ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

               อรรถกถาขัคควิสาณสุตตนิทเทส               
               ต่อนี้ไปถึงโอกาสแห่งการพรรณนาขัคควิสาณสุตตนิทเทส แล้ว.
               พวกเราจักพรรณนาเพียงบทที่เกินต่อจากบทนี้เท่านั้น.

               ปฐมวรรค               
               คาถาที่ ๑               
                                 ๑.#- สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ
                                        อวิเหฐยํ อญฺญตรมฺปิ เตสํ
                                        น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย กุโต สหายํ
                                        เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                 บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้วไม่เบียดเบียน
                         บรรดาสัตว์เหล่านั้น แม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก ไม่พึง
                         ปรารถนาบุตร จะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยว
                         ไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
____________________________
#- เลขหน้าคาถาทุกคาถา ในขัคควิสาณสุตตนิทเทสนี้ ไม่ใช่เลขข้อในบาลี. เป็นเลขลำดับคาถา มีทั้งหมด ๔๑ คาถา.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพสุ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ.
               บทว่า ภูเตสุ คือ ในสัตว์ทั้งหลาย.
               ภูตศัพท์ในบทว่า ภูเตสุ นี้เป็นไปในอรรถว่าสิ่งที่มี ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า ภูตสฺมึ ปาจิตฺติยํ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะสิ่งที่มีอยู่.
               เป็นไปในอรรถว่าขันธ์ ๕ ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า ภูตมิทํ สารีปุตฺต สมนุปสฺสิ ดูก่อนสารีบุตร เธอจงพิจารณาขันธ์นี้.
               เป็นไปในอรรถว่ารูป ๔ อย่างมีปฐวีธาตุเป็นต้น.
               เป็นไปในอรรถว่ารูป ๔ มีปฐวีธาตุเป็นต้นมีอาทิอย่างนี้ว่า จตฺตาโร โข ภิกฺเว มหาภูตา เหตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุ.
               เป็นไปในอรรถว่าพระขีณาสพ ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า โย จ กาลฆโส ภูโต พระขีณาสพเป็นผู้กินกาลเวลา.
               เป็นไปในอรรถว่าสรรพสัตว์ ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า สพฺเพว นิกฺขิปิสฺสนฺติ ภูตา โลเก สมุสฺยํ สัตว์ทั้งปวงจักทิ้งร่างกายไว้ในโลก.
               เป็นไปในอรรถว่าต้นไม้เป็นต้น ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า ภูต คามปาตพฺตา เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ให้หลุดจากที่.
               ย่อมเป็นไปหมายเอาหมู่สัตว์ในชั้นต่ำกว่าชั้นจาตุมหาราชิกาลงมา ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า ภูตํ ภูตโต ปชานาติ ย่อมรู้ หมู่สัตว์ตามความเป็นจริง.
               แต่ในที่นี้พึงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วบนแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น โดยไม่ต่างกันว่า ภูตะ ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น.
               บทว่า นิธาย คือ วางแล้ว. บทว่า ทณฺฑํ คือ อาชญาทางกาย วาจาและใจ. บทนี้เป็นชื่อของกายทุจริตเป็นต้น.
               กายทุจริตชื่อว่าทัณฑะ เพราะลงโทษ. ท่านกล่าวว่า เพราะเบียดเบียนให้ถึงความพินาศล่มจม. วจีทุจริตและมโนทุจริตก็เหมือนกัน หรือการลงโทษด้วยการประหารนั่นแล ชื่อว่าทัณฑะ. ท่านกล่าวว่าวางอาชญานั้น.
               บทว่า อเหฐยํ คือ ไม่เบียดเบียน.
               บทว่า อญฺญตรมฺปิ คือ แม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง.
               บทว่า เตสํ คือ สรรพสัตว์เหล่านั้น.
               บทว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย คือ ไม่พึงปรารถนาบุตรไรๆ ในบุตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ อัตตชะ บุตรเกิดแต่ตน ๑ เขตตชะ บุตรเกิดแต่ภริยา ๑ ทินนกะ บุตรที่เขายกให้ ๑ อันเตวาสิกะ ลูกศิษย์ ๑.
               บทว่า กุโต สหายํ คือ พึงปรารถนาสหายได้แต่ไหน.
               บทว่า เอโก ได้แก่ ผู้เดียวด้วยการบวช.
               ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อน. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหาได้. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากกิเลสโดยแน่นอน. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิญาณผู้เดียว.
               จริงอยู่ แม้ยังเป็นไปอยู่ในท่ามกลางสมณะตั้งพัน ก็ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตัดความคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้ จึงชื่อว่าผู้เดียวด้วยการบวช.
               ชื่อว่าผู้เดียว เพราะยืนผู้เดียว ไปผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เคลื่อนไหวเป็นไปผู้เดียว ด้วยประการฉะนี้ จึงชื่อว่าผู้เดียวโดยไม่มีเพื่อน.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน
                         ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และมีความ
                         เป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุมีสติรู้โทษอย่างนี้ และตัณหา
                         เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์แล้ว พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา
                         ไม่ถือมั่น พึงเว้นรอบ.

               ด้วยประการฉะนี้ จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะละตัณหาเสียได้.
               ชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากกิเลสได้แน่นอนอย่างนี้ คือละกิเลสทั้งหมดแล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เหมือนตาลยอดด้วน มีการไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา.
               ชื่อว่าผู้เดียว เพราะเป็นพระสยัมภู ไม่มีอาจารย์ เป็นผู้ตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิญาณด้วยตนเอง ด้วยประการฉะนี้ จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิญาณผู้เดียว.
               บทว่า จเร พึงเที่ยวไป ได้แก่จริยา (การเที่ยวไป) มี ๘ อย่างคือ
               อิริยาปถจริยา การเที่ยวไปในอิริยาบถ ๔ ของผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ๑
               อายตนจริยา การเที่ยวไปในอายตนะภายใน ๖ ของผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
               สติจริยา การเที่ยวไปในสติปัฏฐาน ๔ ของผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท ๑
               สมาธิจริยา การเที่ยวไปในฌาน ๔ ของผู้ขวนขวายในอธิจิต ๑
               ญาณจริยา การเที่ยวไปในอริยสัจ ๔ ของผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑
               มรรคจริยา การเที่ยวไปในอริยมรรค ๔ ของผู้ปฏิบัติโดยชอบ ๑
               ปัตติจริยา การเที่ยวไปในสามัญผล ๔ ของผู้บรรลุผล ๑
               โลกัตถจริยา ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลกในสรรพสัตว์ทั้งหลายของท่านผู้เป็นพุทธะ ๓ จำพวก คือพระสัมมาสัมพุทธะ ๑ พระปัจเจกพุทธะ ๑ พระสาวกพุทธะ ๑.
               ในพระพุทธะ ๓ จำพวกเหล่านั้น ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลกของพระปัจเจกพุทธะและพระสาวกพุทธะ ได้เฉพาะบางส่วน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า จริยา ๘ ในคำว่า จริยา นี้ ได้แก่ อิริยาปถจริยาเป็นต้น.
               พึงทราบความพิสดารในเรื่องนั้น ความว่า พึงเป็นผู้ประกอบด้วยจริยาเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวจริยา ๘ แม้อย่างอื่นอีกอย่างนี้ว่า บุคคลผู้น้อมใจเชื่อจริยาเหล่านี้ย่อมประพฤติด้วยศรัทธา ผู้ประคองใจย่อมประพฤติด้วยความเพียร ผู้เข้าไปตั้งมั่นย่อมประพฤติด้วยสติ ผู้ไม่ฟุ้งซ่านย่อมประพฤติด้วยสมาธิ ผู้รู้ทั่วย่อมประพฤติด้วยปัญญา ผู้รู้แจ้งย่อม ประพฤติด้วยวิญญาณ บุคคลผู้มนสิการว่า กุศลธรรมทั้งหลายย่อมดำเนินไปทั่วแก่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมประพฤติด้วยอายตนจริยา บุคคลผู้มนสิการว่าผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมบรรลุคุณวิเศษ ย่อมประพฤติด้วยวิเศษจริยา ดังนี้.
               อธิบายว่า พึงเป็นผู้ประกอบด้วยจริยาแม้เหล่านั้น.
               บทว่า ขคฺควิสาณกปฺโป เหมือนนอแรด คือเขาของแรดชื่อว่านอแรด.
               กัปป ศัพท์นี้มีความหลายอย่างเป็นต้นว่า เชื่อ โวหาร กาล บัญญัติ เฉทนะ (ตัด) วิกัปปะ (ประมาณ) เลส สมันตภาวะ (โดยรอบ) สทิสะ (คล้าย).
               จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์นั้นมีอรรถว่าเชื่อ ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ข้อนี้ควรเชื่อต่อพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               มีอรรถว่าโวหาร ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อฉันผลไม้ด้วยสมณโวหาร ๕ อย่าง.
               มีอรรถว่ากาล ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า นัยว่าเราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิจ.
               มีอรรถว่าบัญญัติ ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านกัปปะได้กล่าวไว้ดังนี้.
               มีอรรถว่าเฉทนะ ตัด ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ปลง ผมและหนวดตกแต่งแล้ว.
               มีอรรถว่าวิกัปปะ ประมาณ ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า กว้างหรือยาว ประมาณ ๒ นิ้ว.
               มีอรรถว่าเลส ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า หาเลสเพื่อจะนอน.
               มีอรรถว่าสมันต ภาวะโดยรอบ ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ยังพระวิหารเวฬุวันโดยรอบให้สว่างไสว.
               มีอรรถว่าสทิสะ คล้าย ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ผมกำลังพูดอยู่กับท่านผู้เป็นสาวก ทรงคุณคล้ายพระศาสดา มิได้ทราบเลย (ว่าท่านชื่อว่าสารีบุตร). อธิบายว่า มีส่วนเปรียบ.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบความว่า เช่นกับ เปรียบกับ พระศาสดานั้น. ท่านกล่าวว่า เปรียบกับนอแรด. พึงทราบการพรรณนาความในที่นี้ เพียงเท่านี้ก่อน.
               แต่พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ได้ โดยสืบต่อจากการอธิบายต่อไป.
               อาชญานี้มีประการดังได้กล่าวแล้ว ยังเป็นไปอยู่ในสัตว์ทั้งหลาย ยังไม่ละวาง. บุคคลไม่ยังอาชญาให้เป็นไปในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงด้วยเมตตาอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออาชญานั้น และด้วยนำประโยชน์เข้าไปให้ เพราะเป็นผู้วางอาชญาแล้วนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่วางอาชญา ย่อมเบียดเบียนสัตว์ด้วยท่อนไม้ ด้วยศัสตรา ด้วยฝ่ามือหรือด้วยก้อนดินฉันใด เราไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่งฉันนั้น อาศัยเมตตากรรมฐานนี้เห็นแจ้งสังขตธรรมอันไปแล้วในเวทนา ไปแล้วในสัญญา สังขารและวิญญาณ และอื่นจากนั้นโดยทำนองเดียวกัน แล้วจึงได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณนี้. พึงทราบอธิบายดังนี้ก่อน.
               พึงทราบอนุสนธิต่อไป.
               เมื่อพระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวอย่างนั้นแล้ว พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้พระคุณเจ้าจะไปไหน. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ารำพึงว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ก่อนอยู่ ณ ที่ไหน ครั้นรู้แล้วจึงกล่าวว่า อาตมาจะไปภูเขาคันธมาทน์. พวกมนุษย์จึงกล่าวอีกว่า โอ บัดนี้พระคุณเจ้าจะทิ้งพวกกระผมไป อย่าไปเลยขอรับ.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย บุคคลไม่พึงปรารถนาบุตร ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทนนั้นมีอธิบายดังนี้
               บัดนี้เรามิได้พึงปรารถนาบุตรประเภทใดประเภทหนึ่ง บรรดาบุตรที่เกิดแต่ตนเป็นต้น จักปรารถนาสหายเช่นท่านแต่ไหน เพราะฉะนั้น บรรดาท่านทั้งหลาย ผู้ใดเป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม ประสงค์จะไปกับเรา ผู้นั้นพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออำมาตย์เหล่านั้นกล่าวว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าจะละทิ้งพวกกระผมไป พระคุณเจ้าไม่ต้องการพวกกระผมเสียแล้วหรือ. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า อาตมามิได้พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนาสหายแต่ไหน. เห็นคุณของการเที่ยวไปผู้เดียวโดยความตามที่ตนกล่าวแล้ว ก็บันเทิงใจ เกิดปีติโสมนัส จึงเปล่งอุทานนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตสิตา คือ ทำความอยาก. บทว่า ภยเภรโว ความกลัวและความขลาด คือมีจิตสะดุ้งเปล่งเสียตกใจ.
               บทว่า ถาวรา ผู้มั่นคง คือพระขีณาสพ.
               บทว่า นิธาย คือ ทิ้งแล้ว. บทว่า นิทหิตฺวา คือ วางแล้ว. บทว่า โอโรปยิตฺวา คือ ปลงแล้ว. บทว่า สโมโรปยิตฺวา คือ ปล่อยลงข้างล่าง. บทว่า นิกฺขิปิตฺวา ได้แก่ นำออกไปจากที่นั้น. บทว่า ปฏิปสฺสมฺภิตฺวา ระงับแล้ว คือสงบแล้ว
               บทว่า อาลปนํ คือ การเจรจากันแต่แรก. บทว่า สลฺลปนํ คือ การเจรจากันโดยชอบ. บทว่า อุลฺลปนํ คือ เจรจายกย่องกัน. บทว่า สมุลฺลปนํ คือ การเจรจายกย่องกันบ่อยๆ.
               บทว่า อิริยาปถจริยา คือ เที่ยวไปในอิริยาบถ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แต่อายตนจริยา คือเที่ยวไปในอายตนะด้วยสติและสัมปชัญญะ.
               บทว่า ปตฺติ คือ ผลทั้งหลาย. เพราะผลเหล่านั้นท่านเรียกว่า ปตฺติ เพราะเป็นเหตุให้บรรลุ. ประโยชน์ทั้งหลายอันเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพของสัตวโลก ชื่อว่าโลกัตถะ. นี่เป็นข้อแตกต่างกัน.
               บัดนี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเมื่อจะแสดงภูมิแห่งจริยาเหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า จตูสุ อิริยาปเถสุ ในอิริยาบถ ๔.
               บทว่า สติปฏฺฐาเนสุ คือ แม้ในสติปัฏฐานซึ่งมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวอยู่ ก็กล่าวถึงธรรมที่ไม่เป็นอย่างอื่นจากสติ แต่ทำเหมือนเป็นอย่างอื่นด้วยโวหาร.
               บทว่า อริยสจฺเจสุ ท่านกล่าวด้วยการกำหนดสัจจะไว้เป็นแผนกๆ ด้วยสัจญาณ อันเป็นโลกิยะอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               คำว่า อริยมคฺเคสุ และคำว่า สามญฺญผเลสุ ท่านกล่าวด้วยอำนาจโวหารเท่านั้น.
               บทว่า ปเทเส คือ ในส่วนหนึ่งของโลกัตถจริยา คือการประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงบำเพ็ญโลกัตถจริยาโดยไม่มีส่วนเหลือ.
               พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงจริยาเหล่านั้นอีก ด้วยอำนาจแห่งการกบุคคล (บุคคลผู้กระทำ) จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปณิธิสมฺปนฺนานํ ของผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ.
               ในบทเหล่านั้นพึงทราบความดังต่อไปนี้.
               ผู้มีอิริยาบถไม่หวั่นไหว ถึงพร้อมด้วยความเป็นไปแห่งอิริยาบถ เพราะอิริยาบถสงบ ผู้ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถอันสงบสมควรแก่ความเป็นภิกษุ ชื่อว่า ปณิธิสมฺปนฺนานํ ผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ.
               บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวารานํ ผู้มีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย คือชื่อว่า คุตฺทฺวารา เพราะมีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น ด้วยสามารถทวารหนึ่งๆ อันเป็นไปแล้วในวิสัยของตนๆ. แห่งทวารอันคุ้มครองแล้วนั้น.
               อนึ่ง ในบทว่า ทฺวารํ นี้ ได้แก่ จักขุทวารเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งทวารที่เกิดขึ้นตามธรรมดา.
               บทว่า อปฺปมาทวิหารีนํ ของบุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท คือของบุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทในคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น.
               บทว่า อธิจิตฺตมนุยุตฺตานํ ของบุคคลผู้ขวนขวายในอธิจิต คือของบุคคลผู้ขวนขวายด้วยสมาธิคืออธิจิต โดยความเป็นบาทแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า พุทฺธิสมฺปนฺนานํ ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยญาณอันเป็นไป ตั้งต้นแต่การกำหนดนามรูปจนถึงโคตรภู.
               บทว่า สมฺมาปฏิปนฺนานํ ของบุคคลผู้ปฏิบัติชอบ คือในขณะของมรรค ๔.
               บทว่า อธิคตผลานํ ของบุคคลผู้บรรลุผลแล้ว คือในขณะของผล ๔.
               บทว่า ตถาคตานํ คือ ผู้มาแล้วเหมือนอย่างนั้น.
               บทว่า อรหนฺตานํ คือ ผู้ไกลจากกิเลส.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธานํ คือ ผู้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยตนเอง.
               ความของบททั้งหลายเหล่านี้ประกาศไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า ปเทเส ปจฺเจกสมฺพุทฺธานํ คือ ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายบางส่วน.
               บทว่า ปเทเส สาวกานํ คือ แม้ของสาวกทั้งหลายบางส่วน.
               บทว่า อธิมุจฺจนฺโต คือทำการน้อมไป.
               บทว่า สทฺธาย จรติ ประพฤติด้วยศรัทธา คือเป็นไปด้วยอำนาจแห่งศรัทธา.
               บทว่า ปคฺคณฺหนฺโต ผู้ประคองใจ คือพยายามด้วยความเพียร คือสัมมัปปธาน ๔.
               บทว่า อุปฏฺฐเปนฺโต ผู้เข้าไปตั้งไว้ คือเข้าไปตั้งอารมณ์ไว้ด้วยสติ.
               บทว่า อวิกฺเขปํ กโรนฺโต คือ ผู้ไม่ทำความฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งสมาธิ.
               บทว่า ปชานนฺโต ผู้รู้ทั่ว คือรู้ชัดด้วยปัญญารู้อริยสัจ ๔.
               บทว่า วิชานนฺโต ผู้รู้แจ้ง คือรู้แจ้งอารมณ์ด้วยวิญญาณ คืออาวัชชนจิตอันถึงก่อน (เกิดก่อน) ชวนะที่สัมปยุตด้วยอินทรีย์.
               บทว่า วิญฺญาณจริยาย ประพฤติด้วยวิญญาณ คือด้วยอำนาจแห่งวิญญาณคืออาวัชชนจิต.
               บทว่า เอวํ ปฏิปนฺนสฺส ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือปฏิบัติด้วยอินทรียจริยาพร้อมกับอาวัชชนะ.
               บทว่า กุสลา ธมฺมา อายาเปนฺติ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมดำเนินไป ความว่า กุศลธรรมทั้งหลายเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนา ยังความวิเศษให้เป็นไป.
               บทว่า อายตนจริยาย ภูสะความมั่นคงท่านกล่าวว่า ความมั่นคงของกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยอายตนจริยา คือด้วยความประพฤติ เป็นไป.
               บทว่า วิเสสมธิคจฺฉติ คือ ย่อมบรรลุคุณวิเศษด้วยอำนาจแห่งวิกขัมภนปหาน ตทังคปหาน สมุจเฉทปหานและปฏิปัสสัทธิปหาน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ทสฺสนจริยา จ สมฺมาทิฏฺฐิยา การประพฤติสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่าทัสสนจริยา ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะเห็นชอบ หรือเป็นเหตุเห็นชอบ หรือมีทิฏฐิงามน่าสรรเสริญ. แห่งสัมมาทิฏฐินั้น.
               ชื่อว่า ทัสสนจริยา เพราะประพฤติด้วยการทำนิพพานให้ประจักษ์.
               ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะดำริชอบ หรือเป็นเหตุดำริชอบ หรือดำริดีน่าสรรเสริญ.
               ชื่อว่า อภินิโรปนจริยา เพราะประพฤติปลูกฝั่งจิตไว้ในอารมณ์นั้น.
               ชื่อว่า สัมมาวาจา เพราะเจรจาชอบ หรือเป็นเหตุเจรจาชอบหรือเจรจาดีน่าสรรเสริญ. บทนี้เป็นชื่อของการเว้นมิจฉาวาจา.
               ชื่อว่า ปริคฺคหจริยา เพราะประพฤติยึดวจีสังวร ๔ อย่างของสัมมาวาจานั้น.
               ชื่อว่า สัมมากัมมันตะ เพราะทำชอบ หรือเป็นเหตุทำชอบหรือการงานดีน่าสรรเสริญ. การงานชอบนั่นแลชื่อว่าสัมมากัมมันตะ. บทนี้เป็นชื่อของการเว้นจากมิจฉากัมมันตะ.
               ชื่อว่า สมุฏฐานจริยา เพราะประพฤติตั้งอยู่ในกายสังวร ๓ อย่าง.
               ชื่อว่า สัมมาอาชีวะ เพราะเลี้ยงชีพชอบ หรือเป็นเหตุเลี้ยงชีพชอบหรือมีอาชีพดีน่าสรรเสริญ. บทนี้เป็นชื่อของการเว้นมิจฉาอาชีวะ. สัมมาอาชีพนั้นชื่อว่าโวทานจริยา ประพฤติผ่องแผ้ว.
               ชื่อว่า ปริสุทธจริยา ประพฤติบริสุทธิ์.
               ชื่อว่า สัมมาวายามะ เพราะพยายามชอบ หรือเป็นเหตุพยายามชอบ หรือพยายามดีน่าสรรเสริญ. สัมมาวายามะนั้นชื่อว่าปัคคหจริยา ประพฤติประคองใจ.
               ชื่อว่า สัมมาสติ เพราะระลึกชอบ หรือเป็นเหตุระลึกชอบ หรือระลึกดีน่าสรรเสริญ. สัมมาสตินั้นชื่อว่าอุปัฏฐานจริยา ประพฤติตั้งมั่น.
               ชื่อว่า สัมมาสมาธิ เพราะตั้งใจชอบ หรือเป็นเหตุตั้งใจชอบ หรือตั้งใจดีน่าสรรเสริญ. สัมมาสมาธินั้นชื่อว่าอวิกเขปจริยา ประพฤติไม่ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า ตกฺกปฺโป คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นเหมือนนอแรด. อธิบายว่า เป็นอย่างนั้น.
               บทว่า ตํสทิโส คือ เช่นกับนอแรด. ปาฐะว่า ตสฺสทิโส บ้าง.
               บทว่า ตปฺปฏิภาโค คือ เปรียบเหมือนนอแรด. อธิบายว่า เป็นเช่นนั้น.
               รสเค็มไม่มีรสหวาน ชื่อว่า อติโลณะ เค็มจัดกล่าวกันว่าเหมือนเกลือ เช่นกับเกลือ.
               บทว่า อติติตฺติกํ คือ ของขมจัดมีสะเดาเป็นต้นกล่าวกันว่า เหมือนของขม เช่นกับรสขม.
               บทว่า อติมธุรํ มีรสหวานจัด คือมีข้าวปายาสเจือด้วยน้ำนมเป็นต้น.
               บทว่า หิมกปฺโป เหมือนหิมะ คือเช่นกับน้ำแข็ง.
               บทว่า สตฺถุกปฺโป เหมือนพระศาสดา คือเช่นกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา.
               บทว่า เอวเมว เป็นนิบาตบอกความเปรียบเทียบ.
               เราจักแสดงวิธีบอกวิปัสสนาโดยสังเขปของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วจักไป ณ ที่นั้น.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์ประสงค์จะทำการกำหนดนามรูป จึงเข้าฌานใดฌานหนึ่งในฌานสมาบัติ ๘ ทั้งที่เป็นรูปฌานและอรูปฌาน ออกจากฌานแล้วกำหนดองค์ฌานมีวิตกเป็นต้น และธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นอันสัมปยุตด้วยองค์ฌานนั้น ด้วยอำนาจแห่งลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐาน ชื่อว่านาม เพราะอรรถว่าน้อมไป โดยความน้อมไปมุ่งต่ออารมณ์.
               แต่นั้นก็แสวงหาปัจจัยแห่งนามนั้น ย่อมเห็นว่า นามย่อมเป็นไปเพราะอาศัยหทัยวัตถุ. ครั้นเห็นภูตรูปอันเป็นปัจจัยแห่งวัตถุและอุปาทายรูปแล้ว จึงกำหนดว่าทั้งหมดนี้ ชื่อว่ารูป เพราะมีลักษณะสลายไป. กำหนดนามรูปทั้งสองนั้นอีกโดยสังเขปอย่างนี้ว่า นามมีลักษณะน้อมไป รูปมีลักษณะสลายไป. นี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งสมถยานิกะ (มีสมถะเป็นยาน). ส่วนวิปัสสนายานิกะ (มีวิปัสสนาเป็นยาน) กำหนดภูตรูปและอุปาทายรูปด้วยหัวข้อการกำหนดธาตุ ๔ แล้วเห็นว่าธรรมทั้งหมดนี้ชื่อว่ารูป เพราะความสลายไป.
               แต่นั้น อรูปธรรมทั้งหลายอันเป็นไปอยู่เพราะอาศัยวัตถุมีจักขุวัตถุเป็นต้นแห่งรูปที่กำหนดไว้อย่างนี้ ย่อมมาสู่คลอง. แต่นั้นรวมอรูปธรรมเหล่านั้น แม้ทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน โดยลักษณะน้อมไป ย่อมเห็นว่านี้เป็นนาม.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้นย่อมกำหนดโดยส่วนสองว่า นี้นาม นี้รูป. ครั้นกำหนดอย่างนั้นแล้ว ย่อมเห็นว่าสัตว์ บุคคล เทวดาหรือพรหมอื่น นอกเหนือไปจากนามรูปไม่มี.
                                   เหมือนอย่างว่า เสียงว่ารถย่อมมีได้ เพราะการ
                         ประชุมองค์ประกอบ (ของรถ) ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลาย
                         ยังมีอยู่ การสมมติกันว่าสัตว์ก็ย่อมมีฉันนั้น.

               ท่านกำหนดนามรูปด้วยญาณอันเป็นทิฏฐิวิสุทธิ กล่าวคือการเห็นตามความเป็นจริงของนามรูปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า เมื่ออุปาทานขันธ์ ๕ มีอยู่ การสมมติเรียกกันว่าสัตว์บุคคลย่อมมีได้ฉันนั้นนั่นแหละดังนี้ เมื่อกำหนดแม้ปัจจัยของนามรูปนั้นอีก ก็กำหนดนามรูปโดยนัยดังกล่าวแล้วกำหนดอยู่ว่าอะไรหนอเป็นเหตุแห่งนามรูปนี้
               ครั้นเห็นโทษในอเหตุวาทะและเหตุวาทะอันแตกต่างกัน จึงแสวงหาเหตุและปัจจัยของนามรูปนั้น ดุจแพทย์ครั้นเห็นโรคแล้วจึงตรวจดูสมุฏฐานของโรคนั้น จึงเห็นธรรม ๔ เหล่านี้ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ว่าเป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุให้เกิดนามรูป และว่าเป็นปัจจัยเพราะมีอาหารเป็นปัจจัยอุปถัมภ์. กำหนดปัจจัยแห่งรูปกายอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลาย ๓ มีอวิชชาเป็นต้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่กายนี้ เหมือนมารดาเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่ทารก มีกรรมทำให้เกิดเหมือนบิดาทำบุตรให้เกิด มีอาหารเลี้ยงดูเหมือนแม่นมเลี้ยงดูทารก แล้วกำหนดปัจจัยแห่งนามกายโดยนัยมีอาทิว่า อาศัยจักษุและรูป จักขุวิญญาณย่อมเกิด. เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ย่อมตกลงใจได้ว่า ธรรมแม้ที่เป็นอดีตและอนาคตย่อมเป็นไปอย่างนี้เท่านั้นเหมือนกัน.
               ท่านกล่าววิจิกิจฉาที่ปรารภอดีต (ปุพฺพนฺตํ) ของบุคคลนั้นไว้ ๕ อย่างคือ
                         ๑. ในอดีตอันยาวนานเราได้เป็นแล้วหรือหนอ
                         ๒. หรือว่าเราไม่ได้เป็นแล้ว
                         ๓. เราได้เป็นอะไรมาแล้วหรือหนอ
                         ๔. เราได้เป็นอย่างไรแล้วหนอ
                         ๕. เราเป็นอะไรแล้วได้เป็นอะไรตลอดกาลในอดีตหรือหนอ.
               ท่านกล่าววิจิกิจฉาที่ปรารภอนาคต (อปรนฺตํ) ของบุคคลนั้นไว้ ๕ อย่างคือ
                         ๑. ในอนาคตอันยาวนานเราจักเป็นหรือหนอ
                         ๒. เราจักไม่เป็นหรือหนอ
                         ๓. เราจักเป็นอะไรหนอ
                         ๔. เราจักเป็นอย่างไรหนอ
                         ๕. เราเป็นอะไรแล้วจักเป็นอะไร (ต่อไป) ตลอดกาลในอนาคตหรือหนอ.
               ก็หรือว่าท่านได้กล่าววิจิกิจฉาที่ปรารภปัจจุบันของบุคคลนั้นไว้ ๖ อย่างคือ
                         ๑. เราเป็นอยู่หรือหนอ
                         ๒. เราไม่เป็นอยู่หรือหนอ
                         ๓. เราเป็นอะไรหนอ
                         ๔. เราเป็นอย่างไรหนอ
                         ๕. สัตว์นี้มาจากที่ไหนหนอ
                         ๖. สัตว์นั้นจักไปที่ไหนหนอ.
               ท่านละความสงสัยแม้ทั้งหมดนั้นได้ ด้วยการกำหนดปัจจัยอย่างนี้ ท่านกล่าวถึงญาณอันข้ามความสงสัยในกาล ๓ ตั้งอยู่ ว่าเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย) บ้าง เป็นธรรมฐิติญาณ (ญาณกำหนดรู้ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) บ้าง ยถาภูตญาณ (ญาณกำหนดรู้ตามความเป็นจริง) บ้าง สัมมาทัสสนะ (ความเห็นชอบ) บ้าง.
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ต่อไป.
               จริงอยู่ โลกิยปริญญามี ๓ คือ ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการรู้) ๑ ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา) ๑ ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ) ๑.
               ในโลกิยปริญญา ๓ เหล่านั้น ปัญญาเป็นไปด้วยอำนาจการกำหนดลักษณะเฉพาะตน (ปัจจัตตลักษณะ) ของธรรมเหล่านั้นอย่างนี้ว่า รูปมีลักษณะสลาย เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้ ชื่อว่าญาตปริญญา.
               วิปัสสนาปัญญาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์อันเป็นไปแล้ว เพราะยกธรรมเหล่านั้นขึ้นสู่สามัญลักษณะ โดยนัยมีอาทิว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง ดังนี้ ชื่อว่าตีรณปริญญา.
               วิปัสสนาปัญญาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งการละนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) เป็นต้นในธรรมเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่าปหานปริญญา.
               ในปริญญาเหล่านั้น ภูมิแห่งญาตปริญญาเริ่มตั้งแต่กำหนดสังขารจนถึงกำหนดปัจจัย. ในระหว่างนี้การแทงตลอดลักษณะเฉพาะตน (ปัจจัตลักษณะ) ของธรรมทั้งหลายย่อมเป็นใหญ่.
               ภูมิแห่งตีรณปริญญาเริ่มตั้งแต่การพิจารณากองสังขารจนถึงอุทยัพพยานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ). ในระหว่างนี้ การแทงตลอดสามัญลักษณะย่อมเป็นใหญ่.
               ภูมิแห่งปหาน ปริญญาเบื้องบนตั้งต้นแต่ภังคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความดับ). ต่อแต่นั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงย่อมละนิจจสัญญาเสียได้ พิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ย่อมละสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) เสียได้ พิจารณาเห็นโดยความไม่เป็นตัวตนย่อมละอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) เสียได้ เบื่อหน่าย ความเพลิดเพลิน สำรอกราคะ ดับตัณหา สละ ละความยึดถือเสียได้ ด้วยประการฉะนี้ อนุปัสสนา (การพิจารณาความ) ๗ อย่าง อันสำเร็จด้วยการละนิจจสัญญาเป็นต้นย่อมเป็นใหญ่.
               ในปริญญา ๓ อย่างเหล่านี้ เป็นอันพระโยคาวจรนี้บรรลุญาตปริญญาแล้ว เพราะให้สำเร็จการกำหนดสังขารและการกำหนดปัจจัย. พระโยคาวจรย่อมทำการพิจารณาเป็นกลาป โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปภายในก็ดี รูปภายนอกก็ดี ฯลฯ รูปไกลก็ดี รูปใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดเป็นของไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี เป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดและความดับ เป็นอนัตตาเพราะไม่เป็นไปในอำนาจ.
               เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันอันเป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ก็ดี ไกลก็ดี ใกล้ก็ดี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี เป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดและความเสื่อม เป็นอนัตตา เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ.
               ท่านยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์กล่าวหมายถึงการพิจารณาเป็นกลาปนี้.
               พระโยคาวจรทำการพิจารณากลาป ด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาในสังขารอย่างนี้แล้ว ย่อมเห็นความเกิดและความดับแห่งสังขารทั้งหลายอีก.
               เห็นอย่างไร
               เห็นความเกิดแห่งรูปขันธ์ ด้วยการเห็นความที่รูปขันธ์เนื่องด้วยปัจจัยอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิด เพราะตัณหา กรรม อาหารเกิด จึงเกิดรูป ดังนี้. แม้เมื่อเห็นนิพพัตติลักษณะคือลักษณะของความเกิด ก็ย่อมเห็นความเกิดของรูปขันธ์ด้วย ชื่อว่าย่อมเห็นความเกิดแห่งรูปขันธ์ด้วยอาการ ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ด้วยการดับแห่งปัจจัยว่า เพราะตัณหา กรรม อาหารดับ รูปจึงดับ. แม้เมื่อเห็นวิปริณามลักษณะคือลักษณะความแปรปรวน ก็ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์. ชื่อว่าเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ด้วยอาการ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระโยคาวจรย่อมเห็นความเกิดแห่งเวทนาขันธ์ ด้วยการเห็นเนื่องด้วยปัจจัยว่า เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด เพราะตัณหา กรรม ผัสสะเกิด เวทนาจึงเกิด. แม้เมื่อเห็นนิพพัตติลักษณะ คือลักษณะของการเกิด ก็ย่อมเห็นการเกิดแห่งเวทนาขันธ์ด้วย. เห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ ด้วยการเห็นการดับแห่งปัจจัยว่า เพราะอวิชชาดับ เวทนาจึงดับ เพราะตัณหา กรรม ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ. แม้เมื่อเห็นวิปริณามลักษณะคือ ลักษณะความปรวนแปร ก็ชื่อว่าย่อมเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ด้วย.
               แม้ในสัญญาขันธ์เป็นต้นก็อย่างนี้.
               แต่ก็มีความต่างกันดังนี้ พึงประกอบคำว่า เพราะนามรูปเกิด (วิญญาณจึงเกิด) และเพราะนามรูปดับ (วิญญาณจึงดับ) ดังนี้.
               ในที่แห่งผัสสะ (เมื่อพิจารณาความเกิดและความเสื่อม) ของวิญญาณขันธ์. ท่านกล่าวถึงลักษณะ ๕๐ แบ่งเป็นอย่างละ ๑๐ๆ ในการเห็นความเกิดและความดับในขันธ์หนึ่งๆ ด้วยการเกิดแห่งปัจจัย ด้วยนิพพัตติลักษณะคือลักษณะแห่งการเกิด ด้วยการดับแห่งปัจจัย ด้วยวิปริณามลักษณะคือลักษณะแห่งความปรวนแปร. ด้วยอำนาจแห่งลักษณะเหล่านั้น พระโยคาวจรกระทำมนสิการโดยพิสดาร ทั้งโดยปัจจัยและทั้งโดยขณะว่า ความเกิดแห่งรูปย่อมเป็นแม้อย่างนี้ ความเสื่อมแห่งรูปย่อมเป็นแม้อย่างนี้.
               เมื่อพระโยคาวจรกระทำอย่างนี้ ญาณย่อมเป็นญาณบริสุทธิ์ว่า นัยว่า ธรรมเหล่านี้ไม่มีแล้ว มีแล้วเสื่อม ด้วยประการฉะนี้. สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นของใหม่อยู่เป็นนิจว่า นัยว่าธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ด้วยประการฉะนี้. สังขารทั้งหลายมิใช่เป็นของใหม่อยู่เป็นนิจแต่เพียงอย่างเดียว ยังปรากฏไม่มีสาระ หาสาระมิได้ ดุจหยาดน้ำค้างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ดุจฟองน้ำ ดุจรอยขีดในน้ำด้วยไม้ ดุจเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ดุจสายฟ้าแลบและดุจภาพลวง พยับแดด ความฝัน ลูกไฟ วงล้อ นักร้อง ยาพิษ ฟองน้ำ และต้นกล้วยเป็นต้นอันตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อย.
               ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันว่าพระโยคาวจรได้บรรลุตรุณวิปัสสนาญาณเป็นครั้งแรก ชื่อว่าอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ เพราะแทงตลอดลักษณะ ๕๐ ถ้วนโดยอาการอย่างนี้ว่าสิ่งที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดานั่นแลย่อมเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความเสื่อมไป ดังนี้ เพราะพระโยคาวจรบรรลุตรุณวิปัสสนาญาณ จึงนับว่าเป็น อารทฺธวิปสฺโก เป็นผู้ปรารภวิปัสสนาแล้ว.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :