ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 433อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 30 / 490อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
โปสาลมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาโปสาลมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในโปสาลสูตรที่ ๑๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า โย อตีตํ อาทิสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดทรงแสดงอดีต คือทรงแสดงอดีต มีอาทิว่าชาติหนึ่งบ้างของพระองค์และของสัตว์เหล่าอื่น.
               บทว่า เอกมฺปิ ชาตึ ชาติหนึ่งบ้างคือขันธสันดานหนึ่งบ้าง อันมีปฏิสนธิเป็นต้น มีจุติเป็นปริโยสานอันนับเนื่องในภพหนึ่ง.
               ในบททั้งหลายมีอาทิว่า สองชาติบ้างก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง พึงทราบความในบททั้งหลายมีอาทิว่า อเนเกปิ สํวฏฺฏกปฺเป ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างดังต่อไปนี้
               กัปกำลังเสื่อม ชื่อว่าสังวัฏฏกัป เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งปวงจะไปรวมกันอยู่ในพรหมโลก. กัปกำลังเจริญชื่อว่าวิวัฏฏกัป เพราะในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายกลับจากพรหมโลก.
               ในบทนั้น เป็นอันถือเอาการตั้งอยู่แห่งสังวัฏฏกัปด้วยสังวัฏฏกัป. และเป็นอันถือเอาการตั้งอยู่แห่งวิวัฏฏกัปด้วยวิวัฏฏกัป. เพราะปฏิสนธินั้นเป็นต้นเหตุ.
               ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัปเหล่านี้มี ๔ อย่าง คือสังวัฏฏกัป ๑ สังวัฏฏัฏฐายี ๑ วิวัฏฏกัป ๑ วิวัฏฏัฏฐายี ๑. เป็นอันกำหนดเอาอสงไขยกัปเหล่านั้น.
               อนึ่งในบทว่า สงฺวฏฺฏกปฺเป วิวฏฺฏกปฺเป ท่านกล่าวถือเอากึ่งหนึ่งของกัป.
               ในบทว่า สํวฏฺฏวิวฏฺฏกปฺเป ท่านกล่าวถือเอาตลอดกัป.
               หากถามว่า ระลึกถึงอย่างไร.
               ตอบว่า ระลึกถึงโดยนัยมีอาทิว่า อมุตฺราสึ คือ ในภพโน้น.
               บทว่า อมุตฺราสึ ความว่า เราได้มีแล้วในสังวัฏฏกัปโน้น ในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส สัตตนิกายโน้น.
               บทว่า เอวนฺนาโม มีชื่ออย่างนั้น คือชื่อ ติสสะหรือปุสสะ.
               บทว่า เอวํโคตฺโต มีโคตรอย่างนั้น คือ กัจจานโคตรหรือกัสสปโคตร.
               บทนี้ท่านกล่าวด้วยการระลึกถึง ชื่อและโคตรของตนในภพอดีตและของผู้นั้น.
               ก็หากว่าในกาลนั้นประสงค์จะระลึกถึงวรรณสมบัติก็ดี ความเป็นผู้มีชีวิตหยาบและประณีตก็ดี ความเป็นผู้มากด้วยสุขและทุกข์ก็ดี ความเป็นผู้มีอายุน้อยและอายุยืนก็ดี ย่อมระลึกถึงแม้ข้อนั้นได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอวํวณฺโณ... เอวมายุปริยนฺโต ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํวณฺโณ มีผิวพรรณอย่างนี้ คือมีผิวขาวหรือผิวคล้ำ.
               บทว่า เอวมาหาโร มีอาหารอย่างนี้ คือมีข้าวสาลี เนื้อ ข้าวสุกเป็นอาหาร หรือมีผลไม้ที่หล่นเองเป็นของบริโภค.
               บทว่า เอวํ สุขทุกฺขปฏิสํเวที เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น คือเสวยสุขและทุกข์อันเป็นไปทางกาย เป็นไปทางจิตโดยประการไม่น้อย หรือมีประเภทมีอามิสและไม่มีอามิส.
               บทว่า เอวมายุปริยนฺโต มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ คือมีกำหนดอายุประมาณ ๑๒๐ ปี หรือ ๘๔,๐๐๐ กัป.
               บทว่า โส ตโต จุโต อมุตฺร อุทปาทึ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพโน้น คือเราครั้นจุติจากภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือสัตตนิกายนั้นแล้วได้มาเกิดในภพ คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส หรือสัตตนิกายโน้น.
               บทว่า ตตฺราปาสึ แม้ในภพนั้น คืออีกอย่างหนึ่งเราได้มีแล้วในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาสหรือสัตตนิกายแม้นั้นอีก.
               บทมีอาทิว่า เอวนฺนาโม มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะบทว่า อมุตฺราสึ นี้ เป็นการระลึกถึงตลอดเวลาที่ต้องการของผู้ขึ้นไปโดยลำดับ.
               บทว่า โส ตโต จุโต เป็นการพิจารณาของผู้ที่กลับ ฉะนั้น บทว่า อิธูปปนฺโน เกิดแล้วในที่นี้ คือเราจุติจากที่เกิดอันหาที่สุดมิได้นั้นแล้วบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ หรือในตระกูลพราหมณ์ชื่อโน้นนี้.
               บทว่า อิติ คือ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สาการํ สอุทฺเทสํ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ คือพร้อมทั้งอุเทศด้วยอำนาจชื่อและโคตร พร้อมทั้งอาการด้วยอำนาจผิวพรรณเป็นต้น. เพราะว่าสัตว์ย่อมแสดงโดยชื่อและโคตรว่า ติสสะ กัสสปะ ดังนี้ แสดงโดยผิวพรรณเป็นต้นว่า คล้ำ ขาว ดังนี้ ย่อมปรากฏโดยความต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ชื่อและโคตรเป็นอุเทศ นอกนั้นเป็นอาการ.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ คือ ขันธ์ที่อยู่อาศัยในอดีตชาติเป็นต้น ในกาลก่อนชื่อว่า ปุพเพนิวาส.
               บทว่า นิวุฏฺฐา คือ อยู่อาศัย ได้เสวยผล คือเกิดขึ้นในสันดานของตนแล้วดับไป หรือมีการอยู่อาศัยเป็นธรรมดา.
               บทว่า นิวุฏฺฐา คือ อยู่อาศัย อยู่ได้ด้วยอาหาร กำหนดรู้ด้วยวิญญาณของตน แม้รู้ด้วยวิญญาณของผู้อื่น ย่อมได้แก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ในการระลึกถึงทางอันตัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทรงกล่าวถึงปุพเพนิวาสนั้น.
               บทว่า ปเรสํ อตีตํ อดีตของผู้อื่น คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงปุพเพนิวาสของบุคคลอื่นเหล่าอื่น โดยนัยมีอาทิว่า เอกมฺปิ ชาตึ ดังนี้.
               บทว่า มหาปทานิยสุตฺตนฺตํ คือ มหาปทานสูตร แสดงพระประวัติของพระมหาบุรุษทั้งหลาย.
               บทว่า มหาสุทสฺสนิยํ คือ มหาสุทัสสนสูตร แสดงถึงสมบัติของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ.
               บทว่า มหาโควินฺทิยํ คือ มหาโควินทสูตร แสดงถึงเรื่องราวของพราหมณ์ชื่อว่ามหาโควินทะ.
               บทว่า มฆเทวินฺทิยํ คือ มฆเทวสูตร แสดงประวัติของท้าวมฆเทพ.
               บทว่า สตานุสารีญาณํ โหติ ญาณอันตามระลึกชาติ คือญาณที่สัมปยุตด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ.
               บทว่า ยาวตกํ อากงฺขติ ตถาคตหวังจะรู้ชาติก่อนเท่าใด คือตถาคตปรารถนาจะรู้ชาติก่อนเท่าใด ก็ส่งญาณไปว่า เราจักรู้ชาติก่อนเท่านั้น.
               ลำดับนั้น ญาณของพระตถาคตย่อมแล่นไปไม่มีอะไรกระทบ ไม่มีอะไรกั้น ดุจน้ำมันมะกอกไหลเข้าไปในห่อใบไม้แห้ง.
               ด้วยเหตุนั้น พระตถาคตย่อมทรงระลึกถึงชาติก่อนได้เท่าที่ทรงหวัง.
               บทว่า โพธิชํ คือ เกิด ณ ควงต้นโพธิ.
               บทว่า ญาณํ อุปฺปชฺชติ คือ ญาณในมรรค ๔ ย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า อยมนฺติมา ชาติ ชาตินี้มีในที่สุด คือชาตินี้มีในที่สุด เพราะละต้นเหตุของชาติได้ด้วยญาณนั้น แม้ญาณอื่นๆ ก็เกิดขึ้นอีกว่า บัดนี้มิได้มีภพต่อไป.
               ในบทว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตญาณํ นี้ การนำบทว่า สตฺตานํ มาประกอบข้างหน้าเป็น สตฺตานํ อินฺทฺริยปโรปริยตฺตญาณํ คือญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย.
               เมื่อควรจะกล่าวว่า ปรานิ จ อปรานิ จ ปราปรานิ ความยิ่งและความหย่อน ท่านลง โร อักษรด้วยบทสนธิ กล่าวว่า ปโรปรานิ.
               ความเป็นแห่งความยิ่งและความหย่อน ชื่อว่า ปโรปริยํ. ความเป็นแห่งความยิ่งและความหย่อนนั่นแล ชื่อว่า ปโรปริยตฺตํ. ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้นของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตํ. ญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ ชื่อว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺญาณํ. อธิบายว่า ญาณเครื่องกำหนดรู้ความสูงและความต่ำของอินทรีย์ทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ปรานิ จ โอปรานิ จ ปโรปรานิ ความยิ่งและความหย่อน ชื่อว่า ปโรปรานิ ความเป็นแห่งความยิ่งและความหย่อนเหล่านั้น ชื่อว่า ปโรปริยํ. ท่านอธิบายว่า โอปรานิ ความหย่อน คือ โอรานิ คือ ความหย่อน (ความต่ำ). อธิบายว่า ลามก. ดุจในประโยคมีอาทิว่า ได้รู้ธรรมลามก. ปาฐะใช้เป็นสัตตมีวิภัตติว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺเต ญาณํ ญาณกำหนดรู้ในความยิ่งและความหย่อนของอินทรีย์ก็มี.
               บทว่า ตถา คตสฺส คือ เสด็จมาเหมือนอย่างท่านผู้แสวงคุณแต่ก่อนมีพระวิปัสสีเป็นต้นเสด็จมาแล้ว.
               อนึ่ง เสด็จไปเหมือนท่านผู้แสวงคุณเหล่านั้นเสด็จไปแล้ว.
               บทว่า ตถาคตพลํ เป็นกำลังของพระตถาคต คือเป็นกำลังของพระตถาคตเท่านั้นไม่ทั่วไปด้วยบุคคลเหล่าอื่น. อธิบายว่า เป็นกำลังมาแล้วเหมือนอย่างกำลังของพระพุทธเจ้าแต่ก่อน ด้วยการถึงพร้อมด้วยการสะสมบุญบ้าง.
               กำลังของพระตถาคตมีสองอย่างคือ กายพลํ (กำลังพระกาย) ๑ ญาณพลํ (กำลังพระญาณ) ๑.
               ในพระกำลังเหล่านั้น พึงทราบกำลังพระกายด้วยระลึกถึงตระกูลช้าง.
               โบราณาจารย์กล่าวได้ดังนี้ว่า
                                   ตระกูลช้าง ๑๐ ตระกูล คือตระกูลช้างกาฬาวกะ ๑
                         คังเคยยะ ๑ ปัณฑระ ๑ ตัมพะ ๑ ปิงคละ ๑ คันธะ ๑
                         มังคละ ๑ เหมะ ๑ อุโปสถะ ๑ ฉัททันตะ ๑.

               กำลังของช้างพันโกฏิด้วยจำนวนช้างปกติของบุรุษหมื่นโกฏิ ด้วยจำนวนบุรุษ นี้เป็นกำลังพระกายของพระตถาคต. แต่กำลังพระญาณมาแล้วในมหาสีหนาทสูตร คือทศพลญาณ จตุเวสารัชชญาณ (ญาณทำความกล้าหาญ ๔) ญาณไม่ทรงหวั่นไหวในบริษัท ๘ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕.
               พระญาณพันหนึ่งเป็นอันมากแม้เหล่าอื่นอย่างนี้ คือญาณ ๗๓ ญาณ ๗๗ มาแล้วในสังยุตตนิกาย นี้ชื่อว่ากำลังพระญาณ. ในที่นี้ประสงค์กำลังพระญาณเท่านั้น. เพราะพระญาณ ท่านกล่าวว่าเป็นพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว และเพราะอรรถว่าค้ำจุน.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า สตฺตานํ อาสยานุสเย ญาณํ ความรู้อัธยาศัยและกิเลสอันนอนเนื่องในสันดานของสัตว์ ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า สตฺตา (สัตว์ทั้งหลาย) เพราะเป็นผู้ข้อง คือติดในขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นด้วยฉันทราคะ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนราธะ ผู้ข้องผู้ติดในความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ความอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าสัตว์.
               แต่นักคิดอักษรไม่พิจารณาถึงความต้องการเพียงชื่อ. ผู้ใดพิจารณาถึงความ ผู้นั้นย่อมต้องการบทว่า สตฺตา ด้วยสัตตศัพท์. แห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น.
               ชื่อว่า อาสย เพราะเป็นที่มานอนอาศัยของสัตว์ทั้งหลาย.
               บทนี้เป็นชื่อของจิตตสันดานของสัตว์ที่อบรมด้วยมิจฉาทิฏฐิบ้าง สัมมาทิฏฐิบ้าง กามเป็นต้นบ้าง ออกจากกามเป็นต้นบ้าง.
               ชื่อว่า อนุสย เพราะกิเลสทั้งหลายนอนตาม เข้าไปติดตามสันดานของสัตว์.
               บทนี้เป็นชื่อของกามราคะเป็นต้นอันถึงซึ่งกำลัง.
               อาสย และ อนุสย ชื่อว่า อาสยานุสโย. พึงทราบว่าเป็นคำเดียวกัน ด้วยถือกำเนิดและด้วยทวันทวสมาส (สมาสคู่) เพราะจริตและอัธยาศัยสงเคราะห์เข้าในอาสยะและอนุยะ ฉะนั้น ญาณในจริตและอัธยาศัย ท่านสงเคราะห์ลงในอาสยานุญาณนั่นเอง จึงกล่าวว่า อาสยานุสเย ญาณํ ความรู้ในอัธยาศัยและกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า ยมกปาฏิหิเร ญาณํ ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า ยมกํ เป็นคู่ เพราะกองไฟและสายน้ำเป็นต้น เป็นไปคราวเดียวกันไม่ก่อนไม่หลัง.
               ชื่อว่า ปาฏิหิรํ เพราะนำปฏิปักขธรรม มีความเป็นผู้ไม่เชื่อเป็นต้นออกไป.
               ชื่อว่า ยมกปาฏิหิรํ เพราะนำปฏิปักขธรรมออกไปเป็นคู่.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า มหากรุณาสมาปตฺติยา ญาณํ ญาณในมหากรุณาสมาบัติ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า กรุณา เพราะเมื่อทุกข์ของคนอื่นมีอยู่ ย่อมทำความหวั่นไหวในหทัยเพื่อคนดีทั้งหลาย. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กรุณา เพราะกำจัดทุกข์ของคนอื่นให้หมดสิ้นไป. หรือชื่อว่า กรุณา เพราะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์. ความกรุณาใหญ่ด้วยการทำการแผ่ไป หรือด้วยคุณธรรม ชื่อว่ามหากรุณา.
               ชื่อว่า สมาปตฺติ เพราะเป็นผู้มีมหากรุณาถึงพร้อม.
               ชื่อว่า มหากรุณาสมาปตฺติ เพราะมีมหากรุณาแล้วเข้ามหากรุณาสมาบัตินั้น หรือญาณสัมปยุตด้วยมหากรุณานั้นในมหากรุณาสมาบัตินั้น.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า สพฺพญฺญุตญาณํ อนาวรณญาณํ (ญาณไม่มีอะไรกั้น) ดังนี้ต่อไป.
               ชื่อว่า สพฺพญฺญู เพราะรู้ทั่วถึงทุกสิ่งอันเป็นทางที่ควรแนะนำ ๕ ประการ.
               ความเป็นแห่งพระสัพพัญญูนั้น ชื่อว่า สพฺพญฺญุตา. ญาณคือความเป็นพระสัพพัญญูนั่นแล ชื่อว่า สพฺพญฺญุตญาณํ. เมื่อควรจะกล่าวว่า สพฺพญฺญุตาญาณํ แต่กล่าวทำให้มีเสียงสั้นว่า สพฺพญฺญุญาณํ.
               จริงอยู่ ธรรมทั้งหมดมีประเภทเป็นต้นว่า สังขตธรรมและอสังขตธรรม เป็นทางที่ควรแนะนำ ๕ ประการคือ สังขาร ๑ วิการ ๑ ลักษณะ ๑ นิพพาน ๑ บัญญัติ ๑. ความกั้นญาณนั้นไม่มี เพราะเนื่องด้วยเป็นอาวัชชนะ เพราะฉะนั้น ญาณนั้นนั่นแลจึงเรียกว่า อนาวรณญาณ.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า สพฺพตฺถ อสงฺคมปฺปฏิหตมนาวรณญาณํ อนาวรณญาณอันไม่ข้อง ไม่มีอะไรขัดในกาลทั้งปวง ดังต่อไปนี้
               ญาณปราศจากการกั้น ไม่ข้องปราศจากการข้อง ไม่ขัด ปราศจากการขัด ปราศจากการเป็นปฏิปักษ์เป็นไปแล้วในอดีต อนาคตและปัจจุบัน.
               บทว่า อนาคตมฺปิ อาทิสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงแม้อนาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ในภัทรกัปนี้ได้มีพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์แล้ว ปัจจุบันนี้เราเป็นสัมมาสัมพุทธะองค์ที่ ๔ และต่อไปจักมีพระเมตไตรยเป็นองค์ที่ ๕.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุได้แปดหมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเมตไตรย จักอุบัติในโลก เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระราชาพระนามว่าสังขะ จักรับสั่งให้ยกเสาบูชายัญที่พระราชาพระนามว่ามหาปนาทะทรงสร้างไว้ ทรงครองราชสมบัติ ทรงกำจัดศัตรู สละพระราชทรัพย์ ทรงถวายทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลาย แล้วทรงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ เสด็จออกทรงผนวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
               และทรงบอกอนาคตของพระเทวทัตเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า ในอนาคตเทวทัตจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าอัฏฐิสสระ และสุมนมาลาการจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุมนิสสระ.
               บทว่า ปจฺจุปนฺนมฺปิ อาทิสติ ทรงแสดงแม้ปัจจุบันนี้ชัดดีแล้ว
               บทว่า วิภูตรูปสญฺญิสฺส คือ ผู้มีรูปสัญญาอันผ่านไปแล้ว.
               บทว่า สพฺพกายปฺปหายิโน ผู้ละกายทั้งหมดแล้ว คือละรูปกายทั้งหมดด้วยตทังคะและวิกขัมภนะ. อธิบายว่า ละปฏิสนธิในรูปภพได้แล้ว.
               บทว่า นตฺถิ กิญฺจีติ ปสฺสโต เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไร คือเห็นอยู่ว่าไม่มีอะไร ด้วยเห็นความไม่มีแห่งวิญญาณ. ท่านกล่าวว่า เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ.
               โปสาลมาณพทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สักกะ ในบทว่า ญาณํ สกฺกานุปุจฺฉามิ ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ. ต้องการคำพูดว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณของบุคคลนั้น.
               บทว่า กถํ เนยฺโย คือ บุคคลนั้นควรแนะนำอย่างไร. ควรให้เกิดญาณยิ่งขึ้นแก่เขาอย่างไร.
               บทว่า รูปสญฺญา ในบทนี้ว่า กตมา รูปสญฺญา รูปสัญญาเป็นไฉน ท่านกล่าวรูปาวจรฌาน และอารมณ์ของรูปาวจรฌานนั้น ด้วยหัวข้อว่า สญฺญา.
               จริงอยู่ แม้รูปาวจรฌานท่านก็กล่าวว่า รูป ในบทมีอาทิว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ ผู้มีรูปย่อมเห็นรูป. แม้อารมณ์ของรูปาวจรฌานนั้น (ก็ชื่อว่ารูป) ในคำเป็นต้นว่า ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปภายนอกมีผิวพรรณดีและมีผิวพรรณทราม. เพราะฉะนั้น บทว่า รูปสญฺญา นี้ จึงเป็นชื่อของรูปาวจรฌานด้วยหัวข้อว่า สญฺญา อย่างนี้ว่า ความสำคัญในรูปนี้ ชื่อว่ารูปสัญญา.
               ชื่อว่า รูปสญฺญา เพราะรูปมีสัญญา. ท่านกล่าวว่ารูปเป็นชื่อของรูปาวจรฌานนั้น.
               อนึ่ง พึงทราบว่า บทว่า รูปสญฺญา นี้เป็นชื่อของอารมณ์ของรูปาวจรฌานนั้น มีประเภทเป็นต้นว่า ปฐวีกสิณด้วยประการฉะนี้. แต่ในที่นี้ประสงค์เอารูปสัญญาอันได้แก่ (รูป) ฌาน ๑๕ ด้วยอำนาจแห่งกุศล วิบากและกิริยา.
               บทว่า รูปาวจรสมาปตฺตึ สมาปนฺนสฺสวา ของบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติ คือเข้าถึงกุศลฌานอันเป็นรูปาวจรสมาบัติ.
               บทว่า อุปฺปนฺนสฺส วา คือ เกิดขึ้นแล้วในภพนั้นด้วยอำนาจแห่งวิปากฌาน.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาริสฺส วา หรือของบุคคลผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือผู้ยังสุขอันเป็นกิริยาฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นอยู่ในอัตภาพนี้อยู่แล้ว.
               บทว่า อรูปสมาปตฺติโย ได้แก่ อากาสานัญจายตนสมาบัติเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิลทฺธสฺส ได้แล้ว คือให้เกิดขึ้นดำรงอยู่แล้ว.
               บทว่า รูปสญฺญา วิภูตา โหนฺติ คือ ปราศจากรูปสัญญา.
               บทว่า วิคตา คือ หมดไปแล้ว. ปาฐะว่า วิภาวิตา บ้างดังนี้.
               บทว่า ตทงฺคสมติกฺกมา คือ ด้วยการก้าวล่วงด้วยตทังคปหาน.
               บทว่า วิกฺขมฺภนปฺปหาเนน ปหีโน ละแล้วด้วยวิกขัมภนปหาน คือละด้วยการข่มไว้ด้วยได้อรูปฌาน.
               บทว่า ตสฺส รูปกาโย คือ รูปาวจรกายของบุคคลผู้ได้อรูปสมาบัตินั้น.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า อากิญฺจญฺญายตนํ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อกิญฺจนํ เพราะไม่มีอะไรในฌานนี้. ท่านกล่าวว่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่ โดยที่สุดแม้เพียงในภังคขณะ. ความเป็นแห่งความไม่มีอะไร ชื่อว่า อากิญฺจญฺญํ. บทนี้เป็นชื่อของการปราศจากวิญญาณในอากาสานัญจายตนสมาบัติ. อากิญจัญญะนั้นชื่อว่า อากิญฺจญฺญายตนํ เพราะเป็นเครื่องสืบต่อแห่งสัญญานี้ด้วยการอธิษฐาน.
               คำว่า อากิญจัญญายตนะ นี้เป็นชื่อของฌานอันมีอารมณ์ปราศจากวิญญาณอันเป็นไปแล้วในความว่าง.
               บทว่า วิญฺญาณญฺจายตนสมาปตฺตึ สโต สมาปชฺชิตฺวา คือ มีสติเข้าถึงวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น.
               บทว่า สโต วุฏฺฐหิตฺวา มีสติออก คือเป็นผู้มีสติออกจากสมาบัตินั้น.
               บทว่า ตญฺเญว วิญฺญาณํ คือ วิญญาณอันเป็นมหัคคตะอันเป็นไปแล้วในความว่าง.
               บทว่า อภาเวติ คือ ให้พินาศไป.
               บทว่า วิภาเวติ คือ ให้พินาศไปโดยวิธีต่างๆ.
               บทว่า อนฺตรธาเปติ คือ ให้ถึงความไม่เห็น.
               บทว่า กถํ โส เนตพฺโพ บุคคลนั้นควรแนะนำอย่างไร คือควรรู้โดยประการไร.
               บทว่า วิเนตพฺโพ ควรแนะนำให้วิเศษ คือควรรู้โดยวิธีต่างๆ.
               บทว่า อนุเนตพฺโพ ควรตามแนะนำ คือควรให้จิตถึงถ้อยคำบ่อยๆ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงประกาศความที่ญาณของพระองค์ไม่ถูกกระทบในบุคคลเช่นนั้นแก่โปสาลมาณพ จึงตรัสคาถาเพื่อทรงพยากรณ์นั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิญฺญาณฏฺฐิติโย สพฺพา อภิชานํ ตถาคโต คือ ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณฐิติ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ทั้งปวงอย่างนี้ว่า วิญญาณฐิติ ๔ ด้วยสามารถแห่งอภิสังขาร วิญญาณฐิติ ๗ ด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ.
               บทว่า ติฏฺฐนฺตเมนํ ชานาติ คือ ย่อมรู้จักบุคคลนั้นเมื่อตั้งอยู่ด้วยสามารถแห่งอภิสังขารคือกรรมว่า บุคคลนี้จักมีคติอย่างนี้ดังนี้.
               บทว่า วิมุตฺตํ พ้นวิเศษแล้ว คือ น้อมไปแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น.
               บทว่า ตปฺปรายนํ มีสมาบัตินั้นเป็นเบื้องหน้า คือสำเร็จด้วยสมาบัตินั้น.
               บทว่า วิญฺญาณฏิฐิติโย ความว่า ที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ. คือสวิญญาณกขันธ์นั้นแล (ขันธ์มีวิญญาณ).
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาตลงในอรรถแสดงตัวอย่าง.
               บทว่า มนุสฺสา คือ มนุษย์มากมาย แม้ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ย่อมไม่มี มนุษย์สองคนเหมือนเป็นอย่างเดียวกันด้วยผิวพรรณและทรวดทรงเป็นต้น.
               แม้มนุษย์เหล่าใดมีผิวพรรณหรือทรวดทรงเหมือนกัน มนุษย์เหล่านั้นก็ไม่เหมือนกันด้วยการแลการเหลียวเป็นต้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามีกายต่างๆ กัน. ส่วนปฏิสนธิสัญญาของสัตว์เหล่านั้นเป็นติเหตุกะบ้าง ทุเหตุกะบ้าง อเหตุกะบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีสัญญาต่างๆ กัน.
               บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา ได้แก่ เทพชั้นกามาวจร ๖ ชั้น.
               จริงอยู่ บรรดาเทพเหล่านั้น บางพวกมีกายเขียว บางพวกมีผิวพรรณเหลืองเป็นต้น. แต่สัญญาของเทพเหล่านั้นเป็นติเหตุกะบ้าง ทุเหตุกะบ้าง เป็นอเหตุกะไม่มี.
               บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา วินิปาติกะ (ผู้ตกไปในอบาย) บางพวก คือเวมานิกเปรตเหล่าอื่นมีอาทิอย่างนี้ คือยักษิณีผู้เป็นมารดาของปุนัพพสุ ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมิตรของปุสสะผู้ยินดีในธรรม พ้นจากอบาย ๔.
               ร่างกายของเวมานิกเปรตเหล่านั้นต่างๆ กันด้วยสีมีผิวขาว ดำ ผิวทองและสีนิลเป็นต้น ด้วยลักษณะมีผอม อ้วน เตี้ย สูง. แม้สัญญาก็ต่างกันด้วยสามารถแห่งติเหตุกะ ทุเหตุกะและอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ทั้งหลาย.
               แต่เวมานิกเปรตเหล่านั้นไม่มีศักดิ์มากเหมือนทวยเทพ มีศักดิ์น้อยเหมือนคนจนหาของกินและเครื่องปกปิดได้ยาก ถูกทุกข์บีบคั้นอยู่. บางพวกได้รับทุกข์ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าวินิปาติกะ เพราะตกไปจากการสะสมความสุข. แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะย่อมเป็นผู้บรรลุธรรมได้ ดุจการบรรลุธรรมของยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระเป็นต้น.
               บทว่า พฺรหฺมกายิกา พวกเทพนับเนื่องในหมู่พรหม ได้แก่ พรหมปาริสัชชะ พรหมปุโรหิตะและมหา
               พรหม.
               บทว่า ปฐมานิพฺพตฺตา ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน คือหมู่พรหมทั้งหมดนั้นเกิดด้วยปฐมฌาน. แต่พรหมปาริสัชชะเกิดด้วยปริตตฌาน พรหมปุโรหิตะเกิดด้วยมัชฌิมฌาน.
               อนึ่ง กายของพรหมเหล่านั้นมีรัศมีซ่านออกไป. มหาพรหมเกิดด้วยปณีตฌาน. แต่กายของมหาพรหมมีรัศมีซ่านออกไปยิ่งกว่า. เพราะฉะนั้น พรหมเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เพราะมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกันด้วยอำนาจปฐมฌาน.
               สัตว์ทั้งหลายในอบาย ๔ ก็เหมือนเทพเหล่านั้น. เพราะในนรก สัตว์นรกบางพวกมีร่างกายคาวุตหนึ่ง บางพวกกึ่งโยชน์ บางพวก ๓ คาวุต. ส่วนของเทวทัตมีร่างกาย ๑๐๐ โยชน์. แม้ในเดียรัจฉานบางพวกก็เล็ก บางพวกก็ใหญ่. แม้ในเปรตวิสัย บางพวก ๖๐ ศอก บางพวก ๘๐ ศอก บางพวกผิวพรรณงาม บางพวกผิวพรรณซูบซีด.
               อนึ่ง แม้กาลกัญชิกาสูรก็สูง ๑๐๐ โยชน์ ชื่อว่าทีฆปิฏฐิกเปรต (เปรตมีหลังยาว). แต่สัญญาของสัตว์นรกทั้งหมดเป็นอกุศลวิบาก เป็นอเหตุกะ. ด้วยประการฉะนี้ แม้สัตว์ในอบายก็เรียกได้ว่ามีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน.
               บทว่า อาภสฺสรา ชื่อว่าอาภัสสระ เพราะรัศมีจากสรีระของเทพเหล่านั้น ย่อมแล่นออกดุจขาดตกลงเหมือนเปลวคบเพลิงฉะนั้น.
               บรรดาอาภัสสรเทพเหล่านั้น เทพผู้เกิดขึ้นเพราะเจริญฌานสองคือปริตตทุติยฌานและปริตตตติยฌานในปัญจกนัย ชื่อว่า ปริตตาภา. เทพผู้เกิดขึ้นเพราะเจริญมัชฌิมฌาน ชื่อว่าอัปปมาณาภา. เทพผู้เกิดขึ้นเพราะเจริญปณีตฌาน ชื่อว่าอาภัสสรา.
               แต่ในที่นี้มุ่งหมายเอาเทพทั้งหมดด้วยการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์. เพราะว่ากายของเทพเหล่านั้นทั้งหมด มีรัศมีซ่านออกเป็นอย่างเดียวกัน. แต่สัญญาต่างๆ กัน คือไม่มีวิตก มีเพียงวิจาร และไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร.
               บทว่า สุภกิณฺหา คือ เทพที่เต็มไปด้วยความงาม.
               อธิบายว่า มีรัศมีเป็นกลุ่มเดียวกันด้วยสีของรัศมีจากกายงาม. เพราะรัศมีของเทพเหล่านั้นขาดแล้วๆ ไม่เหมือนของอาภัสสรเทพทั้งหลาย. เทพปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เกิดด้วยอำนาจแห่งฌานที่เป็นปริตตฌาน มัชฌิมฌานและปณีตฌาน แห่งตติยฌานในจตุกนัย แห่งจตุตถฌานในปัญจกนัย.
               ทวยเทพทั้งหมดเหล่านั้น พึงทราบว่ามีกายอย่างเดียวกันและมีสัญญาอย่างเดียวกันด้วยจตุตถฌานสัญญา แม้พวกเทพเวหัปผลาก็ย่อมเสพวิญญาณฐิติที่ ๔.
               อสัญญสัตว์ คือสัตว์ที่ไม่มีสัญญา ไม่สงเคราะห์เข้าในที่นี้ แต่สงเคราะห์เข้าในสัตตาวาส.
               เทพสุทธาวาสทั้งหลายดำรงอยู่ในฝ่ายวิวัฏฏะ ไม่เป็นไปตลอดกาลทั้งหมด ไม่เกิดในโลกในกาลที่ว่างจากพระพุทธเจ้าแสนกัปบ้าง อสงไขยกัปบ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายอุบัติขึ้นในระหว่าง ๑๖,๐๐๐ กัป เทพเหล่านั้นจึงเกิด. เป็นเช่นกับค่ายพักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังพระธรรมจักรให้เป็นไป. เพราะฉะนั้น เทพเหล่านั้นจึงไม่เสพวิญญาณฐิติ ไม่เสพสัตตาวาส.
               ฝ่ายพระมหาสีวเถระกล่าวว่า แม้เทพสุทธาวาสทั้งหลายก็เสพวิญญาณฐิติที่ ๔ และสัตตาวาสที่ ๔ ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร ที่อยู่ใดอันเราไม่เคยอยู่โดยกาลยาวนานเว้นแต่เทพชั้นสุทธาวาส ที่อยู่นั้นไม่ใช่โอกาสที่ใครๆ จะได้โดยง่าย. พระสูตรถูกต้องเพราะไม่ขัดกันกับสูตรนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค โปสาลมาณวกปัญหานิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 433อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 30 / 490อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=4258&Z=4518
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=1246
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=1246
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :