ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๕ / ๗.

               อรรถกถาทุติยวรรค               
               คาถาที่ ๑-๒               
               คาถาที่ ๑               
                                ๑๑. สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                      สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ
                                      อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ
                                      จเรยฺย เตนตฺตมโน สติมา.
                                ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้
                         เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์
                         ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ
                         เที่ยวไปกับสหายนั้น.

               คาถาที่ ๒               
                                ๑๒. โน เจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
                                      สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ
                                      ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย
                                      เอโก จเร มาตงฺครญฺเญว นาโค.
                                หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน
                         ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์
                         ไซร้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้น
                         อันพระองค์ทรงชนะแล้ว เสด็จไปแต่ผู้เดียว ดุจช้างชื่อ
                         มาตังคะ ละโขลงเที่ยวไปอยู่ในป่าแต่ตัวเดียวฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑ และที่ ๒ แห่งทุติยวรรค ดังต่อไปนี้.
               บทว่า นิปกํ ผู้มีปัญญา คือบัณฑิตผู้มีปัญญาตามปกติ ผู้ฉลาดในบริกรรมมีกสิณบริกรรมเป็นต้น.
               บทว่า สาธุวิหารึ มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี คือประกอบด้วยอัปปนาหรืออุปจาร.
               บทว่า ธีรํ คือ ผู้พร้อมด้วยปัญญา.
               ในบทนั้นท่านกล่าวว่า ถึงพร้อมด้วยปัญญา เพราะอรรถว่าเป็นผู้ฉลาด. แต่ในที่นี้มีความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.
               ความเป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าธิติ. บทนี้เป็นชื่อของความเพียร อันเป็นไปอย่างนี้ว่า กามํ ตโจ นหารุ จ หนังและเอ็นจะแห้งเหือดไปก็ตาม ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ธีโร เพราะเป็นผู้เกลียดบาปดังนี้บ้าง.
               บทว่า ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย ดังพระราชาผู้สละแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชนะแล้ว คือเหมือนพระราชาผู้เป็นศัตรูทรงทราบว่า แว่นแคว้นที่พระองค์ชนะจะนำความพินาศมาให้ จึงทรงละแว่นแคว้นนั้นเสีย.
               บทว่า เอโก จเร คือ ละสหายผู้เป็นพาล อย่างนี้แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ราชาว รฏฺฐํ มีอธิบายว่า พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระเจ้าสุตโสมทรงละแว่นแคว้นที่พระองค์ชนะแล้วเสด็จไปพระองค์เดียว และมหาชนกก็เสด็จไปพระองค์เดียวฉะนั้น.
               บทที่เหลือสามารถรู้ได้โดยทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงไม่กล่าวให้พิสดาร.
               ไม่มีอะไรที่จะพึงกล่าวในนิเทศ.
               จบคาถาที่ ๑-๒               
               คาถาที่ ๓               
                                ๑๓. อทฺธา ปสํสาม สหายสมฺปทํ
                                      เสฏฺฐา สมา เสวิตพฺพา สหายา
                                      เอเต อลทฺธา อนวชฺชโภชี
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น
                         พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหาย
                         ผู้ประเสริฐสุด และผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภค
                         โภชนอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               คาถาที่ ๓ ง่ายโดยความของบท.
               พึงทราบ สหายสมฺปทา สหายผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมในบทนี้ว่า สหายสมฺปทํ อย่างเดียว คือสหายผู้ถึงพร้อมด้วยขันธ์มีศีลขันธ์เป็นต้น แม้เป็นอเสกขะ.
               แต่ในบทนี้โยชนาแก้ว่า เราสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ท่านกล่าวแล้วแน่นอน. ท่านกล่าวว่า เราชมเชยโดยส่วนเดียวเท่านั้น. ชมเชยอย่างไร ควรคบสหายที่ประเสริฐกว่า หรือเสมอกัน. เพราะเหตุไร เพราะเมื่อคบผู้ประเสริฐกว่าตนด้วยศีลเป็นต้น ธรรมมีศีลเป็นต้นที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด ที่เกิดแล้วย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. เมื่อคบผู้เสมอกัน ธรรมทั้งหลายที่ได้ด้วยการทรงไว้เสมอกันและกันด้วยการบรรเทาความรำคาญแล้วย่อมไม่เสื่อม.
               เมื่อไม่ได้สหายผู้ประเสริฐกว่าและเสมอกัน ควรเว้นมิจฉาชีพมีการหลอกลวงเป็นต้น แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดโดยธรรม โดยเสมอและไม่ยังความคับแค้นให้เกิดขึ้น บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ กุลบุตรผู้ใคร่ในตน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               จริงอยู่ แม้เราเมื่อเที่ยวไปอย่างนี้ ก็บรรลุถึงสมบัตินี้ด้วยประการฉะนี้.
               นิเทศมีนัยดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๓               
               คาถาที่ ๔               
                                ๑๔. ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ปภสฺสรานิ
                                      กมฺมารปุตฺเตน สุนิฏฺฐิตานิ
                                      สงฺฆฏฺฏมานานิ ทุเว ภุชสฺมึ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลแลดูกำไลทองทั้งสองอันงามผุดผ่อง ที่บุตร
                         แห่งนายช่างทองให้สำเร็จดีแล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทิสฺวา คือ แลดูแล้ว.
               บทว่า สุวณฺณสฺส คือ แห่งทองคำ.
               บทว่า วลยานิ กำไลทอง เป็นปาฐะที่เหลือ. เพราะยังมีความเหลืออยู่.
               บทว่า ปภสฺสรานิ คือ สุกปลั่ง. ท่านอธิบายว่า รุ่งเรือง.
               บทที่เหลือมีความของบทง่ายทั้งนั้น.
               แต่โยชนาแก้ไว้ว่า เราเห็นกำไลทองที่มือจึงคิดว่า เมื่ออยู่รวมกันเป็นคณะ การเสียดสี การกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกันย่อมมี แต่เมื่ออยู่คนเดียว ความกระทบกระทั่งกันย่อมไม่มี จึงเริ่มวิปัสสนาแล้วบรรลุ.
               บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า นปูรานิ คือกำไล. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า นิยุรานิ กำไลมือ.
               บทว่า ฆฏฺเฏนฺติ เสียดสีกัน คือกระทบกัน.
               จบคาถาที่ ๔               
               คาถาที่ ๕               
                                ๑๕. เอวํ ทุติเยน สหามมสฺส
                                      วาจาภิลาโป อภิสชฺชนา วา
                                      เอตํ ภยํ อายตึ เปกฺขมาโน
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                การที่เราจะพึงพูดจากับพระกุมารที่สอง หรือการข้อง
                         อยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใยพึงมีได้อย่างนี้ บุคคลเล็งเห็น
                         ภัยนี้ในอนาคต พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               คาถาที่ ๕ ง่ายโดยความของบทนั่นเอง.
               แต่ในที่นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้
               การพูดด้วยวาจาก็ดี ความเกี่ยวข้องด้วยความรักในสหายนั้นก็ดีกับกุมารผู้เป็นสหายนั้น ผู้บอกความหนาวและร้อนเป็นต้นพึงมีแก่เรา ผู้สัญญาว่าจะร่วมกัน หากเราไม่สละกุมารผู้เป็นสหายนี้ แม้ต่อไปการพูดด้วยวาจาก็ดี ความเกี่ยวข้องกันก็ดี กับสหายพึงมีแก่เราเหมือนในบัดนี้ ทั้งสองนั้นจะทำอันตรายแก่การบรรลุคุณวิเศษ เพราะเหตุนั้น เมื่อเราเห็นภัยนี้ ต่อไปนี้จึงทิ้งสหายนั้นเสีย ปฏิบัติโดยแยบคาย จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ด้วยประการฉะนี้.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๕               
               คาถาที่ ๖               
                                ๑๖. กามา หิ จิตฺรา มธุรา มโนรมา
                                      วิรูปรูเปน มเถนฺติ จิตฺตํ
                                      อาทีนวํ กามคุเณสุ ทิสฺวา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                ก็กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ
                         ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ บุคคลเห็นโทษในกามคุณทั้ง
                         หลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๖ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กามา กามมี ๒ อย่าง คือวัตถุกามและกิเลสกาม.
               ในกาม ๒ อย่างนั้น ธรรมมีรูปเป็นต้นอันน่าพอใจ ชื่อว่าวัตถุกาม. กิเลสประเภทราคะแม้ทั้งหมด ชื่อว่ากิเลสกาม. แต่ในที่นี้ประสงค์เอาวัตถุกาม.
               วัตถุกามทั้งหลายที่ชื่อว่าวิจิตร ก็ด้วยสามารถที่มีเป็นอเนกประการมีรูปเป็นต้น. ชื่อว่าอร่อย ด้วยสามารถทำความชื่นใจให้แก่ชาวโลก. ชื่อว่ามโนรมา เพราะทำใจของปุถุชนผู้โง่เขลาให้รื่นรมย์.
               บทว่า วิรูปรูเปน คือ ด้วยรูปแปลกๆ. ท่านอธิบายว่า ด้วยสภาพหลายๆ อย่าง.
               จริงอยู่ วัตถุกามเหล่านั้นชื่อว่าวิจิตร ก็ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์. มีรูปเป็นต้นชื่อว่ามีรูปชนิดต่างๆ ด้วยรูปที่มีสีเขียวเป็นต้น แม้ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ย่อมแสดงความชื่นใจโดยประการนั้นๆ ด้วยอารมณ์ที่แปลกๆ นั้นอย่างนั้น ย่อมย่ำยีจิตคือว่า ย่อมไม่ให้จิต (ของบุคคล) ยินดีในการบรรพชา.
               บทที่เหลือในนิเทศนี้ชัดดีแล้ว แม้บทสรุปก็พึงประกอบด้วย ๒-๓ บท แล้วพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในคาถาต้นๆ.
               บทว่า กามคุณา มีอรรถวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่าอันสัตว์พึงใคร่ ชื่อว่าคุณ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องผูก.
               คุณศัพท์มีอรรถว่าชั้น มาแล้วในบทนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้นแห่งผ้าใหม่ ดังนี้.
               คุณศัพท์มีอรรถว่ากอง มาแล้วในบทนี้ว่า
                         กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป
                         กองแห่งวัยย่อมละไปโดยลำดับ ดังนี้.

               มีอรรถว่าอานิสงส์ มาแล้วในบทนี้ว่า ทักษิณาพึงหวังอานิสงส์ ๑๐๐.
               มีอรรถว่าเป็นเครื่องผูก มาแล้วในบทนี้ว่า ไส้ใหญ่ ไส้น้อย พึงกระทำการผูกพวงดอกไม้ให้มาก.
               แม้ในนิเทศนี้ก็ประสงค์เอาอรรถว่าผูกนี้แล. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่าคุณ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องผูก.
               บทว่า จกฺขุวิญฺเญยฺย คือ พึงเห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ.
               แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้นก็พึงทราบความโดยอุบายนี้.
               บทว่า อิฏฺฐา น่าปรารถนา คือความปรารถนาจงมีก็ตาม จงอย่ามีก็ตาม. อธิบายว่า ได้แก่อารมณ์ที่น่าปรารถนา.
               บทว่า กนฺตา คือ น่าใคร่.
               บทว่า มนาปา คือ น่าเจริญใจ.
               บทว่า ปิยรูปา คือ น่ารัก.
               บทว่า กามูปสญฺหิตา ประกอบด้วยกาม คือประกอบด้วยกาม อันกระทำกามให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               บทว่า รชนียา คือ ชวนให้กำหนัด. อธิบายว่า เป็นเหตุให้เกิดความกำหนัด.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ยทิ มุทฺธาย ดังต่อไปนี้.
               บทว่า มุทฺธา คือ การนับด้วยหัวแม่มือ กำหนดความจำในข้อนิ้วมือทั้งหลาย.
               บทว่า คณนา คือ การนับติดต่อกัน.
               บทว่า สงฺขานํ การประมาณ คือการนับโดยประมาณเอา ได้แก่การมองดูนาแล้วประมาณเอาว่า ในนานี้จักมีข้าวเปลือกประมาณเท่านี้ มองดูต้นไม้แล้วประมาณเอาว่า บนต้นไม้ต้นนี้จักมีผลประมาณเท่านี้ มองดูอากาศแล้วประมาณเอาว่าในอากาศนี้ จักมีนกประมาณเท่านี้ดังนี้.
               บทว่า กสิ คือ กสิกรรม.
               บทว่า วณิชฺชา การค้าขาย คือทางที่จะไปค้ามีการเดินเร่ขาย และการค้าขายทางบกเป็นต้น.
               บทว่า โครกฺขํ คือ การเลี้ยงโคของตนหรือของผู้อื่นแล้วดำรงชีวิตด้วยการขายโครส ๕.
               การถืออาวุธแล้วเฝ้าดูแล ท่านเรียกว่า อิสฺสตฺถ คือเป็นนักรบ.
               บทว่า ราชโปริสํ รับราชการ คือทำราชการโดยไม่มีอาวุธ.
               บทว่า สิปฺปญฺญตรํ กิจอื่นเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง คือศิลปที่เหลือจากที่เรียนไว้ มีศิลปในการเลี้ยงช้างและม้าเป็นต้น.
               บทว่า สีตสฺส ปุรกฺขโต คือ ทนต่อความหนาวดุจเป้าทนต่อลูกศรฉะนั้น. อธิบายว่า ถูกความหนาวเบียดเบียน.
               แม้ในความร้อนก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ฑํส ต่อไป.
               บทว่า ฑํสา ได้แก่ เหลือบ.
               บทว่า สิรึสปา ได้แก่ สัตว์เสือกคลาน.
               บทว่า ปีฬิยมาโน เบียดเบียน คือทำลายเสียดสี.
               บทว่า มิยฺยมาโน คือให้ตาย.
               บทว่า อยํ ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาพาธนี้มีความหนาวเป็นต้นเป็นปัจจัย อาศัยการเลี้ยงชีพด้วยศิลปะมีการนับนิ้วมือเป็นต้น.
               บทว่า กามานํ อาทีนโว โทษแห่งกามทั้งหลาย ความว่า อันตราย อุปสรรคในกามทั้งหลาย.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก คือ เห็นกันได้เอง.
               บทว่า ทุกฺขกฺขนฺโธ คือ กองทุกข์
               พึงทราบความในบทว่า กามเหตุ เป็นต้นต่อไป
               ชื่อว่า กามเหตุ เพราะมีกามเป็นเหตุ ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัย.
               ชื่อว่า กามนิทาโน เพราะมีกามเป็นนิทาน ด้วยอรรถว่าเป็นรากเหง้า. แต่ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า กามนิทานํ เพราะลิงค์คลาดเคลื่อนไป.
               ชื่อว่า กามาธิกรโณ เพราะมีกามเป็นอธิกรณ์ ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุ. ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า กามาธิกรณํ เพราะลิงค์คลาดเคลื่อนไปเหมือนกัน.
               บทว่า กามานเมว เหตุเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนี้ เป็นนิยมวจนะ คำกำหนดแน่นอน. อธิบายว่า เกิดเพราะกามเป็นปัจจัย.
               บทว่า อุฏฺฐหโต หมั่นอยู่ คือหมั่นด้วยความเพียรในการประกอบอาชีพ.
               บทว่า ฆฏโต คือ ทำความเพียรติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นจนถึงเบื้องปลาย.
               บทว่า วายมโต คือ ทำความเพียรพยายามให้ก้าวหน้าต่อไป.
               บทว่า นาภินิปฺผชฺชนฺติ คือ โภคสมบัติเหล่านั้นไม่เจริญ ไม่งอกงาม ในที่นั้น.
               บทว่า โสจติ คือย่อมเศร้าโศก ด้วยความโศกมีกำลังเกิดขึ้นในใจ.
               บทว่า กิลมติ คือ ย่อมลำบากด้วยทุกข์เกิดขึ้นในกาย.
               บทว่า ปริเทวติ คือ ย่อมคร่ำครวญด้วยวาจา.
               บทว่า อุรตฺตาฬึ คือ ทุบอก.
               บทว่า กนฺทติ คร่ำครวญ คือร้องไห้.
               บทว่า สมฺโมหํ อาปชฺชติ ถึงความหลงใหล คือมีความหลงใหลเช่นสลบ.
               บทว่า โมฆํ คือ เปล่า.
               บทว่า อผโล คือ ไม่มีผล.
               บทว่า อารกฺขาธิกรณํ คือเพราะเหตุรักษา.
               บทว่า กินฺติ คือ ด้วยอุบายไรหนอ.
               บทว่า ยมฺปิ เม คือ ทรัพย์ที่เรารวบรวมไว้อันเกิดเพราะทำกสิกรรมเป็นต้น.
               บทว่า ตมฺปิ โน นตฺถิ คือ บัดนี้ทรัพย์ของเราหมดไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเหตุด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า ปุน จ ปรํ ภิกฺขเว กามเหตุ ดังนี้ แล้วจึงทรงแสดงถึงโทษทั้งหลายต่อไป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กามเหตุ ความว่า แม้พระราชาทั้งหลายวิวาทกับพระราชา ก็เพราะกามเป็นเหตุ.
               บทว่า กามนิทานํ เป็นภาวนปุงสกลิงค์. ความว่า วิวาทกันเพราะกามเป็นนิทาน (เหตุ).
               แม้บทว่า กามาธิกรณํ ก็เป็นภาวนปุงสกลิงค์เหมือนกัน. ความว่า วิวาทกันเพราะกามเป็นอธิกรณ์ (เหตุ).
               บทว่า กามานเมว เหตุ ความว่า วิวาทกันเพราะกามทั้งหลายมีบ้าน นิคม ตำแหน่งเสนาบดีและตำแหน่งปุโรหิตเป็นต้น.
               บทว่า อุปกฺกมนฺติ คือ ประหารกัน.
               บทว่า อสิจมฺมํ คือ ดาบและโล่เป็นต้น.
               บทว่า ธนุกลาปํ สนฺนยฺหิตฺวา คือ จับธนูสอดใส่แล่ง.
               บทว่า อุภโตพยุฬฺหํ คือ ประชิดกันทั้งสองฝ่าย.
               บทว่า ปกฺขนฺทนฺติ คือ เข้าไป.
               บทว่า อุสูสุ คือ ลูกศร.
               บทว่า วิชฺโชตลนฺเตสุ คือ ควงดาบ.
               บทว่า เต ตตฺถ คือ ชนเหล่านั้น ... ในสงครามนั้น.
               อนึ่ง พึงทราบความในบทนี้ว่า อทฺธาวเลปนา อุปการิโย ป้อมอันมีปูนฉาบทาข้างบน ดังนี้ต่อไป
               มนุษย์ทั้งหลายเอาอิฐก่อป้อมโดยสัณฐานดุจกีบม้า แล้วเอาปูนฉาบข้างบนป้อม ที่ทำอย่างนี้ท่านเรียกว่า อุปการิโย (ป้อมเชิงเทิน). ป้อมเหล่านั้นเอายางไม้และเปือกตมฉาบทาข้างบน จึงชื่อว่า อทฺธาวเลปน ฉาบทาข้างบน.
               บทว่า ปกฺขนฺทนฺติ วิ่งไป ชนทั้งหลายถูกแทงด้วยหลาวเหล็กและหลาวไม้ที่เขาฝังไว้ข้างใต้ป้อมเหล่านั้น ไม่อาจขึ้นไปได้เพราะกำแพงลื่นจึงวิ่งเข้าไป.
               บทว่า ฉกณาฏิยา คือ โคมัยที่น่าเกลียด.
               บทว่า อภิวคฺเคน ด้วยฟ้าทับเหว คือฟ้าทับเหวมี งา ๗ อัน. คนทั้งหลายทำประตูด้วยงา ๘ อัน ยืนอยู่ข้างบนประตูเชือกที่ผูกไว้กับประตูนั้นแล้วทับคนที่มา ด้วยคิดว่า เราจักทำลายประตูเมืองเข้าไปด้วยฟ้าทับเหวนั้น.
               บทว่า สนฺธิมฺปิ ฉินฺทนฺติ คือ โจรทั้งหลายย่อมตัดที่ต่อของเรือนบ้าง.
               บทว่า นิลฺโลปํ ปล้น คือประหารชาวบ้านแล้วทำการปล้น.
               บทว่า เอกาคาริกํ เรือนหลังเดียว คือโจร ๕๐ คนบ้าง ๖๐ คนบ้าง ล้อมจับเป็นแล้วปล้นเอาทรัพย์ไป.
               บทว่า ปริปนฺเถปิ ติฏฺฐนฺติ ยืนดักที่ทางเปลี่ยวบ้าง คือปล้นคนเดินทาง.
               บทว่า อฑฺฒทณฺฑเกหิ ด้วยพลอง คือด้วยค้อน.
               บทที่เหลือมีเนื้อความดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๖               
               คาถาที่ ๗               
                                ๑๗. อีตี จ คณฺโฑ จ อุปทฺทโว จ
                                      โรโค จ สลฺลญฺจ ภยญฺจ เมตํ
                                      เอตํ ภยํ กามคุเณสุ ทิสฺวา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลเห็นภัย เป็นเสนียด เป็นดังฝี เป็นอุปัทวะ เป็น
                         โรค เป็นลูกศรและเป็นภัย บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณ
                         ทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               กามชื่อว่า อีติ เพราะเป็นเสนียด. บทนี้เป็นชื่อของเหตุแห่งความพินาศทั้งหลายอันเป็นส่วนแห่งอกุศลที่จรมา. เพราะฉะนั้น แม้กามคุณเหล่านี้ ก็ชื่อว่า อีติ เสนียด เพราะนำมาซึ่งความพินาศไม่น้อย และเพราะตกจมไปอย่างหนัก.
               แม้ฝีที่บวมสุกกลัดหนองก็แตก มีของไม่สะอาดไหลออก. เพราะฉะนั้น กามเหล่านี้ชื่อว่าเป็นดังหัวฝี เพราะเป็นที่ไหลออกแห่งกิเลสซึ่งไม่สะอาด และเพราะกามทั้งหลายบวมพองขึ้น สุกแล้วแตกไปด้วยความเกิด ความแก่และความดับ.
               ชื่อว่า อุปทฺทโว เพราะอุบาทว์. อธิบายว่า อุบาทว์ยังความพินาศให้เกิดขึ้น ครอบงำ ท่วมทับซึ่งบุคคลผู้ติดอยู่ในกามนั้น. คำนี้เป็นชื่อของโทษทั้งหลายมีอาชญาแผ่นดินเป็นต้น. เพราะฉะนั้น กามคุณเหล่านี้จึงชื่อว่าอุบาทว์ เพราะเป็นเหตุไม่ให้บุคคลถึงซึ่งพระนิพพานอันตนยังไม่ทราบแล้ว และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งอันตรายทั้งปวง.
               ก็เพราะเหตุที่กามคุณเหล่านี้ยังความเดือดร้อนเพราะกิเลสให้เกิด หรือยังความปรารถนาในความไม่มีโรค กล่าวคือความเป็นปกติให้เกิดขึ้น ย่อมทำลายความไม่มีโรคคือความเป็นปกตินั่นเอง ฉะนั้น กามจึงชื่อว่าโรค เพราะอรรถว่าทำลายความไม่มีโรค.
               อนึ่ง ชื่อว่าเป็นดังลูกศร เพราะอรรถว่าเสียบเข้าไปภายใน เพราะอรรถว่าเจาะในภายใน และเพราะอรรถว่านำออกไปได้ยาก.
               ชื่อว่า ภยํ เพราะนำภัยในปัจจุบันและภพหน้ามา.
               บทว่า เมตํ ตัดบทเป็น เม เอตํ.
               บทที่เหลือชัดดีแล้ว.
               แม้บทสรุปก็พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า กามราคตฺตายํ คือ สัตว์นี้กำหนัดด้วยกามราคะ.
               บทว่า ฉนฺทราควินิพนฺโธ คือ อันฉันทราคะผูกพันด้วยความเสน่หา.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมิกาปิ คพฺภา จากครรภ์อันมีในปัจจุบัน คือจากครรภ์ ได้แก่สฬายตนะอันเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน.
               บทว่า สมฺปรายิกาปิ ภยา คือ จากครรภ์ ได้แก่สฬายตนะในโลกหน้า.
               บทว่า น ปริมุจฺจติ คือ ไม่สามารถพ้นไปได้.
               บทว่า โอติณฺโณ สาตรูเปน หยั่งลงแล้วด้วยราคะอันน่ายินดี คือก้าวลง หยั่งลงด้วยราคะ อันมีสภาพอร่อย.
               บทว่า ปลิปถํ คือ สู่ทางมีเปือกตมคือกาม.
               บทว่า ทุคฺคํ คือ ข้ามได้ยาก.
               จบคาถาที่ ๗               
               คาถาที่ ๘               
                                ๑๘. สีตญฺจ อุณฺหญฺจ ขุทํ ปิหาสํ
                                      วาตาตเป ฑํสสิรึสเป จ
                                      สพฺพานิเปตานิ อภิสมฺภวิตฺวา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพึงครอบงำภัยเหล่านี้แม้ทั้งปวง
                         คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ลม แดด
                         เหลือบ และสัตว์เสือกคลานแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
                         นอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               ความหนาวมี ๒ อย่าง คือ ธาตุภายในกำเริบเป็นปัจจัย ๑ ธาตุภายนอกกำเริบเป็นปัจจัย ๑.
               ความร้อนก็เหมือนกัน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ฑํส คือ เหลือบ.
               บทว่า สิรึสเป คือ สัตว์เลื้อยคลานจำพวกใดจำพวกหนึ่งซึ่งเลื้อยคลานไป.
               บทที่เหลือชัดดีแล้ว.
               แม้บทสรุปก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๘               
               คาถาที่ ๙               
                                ๑๙. นาโคว ยูถานิ วิวชฺชยิตฺวา
                                      สญฺชาตกฺขนฺโธ ปทุมี อุฬาโร
                                      ยถาภิรนฺตํ วิหเร อรญฺเญ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ละแล้วซึ่งหมู่ทั้งหลาย มี
                         ขันธ์เกิดดีแล้วมีธรรมดังดอกบัว เป็นผู้ยิ่ง ย่อมอยู่ในป่า
                         ตามอภิรมย์ เหมือนนาค ละแล้วซึ่งโขลงทั้งหลาย พึง
                         เป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               คาถาที่ ๙ ปรากฏแล้วโดยความของบทนั่นแล.
               ในคาถานี้โยชนาอธิบายไว้ดังนี้.
               คาถานั้นปรากฏโดยข้อยุติ ไม่ใช่ปรากฏโดยฟังตามกันมา.
               ช้างนี้ชื่อว่านาค เพราะไม่มาสู่สถานที่ยังไม่ได้ฝึก เพราะฝึกในศีลที่พวกมนุษย์พอใจ หรือเพราะเป็นสัตว์มีกายใหญ่ฉันใด แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น ชื่อว่านาค เพราะไม่มาสู่สถานที่ยังมิได้ฝึก เพราะมีสรีระใหญ่ เพราะฝึกแล้วในศีลทั้งหลายที่พระอริยะพอใจ เพราะไม่ กระทำบาป และไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก หรือเพราะเหตุที่ตนมีสรีระคือคุณใหญ่.
               ช้างนี้ละโขลงแล้ว อยู่ในป่าตามความพอใจ ด้วยความสุขอันเกิดจากการเที่ยวไปผู้เดียว พึงเที่ยวไปผู้เดียวในป่าเหมือนนอแรด ฉะนั้นฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น ละหมู่คณะแล้ว อยู่ในป่าตามความพอใจด้วยความสุขเกิดแต่ฌาน อันเป็นความสุขที่มีแต่ความยินดียิ่งส่วนเดียว ปรารถนาความสุขตามแต่ตนจะพึงจะหาได้ อยู่ในป่านั้น พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               อนึ่ง ช้างนั้นชื่อว่ามีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว เพราะมีร่างกายตั้งอยู่ได้เป็นอย่างดีฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีขันธ์เกิดดีแล้ว เพราะความเป็นผู้ใหญ่ด้วยศีลขันธ์อันเป็นอเสกขะ.
               อนึ่ง ช้างนั้นชื่อว่ามีตัวดังดอกบัว เพราะมีร่างกายเช่นกับดอกบัว หรือเพราะเกิดในตระกูลช้างปทุมฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น ชื่อว่ามีธรรมดังดอกบัว เพราะมีธรรมคือโพชฌงค์เช่นกับดอกบัว หรือเพราะเกิดในปทุม คือชาติของพระอริยะ.
               อนึ่ง ช้างนั้นชื่อว่าเป็นผู้ยิ่ง เพราะมีเรี่ยวแรงและกำลังเร็วเป็นต้นฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่ง เพราะมีความประพฤติชอบทางกายบริสุทธิ์เป็นต้น หรือเพราะมีศีลสมาธิและปัญญาหลักแหลมเป็นต้น.
               เราเมื่อคิดอยู่อย่างนี้จึงเริ่มวิปัสสนา แล้วบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ ด้วยประการฉะนี้.
               จบคาถาที่ ๙               
               คาถาที่ ๑๐               
                                ๒๐. อฏฺฐาน ตํ สงฺคณิการตสฺส
                                      ยํ ผุสฺสเย สามยิกํ วิมุตฺตึ
                                      อาทิจฺจพนฺธุสฺส วโจ นิสมฺม
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                         (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าได้กล่าว ๓ บาทแห่งคาถาว่า)
                                บุคคลพึงใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้เป็น
                         เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการ
                         คลุกคลีด้วยคณะ จะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น
                         ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (พระกุมารได้กล่าวหนึ่งบาทที่
                         พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าอาทิจจพันธุ์ กล่าวแล้วให้
                         บริบูรณ์ว่า) พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อฏฺฐาน ตํ คือ อฏฺฐานํ ตํ ได้แก่ เหตุนั้นไม่เป็นฐานะ. อธิบายว่า นั้นไม่ใช่เหตุ. ลบนิคคหิตเสียเป็น อฏฺฐาน ดุจในบทมีอาทิว่า อริยสจฺจาน ทสฺสนํ.
               บทว่า สงฺคณิการตสฺส คือ ยินดีในความคลุกคลีด้วยหมู่.
               บทว่า ยํ นี้เป็นคำแสดงถึงเหตุ ดุจในบทว่า ยํ หิริยติ หิริตพฺเพน ย่อมละอายด้วยเหตุใด พึงละอายด้วยเหตุนั้น.
               บทว่า ผุสฺสเย พึงถูกต้อง คือพึงบรรลุ.
               บทว่า สามยิกํ วิมุตฺตึ วิมุตติอันมีในสมัย ได้แก่โลกิยสมาบัติ.
               จริงอยู่ โลกิยสมาบัตินั้นท่านเรียกว่า สามายิกา วิมุตฺติ วิมุตติอันมีในสมัย เพราะพ้นแล้วจากข้าศึกในสมัยที่จิตแนบแน่นอิ่มเอิบนั่นเอง. ซึ่งวิมุตติอันมีในสมัยนั้น.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า บุคคลพึงถูกต้องวิมุตตินั้นอันมีในสมัยด้วยเหตุใด เหตุนั้นไม่ใช่ฐานะของบุคคลผู้ยินดีด้วยความคลุกคลีด้วยหมู่ เราใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว ละความยินดีด้วยความคลุกคลีด้วยหมู่ ปฏิบัติโดยแยบคาย จึงได้บรรลุดังนี้.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า เนกฺขมฺมสุขํ ได้แก่ ความสุขในการบรรพชา.
               บทว่า ปวิเวกสุขํ ได้แก่ ความสุขในกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก.
               บทว่า อุปสมสุขํ ได้แก่ ความสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติอันสงบจากกิเลส.
               บทว่า สมฺโพธิสุขํ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ คือมรรคสุข.
               บทว่า นิกามลาภี คือ ผู้มีปกติได้ตามความประสงค์ด้วยอำนาจความชอบใจของตน.
               บทว่า อกิจฺฉลาภี คือ ผู้มีปกติได้ไม่ยาก.
               บทว่า อกสิรลาภี ได้โดยไม่ลำบาก คือได้ไพบูลย์.
               บทว่า อสามายิกํ อันไม่มีในสมัย คือโลกุตระ.
               บทว่า อกุปฺปํ อันไม่กำเริบ คือโลกุตรมรรคอันไม่หวั่นไหว ไม่กำเริบ.
               จบคาถาที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาวรรคที่ ๒               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :