเนืองๆ. เพราะทำติดต่อไม่มีระหว่าง ชื่อว่า อฏฺฐิตการี เป็นผู้ทำไม่หยุด.
               บุคคลใดให้ทาน ทำการบูชา ฟังธรรม หรือบำเพ็ญสมณธรรมวันหนึ่ง อีกนานจึงทำอีก ไม่เป็นไปติดต่อกัน บุคคลนั้นท่านเรียกว่าฐิตการี ทำแล้วหยุด เหมือนปูเดินไปได้หน่อยหนึ่ง หยุดหน่อยหนึ่ง ไม่เดินต่อไปฉะนั้น.
               ส่วนบุคคลใดไม่ทำอย่างนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า อฏฺฐิตการี ทำไม่หยุด.
               บทว่า อโนลีนวุตฺติโก มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน คือมีความประพฤติย่อหย่อนหามิได้ เพราะมีความแผ่ขยายออกไป อันได้แก่ทำติดต่อกันไป.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตฉนฺโท ไม่ปลงฉันทะ คือชื่อว่าไม่ปลงฉันทะ เพราะความเป็นผู้ไม่ปลงฉันทะในการทำความเพียร เพื่อกุศลกิริยา.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร ไม่ทอดธุระ คือไม่วางธุระในการทำความเพียร. อธิบายว่า ไม่มีใจท้อถอย.
               บทว่า อปฺปฏิวาณี คือ ความไม่ถอยกลับ.
               บทว่า อธิฏฺฐานํ ความตั้งใจ คือมีความตั้งมั่นในการทำกุศล.
               บทว่า อนุโยโค คือ ความประกองเนืองๆ.
               บทว่า อปฺปมาโท คือ ความไม่อยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า ตนฺทึ มายํ หสึ ขิฑฺฑํ คือ ความเกียจคร้าน ความหลอกลวง ความหัวเราะ และการเล่นทางกายและวาจา.
               บทว่า สวิภูสํ คือ กับด้วยเครื่องประดับ.
               บทว่า รตฺตินฺทิวํ ฉโกฏฺฐาสํ กริตฺวา ภิกษุพึงแบ่งกลางคืนและกลางวันให้เป็น ๖ ส่วน คือพึงแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน กลางคืน ๓ ส่วนคือยามต้น ยามกลาง ยามสุดท้าย กลางวันก็เหมือนกัน.
               บทว่า ปญฺจโกฏฺฐาสํ ชาคเรยฺย พึงตื่น ๕ ส่วน คือพึงสละยามกลางในกลางคืนแล้วไม่หลับใน ๕ ส่วนที่เหลือ.
               บทว่า เอกํ โกฏฺฐานํ นิปชฺเชยฺย นอนหลับ ๑ ส่วน คือมีสติสัมปชัญญะ นอนหลับตอนยามกลาง ๑ ส่วน.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ ทิวสํ คือ แบ่งกลางวันออกเป็น ๓ ส่วน คือเช้า กลางวัน เย็น.
               บทว่า จงฺกเมน นิสชฺชาย ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง คือบริหารด้วยอิริยาบถทั้งสองนี้ตลอดวัน พึงชำระจิตจากธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต หรือจากอกุศลธรรมทั้งปวงอันได้แก่นิวรณ์ ๕.
               บทว่า จิตฺตํ ปริโสเธยฺย พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเหล่านั้น. ในที่นี้มิได้กำหนดการยืนไว้ก็จริง ถึงดังนั้นก็ควรกำหนดเอาการยืน อาศัยการเดินจงกรมและการนั่งนั่นแล.
               บทว่า ปฐมํ ยามํ คือ ตลอดยามต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า เสยฺยํ การนอน ดังนี้.
               การนอนมี ๔ อย่าง คือ กามโภคีเสยฺยาเปตเสยฺยาสีหเสยฺยาตถาคตเสยฺยา ๑.
               ในการนอน ๔ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนบริโภคกามโดยมากนอนโดยข้างซ้าย นี้ชื่อว่ากามโภคีไสยา.
               จริงอยู่ คนบริโภคกามเหล่านั้นย่อมไม่นอนโดยข้างขวา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรตโดยมากนอนหงาย นี้ชื่อว่าเปตไสยา.
               จริงอยู่ เพราะเปรตมีเนื้อและเลือดน้อย เปรตห่อหุ้มด้วยโครงกระดูก จึงไม่อาจจะนอนโดยข้างหนึ่งได้ จึงต้องนอนหงาย.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชสำเร็จการนอนโดยข้างขวา ฯลฯ จึงพอใจ นี้ชื่อว่าสีหไสยา.
               จริงอยู่ สีหมฤคราชเพราะมีอำนาจสูง วางเท้าทั้งสองไว้ที่เท้าหลังข้างหนึ่งในที่เดียวกัน สอดหางไว้หว่างขา กำหนดโอกาสที่เท้าหน้าเท้าหลังและหางตั้งอยู่ แล้ววางศีรษะลงบนที่สุดเท้าหน้าทั้งสองนอน แม้นอนหลับตลอดวัน เมื่อตื่นก็ตื่นอย่างไม่หวาดสะดุ้ง เงยศีรษะสังเกตโอกาสที่เท้าหน้าเป็นต้นตั้งอยู่. หากที่ไรๆ ละไปตั้งอยู่ไม่เรียบร้อย สีหมฤคราชก็เสียใจว่านี้ไม่สมควรแก่เจ้าผู้มีความกล้าหาญโดยกำเนิด จึงนอนต่อไปในที่นั้น ไม่ไปแสวงหาอาหาร แต่ครั้นเมื่อไม่ละ ตั้งอยู่เรียบร้อย สีหะก็ดีใจว่านี้สมควรแก่เจ้าผู้มีความกล้าหาญโดยกำเนิด จึงลุกบิดกายอย่างสีหะ สลัดขนที่คอ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วจึงไปหาอาหาร.
               ส่วนการนอนด้วยจตุตถฌานเรียกว่า ตถาคตไสยา (พระตถาคตนอน).
               ในไสยา ๔ อย่างเหล่านั้น ในที่นี้หมายเอาสีหไสยา. เพราะไสยานี้ ชื่อว่าเป็นไสยาอย่างสูงที่สุด เพราะเป็นอิริยาบถที่มีอำนาจสูง.
               บทว่า ปาเท ปาทํ ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า คือเท้าซ้ายทับเท้าขวา.
               บทว่า อจฺจาธาย คือ ตั้งเท้าเหลื่อมเท้าเลยไปนิดหน่อย. เพราะเมื่อข้อเท้าเสียดสีกับข้อเท้า เข่าเสียดสีกับเข่า นอนไม่สบาย. เมื่อตั้งเท้าเลยไปโดยที่ไม่เสียดสีกันเวทนาย่อมไม่เกิด จิตก็มีอารมณ์เป็นหนึ่ง นอนสบาย. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ. ด้วยบทนี้ กล่าวถึงสติสัมปชัญญะที่กำหนดไว้ดีแล้ว.
               บทว่า อุฏฺฐานสญฺญํ มนสิกริตฺวา ทำสัญญาในการตื่นขึ้นไว้ในใจ คือตั้งอุฏฐานสัญญากำหนดเวลาตื่นขึ้นไว้ในใจอย่างนี้ว่า เราจักตื่นขึ้นในเวลาโน้นดังนี้. เพราะทำอย่างนี้แล้วนอนจะตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนดไว้เป็นแน่.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งวิริยินทรีย์ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เจตสิโก นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่าความเพียรเป็นไปทางจิตโดยแน่นอน. เพราะความเพียรนี้ท่านกล่าวว่า เจตสิก ก็เพื่อแสดงว่า ความเพียรเป็นไปทางกายไม่มี มีแต่เป็นไปทางจิตเท่านั้น ดุจกายวิญญาณ แม้กล่าวว่าเป็นไปทางกาย เพราะเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำจงกรมเป็นต้น ในพระสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเพียรเป็นไปทางกายแม้ใด ความเพียรนั้นก็คือวิริยสัมโพชฌงค์. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเพียรเป็นไปทางจิตแม้ใด ความเพียรนั้นก็คือวิริยสัมโพชฌงค์ เพราะเหตุนั้น ความเพียรนี้ย่อมมาสู่อุเทศด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วิริยารมฺโภ ความว่า อารัมภะคือวิริยะ.
               จริงอยู่ อารัมภศัพท์นี้มาแล้วในเนื้อความไม่น้อย คือในกรรม ในอาบัติ ในกิริยา ในวิริยะ ในความเบียดเบียน ในการทำร้าย.
               อารัมภะ มาในความว่า กรรม ในคาถานี้ว่า
                         ทุกข์ทั้งปวงอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิด เพราะมีอารัมภะ (กรรม)
                         เป็นปัจจัย ความเกิดทุกข์ไม่มี เพราะดับอารัมภะเสียได้.
               อารัมภะ มาในความว่า อาบัติ ในบทนี้ว่า ย่อมปรารภและย่อมเป็นความเดือดร้อน.
               อารัมภะ มาในความว่า กิริยา มีอุปกรณ์ในการบูชายัญเป็นต้น ในบทนี้ว่า บรรดายัญทั้งหลายมีความเพียรมาก มหายัญเหล่านั้นไม่มีผลมากเลย.
               อารัมภะ มาในความว่า วิริยะ ในบทนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงพยายาม จงออกไป จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด.
               อารัมภะ มาในความว่า ความเบียดเบียน ในประโยคนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเบียดเบียนสัตว์ เจาะจงพระสมณโคดม.
               อารัมภะ มาในความว่า การประทุษร้าย มีการตัดและทำลายเป็นต้น ในบทนี้ว่า เป็นผู้เว้นจากการทำลายพืชคาม (เมล็ดพันธุ์ไม้), ภูตคามไม้ที่งอกแล้ว.
               ในที่นี้ท่านประสงค์เอาวิริยะเท่านั้น. ดังที่ท่านกล่าวว่า บทว่า วิริยารมฺโภ ได้แก่ อารัมภะ คือความเพียร.
               จริงอยู่ ความเพียร ท่านเรียกว่า อารัมภะ ด้วยสามารถแห่งความพยายาม.
               บทว่า วิริยารมฺโภ นี้ เป็นบทแสดงถึงสภาวะของความเพียรนั้น. การก้าวออกด้วยการออกไปจากความเกียจคร้าน. การก้าวหน้าด้วยการก้าวไปสู่ฐานะอื่นๆ. ความขวนขวายด้วยการย่างขึ้นไป. ความพยายามด้วยการไปไม่หยุด. ความอุตสาหะด้วยความขะมักเขม้น. ความขยันด้วยความขะมักเขม้นอย่างสูง. ความมั่นคงด้วยตั้งอยู่ในความหนักแน่น. ความทรงไว้ เพราะทรงไว้ด้วยสามารถการทรงจิตและเจตสิกไว้ได้ หรือทรงความสืบต่อแห่งกุศลไว้ด้วยสามารถความเป็นไปโดยไม่ขาดตอน.
               อีกนัยหนึ่ง ความก้าวออกนี้เพื่อบรรเทากามทั้งหลาย. ความก้าวหน้านี้เพื่อตัดความผูกพัน. ความขวนขวายนี้เพื่อถอนโอฆะ. ความพยายามนี้เพื่อไปถึงฝั่ง. ความอุตสาหะนี้เพื่อไปข้างหน้า. ความขยันนี้เพื่อความยิ่งขึ้นไป. ความมั่นคงนี้เพื่อถอนกิเลสเพียงดังกลอนเหล็ก. ความทรงไว้นี้เพื่อไม่หยุดยั้ง. ความก้าวหน้ามิได้ย่อหย่อน ด้วยสามารถการก้าวไปไม่หยุดในกาลอันเป็นไปอย่างนี้ว่า หนังเอ็นและกระดูกจงเหลืออยู่ก็ตาม. อธิบายว่า ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง.
               อนึ่ง เพราะความเพียรนี้ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระ ไม่ข้ามไป ไม่สละ นำมาซึ่งความเป็นผู้ไม่ท้อถอย ในที่ที่ทำกุศลกรรม ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความไม่ปลงฉันทะ ความไม่ทอดธุระ ดังนี้.
               เหมือนอย่างว่าชนทั้งหลายกล่าวว่า พวกท่านจงคอยจับโคนำสินค้าไปในที่ที่เจิ่งไปด้วยน้ำใกล้ฝั่งคงคา โคนั้นแม้คุกเข่าลงที่พื้นก็ยังนำสินค้าไปได้ ไม่ให้สินค้าตกลงที่พื้นฉันใด ภิกษุไม่ทอดธุระ ประคองความเพียรไว้ในที่ที่ทำกุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ประคองธุระไว้.
               ชื่อว่าวิริยินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะประคองไว้.
               ชื่อว่าวิริยพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความเกียจคร้าน.
               ชื่อว่าสัมมาวายามะ เพราะพยายามในกุศลอันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ได้แน่นอน.
               บทว่า ตนฺทิ ความเกียจคร้าน.
               บทว่า ตนฺทิยา คือ อาการเกียจคร้าน.
               บทว่า ตนฺทิมนกตา ความเป็นผู้เกียจคร้าน คือความเป็นผู้มีจิตถูกความเกียจคร้านครอบงำ.
               ความเป็นแห่งความขี้เกียจ ชื่อว่า อาลสิยํ ความขี้เกียจ. อาการแห่งความขี้เกียจ ชื่อว่า อาลสายนา กิริยาที่ขี้เกียจ. ความเป็นแห่งคนขี้เกียจ ชื่อว่า อาลสายิตตฺตํ ความเป็นคนขี้เกียจ.
               ด้วยบทเหล่านี้แม้ทั้งหมด ท่านกล่าวถึงความเป็นผู้ขี้เกียจทางกายด้วยอำนาจกิเลส.
               บทว่า วญฺจนิกา จริยา คือ กิริยาหลอกลวง.
               บทว่า มา มํ ชญฺญาติ วาจํ ภาสติ กล่าววาจาคิดว่าใครๆ อย่ารู้จักเรา คือภิกษุทั้งๆ รู้อยู่ ล่วงข้อบัญญัติทำกรรมหนัก แต่กล่าวทำเป็นเหมือนผู้สงบว่า เราไม่มีการละเมิดเลย.
               บทว่า กาเยน ปรกฺกมติ บากบั่นด้วยกาย คือทำความปกปิดทางกายว่า ใครๆ อย่ารู้บาปกรรมที่เราทำนี้เลย.
               ความลวงคือทำเป็นลวงให้หลงทางตา โดยปกปิดโทษที่มีอยู่. ความเป็นแห่งความเป็นผู้หลอกลวง ชื่อว่า มายาวิตา ความเป็นผู้ลวง. ชื่อว่า อจฺจสรา เพราะทำความชั่วแล้วปิดบัง. ชื่อว่า วญฺจนา เพราะซ่อนความจริงโดยให้เห็นเป็นอย่างอื่น ด้วยวาจาและกิริยา. ชื่อว่า นิกติ เพราะบังความผิด. อธิบายว่า ทำผิด.
               ชื่อว่า นิกิรณา เพราะปิดความผิดด้วยคิดว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก. ชื่อว่า ปริหรณา เพราะเลี่ยงความผิดด้วยคิดว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก. ชื่อว่า คูหณา ซ่อนความผิดโดยสำรวมกายเป็นต้น. ชื่อว่า ปริคูหณา คือ ซ่อนผิดทุกส่วนโดยประการทั้งปวง. ชื่อว่า ฉาทนา เพราะปิดบังความชั่วด้วยกายกรรมและวจีกรรม ดุจปิดบังคูถด้วยใบหญ้าฉะนั้น. ชื่อว่า ปริจฺฉาทนา เพราะปิดบังทุกส่วนโดยประการทั้งปวง. ชื่อว่า อนุตฺตานีกมฺมํ เพราะไม่แสดงเปิดเผย. ชื่อว่า อนาวิกมฺมํ เพราะไม่แสดงให้ปรากฏ. ชื่อว่า โวจฺฉาทนา เพราะคลุมความผิดไว้อย่างดี. ชื่อว่า ปาปกิริยา เพราะทำชั่วใหม่อีก โดยปกปิดความชั่วที่ทำมาแล้ว.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ คือ นี้เรียกว่าความลวง มีลักษณะปกปิดความชั่วที่ทำมาแล้ว. บุคคลมีมายาดุจถ่านปกปิดด้วยขี้เถ้า ดุจตอปกปิดด้วยน้ำ และดุจศัสตราปกปิดด้วยเอาผ้าเก่าพัน.
               บทว่า อติเวลํ ทนฺตวิทํสกํ หสติ บุคคลย่อมหัวเราะเกินประมาณจนฟันปรากฏ คือเปิดฟันแสดงแก่คนอื่น ยังความชื่นชมโสมนัสให้เกิดแล้วหัวเราะเกินประมาณ.
               บทว่า กายิกา จ ขิฑฺฑา การเล่นทางกายคือการเล่นอันเป็นไปทางกาย.
               แม้ในทางวาจาก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า หตฺถีหิปิ กีฬนฺติ เล่นช้าง คือเล่นด้วยการเล่นมีนั่งเป็นต้นบนหลัง ให้วิ่งให้กระโดดไปข้างหน้าโดยให้ช้างเล่น. แม้ในม้าและรถก็มีนัยนี้.
               บทว่า อฏฺฐปเทปิ กีฬนฺติ เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง คือชื่อว่า อฏฺฐปทํ เพราะแถวหนึ่งๆ มี ๘ ตา. ในแถวละ ๘ ตานั้น. แม้ในแถวละ ๑๐ ตาก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อากาเส คือ เล่นหมากเก็บเหมือนเล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตานั่นแล.
               บทว่า ปริหารปเถหิปิ เล่นชิงนางบ้าง คือขีดเส้นลงบนดินทำให้เป็นวงกลม แล้วเล่นไล่จับกันในที่นั้น.
               บทว่า สนฺติกายปิ กีฬนฺติ คือ เล่นหมากไหวบ้าง. เอาตาสกาหรือก้อนกรวดตั้งไว้รวมกันไม่ให้ไหว เอาเล็บเขี่ยออกและเขี่ยเข้า. หากก้อนกรวดอะไรๆ ในที่นั้นไหวเป็นแพ้.
               บทว่า ขลิกาย คือ เล่นโยนบ่วงบนกระดานพนัน.
               บทว่า ฆฏิกาย เล่นไม้หึ่ง คือเล่นโดยเอาท่อนไม้ยาวตีกับท่อนไม้สั้น เรียกว่าฆฏิกา.
               บทว่า สลากหตฺเถน เล่นฟาดให้เห็นรูปต่างๆ คือเอาเส้นหญ้าชุบด้วย ครั่ง ฝางหรือแป้งเปียก แล้วฟาดเส้นหญ้านั้นลงบนพื้นดินหรือที่ฝา ดูว่าจะเป็นรูปอะไร แล้วเล่นแสดงให้เห็นเป็นรูปช้างและม้าเป็นต้น.
               บทว่า อกฺเขน คือ เล่นสกา. บทว่า ปงฺกจีเรน เล่นเป่าใบไม้. ใบไม้เรียกว่า ปงฺกจีรํ เล่นเป่าใบไม้นั้น. บทว่า วงฺกเกน เล่นไถน้อยๆ คือไถเล็กๆ สำหรับเด็กชาวบ้านเล่น. บทว่า โมกฺขจิกาย คือเล่นหกคะเมน. ท่านอธิบายว่า กระโดดรับท่อนไม้บนอากาศ หรือวางหัวลงกับพื้นดินแล้วเล่นหกคะเมน. บทว่า จิงฺคุลเกน เล่นกังหัน คือเล่นเครื่องหมุนตีลมทำด้วยใบตาลเป็นต้นเรียกว่า จิงฺคุลกํ. บทว่า ปตฺตาฬฺหเกน เล่นตวงทราย คือ เล่นตวงทรายเป็นต้นด้วยทะนานใบไม้ เรียกว่า ปตฺตาฬฺหกํ. บทว่า รถเกน คือ รถน้อยๆ. บทว่า ธนุเกน คือ ธนูน้อยๆ. บทว่า อกฺขริกาย เล่นเขียนทายกัน คือเล่นเขียนอักษรบนอากาศ หรือบนหลังทายกัน เรียกว่า อกฺขริกา. บทว่า มเนสิกาย เล่นทายใจกัน คือเล่นให้รู้ความคิดทางใจ เรียกว่า มเนสิกา.
               บทว่า ยถาวชฺเชน เล่นเลียนคนขอทาน คือเล่นเลียนคำพูดของคนตาบอด คนง่อย คนกระจอกเป็นต้น เรียกว่า ยถาวชฺชํ. บทว่า มุขเภริยํ เล่นตีกลองปาก คือ เป่าเสียงออกทางปากเหมือนกลอง. บทว่า มุขาฬมฺพทํ๑- คือ เล่นพิณพาทย์ทางปาก.
____________________________
๑- สี. ม. มุขาลมฺพรํ

               บทว่า มุขเฑณฺฑิมกํ คือ เล่นรัวกลองทางปาก.
               บทว่า มุขวลิมกํ เล่นผิวปาก คือทำลิ้นที่เนื้อริมฝีปากให้มีเสียง. ปาฐะว่า มุขวาลิกํ บ้าง. คือผิวรอบๆ ปาก.
               บทว่า มุขเภรุฬกํ เล่นกระเดาะปาก คือเป่าเป็นกลองทางปาก.
               บทว่า นาฏกํ เล่นซ้อมเพลง คือแสดงให้เรียนท่าใหม่ๆ ปาฐะว่า นฏฺฏกํ บ้าง.
               บทว่า ลาสํ เล่นโห่ร้อง คือทำเสียงตะโกน. บทว่า คีตํ เล่นร้องเพลงคือขับร้อง.
               บทว่า ทวกมฺมํ คือ เล่นหัวเราะกัน.
               บทว่า อยํ วาจสิกา ขิฑฺฑา คือ นี้ชื่อว่าการเล่นเกิดทางวาจา คือเกิดแล้วในวจีทวาร.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า เกสา จ มสฺสุ จ เป็นอาทิดังต่อไปนี้.
               เอากรรไกรตัดผมไม่ให้แหว่ง, แต่งหนวดให้เป็นเขี้ยว, กำดอกไม้มีก้านเป็นกำเดียวกันเป็นต้น ของหอมมีกลิ่นที่รากเป็นต้น เครื่องลูบไล้ทำการย้อมผิว เครื่องประดับตกแต่งที่คอเป็นต้น เครื่องประดับตกแต่งสวมศีรษะ ผ้านุ่งอย่างวิจิตร สร้อยสังวาล เครื่องรัดและเครื่องประดับ ผ้าโพกศีรษะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในการอบตัวเป็นต้นดังนี้.
               กลิ่นกายของทารกที่เกิดจากครรภ์มารดา จะหมดไปในเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๒ ปี. เพื่อนำกลิ่นกายของทารกกลับมา มารดาบิดาจึงอบด้วยจุณขมิ้นเป็นต้น. การอบอย่างนี้ไม่ควร. แต่บิดามารดาให้ทารกมีบุญนอนบนขาอ่อนทั้งสอง แล้วทาด้วยน้ำมันนวด เพื่อให้ส่วนต่างๆ มีมือ เท้า ขาอ่อนและท้องเป็นต้นสมบูรณ์. การนวดอย่างนี้ก็ไม่ควร.
               บทว่า นหาปนํ คือ การอาบน้ำ คืออาบทารกเหล่านั้นด้วยของหอมเป็นต้น.
               บทว่า สมฺพาหนํ คือ การดัดตัวคือเอาไม้ค้อนเป็นต้นทุบเบาๆ ที่มือและเท้า ดุจของนักมวยปล้ำ แล้วดัดแขน. บทว่า อาทาสํ คือ การส่องกระจก การส่องกระจกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควร. บทว่า อญฺชนํ คือ แต้มตา. บทว่า มาลา คือ สวมพวงดอกไม้หรือไม่สวม. บทว่า วิเลปนํ คือ ทำการย้อมผิวอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า มุขจุณฺณกํ มุขาเลปํ การเจิมหน้าการทาปาก ชนทั้งหลายเพื่อจะเอาไฝดำที่ใบหน้าออก จึงใช้ยางเหนียวของดินแต้ม เมื่อเลือดออกด้วยยางเหนียวของดินนั้น ใช้ยางเหนียวของเมล็ดผักกาดแต้ม เมื่อเมล็ดผักกาดนั้นกัดฝีดำที่เป็นโทษแล้ว ให้ยางเหนียวของงา เมื่อเลือดสงบด้วยยางเหนียวของงา จึงให้ยางเหนียวของขมิ้น เมื่อผิวพรรณผ่องด้วยยางเหนียวของขมิ้นนั้น จึงเจิมหน้าด้วยเครื่องเจิมหน้า.
               พึงทราบวินิจฉัยในการผูกข้อมือเป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ชนทั้งหลายผูกสังข์และกระเบื้องอันวิจิตรที่ข้อมือเที่ยวไป. เครื่องประดับข้อมือทั้งหมดนั้นหรืออย่างอื่นไม่ควร. ชนอีกพวกหนึ่ง ผูกแหยมเที่ยวไป และล้อมแหยมนั้นด้วยป่านทองวลัยมุกดา. ทั้งหมดนั้นไม่ควร. ชนอีกพวกหนึ่งถือไม้เท้า ๔ ศอก หรือไม้เท้าประดับอย่างอื่นเที่ยวไป. อนึ่ง ชนทั้งหลายคล้องขวดยาวิจิตรไปด้วยรูปหญิงและชายเป็นต้น ล้อมรอบเป็นอย่างดีที่บ่าข้างซ้าย. ชนอีกพวกหนึ่งคล้องดาบอันคมกริบมีฝักวิจิตรตระการตา กางร่มวิจิตรด้วยเขี้ยวมังกรเย็บด้วยด้าย ๕ สี สวมรองเท้าล้อมด้วยแววหางนกยูงเป็นต้นวิจิตรด้วยทองและเงิน. บางคนไว้ผมยาวประมาณศอกหนึ่งกว้าง ๔ องคุลี สวมกรอบหน้าที่หน้าผากดุจสายฟ้าที่ปากเมฆ แล้วปักปิ่น ใช้พัดจามรีและพัดวาลวิชนี. ทั้งหมดนั้นไม่ควร.
               บทว่า อิมสฺส วา ปูติกายสฺส กายอันเปื่อยเน่านี้ คือร่างของศพอันสำเร็จด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้. บทว่า เกฬนา คือ การเล่นสนุก. บทว่า ปริเกฬนา การเล่นเพลิน คือเล่นได้ทุกส่วนโดยประการทั้งปวง. บทว่า เคธิตตา คือ การปรารถนา. บทว่า เคธิตตฺตํ คือ ความชอบ ความปรารถนา. บทว่า จปลนา กิริยาที่ประดับ คือทำการประดับ. บทว่า จาปลฺยํ คือ ความเป็นแห่งการประดับ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า สวิภูสํ เป็นต้นดังต่อไปนี้. เป็นไปกับด้วยความประดับ ชื่อว่า สวิภูสํ. เป็นไปกับด้วยบริวาร คือการทำการย้อมผิว ชื่อว่า สปริวารํ. เป็นไปกับด้วยของใช้ ชื่อว่า สปริภณฺฑํ. เป็นไปกับด้วยบริขาร ชื่อว่า สปริกฺขารํ.
               บทว่า อาถพฺพณํ อาถรรพณ์ คือประกอบมนต์ทำอาถรรพณ์. บทว่า สุปินํ คือ ตำราทำนายฝัน. บทว่า ลกฺขณํ การทายลักษณะ คือมีการทายลักษณะด้วยแก้วมณีเป็นต้น. บทว่า โน วิเทเห คือ ไม่พึงประกอบ. บทว่า วิรุทญฺจ การทายเสียงสัตว์ร้อง คือเสียงร้องของสัตว์มีเนื้อเป็นต้น.
               บทว่า อาถพฺพณิกา พวกคนที่มีมนต์ทำอาถรรพณ์ คือรู้มนต์เพื่อฆ่าผู้อื่น.
               ชื่อว่า อาถพฺพณิกา เพราะประกอบอาถรรพณ์.
               ได้ยินมาว่า พวกประกอบอาถรรพณ์ บริโภคของไม่เค็มตลอด ๗ วัน ปูหญ้าคานอนบนพื้นดินประพฤติตบะ ในวันที่ ๗ เตรียมพื้นสุสาน ยืนอยู่บนทางที่ ๗ ชูมือร่ายวิชา. ที่นั้นการงานของพวกเขาก็สำเร็จ.
               พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า ประกอบอาถรรพณ์ หมายถึงพวกรู้มนต์ทำอาถรรพณ์พวกนี้แหละ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปโยเชนฺติ คือ เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบอาถรรพณ์.
               บทว่า นคเร วา รุทฺเธ เมื่อนครถูกล้อม คือเมื่อนครถูกปิดกั้นไว้โดยรอบ. บทว่า สงฺคาเม วา ปจฺจุปฏฺฐิเต คือ หรือเมื่อสงครามตั้งประชิดกัน. บทว่า ปจฺจตฺถิเกสุ ปจฺจามิตฺเตสุ คือ ในพวกข้าศึกที่เป็นศัตรูกัน. บทว่า อีตึ อุปฺปาเทนฺติ ยังจัญไรให้เกิดขึ้น คือทำความหวั่นไหวปั่นป่วนให้เกิดขึ้นแก่ข้าศึก. บทว่า อุปทฺทวํ อันตรายคือทำการบีบคั้นทางกาย. บทว่า โรคํ คือ พยาธิ. บทว่า ปชฺชรกํ คือ โรคไข้เชื่อมซึม. บทว่า สุลํ คือ โรคจุกเสียด. บทว่า วิสูจิกํ คือ โรคลงราก. บทว่า ปกฺขนฺทิกํ คือ โรคบิด. บทว่า กโรนฺติ คือ ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า สุปินปาฐกา คือ พวกทำนายฝัน.
               บทว่า อาทิสนฺติ คือ พยากรณ์.
               ในบทมีอาทิว่า โย ปุพฺพณฺหสมยํ สุปินํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นฝันในเวลาเช้า เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ แปลว่าในเวลาเช้า.
               บทว่า เอวํ วิปาโก โหติ จะมีผลอย่างนี้ คือจะมีผลเห็นปานนี้ โดยเป็นผลที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า อวกุชฺชนิปนฺโน คนนอนคว่ำ คือนอนคว่ำฝัน พวกทำนายฝันจะทำนายฝันอย่างนี้.
               อนึ่ง ผู้ฝันย่อมฝันด้วยเหตุ ๔ ประการ คือธาตุโขภะ ธาตุกำเริบ ๑ อนุภูตปุพพะ เคยเสพมาก่อน ๑ เทวโตปสังหาระ เทวดาดลใจ ๑ ปุพพนิมิต ลางบอกเหตุ ๑.
               ในความฝัน ๔ ประการนั้น ผู้มีธาตุกำเริบ เพราะดีเป็นต้นกำเริบ ชื่อว่าฝันโดยธาตุกำเริบ. ผู้ฝันโดยเคยเสพมาก่อนแล้ว ย่อมเห็นอารมณ์ที่เคยเสพมาแล้วในกาลก่อน. ฝันโดยเทวดาดลใจ ย่อมเห็นอารมณ์ทั้งหลายด้วยอานุภาพของเทวดาทั้งหลาย. ฝันโดยบอกเหตุล่วงหน้า ย่อมฝันเห็นลางบอกเหตุล่วงหน้าแห่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ อันประสงค์จะให้เกิดด้วยอำนาจบุญและบาป.
               ในความฝันเหล่านั้น ฝันโดยธาตุกำเริบและโดยที่เคยเสพมาก่อนแล้ว ไม่เป็นจริง. ฝันโดยเทวดาดลใจ จริงบ้างไม่จริงบ้าง. เพราะเทวดาโกรธ ประสงค์จะให้ถึงความพินาศโดยอุบาย ก็แสดงทำให้วิปริต. ฝันโดยบอกเหตุล่วงหน้า จริงโดยส่วนเดียว.
               ประเภทแห่งความฝัน ย่อมมีโดยประเภทแห่งความเกี่ยวข้องกันของมูลเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้
               ปุถุชน ผู้เป็นเสกขะย่อมฝัน ๔ อย่างนี้ เพราะยังละความวิปลาสไม่ได้. พระอเสกขะไม่ฝัน เพราะละวิปลาสได้แล้ว.
               เมื่อฝันหลับฝันหรือตื่นฝัน หรือไม่หลับไม่ตื่น.
               ในข้อนี้ผิว่าหลับฝัน ผิดทางอภิธรรมโดยแท้ เพราะว่าฝันด้วยจิตเข้าสู่ภวังค์ (ไม่รู้สึกตัว) ความฝันนั้นไม่มีอารมณ์มีรูปนิมิตเป็นต้น หรือไม่สัมปยุตด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               อนึ่ง เมื่อฝันจิตเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ตื่นฝันจึงผิดทางวินัย เพราะว่าตื่นฝัน ย่อมฝันด้วยจิตเป็นอัพโพหาริก (มีเหมือนไม่มี) ชื่อว่าไม่เป็นอาบัติในเพราะทำการละเมิดด้วยจิตเป็นอัพโพหาริกไม่มี เมื่อผู้ฝันทำการละเมิด ไม่เป็นอาบัติโดยส่วนเดียวเท่านั้น ดังนั้นไม่หลับไม่ตื่นฝัน ใครๆ ก็ไม่ฝัน เมื่อเป็นอย่างนี้ ความฝันก็ไม่มี ไม่ฝันก็ไม่มี. เพราะเหตุไร. เพราะฝันเช่นเดียวกับลิงหลับ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า มหาบพิตร ฝันย่อมเห็นเช่นกับลิงหลับแล.
               บทว่า กปิมิทฺธปเรโต คือ ประกอบแล้วด้วยการนอนหลับของลิง. การหลับใดเปลี่ยนไปเร็ว เพราะเจือด้วยจิตเป็นกุศลเป็นต้นบ่อยๆ การออกจากภวังคจิตบ่อยๆ ย่อมมีในความเป็นไปของการหลับใด ย่อมฝันประกอบด้วยการหลับนั้น เหมือนการหลับของลิงเปลี่ยนแปลงไปได้เร็วฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น ความฝันนี้จึงเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง.
               ในความฝันนั้นพึงทราบว่า ความฝันของบุคคลผู้กระทำการไหว้พระเจดีย์ การฟังธรรมและแสดงธรรมเป็นต้นเป็นกุศล ความฝันของบุคคลผู้กระทำปาณาติบาตเป็นต้นเป็นอกุศล ความฝันนอกเหนือจากสองอย่างนั้นเป็นอัพยากฤต ในขณะที่อารมณ์นั้นเป็นอาวัชชนะ. ความฝันนั้นไม่สามารถฉุดรั้งปฏิสนธิได้ เพราะมีกำลังน้อย แต่กุศลอกุศลอื่นค้ำจุน ย่อมให้วิบากได้ในเพราะยังเป็นไปอยู่.
               พึงทราบวินิจฉัยในลักษณะแก้วมณี ดังต่อไปนี้.
               พวกทำนายลักษณะย่อมทำนายลักษณะของแก้วมณีเป็นต้น ด้วยสีและสัณฐานเป็นต้นอย่างนี้ว่า แก้วมณีอย่างนี้ประเสริฐ อย่างนี้ไม่ประเสริฐ ย่อมเป็นเหตุแห่งความไม่มีโรคและความเป็นใหญ่แก่เจ้าของ.
               ในลักษณะเหล่านั้น บทว่า อาวุธลกฺขณํ ลักษณะอาวุธ คืออาวุธที่เหลือเว้นดาบเป็นต้น.
               แม้ลักษณะหญิงเป็นต้น ก็พึงทราบด้วยอำนาจความเจริญและความเสื่อมของตระกูลที่หญิงและชายเป็นต้นอยู่. ส่วนในลักษณะแพะเป็นต้น ควรทราบความต่างกัน คือเนื้อของแพะเป็นต้นอย่างนี้ควรกิน อย่างนี้ไม่ควรกิน. ในลักษณะเหี้ย พึงทราบความวิเศษดังนี้ บรรดาจิตรกรรมและเครื่องประดับเป็นต้น เมื่อเหี้ยเห็นปานนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี. ลักษณะช่อฟ้าพึงทราบด้วยอำนาจแห่งช่อฟ้า เครื่องประดับบ้าง ช่อฟ้าเรือนบ้าง. แม้ลักษณะเต่าก็เช่นเดียวกับลักษณะเหี้ยนั่นแล. ลักษณะเนื้อ ท่านกล่าวสงเคราะห์เนื้อทุกชนิด ด้วยอำนาจแห่งลักษณะของสัตว์ ๔ เท้าทั้งหมด.
               บทว่า เอวํ ลกฺขณปาฐกา ลกฺขณํ อาทิสนฺติ คือ ผู้บอกตำราทายลักษณะย่อมทายคือย่อมบอกลักษณะอย่างนี้.
               บทว่า นกฺขตฺตานิ คือ ฤกษ์ ๒๘ อย่างมีกัตติกาฤกษ์เป็นต้น.
               บทว่า อิมินา นกฺขตฺเตน ฆรปฺปเวโส กตฺตพฺโพ คือ งานมงคลขึ้นบ้านใหม่ควรทำด้วยฤกษ์นี้.
               บทว่า มกุฏํ พนฺธิตพฺพํ คือ งานมงคลผูกเครื่องประดับ.
               บทว่า วาเรยฺยํ งานมงคลแต่งงาน คือ พวกดูฤกษ์ถึงการทำอาวาหมงคลว่า ท่านทั้งหลายจงนำหญิงจากตระกูลโน้นมาให้แก่ชายด้วยฤกษ์โน้น และบอกการทำวิวาหมงคลว่า พวกท่านจงให้หญิงนี้แก่ชายชื่อโน้นด้วยฤกษ์โน้น ความเจริญจักมีแก่เขาทั้งสองด้วยประการฉะนี้ แล้วทายว่า พึงทำอาวาหมงคลและวิวาหมงคล คือการแต่งงาน.
               บทว่า พีชนีหาโร งานมงคลปลูกพืช คือการนำพืชออกไปภายนอกเพื่อจะหว่าน. บาลีว่า นิหาโร ก็มี.
               บทว่า มิคจกฺกํ เสียงเนื้อและเสียงนกนี้ เป็นชื่อรวมสัตว์ทุกชนิด ท่านกล่าวด้วยสามารถการรู้เสียงร้องของนกและสัตว์สี่เท้าทุกชนิด.
               บทว่า มิคจกฺกปาฐกา ผู้รู้เสียงเนื้อและเสียงนก คือผู้ทายเสียงของนกและสัตว์สี่เท้า.
               บทว่า มิคจกฺกํ อาทิสนฺติ ย่อมทายเสียงเนื้อและนก คือฟังเสียงสัตว์เหล่านั้นแล้วทาย.
               บทว่า รุทํ คือ เสียง. บาลีว่า รุตํ ก็มี.
               บทว่า วสฺสิตํ คือ คำพูด.
               บทว่า คพฺภกรณียา พวกชนปรุงยาให้ตั้งครรภ์ คือปรุงยาให้ตั้งครรภ์ด้วยการให้ยาเพื่อมิให้แพ้.
               จริงอยู่ ครรภ์ย่อมแพ้ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือด้วยลม ๑ ด้วยสัตว์ทั้งหลาย ๑ ด้วยกรรม ๑.
               ในเหตุ ๓ ประการนั้นเมื่อแพ้ด้วยลม ก็ให้ยาเย็นเพื่อแก้ลม. เมื่อแพ้ด้วยสัตว์ก็ทำการต่อต้านสัตว์ทั้งหลาย. แต่เมื่อแพ้ด้วยกรรม แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้น ในที่นี้ จึงไม่ถือเอาการแพ้ด้วยกรรมนั้น.
               บทว่า สาลากิยํ คือ รักษาทางตา.
               บทว่า สลฺลกฺกิตฺติยํ คือ รักษาทางผ่าตัด.
               บทว่า กายติกิจฺฉา รักษาทางกาย คือประกอบยาด้วยรากไม้เป็นต้นแล้วรักษากาย.
               บทว่า ภูติยํ คือ รักษาทางภูตผี.
               บทว่า โกมารกเวชฺชํ รักษาโรคเด็ก.
               บทว่า กุหา คือ เป็นผู้หลอกลวง.
               บทว่า ถทฺธา กระด้าง คือมีร่างกายกระด้างเหมือนท่อนไม้.
               บทว่า ลปา พูดเหลาะแหละ คือพูดเกี่ยวกับปัจจัย.
               บทว่า สิงฺคี คือ ชอบเครื่องประดับเป็นปกติ.
               บทว่า อุนฺนฬา คือ มีมานะยกขึ้นสูงดังไม้อ้อ.
               บทว่า อสมาหิตา ไม่มีสมาธิ คือเว้นจากอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า น คณฺเหยฺย เป็นต้นดังต่อไปนี้
               ไม่พึงถือเอาด้วยการยกขึ้นแสดง. ไม่พึงยึดถือด้วยการท่อง. ไม่พึงทรงไว้ด้วยการตั้งไว้ในจิต. ไม่พึงเข้าไปทรงไว้ด้วยการตั้งไว้ใกล้. ไม่พึงเข้าไปกำหนดด้วยการสอบสวน. ไม่พึงประกอบด้วยการบอกแก่คนเหล่าอื่น.
               บทว่า เปสุเณยฺยํ คือ การพูดส่อเสียด. การชี้แจงที่เหลือมีความได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า กยวิกฺกเย ในการซื้อและการขายคือไม่ควรตั้งอยู่ด้วยการหลอกลวง กับด้วยสหธรรมิกทั้ง ๕ หรือด้วยปรารถนาความเจริญ.
               บทว่า อุปวาทํ ภิกฺขุ น กเรยฺย ภิกษุไม่ควรทำความค่อนขอด คือไม่ให้เกิดกิเลสทำความค่อนขอด ไม่พึงยังความค่อนขอดด้วยสมณะและพราหมณ์อื่นเกิดขึ้นในตน.
               บทว่า คาเม จ นาภิสชฺเชยฺย ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน คือไม่พึงเกี่ยวข้องด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์เป็นต้นในบ้าน.
               บทว่า ลาภมฺยตา ชนํ น ลเปยฺย คือ ไม่พึงพูดเลียบเคียงกะชน เพราะความอยากได้ลาภ.
               บทว่า เย กยวิกฺกยา วินเย ปฏิกฺขิตฺตา การซื้อและการขายเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไว้ในวินัย คือการซื้อและการขายเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไว้ใน กยวิกฺกยสิกขาบท ด้วยการให้และการรับ ว่าไม่ควร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงการซื้อและการขายที่ประสงค์ในที่นี้ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ปญฺจนฺนํ สทฺธึ ปตฺตํ วา จีวรํ วา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจนฺนํ สทฺธึ คือ กับด้วยสหธรรมิก ๕ จำพวก. สหธรรมิก ๕ จำพวกได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณรและสามเณรี.
               บทว่า วญฺจนิยํ วา ความหลอกลวง คือแสดงความหลอกลวงว่าสมควร.
               บทว่า อุทยํ วา ปฏฺฐยนฺโต คือ ปรารถนาความเจริญ.
               บทว่า ปริวตฺเตติ คือ ทำการแลกเปลี่ยน.
               บทว่า อิทฺธิมนฺโต มีฤทธิ์ คือมีอำนาจให้เกิดความสำเร็จ.
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุกา คือ มีญาณจักขุเช่นกับทิพย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้ญาณจักษุด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยพร้อมด้วยทิพพวิหารธรรม.
               บทว่า ปรจิตฺตวิทุโน รู้จิตผู้อื่น คือรู้จิตของผู้อื่นด้วยจิตของตน.
               บทว่า เต ทูรโตปิ ปสฺสนฺติ สมณพราหมณ์พวกนั้น คนเห็นได้แต่ไกลบ้าง คือเห็นแต่จักรวาลโยชน์หนึ่งบ้าง ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๑,๐๐๐ โยชน์บ้าง ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์บ้าง จักรวาลหนึ่งบ้าง ๒-๓-๔-๕-๑๐-๒๐-๔๐-๑,๐๐๐ จักรวาลบ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง.
               บทว่า อาสนฺนาปิ น ทิสฺสนฺติ อยู่ใกล้ไม่ปรากฏบ้าง คือยืนอยู่ใกล้บ้าง นั่งอยู่ใกล้บ้าง ย่อมไม่ปรากฏ.
               บทว่า เจตสาปิ จิตฺตํ ปชานนฺติ คือ รู้จิตผู้อื่นแม้ด้วยจิตของตน.
               บทว่า เทวตาปิ โข สนฺติ อิทฺธิมนฺตินิโย พวกเทวดาผู้มีฤทธิ์ คือเทวดาผู้มีอำนาจให้ความสำเร็จมีอยู่อย่างนี้.
               บทว่า ปรจิตฺตวิทุนิโย คือ รู้จิตของผู้อื่น.
               บทว่า โอฬาริเกหิ วา กิเลเสหิ ด้วยกิเลสหยาบ คือด้วยความเดือดร้อนมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า มชฺฌิมเกหิ วา กิเลสปานกลางมีกามวิตกเป็นต้น.
               บทว่า สุขุมเกหิ วา กิเลสละเอียดมีวิตกถึงญาติเป็นต้น.
               พึงทราบกายทุจริตเป็นต้นด้วยกรรมบถ. พึงทราบกามวิตกเป็นต้นด้วยกิเลสอันมีวัฏฏะเป็นมูล.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิตกถึงญาติเป็นต้น ดังต่อไปนี้ :-
               วิตกเกิดขึ้นเพราะปรารภญาติทั้งหลายด้วยความรัก อาศัยกามคุณ ๕ อย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเรามีความเป็นอยู่สบายมีสมบัติดังนี้ ชื่อว่าวิตกถึงญาติ. แต่วิตกเป็นไปอย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายมีศรัทธาเลื่อมใสได้ถึงความสิ้นไป เสื่อมไปเสียแล้วดังนี้ ไม่ชื่อว่าวิตกถึงญาติ.
               วิตกเกิดขึ้นด้วยความรักอาศัยเรือนของผู้มีใจยินดีว่า ชนบทของเรามีภิกษาหาได้ง่าย มีข้าวกล้าสมบูรณ์ดังนี้ ชื่อว่าวิตกถึงชนบท.
               วิตกเป็นไปอย่างนี้ว่า มนุษย์ทั้งหลายในชนบทของเรา ที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้ถึงความสิ้นไป ความเสื่อมไปเสียแล้วดังนี้ ไม่ชื่อว่าวิตกถึงชนบท.
               วิตกถึงความไม่ตาย หรือว่าความวิตกถึงอมรเทพ ชื่อว่าวิตกถึงอมรเทพ.
               วิตกประกอบแล้วด้วยการทำทุกรกิริยานั้นของผู้ทำทุกรกิริยาด้วยคิดว่า ตนจะมีความสุขไม่ตายในภพหน้า ถึงจะแก่แล้ว ด้วยทุกข์ทั้งหลายมีการทำความเพียรด้วยการนั่งกระหย่งเป็นต้น ชื่อว่าวิตกถึงความไม่ตาย.
               ส่วนเจ้าทิฏฐิถูกเขาถามคำมีอาทิว่า ท่านจงบอกถึงสัสสตทิฏฐิดังนี้ ย่อมถึงความลำบากใจว่า เราไม่รู้ว่าอย่างนี้ก็ใช่ เราไม่รู้ว่าอย่างนั้นก็ใช่ อย่างอื่นก็ใช่ เราก็ไม่รู้ว่าไม่มีก็ใช่ เราไม่รู้ว่าไม่มีหามิได้ก็ใช่ ดังนี้ วิตกของเจ้าทิฏฐินั้นเป็นวิตกประกอบด้วยทิฏฐิ.
               เทพชื่ออมรเพราะไม่ตาย โดยไม่มีสัณฐานแม้ในส่วนเดียว เหมือนปลาชื่อว่าอมร ใครๆ ไม่อาจจับในน้ำเอามาฆ่าได้ ว่ายไปข้างโน้นข้างนี้จนจับไม่ได้ฉะนั้น แม้ทั้งสองนั้น ท่านกล่าวรวมเป็นอันเดียวกันว่า อมรวิตกฺโก วิตกถึงเทพอมร.
               บทว่า ปรานุทฺทยตาปฏิสํยุตฺโต วิตกประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น คือประกอบด้วยความรักอาศัยเรือนเหมือนกันกับความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น คือเมื่ออุปัฏฐากยินดีและเศร้าโศก ภิกษุย่อมยินดีและเศร้าโศกสองเท่ากับด้วยอุปัฏฐากเหล่านั้น เมื่ออุปัฏฐากเหล่านั้นมีความสุข ภิกษุก็มีความสุขสองเท่า เมื่ออุปัฏฐากมีความทุกข์ ภิกษุก็มีความทุกข์สองเท่า เมื่อกิจที่จะต้องทำเกิดขึ้น ภิกษุขวนขวายย่อมทำกิจนั้นให้สำเร็จ ย่อมล่วงบัญญัติ ยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ.
               วิตกใดอาศัยเรือนในเพราะอยู่เกี่ยวข้องกัน หรือในเพราะขวนขวายช่วยเหลือกันนั้น นี้ชื่อว่าวิตกประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น.
               บทว่า ลาภสกฺการสิโลกปฏิสํยุตฺโต วิตกประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ คือวิตกประกอบด้วยทำความยินดีกับด้วยลาภมีจีวรเป็นต้น ด้วยสักการะและด้วยชื่อเสียง.
               บทว่า อนวญฺญตฺติปฏิสํยุตฺโต วิตกประกอบด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น คือวิตกเกิดกับความปรารถนาความไม่ถูกดูหมิ่นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ คนอื่นจะไม่พึงดูหมิ่นเรา ไม่พึงพูดทักท้วงข่มเหงเรา.
               วิตกเกิดขึ้นอาศัยเรือนคือกามคุณ ๕ ในเมื่อจิตเกิดขึ้นว่าคนอื่นอย่าได้ดูหมิ่นเราเลยดังนี้ ชื่อว่าวิตกประกอบด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺถ สชฺชติ คือ ภิกษุย่อมเกี่ยวข้องในที่นั้นๆ คือติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺถ คณฺหาติ ย่อมรับในที่นั้นๆ คือเข้าไปสู่อารมณ์ดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า พชฺฌติ ผูกพัน คือย่อมผูกพัน ย่อมเป็นอันเดียวกันกับด้วยอารมณ์นั้นๆ.
               บทว่า อนยพฺพยสนํ ความฉิบหาย คือความไม่เจริญและความพินาศในที่นั้นๆ.
               บทว่า อาปชฺชติ แปลว่า ย่อมถึง.
               บทว่า อามิสฺสจกฺขุกสฺส ภิกษุผู้เห็นแก่อามิส คือผู้โลเลด้วยอามิสมีจีวรเป็นต้น.
               บทว่า โลกธมฺมครุกสฺส หนักอยู่ในโลกธรรม คือละโลกุตรธรรม พูดหนักอยู่แต่โลกธรรมมีรูปเป็นต้นเท่านั้น.
               บทว่า อาลปนา การพูดหว่านล้อม คือเห็นมนุษย์ทั้งหลายมาวิหาร แล้วพูดเลียบเคียงตั้งแต่ต้นอย่างนี้ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านมาเพื่ออะไร หรือจะมานิมนต์ภิกษุ หากว่าเป็นอย่างนั้น เชิญพวกท่านไปเถิด อาตมาจะมารับภายหลัง.
               อีกอย่างหนึ่ง พูดแนะนำตนแล้วพูดเลียบเคียง แนะนำตนอย่างนี้ว่า อาตมาชื่อติสสะ พระราชาทรงเลื่อมใสในอาตมา มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้นๆ ก็เลื่อมใสในอาตมา ดังนี้ ชื่อว่าพูดหว่านล้อม.
               บทว่า ลปนา พูดเลียบเคียง คือเมื่อถามแล้วก็พูดเลียบเคียงดังที่ได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สลฺลปนา พูดเลียบเคียงด้วยดี คือหาโอกาสให้ของที่ดีเลิศแก่คหบดีทั้งหลายแล้วพูดเลียบเคียงด้วยดี.
               บทว่า อุลฺลปนา การพูดยกย่อง คือพูดยกให้สูงอย่างนี้ว่า เป็นมหากุฎุมพี เป็นผู้ให้ทานมาก เป็นมหาทานบดีดังนี้.
               บทว่า สมุลฺลปนา พูดยกย่องด้วยดี คือพูดยกให้สูงในทุกส่วนด้วยประการทั้งปวง.
               บทว่า อุนฺนหนา การพูดผูกพัน คือภิกษุพูดว่า อุบาสกทั้งหลาย เมื่อในกาลเช่นนี้พวกท่านให้ทานใหม่ เพราะเหตุไรเดี๋ยวนี้ไม่ให้เล่า พวกอุบาสกกล่าวคำเป็นต้นว่า พระคุณเจ้า กระผมจักถวายตลอดเวลา แต่พวกกระผมยังไม่ได้โอกาส. ชื่อว่าพูดผูกพันให้สูงไว้ก่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นเขาถืออ้อย ถามว่า อุบาสกเอาอ้อยมาจากไหน. เขาตอบว่า เอามาจากไร่อ้อย ขอรับ. ถามว่า อ้อยที่ไร่นั้นมีรสอร่อยดีดอกหรือ. เขาตอบว่า พระคุณเจ้าฉันแล้วจะรู้เอง. ควรพูดว่าอุบาสก พวกท่านอย่าถวายอ้อยแก่ภิกษุเลย. การพูดผูกพันแม้ของภิกษุผู้ไขความอย่างนี้ ก็ชื่อว่าพูดผูกพัน. การพูดผูกพันบ่อยๆ ทุกส่วนโดยประการทั้งปวง ชื่อว่าการพูดผูกพันด้วยดี.
               บทว่า อุกฺกาจนา การพูดอวดอ้าง คือพูดอวดอย่างนี้ว่า ตระกูลนั้นรู้จักเราดี หากไทยธรรมเกิดขึ้นในที่นี้ ก็จะให้เราแน่นอน. อธิบายว่า การอวดอ้าง. การพูดอวดบ่อยๆ ทุกๆ ส่วนโดยประการทั้งปวง ชื่อว่าการพูดอวดอ้างด้วยดี.
               บทว่า อนุปฺปิยภาณิณา การพูดฝากรัก คือพูดด้วยคำน่ารักบ่อยๆ ด้วยอำนาจปัจจัย.
               บทว่า สณฺหวาจตา การพูดอ่อนหวาน คือพูดอ่อนโยน.
               บทว่า สขิลวาจตา พูดไพเราะ คือพูดพอดีๆ หรือพูดแต่น้อย.
               บทว่า ลิตฺตวาจตา คือ พูดหนักแน่น.
               บทว่า อผรุสวาจตา พูดไม่หยาบ คือพูดไพเราะ.
               บทว่า โปราณํ มาตาเปตฺติกํ คือ ชื่อครั้งที่เกิดเป็นของมารดาบิดาตั้งให้.
               บทว่า อาหิตํ คือ ชื่อนั้นปกปิดเป็นเรื่องภายใน.
               บทว่า ญายามิ คือ ฉันย่อมปรากฏ.
               บทว่า อสุกสฺส กุลูปโก เป็นกุลูปกะ (ผู้เข้าสู่ตระกูล) ของอุบาสกโน้น คือเป็นผู้เข้าถึงตระกูลของอำมาตย์โน้น.
               บทว่า อสุกาย คือ อุบาสิกาโน้น.
               บทว่า มํ อุสฺสชฺชิตฺวา คือ ลืมฉันเสียแล้ว.
               บทว่า ปยุตฺตํ คือ มุ่งแต่จะได้ด้วยจีวรเป็นต้น หรือมุ่งประโยชน์นั้น.
               การขยายความคาถานี้ทั้งหมดมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า โมสวชฺเชน นิยฺเยถ คือ ภิกษุพึงเว้นจากการพูดเท็จ.
               บทว่า ชีวิเตน คือ ด้วยความเป็นอยู่.
               บทว่า สโฐ เป็นผู้โอ้อวด คือไม่พูดชอบ เพราะแสดงคุณที่ไม่มี. เป็นผู้โอ้อวดทุกๆ ส่วนโดยประการทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้อวดอ้าง.
               บทว่า ยํ ตตฺถ คือ ที่มีในบุคคลนั้น.
               บทว่า สฐํ ความโอ้อวด คือหลอกลวงแสดงคุณที่ไม่มี.
               บทว่า สฐตา กิริยาที่โอ้อวด คืออาการโอ้อวด.
               บทว่า สาเฐยฺยํ คือ ความเป็นผู้โอ้อวด.
               บทว่า กกฺกรตา ความเป็นผู้พูดกระด้าง คือความเป็นผู้หยาบคาย ไม่กล้าจับต้องดุจความระคายของก้านบัวฉะนั้น.
               แม้บทว่า กกฺกริยํ ก็เป็นไวพจน์ของบทว่า กกฺกรตา นั้นนั่นเอง.
               ท่านกล่าวความหลอกลวงอย่างหนักแน่นดุจฝังไว้ด้วยสองบทว่า ปริกฺขตฺตตา ปริกฺขตฺติยํ ความเป็นผู้เห่อเหิม กิริยาที่เห่อเหิม.
               แต่อาจารย์บางพวกพรรณนาความนี้ว่า
               บทว่า กกฺกรตา คือ พูดยกย่อง.
               บทว่า กกฺกริยํ กิริยาที่พูดยกย่อง.
               บทว่า ปริกฺขตฺตตา คือ อาการตกแต่ง.
               บทว่า ปริกฺขตฺติยํ คือ กิริยาที่ตกแต่ง.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ คือ นี้ท่านเรียกว่าเป็นผู้โอ้อวด มีลักษณะประกาศคุณที่ไม่มีอยู่แก่ตน. ท้องหรือหลังของบุคคลผู้ประกอบด้วยความโอ้อวดนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้. เช่นเดียวกับยักขสุกรกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         สุกรเป็นอยู่โดยเบื้องซ้าย แพะและเนื้อเป็นอยู่โดย
                         เบื้องขวา แกะเป็นอยู่ด้วยเสียง โคแก่เป็นอยู่ด้วยเขา.
               บทว่า อติมญฺญติ ย่อมดูหมิ่น คือล่วงเกิน.
               บทว่า กึ ปนายํ พหุลาชีโว คือ ภิกษุนี้ทำไมจึงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย.
               บทว่า สพฺพํ สมฺภกฺเขติ ย่อมฉันพืชทั้งปวง คือฉันพืชที่ได้แล้วๆ.
               บทว่า อปฺปปุญฺโญ คือ มีบุญน้อย.
               บทว่า อปฺเปสกฺโข มีศักดิ์น้อย คือไม่มีบริวาร.
               บทว่า ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือมีปัญญาสมบูรณ์บริบูรณ์.
               บทว่า ปญฺหํ วิสชฺเชติ คือ กล่าวแก้ปัญหาได้.
               บทว่า สุตฺวา ทูสิโต พหุํ วาจํ สมณานํ วา ปุถุชนานํ ภิกษุถูกประทุษร้ายได้ฟังวาจามากของพวกสมณะ หรือของคนผู้มีถ้อยคำมากคือถูกประทุษร้าย เสียดสี ได้ฟังวาจาที่ไม่น่าปรารถนาแม้มากของสมณะเหล่านั้น หรือของปุถุชนเหล่าอื่นมีกษัตริย์เป็นต้น.
               บทว่า น ปฏิวชฺช คือ ไม่พึงโต้ตอบ. เพราะอะไร. เพราะภิกษุผู้สงบย่อมไม่ทำผู้อื่นให้เป็นศัตรู.
               บทว่า กกฺขเลน คือ ด้วยคำหยาบ.
               บทว่า สนฺโต ผู้สงบ คือดับกิเลสได้แล้ว.
               บทว่า ปฏิเสนึ คือ ศัตรู.
               บทว่า ปฏิมลฺลํ คือ ข้าศึก.
               บทว่า ปฏิกณฺฏํ คือ เป็นเวร.
               บทว่า ปฏิปกฺขํ เป็นปฏิปักษ์ คือเป็นปฏิปักษ์ด้วยกิเลส. อธิบายว่า ไม่ทำความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจกิเลส.
               บทว่า เอตญฺจ ธมฺมมญฺญาย รู้ธรรมนั้นแล้ว คือรู้ธรรมตามที่กล่าวแล้วนั้นทั้งหมด.
               บทว่า วิจินํ คือ ค้นคว้าอยู่.
               บทว่า สนฺตีติ นิพฺพุตึ ญตฺวา คือ รู้ความดับราคะเป็นต้นว่า เป็นความสงบ.
               บทว่า สมญฺจ ธรรมอันเสมอ คือกายสุจริตเป็นต้น.
               บทว่า วิสมญฺจ ธรรมอันไม่เสมอมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า ปถญฺจ ธรรมเป็นทาง คือกุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า วิปถญฺจ ธรรมไม่เป็นทาง คืออกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า สาวชฺชญฺจ ธรรมมีโทษ คืออกุศล.
               บทว่า อนวชฺชญฺจ ธรรมไม่มีโทษ คือกุศล.
               แม้บทว่า หีนปฺปณีตกณฺหสุกฺกวิญฺญูครหิตปฺปสตฺถํ ธรรมเลว ธรรมประณีต ธรรมดำ ธรรมขาว ธรรมที่วิญญูชนติเตียน ธรรมที่วิญญูชนสรรเสริญแม้นี้ ก็เป็นกุศลและอกุศลนั่นเอง.
               ในธรรมเป็นกุศลและอกุศลเหล่านั้น กายสุจริตเป็นต้นเป็นธรรมอันเสมอ เพราะทำให้เสมอ. กายทุจริตเป็นต้นเป็นธรรมอันไม่เสมอ เพราะทำให้ไม่เสมอ. กุศลกรรมบถเป็นทาง เพราะเป็นทางไปสุคติ. อกุศลกรรมบถไม่เป็นทาง เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อการไปสุคติ เพราะเป็นทางไปอบาย. อกุศลชื่อว่าเป็นธรรมมีโทษ เพราะเป็นไปกับด้วยโทษ. กุศลชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เพราะมีโทษออกไปแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อว่าเป็นธรรมเลว เพราะประกอบด้วยโมหะบ้าง โมหะและโทสะบ้าง โมหะและโลภะบ้าง. ชื่อว่าเป็นธรรมประณีต เพราะประกอบด้วยอโลภะ อโทสะและอโมหะ. ชื่อว่าเป็นธรรมดำ เพราะมีวิบากดำ. ชื่อว่าเป็นธรรมขาว เพราะมีวิบากขาว. ชื่อว่าเป็นธรรมอันวิญญูชนติเตียน เพราะวิญญูชนมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงติเตียน. ชื่อว่าเป็นธรรมอันวิญญูชนสรรเสริญ เพราะอันวิญญูชนเหล่านั้นนั่นแล สรรเสริญ.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร ภิกษุไม่พึงประมาท. พึงทราบคาถาว่า อภิภู หิ โส เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิภู คือ เป็นผู้ครอบงำรูปเป็นต้น.
               บทว่า อนภิภูโต ไม่ถูกครอบงำ คือไม่ถูกรูปเป็นต้นเหล่านั้นครอบงำ.
               บทว่า สกฺขิธมฺมํ อนีติหมทสฺสี ได้เห็นแล้วซึ่งสักขิธรรมโดยไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่น คือได้เห็นธรรมแจ่มแจ้งแล้วโดยไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่น.
               บทว่า สทา นมสฺสมนุสิกฺเข นมัสการอยู่ พึงหมั่นศึกษาในกาลทุกเมื่อ คือนมัสการอยู่พึงศึกษาสิกขา ๓.
               บทว่า เกหิจิ กิเลเสหิ คือ ด้วยกิเลสอันทำให้เร่าร้อนมีราคะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อธิโภสิ เน คือ ครอบงำกิเลสเหล่านั้นได้แล้ว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงชัดดีแล้ว.
               แต่ในที่นี้พึงทราบการสำรวมอินทรีย์ ด้วยบทมีอาทิว่า ไม่เป็นผู้โลเลด้วยจักษุอย่างเดียวเท่านั้น.
               พึงทราบปัจจยปฏิเสวนศีล (ศีลคือการเสพปัจจัย) มีการห้ามการสะสมเป็นหลัก ด้วยบทมีอาทิว่า แห่งข้าวหรือแห่งน้ำทั้งหลาย.
               พึงทราบปาติโมกขสังวรศีล (ศีลคือการสำรวมในปาติโมกข์) ด้วยบทมีอาทิว่า เว้นการพูดเท็จ.
               พึงทราบอาชีวปาริสุทธศีล (ศีลคืออาชีวะบริสุทธิ์) ด้วยบทมีอาทิว่า ทำอาถรรพณ์ ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ.
               พึงทราบสมาธิด้วยบทนี้ว่า พึงเป็นผู้เพ่ง.
               พึงทราบไตรสิกขาโดยสังเขปด้วยบทมีอาทิว่า พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการสงเคราะห์และการบรรเทา อันเป็นอุปจาระแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยบทมีอาทิว่า ภิกษุพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนอันมีเสียงน้อย ไม่พึงเห็นแก่นอนมากนัก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสปฏิปทาบริบูรณ์แก่พระพุทธนิมิตอย่างนี้แล้ว ทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.
               เมื่อจบเทศนา ได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้แล้วในปุราเภทสูตรนั้นแล.


               จบอรรถกถาตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=7639&Z=9093
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=8634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=8634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :