ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               คาถาที่ ๒               
                                ๒. สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา
                                    เสฺนหนฺวยํ ทุกฺขมิทํ ปโหติ
                                    อาทีนวํ เสฺนหชํ เปกฺขมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้
                         ย่อมเกิดตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่
                         ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สํสคฺคชาตสฺส คือ บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง.
               ในบทว่า สํสคฺคชาตสฺส นั้น พึงทราบว่า ความเกี่ยวข้องมีอยู่ ๕ อย่าง คือ ทัสสนสังสัคคะ ๑ สวนสังสัคคะ ๑ กายสังสัคคะ ๑ สมุลลปนสังสัคคะ ๑ สัมโภคสังสัคคะ ๑.
               ในสังสัคคะเหล่านั้น ความกำหนัดเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งจักษุวิญญาณ เพราะเห็นกันและกัน ชื่อว่าทัสสนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการเห็น) ตัวอย่างในทัสสนสังสัคคะมีดังนี้.
               ลูกสาวกุฎุมพีเห็นภิกษุหนุ่มผู้อยู่ ณ กัลยาณีวิหาร เที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านกาฬทีฆวาปี ในสีหลทวีป มีจิตปฏิพัทธ์ เมื่อไม่ได้สมความปรารถนาด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาย.
               อีกตัวอย่างหนึ่ง ภิกษุหนุ่มรูปนั้นแหละเห็นท่อนผ้าที่หญิงนั้นนุ่งห่ม คิดว่าเราคงไม่ได้อยู่ร่วมกับนางผู้นุ่งห่มผ้าอย่างนี้ แล้วหัวใจแตกถึงแก่มรณภาพ.
               ก็ความกำหนัดเกิดด้วยอำนาจแห่งโสตวิญญาณ เพราะฟังสมบัติมีรูปเป็นต้นที่คนอื่นพูดถึง หรือฟังเสียงหัวเราะรำพันและเพลงขับด้วยตนเอง ชื่อว่าสวนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยการฟัง).
               แม้ในสวนสังสัคคะนั้นก็มีตัวอย่างดังนี้ ภิกษุหนุ่มชื่อว่า พระติสสะอยู่ในถ้ำปัญจัคคฬะ เหาะไปทางอากาศได้ยินเสียงลูกสาวช่างทอง ชาวบ้านคิริคามกับหญิงสาว ๕ คนไปอาบน้ำยังสระปทุม เก็บดอกบัวเสียบไว้บนศีรษะแล้วร้องเพลงด้วยเสียงดัง จึงเสื่อมจากฌานเพราะกามราคะ ถึงความพินาศ.
               ความกำหนัดเกิดเพราะลูบคลำอวัยวะของกันและกัน ชื่อว่ากายสังสัคคะ (เกี่ยวข้องด้วยกาย).
               ในกายสังสัคคะนี้ มีตัวอย่างภิกษุหนุ่มสวดพระธรรม.
               มีเรื่องว่า ในมหาวิหาร ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกล่าวธรรม ณ มหาวิหารนั้น เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยฝ่ายใน. ลำดับนั้น ความกำหนัดอย่างแรงเกิดขึ้นแก่ราชธิดา เพราะอาศัยรูปและเสียงภิกษุหนุ่มนั้น แม้ภิกษุหนุ่มนั้นก็เกิดความกำหนัดด้วย.
               พระราชา ครั้นทรงเห็นดังนั้นจึงทรงตั้งข้อสังเกต รับสั่งให้กั้นม่าน. ภิกษุหนุ่มและราชธิดาลูบคลำกันและกันแล้วกอดกันจนตายไปด้วยกัน. พวกราชบุรุษเอาม่านออกได้เห็นคนทั้งสองตายเสียแล้ว.
               ก็ความกำหนัดเกิดขึ้นในเพราะสนทนาปราศรัยกันและกัน ชื่อว่าสมุลลปนสังสัคคะ (เกี่ยวข้องกันในเพราะสนทนากัน).
               ความกำหนัดเกิดในเพราะบริโภคร่วมกันกับภิกษุและภิกษุณี ชื่อว่าสัมโภคสังสัคคะ (เกี่ยวข้องเพราะบริโภคร่วมกัน).
               ในสังสัคคะทั้งสองนี้มีตัวอย่าง เรื่องภิกษุภิกษุณีในมริจวัฏฏิวิหาร.
               มีเรื่องเล่าว่า ในงานฉลองมริจวัฏฏิมหาวิหาร พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยมหาราช ทรงตระเตรียมมหาทาน อังคาสสงฆ์ ๒ ฝ่าย. ณ ที่นั้น เมื่อทรงถวายข้าวยาคูร้อน สังฆนวกสามเณรี (สามเณรีบวชใหม่) ถวายถาดแก่สังฆนวกสามเณร (สามเณรบวชใหม่) มีอายุ ๗ ขวบไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก ได้สนทนากัน. ทั้งสองนั้นบวชจนมีอายุได้ ๖๐ ปี ไปสู่ฝั่งอื่น ได้บุพสัญญาด้วยการสนทนากันและกัน ทันใดนั้นเอง เกิดเสน่หากันขึ้น ล่วงสิกขาบท ได้ต้องอาบัติปาราชิก.
               ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้อง ด้วยความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งในความเกี่ยวข้อง ๕ อย่างอย่างนี้ ความกำหนัดอย่างแรงย่อมเกิดขึ้นเพราะมีราคะในครั้งก่อนเป็นปัจจัย. แต่นั้นความทุกข์อันเนื่องด้วยเสน่หาย่อมปรากฏ ความทุกข์อันมีความเสน่หาติดตามมีประการต่างๆ เป็นต้นว่า ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ในปัจจุบันและสัมปรายภพเป็นต้น ย่อมปรากฏ ย่อมบังเกิด ย่อมมี ย่อมเกิด.
               แต่อาจารย์อื่นๆ กล่าวว่า การปล่อยจิตไปในอารมณ์ ชื่อว่าสังสัคคะ ความเกี่ยวข้อง.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวคาถากึ่งหนึ่งนี้มีความอย่างนี้ว่า ความเสน่หาเพราะความเกี่ยวข้องนั้น เป็นทุกข์ดังนี้ จึงกล่าวว่า เรานั้นขุดรากของทุกข์นั้น มีทุกข์อันเกิดแต่ความเศร้าโศกเป็นต้นอันไปตามความเยื่อใย ย่อมปรากฏ จึงบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ. เมื่อพระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้ว บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้นพากันกล่าวว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ พวกกระผมจะพึงทำอย่างไรเล่า.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า พวกท่านก็ดี ผู้อื่นก็ดี ผู้ใดประสงค์จะพ้นจากทุกข์นี้ ผู้นั้นทั้งหมดเพ่งถึงโทษอันเกิดแต่ความเสน่หา พึงเป็นผู้เดียว เที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               ในบทนี้พึงทราบว่า ที่ท่านกล่าวบทนี้ว่า เพ่งโทษอันเกิดแต่เสน่หา หมายถึงบทที่ท่านกล่าวว่าทุกข์นี้เนื่องด้วยเสน่หาย่อมปรากฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเชื่อมความอย่างนี้ว่า ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง ด้วยความเกี่ยวข้องตามที่กล่าวแล้ว ทุกข์นี้เนื่องด้วยเสน่หาย่อมปรากฏ เราเพ่งถึงโทษตามความเป็นจริงนี้ว่า เกิดแต่ความเสน่หา จึงบรรลุ ดังนี้แล้วพึงทราบว่า บทที่ ๔ ท่านกล่าวด้วยคำอุทานตามนัยที่กล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.
               บททั้งปวงต่อจากนั้นเช่นกับที่กล่าวแล้วในคาถาก่อนนั่นแหละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนุปาเทนฺติ ย่อมติดใจ คือ ครั้นเห็นอนุพยัญชนะ (ส่วนต่างๆ) ในรูปย่อมติดใจ.
               บทว่า อนุพนฺธติ ย่อมผูกพัน คือผูกพันด้วยความเสน่หาในรูป.
               บทว่า ภวนฺติ คือ ย่อมมี.
               บทว่า ชายนฺติ คือ ย่อมเกิด.
               บทว่า นิพฺพนฺตนฺติ ย่อมบังเกิด คือย่อมเป็นไป.
               บทว่า ปาตุภวนฺติ คือ ย่อมปรากฏ.
               สามบทว่า สมฺภวนฺติ สญฺชายนฺติ อภินิพฺพตฺตนฺติ เพิ่มอุปสัคลงไป แปลว่า มีพร้อม เกิดพร้อม บังเกิดเฉพาะ
               ต่อจากนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในอัฏฐกวรรคนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๒               
               คาถาที่ ๓               
                                ๓. มิตฺเต สุหชฺเช อนุกมฺปมาโน
                                    หาเปติ อตฺถํ ปฏิพพฺธจิตฺโต
                                    เอตํ ภยํ สนฺถวเปกฺขมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหายผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่า
                         ย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม บุคคลเห็นภัยคือการยังประโยชน์
                         ให้เสื่อม ในการเชยชิดนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                         ฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า มิตฺตา ด้วยอำนาจแห่งความรัก. ชื่อว่า สุหชฺชา ด้วยความเป็นผู้มีใจดี.
               จริงอยู่ คนบางคนเป็นมิตรเพราะหวังประโยชน์โดยส่วนเดียว มิใช่เป็นผู้มีใจดี. บางคนผู้มีใจดี ด้วยให้ความสุขในใจ ในการเดิน ยืน นั่งและสนทนาเป็นต้น มิใช่เป็นมิตร. บางคนเป็นทั้งผู้มีใจดี เป็นทั้งมิตร ด้วยอำนาจทั้งสองนั้น.
               ชนเหล่านั้นมี ๒ คือ อาคาริยมิตร มิตรคฤหัสถ์ และอนาคาริยมิตร มิตรบรรพชิต.
               ในมิตรสองจำพวกนั้น อาคาริยมิตรมี ๓ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑.
               อนาคาริยมิตร คือมิตรแนะประโยชน์ โดยต่างออกไปจาก ๓ ประเภทนั้น มิตรเหล่านั้น ประกอบด้วยองค์ ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สิงคาลมาณพว่า
               ดูก่อนบุตรคฤหบดี มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่าเป็นผู้มีใจดีด้วย
ฐานะทั้งหลาย ๔ คือ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ ป้องกันทรัพย์
สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อ
มีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก ๑.
               ดูก่อนบุตรคฤหบดี มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่า เป็นผู้มีใจดี
ด้วยฐานะ ๔ คือ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของ
เพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑ แม้ชีวิตก็สละแทนเพื่อนได้ ๑.
               ดูก่อนบุตรคฤหบดี มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่าเป็นผู้มีใจดี
ด้วยฐานะ ๔ คือ ทุกข์ทุกข์ด้วย ๑ สุขสุขด้วย ๑ โต้เถียงคนที่ติเตียน
เพื่อน ๑ รับรองคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑.
               ดูก่อนบุตรคฤหบดี มิตรแนะประโยชน์ พึงทราบว่าเป็นผู้มีใจดี
ด้วยฐานะ ๔ คือ ห้ามทำความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ฟังสิ่งที่
ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑.
               ในมิตรทั้งสองนั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอา อาคาริยมิตร. แต่โดยความหมายย่อมควรแม้มิตรทั้งหมด คือมิตรผู้มีใจดีเหล่านั้น.
               บทว่า อนุกมฺปมาโน เมื่ออนุเคราะห์ คือเอ็นดู ประสงค์จะนำความสุขเข้าไปให้แก่มิตรเหล่านั้น ประสงค์จะนำความทุกข์ออกไป.
               บทว่า หาเปติ อตฺถํ ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป คือ ยังประโยชน์ ๓ อย่าง ประโยชน์ปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ภายหน้า ๑ ประโยชน์สูงสุด ๑.
               อนึ่ง ประโยชน์ตน ๑ ประโยชน์ผู้อื่น ๑ ประโยชน์ทั้งสอง ๑ ให้เสื่อมไป ให้พินาศไป ด้วยเหตุทั้งสอง คือด้วยให้สิ่งที่ได้แล้วพินาศไป ๑ ด้วยให้สิ่งที่ยังไม่ได้มิให้เกิดขึ้น ๑.
               บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺโต เป็นผู้มีจิตผูกพัน คือแม้ตั้งตนไว้ในฐานะที่ต่ำอย่างนี้ว่า เราเว้นผู้นี้เสียแล้วจะไม่มีชีวิตอยู่ได้ ผู้นี้เป็นแบบอย่างของเรา ผู้นี้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่เรา ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพัน.
               แม้ตั้งตนไว้ในฐานะที่สูงอย่างนี้ว่า ผู้นี้เว้นเราเสียแล้วก็จะไม่มีชีวิตอยู่ได้ เราเป็นแบบอย่างของพวกเขา เราจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่พวกเขา ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพัน. ก็ในที่นี้ประสงค์เอาความเป็นผู้มีจิตผูกพันอย่างนี้.
               บทว่า เอตํ ภยํ คือ ภัยยังประโยชน์ให้เสื่อมนั้น พระปัจเจกสัมพุทธะกล่าวหมายถึงการเสื่อมจากสมาบัติของตน.
               บทว่า สนฺถเว ในความสนิทสนม ความสนิทสนมมี ๓ อย่าง คือ สนิทสนมด้วยตัณหา ๑ ด้วยทิฏฐิ ๑ ด้วยความเป็นมิตร ๑.
               ในความสนิทสนม ๓ อย่างนั้น ตัณหาแม้มีประเภทตั้ง ๑๐๘ ก็เป็นตัณหาสันถวะ. ทิฏฐิแม้มีประเภท ๖๒ ก็เป็นทิฏฐิสันถวะ. การช่วยเหลือมิตรเพราะมีจิตผูกพันกัน เป็นมิตรสันถวะ.
               มิตรสันถวะนั้นประสงค์เอาในที่นี้.
               สมาบัติของบุคคลนั้นเสื่อมไปด้วยมิตรสันถวะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า เราเห็นภัยนั้นในความสนิทสนมจึงได้บรรลุ.
               บทที่เหลือเช่นกับที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล ไม่มีอะไรที่ควรกล่าวในนิเทศ.
               จบคาถาที่ ๓               
               คาถาที่ ๔               
                                ๔. วํโส วิสาโลว ยถา วิสตฺโต
                                    ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ ยา อเปกฺขา
                                    วํสากฬีโร ว อสชฺชมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลข้องอยู่แล้วด้วยความเยื่อใยในบุตรและภรรยา
                         เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวเกาะกันฉะนั้น บุคคลไม่ข้องอยู่
                         เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า วํโส คือ ไม้ไผ่.
               บทว่า วิสาโล คือ หนาแน่น.
                อักษรเป็นอวธารณะ. หรือ เอว อักษร ในบทนี้ เอ อักษรหายไปด้วยบทสนธิ. พึงเชื่อมบทนั้นในบทอื่น. เราจักประกอบบทนั้นในภายหลัง.
               บทว่า ยถา คือ ในความเปรียบเทียบ.
               บทว่า วิสตฺโต คือ เกี่ยวข้อง พัวพัน ร้อยรัด.
               บทว่า ปุตฺเตสุ ทาเรสุ คือ ในบุตรธิดาและภรรยา.
               บทว่า ยา อเปกฺขา คือ ตัณหาใด ความเสน่หาใด.
               บทว่า วํสกฬีโรว อสชฺชมาโน คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไม้ไผ่.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               อธิบายไว้ว่า พุ่มไม้ไผ่ใหญ่เกี่ยวพันกันฉันใด ตัณหาในบุตรและภรรยาทั้งหลาย กว้างขวางเกี่ยวพันกันฉันนั้น แม้ตัณหานั้นชื่อว่าเกี่ยวข้องกัน เพราะร้อยรัดวัตถุเหล่านั้นนั่นเอง เรานั้นมีตัณหาเพราะความเพ่งนั้น เห็นโทษของความเพ่งอย่างนี้ว่า เหมือนพุ่มไม้ไผ่ใหญ่เกี่ยวพันกัน แล้วจึงตัดความเพ่งนั้นเสียด้วยมรรคญาณ ไม่ขัดข้องด้วยอำนาจแห่งตัณหา มานะและทิฏฐิในรูปเป็นต้นก็ดี ในลาภเป็นต้นก็ดี ในกามราคะเป็นต้นก็ดี จึงบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ ดังนี้.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยมีในก่อนนั้นแล ในนิเทศแห่งคาถานี้ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้.
               จบคาถาที่ ๔               
               คาถาที่ ๕               
                                ๕. มิโค อรญฺญมฺหิ ยถา อพนฺโธ
                                    เยนิจฺฉกํ คจฺฉติ โคจราย
                                    วิญฺญู นโร เสริตํ เปกฺขมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกไว้แล้ว ย่อมไปหากินตาม
                         ปรารถนา ฉันใด นรชนผู้รู้แจ้ง เพ่งความประพฤติตาม
                         ความพอใจของตน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๕ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิโค นี้เป็นชื่อของสัตว์ ๔ เท้าที่อยู่ในป่าทุกชนิด.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเนื้อฟาน (อีเก้ง).
               บทว่า อรญฺญมฺหิ คือ ป่าที่เหลือเว้นบ้านและที่ใกล้เคียงบ้าน.
               แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาสวน. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุยฺยานมฺหิ คือ ในสวน.
               บทว่า ยถา คือ ในความเปรียบเทียบ.
               บทว่า อพนฺโธ คือ อันเครื่องผูกอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาเชือกและเครื่องผูกเป็นต้น มิได้ผูกพันไว้. ด้วยบทนี้ท่านแสดงถึงความประพฤติที่คุ้นเคยกัน.
               บทว่า เยนิจฺฉกํ คจฺฉติ โคจราย ไปเพื่อหาอาหารตามความต้องการ คือไปเพื่อหาอาหารตามทิศที่ต้องการไป.
               เพราะฉะนั้น ในบทนั้นท่านจึงแสดงว่าไปยังทิศที่ต้องการจะไป เคี้ยวกินอาหารที่ต้องการเคี้ยวกิน.
               บทว่า วิญฺญู นโร คือ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต.
               บทว่า เสริตํ ธรรมอันให้ถึงความเสรี คือความประพฤติด้วยความพอใจ ความไม่อาศัยผู้อื่น.
               บทว่า เปกฺขมาโน คือ ดูด้วยปัญญาจักษุ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเสรีในธรรมและความเสรีในบุคคล.
               จริงอยู่ โลกุตรธรรมทั้งหลายชื่อว่าเสรี เพราะไม่ไปสู่อำนาจของกิเลสและบุคคล.
               ชื่อว่าเสรี เพราะประกอบด้วยโลกุตรธรรมเหล่านั้น.
               นิเทสแห่งความเป็นเสรีเหล่านั้น เพ่งถึงธรรมอันให้ถึงความเป็นเสรี.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               อธิบายไว้ว่า มฤคในป่าอันเครื่องผูกอะไรๆ มิได้ผูกไว้ ย่อมไปหาอาหารได้ตามความประสงค์ฉันใด เมื่อเราคิดว่าเมื่อไรหนอ เราพึงตัดเครื่องผูกคือตัณหาแล้วไปอย่างนั้นได้ดังนี้ แล้วถูกพวกท่านยืนล้อมอยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ผูกพันอยู่ไม่ได้ไปตามความปรารถนา เราเห็นโทษในความไม่ได้ไปตามความปรารถนา เห็นอานิสงส์ในการไปได้ตามความปรารถนาแล้ว ได้ถึงความบริบูรณ์ด้วยสมถะและวิปัสสนาตามลำดับ แต่นั้นก็ได้บรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้น นรชนผู้เป็นวิญญู เมื่อเห็นธรรมอันให้ถึงความเสรี พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               จบคาถาที่ ๕               
               คาถาที่ ๖               
                                ๖. อามนฺตา โหติ สหายมชฺเฌ
                                    วาเส ฐาเน คมเน จาริกาย
                                    อนภิชฺฌิตํ เสริตํ เปกฺขมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป ในการเที่ยว
                         ย่อมมีในท่ามกลางสหาย บุคคลเพ่งความประพฤติตาม
                         ความพอใจ ที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้วพึงเที่ยวไป
                         ผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๖ ดังต่อไปนี้.
               นิเทศนี้เป็นปิณฑัตถะ คือบวกความท่อนหลังๆ เข้ากับความท่อนต้นๆ. หรือมีอรรถว่าประมวลความ.
               เมื่อตั้งอยู่ในท่ามกลางสหาย จำต้องมีการปรึกษากันอย่างนั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า ท่านจงฟังเรื่องนี้ของเรา จงให้สิ่งนี้แก่เรา ทั้งในที่อยู่คือที่พักกลางวัน ในที่ยืนคือที่โรงฉันใหญ่ ในที่เดินคือในการไปสวน ในที่เที่ยวไปคือในที่เที่ยวไปในชนบท เพราะฉะนั้น เราเมื่อเบื่อหน่ายในที่นั้นๆ เห็นบรรพชาที่อริยชนเสพมีอานิสงส์มาก เป็นความสุขโดยส่วนเดียว เมื่อเป็นอย่างนั้น บุรุษชั่วทั้งหมดถูกลาภครอบงำ ไม่เพ่งไม่ปรารถนา เห็นความไม่เพ่งนั้นและเห็นธรรมอันให้ถึงความเสรีด้วยอำนาจแห่งธรรมและบุคคล โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่น จึงปรารภวิปัสสนาแล้วบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณตามลำดับด้วยประการฉะนี้.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๖               
               คาถาที่ ๗               
                                ๗. ขิฑฺฑา รตี โหติ สหายมชฺเฌ
                                    ปุตฺเตสุ จ วิปูลํ โหติ เปมํ
                                    ปิยวิปฺปโยคํ วิชิคุจฺฉมาโน
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                การเล่น การยินดี ย่อมมีในท่ามกลางสหาย อนึ่ง
                         ความรักที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีในบุตรทั้งหลาย บุคคลเมื่อ
                         เกลียดชังความพลัดพรากจากสัตว์ และสังขารอันเป็นที่รัก
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ขิฑฺฑา คือ การเล่น.
               การเล่นมี ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางวาจา.
               การเล่นมีอาทิอย่างนี้ คือ เล่นด้วยช้างบ้าง ด้วยม้าบ้าง ด้วยธนูบ้าง ด้วยดาบบ้าง ชื่อว่าการเล่นทางกาย. การเล่นมีอาทิอย่างนี้ว่า ขับร้อง กล่าวคำโศลก ทำเสียงกลองด้วยปาก ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.
               บทว่า รตี คือ ความยินดีในกามคุณ ๕.
               บทว่า วิปูลํ ไพบูลย์ คือ ซึมแทรกเข้าไปยังอัตภาพทั้งสิ้นจนจรดเยื่อในกระดูก.
               บทที่เหลือชัดดีแล้ว.
               แม้การประกอบไปตามลำดับสืบเนื่องในนิเทศนี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในสังสัคคคาถานั่นแล.
               จบคาถาที่ ๗               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :