ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
อภิญเญยยนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               อรรถกถาสัตตกนิทเทส               
               ว่าด้วยนิททสะ ๗               
               ในคำว่า สตฺต นิทฺทสวตฺถูนิ นี้มีความว่า ทสะ แปลว่า ๑๐ ไม่มีแก่ผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่านิททสะ, วัตถุคือเหตุแห่งนิททสะคือความเป็นแห่งนิททสะ ชื่อว่านิททสวัตถุ.
               จริงอยู่ พระขีณาสพปรินิพพานในกาลที่มีพรรษา ๑๐ ก็ไม่ชื่อว่ามีพรรษา ๑๐ อีก เพราะไม่มีปฏิสนธิอีกต่อไป ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่านิททสะ ไม่มีพรรษา ๑๐. และไม่มีพรรษา ๑๐ อย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ แม้พรรษา ๙ ก็ไม่มี ฯลฯ แม้กาลสักว่าครู่เดียวก็ยังไม่มี. พระขีณาสพปรินิพพานในกาลที่มีพรรษา ๑๐ เท่านั้นก็หาไม่ แม้ปรินิพพานในกาลที่มีพรรษา ๗ ก็ไม่ชื่อว่ามีพรรษา ๗ ไม่มีพรรษา ๑๐ ไม่มีกาลแม้สักครู่เดียว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อยกเอาโวหารอันเกิดในลัทธิเดียรถีย์มาไว้ในพระศาสนา แล้วทรงแสดงความไม่มีแห่งพระขีณาสพผู้เช่นนั้นในลัทธิเดียรถีย์นั้น และความมีอยู่แห่งพระขีณาสพผู้เช่นนั้นในศาสนานี้ จึงตรัสเหตุแห่งความมีอยู่แห่งพระขีณาสพผู้เช่นนั้นว่า สตฺต นิทฺทสวตฺถูนิ - วัตถุแห่งนิททสะ ๗.
               ดุจดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้.
               ๗ ประการเป็นไฉน? คือ
                         ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
               เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานสิกขา
               และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศจากไปในการสมาทาน
               สิกขา.
                         ๒. เป็นผู้ได้ความยินดีอย่างแรงกล้าในการ
               ใคร่ครวญธรรม และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศจาก
               ไปในการใคร่ครวญธรรมต่อไป.
                         ๓. เป็นผู้ยินดีอย่างแรงกล้าในการกำจัดความ
               อยาก และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศจากไปในการ
               กำจัดความอยากต่อไป.
                         ๔. เป็นผู้มีความยินดีอย่างแรงกล้าในการหลีก-
               เร้น และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศจากไปในการหลีก
               เร้นต่อไป.
                         ๕. เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้าในการเริ่ม
               ความเพียร และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศจากไปใน
               การเริ่มความเพียรต่อไป.
                         ๖. เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้าในความ
               เป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตัว และเป็นผู้มี
               ความรักอันไม่ปราศจากไปในความเป็นผู้มีสติปัญญา
               เป็นเครื่องรักษาตัวต่อไป.
                         ๗. เป็นผู้มีความพอใจอย่างแรงกล้าในการ
               แทงตลอดด้วยทิฏฐิ และเป็นผู้มีความรักอันไม่ปราศ-
               จากไปในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ ๗ ประการ
               นี้แล.๑-
____________________________
๑- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๘

               แม้พระเถระครั้นยกเทศนาอย่างนั้นขึ้นกล่าวว่า สตฺต นิทฺทสวตฺถูนิ - นิททสวัตถุ ๗ ดังนี้.

               อรรถกถาอัฏฐกนิทเทส               
               ว่าด้วยอภิภายตนะ ๘               
               ในคำว่า อฏฺฐ อภิภายตนานิ - อภิภายตนะ ๘ นี้มีความว่า อายตนะทั้งหลายครอบงำฌานเหล่านั้น ฉะนั้น ฌานเหล่านั้นจึงชื่อว่าอภิภายตนะ.
               คำว่า อายตนานิ ความว่า ฌานมีกสิณเป็นอารมณ์กล่าวคืออายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งอันยิ่ง.
               อธิบายว่า ก็บุคคลผู้มีญาณอันยิ่ง ผู้มีญาณแกล้วกล้าคิดว่า อันเราพึงเข้าในอารมณ์นี้ เพราะเหตุไร? ภาระในการทำจิตให้เป็นเอกัคคตา ไม่มีแก่เราดังนี้ แล้วครอบงำอารมณ์เหล่านั้นเสียเข้าสมาบัติ, ยังอัปปนาให้เกิดขึ้นในอารมณ์นี้ พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งนิมิต. ฌานที่ให้เกิดขึ้นโดยประการอย่างนี้ ท่านเรียกว่าอภิภายตนะ.
               อภิภายตนะ ๘ เป็นไฉน?#-
                         ๑. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกเล็กน้อย มีวรรณะดีและทราม ครอบงำรูปเหล่า
               นั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น, นี้เป็น
               อภิภายตนะที่ ๑.
                         ๒. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกไม่มีประมาณ มีวรรณะดีและทราม ครอบงำ
               รูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น,
               นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๒.
                         ๓. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกเล็กน้อย มีวรรณะดีและทราม ครอบงำรูป
               เหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น,
               นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๓.
                         ๔. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกไม่มีประมาณ มีวรรณะดีและทราม ครอบงำ
               รูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น,
               นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๔.
                         ๕. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรังสีเขียว,
               ดอกผักตบอันเขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรังสีเขียว,
               หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยง
               เขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรังสีเขียวแม้ฉันใด, ผู้
               หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอัน
               เขียว มีวรรณะเขียว เขียวล้วน มีรังสีเขียวฉันนั้นเหมือน
               กัน ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ เรารู้
               เราเห็น, นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๕.
                         ๖. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน มีรังสี
               เหลือง, ดอกกรรณิกาอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลือง
               ล้วน มีรังสีเหลือง, หรือว่าผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี
               มีส่วนทั้งสองเกลี้ยงเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลืองล้วน
               มีรังสีเหลืองแม้ฉันใด, ผู้ใดมีความสำคัญในอรูปภาย
               ใน เห็นรูปภายนอกอันเหลือง มีวรรณะเหลือง เหลือง
               ล้วน มีรังสีเหลืองฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่า
               นั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น, นี้เป็น
               อภิภายตนะที่ ๖.
                         ๗. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกอันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรังสีแดง,
               ดอกหงอนไก่อันแดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรังสีแดง,
               หรือว่า ผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยง
               แดง มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรังสีแดงแม้ฉันใด, ผู้หนึ่ง
               มีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันแดง
               มีวรรณะแดง แดงล้วน มีรังสีแดง ฉันนั้นเหมือนกัน
               ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้
               เราเห็น, นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๗.
                         ๘. ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูป
               ภายนอกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรังสีขาว, ดาว
               ประกายพรึกอันขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรังสีขาว,
               หรือว่า ผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี มีส่วนทั้งสองเกลี้ยง
               ขาว มีวรรณะขาว ขาวล้วน มีรังสีขาว แม้ฉันใด, ผู้หนึ่ง
               มีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกอันขาว มี
               วรรณะขาว ขาวล้วน มีรังสีขาวฉันนั้นเหมือนกัน ครอบ
               งำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่าเรารู้ เราเห็น,
               นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๘.#-
____________________________
#- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๔๙

               อรรถกถานวกนิทเทส               
               ว่าด้วยอนุปุพพวิหารธรรม ๙               
               คำว่า นว อนุปุพฺพวิหารา - อนุปุพพวิหาร ๙ มีความว่า ภายหลังแห่งธรรมมีในก่อนๆ ชื่อว่าอนุปุพพะ - ตามลำดับ, วิหาระ - ธรรมเป็นเครื่องอยู่ตามลำดับ ชื่อว่าอนุปุพพวิหาระ เพราะเป็นธรรมอันพระโยคีบุคคลพึงอยู่คือพึงเข้าอยู่ตามลำดับ.
               อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันพระโยคีบุคคลพึงเข้าอยู่ตามลำดับ.
               อนุปุพพวิหารธรรม ๙ เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
               เข้าปฐมฌาน สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย มีวิตกวิจาร
               มีปีติสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่
                         ๒. ภิกษุ เพราะระงับวิตกวิจารเสียได้ ก็เข้า
               ทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งใจในภายใน มี
               อารมณ์เป็นเอโกทิภาพ - ความที่จิตมีอารมณ์เดียว
               ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่.
                         ๓. ภิกษุเข้าตติยฌานอันปราศจากปีติอยู่
               ด้วยอุเบกขา, สติ, สัมปชัญญะเสวยสุขทางกายซึ่ง
               พระอริยะทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้มีอุเบกขา, มีสติ,
               มีธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขดังนี้.
                         ๔. ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์ดับโสมนัส
               โทมนัสในก่อนเสียได้ จึงเข้าจตุตถฌานอันไม่มี
               ทุกข์และสุข บริสุทธิด้วยอุเบกขาและสติอยู่.
                         ๕. ภิกษุ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆ-
               สัญญา ไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาได้โดยประการทั้ง
               ปวง จึงเข้าอากาสานัญจายตนะด้วยบริกรรมว่า
               อนนฺโต อากาโส - อากาสไม่มีที่สุดอยู่.
                         ๖. ภิกษุ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะเสียได้
               โดยประการทั้งปวง จึงเข้าวิญญาณัญจายตนะด้วย
               บริกรรมว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ - วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่.
                         ๗. ภิกษุ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะเสียได้
               โดยประการทั้งปวง จึงเข้าอากิญจัญญายตนะด้วย
               บริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ - นิดหนึ่งหน่อยหนึ่งไม่มีอยู่.
                         ๘. ภิกษุ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะเสียได้
               โดยประการทั้งปวง จึงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
               อยู่
                         ๙. ภิกษุ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ
               เสียได้โดยประการทั้งปวง จึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
               อยู่๑- ดังนี้.
____________________________
๑- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๓๗

               อรรถกถาทสกนิทเทส               
               ว่าด้วยนิชชรวัตถุ ๑๐               
               คำว่า ทส นิชฺชรวตฺถูนิ - นิชชรวัตถุ ๑๐ ความว่า มิจฉาทิฏฐิเป็นต้น ย่อมเสื่อมลง ย่อมสลายไป ฉะนั้นจึงชื่อว่า นิชชระ.
               คำว่า วตฺถูนิ - วัตถุทั้งหลาย ได้แก่เหตุ. วัตถุคือเหตุนั้นด้วยเสื่อมลงด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า นิชชรวัตถุ. นิชชรวัตถุนี้ เป็นชื่อของกุศลธรรมมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น.
               นิชชรวัตถุ ๑๐ เป็นไฉน?
               นิชชรวัตถุ ๑๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า๑-
                         ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิของผู้มี
               สัมมาทิฏฐิ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามก
               เป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อม
               เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มี
               สัมมาทิฏฐินั้นก็ย่อมเสื่อมลงด้วย และกุศลธรรม
               เป็นอเนกมีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่ง
               ความเจริญเต็มที่.
                         ๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาสังกัปปะของ
               ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอัน
               ลามกเป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัย
               ย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มี
               สัมมาสังกัปปะนั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศล
               ธรรมเป็นอเนกมีสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัยก็ย่อม
               ถึงซึ่งความเจริญเต็มที่.
                         ๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาวาจาของผู้มี
               สัมมาวาจา ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามกเป็น
               อเนกเหล่าใด มีมิจฉาวาจาเป็นปัจจัย ย่อมเกิดขึ้น
               อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มีสัมมาวาจานั้น
               ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรมอันเป็นอเนกมี
               สัมมาวาจาเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่งความเจริญเต็มที่.
                         ๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉากัมมันตะของผู้
               มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามก
               เป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉากัมมันตะเป็นปัจจัยย่อม
               เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มีสัมมา
               กัมมันตะนั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรม
               เป็นอเนกมีสัมมากัมมันตะเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่ง
               ความเจริญเต็มที่.
                         ๕. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาอาชีวะของผู้มี
               สัมมาอาชีวะ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามกเป็น
               อเนกเหล่าใด มีมิจฉาอาชีวะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดขึ้น
               อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มีสัมมาอาชีวะนั้น
               ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรมเป็นอเนกมีสัมมา
               อาชีวะเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่งความเจริญเต็มที่.
                         ๖. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาวายามะของ
               ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอัน
               ลามกเป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาวายามะเป็นปัจจัย
               ย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มี
               สัมมาวายามะนั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศล-
               ธรรมเป็นอเนกมีสัมมาวายามะเป็นปัจจัย ก็ย่อม
               ถึงซึ่งความเจริญเต็มที่.
                         ๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาสติของผู้มี
               สัมมาสติ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามกเป็น
               อเนกมีมิจฉาสติเป็นปัจจัย ย่อมเกิดขึ้น อกุศล-
               ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ของผู้มีสัมมาสตินั้น ก็
               ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรมเป็นอเนกมีสัม-
               มาสติเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่งความเจริญเต็มที่.
                         ๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาสมาธิของผู้
               มีสัมมาสมาธิ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามก
               เป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาสมาธิเป็นปัจจัย ย่อม
               เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มีสัม-
               มาสมาธินั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรม
               เป็นอเนกมีสัมมาสมาธิเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่ง
               ความเจริญเต็มที่.
                         ๙. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาญาณของผู้มี
               สัมมาญาณ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามก
               เป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาญาณเป็นปัจจัย ย่อม
               เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นของผู้มีสัมมา-
               ญาณนั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศลธรรมเป็น
               อเนกมีสัมมาญาณเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึงซึ่งความ
               เจริญเต็มที่.
                         ๑๐. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาวิมุตติของผู้
               มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเสื่อมลง, อกุศลธรรมอันลามก
               เป็นอเนกเหล่าใด มีมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย ย่อม
               เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ของผู้มี
               สัมมาวิมุตตินั้น ก็ย่อมเสื่อมลงด้วย, และกุศล-
               ธรรมเป็นอเนกมีสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย ก็ย่อมถึง
               ซึ่งความเจริญเต็มที่.๑-
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๐๖

               อรรถกถาจักขาทินิทเทส               
               ว่าด้วยจักษุเป็นต้น               
               [๓] คำมีอาทิว่า สพฺพํ ภิกฺขเว อภิญฺเญยฺยํ - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงควรรู้ยิ่งดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พึงทราบว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรนำมาแสดงแล้วในที่นี้.
                อักษรในคำว่า กิญฺจํ เป็นนิบาตสักว่าทำบทให้เต็ม.
               วิสัชนา ๓๐ มี จกฺขุ เป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงแยกเป็นอย่างละ ๕ๆ ในทวารหนึ่งๆ ในทั้ง ๖ ตามลำดับแห่งความเป็นไปแห่งทวารและอารมณ์.
               ในคำนั้น จักษุมี ๒ อย่าง คือ มังสจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑.
               ในจักษุทั้ง ๒ นั้น ปัญญาจักษุมี ๕ อย่าง คือ พุทธจักษุ ๑, สมันตจักษุ ๑, ญาณจักษุ ๑, ทิพยจักษุ ๑, ธรรมจักษุ ๑.
               คำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อตรวจดูสัตวโลก ได้เห็นแล้วแลด้วยพุทธจักษุ๑- ดังนี้ ชื่อว่าพุทธจักษุ.
               คำนี้ว่า สัพพัญญุตญาณ เรียกว่าสมันตจักษุ๒- ดังนี้ ชื่อว่าสมันตจักษุ.
               คำนี้ว่า ดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว๓- ดังนี้ ชื่อว่าญาณจักษุ.
               คำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ เราได้เห็นแล้วแล ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ๔- ดังนี้ ชื่อว่าทิพยจักษุ.
               มรรคญาณเบื้องต่ำ ๓ นี้มาในคำว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ไม่มีมลทิน เกิดขึ้นแล้ว๕- ดังนี้ ชื่อว่าธรรมจักษุ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๓  ๒- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๒๑๖ เล่ม ๓๐/ข้อ ๒๔๕
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๖๖  ๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๔
๕- ม. มู. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๙๙

               ฝ่ายมังสจักษุ มี ๒ อย่าง คือ สสัมภารจักษุ ๑, ปสาทจักษุ ๑.
               ก้อนเนื้ออันใดตั้งอยู่ที่เบ้าตา พร้อมด้วยหนังหุ้มลูกตาภายนอกทั้ง ๒ ข้าง เบื้องต่ำกำหนดด้วยกระดูกเบ้าตา เบื้องบนกำหนดด้วยกระดูกคิ้ว ผูกด้วยเส้นเอ็นอันออกจากท่ามกลางเบ้าตาโยงติดไปถึงสมองศีรษะ วิจิตรด้วยมณฑลแห่งตาดำล้อมรอบด้วยตาขาว ก้อนเนื้อนี้ชื่อว่าสสัมภารจักษุ.
               ส่วนความใสอันใดเกี่ยวในสสัมภารจักษุนี้ เนื่องในสสัมภารจักษุนี้ อาศัยมหาภูตรูป ๔ มีอยู่, ความใสนี้ ชื่อว่าปสาทจักษุ.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาปสาทจักษุ นี้.
               ปสาทจักษุนี้นั้น โดยประมาณก็สักเท่าศีรษะเล็นอาศัยธาตุทั้ง ๔ อาบเยื่อตาทั้ง ๗ ชั้น ดุจน้ำมันที่ราดลงที่ปุยนุ่น ๗ ชั้น อาบปุยนุ่นทุกชั้นอยู่ฉะนั้น ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถีมีจักขุวิญญาณจิตเป็นต้น ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง เป็นที่เกิดขึ้นแห่งสรีรสัณฐาน ที่อยู่ตรงหน้าในท่ามกลางแววตาดำที่แวดล้อมด้วยมณฑลตาขาว แห่งสสัมภารจักษุนั้น.
               ธรรมชาติใดย่อมเห็น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจักษุ. อธิบายว่า จักษุนั้นย่อมยินดีรูป และทำให้รูปปรากฏแจ่มแจ้งได้.
               ธรรมชาติใดย่อมแตกสลายไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ารูป. อธิบายว่า รูปนั้น เมื่อถึงความแปรไปแห่งวรรณะ ย่อมประกาศความถึงหทัย.
               วิญญาณเป็นไปทางจักษุ หรือการรู้รูปารมณ์ของจักษุ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ.
               ชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง. ท่านกล่าวว่าสัมผัสสะ เพราะประดับบทด้วยอุปสรรค. สัมผัสที่เป็นไปทางจักษุ ชื่อว่าจักขุสัมผัส.
               คำว่า จกฺขุสมฺผสฺสปจฺจยา ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณเป็นปัจจัย.
               คำว่า เวทยิตํ ได้แก่ รับรู้อารมณ์ อธิบายว่า การเสวยอารมณ์.
               ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้นนั่นแหละ ย่อมเป็นสุข ฉะนั้นจึงชื่อว่าสุขะ.
               อธิบายว่า สุขะนั้นเกิดแก่ผู้ใด ก็ย่อมทำผู้นั้นให้ถึงซึ่งความสุข.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมเคี้ยวกินและขุดเสียได้ด้วยดีซึ่งอาพาธทางกายและจิต ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสุขะ.
               ธรรมชาติใดย่อมเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าทุกขะ.
               อธิบายว่า ทุกข์นั้นเกิดแก่ผู้ใด ก็ย่อมทำผู้นั้นให้ถึงซึ่งความทุกข์.
               ทุกข์ก็ไม่ใช่, สุขก็ไม่ใช่ ฉะนั้นจึงชื่อว่า อทุกขมสุข.
                อักษร ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งปทสนธิ - ต่อบท.
               ก็จักขุสัมผัสนั้นเป็นปัจจัยแก่เวทนาอันสัมปยุตกับด้วยตน ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย, อัญญมัญญะ-, นิสสยะ-, วิปากะ-, อาหาระ-, สัมปยุตตะ-, อัตถิ-, อวิคตปัจจัย รวม ๘ ปัจจัย,
               เป็นปัจจัยแก่เวทนาอันสัมปยุตกับด้วยสัมปฏิจฉนจิต ด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย, สมนันตระ, อนันตรูปนิสสยะ, นัตถิ, วิคตะ รวม ๕ ปัจจัย,
               เป็นปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับด้วยสันติรณจิตเป็นต้น ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว.
               ธรรมชาติใดย่อมได้ยิน ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าโสตะ.
               โสตะนั้นยังความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถี มีโสตวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง ที่มีสัณฐานดังวงแหวน มีขนอ่อนสีน้ำตาลพอกพูนภายในช่องแห่งสสัมภารโสตะ.
               ธรรมชาติใดย่อมเปล่งออก ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสัททะ - เสียง. อธิบายว่า ย่อมเปล่งเสียง.
               ธรรมชาติใดย่อมสูดดม ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าฆานะ - จมูก.
               ฆานะนั้นยังความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถีมีฆานวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง ที่มีสัณฐานดังกีบแพะในภายในแห่งช่องสสัมภารฆานะ.
               ธรรมชาติใดย่อมฟุ้งไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าคันธะ - กลิ่น. อธิบายว่า ย่อมประกาศซึ่งที่อยู่ของตน.
               ธรรมชาติใดย่อมนำมาซึ่งชีวิต ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าชิวหา - ลิ้น, หรือ ชื่อว่าชิวหา เพราะอรรถว่าลิ้มรส.
               ชิวหานั้นยังความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถี มีชิวหาวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง มีสัณฐานดังลายกลีบดอกอุบลแตก ในท่ามกลางแผ่นลิ้นเบื้องบนเว้นปลายสุด, โคนและข้างๆ แห่งสสัมภารชิวหา.
               สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีซึ่งธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ารสะ - รส, อธิบายว่า ย่อมชอบใจ.
               ธรรมชาติใดเป็นบ่อเกิดแห่งสาสวธรรมทั้งหลายอันบัณฑิตเกลียด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากายะ - กาย.
               คำว่า อาโย แปลว่า ประเทศเป็นที่เกิดขึ้น.
               ความเป็นไปแห่งอุปาทินนรูปในกายนี้มีอยู่ตราบใด ตราบนั้นกายประสาทนั้นยังความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถี มีกายวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จตั้งอยู่ที่กายนั้นโดยมาก.
               ธรรมชาติใดย่อมถูกต้อง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าโผฏฐัพพะ - กระทบ.
               ธรรมชาติใดย่อมรู้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ามโน - ใจ, อธิบายว่า ย่อมรู้อารมณ์ต่างๆ.
               ธรรมชาติใดย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าธัมมะ - ธรรมารมณ์.
               คำว่า มโน - ใจ ได้แก่ ภวังคจิตที่เป็นไปกับด้วยการรับอารมณ์.
               คำว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมคือธรรมารมณ์มี ๑๒ ประเภท.๑-
____________________________
๑- จิตและเจตสิกรับอารมณ์โดยแน่นอน มีอารมณ์ ๑๒ ประเภท คือ :-
               ๑. กามอารมณ์ = กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘
               ๒. มหัคคตอารมณ์ = มหัคคตจิต ๒๗ เจตสิก ๓๕
               ๓. นิพพานอารมณ์ = นิพพาน
               ๔. นามอารมณ์ = จิต เจตสิก นิพพาน
               ๕. รูปอารมณ์ = รูป ๒๘
               ๖. ปัจจุบันอารมณ์ = จิต เจตสิก รูป
               ๗. อดีตอารมณ์ = จิต เจตสิก รูป
               ๘. กาลวิมุตติอารมณ์ = นิพพาน บัญญัติ
               ๙. บัญญัติอารมณ์ = อัตถบัญญัติ สัททบัญญัติ
               ๑๐. ปรมัตถอารมณ์ = จิต เจตสิก รูป นิพพาน
               ๑๑. อัชฌัตตอารมณ์ = จิต เจตสิก รูป
               ๑๒. พหิทธอารมณ์ = จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ.

____________________________

               คำว่า มโนวิญฺญาณํ - มโนวิญญาณจิต ได้แก่ มโนวิญญาณที่ทำชวนกิจ.
               คำว่า มโนสมฺผสฺโส - มโนสัมผัสสะ ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับมโนวิญญาณนั้น.
               มโนสัมผัสสะนั้นเป็นปัจจัยแก่เวทนาที่ประกอบด้วยอำนาจปัจจัย ๗ ปัจจัย๒- ที่เหลือเว้นวิปากปัจจัย,
               เป็นปัจจัยแก่เวทนาที่ประกอบกับชวนะเป็นลำดับไป คือชวนะดวงที่ ๒ ด้วยอำนาจปัจจัย ๕ ปัจจัย๓- เหล่านั้นเหมือนกัน,
               เป็นปัจจัยแก่ชวนะที่เหลือ คือชวนะดวงที่ ๓-๗ ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น.
____________________________
๒- สหชาตะ, อัญญมัญญะ, นิสสยะ, อาหาระ, สัมปยุตตะ, อัตถิ, อวิคตะ.
๓- อนันตระ, สมนันตระ, อนันตรูปนิสสยะ, นัตถิ, วิคตะ.

               ขันธ์ ๕               
               [๔] วิสัชนา ๕ มีวิสัชนาในรูปเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยสามารถแห่งขันธ์.
               ธรรมชาติใด ย่อมเสื่อมสลาย ย่อมถูกเบียดเบียนด้วยวิโรธิปัจจัยมีความเย็นเป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่ารูป.
               ธรรมชาติใด ย่อมเสวยอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าเวทนา.
               ธรรมชาติใด ย่อมจำอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าสัญญา.
               ธรรมชาติใด ย่อมปรุงแต่ง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าสังขาร.
               ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าวิญญาณ.

               ธรรมหมวด ๖               
               วิสัชนา ๖๐ มีวิสัชนาในจักขุเป็นต้น มีธรรมวิจารเป็นที่สุด ด้วยสามารถแห่งหมวด ๖ หมวดละ ๑๐ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงโดยความเป็นปิยรูปสาตรูป.
               เวทนามีเวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นต้นกับทั้งธรรมที่สัมปยุตด้วย.
               ความสำคัญในรูป ชื่อว่ารูปสัญญา.
               ธรรมชาติใด ย่อมตั้งใจในอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสัญเจตนา. อธิบายว่า ย่อมมุ่งสู่อารมณ์.
               ธรรมชาติใด ย่อมกระหาย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าตัณหา. อธิบายว่า ย่อมอยาก.
               ธรรมชาติใด ย่อมตรึกซึ่งอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าวิตักกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความตรึก ชื่อว่าวิตักกะ, ท่านอธิบายไว้ว่า การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์.
               ธรรมชาติใด ย่อมประคองจิตไว้ในอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าวิจาระ.
               อีกอย่างหนึ่ง การพิจารณาชื่อว่าวิจาร. ท่านอธิบายไว้ว่า การพิจารณาเนืองๆ.

               ธาตุ ๖               
               [๕] วิสัชนา ๖ มีวิสัชนาในปฐวีธาตุเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยสามารถการกำหนดนามรูป โดยสังเขป.
               ชื่อว่าปฐวี - ดิน เพราะเป็นธรรมชาติแผ่ไป.
               ธรรมชาติใด ย่อมเอิบอาบ หรือว่าย่อมไหลไปและเกาะกุม ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอาโป - น้ำ.
               ธรรมชาติใด ย่อมทำให้ร้อน ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าเตโช - ไฟ.
               ธรรมชาติใด ย่อมพัดไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าวาโย - ลม.
               ธรรมชาติใด อันใครๆ ย่อมขีดไม่ได้ เขียนไม่ได้ คืออันใครๆ ไม่อาจที่จะไถ, ตัดหรือทำลายได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอากาโส - อากาส.
               ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่ามิใช่สัตว์.

               กสิณ ๑๐               
               วิสัชนา ๑๐ มีวิสัชนาในปฐวีกสิณเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้แสดงด้วยสามารถแห่งกสิณภาวนา.
               ดวงกสิณด้วยสามารถการแผ่ไปในอารมณ์ทั้งสิ้นก็ดี, นิมิตที่ปรากฏที่ดวงกสิณนั้นก็ดี, ฌานมีดวงกสิณนั้นเป็นอารมณ์ก็ดี ท่านเรียกว่ากสิณ.
               แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาฌาน. คือ ฌาน ๔ มีมหาภูตเป็นกสิณเป็นอารมณ์ในเบื้องต้น, จากนั้น ฌาน ๔ มีวัณณกสิณเป็นอารมณ์ในเบื้องปลาย.
               ปริจเฉทากาส ๑, ฌานมีปริจเฉทากาสนั้นเป็นอารมณ์ ๑, กสิณุคฆาฏิมากาส ๑, และอากาสานัญจายตนฌาน มีกสิณุคฆาฏิมากาสนั้นเป็นอารมณ์ ๑ ท่านเรียกว่าอากาสกสิณ.
               จิตที่รู้อากาสานัญจายตนฌาน ๑, วิญญาณัญจายตนฌานมีอากาสานัญจายตนฌานนั้นเป็นอารมณ์ ๑ ท่านเรียกว่าวิญญาณกสิณ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา อภิญเญยยนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=105&Z=159
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=1536
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=1536
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :