ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.


               บรรดาบทเหล่านั้นสาวกทั้งหลายสักการะ คือปรุงแต่งปัจจัย ๔ ทำให้ประณีตๆ ถวายแก่ศาสดาใด ศาสดานั้นชื่อว่าอันสาวกทั้งหลายสักการะแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมเริ่มตั้งถวายความเคารพในศาสดาใด ศาสดานั้นชื่อว่าอันสาวกทั้งหลายย่อมเคารพแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมมีใจประพฤติรักซึ่งศาสดาใด ศาสดานั้นชื่อว่าอันสาวกทั้งหลายนับถือแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมกระทำอย่างนั้นแม้ทั้งหมดแก่ศาสดาใด ศาสดานั้นชื่อว่าอันสาวกทั้งหลายบูชาแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมกระทำความเคารพอย่างยิ่งมีกราบไหว้ ลุกรับและประนมมือเป็นต้นแก่ศาสดาใด ศาสดานั้นชื่อว่าอันสาวกทั้งหลายยำเกรงแล้ว.
               อาจารย์บางพวกอธิบายว่า สักการะด้วยกาย เคารพด้วยวาจา นับถือด้วยใจ บูชาด้วยลาภ.
               บทว่า อลํ นาคตฺตาย วา ความว่า พอ คือควรเพื่อเป็นพญานาค.
               บทว่า สุปณฺณตฺตาย วา ความว่า เพื่อเป็นพญาครุฑ.
               บทว่า ยกฺขตฺตาย วา ความว่า เพื่อความเป็นเสนาบดียักษ์.
               บทว่า อสุรตฺตาย วา ความว่า เพื่อเป็นอสูร.
               บทว่า คนฺธพฺพตฺตาย วา ความว่า เพื่อบังเกิดในหมู่เทพคนธรรพ์.
               บทว่า มหาราชตาย วา ความว่า เพื่อความเป็นท้าวมหาราช ๔ องค์ใดองค์หนึ่ง.
               บทว่า อินฺทตฺตาย วา ความว่า เพื่อความเป็นท้าวสักกะ.
               บทว่า พฺรหฺมตฺตาย วา ความว่า เพื่อความเป็นพรหมองค์ใดองค์หนึ่งในหมู่พรหมเป็นต้น.
               บทว่า เทวตฺตาย วา ความว่า เพื่อความเป็นสมมติเทพเป็นต้นองค์ใดองค์หนึ่ง.
               บทว่า สุทฺธิยา ความว่า พอคือควรเพื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์.
               บทว่า วิสุทฺธิยา ความว่า เพื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์ล่วงส่วนเว้นจากมลทินทั้งปวง.
               บทว่า ปริสุทฺธิยา ความว่า เพื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์โดยอาการทั้งปวง.
               บรรดาบทเหล่านั้น เพื่อความเป็นใหญ่ในกำเนิดเดียรฉาน ชื่อว่าเพื่อความหมดจด เพื่อความเป็นใหญ่ในเทวโลก ชื่อว่าเพื่อความหมดจดวิเศษ. เพื่อความเป็นใหญ่ในพรหมโลก ชื่อว่าเพื่อความบริสุทธิ์. เพื่อก้าวล่วงแปดหมื่นสี่พันกัปพ้นไป ชื่อว่าเพื่อหลุดไป เพื่อพ้นไปโดยไม่มีอันตราย ชื่อว่าเพื่อพ้นไป. เพื่อพ้นไปโดยอาการทั้งปวง ชื่อว่าเพื่อหลุดพ้นไป.
               บทว่า สุชฺฌนฺติ ความว่า ย่อมถึงความหมดจดด้วยความเป็นบรรพชิตในลัทธิอื่นๆ นั้น.
               บทว่า วิสุชฺฌนฺติ ความว่า ย่อมหมดจดด้วยวิธีหลายอย่าง ด้วยความเป็นผู้ถือบรรพชาประกอบด้วยการปฏิบัติ.
               บทว่า ปริสุชฺฌนฺติ ความว่า ถึงความสำเร็จแล้วหมดจดด้วยอาการทั้งปวง ย่อมหลุดไปด้วยธรรมอันเป็นลัทธิอื่นๆ ของศาสดาเหล่านั้น ย่อมพ้นไปด้วยโอวาทของศาสดานั้น ย่อมหลุดพ้นไปด้วยอนุศาสน์ของศาสดานั้น.
               บทว่า สุชฺฌิสฺสามิ เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอนาคต.
               บทว่า อายตึ ผลปาฏิกงฺขี ความว่า หวังผลคือวิบากในอนาคต ด้วยว่า ทิฏฐิที่พวกเจ้าทิฏฐิประพฤติล่วงนี้ เมื่อสำเร็จผลย่อมให้สำเร็จเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นสัตว์ในกำเนิดเดียรฉานบ้าง.
               บทว่า อจฺจนฺตสนฺติ ความว่า สันติคือการออกไปล่วงส่วน.
               บทว่า ตทงฺคสนฺติ ความว่า ฌานชื่อว่าสันติโดยองค์นั้นๆ เพราะอรรถว่ายังองค์ที่มิใช่คุณมีนิวรณ์เป็นต้นให้สงบ ด้วยองค์ที่เป็นคุณมีปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า สมฺมติสนฺติ ความว่า สันติโดยทิฏฐิ ด้วยสามารถกล่าวรวม.
               เพื่อแสดงสันติเหล่านั้นเป็นส่วนๆ พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า กตมา อจฺจนฺตสนฺติ เป็นต้น.
               บททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า อมตํ นิพฺพานํ มีเนื้อความดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ ปฐมชฺฌานํ สมาปนฺนสฺส นีวรณา สนฺตา โหนฺติ ท่านกล่าวด้วยสามารถความสมบูรณ์ภายในอัปปนา.
               อีกอย่างหนึ่ง สันติโดยสมมติ ประสงค์เอาว่าสันติในอรรถนี้ ดังนั้นจึงห้ามสันติ ๒ อย่างนอกนี้ แสดงสันติโดยสมมติเท่านั้น.
               บทว่า กุปฺปสนฺติ ได้แก่ สันติอันกำเริบ ด้วยสามารถให้เกิดวิบากและเปลี่ยนแปลง.
               บทว่า ปกุปฺปสนฺติ ได้แก่ สันติอันกำเริบโดยพิเศษ.
               บทว่า เอริตสนฺติ ได้แก่ สันติอันหวั่นไหว.
               บทว่า สเมริตสนฺติ ได้แก่ สันติที่ให้กำเริบโดยพิเศษ.
               บทว่า จลิตสนฺติ เป็นไวพจน์ของบทว่า สเมริตสนฺติ นั่นเอง.
               บทว่า ฆฏิตสนฺติ ได้แก่ สันติที่บีบคั้น.
               บทว่า สนฺตึ นิสฺสิโต ได้แก่ อาศัยสันติกล่าวคือทิฏฐิ.
               บทว่า อสฺสิโต ได้แก่ ปรารถนา คืออาศัยโดยพิเศษ.
               บทว่า อลฺลีโน ได้แก่ เป็นอันเดียวกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในการอาศัยอย่างนี้ก่อน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
                                   ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่เป็นอาการที่เป็นไป
                         ล่วงโดยง่ายเลย การถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้ว
                         ถือมั่น ก็ไม่เป็นอาการที่เป็นไปล่วงโดยง่าย เพราะฉะนั้น
                         ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชนย่อมสละธรรมบ้าง ย่อม
                         ยึดถือธรรมบ้าง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐินิเวสา ความว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิ กล่าวคือความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง.
               บทว่า น หิ สฺวาติวตฺตา ความว่า ย่อมไม่เป็นอาการที่จะพึงเป็นไปล่วงได้โดยสะดวก.
               บทว่า ธมฺเมสุ นิจฺเฉยฺย สมุคฺคหีตํ มีอธิบายว่า ความถือมั่นด้วยทิฏฐิที่ชี้ขาดธรรมที่ถือมั่นนั้นๆ ในธรรมคือทิฏฐิ ๖๒ ว่าเป็นธรรมที่ยึดมั่นเป็นไปก็ไม่เป็นอาการที่เป็นไปล่วงโดยง่าย.
               บทว่า ตสฺมา นโร เตสุ นิเวสเนสุ นิรสฺสตี อาทิยติจฺจ ธมฺมํ มีอธิบายว่า เพราะไม่เป็นอาการที่เป็นไปล่วงโดยง่าย ฉะนั้น ในความถือมั่นด้วยทิฏฐิเหล่านั้นแล นรชนย่อมสละบ้าง ย่อมยึดถือบ้าง ซึ่งศาสดาผู้กล่าวธรรมชนิดถือศีลแพะ ถือศีลโค ถือศีลสุนัข อยู่หลุมทรายซึ่งร้อน ๕ ประการ ทำความเพียรเป็นผู้กระโหย่งและนอนบนหนามเป็นต้น และซึ่งธรรมนั้นๆ ชนิดเป็นหมู่เป็นต้น เหมือนลิงป่า ละบ้าง ถือบ้างซึ่งกิ่งไม้นั้นๆ เมื่อสละบ้าง ยึดถือบ้างอย่างนี้ พึงยังยศและความเสื่อมยศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแก่ผู้อื่นบ้าง ด้วยคุณและโทษทั้งหลายแม้ไม่มีอยู่ เพราะความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า ทุรติวตฺตา ความว่า ยากที่จะก้าวล่วง.
               บทว่า ทุตฺตรา ความว่า ข้ามขึ้นได้ยาก.
               บทว่า ทุปฺปตรา, ทุสฺสมติกฺกมา, ทุพฺพีติวตฺตา ท่านขยายด้วยอุปสรรค.
               บทว่า นิจฺฉินิตฺวา ความว่า ตกลงว่าเที่ยง.
               บทว่า วินิจฺฉินิตฺวา ความว่า ชี้ขาดด้วยวิธีต่างๆ ว่าเป็นอัตตา.
               บทว่า วิจินิตฺวา ความว่า แสวงหา.
               บทว่า ปวิจินิตฺวา ความว่า แสวงหาโดยอาการทั้งปวง ด้วยความถือมั่นว่าอัตตา.
               ปาฐะว่า นิจินิตฺวา วิจฺฉินิตฺวา ก็มี.
               บทว่า โอทิสฺสคฺคาโห ความว่า ถือเอาไม่พิเศษ.
               บทว่า วิลคฺคาโห ความว่า ถือเอาด้วยสามารถส่วนแบ่ง ดุจในประโยคว่า แบ่งเป็นส่วนๆ เป็นต้น.
               บทว่า วรคฺคาโห ความว่า ถือเอาสูงสุด.
               บทว่า โกฏฺฐาสคฺคาโห ความว่า ถือเอาด้วยสามารถอวัยวะ.
               บทว่า อุจฺจยคฺคาโห ความว่า ถือเอาด้วยสามารถเป็นกอง.
               บทว่า สมุจฺจยคฺคาโห ความว่า ถือเอาด้วยสามารถส่วนแบ่งและด้วยสามารถเป็นกอง.
               บทว่า อิทํ สจฺจํ ความว่า นี้แหละเป็นสภาวะ.
               บทว่า ตจฺฉํ ความว่า แท้คือมิใช่สภาวะผันแปร.
               บทว่า ตถํ ได้แก่ เว้นจากความแปรปรวน.
               บทว่า ภูตํ แปลว่า จริง.
               บทว่า ยาถาวํ แปลว่า ตามความเป็นจริง.
               บทว่า อวิปรีตํ แปลว่า ไม่ผันแปร.
               บทว่า นิรสฺสติ ความว่า ย่อมสละ คือย่อมทอดทิ้ง.
               บทว่า ปรวิจฺฉินฺทนาย วา ความว่า ด้วยการชี้แจงโดยคนเหล่าอื่น.
               บทว่า อนภิสมฺภุณนฺโต วา ความว่า ไม่ถึงพร้อมหรือไม่อาจ จึงสละ.
               บทว่า ปโร วิจฺฉินฺทติ ความว่า ผู้อื่นกระทำการแยก.
               บทว่า นตฺเถตฺถ ความว่า ไม่มีลัทธินี้.
               บทว่า สีลํ อนภิสมฺภุณนฺโต ความว่า ไม่ยังศีลให้ถึงพร้อม.
               บทว่า สีลํ นิรสฺสติ ความว่า ย่อมสละศีล. แม้ในบทอื่นๆ จากนี้ก็นัยนี้แล.
               ก็ทิฏฐิที่กำหนดเพื่อเกิดในภพน้อยและภพใหญ่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ชื่อว่ามีปัญญา เพราะประกอบด้วยปัญญาเครื่องกำจัดโทษมีมิจฉาทิฏฐิทั้งปวงเป็นต้นนั้น ในที่ไหนๆ ในโลก เพราะบุคคลผู้มีปัญญาละมายาและมานะได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง จะพึงไปด้วยกิเลสอะไรเล่า.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร
               ท่านอธิบายว่า ทิฏฐิเครื่องกำหนดในภพนั้นๆ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ชื่อว่ามีปัญญา เพราะประกอบด้วยธรรมเครื่องกำจัด คือแก่พระอรหันต์ผู้มีบาปทั้งปวงอันกำจัดเสียแล้ว ในที่ไหนๆ ในโลก บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา เพราะไม่มีทิฏฐิที่พวกเดียรถีย์ทั้งหลายใช้ปกปิดกรรมชั่วที่ตนกระทำ ถึงอคติอย่างนี้ด้วยมายาบ้าง ด้วยมานะบ้างและเพราะละมายามานะแม้นั้น จะพึงไปด้วยโทษทั้งหลายมีราคะเป็นต้นอะไรเล่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงจะพึงไปสู่บัญญัติในทิฏฐิธรรม หรือในคติวิเสสมีนรกเป็นต้นในสัมปรายภพด้วยกิเลสอะไรเล่า ด้วยว่าบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง เพราะไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงคือตัณหาและทิฏฐิทั้งสอง.
               บทว่า กึการณา ได้แก่ เพราะเหตุอะไร.
               บทว่า โธนา วุจฺตติ ปญฺญา ความว่า ปัญญา ท่านเรียกว่า โธนา เพราะเหตุไร?
               บทว่า ตาย ปญฺญาย กายทุจฺจริตํ ความว่า ชื่อว่าทุจริต เพราะอรรถว่าประพฤติชั่วหรือเพราะเสียด้วยอำนาจกิเลสซึ่งเป็นไปทางกาย กำจัดได้ด้วยปัญญานั้นคือที่มีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ธุตญฺจ โธตญฺจ ได้แก่ ให้หวั่นไหวแล้วและชำระแล้ว.
               บทว่า สนฺโธตญฺจ ได้แก่ ชำระแล้วโดยชอบ.
               บทว่า นิทฺโธตญฺจ ความว่า ซักฟอกด้วยดีโดยพิเศษ.
               บทว่า ราโค ธุโต จ เป็นต้นพึงประกอบด้วยสามารถแห่งมรรค ๔.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิยา มิจฺฉาทิฏฺฐิ ธุตา จ ความว่า มิจฉาทิฏฐิให้หวั่นไหวชำระได้ด้วยสัมมาทิฏฐิที่สัมปยุตด้วยมรรค แม้ในสัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิของบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมหมดกำลัง พึงให้พระสูตรพิสดาร.
               บทว่า สมฺมาญาเณน ได้แก่ ญาณที่สัมปยุตด้วยมรรค หรือปัจจเวกขณญาณ.
               บทว่า มิจฺฉาญาณํ ได้แก่ ญาณที่วิปริต คือญาณที่ไม่แท้ และโมหะที่เกิดขึ้นด้วยอาการพิจารณาว่า ในการกระทำบาปทั้งหลาย เราทำบาปด้วยสามารถความคิดที่สุขุม เป็นอันทำดีแล้ว.
               บทว่า สมฺมาวิมุตฺติยา มิจฺฉาวิมุตฺติ ความว่า วิมุตติที่วิปริต คือวิมุตติที่ไม่แท้นั่นแหละ ซึ่งเรียกกันว่าเจโตวิมุตติ กำจัดได้ด้วยสมุจเฉทวิมุตติ.
               บทว่า อรหา อิเมหิ โธนิเยหิ ธมฺเมหิ ความว่า พระอรหันต์ดำรงอยู่ไกลจากกิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมเป็นผู้เข้าถึงด้วยธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสเหล่านี้ คือที่มีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า โธโน ได้แก่ บุคคลผู้มีปัญญา เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า โส ธุตราโค เป็นต้น.
               บทว่า มายา วุจฺตติ วญฺจนิกา จริยา ความว่า ความประพฤติชื่อว่าลวง เพราะอรรถว่ามีกิริยาลวง คือกระทำล่อลวง.
               บทว่า ตปฺปฏิจฺฉาทนเหตุ ความว่า เพราะเหตุที่ไม่ประกาศทุจริตเหล่านั้น.
               บทว่า ปาปิกํ อิจฺฉํ ปณิทหติ ความว่า ย่อมตั้งความปรารถนาลามก.
               บทว่า มา มํ ชญฺญูติ อิจฺฉติ ความว่า คนอื่นๆ อย่าได้รู้ว่า เราทำบาป.
               บทว่า สงฺกปฺเปติ ความว่า ยังวิตกให้เกิดขึ้น.
               บทว่า วาจํ ภาสติ ความว่า ภิกษุทั้งที่รู้อยู่ ก้าวล่วงบัญญัติ กระทำกรรมหนัก ทำเป็นผู้สงบ กล่าวว่า ชื่อว่าการทำผิดพระวินัยไม่มีแก่พวกเรา.
               บทว่า กาเยน ปรกฺกมติ ความว่า ประพฤติวัตรด้วยกาย เพราะจะปกปิดโทษที่มีอยู่ว่า เราทำกรรมลามกนี้แล้วใครๆ อย่าได้รู้.
               ชื่อว่ามีมายา. เพราะอรรถว่ามีมายาที่ลวงตา. ภาวะแห่งผู้มีมายา ชื่อว่าความเป็นผู้มีมายา.
               ชื่อว่าความไม่นึกถึง เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องไม่นึกถึงอย่างยิ่ง เพราะกระทำแล้วจะปกปิดความชั่วอีกของสัตว์.
               ชื่อว่าความอำพราง เพราะอรรถว่าอำพรางโดยแสดงเป็นอย่างอื่น ด้วยกิริยาทางกายและทางวาจา.
               ชื่อว่าความปลอม เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปลอมของสัตว์ทั้งหลาย. อธิบายว่า กระทำให้ผิด.
               ชื่อว่าความปิดบัง เพราะโยนบาปทั้งหลายออกไปเสียว่า เรามิได้กระทำอย่างนี้.
               ชื่อว่าความหลีกเลี่ยง เพราะเลี่ยงไปว่า เรามิได้กระทำอย่างนี้.
               ชื่อว่าความซ่อน เพราะสำรวมด้วยกายเป็นต้น.
               ชื่อว่าความซ่อนเร้น เพราะซ่อนโดยภาวะรอบข้าง.
               ชื่อว่าความปิด เพราะอรรถว่าปิดบาปไว้ด้วยกายกรรมและวจีกรรม เหมือนปิดคูถไว้ด้วยหญ้าและใบไม้.
               ความปิดตามส่วนโดยประการทั้งปวง ชื่อว่าความปกปิด
               ชื่อว่าความไม่ทำให้ตื้น เพราะอรรถว่าไม่กระทำให้ตื้นแสดง.
               ชื่อว่าความไม่เปิดเผย เพราะอรรถว่าไม่กระทำให้ปรากฏแสดง.
               ความปิดด้วยดี ชื่อว่าความปิดด้วยดี.
               ชื่อว่าความกระทำชั่ว เพราะกระทำความชั่วแม้อีก ด้วยสามารถแห่งการปกปิดความชั่วที่ทำแล้ว.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ ความว่า นี้เรียกว่า ชื่อว่ามายา มีลักษณะปกปิดความชั่วที่ทำแล้วที่บุคคลประกอบแล้ว ย่อมเหมือนถ่านเพลิงที่เถ้าปิดไว้ เหมือนตอที่น้ำปิดไว้ และเหมือนศัสตราที่ผ้าเก่าพันไว้.
               บทว่า เอกวิเธน มาโน ความว่า ความถือตัวโดยกำหนดอย่างเดียว คือโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ยา จิตฺตสฺส อุณฺณติ ความว่า ความยกจิตขึ้นสูง นี้ชื่อว่าความถือตัว. ในบทนี้ ท่านกล่าวถึงความถือตัวที่ให้บังเกิดขึ้นไม่ถูกต้องบุคคล.
               บทว่า อตฺตุกฺกํสนมาโน ความว่า ความถือตัวด้วยการตั้งตนไว้ในเบื้องบน.
               บทว่า ปรวมฺภนมาโน ความว่า ความถือตัวด้วยการกระทำความลามกแก่คนอื่น. ความถือตัว ๒ อย่างนี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถอาการที่เป็นไปอย่างนั้นโดยมาก.
               บทว่า เสยฺโยหมสฺมีติ มาโน ความว่า ความถือตัวที่เกิดขึ้นว่า เราดีกว่าเขา เพราะอาศัยชาติเป็นต้น คือความถือตัวว่าไม่มีใครเสมอ. แม้ในความถือตัวว่า เสมอเขาเป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               ความถือตัว ๓ อย่างแม้นี้ ท่านก็กล่าวด้วยสามารถอาการที่เป็นไปอย่างนั้น ไม่อาศัยคุณวิเสสของบุคคลด้วยประการฉะนี้. บรรดาความถือตัวเหล่านั้น ความถือตัวอย่างหนึ่งๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่คนดีกว่า คนเสมอกันและคนเลวแม้ทั้ง ๓.
               บรรดาคน ๓ ประเภทเหล่านั้น ความถือตัวว่าเราดีกว่าเขามีความถือตัวตามความจริงของคนที่ดีกว่าเขานั่นแล มิใช่ความถือตัวตามความจริงของคนที่เหลือ ความถือตัวว่าเราเสมอเขา เป็นความถือตัวตามความจริงของคนที่เสมอกันนั่นและ มิใช่ความถือตัวตามความจริงของคนที่เหลือ. ความถือตัวว่าเราเลวกว่าเขา เป็นความถือตัวตามความจริงของคนที่เลวกว่าเขานั่นแล มิใช่ความถือตัวตามความจริงของคนที่เหลือ. ความถือตัว ๔ อย่าง ท่านกล่าวด้วยสามารถโลกธรรม. ความถือตัว ๕ อย่าง ท่านกล่าวด้วยสามารถกามคุณ ๕. ความถือตัว ๖ อย่าง. ท่านกล่าวด้วยสามารถความถึงพร้อมแห่งจักษุเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มานํ ชเนติ ความว่า ยังความถือตัวให้เกิดขึ้น.
               ในนิทเทสความถือตัว ๗ อย่าง มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า มาโน ได้แก่ ความพอง.
               บทว่า อติมาโน ได้แก่ ความถือตัวที่เกิดขึ้นด้วยสามารถพูดดูหมิ่นว่า คนที่เสมอเราโดยชาติเป็นต้น ไม่มี.
               บทว่า มานาติมาโน ได้แก่ ความถือตัวที่เกิดขึ้นว่า เมื่อก่อนผู้นี้เสมอเรา บัดนี้เราเป็นผู้ประเสริฐ ผู้นี้เป็นผู้เลวกว่า ความถือตัวนี้เหมือนภาระซ้อนภาระ. พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า มานาติมาโน เพื่อแสดงว่า ชื่อว่าความถือตัวและความถือตัวจัด อาศัยความถือตัวว่าเสมอเขาที่มีในก่อน.
               บทว่า โอมาโน ได้แก่ ความถือตัวว่าเลว. ชื่อว่าความถือตัวที่ท่านกล่าวว่าเราเป็นคนเลว ดังนี้ชื่อว่าความถือตัวว่าเลว.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความถือตัวนี้ว่า ความถือตัวว่าเลวในบทนี้ด้วยสามารถทำตนไว้ภายใต้เป็นไปอย่างนี้ว่า เจ้าเป็นผู้มีชาติ ชาติของเจ้า เหมือนชาติกา เจ้าเป็นผู้มีโคตร โคตรของเจ้าเหมือนโคตรจัณฑาล เจ้ามีเสียง เสียงของเจ้าเหมือนเสียงกา.
               บทว่า อธิมาโน ความว่า ความถือตัวว่าบรรลุแล้วที่เกิดขึ้นแก่ผู้ยังไม่บรรลุสัจจะ ๔ แต่มีความสำคัญว่าบรรลุแล้ว ผู้มีความสำคัญในกิจที่พึงทำด้วยมรรค ๔ ที่ตนยังมิได้ทำเลยว่าทำแล้ว ผู้มีความสำคัญในธรรมคือสัจจะ ๔ ที่ตนยังไม่บรรลุว่าบรรลุแล้ว ผู้มีความสำคัญในพระอรหัตที่ตนยังทำไม่แจ้งว่าทำให้แจ้งแล้ว ชื่อว่าความถือตัวยิ่ง.
               ก็ความถือตัวนี้ย่อมเกิดขึ้นแก่ใคร? ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ใคร?
               ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกเลย เพราะพระอริยสาวกนั้น เกิดโสมนัสด้วยการพิจารณามรรคผล นิพพานและกิเลสที่ได้ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีความสงสัยในการแทงตลอดอริยคุณ ฉะนั้น ความถือตัวว่า เราเป็นพระสกทาคามีเป็นต้นจึงไม่เกิดขึ้นแก่พระโสดาบันเป็นต้น.
               ความถือตัวนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่คนทุศีล เพราะคนทุศีลนั้นเป็นผู้หมดหวังในการบรรลุอริยคุณทีเดียว.
               ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่ผู้มีศีลที่ละเลยกรรมฐาน เอาแต่หลับนอนอยู่เรื่อย.
               แต่ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ไม่ประมาทในกรรมฐาน กำหนดนามรูป ข้ามความสงสัยได้ด้วยปัจจยปริคคหญาณ แล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์พิจารณาสังขารธรรมเริ่มวิปัสสนา.
               และเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ได้สมถะล้วนๆ บ้าง เป็นผู้ได้วิปัสสนาล้วนๆ บ้าง ดำรงอยู่ในระหว่าง. ก็ท่านนั้นเมื่อไม่เห็นกิเลสกำเริบ ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ย่อมสำคัญว่าเราเป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี. แต่ผู้ได้สมถะและวิปัสสนา ย่อมดำรงอยู่ในพระอรหัตทีเดียว. เพราะท่านข่มกิเลสทั้งหลายได้ด้วยกำลังสมาธิ กำหนดสังขารทั้งหลายได้ด้วยกำลังวิปัสสนา ฉะนั้น กิเลสทั้งหลายจึงไม่กำเริบตลอด ๖๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง.
               พระขีณาสพเท่านั้นย่อมมีการเที่ยวไปแห่งจิต พระขีณาสพนั้นเมื่อไม่เห็นกิเลสกำเริบตลอดกาลนานอย่างนี้ ถึงไม่ดำรงอยู่ในระหว่าง ก็สำคัญว่าเราเป็นพระอรหันต์.
               บทว่า อสฺมิมาโน ความว่า ความถือตัวที่เกิดขึ้นในเบญจขันธ์ว่า รูปเป็นต้นคือเรา โดยนัยเป็นต้นว่า เราเป็นในรูป.
               บทว่า มิจฺฉามาโน ความว่า ความถือตัวที่เกิดขึ้นด้วยขอบเขต การงาน ขอบเขตศิลปะ วิทยฐานะ สุตะ ปฏิภาณและศีลพรตที่ลามกและด้วยทิฏฐิที่ลามก.
               บรรดาบทเหล่านั้น การงานของชาวประมง คนขังปลาและพวกพราน ชื่อว่าขอบเขตการงานที่ลามก.
               ความเป็นผู้ฉลาดในการทอดข่ายจับปลา และทำไซดักปลา และในการวางบ่วงดักสัตว์และการปักขวาก เป็นต้น ชื่อว่าขอบเขตศิลปะที่ลามก.
               วิชาที่ทำร้ายผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิทยฐานะที่ลามก.
               สุตะที่ประกอบด้วยเรื่องภารตยุทธ์และเรื่องชิงนางสีดาเป็นต้น ชื่อว่าสุตะที่ลามก.
               ปฏิภาณในการแต่งกาพย์ การฟ้อนรำ และร้องเพลงเป็นต้นที่ประกอบด้วยคำเป็นทุพภาษิต ชื่อว่าปฏิภาณที่ลามก.
               ศีลแพะ ศีลโค ชื่อว่าศีลที่ลามก. แม้วัตรที่เป็นวัตรแพะวัตรโคก็เหมือนกัน.
               ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ทิฏฐิที่ลามก. ความถือตัว ๘ อย่างมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               ในนิทเทสความถือตัว ๙ อย่าง มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ความถือตัว ๙ อย่าง มีถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนดีเป็นต้น ท่านกล่าวอาศัยบุคคล.
               ก็ในบทนี้ ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนดี ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกพระราชาและพวกบรรพชิต. ด้วยว่าพระราชาย่อมกระทำความถือตัวนี้ว่า มีใครที่เสมอเราด้วยแว่นแคว้น หรือด้วยทรัพย์และพาหนะทั้งหลาย.
               แม้บรรพชิตก็กระทำความถือตัวนี้ว่า มีใครที่เสมอเรา ด้วยคุณมีศีลและธุดงค์เป็นต้น.
               แม้ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนดี ก็เกิดขึ้นแก่พวกพระราชาและพวกบรรพชิตเหล่านั้นเหมือนกัน. ด้วยว่า พระราชาย่อมกระทำความถือตัวนี้ว่า เรามีการกระทำต่างอะไรกับพระราชาเหล่าอื่นด้วยแว่นแคว้น หรือด้วยทรัพย์และพาหนะทั้งหลาย.
               แม้บรรพชิตก็กระทำความถือตัวนี้ว่า เรามีการกระทำต่างอะไรกับภิกษุอื่น ด้วยคุณมีศีลและธุดงค์เป็นต้น.
               แม้ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนดี ก็เกิดขึ้นแก่พวกพระราชาและพวกบรรพชิตเหล่านั้นเหมือนกัน. ด้วยว่า แว่นแคว้นหรือทรัพย์และพาหนะเป็นต้นของพระราชาองค์ใดไม่อุดมสมบูรณ์ พระราชาองค์นั้นย่อมกระทำความถือตัวนี้ว่า เราชื่อว่าพระราชาอะไร เป็นเพียงเรียกเราอย่างสะดวกว่าพระราชาเท่านั้น.
               แม้บรรพชิตที่มีลาภสักการะน้อย ก็กระทำการถือตัวนี้ว่า เราผู้ไม่มีลาภสักการะ ชื่อว่าธรรมกถึกอะไร ชื่อว่าพหูสูตอะไร ชื่อว่ามหาเถระอะไร เป็นเพียงกล่าวว่า เราเป็นธรรมกถึก เป็นพหูสูต เป็นมหาเถระเท่านั้น.
               ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนชั้นเดียวกัน ย่อมเกิดขึ้นแก่อิสรชนมีอมาตย์เป็นต้น. ด้วยว่าอมาตย์ย่อมกระทำความถือตัวทั้งหลายเหล่านี้ว่า ราชบุรุษอื่นมีใครที่เสมอเราด้วยสมบัติในแว่นแคว้น หรือโภคะยานพาหนะเป็นต้นดังนี้บ้าง, ว่าเรามีการกระทำต่างอะไรกับราชบุรุษอื่นๆ ดังนี้บ้าง, ว่าเรามีชื่อว่าอมาตย์เท่านั้น แต่ไม่มีแม้สักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เราชื่อว่าอมาตย์อะไรดังนี้บ้าง.
               ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนเลวเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกทาสเป็นต้น. ด้วยว่าทาสย่อมกระทำความถือตัวทั้งหลายเหล่านี้ว่า ชื่อว่าทาสอื่นมีใครที่เสมอเราฝ่ายมารดาก็ตาม ฝ่ายบิดาก็ตาม ทาสอื่นๆ ไม่อาจจะเป็นอยู่ เกิดเป็นทาสเพราะปากท้อง แต่เราดีกว่า เพราะมาตามเชื้อสายดังนี้บ้าง, ว่าเรามีการกระทำต่างอะไรกับทาสชื่อโน้น ด้วยความเป็นทาสแม้ทั้งสองฝ่าย เพราะมาตามเชื้อสาย ดังนี้บ้าง, ว่าเราเข้าถึงความเป็นทาส เพราะปากท้อง แต่ไม่มีฐานะทาสโดยที่สุดแห่งมารดาบิดา เราชื่อว่าทาสอะไรดังนี้บ้าง
               แม้พวกปุกกุสะและพวกจัณฑาลเป็นต้น ก็กระทำความถือตัวเหล่านี้เหมือนทาสนั่นแล.
               ก็ในบทนี้ ความถือตัวที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนดี เป็นความถือตัวที่แท้. ความถือตัว ๒ อย่างนอกนี้ มิใช่ความถือตัวที่แท้.
               บรรดาความถือตัวที่แท้และไม่แท้ ๒ อย่างนั้น ความถือตัวที่แท้ฆ่าด้วยอรหัตตมรรค, ความถือตัวที่ไม่แท้ ฆ่าด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนดี ในที่นี้เป็นความถือตัวที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยอรรถว่าสูงสุดกว่าคนผู้สูงสุด.
               ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนดี เป็นความถือตัวที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เสมอ ด้วยอรรถว่าเสมอกับคนสูงสุด.
               ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนดี เป็นความถือตัวที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เลว ด้วยอรรถว่าลามกกว่าคนสูงสุด.
               ความถือตัว ๓ อย่างเหล่านี้คือ ความถือตัวว่าดีกว่าเขา ความถือตัวว่าเสมอเขา ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา ย่อมเกิดขึ้นแก่คนดี ด้วยประการฉะนี้.
               ความถือตัว ๓ อย่างว่า เราเป็นคนดี เป็นคนเสมอกัน เป็นคนเลว ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่คนที่เสมอกัน.
               แม้คนเลวก็เกิดความถือตัว ๓ อย่างว่า เราเป็นคนเลว เป็นคนเสมอกัน เป็นคนดี.
               ในนิทเทสความถือตัว ๑๐ อย่าง มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิเธกจฺโจ มานํ ชเนติ ความว่า บุคคลบางคนย่อมยังความถือตัวให้เกิด.
               บทว่า ชาติยา วา ได้แก่เพราะความถึงพร้อมด้วยชาติมีความเป็นกษัตริย์เป็นต้น.
               บทว่า โคตฺเตน วา ได้แก่ เพราะโคตรเลิศลอย มีโคดมโคตรเป็นต้น.
               บทว่า โกลปุตฺติเยน วา ได้แก่ เพราะความเป็นบุตรตระกูลใหญ่.
               บทว่า วณฺณโปกฺขรตาย วา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้มีสรีระ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ก็สรีระท่านเรียกว่า โปกขระ ความว่า เพราะความที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีรูปงาม เพราะความถึงพร้อมด้วยวรรณะ.
               บทว่า ธเนน วา ได้แก่ เพราะความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทรัพย์. ความว่า ทรัพย์ของเราที่ฝังไว้ประมาณไม่ได้.
               บทว่า อชฺเฌเนน วา ได้แก่ เพราะการเรียน.
               บทว่า กมฺมายตเนน วา ได้แก่ เพราะหน้าที่การงานที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า เหล่าสัตว์ที่เหลือเป็นเช่นกาปีกหัก แต่เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก หรือว่าเราทำกรรมใดๆ กรรมนั้นๆ ย่อมสำเร็จ.
               บทว่า สิปฺปายตเนน วา ได้แก่ เพราะขอบเขตศิลปะที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า เหล่าสัตว์ที่เหลือเป็นผู้ไร้ศิลปะ เราเป็นผู้มีศิลปะ.
               บทว่า วิชฺชฏฺฐาเนน วา นี้มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า สุเตน วา ได้แก่ เพราะสุตะมีอาทิอย่างนี้ว่า เหล่าสัตว์ที่เหลือเป็นผู้มีสุตะน้อย แต่เราเป็นพหูสูต.
               บทว่า ปฏิภาเณน วา ได้แก่ เพราะปฏิภาณมีอาทิอย่างนี้ว่า เหล่าสัตว์ที่เหลือเป็นผู้หาปฏิภาณมิได้ แต่เรามีปฏิภาณหาประมาณมิได้.
               บทว่า อญฺญตรญฺญตเรน วตฺถุนา ได้แก่ เพราะวัตถุเคลื่อนที่มิได้กล่าวถึง.
               บทว่า โย เอวรูโป มาโน ได้แก่ ชื่อว่ามานะด้วยสามารถกระทำความถือตัว.
               บทว่า มญฺญนา มญฺญิตตฺตํ แสดงความเป็นอาการ ชื่อว่าความใฝ่สูง ด้วยอรรถว่ายกขึ้น. ชื่อว่าความฟูขึ้น เพราะอรรถว่าฟูขึ้นคือยกขึ้นตั้งไว้ ซึ่งบุคคลผู้มีความถือตัวเกิดขึ้น. ชื่อว่าความทนงตัว ด้วยอรรถว่ายกขึ้นพร้อม. ชื่อว่าความยกตัว เพราะอรรถว่าประคองจิตด้วยอรรถว่ายกขึ้น ธงที่ขึ้นไปสูงในบรรดาธงเป็นอันมาก ท่านเรียกว่าเกตุ แม้ความถือตัวเมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ชื่อว่าเกตุ เพราะอรรถว่าเหมือนธง ด้วยอรรถว่าขึ้นไปสูง โดยเทียบเคียงธงอื่นๆ. ชื่อว่าความใคร่สูงดุจธง เพราะอรรถว่าปรารถนาสูงดุจธงนั้น ภาวะแห่งความใคร่สูง ดุจธงนั้น ชื่อว่าความใคร่สูงดุจธง.
               ก็ความใคร่สูงดุจธงนั้น เป็นของจิตมิใช่ของตน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความที่จิตใคร่สูงดุจธง.
               ก็จิตที่สัมปยุตด้วยความถือตัว ย่อมปรารถนาธง ภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่าความถือตัว กล่าวคือธง แล.
               บุคคลผู้มีปัญญาละคือเว้นมายาและมานะ คือบุคคลผู้มีปัญญานั้นใด คือพระอรหันต์ เว้นกิเลสทั้งหลายได้ด้วยสามารถบรรเทา และทำให้ไม่มีเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังตั้งอยู่ บุคคลผู้มีปัญญานั้นจะพึงไปด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นอะไรเล่า.
               บทว่า เนรยิโกติ วา ได้แก่ ว่าเป็นสัตว์ผู้บังเกิดในนรก.
               แม้ในสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดดิรัจฉานเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า โส เหตุ นตฺถิ ความว่า บุคคลผู้มีปัญญาพึงบังเกิดในคติเป็นต้น ด้วยเหตุให้เกิดใด เหตุนั้นไม่มี.
               บทว่า ปจฺจโย เป็นไวพจน์ของบทว่า เหตุ นั้น.
               บทว่า การณํ ได้แก่ ฐาน.
               ก็การณะ ท่านกล่าวว่า เป็นฐานแห่งผลของตน เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยผลนั้น. เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาพึงบังเกิดในคติเป็นต้น ด้วยเหตุใด ด้วยปัจจัยใด เหตุนั้นปัจจัยนั้นซึ่งเป็นการณะ ไม่มี.
               ก็ผู้ใดเป็นผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง เพราะมีกิเลสเครื่องเข้าถึง ๒ อย่างนั้น ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
                                   บุคคลผู้มีกิเลสเครื่องเข้าถึง ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียน
                         ในธรรมทั้งหลาย ใครๆ จะพึงกล่าวติเตียนบุคคลผู้ไม่มี
                         กิเลสเครื่องเข้าถึง ด้วยกิเลสอะไร อย่างไรเล่า เพราะ
                         ทิฏฐิถือว่ามีตน ทิฏฐิถือว่าไม่มีตน ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้
                         ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง
                         สลัดเสียแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวง ในโลกนี้นี่แหละ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปโย ได้แก่ ผู้อาศัยตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า ธมฺเมสุ อุเปติ วาทํ ความว่า ย่อมเข้าถึงวาทะติเตียนในธรรมทั้งหลายนั้นๆ อย่างนี้ว่า เป็นผู้กำหนัดบ้าง เป็นผู้ประทุษร้ายบ้าง.
               บทว่า อนูปยํ เกน กถํ วเทยฺย ความว่า ใครๆ จะพึงติเตียนพระขีณาสพผู้ชื่อว่าไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึง เพราะละตัณหาและทิฏฐิได้ว่าเป็นผู้กำหนัดบ้าง เป็นผู้ประทุษร้ายบ้าง ด้วยราคะหรือโทสะอะไรเล่า. พระขีณาสพเป็นผู้อันใครๆ ไม่ควรกล่าวติเตียนอย่างนี้เลย.
               อธิบายว่า พระขีณาสพนั้นจักเป็นผู้ปกปิดสิ่งที่กระทำแล้ว เหมือนพวกเดียรถีย์หรือ.
               บทว่า อตฺตํ นิรตฺตํ น หิ ตสฺส อตฺถิ ความว่า เพราะทิฏฐิว่ามีตน หรือทิฏฐิว่าขาดสูญ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้ความถือและความปล่อยที่ร้องเรียกกันว่ามีตนและไม่มีตน ก็ไม่มี.
               หากจะถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่มี.
               บทว่า อโธสิ โส ทิฏฺฐิมิเธว สพฺพํ ความว่า เพราะบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเข้าถึงนั้น สลัดเสียแล้ว ละแล้ว บรรเทาแล้ว ซึ่งทิฏฐิทั้งปวง ด้วยน้ำคือญาณในอัตภาพนี้แหละ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระธรรมเทศนาด้วยยอดคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               พระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนานั้นแล้วทรงดีพระทัย ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเสด็จหลีกไปแล.
               บทว่า รตฺโตติ วา ได้แก่ เป็นผู้กำหนัดด้วยราคะ.
               แม้ในบทว่า ทุฏฺโฐติ วา เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เต อภิสงฺขาราอปฺปหีนา ความว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขารและอาเนญชาภิสังขารเหล่านั้นอันบุคคลนั้นไม่ละแล้ว.
               บทว่า อภิสงฺขารานํ อปฺปหีนตฺตา ความว่า เพราะความที่สภาพเครื่องปรุงแต่งกรรม ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้น อันบุคคลนั้นไม่ละแล้ว.
               บทว่า คติยา วาทํ อุเปติ ความว่า ย่อมเข้าถึงการกล่าวโดยคติ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ย่อมเข้าถึง เข้าไปถึงวาทะติเตียนโดยคติว่าเป็นสัตว์เกิดในนรก ดังนี้.
               บทว่า วเทยฺย ได้แก่ พึงกล่าว.
               บทว่า คหิตํ นตฺถิ ความว่า สิ่งที่พึงถือเอาย่อมไม่มี.
               บทว่า มุญฺจิตพฺพํ นตฺถิ ความว่า สิ่งที่พึงปล่อยย่อมไม่มี เพราะความเป็นผู้ปล่อยแล้วตั้งอยู่.
               บทว่า ยสฺสตฺถิ คหิตํ ความว่า บุคคลใดมีสิ่งที่ถือว่า เรา ของเรา.
               บทว่า ตสฺสตฺถิ มุญฺจิตพฺพํ ความว่า บุคคลนั้นย่อมมีสิ่งที่พึงปล่อย, บททั้งหลายข้างหน้า พึงกลับกันประกอบ.
               บทว่า คหณมุญฺจนา สมติกฺกนฺโต ความว่า พระอรหันต์ก้าวล่วงจากความถือและความปล่อย.
               บทว่า วุฑฺฒิปริหานิวีติวตฺโต ความว่า ก้าวล่วงความเจริญและความเสื่อมเป็นไป.
               บทตั้งต้นว่า โส วุฏฺฐวาโส จนถึงบทสุดท้าย ญาณคฺคินา ทฑฺฒานิ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า อโธสิ ความว่า ตัดแล้ว.
               บทว่า ธุนิ สนฺธุนิ นิทฺธุนิ ท่านขยายด้วยอุปสรรค แล.

               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถาทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1311&Z=1821
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4345
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4345
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :