ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๖ / ๗.

               อรรถกถาตติยวรรค               
               คาถาที่ ๑               
                                ๒๑. ทิฏฺฐีวิสูกานิ อุปาติวตฺโต
                                      ปตฺโต นิยามํ ปฏิลทฺธมคฺโค
                                      อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ อนญฺญเนยฺโย
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                เราล่วงพ้นทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนามได้แล้ว ถึงความ
                         เป็นผู้เที่ยง ได้มรรคแล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันผู้
                         อื่นไม่พึงแนะนำ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทิฏฺฐีวิสูกานิ ทิฏฐิเป็นเสี้ยนหนาม ได้แก่ทิฏฐิ ๖๒.
               ก็ทิฏฐิเหล่านั้นชื่อว่าเป็นเสี้ยนหนาม เพราะอรรถว่าทำร้ายเสียบแทง เป็นข้าศึกแห่งมรรคสัมมาทิฏฐิ. เสี้ยนหนามแห่งทิฏฐิอย่างนี้ ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิสูกานิ. หรือว่า ทิฏฐินั่นแลเป็นเสี้ยนหนาม ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิสูกานิ.
               บทว่า อุปาติ วตฺโต คือ ล่วงแล้วด้วยมรรคทัสสนะ.
               บทว่า ปตฺโต นิยามํ ถึงแล้วซึ่งมรรคนิยาม คือบรรลุแล้วซึ่งความเป็นของเที่ยงแห่งความเป็นธรรมไม่ตกต่ำและความตรัสรู้ในเบื้องหน้า หรือบรรลุปฐมมรรคอันได้แก่สัมมัตนิยาม (นิยามอันชอบ). ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงความสำเร็จแห่งกิจในปฐมมรรค และการได้ปฐมมรรคนั้น.
               บัดนี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแสดงถึงการได้มรรคที่เหลือ ด้วยบทนี้ว่า ปฏิลทฺธมคฺโค มีมรรคอันได้แล้ว ดังนี้.
               บทว่า อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว คือเราเป็นผู้มีปัจเจกโพธิญาณเกิดขึ้นแล้ว.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแสดงถึงผลด้วยญาณนี้.
               บทว่า อนฺญฺญเนยฺโย อันผู้มีไม่ต้องแนะนำ คืออันผู้อื่นไม่ต้องแนะนำว่า นี้เป็นสัจจะ ดังนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแสดงความเป็นพระสยัมภูด้วยบทนี้. หรือแสดงความเป็นผู้ชำนาญด้วยตนเอง ไม่มีผู้อื่นแนะนำในปัจเจกโพธิญาณ. หรือล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนามทั้งหลายด้วยวิปัสสนา ถึงมรรคนิยามด้วยมรรคเบื้องต้น เป็นผู้มีมรรคอันได้แล้วด้วยมรรคที่เหลือ เป็นผู้มีญาณอันเกิดแล้วด้วยผลญาณ.
               ชื่อว่า อนญฺญเนยฺโย เพราะบรรลุมรรคทั้งหมดนั้นด้วยตนเอง.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า น ปรเนยฺโย คือ ผู้อื่นไม่ต้องแนะนำ.
               บทว่า น ปรปตฺติโย ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น คือเพราะเป็นธรรมประจักษ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น.
               บทว่า น ปรปจฺจโย ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย คือไม่พึงมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ไม่เป็นไปด้วยศรัทธาของผู้อื่น.
               บทว่า น ปรปฏิพทฺธคู คือ ไม่ไปด้วยญาณอันเนื่องด้วยผู้อื่น.
               จบคาถาที่ ๑               
               คาถาที่ ๒               
                                ๒๒. นิลฺโลลุโป นิกฺกุโห นิปฺปิปาโส
                                      นิมฺมกฺโข นิทฺธนฺตกสาวโมโห
                                      นิราสโย สพฺพโลเก ภวิตฺวา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย
                         ไม่ลบหลู่ มีโมหะดุจน้ำฝาด อันกำจัดเสียแล้ว ไม่มี
                         ความอยาก ครอบงำโลกทั้งโลกได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า นิลฺโลลุโป คือ เป็นผู้ไม่โลภ.
               จริงอยู่ ผู้ใดถูกตัณหาในรสครอบงำ ผู้นั้นย่อมโลภจัดคือโลภบ่อยๆ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โลลุปฺโป เป็นผู้โลภจัด. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ เมื่อห้ามความโลภจัดนั้น จึงกล่าวว่า นิลฺโลลุโป เป็นผู้ไม่โลภจัด.
               พึงทราบความในบทว่า นิกฺกุโห ไม่โกหก ดังต่อไปนี้
               วัตถุสำหรับโกหก ๓ อย่างไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นท่านเรียกว่า นิกฺกุโห เป็นผู้ไม่โกหก.
               คาถานี้มีอธิบายว่า
               ชื่อว่า นิกฺกุโห เพราะไม่ถึงความประหลาดใจในชนเป็นต้นโดยความพอใจ.
               ในบทว่า นิปฺปิปาโส นี้ความว่า ความปรารถนาที่ปรากฏ ชื่อว่า ปิปาสา. เพราะความไม่มีปิปาสานั้น ชื่อว่า นิปฺปิปาโส. อธิบายว่า เป็นผู้พ้นจากความใคร่บริโภคด้วยความโลภในรสอร่อย.
               ในบทว่า นิมฺมกฺโข นี้ ความว่า ชื่อว่ามักโขอันมีลักษณะทำคุณผู้อื่นให้พินาศ เพราะไม่มีมักขะนั้น ชื่อว่านิมมักขะ.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวหมายถึงความไม่ลบหลู่คุณของผู้อื่น เมื่อครั้งตนยังเป็นคฤหัสถ์.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า นิทฺธนฺตกสาวโมโห ความว่า มีโมหะดังรสฝาด อันกำจัดแล้วต่อไป.
               ธรรม ๖ อย่าง คือ อกุศล ๓ มีราคะเป็นต้น และทุจริต ๓ มีกายทุจริตเป็นต้น พึงทราบว่าเป็น กสาว รสฝาด เพราะอรรถว่าไม่ผ่องใสตามกำเนิด เพราะอรรถว่าละภาวะของตนแล้วถือเอาภาวะอื่น และเพราะอรรถว่าเป็นกาก.
               เหมือนดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               รสฝาด ๓ อย่าง คืออะไร กสาวะรสฝาด ๓ อย่างเหล่านี้คือ ราคกสาวะ รสฝาด คือราคะ ๑ โทสกสาวะ รสฝาดคือโทสะ ๑ โมหกสาวะ รสฝาดคือโมหะ ๑.
               อีกนัยหนึ่ง กสาวะรสฝาด ๓ คือ กายกสาวะ รสฝาดทางกาย ๑ วจีกสาวะ รสฝาดทางวาจา ๑ มโนกสาวะ รสฝาดทางใจ ๑.
               ในรสฝาดเหล่านั้น ชื่อว่า นิทฺธนฺตกสาวโมโห เพราะกำจัดกิเลสดังรสฝาด ๕ เว้นโมหะ และกำจัดโมหะอันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสดังรสฝาดทั้งหมดเหล่านั้น หรือชื่อว่า นิทฺธนฺตกสาวโมโห เพราะกำจัดกิเลสดังรสฝาดทางกายวาจาและใจ ๓ อย่างและโมหะ.
               ในบทนอกนี้เป็นอันได้ความสำเร็จว่า กำจัดรสฝาดคือราคะ ด้วยความไม่โลภเป็นต้น กำจัดรสฝาดคือโทสะ ด้วยความเป็นผู้ไม่ลบหลู่.
               บทว่า นิราสโย ไม่มีความหวัง คือไม่มีความอยาก.
               บทว่า สพฺพโลเก คือ สากลโลก. อธิบายว่า เป็นผู้ปราศจากภวตัณหาและวิภวตัณหาในภพ ๓ และในอายตนะ ๑๒.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงกล่าวแม้ ๓ วาระแล้วทำความเชื่อมในบทนี้อย่างนี้ว่า เอโก จเร พึงเที่ยวไปผู้เดียวบ้าง หรืออย่างนี้ว่า เอโก จริตุ สกฺกุเณยฺย พึงสามารถเพื่อเที่ยวไปผู้เดียวบ้าง.
               จบคาถาที่ ๒               
               คาถาที่ ๓               
                                ๒๓. ปาปํ สหายํ ปริวชฺชเยถ
                                      อนตฺถทสฺสึ วิสเม วิวิฏฺฐํ
                                      สยํ น เสเว ปสุตํ ปมตฺตํ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามก ไม่พึงเสพด้วยตนเอง
                         ซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ใน
                         กรรมอันไม่เสมอ ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               ในคาถาที่ ๓ มีความย่อดังต่อไปนี้.
               สหายชื่อว่าลามก เพราะประกอบด้วยทิฏฐิลามก ๑๐ อย่าง.
               ชื่อว่าผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพราะแสดงความพินาศแก่คนอื่นและเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันไม่เสมอมีกายทุจริตเป็นต้น กุลบุตรผู้รักตนพึงเว้นสหายลามกนั้น ผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมไม่เสมอ ไม่ควรเสพด้วยตนเอง คือด้วยอำนาจของตน ด้วยประการฉะนี้.
               ท่านกล่าวว่า ก็ผิว่าเป็นอำนาจของผู้อื่น สามารถจะทำอย่างไร.
               บทว่า ปสุตํ ขวนขวาย. อธิบายว่า ติดอยู่ในบาปธรรมนั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               บทว่า ปมตฺตํ คนประมาท คือผู้ปล่อยจิตไปแล้วในกามคุณหรือเว้นจากกุศลภาวนา. บุคคลไม่พึงเสพ คือไม่พึงคบ ได้แก่ไม่พึงเข้าใกล้บุคคลเห็นปานนั้น โดยที่แท้พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สยํ น เสเวยฺย คือ ไม่พึงเข้าไปหาด้วยตนเอง.
               บทว่า สามํ น เสเวยฺย คือ ไม่พึงเข้าไปใกล้แม้ด้วยใจ.
               บทว่า นเสเวยฺย คือ ไม่พึงคบ.
               บทว่า น นิเสเวยฺย ไม่ควรอาศัยเสพ คือไม่เข้าไปแม้ในที่ใกล้.
               บทว่า น สํเสเวยฺย ไม่ควรร่วมเสพ คือพึงอยู่ให้ไกล.
               บทว่า ปฏิเสเวยฺย ไม่ควรซ่องเสพ คือหลีกไปเสีย.
               จบคาถาที่ ๓               
               คาถาที่ ๔               
                                ๒๔. พหุสฺสุตํ ธมฺมธรํ ภเชถ
                                      มิตฺตํ อุฬารํ ปฏิภาณวนฺตํ
                                      อญฺญาย อตฺถานิ วิเนยฺย กงฺขํ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ผู้
                         ทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ ผู้รู้จักประโยชน์
                         ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               ในคาถาที่ ๔ มีความย่อดังนี้.
               บทว่า พหุสฺสุตํ คือ ผู้เป็นพหูสูตมี ๒ พวก คือผู้เป็นพหูสูตในปริยัติ ในพระไตรปิฎกโดยเนื้อความทั้งสิ้น ๑ และผู้เป็นพหูสูตในปฏิเวธ เพราะแทงตลอดมรรคผล วิชชาและอภิญญา ๑.
               ผู้มีอาคมอันมาแล้ว โดยการทรงจำไว้ได้ ชื่อว่าผู้ทรงธรรม.
               ส่วนท่านผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันโอฬาร ชื่อว่าผู้มีคุณยิ่ง.
               ท่านผู้มีปฏิภาณอันประกอบแล้ว ผู้มีปฏิภาณอันพ้นแล้ว และผู้มีปฏิภาณทั้งประกอบแล้วทั้งพ้นแล้ว ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผู้มีปฏิภาณ ๓ พวก คือปริยัตติปฏิภาณ ๑ ปริปุจฉาปฏิภาณ ๑ อธิคมปฏิภาณ ๑.
               ผู้แจ่มแจ้งในปริยัติ ชื่อว่าปริยัตติปฏิภาณ ผู้มีปฏิภาณในปริยัติ.
               ผู้แจ่มแจ้งคำสอบถาม เมื่อเขาถามถึงอรรถ ไญยธรรม ลักษณะ ฐานะ อฐานะ ชื่อว่าปริปุจฉาปฏิภาณ ผู้มีปฏิภาณในการสอบถาม.
               ผู้แทงตลอดคุณวิเศษทั้งหลายมีมรรคเป็นต้น ชื่อว่าปฏิเวธปฏิภาณ ผู้มีปฏิภาณในปฏิเวธ.
               บุคคลควรคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีคุณยิ่งมีปฏิภาณเห็นปานนั้น แต่นั้นด้วยอานุภาพของมิตรนั้นได้รู้ประโยชน์มากมาย โดยแยกเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือโดยแยกเป็นประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภพหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง.
               แต่นั้น กำจัดความสงสัยทำความเคลือบแคลงให้หมดไป ในฐานะแห่งความสงสัยมีอาทิว่า เราได้เป็นแล้วตลอดกาลในอดีตหรือหนอ เป็นผู้กระทำกิจทุกอย่างสำเร็จแล้วอย่างนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               จบคาถาที่ ๔               
               คาถาที่ ๕               
                                ๒๕. ขิฑฺฑํ รตึ กามสุขญฺจ โลเก
                                      อนลงฺกริตฺวา อนเปกฺขมาโน
                                      วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวามี
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่พอใจการเล่น ความยินดี
                         และกามสุขในโลกแล้ว ไม่อาลัยอยู่ เว้นจากฐานะแห่งการ
                         ประดับ มีปกติกล่าวคำสัตย์ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน
                         นอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๕ ดังต่อไปนี้.
               การเล่นและความยินดีได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน.
               บทว่า กามสุขํ คือ สุขในวัตถุกาม.
               จริงอยู่ แม้วัตถุกามท่านก็กล่าวว่า เป็นความสุขโดยความเป็นวิสัยเป็นต้นของความสุข เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า รูปเป็นสุข ตกถึงความสุขมีอยู่ดังนี้. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ทำความพอใจซึ่งการเล่น ความยินดีและกามสุขในโอกาสโลกนี้ ไม่คำนึงอย่างนี่ว่า มีประการดังนี้ หรือเป็นสาระ.
               บทว่า อนเปกฺขมาโน ไม่อาลัย คือมีปกติไม่เพ่งเล็งด้วยไม่ทำความพอใจ ไม่มักได้ ไม่อยาก เว้นจากฐานะแห่งการประดับ เป็นผู้พูดจริง พึงเที่ยวไปผู้เดียว.
               ในบทเหล่านั้น เครื่องประดับมี ๒ อย่าง คือ เครื่องประดับสำหรับผู้ครองเรือนมีผ้าสาฎก ผ้าโพก ดอกไม้และของหอมเป็นต้น ๑ เครื่องประดับสำหรับบรรพชิตมีเครื่องแต่งร่มเป็นต้น ๑.
               เครื่องประดับนั้นแล ชื่อว่าฐานะแห่งการประดับ. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความอย่างนี้ว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเว้นจากฐานะแห่งการประดับ ด้วยวิรัติแม้ ๓ อย่าง
               เป็นผู้พูดจริง เพราะพูดไม่เหลวไหล ดังนี้.
               จบคาถาที่ ๕               
               คาถาที่ ๖               
                                ๒๖. ปุตฺตญฺจ ทารํ ปิตรญฺจ มาตรํ
                                      ธนานิ ธญฺญานิ จ พนฺธวานิ
                                      หิตฺวาน กามานิ ยโถธิกานิ
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บุคคลละบุตร ภรรยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก
                         พวกพ้อง และกามซึ่งตั้งอยู่ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๖ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ธนานิ ได้แก่ รัตนะ มีแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินและทองเป็นต้น.
               บทว่า ธญฺญานิ ได้แก่ ธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ๑ ข้าวเปลือก ๑ ข้าวเหนียว ๑ ข้าวละมาน ๑ ข้าวฟ่าง ๑ ลูกเดือย ๑ หญ้ากับแก้ ๑ และอปรัณณชาติที่เหลือ.
               บทว่า พนฺธวานิ ได้แก่ พวกพ้อง ๔ ประเภท คือ พวกพ้องที่เป็นญาติ ๑ พวกพ้องทางโคตร ๑ พวกพ้องทางมิตร ๑ พวกพ้องทางศิลปะ ๑.
               บทว่า ยโถธิกานิ กามทั้งหลายตามส่วน คือกามทั้งหลายตั้งอยู่ตามส่วนของตนๆ.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๖               
               คาถาที่ ๗               
                                ๒๗. สงฺโค เอโส ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ
                                      อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมตฺถ ภิยฺโย
                                      คณฺโฑ เอโส อิติ ญตฺวา มติมา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                บัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องในเวลาบริโภคเบญจ-
                         กามคุณนี้มีสุขน้อย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดุจหัวฝี
                         ดังนี้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สงฺโค เอโส กามนี้เป็นเครื่องข้อง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแสดงถึงเครื่องอุปโภคของตน.
               ก็กามนั้น ชื่อว่า สงฺโค เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมข้องอยู่ในกามนั้น ดุจช้างติดอยู่ในเปือกตมฉะนั้น.
               บทว่า ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ มีความสุขน้อย คือในเบญจกามคุณนี้มีความสุขน้อย เพราะเป็นของต่ำทราม โดยให้เกิดความสำคัญผิดในการบริโภคกามคุณ ๕ หรือเพราะนับเนื่องในธรรมอันเป็นกามาวจร. ท่านอธิบายว่า เป็นไปชั่วกาลนิดหน่อย ดุจความสุขในการเห็นการฟ้อนที่สว่างแวบขึ้นจากแสงฟ้าแลบฉะนั้น.
               บทว่า อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมตฺถ ภิยฺโย ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ความว่า ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสุขโสมนัสใดแลเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ ความสุขโสมนัสนี้เรากล่าวว่า เป็นความยินดีของกามทั้งหลาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงทุกข์โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยการแสดงศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยการนับนิ้วมือบ้าง ด้วยการคำนวณบ้าง เพราะเปรียบกับทุกข์นั้น ความสุขในกามคุณจึงชื่อว่าน้อย คือเท่าประมาณหยาดน้ำ ที่แท้ความทุกข์เท่านั้นมากยิ่ง เปรียบได้กับน้ำในสมุทรทั้งสี่ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมตฺถ ภิยฺโย ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดังนี้.
               บทว่า คโฬ เอโส กามนี้เป็นดังเบ็ด ความว่า กามนี้เป็นดังเบ็ด คือกามคุณ ๕ ด้วยสามารถการแสดงความยินดีแล้วดึงมา.
               บทว่า อิติ ญตฺวา มติมา ผู้มีปัญญารู้แล้ว คือบุรุษผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว ละกามนั้นทั้งหมด พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               จบคาถาที่ ๗               
               คาถาที่ ๘               
                                ๒๘. สนฺทาลยิตฺวาน สํโยชนานิ
                                      ชาลํ ว เฉตฺวา สลิลมฺพุจารี
                                      อคฺคีว ทฑฺฒํ อนิวตฺตมาโน
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย
                         เสีย เหมือนปลาทำลายข่ายเหมือนไฟไม่หวนกลับมาสู่
                         ที่ไหม้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบาทที่ ๒ แห่งคาถาที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               สิ่งที่ทำด้วยด้ายท่านเรียกว่า ชาลํ ข่าย.
               บทว่า อมฺพุ คือ น้ำ.
               ชื่อว่า อมฺพุจารี เพราะเที่ยวไปในน้ำนั้น. บทนี้เป็นชื่อของปลา. ปลาย่อมเที่ยวไปในน้ำ จึงชื่อว่า สลิสมฺพุจารี. ท่านอธิบายว่า เหมือนปลาทำลายข่ายในน้ำฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบาทที่ ๓ ดังนี้.
               บทว่า ทฑฺฒํ ท่านกล่าวถึงที่ที่ถูกไฟไหม้. อธิบายว่า ไฟที่ไหม้มิได้กลับมาสู่ที่ที่ไหม้แล้ว คือว่าไม่กลับมาไหม้ลามในที่นั้นอีกฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ไม่กลับมาสู่ที่แห่งกามคุณ ที่ไฟคือมรรคญาณไหม้แล้วคือว่าไม่หวนกลับมาในกามคุณนั้นอีก ฉันนั้น.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               คำว่า สญฺโญชนานิ มีวิเคราะห์ว่า กิเลสเหล่าใดมีอยู่แก่บุคคลใดก็ย่อมผูกพัน คือว่าย่อมร้อยรัดบุคคลนั้นไว้ในวัฏฏะ เพราะเหตุนั้น กิเลสเหล่านั้นจึงชื่อว่าสังโยชน์.
               อนึ่ง ควรนำสังโยชน์เหล่านี้มาตามลำดับของกิเลสบ้างตามลำดับของมรรคบ้าง คือ
               กามราคสังโยชน์และปฏิฆสังโยชน์ ละได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               มานสังโยชน์ ละได้ด้วยอรหัตมรรค.
               ทิฏฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ภวราคสังโยชน์ ละได้ด้วยอรหัตมรรค.
               อิสสาและมัจฉริยะ ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               กามราคสังโยชน์และปฏิฆสังโยชน์ ละได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               มานสังโยชน์ ภวราคสังโยชน์และอวิชชาสังโยชน์ ละได้ด้วยอรหัตมรรค.
               บทว่า ภินฺทิตฺวา คือ ทำลาย.
               บทว่า สมฺภินฺทิตฺวา ฉีก คือทำให้เป็นช่อง.
               บทว่า ทาลยิตฺวา คือ แหวกไป.
               บทว่า ปทาลยิตฺวา คือ ลอดไป.
               บทว่า สมฺปทาลยิตฺวา คือ ลอดออกไป.
               จบคาถาที่ ๘               
               คาถาที่ ๙               
                                ๒๙. โอกฺขิตฺตจกฺขุ น จ ปาทโลโล
                                      คุตฺตินฺทฺริโย รกฺขิตมานสาโน
                                      อนวสฺสุโต อปริฑยฺหมาโน
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้มีจักษุทอดลงแล้ว ไม่เหลว
                         ไหลเพราะเท้า มีอินทรีย์คุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษาแล้ว
                         ผู้อันกิเลสไม่รั่วรดแล้ว. และอันไฟคือกิเลสไม่เผาอยู่ พึง
                         เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๙ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ เป็นผู้มีจักษุอันทอดลง คือมีจักษุทอดลงเบื้องต่ำ. ท่านอธิบายว่า ภิกษุตั้งกระดูกคอทั้ง ๗ ท่อนไว้ตามลำดับ แล้วเพ่งดูชั่วแอกเพื่อดูสิ่งที่ควรเว้นและควรถือเอา. อธิบายว่า ภิกษุยืนไม่ให้กระดูกหัวใจ กระทบกับกระดูกคาง. ก็การที่ภิกษุเป็นผู้มีตาทอดลงอย่างนี้ไม่เป็นสมณสารูป คือไม่ควรแก่สมณะ.
               บทว่า น จ ปาทโลโล ไม่เหลวไหลเพราะเท้า คือไม่ทำเป็นเหมือนคนที่คันเท้า ปรารถนาจะเข้าไปสู่ท่ามกลางคณะอย่างนี้ คือเป็นคนที่สองของคนคนเดียว เป็นคนที่ ๓ ของคนสองคน เป็นผู้เว้นจากการเที่ยวไปนาน คือเที่ยวไปไม่หยุด.
               บทว่า คุตฺตินฺทฺริโย มีอินทรีย์คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ ด้วยบทที่เหลือซึ่งกล่าวแยกไว้ต่างหากในที่นี้.
               บทว่า มานสา ในคำว่า รกฺขิตมานสาโน ได้แก่ มานัส ใจนั่นเอง ใจนั้นอันบุคคลนั้นรักษาแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า รกฺขิตมานสาโน ผู้มีใจอันตนรักษาแล้ว.
               บทว่า อนวสฺสุโต ได้แก่ ผู้เว้นแล้วจากการตามรั่วรดของกิเลสในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ด้วยการปฏิบัตินี้.
               บทว่า อปริฑยฺหมาโน ไฟกิเลสมิได้เผา คือกิเลสมิได้เผาเพราะเว้นจากการรั่วรดของกิเลสอย่างนี้.
               อนึ่ง ผู้อันกิเลสในภายนอกไม่รั่วรด กิเลสในภายในไม่เผาอยู่. บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา เห็นรูปด้วยจักษุ คือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูปได้ ที่เรียกตามโวหารว่าจักษุ ด้วยอำนาจแห่งเหตุ.
               ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า จักษุย่อมไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจิต จิตก็ย่อมไม่เห็นรูปเพราะไม่มีจักษุ (แต่) บุคคลย่อมเห็นด้วยจิตอันมีประสาทรูปเป็นวัตถุ เพราะกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์. ก็คำพูดเช่นนี้ ชื่อว่าสสัมภารกถา (พูดรวมๆ ไป) เหมือนในประโยคว่า ก็สิ่งเช่นนี้ๆ ย่อมถูกยิงด้วยธนูฉะนั้น เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงมีความอย่างนี้ว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณดังนี้.
               บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี ถือนิมิต คือถือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีนิมิตหญิงและชาย หรือนิมิตว่างามเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งฉันทราคะ ไม่ตั้งอยู่ด้วยเพียงเห็น.
               บทว่า อนุพฺยญฺชนคฺคาหี ถืออนุพยัญชนะ คือย่อมถือด้วยอาการแห่งมือ เท้า การหัวเราะ การเจรจา การเหลียวดูเป็นต้น ที่เรียกตามโวหารว่าอนุพยัญชนะ เพราะทำกิเลสทั้งหลายให้ปรากฏโดยอนุพยัญชนะ.
               ในบทว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้นมีความดังต่อไปนี้.
               ซึ่งบุคคลนั้นผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ด้วยหน้าต่างคือสติ ผู้มีจักษุทวารไม่ปิดแล้ว เพราะเหตุแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นเหตุให้ธรรมมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้ครอบงำคือตามผูกพัน.
               บทว่า ตสฺส สํวราย น ปฏิปชฺชติ ปฏิบัติเพื่อไม่สำรวมจักขุนทรีย์นั้น คือไม่ปฏิบัติ เพื่อปิดจักขุนทรีย์นั้นด้วยหน้าต่างคือสติ.
               ท่านกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ชื่อว่าไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ การสำรวมหรือไม่สำรวมย่อมไม่มีในจักขุนทรีย์นั้น ด้วยว่าสติหรือความหลงลืมสติ หาได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุประสาทไม่ ถึงอย่างนั้น เมื่อใดรูปารมณ์มาสู่คลองแห่งจักษุในกาลใด ในกาลนั้นเมื่อภวังคจิตเกิดขึ้นสองครั้งแล้วดับไป กิริยามโนธาตุเกิดขึ้น ยังอาวัชชนกิจ ให้สำเร็จแล้วดับไป.
               แต่นั้น จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นทำสันตีรณกิจ คือทำหน้าที่เห็นแล้วดับไป จากนั้น วิปากมโนธาตุเกิดขึ้นให้สำเร็จสัมปฏิจฉนกิจ คือทำหน้าที่รับแล้วดับไป.
               จากนั้น วิบากมโนวิญญาณธาตุอันเป็นอเหตุกะเกิดขึ้นให้สำเร็จสันตีรณกิจ คือทำหน้าที่พิจารณาแล้วดับไป.
               จากนั้น กิริยามโนวิญญาณธาตุอันเป็นอเหตุกะเกิดขึ้นยังโวฏฐัพพนกิจ คือการตัดสินอารมณ์ให้สำเร็จแล้วดับไป ในลำดับนั้น ชวนจิตย่อมแล่นไป.
               แม้ในข้อนั้นความสำรวมหรือไม่สำรวมย่อมไม่มีในสมัยแห่งภวังคจิต ย่อมไม่มีในสมัยแห่งจิตทั้งหลายมีอาวัชชนจิตเป็นต้น ในสมัยใดสมัยหนึ่ง.
               แต่ในขณะแห่งชวนจิต หากว่า ความเป็นผู้ทุศีลก็ดี ความเป็นผู้หลงลืมสติก็ดี ความไม่รู้ก็ดี ความไม่อดทนก็ดี ความเกียจคร้านก็ดี ย่อมเกิดขึ้น ความสำรวมย่อมมีไม่ได้. ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นผู้ไม่สำรวมในจักขุนทรีย์.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะเมื่อความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันไม่สำรวมแล้ว.
               เปรียบเหมือนอะไร.
               เปรียบเหมือนเมื่อประตู ๔ ด้านในพระนครไม่ปิด ถึงจะเปิดเรือนประตูซุ้มและห้องภายในเป็นต้นก็ดีฉันใด ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ของทั้งหมดภายในพระนครก็เป็นอันเขาไม่รักษา ไม่คุ้มครองเหมือนกัน เพราะโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูพระนคร ย่อมฉกฉวยเอาสิ่งที่ต้องการไปได้ฉันใด เมื่อความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วในชวนจิต เมื่อความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ ทวารก็ดี ภวังค์ก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันบุคคลนั้นไม่สำรวมแล้วฉันนั้นเหมือนกัน.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา น นิมิตฺตคฺคาหี โหติ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า น นิมิตฺตคฺคาหี โหติ ไม่ถือนิมิต คือไม่ถือนิมิตดังกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งฉันทราคะ.
               พึงทราบแม้บทที่เหลือโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               เหมือนอย่างว่า คำที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังว่า เมื่อความทุศีลเกิดขึ้นแล้วในชวนะ เมื่อความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ ทวารก็ดี ภวังค์ก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี เป็นอันตนไม่ได้สำรวมแล้วฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นบังเกิดขึ้นแล้ว ในชวนจิตนั้น ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตอันมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันตนคุ้มครองแล้วเหมือนกัน.
               เปรียบเหมือนอะไร.
               เปรียบเหมือนเมื่อประตูพระนครรักษา (ปิด) แล้ว ถึงแม้เรือนภายในเป็นต้นไม่รักษา (ไม่ปิด) ก็จริง ถึงกระนั้น สิ่งของทั้งหมดในภายในพระนคร ก็ย่อมเป็นอันรักษาดีแล้ว คุ้มครองดีแล้วทีเดียว เพราะเมื่อประตูพระนครปิด พวกโจรก็เข้าไปไม่ได้ฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นบังเกิดขึ้นแล้วในชวนะ ทวารก็ดี ภวังค์ก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี เป็นอันตนคุ้มครองแล้วฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความสำรวมแม้เกิดขึ้นในขณะชวนจิต ก็ชื่อว่าความสำรวมในจักขุนทรีย์.
               บทว่า อวสฺสุตปริยายญฺจ คือ อวัสสุตปริยายสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการชุ่มด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า อนวสฺสุตปริยายญฺจ คือ อวสฺสุตปริยายญฺจ คือ อนวัสสุตปริยายสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการไม่ชุ่มด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า ปิยรูเป รูเป ย่อมยินดีในรูปอันเป็นรูปที่น่ารัก คือในรูปารมณ์อันน่าปรารถนา.
               บทว่า อปฺปิยรูเป รูเป ย่อมยินร้ายในรูปอันเป็นรูปที่ไม่น่ารัก คือในรูปารมณ์อันมีสภาวะที่ไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า พฺยาปชฺชติ ย่อมยินร้าย คือถึงความเน่าด้วยอำนาจโทสะ.
               บทว่า โอตารํ ได้แก่ ช่องคือระหว่าง.
               บทว่า อารมฺมณํ คือ ปัจจัย.
               บทว่า อภิภวึสุ ครอบงำ คือย่ำยี.
               บทว่า น อภิภวิ คือ ไม่ย่ำยี.
               บทว่า พหลมตฺติกา มีดินหนา คือมีดินหนาพูนขึ้นด้วยการฉาบทาบ่อยๆ.
               บทว่า อลฺลาว เลปนา มีเครื่องฉาบทาอันเปียก คือฉาบทาด้วยดินที่ไม่แห้ง.
               บทที่เหลือในนิเทศนี้ง่ายทั้งนั้น.
               จบคาถาที่ ๙               
               คาถาที่ ๑๐               
                                ๓๐. โอหารยิตฺวา คิหิพฺยญฺชนานิ
                                      สญฺฉินฺนปตฺโต ยถา ปาริฉตฺโต
                                      กาสายวตฺโถ อภินิกฺขมิตฺวา
                                      เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.
                                พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละเพศแห่งคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้า
                         กาสายะออกบวช ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นแล้ว พึง
                         เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กาสายวตฺโก อภินิกฺขมิตฺวา ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกบวช พึงทราบความของบทนี้อย่างนี้ว่า ออกจากเรือนแล้วครองผ้ากาสายะ.
               บทที่เหลือสามารถรู้ได้โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบคาถาที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาตติยวรรค               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 532อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=6139&Z=8165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2377
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2377
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :