ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 136อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 143อ่านอรรถกถา 31 / 148อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มรรคญาณนิทเทส

               อรรถกถามรรคญาณนิทเทส               
               [๑๔๓] พึงทราบวินิจฉัยในมรรคญาณนิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิยา วุฏฺฐาติ - ออกจากมิจฉาทิฏฐิ คือออกจากมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ด้วยสมุจเฉทโดยการละทิฏฐานุสัยคือทิฏฐิที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน.
               บทว่า ตทนุวตฺตกกิเลเสหิ - จากกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้น ได้แก่ จากกิเลสหลายๆ อย่างที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐิอันเกิดขึ้นด้วยสามารถการประกอบกับมิจฉาทิฏฐิ และด้วยอุปนิสัยคือการนอนเนื่องในมิจฉาทิฏฐิ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงการละกิเลสอันตั้งอยู่ในที่เดียวกันกับมิจฉาทิฏฐินั้น.
               จริงอยู่ การตั้งอยู่ในที่เดียวกันมี ๒ อย่าง คือ ตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยเกิดร่วมกัน และตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยการละ.
               ชื่อว่า ตเทกฏฺฐา เพราะอรรถว่าตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวพร้อมกับทิฏฐินั้น, หรือบุคคลคนเดียวตลอดจนละได้. เพราะว่าเมื่อละทิฏฐิได้กิเลสเหล่านี้ คือโลภะ โมหะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อันเกิดร่วมกันกับทิฏฐินั้น ในจิตอันเป็นอสังขาริกะ ๒ ดวงสัมปยุตด้วยทิฏฐิ, กิเลสเหล่านี้ คือโลภะ โมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อันเกิดร่วมกันกับทิฏฐินั้น ในจิตที่เป็นสสังขาริกะ ๒ ดวง ย่อมละได้ด้วยการตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยเกิดร่วมกัน.
               เมื่อละกิเลสคือทิฏฐิได้ เมื่อบุคคลคนหนึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐินั้น กิเลสเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อันจะเป็นเหตุไปสู่อบาย ย่อมละได้ด้วยสามารถการตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยเกิดร่วมกัน.
               บทว่า ขนฺเธหิ ได้แก่ ด้วยขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปตามทิฏฐินั้น, ด้วยอรูปขันธ์ ๔ อันตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยเกิดร่วมกัน และด้วยการตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยการละอันเป็นไปตามทิฏฐินั้น, หรือด้วยขันธ์ ๕ พร้อมกับรูปอันมีทิฏฐินั้นเป็นสมุฏฐาน, ด้วยวิบากขันธ์อันเกิดขึ้นในอนาคต เพราะกิเลสมีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเป็นปัจจัย.
               บทว่า พหิทฺธา จ สพฺพนิมิตฺเตหิ - จากสรรพนิมิตภายนอก ได้แก่ จากสังขารนิมิตทั้งปวงอันเป็นภายนอกจากกองกิเลสตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า มิจฺฉาสงฺกปฺปา วุฏฺฐาติ - ออกจากมิจฉาสังกัปปะ คือออกจากมิจฉาสังกัปปะในจิต ๕ ดวง คือ ในจิต ๔ ดวงอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิ และในจิตสหรคตด้วยวิจิกิจฉาอันจะพึงละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค และในอกุศลจิตที่เหลืออันเป็นเหตุไปสู่อบาย.
               บทว่า มิจฺฉาวาจาย วุฏฺฐาติ - ออกจากมิจฉาวาจา ได้แก่ ออกจากมุสาวาทและจากปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อันเป็นเหตุไปสู่อบาย.
               บทว่า มิจฺฉากมฺมนฺตา วุฏฺฐาติ - ออกจากมิจฉากัมมันตะ ได้แก่ ออกจากปาณาติบาต อทินนาทานและมิจฉาจาร.
               บทว่า มิจฺฉาอาชีวา วุฏฺฐาติ - ออกจากมิจฉาอาชีวะ ได้แก่ โกหก หลอกลวง ทายลักษณะ เล่นกล ปรารถนาลาภโดยลาภ.
               อีกอย่างหนึ่ง ออกจากกายกรรม วจีกรรม แม้ ๗ อย่าง มีอาชีวะเป็นเหตุ.
               พึงทราบการออกจากมิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ โดยนัยกล่าวแล้วในการออกจากมิจฉาสังกัปปะ.
               อนึ่ง บทว่า มิจฺฉาสติ ได้แก่ เพียงอกุศลจิตตุปบาทเท่านั้นอันเกิดด้วยอาการตรงกันข้ามกับสติ.
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งมรรคเบื้องสูงดังต่อไปนี้.
               องค์ของมรรค ๘ มีอาทิว่า ทสฺสนฏฺเฐน สมฺมาทิฏฺฐิ ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็น ย่อมได้เหมือนอย่างได้ในปฐมมรรคอันเกิดในปฐมฌาน.
               ในบทเหล่านั้นมีอธิบายดังนี้ สัมมาทิฏฐิในปฐมมรรค ย่อมละมิจฉาทิฏฐิ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็พึงทราบโดยอรรถ คือการละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น.
               เมื่อเป็นอย่างนั้นเพราะละทิฏฐิ ๖๒ ได้ ในปฐมมรรคนั่นเอง จึงไม่มีทิฏฐิที่ควรละด้วยมรรค ๓ เบื้องสูง
               ในทิฏฐิเหล่านั้นชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร?
               เหมือนยาพิษมีอยู่ หรือจงอย่ามี ยาวิเศษท่านก็คงเรียกว่า อคโท อยู่นั่นเองฉันใด, มิจฉาทิฏฐิมีอยู่ หรือจงอย่ามี นี้ก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิฉันนั้นนั่นแล. นี้เป็นเพียงชื่อต่างกันเท่านั้น, แต่ความไม่มีกิจแห่งสัมมาทิฏฐิย่อมถึงได้ใน ๓ มรรคเบื้องสูง องค์มรรคก็ไม่บริบูรณ์.
               เพราะฉะนั้น พึงทำสัมมาทิฏฐิพร้อมด้วยกิจ องค์มรรคจึงจะบริบูรณ์. พึงแสดงสัมมาทิฏฐิในที่นี้พร้อมด้วยกิจ โดยกำหนดตามมีตามได้. มานะอย่างหนึ่ง อันฆ่าด้วยมรรคที่ ๓ เบื้องสูงยังมีอยู่, มานะนั้นตั้งอยู่ในฐานะของทิฏฐิ, ทิฏฐินั้นย่อมละมานะนั้นได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ.
               จริงอยู่ สัมมาทิฏฐิย่อมละมิจฉาทิฏฐิได้ในโสดาปัตติมรรค. แต่มานะที่ฆ่าด้วยสกทาคามิมรรคมีอยู่แก่พระโสดาบัน, ทิฏฐินั้นย่อมละมานะนั้นได้ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ.
               ความดำริเกิดพร้อมกับอกุศลจิต ๗ ดวง มีอยู่แก่จิตดวงนั้น, ความวุ่นวายทางองค์ของวาจาย่อมมีอยู่ด้วยจิตเหล่านั้น, ความวุ่นวายทางองค์ของกายมีอยู่, การบริโภคปัจจัยมีอยู่, ความพยายามเกิดร่วมกันมีอยู่, ความเป็นผู้ไม่มีสติมีอยู่, ความที่จิตมีอารมณ์เดียวเกิดร่วมกันมีอยู่, เหล่านี้ชื่อว่ามิจฉาสังกัปปะเป็นต้น.
               พึงทราบว่า สัมมาสังกัปปะเป็นต้นในสกทาคามิมรรค ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ เพราะละมิจฉาสังกัปปะเหล่านั้นเสียได้. องค์ ๘ พร้อมด้วยกิจย่อมมีได้ในสกทาคามิมรรคด้วยอาการอย่างนี้. มานะที่ฆ่าได้ด้วยอนาคามิมรรค ย่อมมีแก่พระสกทาคามี, มานะนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งทิฏฐิ. สังกัปปะเป็นต้นเกิดร่วมกันกับจิต ๗ ดวงมีอยู่แก่พระสกทาคามีนั้น.
               พึงทราบความที่องค์ ๘ พร้อมด้วยกิจมีอยู่ ในอนาคามิมรรคด้วยการละจิตเหล่านั้น. มานะที่ฆ่าด้วยอรหัตมรรค ย่อมมีอยู่แก่พระอนาคามี, มานะนั้นตั้งอยู่ในฐานะแห่งทิฏฐิ. สังกัปปะเป็นต้นเกิดร่วมกันกับอกุศลจิต ๕ ดวงเหล่านั้นย่อมมีแก่มานะนั้น. พึงทราบความที่องค์ ๘ พร้อมด้วยกิจในอรหัตมรรค ด้วยการละอกุศลจิตเหล่านั้น.
               [๑๔๔] บทว่า โอฬาริกา คือ เป็นส่วนหยาบ เพราะความเป็นปัจจัยแห่งการก้าวล่วงกายทวารและวจีทวาร.
               บทว่า กามราคสญฺโญชนา คือ สังโยชน์กล่าวคือความยินดีในเมถุน. เพราะกามราคะนั้นย่อมประกอบสัตว์ไว้ในกามภพ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวสัญโญชนะ.
               บทว่า ปฏิฆสญฺโญชนา ได้แก่ สังโยชน์คือพยาบาท, เพราะพยาบาทนั้นย่อมเบียดเบียนอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าปฏิฆะ. สังโยชน์เหล่านั้นย่อมนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถว่ารุนแรง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอนุสยา.
               [๑๔๕] บทว่า อณุสหคตา ได้แก่ ส่วนละเอียดๆ.
               สหคตศัพท์ ในบทนี้ลงในความเป็นอย่างนั้น.
               จริงอยู่ กามราคะและพยาบาทของพระสกทาคามี มีเป็นส่วนน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะเกิดน้อย และเพราะครอบงำไว้ในที่นี้น้อย. กิเลสทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ เหมือนกิเลสของพาลปุถุชน, ย่อมเกิดเป็นบางครั้งบางคราว. เมื่อเกิดย่อมไม่เกิดย่ำยี ซ่านไปปกปิดทำให้มืดมิดเหมือนของคนพาล. แต่เกิดขึ้นอ่อนๆ มีอาการเบาบาง เพราะละได้ด้วยมรรค ๒, ไม่สามารถให้ถึงการก้าวล่วงไปได้. ละกิเลสเบาบางได้ด้วยอนาคามิมรรค.
               [๑๔๖] บทว่า รูปราคา ได้แก่ ความพอใจยินดีในรูปภพ,
               บทว่า อรูปราคา ความพอใจยินดีในอรูปภพ.
               บทว่า มานา ได้แก่ มีลักษณะยกตน.
               บทว่า อุทฺธจฺจา - มีลักษณะไม่สงบ.
               บทว่า อวิชฺชาย - มีลักษณะบอด.
               บทว่า ภวราคานุสยา ได้แก่ นอนเนื่องอยู่ในภวราคะอันเป็นไปด้วยรูปราคะและอรูปราคะ.
               [๑๔๗] บัดนี้ พระสารีบุตรเมื่อจะพรรณนาถึงมรรคญาณ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า อชาตํ ฌาเปติ ดังนี้.
               ในบทนั้น หลายบทว่า อชาตํ ฌาเปติ ชาเตน, ฌานํ เตน ปวุจฺจติ - ย่อมเผากิเลสที่ยังไม่เกิด ด้วยโลกุตฌานที่เกิดแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นฌาน.
               ความว่า สมังคีบุคคลย่อมเผาคือทำลาย ตัดกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่เกิดด้วยโลกุตรฌานนั้นๆ อันปรากฏในสันดานของตน, ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวโลกุตระนั้นว่าเป็นฌาน.
               บทว่า ฌานวิโมกเข กุสลตา - เพราะความเป็นผู้ฉลาดในฌานและวิโมกข์.
               ความว่า สมังคีบุคคลย่อมไม่หวั่นไหวในทิฏฐิต่างๆ ที่ละได้แล้วด้วยปฐมมรรค เพราะความเป็นผู้ฉลาดในฌานมีวิตกเป็นต้น อันสัมปยุตด้วยอริยมรรคนั้น และในอริยมรรคอันได้แก่วิโมกข์ด้วยความไม่ลุ่มหลง.
               ชื่อว่าฌานมี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน ๑ ลักขณูปนิชฌาน ๑.
               ฌานมีโลกิยปฐมฌานเป็นต้น ชื่อว่าฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งอารมณ์มีกสิณเป็นต้น. วิปัสสนาสังขารชื่อว่าฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งลักษณะอันเป็นสภาวสามัญ, โลกุตระชื่อว่าฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งลักษณะที่จริงแท้ในนิพพาน.
               แต่ในที่นี้ท่านกล่าวถึงฌานทั่วไป แม้ด้วยโคตรภูว่าฌาน เพราะอรรถว่าไม่แตะต้องสภาพอันเป็นลักขณูปนิชฌาน แล้วเผากิเลสโดยไม่ทั่วไป.
               อนึ่ง ในที่นี้สภาพแห่งวิโมกข์เป็นสภาพน้อมไปด้วยดีในอารมณ์คือนิพพาน และสภาพอันพ้นด้วยดีจากกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า สมาหิตฺวา ยถา เจ ปสฺสติ - ถ้าพระโยคาวจรตั้งใจมั่นดีแล้ว ย่อมเห็นแจ้งฉันใด.
               ความว่า พระโยคาวจรทำความตั้งจิตมั่นก่อนด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิและขณิกสมาธิ แล้วเห็นแจ้งในภายหลัง.
               เจศัพท์เป็นสมุจจยัตถะ - มีอรรถว่ารวบรวม ย่อมรวบรวมวิปัสสนา.
               บทว่า วิปสฺสมาโน ตถา เจ สมาทเย - ถ้าเมื่อเห็นแจ้งก็พึงตั้งใจไว้ให้มั่นคงฉันนั้น.
               ความว่า ชื่อว่าวิปัสสนานี้ เป็นวิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่มีความพอใจ
               อนึ่ง ชื่อว่าสมถะเป็นสมถะที่ละเอียดมีความพอใจ, เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นแจ้ง พึงตั้งจิตอันเศร้าหมองด้วยวิปัสสนานั้นเพื่อความเยื่อใย.
               อธิบายว่า พระโยคาวจรเมื่อเห็นแจ้งเข้าสมาธิอีก แล้วพึงทำการตั้งใจเหมือนอย่างกระทำวิปัสสนา.
               เจ ศัพท์ในที่นี้ย่อมรวบรวมการตั้งมั่นไว้.
               เจ อักษรท่านทำด้วยการเป็นไปตามคาถาประพันธ์, แต่ความก็คือ อักษรนั่นเอง.
               บทว่า วิปสฺสนาจ สมโถ ตทา อหุ - สมถะและวิปัสสนาได้มีแล้วในขณะนั้น.
               ความว่า เพราะเมื่อสมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมคู่กัน ความปรากฏแห่งอริยมรรคย่อมมี, ฉะนั้น การประกอบธรรมทั้ง ๒ นั้น ในกาลใดย่อมมีเพราะสามารถยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น, ในกาลนั้นวิปัสสนาและสมถะได้มีแล้ว, สมถะและวิปัสสนาชื่อว่าเกิดแล้ว.
               อนึ่ง สมถะและวิปัสสนานั้นย่อมเป็นคู่ที่มีส่วนเสมอกันเป็นไปอยู่ ชื่อว่าสมานภาคา เพราะอรรถว่าสมถะและวิปัสสนามีส่วนเสมอกัน. ชื่อว่ายุคนัทธา เพราะดุจเทียมคู่กัน.
               อธิบายว่า มีธุระเสมอกัน มีกำลังเสมอกัน ด้วยอรรถว่าไม่ก้าวล่วงกันและกัน.
               ส่วนความพิสดารของบทนั้นจักมีแจ้งในยุคนัทธกถา.
               หลายบทว่า ทุกฺขา สงฺขารา, สุโข นิโรโธติ ทสฺสนํ, ทุภโต วุฏฺฐิตา ปญฺญา ผสฺเสติ อมตํ ปทํ - ความเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ นิโรธเป็นสุข ชื่อว่าปัญญาที่ออกจากธรรมทั้งสอง ย่อมถูกต้องอมตบท.
               ความว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ นิโรธ คือนิพพานเป็นสุข เพราะเหตุนั้นการเห็นนิพพาน อริยมรรคญาณของผู้ปฏิบัติ ชื่อว่าปัญญาออกจากธรรมทั้ง ๒ นั้น. ปัญญานั้นนั่นแลย่อมถูกต้อง คือย่อมได้อมตบทคือนิพพาน ด้วยถูกต้องอารมณ์.
               นิพพานชื่อว่า อมตํ เพราะเป็นเช่นกับอมตะด้วยอรรถว่าไม่เดือดร้อน.
               ชื่อว่า อมตํ เพราะนิพพานนั้นไม่มีความตาย ความเสื่อม,
               ท่านกล่าวว่า ปทํ เพราะอรรถว่าย่อมปฏิบัติด้วยปฏิปทาใหญ่ ด้วยความอุตสาหะใหญ่ตั้งแต่ส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า วิโมกฺขจริยํ ชานาติ - ย่อมรู้วิโมกขจริยา คือรู้ความเป็นไปแห่งวิโมกข์ ด้วยความไม่ลุ่มหลง, ย่อมรู้ด้วยการพิจารณา.
               พึงทราบวิโมกขจริยาอันมาแล้วในวิโมกขกถาข้างหน้าว่า
               อริยมรรค ๔ เป็นทุภโตวุฐานวิโมกข์, วิโมกข์ ๔ ออกแต่ทุภโต คือธรรม ๒ วิโมกข์ ๔ อนุโลม แต่ทุภโตวิโมกข์, วิโมกข์ ๔ สงบจากทุภโตวุฏฐานวิโมกข์.
               ความพิสดารของวิโมกข์เหล่านั้นมาแล้ว ในวิโมกขกถา๑- นั่นเอง.
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๗๐-๔๗๓

               บทว่า นานตฺเตกตฺถ โกวิโท - พระโยคาวจรผู้ฉลาดในความเป็นต่างกันและความเป็นอันเดียวกัน คือ เป็นผู้ฉลาดในความต่างและความเป็นอันเดียวกันของวิโมกข์เหล่านั้น. พึงทราบความเป็นอันเดียวกันแห่งวิโมกข์เหล่านั้นด้วยสามารถแห่งวิโมกข์ คือการออกจากธรรมทั้ง ๒ อย่าง, ความต่างกันด้วยสามารถอริยมรรค ๔, หรือความต่างกันด้วยปรารถนาแห่งอนุปัสนาของอริยมรรค แม้อย่างหนึ่งๆ, ความเป็นอันเดียวกันด้วยความเป็นอริยมรรค.
               บทว่า ทวินฺนํ ญาณานํ กุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในญาณทั้ง ๒ ได้แก่ ความเป็นผู้ฉลาดในญาณทั้ง ๒ เหล่านี้ คือ ทัสนะและภาวนา.
               บทว่า ทสฺสนํ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค. เพราะว่า โสดาปัตติมรรคนั้น ท่านกล่าวว่า ทสฺสนํ - ทัสนะ เพราะเห็นนิพพานก่อน.
               ส่วนโคตรภูญาณย่อมเห็นนิพพานก่อนกว่าก็จริง ถึงดังนั้นท่านไม่เรียกว่าทัสนะ- เห็น เพราะไม่มีการละกิเลสที่ควรทำ.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มาสู่สำนักของพระราชาด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้เห็นพระราชาผู้ประทับบนคอช้างเสด็จมาตามถนนแต่ที่ไกลเทียว ถูกเขาถามว่า ท่านเฝ้าพระราชาแล้วหรือ แม้เห็นแล้วก็กล่าวว่า ข้าพเจ้ายังมิได้เฝ้า เพราะความที่กิจอันบุคคลพึงกระทำตนยังมิได้กระทำฉะนั้น.
               จริงอยู่ โคตรภูญาณนั้นตั้งอยู่ในที่อาวัชชนะ คือการนึกถึงมรรค.
               บทว่า ภาวนา ได้แก่ มรรค ๓ ที่เหลือ. เพราะมรรค ๓ ที่เหลือนั้นย่อมเกิดขึ้น ด้วยสามารถภาวนาในธรรมที่เห็นแล้วด้วยปฐมมรรคนั่นเอง, ไม่เห็นอะไรๆ ที่ไม่เคยเห็น, ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทสฺสนํ. แต่ภายหลังท่านไม่กล่าวว่า ทวินฺนํ ญาณานํ - แห่งญาณ ๒ อย่าง เพราะภาวนามรรคยังไม่เสร็จ แล้วกล่าวว่า ฌานวิโมกฺเข กุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในฌานและวิโมกข์ หมายถึงผู้ได้โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค.
               แต่พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า ทวินฺนํ ญาณานํ กุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในญาณ ๒ อย่าง เพราะภาวนามรรคของผู้ได้อรหัตมรรคเสร็จแล้ว.

               จบอรรถกถามรรคญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มรรคญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 136อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 143อ่านอรรถกถา 31 / 148อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1646&Z=1697
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6611
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6611
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :