ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               บทว่า วิริยสมาทานมฺปิ ได้แก่ แม้การถือเอาความเพียร.
               บทว่า กามํ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ส่วนเดียว.
               บทว่า ตโจ จ นหารู จ ได้แก่ ผิวหนังและเส้นเอ็นทั้งหลาย.
               บทว่า อฏฺฐิ จ ได้แก่ กระดูกทั้งหมด.
               บทว่า อวสุสฺสตุ ได้แก่ จงเหือดแห้งไป.
               บทว่า อุปสุสฺสตุ มํสโลหิตํ ความว่า เนื้อและเลือดทั้งหมดจงเหือดแห้งไป.
               บทว่า ตโจ ได้แก่ อวัยวะส่วนหนึ่ง.
               บทว่า นหารู ได้แก่ อวัยวะส่วนหนึ่ง.
               บทว่า อฏฺฐิ ได้แก่ อวัยวะส่วนหนึ่ง.
               บทว่า อุปสุสฺสตุ มํสโลหิตํ ได้แก่ อวัยวะส่วนหนึ่ง.
               บทว่า ยนฺตํ เป็นบทเชื่อมกับบทที่จะพึงกล่าวข้างหน้า.
               บทว่า ปุริสถาเมน ได้แก่ ด้วยกำลังทางกายของบุรุษ.
               บทว่า พเลน ได้แก่ ด้วยกำลังญาณ.
               บทว่า วิริเยน ได้แก่ ด้วยวิริยานุภาพแห่งญาณทางใจ.
               บทว่า ปรกฺกเมน ได้แก่ ด้วยการก้าวไปสู่ฐานะข้างหน้าๆ คือด้วยความเพียรที่ถึงขั้นอุตสาหะ.
               บทว่า ปตฺตพฺพํ ได้แก่ อิฐผลนั้นใดที่พึงบรรลุ.
               บทว่า น ตํ อปาปุณิตฺวา ได้แก่ ยังไม่บรรลุอิฐผลที่พึงบรรลุนั้น.
               บทว่า วิริยสฺส สณฺฑานํ ภวิสฺสติ ความว่า ความย่อหย่อน คือความจมลงแห่งความเพียร ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว จักไม่มี. ปาฐะว่า สณฺฐานํ ก็มี ความก็อย่างนี้แหละ.
               บทว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ความว่า ประคองจิต คืออุตสาหะ.
               บทว่า ปทหติ ความว่า ได้ตั้งอยู่เฉพาะ.
               บทว่า นาสิสฺสํ ความว่า เราจักไม่เคี้ยวกิน คือจักไม่บริโภค.
               บทว่า น ปิวิสฺสามิ ความว่า จักไม่ดื่มข้าวยาคูและน้ำดื่มเป็นต้น
               บทว่า วิหารโต น นิกฺขเม ความว่า ไม่พึงออกภายนอกเสนาสนะ.
               บทว่า นปิ ปสฺสํ นิปาเตสฺสํ ความว่า จักไม่ทำให้ศีรษะตกคือตั้งอยู่บนเตียง ตั่ง พื้นหรือบนที่ปูลาดคือเสื่อลำแพน.
               บทว่า ตณฺหาสลฺเล อนูหเต ความว่า เมื่อลูกศรกล่าวคือตัณหา เรายังถอนไม่ได้. อธิบายว่า ยังไม่ปราศจากไป.
               บทว่า อิมํ ปลฺลงฺกํ ได้แก่ การนั่งเนื่องด้วยขาที่คู้เข้าโดยรอบ.
               บทว่า น ภินฺทิสฺสามิ ได้แก่ จักไม่ละ.
               บทว่า ยาว เม น อนุปาทาย ได้แก่ ไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน ๔.
               บทว่า อาสเวหิ ได้แก่ จากอาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้น.
               บทว่า วิมุจฺจิสฺสติ ได้แก่ จักยังไม่หลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุตติ.
               บทเริ่มต้นว่า น ตาวาหํ อิมมฺหา อาสนา วุฏฺฐหริสฺสามิ จนถึงบทว่า รุกฺขมูลา นิกฺขมิสฺสามิ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งโอกาส.
               บทว่า อิมสฺมึเยว ปุพฺพณฺหสมยํ อริยธมฺมมาหริสฺสามิ จนถึงบทว่า คิมฺเห ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งกาล.
               บทว่า ปุริเม วโยขนฺเธ เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งวัยเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสนา น วุฏฺฐิหิสฺสามิ ความว่า จักไม่ลุกจากอาสนะที่นั่งแล้ว.
               บทว่า อฑฺฒโยคา ได้แก่ เรือนเพิง.
               บทว่า ปาสาทา ได้แก่ ปราสาทยาว.
               บทว่า หมฺมิยา ได้แก่ เรือนโล้น.
               บทว่า คุหาย ได้แก่ ถ้ำฝุ่น.
               บทว่า เลณา ได้แก่ ถ้ำภูเขาทั้งที่มีขอบเขตและไม่มี.
               บทว่า กุฏิยา ได้แก่ กุฎีที่ฉาบทาเป็นต้น.
               บทว่า กูฏาคารา ได้แก่ เรือนที่ยกยอดขึ้นทำ.
               บทว่า อฏฺฏา ได้แก่ หอคอยบนหลังคาประตู.
               บทว่า มาฬา ได้แก่ โรงกลม. ที่อยู่อาศัยพิเศษอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเรือนที่มีเครื่องกั้น บางท่านกล่าวว่า เรือนที่มีหลังคาก็มี.
               บทว่า อุปฏฺฐานสาลา ได้แก่ หอประชุม หรือหอฉัน มณฑปเป็นต้นก็ปรากฏเหมือนกัน.
               บทว่า อริยธมฺมํ ได้แก่ ธรรมที่ปราศจากโทษ หรือธรรมของพระอริยะทั้งหลายคือของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย.
               บทว่า อาหริสฺสามิ ได้แก่ จักนำมาใกล้จิตของเราด้วยศีล.
               บทว่า สมาหริสฺสามิ ได้แก่ จักนำมาเป็นพิเศษด้วยสมาธิ.
               บทว่า อธิคจฺฉิสฺสามิ ได้แก่ จักถึงด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะด้วยธุดงค์.
               บทว่า ผสฺสยิสฺสามิ ได้แก่ จักถูกต้องด้วยมรรค.
               บทว่า สจฺฉิกริสฺสามิ ได้แก่ จักกระทำให้ประจักษ์ด้วยผล.
               อีกนัยหนึ่ง จักนำมาด้วยโสดาปัตติมรรค, จักนำมาด้วยดีด้วยสกทาคามิมรรค จักบรรลุด้วยอนาคามิมรรค. จักถูกต้องด้วยอรหัตตมรรค, จักกระทำให้แจ้งด้วยปัจจเวกขณะ.
               บทว่า ผสฺสยิสฺสามิ ในนัยทั้งสอง มีความว่า จักถูกต้องนิพพานด้วยนามกาย.
               บทว่า อปุฏฺโฐ เป็นบทเดิม บทนั้นมีความว่า อันใครๆ ไม่ถาม.
               บทว่า อปุจฺฉิโต ความว่า ไม่ให้รู้แล้ว.
               บทว่า อยาจิโต ความว่า ไม่ขอร้อง.
               บทว่า อนชฺเฌสิโต ความว่า ไม่บังคับ. บางท่านกล่าวว่า ไม่ปรารถนา.
               บทว่า อปฺปสาทิโต ความว่า ไม่เชื้อเชิญ.
               บทว่า ปาวทติ ความว่า ย่อมกล่าว.
               บทว่า อหมสฺมิ แปลว่า เป็นเรา.
               บทว่า ชาติยา วา ความว่า ด้วยชาติกษัตริย์และชาติพราหมณ์บ้าง.
               บทว่า โคตฺเตน วา ความว่า ด้วยโคตมโคตรเป็นต้นบ้าง.
               บทว่า โกลปุตฺติเยน วา ความว่า ด้วยความเป็นบุตรของตระกูลบ้าง.
               บทว่า วณฺณโปกฺขรตาย วา ความว่า ด้วยความเป็นผู้มีรูปร่างงามบ้าง.
               บทว่า ธเนน วา ความว่า ด้วยทรัพย์สมบัติบ้าง.
               บทว่า อชฺเฌเนน วา ความว่า ด้วยกระทำการเชื้อเชิญบ้าง.
               บทว่า กมฺมายตเนน วา การงานนั่นแหละ ชื่อว่ากัมมายตนะ ด้วยการงานนั้นมีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นบ้าง.
               บทว่า สิปฺปายตเนน วา ความว่า ด้วยธนูศิลป์เป็นต้นบ้าง.
               บทว่า วิชฺชฏฺฐาเนน วา ความว่า ด้วยวิทยฐานะ ๑๘ อย่างบ้าง.
               บทว่า สุเตน วา ความว่า ด้วยคุณคือความเป็นพหูสูตบ้าง.
               บทว่า ปฏิภาเณน วา ความว่า ด้วยญาณกล่าวคือปฏิภาณในเหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า อุจฺจากุลา ความว่า จากตระกูลกษัตริย์และตระกูลพราหมณ์.
               ด้วยบทนี้ ย่อมแสดงความเป็นใหญ่โดยชาติและโคตร.
               บทว่า มหาโภคกุลา ความว่า จากตระกูลคฤหบดีมหาศาล.
               ด้วยบทนี้ ย่อมแสดงความเป็นใหญ่โดยความมั่งคั่ง.
               บทว่า อุฬารโภคกุลา ความว่า จากตระกูลแพศย์ที่เหลือลงเป็นต้น.
               ด้วยบทนี้ ย่อมแสดงถึงทองและเงินเป็นต้นมากมาย ด้วยว่าแม้พวกจัณฑาลก็มีโภคะโอฬาร.
               บทว่า ญาโต แปลว่า ปรากฏ.
               บทว่า ยสสี ความว่า ถึงพร้อมด้วยบริวาร.
               บทว่า สุตฺตนฺติโก แปลว่า เป็นผู้ขวนขวายในพระสูตร.
               บทว่า วินยธโร แปลว่า เป็นผู้ทรงพระวินัยปิฎก.
               บทว่า ธมฺมกถิโก แปลว่า ผู้ชำนาญพระอภิธรรม.
               บทว่า อารญฺญิโก เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งธุดงค์.
               บทว่า ปฐมสฺส ฌานสฺส ลาภี เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแสดงรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติ ๘ แล้วแสดงปฏิเวธ.
               บทว่า ปาวทติ เป็นบทเดิม.
               บทว่า กเถติ ความว่า ย่อมกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ผู้ทรงปิฎก.
               บทว่า ภณติ ความว่า กระทำให้ปรากฏว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือธุดงค์.
               บทว่า ทีปยติ ความว่า ชี้แจงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้รูปฌาน.
               บทว่า โวหรติ ความว่า เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อรูปฌาน.
               บทว่า ขนฺธกุสลา ความว่า ผู้ฉลาดในสามัญลักษณะซึ่งเป็นไปกับด้วยลักษณะในขันธ์ ๕. อธิบายว่า ผู้ฉลาดด้วยสามารถแห่งญาตปริญญา ตีรณปริญญาและปหานปริญญา. แม้ในธาตุ อายตนะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า นิพฺพานกุสลา ความว่า ผู้ฉลาดในนิพพาน.
               บทว่า อนริยานํ ได้แก่ มิใช่อริยะ.
               บทว่า เอโส ธมฺโม ได้แก่ สภาวะนี้.
               บทว่า พาลานํ ได้แก่ พวกมิใช่บัณฑิต.
               บทว่า อสปฺปุริสานํ ได้แก่ พวกมิใช่คนดี.
               บทว่า อตฺตา ได้แก่ ซึ่งตน.
               บทว่า สนฺโต ความว่า ชื่อว่าผู้สงบเพราะความเข้าไปสงบกิเลสมีราคะเป็นต้น, ชื่อว่าผู้ดับกิเลสในตนแล้วก็เหมือนกัน.
               บทว่า อิติหนฺติ สีเลสุ อกตฺถมาโน ความว่า ไม่อวดในศีลทั้งหลาย โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยประการฉะนี้. ท่านอธิบายไว้ว่า ไม่กล่าววาจาโอ้อวดตนซึ่งเป็นนิสิตแห่งศีล.
               บทว่า ตมริยธมฺมํ กุสลา วทนฺติ ความว่า ผู้ฉลาดในขันธ์เป็นต้นมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมกล่าวความไม่อวดในศีลของภิกษุนั้นว่า นี้เป็นอริยธรรม.
               บทว่า ยสฺสุสฺสทา นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก ความว่า กิเลส ๗ ประการมีราคะเป็นต้นเป็นเหตุฟูขึ้น มิได้มีแก่ภิกษุใด คือแก่พระขีณาสพในที่ไหนๆ ในโลก. เชื่อมความว่าผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าวความไม่อวดนั้นของภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า นี้เป็นอริยธรรม.
               บทว่า สนฺโต เป็นบทเดิม.
               บทว่า ราคสฺส สมิตตฺตา ความว่า เพราะระงับราคะซึ่งมีความกำหนัดเป็นลักษณะได้ แม้ในโทสะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า วิชฺฌาตตฺตา ความว่า เพราะเผากิเลสเครื่องเร่าร้อนทั้งปวงได้.
               บทว่า นิพฺพุตตฺตา ความว่า เพราะดับกิเลสเครื่องเผาทั้งปวงได้.
               บทว่า วิคตตฺตา ความว่า เพราะปราศจากคือไกลอภิสังขารฝ่ายอกุศลทั้งปวง.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺธตฺตา ความว่า เพราะความเกิดขึ้นแห่งความสงบระงับโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า สตฺตนฺนํ ธมฺมานํ ภินฺนตฺตา ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการที่จะกล่าวข้างหน้าดำรงอยู่. กิเลส ๓ อย่างเหล่านี้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทำลายด้วยโสดาปัตติมรรค. กิเลสอย่างหยาบ ๒ อย่างเหล่านี้ คือ กามราคะ โทสะ ทำลายได้ด้วยสกทาคามิมรรค, กิเลส ๒ อย่างเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นอย่างละเอียด ทำลายได้ด้วยอนาคามิมรรค. กิเลส ๒ อย่างเหล่านี้ คือ โมหะ มานะ ทำลายด้วยอรหัตตมรรค.
               อนึ่ง เพื่อจะแสดงกิเลสทั้งหลายที่เหลือพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นทำลายแล้วซึ่งอกุศลธรรมอันลามก ดังนี้.
               บทว่า สงฺกิเลสิกา ได้แก่ อันเป็นปัจจัยแห่งความมัวหมอง.
               บทว่า โปโนพฺภวิกา ได้แก่ ให้เกิดในภพใหม่.
               บทว่า สทฺทรา ได้แก่ ชื่อว่ามีความกระวนกระวาย เพราะอรรถว่าเป็นที่มีความกระวนกระวายคือกิเลส. ปาฐะว่า สทรา ก็มี ความว่า เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย.
               บทว่า ทุกฺขวิปากา ความว่า ให้ทุกข์ในเวลาให้ผล.
               บทว่า อายตึ ชาติชรามรณียา ความว่า เป็นปัจจัยแก่ชาติ ชราและมรณะ ในอนาคตกาล.
               คาถาว่า ปชฺเชน กเตน อตฺตนา เป็นต้นมีประมวลเนื้อความดังนี้ว่า
               ผู้ใดควรแก่คำชมเชยเหล่านี้อย่างนี้ว่า ถึงปรินิพพานแล้วด้วยธรรมอันเป็นทางอันตนให้เจริญแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว เพราะถึงความดับรอบกิเลส และละแล้วซึ่งความเสื่อมและความเจริญ มีประเภทคือวิบัติและสมบัติ ความเสื่อมและความเจริญ ความขาดสูญและความเที่ยง บาปและบุญ อยู่จบมรรค เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ.
               ปาฐะ ๒ ว่า อิติหํ ว่า อิทหํ ท่านยกปาฐะว่า อิทหํ หมายเอาการต่อบทเป็นต้นว่า อิติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ ได้แก่ บทที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ปทสนฺธิ ได้แก่ การต่อบททั้งหลายชื่อปทสนธิความว่า การเชื่อมบท.
               บทว่า ปทสํสคฺโค ได้แก่ ความเป็นอันเดียวกันของบททั้งหลาย.
               บทว่า ปทปาริปูริ ได้แก่ ความบริบูรณ์แห่งบททั้งหลาย ความเป็นอันเดียวกันของบททั้งสอง.
               บทว่า อกฺขรสมวาโย ความว่า เพื่อแสดงว่าแม้บททั้งหลายเป็นอันเดียวกันก็ดี ไม่บริบูรณ์ก็ดี นี้ย่อมไม่เป็นที่ประชุมคือรวมแห่งอักษรทั้งหลายอย่างนี้ พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า อกฺขรสมวาโย ดังนี้.
               บทว่า พฺยญฺชนสิลิฏฺฐตา ความว่า ความประจักษ์แจ้งอรรถแห่งพยัญชนะทั้งหลาย คือแห่งอรรถและพยัญชนะที่กล่าวแล้วเพื่อความบริบูรณ์แห่งการรวบรวมพยัญชนะ ความอ่อน มิใช่ความไม่เรียบร้อยแห่งปาฐะ เพราะเป็นความไพเราะแห่งเหตุทั้งหลาย.
               บทว่า ปทานุปุพฺพตาเมตํ ความว่า ความเป็นลำดับแห่งบททั้งหลาย ชื่อว่าความเป็นไปตามลำดับบท. อธิบายว่า ความเป็นลำดับแห่งบท.
               บทว่า เมตํ ได้แก่ บทนั้น.
               หากจะถามว่า บทไหน พึงตอบว่า บทว่า อิติ นี้ อักษรในบทว่า เมตํ นี้ ท่านกล่าวต่อบท.
               บทว่า กตฺถี โหติ ความว่า เป็นผู้มีปกติกล่าวยกตนว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
               บทว่า กตฺถติ ความว่า ย่อมกล่าวโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า วิกตฺถติ ความว่า ย่อมกล่าวมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า กตฺถนา แปลว่า กล่าว.
               บทว่า อารโต ความว่า แต่ที่ไกล.
               บทว่า วิรโต ความว่า ยินดีด้วยความปราศจากด้วยสามารถก้าวข้ามฐานะ.
               บทว่า ปฏิวิรโต ความว่า เป็นผู้ออกจากฐานะนั้นแล้วไม่ประกอบโดยอาการทั้งปวงยินดีบรรดาบทเหล่านั้น อารตะคือเหมือนเห็นปีศาจแล้วหนีไป วิรตะคือวิ่งไปรอบๆ เหมือนเมื่อช้างย่ำเหยียบ ปฏิวิรตะคือย่ำยีเหมือนทหารต่อสู้กันสำเร็จแล้วไป.
               บทว่า ขีณาสวสฺส ได้แก่ ผู้มีอาสวะคือกิเลส สิ้นแล้ว.
               บทว่า กมฺมุสฺสโท ได้แก่ กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นแห่งกรรม กล่าวคือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขารและอาเนญชาภิสังขาร เพราะฟูขึ้น.
               บทว่า ตสฺสิเม ความว่า กิเลสเป็นเหตุฟูขึ้นเหล่านี้มิได้มีแก่ผู้นั้น คือผู้มีอาสวะ สิ้นแล้ว.
               พระสารีบุตรเถระแสดงข้อปฏิบัติของพระขีณาสพอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงข้อปฏิบัติของเดียรถีย์ทั้งหลายผู้มีทิฏฐิ จึงกล่าวว่า ปกปฺปิตา สงฺขตา
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกปฺปิตา ความว่า อันบุคคลกำหนดแล้ว.
               บทว่า สงฺขตา ความว่า อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว.
               บทว่า ยสฺส ความว่า ของผู้มีทิฏฐิคนใดคนหนึ่ง.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ทิฏฐิทั้งหลาย.
               บทว่า ปุรกฺขตา ได้แก่ กระทำไว้เบื้องหน้า.
               บทว่า สนฺติ ได้แก่ มีอยู่.
               บทว่า อโวทาตา ได้แก่ ไม่ขาวสะอาด.
               บทว่า ยทตฺตนิ ปสฺสติ อานิสํสํ ตนฺนิสฺสิโต กุปฺปปฏิจฺจสนฺตินฺติ ความว่า ทิฏฐิธรรมเหล่านี้ของเจ้าทิฏฐิใด เป็นธรรมอันบุคคลกระทำไว้ในเบื้องหน้า ไม่ขาวสะอาด มีอยู่ เจ้าทิฏฐินั้นเป็นผู้เป็นอย่างนี้ คือเพราะเห็นสักการะเป็นต้นที่เป็นไปในทิฏฐธรรม และอานิสงส์มีคติวิเสสเป็นต้นที่เป็นไปในสัมปรายภพ ของทิฏฐินั้นในตน ฉะนั้นจึงเป็นผู้อาศัยทิฏฐิ กล่าวคือสันติที่กำเริบที่อาศัยกันเกิดขึ้น เพราะอาศัยอานิสงส์นั้น
               และความกำเริบนั้นเกิดขึ้น และเพราะเป็นสันติสมมติ เขาพึงยกตนหรือพึงข่มผู้อื่นด้วยคุณและโทษแม้ไม่เป็นจริง เพราะอาศัยทิฏฐินั้น.
               บทว่า สงฺขตา เป็นบทเดิม.
               บทว่า สงฺขตา ความว่า อันปัจจัยทั้งหลายมาประชุมกันกระทำ ท่านขยายบทด้วยอุปสรรค.
               บทว่า อภิสงฺขตา ความว่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว.
               บทว่า สณฺฐาปิตา ความว่า ตั้งไว้โดยชอบด้วยสามารถแห่งปัจจัยนั่นแล.
               บทว่า อนิจฺจา ความว่า เพราะมีแล้วไม่มี.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ความว่า อาศัยวัตถุและอารมณ์เกิดขึ้น.
               บทว่า ขยธมฺมา ความว่า มีความสิ้นไปตามลำดับเป็นสภาวะ.
               บทว่า วยธมฺมา ความว่า มีความเสื่อมรอบด้วยสามารถแห่งความเป็นไปเป็นสภาวะ.
               บทว่า วิราคธมฺมา ความว่า มีความไปปราศอย่างไม่กลับเป็นสภาวะ.
               บทว่า นิโรธธมฺมา ความว่า มีความดับเป็นสภาวะ. อธิบายว่า มีความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา คือมีความเป็นแล้วดับไปเป็นสภาวะ.
               บทว่า ทิฏฺฐิคติกสฺส ความว่า แห่งบุคคลผู้ยึดทิฏฐิ ๖๒ ตั้งอยู่.
               บทว่า ปุเรกฺขา ความว่า กระทำไว้ในเบื้องหน้า.
               บทว่า ตณฺหาธโช ความว่า มีตัณหาเป็นธงชัย ด้วยอรรถว่ายกขึ้น ชื่อว่ามีตัณหาเป็นธงชัย เพราะอรรถว่ามีธงคือตัณหา ชื่อว่ามีตัณหาเป็นธงยอด เพราะอรรถว่ามีตัณหานั่นแหละเป็นธงยอด ด้วยอรรถว่าเที่ยวไปข้างหน้า.
               บทว่า ตณฺหาธิปเตยฺโย ความว่า ชื่อว่ามีตัณหาเป็นใหญ่ เพราะอรรถว่าตัณหามาโดยความเป็นใหญ่ ด้วยสามารถความเป็นใหญ่ด้วยความพอใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีตัณหาเป็นใหญ่ เพราะอรรถว่ามีตัณหาเป็นใหญ่.
               แม้ในบทว่า มีทิฏฐิเป็นธงชัยเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อโวทาตา ความว่าไม่บริสุทธิ์.
               บทว่า สงฺกิลิฏฺฐา ความว่า เศร้าหมองเอง.
               บทว่า สงฺกิเลสิกา ความว่า เป็นอารมณ์ที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน.
               บทว่า เทฺว อานิสํเส ปสฺสติ แปลว่าย่อมเห็นคุณ ๒ อย่าง.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมิกญฺจ อานิสํสํ ความว่า อานิสงส์ซึ่งเป็นธรรมประจักษ์ในอัตภาพนี้แหละด้วย.
               บทว่า สมฺปรายิกํ ความว่า อานิสงส์ซึ่งจะพึงถึงในปรโลกด้วย.
               บทว่า ยํทิฏฺฐิโก สตฺถา โหติ แปลว่า ศาสดาเป็นผู้มีลัทธิอย่างใด.
               บทว่า ตํทิฏฺฐิกา สาวกา โหนฺติ ความว่า แม้สาวกทั้งหลายผู้ฟังคำของศาสดานั้น ก็เป็นผู้มีลัทธิอย่างนั้น.
               บทว่า สกฺกโรนฺติ ความว่า ย่อมกระทำให้ถึงสักการะ.
               บทว่า ครุกโรนฺติ ความว่า ย่อมกระทำให้ถึงความเคารพ.
               บทว่า มาเนนฺติ ความว่า ย่อมประพฤติรักด้วยใจ.
               บทว่า ปูเชนฺติ ความว่า ย่อมบูชาด้วยนำปัจจัย ๔ มาบูชา.
               บทว่า อปจิตึ กโรนฺติ ความว่า ย่อมกระทำให้ถึงความยำเกรง.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1311&Z=1821
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4345
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4345
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :