ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 178อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 182อ่านอรรถกถา 3 / 185อ่านอรรถกถา 3 / 504
อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์
ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

               อรรถกถาลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐               
               วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๑๐ พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า ยงฺกิญฺจิ นจฺจํ มีความว่า พวกนักฟ้อนเป็นต้นหรือพวกนักเลง จงฟ้อนรำก็ตามที โดยที่สุดแม้นกยูง นกแขกเต้าและลิงเป็นต้น ฟ้อนรำทั้งหมดนั่น จัดเป็นการฟ้อนรำทั้งนั้น.
               สองบทว่า ยงฺกิญฺจิ คีตํ มีความว่า การขับร้องของพวกนักฟ้อนเป็นต้น หรือการขับร้องกีฬาให้สำเร็จประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ในเวลาที่พระอริยเจ้าทั้งหลายปรินิพพาน หรือการขับร้องทำนองสวดธรรมสรภัญญะของพวกภิกษุ ผู้ไม่สำรวมก็ตามที ทั้งหมดนี้จัดเป็นการขับร้องทั้งนั้น.
               สองบทว่า ยงฺกิญฺจิ วาทิตํ มีความว่า เครื่องบรรเลงมีที่ขึ้นสายเป็นต้น หรือการประโคมกลองเทียมก็ตามที ชั้นที่สุดแม้การตีอุทกเภรี (กลองน้ำ) ทั้งหมดนี้จัดเป็นการประโคมดนตรีทั้งนั้น.
               ข้อว่า ทสฺสนาย คจฺฉติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ได้แก่ ต้องอาบัติทุกกฏ โดยนับวาระย่างเท้า.
               คำว่า ยตฺถฐิตา ปสฺสติ วา สุณาติ วา มีความว่า ภิกษุณี เมื่อแลดูโดยประโยคเดียวเห็น ได้ฟังการขับร้อง การประโคมดนตรีของชนเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นปาจิตตีย์เพียงตัวเดียว แต่ถ้าเหลียวดูทิศหนึ่งแล้วเห็นนักฟ้อน เหลียวไปดูทางอื่นอีก เห็นพวกคนขับร้อง มองไปทางอื่น เห็นพวกคนบรรเลง เป็นอาบัติแต่ละอย่างๆ หลายตัว.
               ภิกษุณีย่อมไม่ได้เพื่อจะฟ้อนรำหรือขับร้อง หรือประโคมดนตรีแม้เอง. แม้จะบอกคนเหล่าอื่นว่า จงฟ้อนรำ จงขับร้อง จงบรรเลง ก็ไม่ได้. จะกล่าวว่า อุบาสก! พวกท่านจงให้การบูชาพระเจดีย์ก็ดี จะรับคำว่า ดีละ ในเมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าจะทำการบำรุงพระเจดีย์ของพวกท่านก็ดี ย่อมไม่ได้.
               ท่านกล่าวไว้ในทุกๆ อรรถกถาว่า เป็นปาจิตตีย์ในฐานะทั้งปวง. เป็นทุกกฏแก่ภิกษุ. แต่เมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าจะทำการบำรุงพระเจดีย์ของพวกท่าน ภิกษุณีจะกล่าวว่า อุบาสก! ชื่อว่า การทำนุบำรุง เป็นการดี ควรอยู่.
               สองบทว่า อาราเมฐิตา มีความว่า ภิกษุณียืนอยู่ในอารามแลเห็นหรือได้ยินการฟ้อนรำเป็นต้น ภายในอารามก็ดี ภายนอกอารามก็ดี ไม่เป็นอาบัติ.
               สองบทว่า สติ กรณีเย มีความว่า ภิกษุณีไปเพื่อประโยชน์แก่สลากภัตเป็นต้น หรือด้วยกรณียะอื่นบางอย่าง เห็นอยู่ หรือได้ยินอยู่ในสถานที่ตนไป ไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า อาปาทาสุ มีความว่า ภิกษุณีถูกอุปัทวะเช่นนั้นเบียดเบียน เข้าไปสู่สถานที่ดูมหรสพ เข้าไปแล้วอย่างนี้ เห็นอยู่ก็ดี ได้ยินอยู่ก็ดี ไม่เป็นอาบัติ.
               คำที่เหลือ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               อรรถกถาลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ               
               ลสุณวรรคที่ ๑ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์ ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 178อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 182อ่านอรรถกถา 3 / 185อ่านอรรถกถา 3 / 504
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=3&A=2649&Z=2690
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11364
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11364
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :