ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 277อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 284อ่านอรรถกถา 31 / 285อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ยมกปาฏิหาริยญาณนิทเทส

               ๗๐. อรรถกถายมกปาฏิหีรญาณนิทเทส               
               [๒๘๔] พึงทราบวินิจฉัยในยมกปาฏิหีรญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสาธารณํ สาวเกหิ - ยมกปาฏิหาริย์ไม่ทั่วไป ด้วยสาวกทั้งหลาย.
               ความว่า ในสาธารณญาณนิทเทสที่เหลือ ท่านไม่กล่าวไว้เพราะไม่มีโอกาสด้วยคำอื่น แต่ในนิทเทสนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้เพราะไม่มีคำอื่น.
               บทว่า อุปริมกายโต - จากพระกายเบื้องบน คือจากพระสรีระเบื้องบนแห่งพระนาภี.
               บทว่า อคฺคิกฺขนฺโธ ปวตฺตติ - ท่อไฟพุ่งออก คือเมื่อเข้าฌานเป็นบาทมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ครั้นออกแล้วคำนึงว่า ขอเปลวไฟจงพุ่งออกจากกายเบื้องบน แล้วทำบริกรรม อธิฏฐานว่า ขอเปลวไฟจงพุ่งจากกายเบื้องบน ด้วยอภิญญาญาณ เปลวไฟจะพุ่งขึ้นจากกายเบื้องบนพร้อมกับอธิฏฐาน.
               ในนิทเทสนี้ เปลวไฟนั้น ท่านกล่าวว่าขันธ์ เพราะอรรถว่าเป็นกอง.
               บทว่า เหฏฺฐิมกายโต - จากพระกายเบื้องล่าง คือจากพระสรีระเบื้องล่างจากพระนาภี.
               บทว่า อุทกธารา ปวตฺตติ - สายน้ำพุ่งออก คือเมื่อเข้าฌานเป็นบาทมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ ครั้นออกแล้วคำนึงว่า ขอสายน้ำจงพุ่งออกจากกายเบื้องล่างแล้วทำบริกรรม อธิฏฐานว่า ขอสายน้ำจงพุ่งออกจากกายเบื้องล่าง ด้วยอภิญญาญาณ สายน้ำจะพุ่งออกจากกายเบื้องล่างพร้อมกับอธิฏฐาน.
               แม้ในบททั้งสอง ท่านกล่าวว่า พุ่งออกโดยไม่ขาดสาย. ภวังคจิต ๒ ดวงย่อมเป็นไปในระหว่างอธิฏฐานและการคำนึง เพราะฉะนั้นแหละ กองไฟและสายน้ำจึงพุ่งออกเป็นคู่ ไม่ปรากฏระหว่าง. ก็การกำหนดภวังคจิตไม่มีแก่สาวกเหล่าอื่น.
               บทว่า ปุรตฺถิมกายโต- จากพระกายเบื้องหน้า คือจากข้างหน้า.
               บทว่า ปจฺฉิมกายโต - จากพระกายเบื้องหลัง คือจากข้างหลัง.
               บทมีอาทิว่า ทกฺขิณอกฺขิโต วามอกฺขิโต - จากพระเนตรเบื้องขวา จากพระเนตรเบื้องซ้าย เป็นปาฐะสมาส มิใช่ปาฐะอื่น.
               ปาฐะว่า ทกฺขิณนาสิกาโสตโต วามนาสิกาโสตโต - จากพระนาสิกเบื้องขวา จากพระนาสิกเบื้องซ้ายดังนี้ เป็นปาฐะดี.
               พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวทำเป็นรัสสะบ้าง.
               ในบทว่า อํสกูฏโต - จากจะงอยพระอังสานี้ มีความดังนี้.
               ชื่อว่ากูฏะ - จะงอย เพราะอรรถว่าสูงขึ้นดุจยอด. จะงอยคืออังสานั่นเอง ชื่อว่าอังสกูฏะ.
               บทว่า องฺคุลงฺคุเลหิ คือ จากพระองคุลีๆ
               บทว่า องฺคุลนฺตริกาหิ คือ จากระหว่างองคุลี.
               บทว่า เอเกกโลมโต อคฺคิกฺขนฺโธ ปวตฺตติ, เอเกกโลมโต อุทกธารา ปวตฺตติ - ท่อไฟพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่งๆ. สายน้ำพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่งๆ.
               ท่านอธิบายว่า ท่อไฟสายน้ำพุ่งออกเป็นคู่ๆ จากพระโลมาเส้นหนึ่งๆ เพราะถือเอาพระโลมาทั้งหมดด้วยคำพูดซ้ำๆ. ในบทแม้ทั้งสอง.
               แม้ในบทว่า โลมกูปโต โลมกูปโต อคฺคิกฺขนฺโธ ปวตฺตติ, โลมกูปโต โลมกูปโต อุทกธารา ปวตฺตติ - ท่อไฟพุ่งออกจากขุมพระโลมาเส้นหนึ่งๆ. สายน้ำพุ่งออกจากขุมพระโลมาเส้นหนึ่งๆ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในหลายๆ คัมภีร์ ท่านเขียนไว้ว่า ท่อไฟพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่งๆ. สายน้ำพุ่งออกจากขุมพระโลมาเส้นหนึ่งๆ. ท่อไฟพุ่งออกจากขุมพระโลมาเส้นหนึ่งๆ. สายน้ำพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่งๆ.
               บทแม้นั้นก็ถูกต้อง. แต่ปาฐะก่อนดีกว่า เพราะแสดงความสุขุมยิ่งนักของปาฏิหาริย์.
               บทว่า ฉนฺนํ วณฺณานํ - พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายด้วยสามารถแห่งวรรณะ ๖. สัมพันธ์กันอย่างไร?
               ท่านกล่าวถึงสรีราพยพ ด้วยบทไม่น้อยมีอาทิว่า อุปริมกายโต.
               ด้วยเหตุนั้น การสัมพันธ์ด้วยสรีราพยพย่อมเป็นไปได้. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า รัศมีทั้งหลายแห่งวรรณะ ๖ อันเป็นสรีราพยพ ย่อมพุ่งออกเป็นคู่ๆ ด้วยความสัมพันธ์ถ้อยคำ และด้วยอธิการแห่งยมกปาฏิหาริย์.
               อนึ่ง ด้วยความสัมพันธ์แห่งฉัฏฐีวิภัตติ พึงปรารถนาปาฐะที่เหลือว่า รสฺมิโย เป็นแน่แท้. (คือให้เพิ่มบทว่า ฉนฺนํ วณฺณานํ รสฺมิโย).
               บทว่า นีลานํ - สีเขียว คือ มีสีเหมือนดอกผักตบ.
               บทว่า ปีตกานํ - สีเหลือง คือ มีสีเหมือนดอกกรรณิการ์.
               บทว่า โลหิตกานํ - สีแดง คือ มีสีเหมือนแมลงค่อมทอง.
               บทว่า โอทาตานํ - สีขาว คือ มีสีเหมือนดาวประกายพรึก.
               บทว่า มญฺชิฏฺฐานํ - สีแสด คือ มีสีแดงอ่อน.
               บทว่า ปภสฺสรานํ - สีเลื่อมประภัสสร คือ มีสีเลื่อมประภัสสรตามปกติ. สีเลื่อมประภัสสรแม้ไม่มีต่างกัน. เมื่อกล่าวถึงวรรณะ ๕ รัศมีใดๆ รุ่งเรือง รัศมีนั้นๆ เป็นประภัสสร.
               จริงอย่างนั้น เมื่อพระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์ รัศมีสีเขียวย่อมซ่านออกจากที่สีเขียวแห่งพระเกสา พระมัสสุและพระเนตร ด้วยกำลังแห่งยมกปาฏิหีรญาณนั่นแหละ, ด้วยอำนาจรัศมีสีเขียวท้องฟ้าย่อมเป็นดุจกระจายไปด้วยผงดอกอัญชัญ ดุจดาดาษไปด้วยกลีบดอกผักตบและดอกอุบลเขียว ดุจก้านตาลแก้วมณีล่วงลงมาและดุจแผ่นผ้าสีครามที่เขาขึงไว้.
               รัศมีสีเหลืองย่อมซ่านออกจากพระฉวี และจากที่สีเหลืองแห่งพระเนตร, ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีเหลือง ทิศาภาคย่อมรุ่งโรจน์ดุจหรั่งออกซึ่งน้ำสีทองคำ ดุจคลี่ออกซึ่งแผ่นผ้าทองคำ และดุจเกลื่อนกล่นไปด้วยผงหญ้าฝรั่นและดอกกรรณิการ์.
               รัศมีสีแดงย่อมซ่านออกจากพระมังสะแลพระโลหิตและจากที่สีแดงแห่งพระเนตร, ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีแดง ทิศาภาคย่อมรุ่งโรจน์ดุจย้อมด้วยผงชาด ดุจหรั่งออกซึ่งน้ำสีครั่งที่สุกปลั่ง ดุจวงด้วยผ้ากัมพลสีแดง และเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้สีแดง คือดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองหลางและดอกชบา.
               รัศมีสีขาวย่อมซ่านออกจากพระอัฐิ พระทนต์และจากที่สีแดงของพระเนตร, ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีขาว ทิศาภาคย่อมรุ่งโรจน์ดุจกระจัดกระจายด้วยสายน้ำนมอันไหลออกจากหม้อเงิน ดุจลาดเพดานด้วยแผ่นเงินไว้ ดุจก้านตาลเงินหล่นลงมาและดุจดาดาษด้วยดอกไม้ มีดอกมะลิวัลย์ ดอกโกมุท ดอกไม้ยางทราย ดอกมะลิและดอกมะลิซ้อน.
               รัศมีสีแสดย่อมซ่านออกจากที่สีแดงอ่อน มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทเป็นต้น, ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีแสด ทิศาภาคย่อมรุ่งโรจน์ดุจวงไว้ด้วยตาข่ายแก้วประพาฬและดุจเกลื่อนกลาดด้วยจุณสำหรับอาบสีแดงและดอกคำ.
               รัศมีสีเลื่อมประภัสสรย่อมซ่านออกจากที่สีเลื่อมประภัสสร มีพระอุณาโลม พระทาฐะและพระนขาเป็นต้น, ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีเลื่อมประภัสสร ทิศาภาคย่อมรุ่งโรจน์ดุจเต็มด้วยกลุ่มดาวประกายพรึกและเต็มด้วยเครื่องครอบด้วยสายฟ้าเป็นต้น.
               ด้วยบทมีอาทิว่า ภควา จงฺกมติ - พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรม ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า พระอิริยาบถต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธนิรมิตทั้งหลายย่อมมีด้วยยมกปาฏิหิรญาณเท่านั้น. เพราะพระอิริยาบถของพระพุทธนิรมิตเหล่านั้นย่อมเป็นไปเป็นคู่.
               ผิถามว่า พระพุทธนิรมิตมีมาก เพราะเหตุไร จึงทำเป็นเอกวจนะว่า นิมฺมิโต เป็นต้นเล่า.
               ตอบว่า เพื่อแสดงอิริยาบถต่างๆ ของพระพุทธนิรมิตองค์หนึ่งๆ ในบรรดาพระพุทธนิรมิตทั้งหลาย.
               เมื่อกล่าวเป็นพหุวจนะ พระพุทธนิรมิตแม้ทั้งหมดก็เป็นเหมือนมีพระอิริยาบถต่างๆ กันในคราวเดียว. แต่เมื่อกล่าวเป็นเอกวจนะ ในบรรดาพระพุทธนิรมิตองค์หนึ่งๆ ย่อมปรากฏว่ามีพระอิริยาบถต่างๆ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงเป็นเอกวจนะ.
               แม้พระจูลบันถกเถระก็นิรมิตภิกษุมีอิริยาบถต่างๆ ตั้งพันรูป, การเว้นพระจูลบันถกเถระเสียแล้ว นิรมิตรูปต่างๆ ของพระสาวกเหล่าอื่นมีอิริยาบถต่างๆ ด้วยการคำนึงครั้งเดียว ย่อมไม่สำเร็จ. เพราะพระพุทธนิรมิตทั้งหลายย่อมมีฤทธิ์เช่นเดียวกัน เพราะมิได้กำหนดไว้. พระพุทธนิรมิตทั้งหลายย่อมทำสิ่งที่ผู้มีฤทธิ์ทำได้ในการยืน การนั่งเป็นต้นก็ดี ในการพูด การนิ่งเป็นต้นก็ดี. การทำไม่เหมือนกันและทำกิริยาต่างๆ กัน ย่อมสำเร็จด้วยการคำนึงต่างๆ กัน แล้วอธิฏฐานว่า พระพุทธนิรมิตประมาณเท่านี้จงเป็นเช่นนี้. พระพุทธนิรมิตประมาณเท่านี้จงทำสิ่งนี้.
               ส่วนการนิรมิตหลายๆ อย่าง ย่อมสำเร็จแก่พระตถาคต ด้วยการคำนึงอธิฏฐานครั้งเดียวเท่านั้น.
               พึงทราบในการนิรมิตท่อไฟและสายน้ำ และในการนิรมิตวรรณะต่างๆ ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภควา จงฺกมติ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมในอากาศหรือบนแผ่นดิน.
               บทว่า นิมฺมิโต - ได้แก่ รูปพระพุทธเจ้าที่นิรมิตด้วยฤทธิ์.
               แม้บทว่า ติฏฺฐติ วา - พระพุทธนิรมิตประทับยืนเป็นอาทิ ได้แก่ประทับยืนในอากาศหรือบนแผ่นดิน.
               บทว่า กปฺเปติ - ย่อมสำเร็จ คือกระทำ.
               แม้ในบทมีอาทิว่า ภควา ติฏฺฐติ - พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               จบอรรถกถายมกปาฏิหีรญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ยมกปาฏิหาริยญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 277อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 284อ่านอรรถกถา 31 / 285อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3130&Z=3163
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :