ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 467อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 490อ่านอรรถกถา 30 / 511อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาโมฆราชมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในโมฆราชสูตรที่ ๑๕ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทฺวาหํ คือ เทฺว วาเร อหํ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว. เพราะว่าโมฆราชมาณพนั้น คราวก่อนทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๒ ครั้ง เมื่อจบอชิตสูตรและติสสเมตเตยยสูตร. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรอให้โมฆราชมาณพมีอินทรีย์แก่กล้าก่อน จึงไม่ทรงพยากรณ์. ด้วยเหตุนั้น โมฆราชมาณพจึงทูลว่า ทฺวาหํ สกฺก อปุจฺฉิสฺสํ ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว.
               บทว่า ยาวตติยญฺจ เทวิสิ พฺยากโร ตีติ เม สุตํ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระเทพฤษีย่อมทรงพยากรณ์ในครั้งที่ ๓ ความว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระฤษีวิสุทธิเทพ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผู้ทูลถามปัญหาเป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรงพยากรณ์กะสหธรรมมิก.
               นัยว่า โมฆราชมาณพได้ฟังมาอย่างนี้ ณ ฝั่งแม่น้ำโคธาวารีนั่นเอง. ด้วยเหตุนั้น โมฆราชมาณพจึงทูลว่า พฺยากโรตีติ เม สุตํ ดังนี้
               คำใดที่พึงกล่าวในนิเทศแห่งคาถานี้ คำนั้นมีนัยดังได้กล่าวมาแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า อยํ โลโก คือ มนุษยโลกนี้.
               บทว่า ปโร โลโก คือ โลกที่เหลือยกเว้นมนุษยโลกนั้น.
               บทว่า สเทวโก พร้อมด้วยเทวโลก คือโลกที่เหลือ ยกเว้นพรหมโลก. ได้แก่ อุปปัตติเทพและสมมติเทพ
               บทที่ว่า พฺรหฺมโลโก สเทวโก พรหมโลก พร้อมด้วยเทวโลก เป็นเพียงแสดงคำมีอาทิว่า สเทวโก โลโก โลกพร้อมด้วยเทวโลก.
               ด้วยบทนั้น พึงทราบโลกแม้ทั้งหมดมีประการดังได้กล่าวแล้วอย่างนั้น.
               บทว่า เอวํ อภิกฺกนฺตทสฺสาวึ พระองค์ผู้เห็นธรรมอันงามอย่างนี้ คือโมฆราชมาณพแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นธรรมอันเลิศอย่างนี้ สามารถจะทรงเห็นอัธยาศัย อธิมุตติ คติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของโลก พร้อมด้วยเทวโลกได้.
               บทว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ท่านจงพิจาณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านจงดูโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยการกำหนดความไม่เป็นไปในอำนาจ ๑ ด้วยพิจารณาเห็นสังขารว่างเปล่า ๑.
               บทว่า อตฺตานุทิฏฺฐึ โอหจฺจ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย คือถอนความเห็นว่าเป็นตัวตนเสีย.
               บทว่า ลุชฺชติ คือ ย่อมแตก. ชื่อว่า จกฺขุ เพราะเห็น. จักษุนั้นให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จักษุวิญญาณเป็นต้น ในบริเวณที่เห็นได้ อันเป็นสถานที่เกิดของสรีรสัณฐาน อันตั้งอยู่เฉพาะหน้าในท่ามกลางวงกลมสีดำ ซึ่งล้อมด้วยวงกลมสีขาวอันเป็นสสัมภารจักษุ (ดวงตา) ตั้งอยู่.
               ชื่อว่า รูปา เพราะย่อยยับ. อธิบายว่า รูปทั้งหลายถึงความวิการด้วยสี ย่อมประกาศความสบายใจ.
               ชื่อว่า จกฺขุ วิญฺญาณํ เพราะวิญญาณเป็นไปแล้วแต่จักษุ หรือวิญญาณของจักษุอาศัยจักษุ. สัมผัสเป็นไปแล้วโดยจักษุชื่อว่า จักขุสัมผัส.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺสปจฺจยา เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย คือผัสสะอันสัมปยุตแล้วด้วยจักษุวิญญาณเป็นปัจจัย.
               บทว่า เวทยิตํ คือ การเสวย. อธิบายว่า เวทนา.
               ชื่อว่าสุข เพราะทำผู้นั้นให้เกิดสุข. อธิบายว่า ที่บุคคลผู้มีเวทนาเกิดให้ถึงสุข. หรือชื่อว่าสุข เพราะกัดกินและขุดด้วยดีซึ่งความเจ็บป่วยทางกายและจิต. ชื่อว่าทุกข์ เพราะทนได้ยาก. อธิบายว่า ทำบุคคลผู้มีเวทนาเกิดให้ถึงทุกข์. ชื่อว่าอทุกขมสุข เพราะไม่ทุกข์ ไม่สุข. อักษรท่านกล่าวด้วยบทสนธิ.
               อนึ่ง จักษุสัมผัสนั้นเป็นปัจจัย ๘ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ๑ อัญญมัญญปัจจัย ๑ นิสสยปัจจัย ๑ วิปากปัจจัย ๑ อาหารปัจจัย ๑ สัมปยุตตปัจจัย ๑ อัตถิปัจจัย ๑ อวิคตปัจจัย ๑ แก่เวทนาที่สัมปยุตกับตน.
               เป็นปัจจัย ๕ ด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย ๑ สมนันตรปัจจัย ๑ อุปนิสสยปัจจัย ๑ นัตถิปัจจัย ๑ วิคตปัจจัย ๑ แก่สัมปฏิจฉันนะและธรรมที่สัมปยุต เป็นปัจจัยด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แก่สันตีรณะเป็นต้นและธรรมที่สัมปยุต.
               ชื่อว่า โสตํ เพราะฟัง. โสตะนั้นยังความเป็นวัตถุและทวารให้สำเร็จ ตามสมควรแก่โสตวิญญาณเป็นต้น ในช่องมีสัณฐานพอสอดนิ้วเข้าไปได้ มีขนอ่อนและแดงอยู่ภายในช่องสสัมภารโสตะตั้งอยู่.
               ชื่อว่า สทฺทา เพราะไป. อธิบายว่า เปล่งออก.
               ชื่อว่า ฆานํ เพราะสูดดม. ฆานะนั้นยังความเป็นวัตถุและทวารให้สำเร็จตามสมควรแก่ฆานวิญญาณเป็นต้น ในที่มีสัณฐานเหมือนเท้าแพะภายในโพรงของสสัมภารฆานะตั้งอยู่.
               ชื่อว่า คนฺธา เพราะฟุ้งไป. อธิบายว่า ประกาศวัตถุ (เรื่องราว) ของตน.
               ชื่อว่า ชิวฺหา เพราะเลี้ยงชีวิต. หรือชื่อว่า ชิวฺหา เพราะอรรถว่าลิ้ม. ชิวหานั้นยังความเป็นวัตถุและทวารให้สำเร็จตามสมควรแก่ชิวหาวิญญาณเป็นต้น ในที่ที่มีสัณฐานคล้ายปลายกลีบดอกอุบลซึ่งแยกกลีบในท่ามกลาง ท่ามกลางพื้นเบื้องบนเว้นยอดโคนและข้างของสสัมภารชิวหาตั้งอยู่.
               ชื่อว่า รสา เพราะเป็นที่ยินดีของสัตว์. อธิบายว่า ชอบใจ.
               ชื่อว่า กาโย เพราะเป็นที่เกิดแห่งธรรมที่เป็นไปกับอาสวะอันน่าเกลียด.
               บทว่า อาโย ได้แก่ ที่เกิด. ชื่อว่าความเป็นไปแห่งรูปมีใจครองมีอยู่ในกายนี้เท่าใด กายประสาทก็ยังความเป็นวัตถุและทวารให้สำเร็จตามสมควรแก่กายวิญญาณเป็นต้นตั้งอยู่เท่านั้น ในกายนั้นโดยมาก.
               ชื่อว่า โผฏฺฐพฺพา เพราะถูกต้อง.
               ชื่อว่า มโน เพราะรู้. อธิบายว่า รู้แจ้ง.
               ชื่อว่า ธมฺมา เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน.
               บทว่า มโน คือ ภวังค์ พร้อมด้วยอาวัชชนะ.
               บทว่า ธมฺมา คือ ธรรมารมณ์ที่เหลือเว้นนิพพาน.
               บทว่า มโนวิญฺญาณํ คือ ชวนะมโนวิญญาณ.
               บทว่า มโนสมฺผสฺโส ได้แก่ ผัสสะที่สัมปยุตด้วยชวนะมโนวิญญาณนั้น. มโนสัมผัสนั้นเป็นปัจจัยแก่สัมปยุตเวทนา ด้วยอำนาจปัจจัย ๗ ที่เหลือ เว้นวิปากปัจจัย มโนสัมผัสนั้นเป็นปัจจัยแก่เวทนาทั้งหลาย ที่เหลือจากเวทนาที่สัมปยุตกับชวนะ มโนวิญญาณนั้น (ที่เกิด) ในลำดับต่อมาด้วยอำนาจอุปนิสัยปัจจัยเท่านั้น.
               บทว่า อวสิยปฺปวตฺตสลฺลกฺขณวเสน ด้วยสามารถการกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ คือด้วยสามารถการเห็น การดูสังขารไม่เป็นไปในอำนาจ.
               บทว่า รูเป วโส น ลพฺภติ ใครๆ ไม่ได้อำนาจในรูป คือไม่ได้ความมีอำนาจในรูป.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า น ตุมฺหากํ ไม่ใช่ของท่าน คือ จริงอยู่ เมื่อตนมีอยู่ ย่อมมีสิ่งที่เนื่องด้วยตน ตนนั่นแหละไม่มี. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่ใช่ของท่าน.
               บทว่า นาปิ อญฺเญสํ ของคนอื่นก็ไม่ใช่ คือ ตนของคนอื่น ชื่อว่าคนอื่น เมื่อตนนั้นมีอยู่. ตนของคนอื่นก็พึงมี แม้ตนนั้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ของคนอื่นก็ไม่ใช่.
               บทว่า ปุราณมิทํ ภิกฺขเว กมฺมํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่านี้ อธิบายว่า กรรมนี้มิใช่กรรมเก่า แต่กายนี้เกิดแต่กรรมเก่า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ด้วยปัจจัยโวหาร.
               บทว่า อภิสงฺขตํ อันปัจจัยปรุงแต่งแล้วเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้ว เพราะมีลิงค์เสมอกัน (คือเป็นนปุงสกลิงค์เหมือนกัน) กับคำก่อน (คือ กมฺมํ) ด้วยสามารถแห่งกรรมโวหารนั่นเอง.
               พึงเห็นความในบทนี้อย่างนี้ว่า บทว่า อภิสงฺขตํ คือ ปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า อภิสญฺเจตยิตํ คือ มีเจตนาเป็นที่ตั้ง มีเจตนาเป็นมูลเหตุ.
               บทว่า เวทนียํ คือ เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา.
               บทว่า รูเป สาโร น ลพฺภติ ใครๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป คือไม่ได้สาระในรูปว่าเป็นของเที่ยงเป็นต้น.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า รูปํ อสฺสารํ นิสฺสารํ คือ รูปไม่มีแก่นสารและไร้แก่นสาร.
               บทว่า สาราปคตํ คือ ปราศจากสาระ.
               บทว่า นิจฺจสารสาเรน วา โดยสาระว่าความเที่ยงเป็นแก่นสาร คือโดยสาระว่าเที่ยงเป็นไปเพราะก้าวล่วงภังคขณะ ไม่มีสาระโดยสาระว่าเที่ยง เพราะไม่มีความเที่ยงอะไรๆ.
               บทว่า สุขสารสาเรน วา โดยสาระว่าเป็นสุขเป็นแก่นสาร คือโดยสาระว่าเป็นสุขเป็นแก่นสาร เพราะไม่มีสาระว่าเป็นสุขอะไรๆ ก้าวล่วงซึ่งสุขในฐิติขณะ.
               บทว่า อตฺตสารสาเรน วา โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร คือโดยสาระว่าตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนว่าเป็นแก่นสาร.
               บทว่า นิจฺเจน วา โดยความเที่ยง คือโดยความเที่ยง เพราะไม่มีความเที่ยงอะไรๆ เป็นไปเพราะก้าวล่วงภังคะ.
               บทว่า ธุเวน วา โดยความยั่งยืน คือโดยความยั่งยืน เพราะไม่มีอะไรๆ เป็นความยั่งยืนแม้ในเวลามีอยู่ ก็เพราะอาศัยปัจจัยจึงเป็นไปได้.
               บทว่า สสฺสเตน วา โดยความมั่นคง คือโดยความมั่นคง เพราะไม่มีอะไรๆ ที่ขาดไปจะมีอยู่ได้ตลอดกาล.
               บทว่า อวิปริณาม ธมฺเมน วา โดยมีความไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา คือโดยมีความไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะไม่มีอะไรๆ ที่จะไม่แปรปรวนไปเป็นปกติ ด้วยอำนาจแห่งความแก่และความตาย.
               บทว่า จกฺขุ สุญฺญํ อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา จักษุสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องกับตน คือสูญจากตนที่กำหนดไว้อย่างนี้ว่า ผู้ทำ ผู้เสวยเข้าไปอยู่เอง และจากบริขารอันเป็นของตน เพราะความไม่มีตนนั่นเอง.
               อธิบายว่า ทั้งหมดเป็นธรรมชาติมีอยู่ในโลกมีจักษุเป็นต้น เพราะตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนไม่มีในธรรมชาตินี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าสูญ. แม้โลกุตรธรรมก็สูญเหมือนกัน เพราะสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตน. ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมในอดีตสูญไม่มี. ท่านกล่าวถึงความไม่มีสาระในตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนในธรรมนั้น.
               ในโลกเมื่อพูดว่า เรือนสูญ หม้อสูญ ไม่ใช่ไม่มีเรือนและหม้อ. ท่านกล่าวถึงความไม่มีสิ่งอื่นในเรือนและในหม้อนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความข้อนี้ไว้ว่า อะไรๆ ในเรือนและในหม้อนั้นไม่มี เรือนและหม้อนั้นก็สูญ ด้วยเหตุนั้น สิ่งใดยังมีเหลืออยู่ในเรือนและในหม้อนั้น สิ่งนั้นเมื่อยังมีอยู่ ก็รู้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ดังนี้.
               ความนี้ก็เหมือนกันกับในคัมภีร์ญายะ และคัมภีร์สัททะ.
               ในสูตรนี้ ท่านกล่าวถึงอนัตตลักขณสูตรไว้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อนิสฺสริยโต โดยความไม่เป็นใหญ่ คือโดยไม่เป็นไปในอำนาจ ในความเป็นใหญ่ของตน.
               บทว่า อกามการิยโต โดยทำตามความชอบใจไม่ได้ คือด้วยอำนาจแห่งการทำตามความชอบใจของตนไม่ได้.
               บทว่า อผาสุนียโต โดยเป็นที่ตั้งแห่งความไม่สบาย คือโดยความไม่มีที่พึ่งเพื่อความดำรงอยู่.
               บทว่า อวสวตฺตนโต คือ โดยไม่เป็นไปในอำนาจของตน.
               บทว่า ปวตฺติโต โดยเป็นไปตามเหตุ คือโดยเป็นไปอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยง.
               บทว่า วิวิตฺตโต โดยว่างเปล่า คือโดยไม่มีสาระ.
               บทว่า สุทฺธํ ทั้งสิ้น. คือชื่อว่าทั้งสิ้นอันเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเกิดเป็นปัจจัยอย่างเดียว เว้นอิสระ กาล ปกติ. และเมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งสิ้นว่า กองแห่งธรรมทั้งสิ้นปราศจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน.
               บทว่า สุทฺธํ สงฺขารสนฺตตึ ความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้น. คือ เมื่อเห็นความสืบต่อแห่งสังขารที่ขาดไปแล้วทั้งสิ้น ท่านกล่าวความเดียวกันมีสังขารเป็นต้น ๒-๓ ครั้งโดยเอื้อเฟื้อ. เมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่มีภัยในปากแห่งมรณะ.
               บทว่า คามณิ เป็นคำร้องเรียก.
               บทว่า ติณกฏฺฐสมํ โลกํ เห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้
               คือเมื่อใดเห็นโลกอันได้แก่ขันธ์มีใจครองนี้เสมอด้วยหญ้าและไม้ ความเห็นว่า เมื่อบุคคลถือซึ่งหญ้าและไม้ในป่าได้ ก็ย่อมถือซึ่งตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตนได้ย่อมไม่มี หรือเมื่อหญ้าและไม้เหล่านั้นหายไปเองบ้าง พินาศไปเองบ้าง ความเห็นว่าตนย่อมหายไป สิ่งที่เนื่องด้วยตนพินาศไปก็มีไม่ได้ฉันใด เมื่อบุคคลไม่เห็นว่า แม้เมื่อกายนี้หายไปพินาศไป ตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตนย่อมแตกดับไป เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา ฉันนั้น.
               บทว่า น อญฺญํ ปฏฺฐยเต กิญฺจิ อญฺญตฺร อปฺปฏิสนฺธิยา คือ บุคคลไม่ปรารถนาภพ หรืออัตภาพอะไรๆ อื่น นอกจากนิพพานอันไม่มีปฏิสนธิ.
               บทว่า รูปํ สมนฺเนสติ บุคคลย่อมตามค้นหารูป คือแสวงหาสาระแห่งรูป ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิว่า เรา. ด้วยอำนาจแห่งตัณหาว่าของเรา. ด้วยอำนาจแห่งมานะว่าเป็นเรา.
               บทว่า ตมฺปิ ตสฺส น โหติ คือ ความถือแม้ ๓ อย่างนั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น.
               บทว่า อิธ เป็นนิบาตลงในความอ้างถึงที่อยู่.
               อิธ นิบาตนี้บางแห่ง ท่านกล่าวหมายถึง โลก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้. บางแห่งหมายเอา ศาสนา เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่หนึ่งมีอยู่ในศาสนานี้ และสมณะที่สองก็มีอยู่ในศาสนานี้. บางแห่งหมายเอา โอกาส (คือภพ) เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   เมื่อเราเป็นเทพดำรงอยู่ในภพดาวดึงส์ นี้แล เรา
                         ได้อายุเพิ่มขึ้นอีก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอจงทราบ
                         อย่างนี้เถิด.

               บางแห่งหมายเอาเพียงปทปูรณะ (คือทำบทให้เต็ม) เท่านั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้วดังนี้.
               แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงโลก.
               ก็ในบทว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               บุคคลไม่สดับธรรมที่ควรรู้ เพราะไม่มีอาคมและอธิคม (การศึกษาและการบรรลุ) บุคคลใดไม่มีอาคม ปฏิเสธทิฏฐิ เพราะปราศจากการเรียน การสอบถาม การวินิจฉัยในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจยาการและสติปัฏฐานเป็นต้น ไม่มีอธิคม เพราะไม่บรรลุธรรมที่ควรบรรลุด้วยการปฏิบัติ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่สดับธรรมที่ควรรู้ เพราะไม่มีอาคมและอธิคมด้วยประการฉะนี้.
                                   ชื่อว่าปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีการเกิดกิเลสหนา
                         เป็นต้น หรือว่าชนนี้ ชื่อว่าปุถุชนผู้หนา เพราะความเป็น
                         ผู้เกิดกิเลสหนาหยั่งลงในภายใน.

               จริงอยู่ ชื่อว่าปุถุชนด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสหนาคือมีประการต่างๆ ให้เกิดขึ้น.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสหนาให้เกิด. เพราะไม่กำจัดสักกายทิฏฐิหนา. เพราะมองดูหน้าของพระศาสดาทั้งหลายหนา (มาก). เพราะจมอยู่ด้วยคติทั้งปวงหนา. เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่างๆ หนา. เพราะลอยไปด้วยโอฆะต่างๆ หนา. เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่างๆ หนา. เพราะถูกเผาด้วยความร้อนต่างๆ หนา. เพราะยินดี อยาก กำหนัด สยบ ถึงทับ ติด คล้อง ผูกพันในกามคุณ ๕ หนา. เพราะร้อยรัด ครอบงำ ถูกต้อง ปิด ปกปิด ครอบไว้ด้วยนิวรณ์ ๕ หนา. เพราะเป็นผู้ล่วงเลยคลองธรรม หันหลังให้อริยธรรม ประพฤติธรรมต่ำ หยั่งลงในภายในหนา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะชนนี้ผู้ถึงการนับแยกกัน ไม่ปะปนกับพระอริยบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้นหนา.
               ด้วยบทสองบทนี้อย่างนี้ว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ท่านกล่าวถึงปุถุชนสองจำพวกว่า
                                   พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ตรัสถึงปุถุชน
                         สองจำพวก คืออันธปุถุชนพวกหนึ่ง กัลยาณปุถุชนพวกหนึ่ง.

               ในปุถุชนสองจำพวกนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงอันธปุถุชน (ปุถุชนบอด).
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า จริยานํ อทสฺสาวี ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าดังนี้ต่อไป.
               พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่าพระอริยะ เพราะไกลจากกิเลส, เพราะไม่นำไปในทางเสื่อม, เพราะนำไปในทางเจริญ, เพราะเป็นผู้ทำให้โลกพร้อมทั้งเทวโลกสงบ. ในที่นี้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นพระอริยะ.
               ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคต บัณฑิตกล่าวว่าเป็นอริยะในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               ในบทว่า สปฺปุริสา นี้ พึงทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระตถาคต เป็นสัปบุรุษ. เพราะท่านเหล่านั้นเป็นบุรุษผู้งามด้วยการประกอบโลกุตรคุณ จึงชื่อว่าสัปบุรุษ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเหล่านั้นทั้งหมดท่านกล่าวไว้โดยส่วนสอง. แม้พระพุทธเจ้าก็เป็นทั้งพระอริยะเป็นทั้งสัปบุรุษ. พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี สาวกของพระพุทธเจ้าก็ดี ก็เป็นทั้งพระอริยะ เป็นทั้งสัปบุรุษ.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ผู้ใดแลเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็น
                         กัลยาณมิตร และเป็นผู้มีความภักดีมั่นคง กระทำกิจของ
                         ผู้ได้รับทุกข์โดยเคารพ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวผู้นั้น
                         ว่า เป็นสัปบุรุษ.

               จริงอยู่ พระสาวกของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวด้วยบทเพียงเท่านี้ว่า เป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้มีความภักดีมั่นคง. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านกล่าวด้วยความเป็นผู้มีกตัญญูเป็นต้น.
               บัดนี้พึงทราบว่า ผู้มีปกติไม่เห็นพระอริยะเหล่านั้นและไม่ทำกรรมดี ในการเห็น เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย.
               ผู้ไม่เห็นนั้นมี ๒ อย่าง คือไม่เห็นด้วยจักษุ ๑ ไม่เห็นด้วยญาณ ๑.
               ในความเห็นทั้งสองอย่างนั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอาการไม่ได้เห็นด้วยญาณ.
               จริงอยู่ พระอริยะทั้งหลายแม้เห็นด้วยมังสจักษุก็ดี ด้วยทิพยจักษุก็ดี ยังไม่ชื่อว่าเห็น เพราะพระอริยะเหล่านั้นถือเอา (การเห็น) เพียงสีด้วยจักษุ เพราะไม่เป็นอารมณ์ของความเป็นพระอริยะ.
               แม้สุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น ย่อมเห็นพระอริยะด้วยจักษุ แต่สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าไม่เห็นพระอริยะ.
               ในเรื่องนี้มีเรื่องราวดังต่อไปนี้.
               มีเรื่องเล่าว่า อุปัฏฐากของพระเถระผู้เป็นพระขีณาสพอาศัยอยู่ ณ จิตตลบรรพตบวชเมื่อแก่ วันหนึ่งไปบิณฑบาตกับพระเถระ รับบาตรและจีวรของพระเถระแล้วเดินตามมาข้างหลังถามพระเถระว่า ท่านขอรับคนเช่นไรชื่อว่าเป็นอริยะ.
               พระเถระกล่าวว่าคนแก่บางคนในโลกนี้ รับบาตรและจีวรของพระอริยะทั้งหลาย แล้วทำการปรนนิบัติ แม้เที่ยวไปด้วยกันก็ไม่รู้จักพระอริยะ ดูก่อนอาวุโส พระอริยะทั้งหลายอันบุคคลรู้ได้ยากอย่างนี้. แม้เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนั้น พระอุปัฏฐากนั้นก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นแหละ.
               เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยจักษุชื่อว่าไม่เห็น.
               การเห็นด้วยญาณเท่านั้นชื่อว่าเห็น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนวักกลิ ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ของเธอ
               ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา.
               เพราะฉะนั้น แม้เห็นด้วยจักษุ แต่ไม่เห็นอนิจจลักษณะเป็นต้น ที่พระอริยะทั้งหลายเห็นแล้วด้วยญาณ และไม่บรรลุธรรมที่พระอริยะบรรลุแล้วพึงทราบว่าเป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย เพราะไม่เห็นธรรมอันทำให้เป็นอริยะ และความเป็นอริยะ.
               บทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ คือไม่ฉลาดในอริยธรรมอันมีสติปัฏฐานเป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทว่า อริยธมฺเม อวินีโต ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะนี้ พึงทราบความดังต่อไปนี้
                                   ชื่อว่าวินัยมี ๒ อย่าง ใน ๒ อย่างนี้ แต่ละอย่าง
                         แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน เพราะไม่มีวินัยนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ไม่ได้รับแนะนำ.

               ก็วินัย ๒ อย่างนี้ คือสังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑.
               แม้ในวินัย ๒ อย่างนี้ วินัยหนึ่งๆ แบ่งออกเป็น ๕ อย่าง.
               สังวรวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ ศีลสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วิริยสังวร ๑.
               ปหานวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ ตทังคปหาน (ละชั่วคราว) ๑ วิกขัมภนปหาน (ละด้วยข่มไว้) ๑ สมุจเฉทปหาน (ละเด็ดขาด) ๑ ปฏิปัสสัทธิปหาน (ละด้วยสงบ) ๑ นิสสรณปหาน (ละพ้นออกไป) ๑.
               ในสังวร ๕ เหล่านั้น การเข้าถึง เข้าถึงพร้อมด้วยปาติโมกขสังวร นี้ชื่อว่าศีลสังวร.
               การรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ นี้ชื่อว่าสติสังวร.
               (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอชิตะ)
                                   กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแส
                         เหล่านั้น เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
                         กระแสเหล่านั้น อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้.

               นี้ชื่อว่าญาณสังวร.
               ความอดทนต่อความหนาว ความร้อน ชื่อว่าขันติสังวร. ความพยายามไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วท่วมทับได้ นี้ชื่อว่าวิริยสังวร.
               อนึ่ง สังวรแม้ทั้งหมดนี้ท่านกล่าวว่า สํวร เพราะกั้นกายทุจริตเป็นต้นที่ควรกั้นและที่ควรนำออกไปตามกำลังของตน กล่าวว่าวินัย เพราะการนำออกไป.
               พึงทราบว่าสังวรวินัยแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนโดยประการฉะนี้.
               อนึ่ง การละองค์นั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ เหมือนการละความมืดด้วยแสงประทีป เพราะเป็นปฏิปักษ์ในวิปัสสนาญาณทั้งหลายมีนามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้น เหมือนอย่างเช่นการละสักกายทิฏฐิด้วยการกำหนดนามรูป. ละความเห็นว่าสังขารไม่มีเหตุและความเห็นว่าสังขารมีปัจจัยไม่เสมอกัน ด้วยการกำหนดปัจจัย, ละความเป็นผู้สงสัยด้วยการข้ามพ้นความสงสัยในภายหลังนั่นเอง. ละการยึดถือว่าเรา ของเรา ด้วยการพิจารณาเป็นกลาปะ, ละความสำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ทางว่าเป็นทางด้วยการกำหนดว่าทางและมิใช่ทาง, ละอุจเฉททิฏฐิด้วยเห็นการเกิด, ละสัสสตทิฏฐิด้วยเห็นการดับ, ละความสำคัญในสิ่งที่เป็นภัยว่าไม่เป็นภัยด้วยการเห็นภัย, ละความสำคัญในสิ่งไม่มีโทษด้วยเห็นว่ามีโทษ, ละความ สำคัญในความยินดียิ่งด้วยนิพพิทานุปัสสนา, ละความเป็นผู้ไม่ประสงค์จะพ้นด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ, ละความไม่วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ, ละความเป็นปฏิโลมในการตั้งอยู่ในธรรมและในนิพพานด้วยอนุโลมญาณ, ละการถือสังขารนิมิตด้วยโคตรภูญาณ. นี้ชื่อว่าตทังคปหาน.
               การละธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นเหล่านั้นๆ ด้วยสมาธิอันต่างด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ โดยห้ามความเป็นไป เหมือนห้ามแหนบนหลังน้ำ ด้วยการทุบหม้อเหวี่ยงลงไปฉะนั้น นี้ชื่อว่าวิกขัมปหาน.
               การละหมู่สรรพกิเลสอันเป็นฝ่ายสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) ดังที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เพื่อละทิฏฐิในสันดานของตนๆ ของบุคคลผู้มีมรรคนั้นๆ เพราะอบรมอริยมรรค ๔ แล้ว โดยไม่ให้เป็นไปได้อีกตลอดไป นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน.
               ความที่กิเลสทั้งหลายสงบในขณะแห่งผล นี้ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหาน.
               นิพพานอันละสังขตธรรมทั้งปวงแล้ว เพราะสลัดออกซึ่งสังขตธรรมทั้งปวง นี้ชื่อว่านิสสรณปหาน. เพราะการละทั้งหมด นี้ชื่อว่าปหาน เพราะอรรถว่าสละออกไป.
               ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่านำออกไป. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปหานวินัย เพราะละกิเลสนั้นๆ และเพราะมีวินัยนั้นๆ.
               พึงทราบว่า แม้ปหานวินัยนี้ก็แบ่งออกเป็น ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               วินัยนี้โดยสังเขปมี ๒ อย่าง และโดยประเภทมี ๑๐ อย่าง เพราะความสำรวมต่างกัน และเพราะสิ่งที่ควรละก็ยังละไม่ได้ เพราะวินัยนั้นไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่มีผู้แนะนำ เพราะไม่มีวินัยนั้น.
               แม้ในบทนี้ว่า ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ, ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. โดยความก็ไม่ต่างกัน.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเป็นพระอริยะ ผู้นั้นแหละเป็นสัตบุรุษ ผู้ใดเป็นสัตบุรุษ ผู้นั้นแหละเป็นพระอริยะ ธรรมใดของพระอริยะ ธรรมนั้นของสัตบุรุษ ธรรมใดของสัตบุรุษ ธรรมนั้นของพระอริยะ อริยะวินัยก็คือสัปปุริสวินัย สัปปุริสวินัยก็คืออริยวินัย.
               บทว่า อริเย สปฺปุริเส อริยธมฺเม สปฺปุริสธมฺเม อริยวินเย หรือ สปฺปุริสวินเย ก็อย่างเดียวกันกับบทว่า เอกเสเส เอเก เอกฏฺเฐ สเม สมภาเค ตชฺชาเต หรือ ตญฺเญ เอาความทั้งหมดว่า เป็นอันเดียวกัน เสมอกัน เกิดที่เดียวกัน.
               บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน คือคนบางพวกในโลกนี้ ตามเห็นรูปและตนทั้งสองอย่างว่า รูปก็คือเรา เราก็คือรูป. เหมือนอย่างว่า ตามเห็นเปลวไฟและสีทั้งสองอย่างของตะเกียงน้ำมันกำลังเผาอยู่ว่า เปลวไฟก็คือสี สีก็คือเปลวไฟฉันใด คนบางพวกในโลกนี้ก็ฉันนั้น ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน คือตามเห็นทิฏฐิว่าตนมีรูปอย่างนี้.
               บทว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ เห็นตนว่ามีรูปบ้างคือถือสิ่งไม่มีรูปว่าเป็นตน แล้วตามเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นรูป ดุจเห็นต้นไม้ว่ามีเงา.
               บทว่า อตฺตนิ วา รูปํ เห็นรูปในตนบ้าง คือถือสิ่งไม่มีรูปนั่นแหละว่าเป็นตน แล้วตามเห็นรูปในตน เหมือนตามดมกลิ่นในดอกไม้.
               บทว่า รูปสฺมึ วา อตฺตานํ เห็นตนในรูปบ้างคือถือสิ่งไม่มีรูป (อรูป) นั่นแหละว่าเป็นตน แล้วตามเห็นตนนั้นในรูป เหมือนตามเห็นแก้วมณีในหีบ.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทว่า รูปํ อตฺตโต สมฺนุปสฺสติ ตามเห็นรูปโดยความเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวถึงรูปล้วนๆ ว่าเป็นตน. ท่านกล่าวถึงอรูปว่าเป็นตนในฐานะ ๗ เหล่านี้คือ ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ตามเห็นรูปในตนบ้างตามเห็นตนในรูปบ้าง ตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง. ท่านกล่าวปนกันไปถึงรูปและอรูปว่าเป็นตนในฐานะ ๑๒ อย่าง อย่างละ ๓ๆ ในขันธ์ ๔ อย่างนี้ คือตามเห็นตนว่ามีเวทนาบ้าง ตามเห็นเวทนาในตนบ้าง ตามเห็นตนในเวทนาบ้าง.
               ในบทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ นั้นท่านกล่าวถึงอุจเฉททิฏฐิในฐานะ ๕ คือตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน. ท่านกล่าวถึงสัสสตทิฏฐิในส่วนที่เหลือ. ในบทนี้มีภวทิฏฐิ ๑๕ ด้วยประการฉะนี้.
               ภวทิฏฐิเหล่านั้นแม้ทั้งหมดพึงทราบว่า ห้ามมรรค ไม่ห้ามสวรรค์ พึงฆ่าได้ด้วยปฐมมรรค.
               บทว่า อารญฺญิโก คือ เมื่ออาศัยอยู่ในป่า.
               บทว่า ปวเน คือ ในป่าลึกใหญ่.
               บทว่า จรมาโน คือ เดินไปมาในที่นั้นๆ.
               บทว่า วิสฺสตฺโต คจฺฉติ เดินไปก็ไม่ระแวง คือเดินไปก็ไม่กลัว ไม่ระแวง.
               บทว่า อนาปาถคโต ลุทฺทสฺส เนื้อนั้นไม่ไปในทางของพราน คือไปทางอื่น.
               บทว่า อนฺตมกาสิ มารํ ทำมารให้มีที่สุด คือทำกิเลสมารหรือเทวบุตรมารให้มีที่สุด.
               บทว่า อปทํ วธิตฺวา กำจัดมารไม่ให้มีทาง คือทำทางกิเลสไม่ให้มีทาง คือทำให้พินาศไป.
               บทว่า มารจกฺขุอทสฺสนํ คโต คือ ไปสู่ที่มารไม่เห็น.
               บทว่า อนาปาถคโต คือ ไปพ้นหน้ามาร.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้. และเมื่อจบเทศนาได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นกับที่กล่าวแล้วในครั้งก่อน.

               จบอรรถกถาโมฆราชมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 467อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 490อ่านอรรถกถา 30 / 511อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=4519&Z=4935
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=1754
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=1754
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :