ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 116อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 30 / 203อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาเมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในเมตตคูสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า มญฺญามิ ตํ เวทคุํ ภาวิตตฺตํ คือ ข้าพระองค์ย่อมสำคัญซึ่งพระองค์ว่าเป็นผู้จบเวท มีพระองค์อันให้เจริญแล้ว.
               บทว่า อปริตฺโต คือ ไม่น้อย.
               บทว่า มหนฺโต มาก คือไม่เล็กน้อย.
               บทว่า คมฺภีโร ลึกซึ้ง คือไม่ง่าย.
               บทว่า อปฺปเมยฺโย ประมาณไม่ได้ คือไม่สามารถจะนับได้.
               บทว่า ทุปฺปริโยคาฬฺโห คือ ยากที่จะหยั่งลงได้.
               บทว่า พหุรตโน สาครูปโม มีธรรมรัตนะมาก เปรียบเหมือนทะเลหลวง คือมีธรรมรัตนะมาก เพราะเป็นบ่อเกิดของธรรมรัตนะมาก เช่นกับสาคร คือดุจสมุทรอันบริบูรณ์ด้วยรัตนะหลายๆ อย่าง.
               บทว่า น มงฺกุ โหติ ไม่ทรงเก้อเขิน คือไม่ทรงเสียหน้า.
               บทว่า อปฺปติฏฺฐีนจิตฺโต มีพระทัยมิได้ขัดเคือง คือมิได้มีพระทัยเป็นไปด้วยอำนาจโทสะ.
               บทว่า อทินมนโส คือ มีพระทัยไม่หดหู่.
               บทว่า อพฺยา ปนฺนเจตโส มีพระทัยไม่พยาบาท คือมิได้มีพระทัยประทุษร้าย.
               บทว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺโต เพียงแต่ทรงเห็นรูปที่ทรงเห็น คือเป็นแต่เพียงเห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสัยของจักษุเท่านั้น. อารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุเป็นเพียงสีเท่านั้น ไม่มีผู้กระทำหรือผู้ให้กระทำ.
               แม้ในเสียงที่ได้ยินเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทิฏฺเฐ ท่านแสดงวรรณายตนะเพราะประกอบด้วยการเห็น แสดงสัททายตนะเพราะประกอบด้วยการฟัง แสดงฆานายตนะ ชิวหายตนะและกายายตนะ เพราะประกอบด้วยการทราบ. ท่านแสดงคันธะเป็นอายตนะของฆานะ แสดงรสเป็นอายตนะของชิวหา แสดงโผฏฐัพพะ คือ ปฐวี เตโช วาโย เป็นอายตนะของกาย แสดงธัมมายตนะ เพราะประกอบด้วยการรู้แจ้ง.
               บทว่า ทิฏฺเฐ อนูปโย ไม่ทรงติดในรูปที่ทรงเห็น คือเว้นจากการติดด้วยราคะในรูปที่เห็นด้วยจักษุวิญญาณ.
               บทว่า อนปฺปิโย คือ เว้นจากความโกรธ ไม่มีปฏิฆะ.
               บทว่า อนิสฺสิโต ไม่ทรงอาศัย คือไม่ติดอยู่ด้วยตัณหา.
               บทว่า อปฺปฏิพทฺโธ ไม่ทรงเกี่ยวข้อง คือไม่เกี่ยวข้องผูกพันด้วยมานะ.
               บทว่า วิปฺปมุตฺโต ทรงพ้นวิเศษแล้ว คือพ้นจากอารมณ์ทั้งปวง.
               บทว่า วิสญฺญุโต ทรงแยกออกแล้ว คือแยกจากกิเลส ดำรงอยู่.
               บทว่า สํวิชฺชติ ภควโต จกฺขุํ จักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอยู่ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้มังสจักษุตามปกติ.
               บทว่า ปสฺสติ คือ ทรงเห็น ทรงดู.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ คือทรงเห็นรูปารมณ์ด้วยจักษุวิญญาณ.
               บทว่า ฉนฺทราโค ฉันทราคะ คือความพอใจในตัณหา.
               บทว่า ทนฺติ นยนฺติ สมิตึ ชนทั้งหลายย่อมนำยานที่ตนฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม คือชนทั้งหลายผู้ไปสู่ท่ามกลางมหาชนในอุทยาน และสนามกีฬาเป็นต้น ย่อมเทียมโคหรือม้าอาชาไนยที่ฝึกแล้ว เทียมในยานนำไป.
               บทว่า ราชา คือ แม้พระราชาเสด็จไปสู่สถานที่เช่นนั้น ก็ประทับยานที่สารถีฝึกแล้วนั่นเอง.
               บทว่า มนุสฺเส คือ บุคคลที่ฝึกแล้วหมดพยศ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์ด้วยอริยมรรค ๔.
               บทว่า โยติวากฺยํ ความว่า บุคคลใดย่อมอดทน ไม่กระสับกระส่าย ไม่เดือดร้อนต่อถ้อยคำล่วงเกินเห็นปานนี้ แม้เขาพูดอยู่บ่อยๆ บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า อสฺสตรา ม้าอัสดร คือม้าที่เกิดจากแม่ม้าพ่อลา.
               บทว่า อาชานิยา ม้าอาชาไนย คือม้าที่สามารถรู้เหตุที่สารถีผู้ฝึกให้ทำได้โดยเร็ว.
               บทว่า สินฺธวา ม้าสินธพ คือม้าที่เกิดในแคว้นสินธพ.
               บทว่า มหานาคา คือ ช้างใหญ่จำพวกกุญชร.
               บทว่า อตฺตทนฺโต ฝึกตนแล้ว ความว่า ม้าอัสดรก็ดี ม้าสินธพก็ดี ช้างกุญชรก็ดีเหล่านี้ที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ ที่ยังมิได้ฝึก เป็นสัตว์ไม่ประเสริฐ.
               อนึ่ง บุคคลใดฝึกตนแล้ว เพราะฝึกตนด้วยมรรค ๔ เป็นผู้หมดพยศ บุคคลนี้เป็นผู้ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ยังมิได้ฝึกตนนั้น คือประเสริฐยิ่งกว่ายานเหล่านั้นทั้งหมด.
               บทว่า น หิ เอเตหิ ยาเนหิ บุคคลพึงไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้หาได้ไม่. ความว่า บุคคลไรๆ พึงไปสู่ทิศคือนิพพานที่ไม่เคยไป เพราะไม่เคยไปแม้แต่ฝันด้วยยานอันสูงสุด มียานช้างเป็นต้นหาได้ไม่ โดยที่บุคคลผู้มีปัญญาหมดพยศฝึกแล้วด้วยการฝึกอินทรีย์ในเบื้องต้น ภายหลังฝึกดีแล้วด้วยอริยมรรคภาวนา ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปนั้นได้ คือถึงภูมิที่ตนฝึกแล้ว เพราะฉะนั้น การฝึกตนนั่นแลประเสริฐกว่า.
               บทว่า วิธาสุ น วิกมฺปติ คือ พระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวในส่วนของมานะ ๙ อย่าง.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตา ปุนพฺภวา พ้นจากการเกิดอีก คือพ้นด้วยดีจากกรรมกิเลสด้วยสมุจเฉทวิมุตติ.
               บทว่า ทนฺตภูมึ อนุปฺปตฺตา บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว คือบรรลุพระอรหัตผลตั้งอยู่แล้ว.
               บทว่า เต โลเก วิชิตาวิโน พระขีณาสพเหล่านั้นเป็นผู้ชนะแล้วในโลก คือ พระขีณาสพดังกล่าวแล้วนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ชนะแล้วในสัตวโลก.
               บทว่า ยสฺสนฺทฺริยานิ ภาวิตานิ พระขีณาสพเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว คือ พระขีณาสพเจริญอินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้นให้บรรลุถึงอรหัตผล.
               บทว่า อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก คือ ทำอายตนะภายในมีจักขวายตนะเป็นต้นและอายตนะภายนอกมีรูปายตนะเป็นต้น ให้หมดพยศ.
               บทว่า สพฺพโลเก ในโลกทั้งปวง คือในโลกมีธาตุ ๓ ทั้งสิ้น.
               บทว่า นิพฺพิชฺฌ อิมญฺจ ปรญฺจ โลกํ พระขีณาสพนั้นล่วงแล้วซึ่งโลกนี้และโลกอื่น คือ พระขีณาสพล่วงอัตภาพนี้และอัตภาพในโลกอื่นตั้งอยู่แล้ว.
               บทว่า กาลํ กงฺขติ ภาวิโต สุทนฺโต มีธรรมอันให้เจริญแล้ว ฝึกแล้วย่อมหวังมรณกาล คือ พระขีณาสพนั้นฝึกแล้วตั้งต้นแต่จักขวายตนะ มีจิตเจริญแล้ว ย่อมปรารถนามรณกาล.
               บทว่า เยสํ ธมฺมานํ อาทิโต สมุทาคมนํ ปญฺญายติ ธรรมเหล่าใดมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นปรากฏ คือธรรมมีขันธ์เป็นต้นเหล่าใด มีความเกิดขึ้นปรากฏ.
               บทว่า อตฺถงฺคมโต นิโรโธ คือ ความไม่มีธรรมเหล่านั้นด้วยอำนาจแห่งการดับปรากฏ.
               บทว่า กมฺมสนฺนิสฺสิโต วิปาโก วิบากอาศัยกรรม คือ วิบากอาศัยกุศลกรรมและอกุศลกรรม ชื่อว่าวิบากอาศัยกรรม เพราะไม่ปล่อยกรรมเป็นไป.
               บทว่า นามสนฺนิสฺสิตํ รูปํ รูปอาศัยนาม คือ รูปทั้งหมดชื่อว่าอาศัยนาม เพราะยึดถือนามเป็นไป.
               บทว่า ชาติยา อนุคตํ นามรูปไปตามชาติ คือ นามรูปมีกรรมเป็นต้นทั้งหมด เข้าไปตามชาติ.
               บทว่า ชราย สนุสฏํ ชราก็ติดตาม คือถูกชราครอบงำ.
               บทว่า พฺยาธินา อภิภูตํ พยาธิก็ครอบงำ คือถูกพยาธิทุกข์ย่ำยี.
               บทว่า มรเณน อพฺภาหตํ คือ ถูกมรณะเบียดเบียน.
               บทว่า อตาณํ ไม่มีอะไรต้านทาน คือไม่มีอะไรต้านทาน เพราะบุตรเป็นต้นก็ต้านทานไม่ได้ ไม่มีการรักษา ไม่ได้รับความปลอดภัย.
               บทว่า อเลณํ ไม่มีอะไรเป็นที่เร้น คือไม่อาจหลีกเร้นอาศัยอยู่ คือทำกิจเป็นที่หลีกเร้นไม่ได้.
               บทว่า อสรณํ ไม่มีอะไรเป็นสรณะ คือ ผู้อาศัยจะนำภัยออกไปก็ไม่ได้ จะทำภัยให้พินาศไปก็ไม่ได้.
               บทว่า อสรณีภูตํ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง คือไม่มีที่พึ่ง เพราะความไม่มีของตนแต่การเกิดในกาลก่อน. อธิบายว่า ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งตลอดกาลที่เกิดนั่นเอง.
               ศัพท์ว่า ในบทว่า อปุจฺฉสิ นี้ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าทำบทให้เต็ม แปลว่า ย่อมถามเท่านั้น.
               บทว่า ปวกฺขามิ ยถา ปชานํ เราจะบอกตามที่เรารู้ คือเรารู้อย่างใดก็จักบอกอย่างนั้น.
               บทว่า อุปธิ นิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา ทุกข์ทั้งหลายมีอุปธิเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น. คือทุกข์พิเศษมีชาติทุกข์เป็นต้น มีอุปธิคือตัณหาเป็นต้นเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า ตณฺหูปธิ ความว่า ตัณหานั้นแล ชื่อว่าตัณหูปธิ. สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐินั่นแล ชื่อว่าทิฏฐูธิ. กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นแล ชื่อว่ากิเลสูปธิ. กรรมมีบุญเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่ากัมมูปธิ. ทุจริต ๓ อย่างนั่นแล ชื่อว่าทุจจริตูปธิ. อาหารมีกพฬีการาหารเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าอาหารูปธิ. โทสะและปฏิฆะนั่นแล ชื่อว่าปฏิฆูปธิ. ธาตุ ๔ มีปฐวีธาตุเป็นต้นที่กรรมถือเอา มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั่นแล ชื่อว่าอุปธิ คืออุปาทินนธาตุ ๔. อายตนะภายใน ๖ มีจักขวายตนะเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าอายตนูปธิ. หมวดวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าอุปธิ คือหมวดวิญญาณ ๖.
               บทว่า สพฺพมฺปิ ทุกฺขํ ทุกฺขมนฏฺเฐน คือทุกข์แม้ทั้งหมดอันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าอุปธิ เพราะอรรถว่ายากที่จะทนได้.
               เมื่อทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีอุปธิเป็นเหตุอย่างนี้ พึงทราบคาถามีอาทิว่า โย เว อวิทฺวา ผู้ใดแลมิใช่ผู้รู้ดังนี้ต่อไป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปชานํ รู้อยู่ คือ บุคคลผู้รู้อยู่ซึ่งสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า ทุกฺขสฺส ชาติปฺป ภวานุปสฺสี เป็นผู้พิจารณาเหตุแห่งทุกข์ คือพิจารณาว่าอุปธิเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ในวัฏฏะ.
               ในนิเทศแห่งคาถานี้ไม่มีคำที่จะพึงกล่าว.
               บทว่า โสกปริทฺเทวญฺจ คือ ความโศกและความร่ำไร.
               บทว่า ตถา หิ เต วิทิโต เอส ธมฺโม แท้จริงธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้วด้วยอำนาจแห่งการดำรงอยู่ของญาณ โดยอาการที่สัตว์ทั้งหลายรู้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตรนฺติ ย่อมข้าม คือย่อมข้ามทิฏโฐฆะด้วยปฐมมรรค.
               บทว่า อุตฺตรนฺติ ย่อมข้ามขึ้น คือย่อมข้ามขึ้นด้วยการทำกาโมฆะให้เบาบางด้วยทุติยมรรค.
               บทว่า ปตรนฺติ ย่อมข้ามพ้น คือข้ามกาโมฆะนั่นแลโดยพิเศษด้วยตติยมรรค ด้วยอำนาจแห่งการละไม่ให้เหลือ.
               บทว่า สมติกฺกมนฺติ ย่อมก้าวล่วง คือก้าวล่วงโดยชอบด้วยจตุตถมรรคด้วยอำนาจแห่งการละภโวฆะและอวิชโชฆะ.
               บทว่า วีติวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปล่วง คือบรรลุผลตั้งอยู่.
               บทว่า กิตฺติยิสฺสามิ เต ธมฺมํ เราจักบอกธรรมแก่ท่าน คือ เราจักแสดงนิพพานธรรมและธรรมอันเป็นปฏิปทาให้เข้าถึงนิพพานแก่ท่าน.
               บทว่า ทิฏฺเฐ ธมฺเม ในธรรมมีทุกข์เป็นต้นที่เราเห็นแล้ว คือในอัตภาพนี้.
               บทว่า อนีติหํ คือ ประจักษ์แก่ตน.
               บทว่า ยํ วิทิตฺวา รู้ชัดแล้ว คือพิจารณารู้ชัดธรรมใด โดยนัยมีอาทิว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาทิกลฺยาณํ งามในเบื้องต้น คือเราแม้ละแล้วก็จักบอกธรรมอันเป็นความสุขเกิดแต่วิเวก หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้แก่ท่าน เมื่อเราบอกธรรมนั้นน้อยก็ตาม มากก็ตาม จักบอกประการมีธรรมงามในเบื้องต้นเป็นต้นแก่ท่าน. อธิบายว่า เราจักประกาศธรรมทำให้งามให้เจริญให้ไม่มีโทษในเบื้องต้น แม้ในท่ามกลาง แม้ในที่สุด เราก็จักประกาศธรรมทำให้เจริญ ทำให้ไม่มีโทษเหมือนกัน.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแม้คาถาหนึ่งใด คาถานั้นงามในเบื้องต้นด้วยบาทแรกของธรรม งามในท่ามกลางด้วยบาทที่สอง ที่สาม งามในที่สุดด้วยบาทที่สี่ เพราะเป็นคาถาที่เจริญครบถ้วน. พระสูตรที่มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน งามในเบื้องต้นด้วยนิทาน งามในที่สุดด้วยบทสรุป งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ. พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างๆ กัน งามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิที่หนึ่ง งามในที่สุดด้วยอนุสนธิสุดท้าย งามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะมีนิทานและมีเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะมีอรรถไม่วิปริต และเพราะ ประกอบด้วยการยกเหตุขึ้นมาอ้าง โดยอนุรูปแก่เวไนยสัตว์. ชื่อว่างามในที่สุด เพราะทำให้ผู้ฟังทั้งหลายได้เกิดศรัทธา และเพราะบทสรุป.
               จริงอยู่ ศาสนธรรมทั้งสิ้นงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์ของตน งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรคและผล งามในที่สุดด้วยนิพพาน. หรืองามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน. หรือชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะเป็นการตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่างามในที่สุด เพราะเป็นการปฏิบัติดีของสงฆ์.
               ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะอภิสัมโพธิญาณ อันผู้ฟังธรรมนั้นปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้นแล้วพึงบรรลุ ชื่อว่างามในท่ามกลาง เพราะปัจเจกโพธิญาณ (รู้เฉพาะตัว) ชื่อว่างามในที่สุด เพราะสาวกโพธิญาณ. ธรรมอันผู้ฟังนั้นย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการฟัง เพราะข่มนิวรณ์เสียได้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในเบื้องต้น. ธรรมอันผู้ปฏิบัติอยู่ ย่อมนำความงามมาให้แม้ด้วยการปฏิบัติ เพราะนำความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนามาให้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในท่ามกลาง. เมื่อผลแห่งการปฏิบัติสำเร็จลงแล้ว. ย่อมนำความงามมาให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างนั้นๆ แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในที่สุด.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรมใด ย่อมประกาศศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์ ย่อมทรงแสดงโดยนัยต่างๆ. ย่อมทรงแสดงธรรมตามสมควร คือพร้อมทั้งอรรถ เพราะสมบูรณ์ด้วยอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะสมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ พร้อมทั้งอรรถ เพราะประกอบพร้อมด้วยการชี้แจง การประกาศ เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย บัญญัติและบทแห่งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะสมบูรณ์ด้วยบทอักษร บทพยัญชนะ ภาษาและนิเทศ พร้อมทั้งอรรถ เพราะลึกซึ้งด้วยอรรถ ลึกซึ้งด้วยปฏิเวธ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะลึกซึ้งด้วยธรรม ลึกซึ้งด้วยเทศนา พร้อมทั้งอรรถ เพราะเป็นวิสัยแห่งอรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นวิสัยแห่งธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา พร้อมทั้งอรรถ เพราะเป็นที่เลื่อมใสแก่ชนผู้ตรวจสอบ โดยความเป็นผู้ฉลาด พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นที่เลื่อมใสแก่โลกิยชน โดยความเป็นผู้เชื่อถือ พร้อมทั้งอรรถโดยอธิบายได้ลึกซึ้ง พร้อมทั้งพยัญชนะ โดยบทที่ยาก บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะไม่มีข้อที่ควรนำเข้าไปได้อีกโดยบริบูรณ์ทุกอย่าง. บริสุทธิ์ เพราะไม่มีข้อที่ควรตัดออกไปโดยความไม่มีโทษ.
               อีกอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งอรรถ เพราะเฉียบแหลมในความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเฉียบแหลมในการศึกษา คัมภีร์แห่งปริยัติ บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีลขันธ์เป็นต้น บริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส เพราะเป็นไปเพื่อต้องการข้ามไป และเพราะไม่เพ่งต่อโลกามิส ชื่อว่าเป็นพรหมจรรย์ เพราะอันผู้ประเสริฐเป็นดุจพรหมควรประพฤติ และเพราะเป็นธรรมที่ควรประพฤติ เพราะกำหนดด้วยไตรสิกขา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงปริยัติธรรมอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อทรงแสดงถึงโลกุตรธรรม จึงตรัสว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ดังนี้เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการแล้วเพื่อทรงแสดงโลกุตรธรรมอันเกิดขึ้นแล้ว จึงตรัสว่า นิพฺพานญฺจ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า นิพฺพานคามินิญฺจ ปฏิปทํ ปฏิปทาอันให้ถึงนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักบอกธรรมคือศีลสมาธิ และวิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า ทุกฺเข ทฏฺเฐ ทุกข์ในทุกข์ที่เราเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักบอกทุกขสัจในทุกขสัจที่เราเห็นแล้ว พร้อมด้วยรสและลักษณะ. แม้ในสมุทัยเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตญฺจาหํ อภินนฺทามิ ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์นั้น เมตตคูทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาพระดำรัสของพระองค์ เพื่อรู้ธรรมที่พระองค์ตรัสนั้น.
               บทว่า ธมฺมมุตฺตมํ ธรรมอันอุดม คือข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันอุดมนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มหโต ตโมกายสฺส ปทาลนํ ทำลายกองมืดใหญ่ คือตัดอวิชชาใหญ่. แสวงหาด้วยอนิจจลักษณะ เสาะหาด้วยทุกขลักษณะ สืบหาด้วยอนัตตลักษณะโดยรอบ.
               บทว่า มหโต วิปลฺลาสสฺส ปเภทนํ คือ ทำลายวิปลาสใหญ่ ๑๒ อย่าง โดยมีอาทิว่า อสุเภ สุภํ เห็นในสิ่งไม่งามว่างามดังนี้.
               บทว่า มหโต ตณฺหาสลฺลสฺส อพฺพูหนํ ถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ คือถอนหนามคือตัณหาใหญ่เพราะเจาะแทงในภายใน.
               บทว่า ทิฏฺฐิสงฺฆาฏสฺส วินิเวธนํ ตัดความสืบต่อทิฏฐิใหญ่ คือความสืบต่อ เพราะอรรถว่าติดต่อกันไปโดยไม่ขาดสายแห่งทิฏฐิ การกลับความสืบต่อทิฏฐินั้น.
               บทว่า มานทฺธชสฺส ปาตนํ ให้มานะเป็นธงตกไป คือให้มานะเป็นเช่นธงมีลักษณะเย่อหยิ่ง เพราะอรรถว่ายกขึ้นตกไป.
               บทว่า อภิสงฺขารสฺส วูปสมํ ระงับอภิสังขาร คือระงับอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               บทว่า โอฆสฺส นิตฺถรณํ สละโอฆะใหญ่ คือถอนซัดไปซึ่งโอฆะมีกาโมฆะเป็นต้น อันให้สัตว์จมในวัฏฏะ.
               บทว่า ภารสฺส นิกฺเขปนํ ปลงภาระใหญ่ คือซัดทิ้งภาระคือเบญจขันธ์มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า สํสารวฏฺฏสฺส อุปจฺเฉทํ ตัดสังสารวัฏใหญ่ คือตัดสังสารวัฏอันเป็นไปแล้วด้วยการท่องเที่ยวไปตามลำดับมีขันธ์เป็นต้น.
               บทว่า สนฺตาปสฺส นิพฺพาปนํ ให้ความเร่าร้อนดับไป คือดับความเร่าร้อนคือกิเลส.
               บทว่า ปริฬาหสฺส ปฏิปสฺสทฺธึ สงบระงับความเดือดร้อน คือสงบระงับความเร่าร้อนคือกิเลส.
               บทว่า ธมฺมทฺธชสฺส อุสฺสาปนํ ยกขึ้นซึ่งธรรมเป็นดุจธง คือยกโลกุตรธรรม ๙ ประการตั้งไว้.
               บทว่า ปรมตฺถํ อมตํ นิพพฺานํ ซึ่งอมตนิพพานเป็นปรมัตถ์ คือชื่อว่าปรมัตถะ เพราะอรรถว่าสูงสุด.
               ชื่อว่าอมตะ เพราะไม่มีความตาย. ชื่อว่าอมตะ เพราะเป็นยาห้ามพิษคือกิเลสบ้าง. ชื่อว่านิพพาน เพราะดับความครอบงำในสังสารทุกข์. ชื่อว่านิพพาน เพราะไม่มีเครื่องร้อยรัดคือตัณหาในนิพพานนี้บ้าง.
               บทว่า มเหสกฺเขหิ สตฺเตหิ สัตว์ทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ คือท้าวสักกะเป็นต้นผู้มีอานุภาพใหญ่ยิ่ง.
               บทว่า ปริเยสิโต คือ แสวงหาแล้ว.
               บทว่า กหํ เทวเทโว คือ เทวดาผู้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลายอยู่ที่ไหน.
               บทว่า นราสโภ คือ บุรุษผู้สูงสุด.
               บทว่า อุทฺธํ ชั้นสูงในบทนี้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ ชั้นสูง ชั้นต่ำ ชั้นกลางส่วนกว้าง ท่านกล่าวถึงทางยาวนานในอนาคต.
               บทว่า อโธ คือ ทางยาวนานในอดีต.
               บทว่า ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ คือ ทางยาวนานในปัจจุบัน.
               บทว่า เอเตสุ นนฺทิญฺจ นิเวสนญฺจ ปนุชฺช วิญฺญาณํ ท่านจงบรรเทาความยินดี ความพัวพันและวิญญาณในธรรมเหล่านี้ คือท่านจงบรรเทาตัณหาความพัวพัน ความถือทิฏฐิ และอภิสังขารวิญญาณ ในธรรมชั้นสูงเป็นต้นเหล่านี้ ครั้นบรรเทาได้แล้วไม่ตั้งอยู่ในภพ คือว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ ไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้สองอย่าง.
               ศัพท์ว่า ปนุชฺช พึงเชื่อมในอรรถวิกัปนี้ว่า ปนุเทหิ.
               บทว่า ปนุทิตฺวา ในอรรถวิกัปนี้พึงเชื่อมความว่า ภเว น ติฏฺเฐ ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ. เอาความว่า ครั้นบรรเทาความยินดี ความพัวพันและวิญญาณเหล่านี้ได้แล้ว ไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้สองอย่าง.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมเป็นกุศล คือธรรมเป็นกุศลตรัสว่าชั้นสูง เพราะละอบายแล้วให้ปฏิสนธิในเบื้องบน. ธรรมเป็นอกุศลตรัสว่าชั้นต่ำ. เพราะให้ปฏิสนธิในอบายทั้งหลาย. อัพยากตธรรมตรัสว่าชั้นกลางส่วนกว้าง. เทวโลกพร้อมด้วยโอกาสโลกตรัสว่าชั้นสูง. อบายโลกตรัสว่าชั้นต่ำ. มนุษยโลกตรัสว่าชั้นกลาง. สุขเวทนาตรัสว่าชั้นสูง ด้วยให้เกิดอาพาธทางกายและจิต. ทุกขเวทนาตรัสว่าชั้นต่ำ ด้วยให้ถึงทุกข์. อทุกขมสุขเวทนาตรัสว่าชั้นกลาง ด้วยอำนาจแห่งความไม่ทุกข์ไม่สุข. อรูปธาตุตรัสว่าชั้นสูง ด้วยอยู่เบื้องบนธรรมทั้งปวง. กามธาตุตรัสว่าชั้นต่ำ ด้วยอยู่ชั้นต่ำกว่าธรรมทั้งปวง. รูปธาตุตรัสว่าชั้นกลางด้วยอยู่ระหว่างธรรมทั้งสองนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงการกำหนดด้วยอำนาจแห่งอัตภาพ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อุทฺธนฺติ อุทฺธํ ปาทตลา ตั้งแต่พื้นเท้าถึงส่วนเบื้องบนตรัสว่าชั้นสูง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธํ ปาทตลา คือ ส่วนเบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป.
               บทว่า อโธ เกสมตฺถกา ส่วนเบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา.
               บทว่า มชฺเฌ ชั้นกลางคือระหว่างทั้งสอง.
               บทว่า ปุญฺญาภิสงฺขาร สหคตํ วิญฺญาณํ วิญญาณสหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณอันสัมปยุตด้วยปุญญาภิสังขาร ๑๓ ประเภท.
               บทว่า อปุญฺญาภิสงฺขารสหคตํ วิญฺญาณํ วิญญาณสหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณที่สัมปยุตด้วยอปุญญาภิสังขาร ๑๒ ประเภท.
               บทว่า อเนญฺชาภิสงฺขารสหคตํ วิญฺญาณํ วิญญาณสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณอันสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร ๔ ประเภท.
               บทว่า นุชฺช จงบรรเทา คือจงซัดไป. บทว่า ปนุชฺช คือ จงสลัดไป. บทว่า นุท คือ จงดึงออก. บทว่า ปนุท คือ จงถอนทิ้ง. บทว่า ปชห คือ จงละ. บทว่า วิโนเทหิ คือ จงทำให้ไกล.
               บทว่า กมฺมภวญฺจ กรรมภพ คือเจตนามีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิสนฺธิกญฺจ ปุนพฺภวํ ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ คือภพใหม่มีรูปภพเป็นต้นแห่งปฏิสนธิ. ละด้วยปฐมมรรค. บรรเทาด้วยทุติยมรรค. ทำให้สิ้นไปด้วยตติยมรรค. ให้ถึงความไม่มีด้วยจตุตถมรรค.
               บทว่า กมฺมภเว น ติฏฺเฐยฺย ไม่พึงตั้งอยู่ในกรรมภพ คือไม่พึงตั้งอยู่ในอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               ภิกษุนั้น ครั้นบรรเทาความยินดี ความพัวพันและวิญญาณเหล่านั้นได้แล้ว ไม่ตั้งอยู่ในภพ.
               พึงทราบคาถามีอาทิว่า เอวํ วิหารี ภิกษุมีปกติประพฤติอยู่อย่างนี้ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้ หรือในอัตภาพนี้แล.
               นิเทศแห่งคาถานี้มีความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า นูปธิกํ เป็นธรรมไม่มีอุปธิ ในบทนี้ว่า สุกิตฺติตํ โคตม นูปธิกํ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสของพระองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมไม่มีอุปธิ คือนิพพาน.
               เมตตคูมาณพ เมื่อจะทูลสนทนากะพระผู้มีพระภาคเจ้า หมายถึงนิพพานนั้น จึงทูลว่า สุกิตฺติตํ โคตม นูปธิกํ ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กิเลสา จ คือ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น เพราะอรรถว่าทำให้เดือดร้อน เบญจขันธ์อันเป็นวิบาก เพราะอรรถว่าเป็นกอง และเจตนาคืออภิสังขารมีกุศลเป็นต้น ท่านเรียกว่าอุปธิ. ละอุปธิด้วยตทังคปหาน. สงบอุปธิด้วยวิกขัมภนปหาน. สละอุปธิด้วยสมุจเฉทปหาน. สงบอุปธิด้วยผล.
               มิใช่ละทุกข์ได้อย่างเดียวเท่านั้น พึงทราบคาถาต่อไปว่า เต จาปิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐิตํ คือ โดยความเคารพหรือโดยเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า ตนฺตํ นมสฺสามิ คือ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักขอนมัสการพระองค์.
               บทว่า สเมจฺจ คือ เข้าไปใกล้.
               เมตตคูมาณพทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระนาคะ ผู้ประเสริฐ.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า สเมจฺจ คือ รู้หรือเป็นอยู่ร่วมกัน.
               บทว่า อภิสเมจฺจ คือ รู้แจ้งแทงตลอด.
               บทว่า สมาคนฺตฺวา คือ อยู่พร้อมหน้ากัน.
               บทว่า อภิสมาคนฺตฺวา คือ เข้าไปใกล้.
               บทว่า สมฺมุขา คือ ต่อหน้า.
               บทว่า อาคุํ น กโรติ คือ ไม่กระทำบาป.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พราหมณ์นั้นรู้อย่างนี้ว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แน่นอน ก็ยังไม่น้อมตนเข้าไป เมื่อจะตรัสสอนพราหมณ์ ด้วยบุคคลผู้ละทุกข์ได้แล้ว จึงตรัสคาถาว่า ยํ พฺราหฺมณํ ดังนี้เป็นอาทิ.
               บทนั้นมีความดังนี้
               บุคคลพึงรู้จักผู้ใดว่า ผู้นี้เป็นพราหมณ์ เพราะลอยบาปได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ถึงเวท เพราะไปด้วยเวททั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล เพราะล่วงกิเลสเครื่องกังวลได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ข้องในกามภพ เพราะไม่ติดอยู่ในกามและในภพดังนี้ ผู้นั้นได้ข้ามโอฆะนี้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีความสงสัยโดยแท้.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไปดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ราคกิญฺจนํ เครื่องกังวลคือราคะ ได้แก่เครื่องห่วงใยคือราคะ.
               แม้ในบทว่า โทสกิญฺจนํ เป็นอาทิ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ข้ามกาโมฆะได้ด้วยอนาคามิมรรค. ข้ามทิฏโฐฆะได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. ข้ามอวิชโชฆะได้ด้วยอรหัตมรรค. ข้ามคลองแห่งสงสารทั้งหมดได้ด้วยการตัดกุศลกรรมและอกุศลกรรม. ข้ามขึ้นไปได้ด้วยปฐมมรรค. ข้ามออกไปได้ด้วยทุติยมรรค. ก้าวล่วงไปด้วยตติยมรรค. ก้าวพ้นไปได้ด้วยจตุตถมรรค. ล่วงเลยไปแล้วด้วยผล. มีอะไรอีก. มีซิ.
               พึงทราบคาถามีอาทิว่า วิทฺวา จ โย ผู้ใดมีความรู้ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือในศาสนานี้หรือในอัตภาพนี้.
               บทว่า วิสชฺช คือ สละแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไป.
               บทว่า สชฺชํ คือ ปล่อย. บทว่า วิสชฺชํ คือ สละ.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดแห่งพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อจบเทศนา ได้มีผู้ตรัสรู้ธรรมเช่นกับที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาเมตตคูมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 116อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 30 / 203อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=1276&Z=2019
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=444
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=444
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :