ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๔ / ๗.

               คาถาที่ ๘               
                                ๘. จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ
                                    สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
                                    ปริสฺสยานํ สหิตา อฉมฺภี
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลย่อมเป็นอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่ และไม่
                         เดือดร้อน ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตราย
                         เสีย ไม่หวาดเสียว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า จาตุทฺทิโส คือ อยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่. แผ่พรหมวิหารภาวนา โดยนัยมีอาทิว่า เอกํ ทิสํ ผริตฺวา วิหรติ แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่. ชื่อว่า จาตุทฺทิโส เพราะมี ๔ ทิศ. ชื่อว่า อปฺปฏิโฆ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์หรือสังขาร ด้วยความกลัวในทิศไหนๆ ใน ๔ ทิศเหล่านั้น.
               บทว่า สนฺตุสฺสมาโน คือ ยินดีด้วยอำนาจแห่งสันโดษ ๑๒ อย่าง.
               บทว่า อีตรีตเรน คือ ด้วยปัจจัยตามมีตามได้.
               ในบทว่า ปริสฺสยานํ สหิตา อฉมฺภี นี้ ชื่อว่า ปริสฺสยา เพราะครอบงำกายและจิต ทำลายสมบัติของคนเหล่านั้น หรือนอนเฉย.
               บทนี้เป็นชื่อของอันตรายทางกายและใจในภายนอก มีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ในภายในมีกามฉันทะเป็นต้น.
               ชื่อว่าครอบงำอันตรายทั้งหลาย เพราะครอบงำอันตรายเหล่านั้นด้วยความอดกลั้นและด้วยธรรมมีวิริยะเป็นต้น.
               ชื่อว่า อจฺฉมฺภี เพราะไม่มีความกลัวอันทำความกระด้าง.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร
               อธิบายไว้ว่า สมณะ ๔ จำพวกฉันใด เราก็ฉันนั้น เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้อย่างนั้น ตั้งอยู่ในสันโดษอันเป็นทางแห่งการปฏิบัตินี้ มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่ ไม่มีความขัดเคือง เพราะไม่มีภัยอันทำให้กระทบกระทั่งในสัตว์และสังขารทั้งหลาย ครอบงำอันตรายทั้งหลายดังได้กล่าวแล้ว เพราะมีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่ ไม่มีความหวาดเสียว เพราะไม่มีความกระทบกระทั่ง เพราะเหตุนั้น เราเห็นคุณของการปฏิบัตินี้ จึงปฏิบัติโดยแยบคายแล้วบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง เรารู้ว่า ผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้เหมือนสมณะเหล่านั้น มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่. ตามนัยที่กล่าวแล้ว จึงปรารถนาความเป็นผู้มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่อย่างนี้ ได้ปฏิบัติโดยแยบคายจึงบรรลุ เพราะฉะนั้นแม้ผู้อื่นปรารถนาฐานะเช่นนั้นบ้าง เป็นผู้ครอบงำอันตรายทั้งหลาย เพราะความเป็นผู้มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่ และเป็นผู้ไม่หวาดสะดุ้ง เพราะไม่มีความกระทบกระทั่ง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เมตฺตา พึงทราบโดยอรรถก่อน ชื่อว่า เมตฺตา เพราะมีความเยื่อใย. อธิบายว่า ความรัก. ชื่อว่าเมตตา เพราะมีความรักหรือความเป็นไปแห่งความรัก.
               บทว่า เมตฺตาสหคเตน คือ มีใจประกอบด้วยเมตตา.
               บทว่า เจตสา คือ มีใจ.
               บทว่า เอกํ ทิสํ คือ ในทิศหนึ่ง.
               ท่านกล่าวประสงค์เอาสัตว์ที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง ด้วยการแผ่ไปถึงสัตว์อันเนื่องในทิศหนึ่ง.
               บทว่า ผริตฺวา แผ่ไปแล้ว คือถูกต้องกระทำให้เป็นอารมณ์.
               บทว่า วิหรติ คือ ยังการอยู่ในอิริยาบถที่ตั้งไว้ในพรหมวิหารให้เป็นไป.
               บทว่า ตถา ทุติยํ ทิศที่ ๒ ก็เหมือนกัน คือในลำดับทิศนั้นเหมือนอย่างที่แผ่ไปในทิศหนึ่งในทิศบูรพาเป็นต้น ทิศใดทิศหนึ่ง. อธิบายว่า ทิศที่ ๒ ที่ ๓ และทิศที่ ๔.
               บทว่า อิติ อุทฺธํ ท่านกล่าวว่าทิศเบื้องบนโดยนัยนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า อโธ ติริยํ คือ แม้ทิศเบื้องล่างทิศเบื้องขวางก็เหมือนกัน.
               อนึ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า อโธ คือ เบื้องล่าง. บทว่า ติริยํ คือ ทิศน้อย. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ายังจิตสหรคตด้วยเมตตาให้แล่นไปบ้าง แล่นกลับบ้าง ในทิศทั้งปวงอยู่อย่างนี้ เหมือนคนฝึกม้า ยังม้าให้วิ่งไปบ้าง วิ่งกลับบ้างในสนามฝึกม้า. ด้วยเหตุประมาณเท่านี้กำหนดทิศหนึ่งๆ แล้วแสดงถึงการแผ่เมตตาโดยจำกัด.
               บทว่า สพฺพธิ เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงโดยไม่จำกัด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพธิ คือ ในทิศทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพตฺตตาย ทั่วสัตว์ทุกเหล่า คือทั่วสัตว์ทั้งปวงมีประเภทเป็นต้นว่า สัตว์เลว ปานกลาง อุกฤษฏ์ มิตร ศัตรูและเป็นกลาง ท่านกล่าวว่า ไม่ทำการแยกว่าสัตว์นี้ สัตว์อื่น เพราะสัตว์ทุกชนิดเสมอกับตน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺพตฺตตาย ท่านกล่าวว่า ไม่ซัดออกไปภายนอกแม้แต่น้อย โดยความเป็นจิตทั้งหมด.
               บทว่า สพฺพาวนฺตํ สัตว์ทุกเหล่า คือประกอบด้วยสัตว์ทั้งปวง.
               บทว่า โลกํ คือ สัตวโลก. ท่านกล่าวว่า มีจิตสหรคตด้วยเมตตาในที่นี้อีก เพราะแสดงโดยปริยายมีอย่างนี้ว่า วิปุเลน เป็นจิตกว้างขวาง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะ ตถาศัพท์ก็ดี อิติศัพท์ก็ดี ท่านมิได้กล่าวอีก ดุจในการแผ่ไปโดยจำกัดนี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามีจิตสหรคตด้วยเมตตาอีก.
               อีกอย่างหนึ่ง สูตรนี้ท่านกล่าวโดยสรุป.
               อนึ่ง ในบทว่า วิปุเลน นี้ พึงเห็นความเป็นผู้มีจิตกว้างขวางด้วยการแผ่ไป. จิตนั้นถึงความเป็นใหญ่ด้วยสามารถแห่งภูมิ. จิตหาประมาณมิได้ด้วยสามารถแห่งความคล่องแคล่ว และด้วยสามารถแห่งสัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์. จิตไม่มีเวร เพราะละข้าศึกคือพยาบาทเสียได้. จิตไม่มีความเบียดเบียน เพราะละความโทมนัสเสียได้. ท่านกล่าวว่า หมดทุกข์. กรุณามีความดังได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล. ชื่อว่ามุทิตา เพราะเป็นเหตุยินดีแห่งจิต มีความพร้อมเพรียงแห่งจิตนั้น หรือยินดีด้วยตนเอง หรือเพียงความยินดีเท่านั้น. ชื่อว่าอุเปกฺขา เพราะเข้าไปเพ่ง โดยการละพยาบาทมีอาทิว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีเวรกันเลย และด้วยการเข้าถึงความเป็นกลาง.
               อนึ่ง พึงทราบความในบทนี้โดยลักษณะเป็นต้น ต่อไป.
               เมตตา มีความเป็นไปแห่งอาการ คือเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ การนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (คือกิจ) มีการกำจัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือเครื่องปรากฏ) มีการเห็นสัตว์มีความอิ่มเอิบใจเป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้ให้เกิด) การสงบความพยาบาทเป็นสมบัติของเมตตา การเกิดความเสน่หาเป็นวิบัติของเมตตานี้.
               กรุณามีการช่วยให้เขาพ้นทุกข์เป็นลักษณะ มีการอดทนไม่ได้ในทุกข์ของผู้อื่นเป็นรส มีการไม่เบียดเบียนเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายถูกทุกข์ครอบงำไม่มีที่พึ่งเป็นปทัฏฐาน ความสงบจากการเบียดเบียนเป็นสมบัติของกรุณานั้น ความเกิดเศร้าโศกเป็นวิบัติของกรุณา.
               มุทิตา มีความยินดีเป็นลักษณะ มีความไม่ริษยาเป็นรส มีการกำจัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน. ความสงบการริษยาเป็นสมบัติของมุทิตานั้น การเกิดความดีใจเป็นวิบัติของมุทิตา.
               อุเบกขามีความเป็นไปแห่งอาการคือการวางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีการเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรส มีการเข้าไปสงบความขัดเคืองและความยินดี เป็นปัจจุปัฏฐาน มีการเห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนอันเป็นไปอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน สัตว์เหล่านั้นจักมีสุข จักพ้นจากทุกข์ หรือจักไม่เสื่อมจากสมบัติที่มีอยู่ตามความชอบใจของใคร ดังนี้เป็นปทัฏฐาน.
               การสงบจากความขัดเคืองและความยินดีเป็นสมบัติของอุเบกขานั้น ความเกิดแห่งอุเบกขาในอญาณ อันอาศัยเรือน (คือกามคุณ ๕) เป็นวิบัติของอุเบกขา.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตุฏฺโฐ โหติ คือ เป็นผู้ยินดีด้วยความยินดีในปัจจัย.
               บทว่า อิตรีตเรน จีวเรน ด้วยจีวรตามมีตามได้ คือยินดีด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาจีวรเนื้อหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต มั่นคงและเก่าเป็นต้น. อธิบายว่า ที่แท้แล้วเป็นผู้ยินดีด้วยจีวรตามมีตามได้.
               จริงอยู่ ในจีวรมีสันโดษ ๓ อย่างคือ ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ ๑ ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง ๑ ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ๑.
               แม้ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านกล่าวว่า เป็นผู้ยินดีด้วยจีวรตามมีตามได้ คือเป็นผู้ยินดีจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ในบรรดาจีวรตามที่ได้แล้ว หมายถึงสันโดษ ๓ เหล่านี้.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบ จีวร เขตของจีวร ผ้าบังสกุล ความยินดีในจีวรและธุดงค์อันปฏิสังยุตด้วยจีวร.
               บทว่า จีวรํ ชานิตพฺพํ พึงรู้จีวร คือพึงรู้จีวร ๖ ชนิด มีผ้าทำด้วยเปลือกไม้เป็นต้น และจีวรอนุโลม ๖ ชนิด มีจีวรทำด้วยผ้าเนื้อดีเป็นต้น. จีวร ๑๒ ชนิดเหล่านี้เป็นกัปปิยจีวร. จีวรที่มีอาทิอย่างนี้ว่า จีวรที่ทำด้วยหญ้าคา ป่าน เปลือกไม้ ผมคน ขนสัตว์ ใบลาน หนัง ปีกนกเค้า ต้นไม้ เถาวัลย์ ตะไคร้น้ำ กล้วย ไม้ไผ่ เป็นอกัปปิยจีวร.
               บทว่า จีวรเขตฺตํ เขตของจีวร คือเขตมี ๖ เพราะเกิดขึ้นอย่างนี้ คือจากสงฆ์ ๑ จากคณะ ๑ จากญาติ ๑ จากมิตร ๑ จากทรัพย์ของตน ๑ เป็นผ้าบังสุกุล ๑ พึงทราบเขต ๘ ด้วยสามารถแห่งมาติกา ๘.
               บทว่า ปํสุกุลํ ผ้าบังสุกุล พึงทราบผ้าบังสุกุล ๒๓ ชนิด คือผ้าได้จากป่าช้า ๑ ผ้าเขาทิ้งไว้ตามตลาด ๑ ผ้าตามถนน ๑ ผ้าตามกองหยากเยื่อ ๑ ผ้าเช็ดครรภ์ ๑ ผ้าที่ตกอยู่ในที่อาบน้ำ ๑ ผ้าที่ตกอยู่ที่ท่าน้ำ ๑ ผ้าห่อศพ ๑ ผ้าถูกไฟไหม้ ๑ ผ้าที่โคเคี้ยวกิน ๑ ผ้าปลวกกัด ๑ ผ้าที่หนูกัด ๑ ผ้าที่ขาดข้างใน ๑ ผ้าขาดชาย ๑ ผ้าธง ๑ ผ้าบูชาสถูป ๑ ผ้าสมณจีวร ๑ ผ้าที่สมุทรซัดขึ้นบก ๑ ผ้าอภิเษก (ผ้าที่เขาทิ้งในพิธีราชาภิเษก) ๑ ผ้าเดินทาง ๑ ผ้าถูกลมพัดมา ๑ ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์ ๑ ผ้าเทวดาให้ ๑.
               ในบทเหล่านี้ บทว่า โสตฺถิยํ คือ ผ้าเช็ดมลทินครรภ์ (ผ้าใช้ในการคลอดบุตร).
               บทว่า คตปจฺจาคตํ ผ้าคลุมศพ คือผ้าที่เขาคลุมศพนำไปป่าช้าแล้วเอามาใช้เป็นจีวร.
               บทว่า ธชาหฏํ คือ ผ้าที่เขายกขึ้นเป็นธงแล้วนำมา.
               บทว่า ถูปํ คือ ผ้าที่เขาบูชาที่จอมปลวก.
               บทว่า สามุทฺทิยํ คือ ผ้าที่ถูกคลื่นในทะเลซัดขึ้นบก.
               บทว่า ปฏฺฐิกํ คือ ผ้าที่คนเดินทางเอาหินทุบเพราะกลัวโจรแล้วนำมาห่ม.
               บทว่า อิทฺธิมยํ คือ ผ้าของเอหิภิกขุ.
               บทที่เหลือชัดดีแล้ว.
               บทว่า จีวรสนฺโตโส คือ สันโดษด้วยจีวร ๒๐ ชนิดคือวิตักกสันโดษ สันโดษในการตรึก ๑ คมนสันโดษ สันโดษในการไป ๑ ปริเยสนสันโดษ สันโดษในการแสวงหา ๑ ปฏิลาภสันโดษ สันโดษในการได้ ๑ มัตตปฏิคคหณสันโดษ สันโดษในการรับพอประมาณ ๑ โลลุปปวิวัชชนสันโดษ สันโดษในการเว้นจากความโลเล ๑ ยถาลาภสันโดษ สันโดษตามที่ได้ ๑ ยถาพลสันโดษ สันโดษตามกำลัง ๑ ยถาสารุปปสันโดษ สันโดษตามสมควร ๑ อุทกสันโดษ สันโดษด้วยน้ำ ๑ โธวนสันโดษ สันโดษในการซัก ๑ กรณสันโดษ สันโดษในการทำ ๑ ปริมาณสันโดษ สันโดษในปริมาณ ๑ สุตตสันโดษ สันโดษในเส้นด้าย ๑ สิพพนสันโดษ สันโดษในการเย็บ ๑ รชนสันโดษ สันโดษในการย้อม ๑ กัปปสันโดษ สันโดษในการกัปปะ ๑ ปริโภคสันโดษ สันโดษในการใช้สอย ๑ สันนิธิปริวัชชนสันโดษ สันโดษในการเว้นจากการสะสม ๑ วิสัชชนสันโดษ สันโดษในการสละ ๑.
               ในสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยินดีอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน แล้วตรึกเพียงเดือนเดียวควร. เพราะว่า ภิกษุนั้นครั้นออกพรรษาแล้ว กระทำจีวรในเดือนที่ทำจีวร ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ย่อมทำโดยกึ่งเดือนเท่านั้น. การตรึกเพียงกึ่งเดือนและหนึ่งเดือนด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าวิตักกสันโดษ.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุไปหาจีวร ไม่ได้คิดว่าเราจักได้จีวร ณ ที่ไหน แล้วไปโดยยึดเพียงกรรมฐานที่เป็นประธานเท่านั้น ชื่อว่าคมนสันโดษ.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุแสวงหาจีวร มิได้แสวงหากับผู้ใดผู้หนึ่ง ยึดถือภิกษุผู้ละอาย ผู้มีศีลเป็นที่รัก แล้วจึงแสวงหา ชื่อว่าปริเยสนสันโดษ.
               เมื่อภิกษุแสวงหาอยู่อย่างนี้ เห็นจีวรที่เขานำมาแต่ไกล มิได้ตรึกอย่างนี้ว่า จีวรนี้จักเป็นที่ชอบใจ จีวรนี้จักไม่เป็นที่ชอบใจ ดังนี้แล้วยินดีด้วยจีวรตามที่ได้ในจีวรที่มีเนื้อหยาบและเนื้อละเอียดเป็นต้น ชื่อว่าปฏิลาภสันโดษ.
               แม้เมื่อภิกษุถือเอาจีวรที่ได้อย่างนี้แล้วยินดีโดยเพียงพอแก่ตนว่า จีวรประมาณเท่านี้จักเป็นสองชั้น ประมาณเท่านี้จักเป็นชั้นเดียว ดังนี้ ชื่อว่ามัตตปฏิคคหณสันโดษ.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุแสวงหาจีวร มิได้คิดว่าเราจักได้จีวรที่ชอบใจที่ประตูเรือนของคนโน้น แล้วเที่ยวไปตามลำดับประตูบ้าน ชื่อว่าโลลุปปวิวัชชนสันโดษ.
               เมื่อภิกษุสามารถจะยังตนให้เป็นไปอยู่ได้ด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาจีวรเนื้อเศร้าหมองและเนื้อประณีต ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ด้วยจีวรตามที่ตนได้เท่านั้น ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ. ภิกษุรู้กำลังของตนแล้ว เป็นอยู่ได้ด้วยจีวรที่สามารถยังตนให้เป็นอยู่ได้ ชื่อว่ายถาพลสันโดษ.
               ภิกษุให้จีวรที่ชอบใจแก่ภิกษุรูปอื่นแล้ว ยังตนให้เป็นไปอยู่ได้ด้วยจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษ.
               ภิกษุมิได้ไตร่ตรองว่า น้ำที่ไหนสะอาด ที่ไหนไม่สะอาด แล้วซักจีวรด้วยน้ำที่พอจะซักได้ ชื่อว่าอุทกสันโดษ. แต่ควรเว้นน้ำที่มีดินสีเหลืองมีเปลือกไม้ ดินสอพอง ใบไม้เน่าและมีสีเศร้าหมอง.
               อนี่ง เมื่อภิกษุซักจีวรไม่เอาไม้ค้อนเป็นต้นทุบ เอามือขยำซัก ชื่อว่าโธวนสันโดษ.
               อนึ่ง ควรใส่ใบไม้แล้วซักจีวรที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยน้ำร้อน.
               เมื่อภิกษุซักอย่างนี้แล้วไม่ขัดเคืองใจว่า นี้หยาบ นี้ละเอียด แล้วกระทำโดยวิธีทำให้สะอาดตามความเพียงพอนั่นแหละ ชื่อว่ากรณสันโดษ. กระทำเพียงปกปิดทั้ง ๓ ปริมณฑลเท่านั้น ชื่อว่าปริมาณสันโดษ. ภิกษุไม่เที่ยวไปด้วยคิดว่าเราจักแสวงหาด้ายที่พอใจเพื่อเย็บจีวร แล้วถือเอาด้ายที่เขานำมาวางไว้ที่ถนนเป็นต้น หรือที่เทวสถาน หรือที่ใกล้เท้า แล้วเย็บจีวร ชื่อว่าสุตตสันโดษ.
               อนึ่ง ในเวลาทำกระทงจีวรไม่ควรเย็บ ๗ ครั้งที่ผ้าประมาณหนึ่งองคุลี. เพราะเมื่อทำอย่างนี้ แม้ความแตกแห่งวัตรก็ไม่มีแก่ภิกษุผู้ไม่มีสหาย. แต่ควรแทง ๗ ครั้งที่ผ้าประมาณ ๓ องคุลี. เมื่อทำอย่างนี้ก็ควรมีเพื่อนเดินทางไปด้วย. ความแตกแห่งวัตรย่อมมีแก่ภิกษุที่ไม่มีเพื่อน นี้ชื่อว่าสิพพนสันโดษ.
               อนึ่ง ภิกษุผู้ย้อมจีวรไม่ควรเที่ยวแสวงหามะเดื่อดำเป็นต้น พึงย้อมด้วยของที่ได้ในบรรดาเปลือกไม้สีคล้ำเป็นต้น. เมื่อไม่ได้ควรถือเอาเครื่องย้อมที่พวกมนุษย์ถือเอามาในป่าทิ้งไว้หรือกากที่พวกภิกษุต้มทิ้งไว้แล้วย้อม นี้ชื่อว่ารชนสันโดษ.
               เมื่อภิกษุถือเอาจีวรสีอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาสีเขียว เปือกตม ดำคล้ำ แล้วนั่งบนหลังช้างกระทำจุดดำให้ปรากฏ ชื่อว่ากัปปสันโดษ. การใช้สอยเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันยังหิริให้กำเริบ ชื่อว่าปริโภคสันโดษ.
               อนึ่ง ครั้นได้ผ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ด้าย เข็มหรือผู้กระทำควรเก็บไว้. เมื่อได้ไม่ควรเก็บ. แม้ทำแล้วหากว่าประสงค์จะให้แก่อันเตสวาสิกเป็นต้น และอันเตวาสิกเป็นต้นเหล่านั้นยังไม่อยู่ ควรเก็บไว้จนกว่าจะมา. พอเมื่ออันเตวาสิกเป็นต้นมาแล้วควรให้ เมื่อไม่อาจให้ได้ ควรอธิษฐาน. เมื่อมีจีวรผืนอื่น ควรอธิษฐานทำเป็นเครื่องลาด.
               ท่านมหาสิวเถระกล่าวว่า ก็เมื่อยังไม่อธิษฐาน เป็นอาบัติสันนิธิ (คือสะสม) อธิษฐานแล้วไม่เป็นอาบัติ. นี้ชื่อว่าสันนิธิปริวัชชนสันโดษ.
               อนึ่ง เมื่อสละไม่ควรให้เพราะเห็นแก่หน้า. ควรตั้งอยู่ในสาราณิยธรรมแล้วสละให้. นี้ชื่อว่าวิสัชชนสันโดษ.
               ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (ถือผ้าบังสุกุลวัตรเป็นวัตร) และติจีวริกังคธุดงค์ (ถือไตรจีวรเป็นวัตร) ชื่อว่า ธุดงค์ปฏิสังยุตด้วยจีวร. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญมหาอริยวงศ์คือความสันโดษด้วยจีวร ย่อมรักษาธุดงค์สองเหล่านี้. เมื่อรักษาอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษด้วยอำนาจแห่งมหาอริยวงศ์คือความสันโดษด้วยจีวร.
               บทว่า วณฺณวาที กล่าวสรรเสริญ คือภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สันโดษ แต่ไม่กล่าวถึงคุณของสันโดษ รูปหนึ่งไม่สันโดษ แต่กล่าวถึงคุณของสันโดษ รูปหนึ่งทั้งไม่สันโดษทั้งไม่กล่าวถึงคุณของสันโดษ รูปหนึ่งทั้งเป็นผู้สันโดษทั้งกล่าวถึงคุณของสันโดษ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น เพื่อแสดงถึงพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้.
               บทว่า อเนสนํ ไม่แสวงหาผิด คือไม่แสวงหาผิดมีประการต่างๆ อันมีประเภทคือเป็นทูต เป็นคนส่งสาสน์ เดินส่งข่าว.
               บทว่า อปฺปฏิรูปํ คือ ไม่สมควร.
               บทว่า อลทฺธา จ คือ ไม่ได้แล้ว.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เมื่อไม่ได้จีวรก็ไม่สะดุ้ง เหมือนอย่างภิกษุบางรูปคิดว่าเราจักได้จีวรอย่างไรหนอ จึงร่วมกับพวกภิกษุผู้มีบุญกระทำการหลอกลวง ย่อมหวาดเสียวสะดุ้ง.
               บทว่า ลทฺธา จ คือ ได้แล้วโดยธรรม โดยเสมอ.
               บทว่า อคธิโต ไม่ติดใจ คือปราศจากความโลภ.
               บทว่า อมุจฺฉิโต ไม่หลงใหล คือถึงความซบเซาด้วยความอยากอย่างยิ่ง.
               บทว่า อนชฺฌาปนฺโน ไม่พัวพัน คือไม่ถูกความอยากท่วมทับพัวพัน.
               บทว่า อาทีนวทสฺสาวี มีปกติเห็นโทษ คือเห็นโทษในการแสวงหาอันไม่สมควร และในการบริโภคด้วยความอยาก.
               บทว่า นิสฺสรณปญฺโญ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก คือรู้การสลัดออกดังกล่าวแล้วว่า เพียงเพื่อกำจัดความหนาว.
               บทว่า อิตรีตร จีวรสนฺตุฏฺฐิยา คือ ความสันโดษด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ไม่ยกตน คือพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่ยกตน. เหมือนภิกษุบางรูปในศาสนานี้ยกตนว่า เราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เราถือบังสุกูลิกังคธุดงค์ ในโรงอุปสมบทนั่นแลใครจะเหมือนเราบ้าง.
               บทว่า น ปรํ วมฺเภติ ไม่ข่มผู้อื่น คือไม่ข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หรือไม่มีแม้เพียงบังสุกูลิกังคธุดงค์.
               บทว่า โย หิ ตตฺถ ทกฺโข ก็พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดเป็นผู้ขยันในจีวรสันโดษนั้น คือพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด เป็นผู้ขยันฉลาดเฉียบแหลมในจีวรสันโดษนั้น หรือในความเป็นผู้กล่าวสรรเสริญสันโดษเป็นต้น.
               บทว่า อนลโส ไม่เกียจคร้าน คือปราศจากความเกียจคร้านด้วยทำความเพียรติดต่อ.
               บทว่า สมฺปชาโน ปฏิสฺสโต คือประกอบด้วยความรู้สึกตัวและมีสติ.
               บทว่า อริยวํเส ฐิโต คือ ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะ.
               บทว่า อิตรีตเรน ปิณฺฑปาเตน คือ ด้วยบิณฑบาตอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               แม้ในบทนี้ก็พึงทราบความดังต่อไปนี้ พึงทราบบิณฑบาต พึงทราบเขตของบิณฑบาต พึงทราบความสันโดษด้วยบิณฑบาต พึงทราบธุดงค์ที่ปฏิสังยุตด้วยบิณฑบาต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปิณฺฑปาโต ได้แก่ บิณฑบาต ๑๖ ชนิด คือข้าวสุก ๑ ขนมถั่ว ๑ ข้าวตู ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ นมสด ๑ นมส้ม ๑ เนยใส ๑ เนยข้น ๑ น้ำมัน ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำอ้อย ๑ ยาคู ๑ ของเคี้ยว ๑ ของลิ้ม ๑ ของเลีย ๑.
               บทว่า ปิณฺฑปาตกฺเขตฺตํ คือ เขตของบิณฑบาต ๑๕ ชนิด คือ สังฆภัต ๑ อุเทศภัต ๑ นิมันตนะ ๑ สลากภัต ๑ ปักขิกะ ๑ อุโปสถิกะ ๑ ปาฏิปทิกะ ๑ อาคันตุกภัต ๑ คมิกภัต ๑ คิลานภัต ๑ คิลานุปัฏฐากภัต ๑ ธุรภัต (เหมือนกับธุวภัต) ๑ กุฏิภัต ๑ วาริกภัต ๑ วิหารภัต ๑.
               บทว่า ปิณฺฑปาตสนฺโตโส คือ สันโดษ ๑๕ อย่าง คือ วิตักกสันโดษ ๑ คมนสันโดษ ๑ ปริเยสนสันโดษ ๑ ปฏิลาภสันโดษ ๑ ปฏิคคหณสันโดษ ๑ มัตตปฏิคสันโดษ ๑ โลลุปปวิวัชชนสันโดษ ๑ ยถาลาภสันโดษ ๑ ยถาพลสันโดษ ๑ ยถาสารุปปสันโดษ ๑ อุปการสันโดษ ๑ ปริมาณสันโดษ ๑ ปริโภคสันโดษ ๑ สันนิธิปริวัชชนสันโดษ ๑ วิสัชชนสันโดษ ๑.
               ในสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยินดีล้างหน้าแล้วจึงตรึก. อันภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเที่ยวไปพร้อมกับคณะ ครั้นถึงเวลาอุปัฏฐากพระเถระในตอนเย็น คิดว่าพรุ่งนี้เราจักไปบิณฑบาต ณ ที่ไหน มีผู้ตอบว่าบ้านโน้นขอรับ ไม่พึงตรึกตั้งแต่ตอนนั้น. ภิกษุผู้เที่ยวไปรูปเดียวพึงยืนตรึกที่โรงสำหรับตรึก. เมื่อตรึกต่อจากนั้นเป็นผู้เคลื่อนจากวงศ์ของพระอริยะ เป็นบุคคลภายนอกไป. นี้ชื่อว่าวิตักกสันโดษ.
               อนึ่ง ภิกษุเข้าไปบิณฑบาต ไม่พึงคิดว่า เราจักได้ที่ไหน ควรไปโดยยึดกรรมฐานเป็นหลัก. นี้ชื่อว่าคมนสันโดษ.
               เมื่อแสวงหาไม่ควรยึดถือใครๆ ควรยึดถือภิกษุผู้ละอายผู้มีศีลเป็นที่รักเท่านั้นแสวงหา. นี้ชื่อว่าปริเยสนสันโดษ.
               ภิกษุเห็นคนนำอาหารมาแต่ไกล ไม่ควรคิดว่า นั้นดี นั้นไม่ดี. นี้ชื่อว่าปฏิลาภสันโดษ. ภิกษุไม่ควรคิดว่าเราจักถือเอาของที่ชอบนี้ จักไม่ถือเอาของที่ไม่ชอบนี้ แล้วพึงถือเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงให้ชีวิตเป็นไปได้เท่านั้น. นี้ชื่อว่าปฏิคสันโดษ.
               อนึ่ง ในปฏิคคหณสันโดษนี้ ไทยธรรมมาก ผู้ให้ประสงค์จะให้น้อย พึงถือเอาแต่น้อย. ไทยธรรมมาก แม้ผู้ให้ก็ประสงค์จะให้มาก ควรถือเอาพอประมาณเท่านั้น. ไทยธรรมก็ไม่มาก แม้ผู้ให้ก็ประสงค์จะให้แต่น้อย พึงถือเอาแต่น้อย. ไทยธรรมไม่มาก แต่ผู้ให้ประสงค์จะให้มาก ควรถือเอาพอประมาณ.
               จริงอยู่ ในการรับ เมื่อไม่รู้จักประมาณ ย่อมลบหลู่ความเลื่อมใสของมนุษย์ ย่อมยังศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่ทำตามคำสอน ไม่สามารถกำหนดจิตแม้ของมารดาบังเกิดเกล้าได้. ครั้นรู้จักประมาณด้วยประการฉะนี้แล้วจึงควรรับ. นี้ชื่อว่ามัตตปฏิคคสันโดษ.
               ภิกษุไม่ควรไปสู่ตระกูลที่มั้งคั่งเท่านั้น ควรไปตามลำดับประตูบ้าน. นี้ชื่อว่าโลลุปปวิวัชชนสันโดษ.
               ยถาลาภสันโดษเป็นต้นมีนัยดังกล่าวแล้วในจีวรนั่นแล.
               ภิกษุรู้อุปการะอย่างนี้ว่าเราฉันอาหารบิณฑบาตแล้วจักรักษาสมณธรรมแล้วจึงฉัน ชื่อว่าอุปการสันโดษ. แม้อาหารเต็มบาตรแล้วยังมีผู้นำมาก็ไม่ควรรับ. เมื่อมีอนุปสัมบันไปด้วยควรให้อนุปสัมบันนั้นรับ. เมื่อไม่มี ควรถือเอาเพียงพอที่จะรับได้ นี้ชื่อว่าปริมาณสันโดษ. การฉันอย่างนี้ถือเป็นเครื่องบรรเทาความหิว เป็นเครื่องนำทุกข์ออกไป ชื่อว่าบริโภคสันโดษ. ไม่ควรเก็บไว้ฉันแล้วๆ เล่าๆ. นี้ชื่อว่าสันนิธิปริวัชชนสันโดษ. ไม่ควรเห็นแก่หน้า ควรตั้งอยู่ในสาราณิยธรรม สละให้. นี้ชื่อว่าวิสัชชนสันโดษ.
               อนึ่ง ธุดงค์ปฏิสังยุตด้วยบิณฑบาตมี ๕ อย่าง คือปิณฑปาติกังคะ คือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ สปทานจาริกังคะ คือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร ๑ เอกาสนิกังคะ คือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร ๑ ปัตตปิณฑิกังคะ คือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ คือห้ามภัตที่เขานำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร ๑.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญมหาอริยวงศ์ คือ ความสันโดษด้วยบิณฑบาต ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่ารักษาธุดงค์ ๕ เหล่านี้. เมื่อรักษาธุดงค์เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษด้วยอำนาจแห่งมหาอริยวงศ์ คือความสันโดษด้วยบิณฑบาต.
               บทว่า วณฺณวาที เป็นต้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               พึงทราบความในบทว่า เสนาสเนน นี้ต่อไป
               พึงทราบเสนาสนะ พึงทราบเขตของเสนาสนะ พึงทราบความสันโดษด้วยเสนาสนะ พึงทราบธุดงค์ปฏิสังยุตด้วยเสนาสนะ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เสนาสนํ ได้แก่ เสนาสนะ ๑๕ อย่างเหล่านี้ คือ เตียง ๑ ตั่ง ๑ ฟูก ๑ หมอน ๑ วิหาร ๑ เพิง ๑ ปราสาท ๑ ปราสาทโล้น ๑ ถ้ำ ๑ ที่เร้น ๑ ป้อม ๑ เรือนยอดเดียว ๑ ไม้ไผ่ ๑ พุ่มไม้๑ โคนไม้ ๑ หรือว่า ภิกษุทั้งหลายเข้าไปพักผ่อนในที่ใด ที่นั่นก็ชื่อว่าเสนาสนะ.
               บทว่า เสนาสนกฺเขตฺตํ ได้แก่ เขต ๖ อย่าง คือเสนาสนะจากสงฆ์ ๑ จากคณะ ๑ จากญาติ ๑ จากมิตร ๑ จากทรัพย์ของตน ๑ ที่เป็นที่บังสุกุล ๑.
               บทว่า เสนาสนสนฺโตโส ได้แก่ สันโดษ ๑๕ มีสันโดษด้วยการตรึกในเสนาสนะเป็นต้น. พึงทราบสันโดษเหล่านั้นโดยนัยดังกล่าวแล้วในบิณฑบาตนั่นแล.
               อนึ่ง ธุดงค์ ๕ ปฏิสังยุตด้วยเสนาสนะ คืออารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ๑ อัพโภกาสิกังคะถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๑ โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๑ ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้ ๑.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญมหาอริยวงศ์ คือการสันโดษด้วยเสนาสนะด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าย่อมรักษาธุดงค์ ๕ เหล่านี้. เมื่อรักษาอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษด้วยอำนาจแห่งมหาอริยวงศ์ คือการสันโดษด้วยเสนาสนะ.
               ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวอริยวงศ์คือความสันโดษด้วยจีวรเป็นข้อที่ ๑ ดุจท่านผู้มีฤทธิ์ขยายแผ่นดินให้กว้าง ดุจยังท้องมหาสมุทรให้เต็มและดุจยังอากาศให้แผ่ขยายออกไปฉะนั้น. กล่าวอริยวงศ์คือความสันโดษด้วยบิณฑบาตเป็นข้อที่ ๒ ดุจผู้มีฤทธิ์ทำพระจันทร์ให้ขึ้นและทำพระอาทิตย์ให้ลอยเด่นอยู่ฉะนั้น. กล่าวอริยวงศ์คือความสันโดษด้วยเสนาสนะเป็นข้อที่ ๓ ดุจยกภูเขาสิเนรุขึ้นฉะนั้น. บัดนี้เพื่อจะกล่าวถึงอริยวงศ์ คือความสันโดษด้วยคิลานปัจจัย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้. บทนั้นเป็นไปอย่างเดียวกับบิณฑบาตนั่นเอง. ในบทนั้นพึงสันโดษด้วยยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษและยถาสารุปปสันโดษเหมือนกัน. แต่อริยวงศ์คือมีภาวนาเป็นที่มายินดี มิได้มาในบทนี้ ย่อมจัดอริยวงศ์คือมีภาวนาเป็นที่มายินดีไว้ในเนสัชชิกังคธุดงค์ การถือการนั่งเป็นวัตร.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ในเสนาสนะท่านกล่าวธุดงค์ไว้ ๕ ธุดงค์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
                         มี ๕ ที่เกี่ยวข้องกับด้วยความเพียรมี ๑ ที่เกี่ยวข้องกับจีวรมี ๒.

               พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า โปราเณ อคฺคญฺเญ อริยวํเส ฐิโต พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ในอริยวงศ์ ที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์อันเลิศมีมาแต่โบราณ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า โปราเณ คือ มิใช่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้.
               บทว่า อคิคญฺเญ คือที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์อันเลิศ.
               บทว่า อริยวํเส คือ ในวงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย. เหมือนอย่างว่า วงศ์กษัตริย์ วงศ์พราหมณ์ วงศ์แพศย์ วงศ์ศูทร วงศ์สมณะ วงศ์สกุล ราชวงศ์ ฉันใด วงศ์อริยะนี้ก็เป็นวงศ์ที่ ๘ ฉันนั้น ชื่อว่าอริยประเพณี เป็นแบบประเพณีของอริยะ.
               ก็วงศ์นี้นั้นท่านกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าวงศ์เหล่านี้ ดุจกลิ่นกระลำพัก เลิศกว่ากลิ่นรากไม้ทั้งหลายเป็นต้น.
               วงศ์ของพระอริยะทั้งหลายคือใครบ้าง. คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระตถาคต เรียกว่าพระอริยะ. วงศ์ของพระอริยะทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าอริยวงศ์.
               จริงอยู่ ก่อนแต่นี้ไป พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือพระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร ทรงอุบัติในที่สุดสี่แสนอสงไขยกัป. ท่านเหล่านั้นก็เป็นอริยะ. วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นก็ชื่อว่าอริยวงศ์.
               ภายหลังแต่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเสด็จปรินิพพาน ล่วงไปตลอดอสงไขย พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ทรงอุบัติ ฯลฯ ในกัปนี้ พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือพระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะและพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ของพวกเราทรงอุบัติ. วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นก็ชื่อว่าอริยวงศ์.
               อีกอย่างหนึ่ง วงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทุกพระองค์ ซึ่งมีในอดีต อนาคตและปัจจุบันก็ชื่อว่าอริยวงศ์. ในพระอริยวงศ์นั้น.
               บทว่า ฐิโต คือ ตั้งอยู่แล้ว. บทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               จบคาถาที่ ๘               
               คาถาที่ ๙               
                                ๙. ทุสฺสงฺคหา ปพฺพชิตาปิ เอเก
                                    อโถ คหฏฺฐา ฆรมาวสนฺตา
                                    อปฺโปสฺสุโก ปรปุตฺเตสุ หุตฺวา
                                    เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                แม้บรรพชิตบางพวกก็สงเคราะห์ได้ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์
                         ผู้อยู่ครองเรือน ก็สงเคราะห์ได้ยาก บุคคลเป็นผู้มีความ
                         ขวนขวายน้อยในบุตรของผู้อื่น พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
                         นอแรดฉะนั้น.
               ในคาถาที่ ๙ พึงทราบโยชนาดังต่อไปนี้.
               แม้บรรพชิตบางพวกถูกความไม่สันโดษครอบงำ ก็เป็นคนที่สงเคราะห์ได้ยาก และคฤหัสถ์ทั้งหลายผู้ครองเรือนก็เป็นอย่างนั้น เป็นผู้อันผู้อื่นสงเคราะห์ยาก. เรารังเกียจความเป็นผู้อันผู้อื่นสงเคราะห์ยากนั้น จึงปรารภวิปัสสนาแล้วบรรลุ.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไป.
               บทว่า อนสฺสวา คือ เป็นผู้ไม่เชื่อฟังถ้อยคำ.
               บทว่า อวจนกรา ไม่ทำตามคำ คือว่ายาก.
               บทว่า ปฏิโลมวุตฺติโน เป็นผู้ประพฤติหยาบ คือมีปกติพูดคำหยาบ. อธิบายว่า มุ่งต่อสู้ท่าเดียว.
               บทว่า อญฺเญเนว มุขํ กโรนฺติ เบือนหน้าไปโดยอาการอื่น คือเห็นผู้ให้โอวาทแล้วเบือนหน้ามองดูไปทางทิศอื่น.
               บทว่า อพฺยาวโฏ หุตฺวา คือ พึงเป็นผู้ไม่ใส่ใจ.
               บทว่า อนเปกฺโข หุตฺวา คือ พึงเป็นผู้ไม่ห่วงใย.
               จบคาถาที่ ๙               
               คาถาที่ ๑๐               
                                ๑๐. โอโรปยิตฺวา คิหิ พฺยญฺชนานิ
                                      สญฺฉินฺนปตฺโต ยถา โกวิฬาโร
                                      เฉตฺวาน ธีโร คิหิพนฺธนานิ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                นักปราชญ์ปลงเสียแล้วซึ่งเครื่องหมายแห่งคฤหัสถ์
                         ดุจต้นทองหลางที่ขาดใบแล้วตัดเครื่องผูกของคฤหัสถ์
                         ได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า โอโรปยิตฺวา ปลงเสียแล้ว คือนำออกไปแล้ว.
               บทว่า คหิพฺยญฺชนานิ เครื่องหมายแห่งคฤหัสถ์ คือเครื่องหมายแห่งความเป็นคฤหัสถ์ มีอาทิผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ หญิง บุตร ทาสหญิง ทาสชาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เครื่องหมายแห่งคฤหัสถ์.
               บทว่า สญฺฉินฺนปตฺโต ขาดใบ คือมีใบร่วงหล่นแล้ว.
               บทว่า เฉตฺวาน คือ ตัดแล้วด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า วีโร ผู้เป็นวีรชน คือประกอบแล้วด้วยความเพียรในมรรค.
               บทว่า คิหิพนฺธนานิ เครื่องผูกของคฤหัสถ์. ได้แก่ เครื่องผูกคือกาม เพราะว่า กามเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์.
               พึงทราบความแห่งบทเพียงเท่านี้ก่อน.
               ต่อไปนี้เป็นคำอธิบาย.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าดำริอยู่อย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราพึงปลงซึ่งเครื่องหมายแห่งคฤหัสถ์ เหมือนต้นทองหลางที่ขาดใบแล้วฉะนั้น ดังนี้แล้วจึงเริ่มวิปัสสนาได้บรรลุปัจเจกภูมิ.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศต่อไป.
               บทว่า สาราสนญฺจ คือ อาสนะอันเป็นสาระ.
               บทว่า สินานิ คือ พลัด.
               บทว่า สญฺฉินฺนานิ คือ ขาดใบ.
               บทว่า ปติตานิ คือ พ้นจากก้าน.
               บทว่า ปริปติตานิ ร่วงหล่นแล้ว คือ ตกลงไปบนพื้นดิน.
               จบคาถาที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาปฐมวรรค               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :