ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 286อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 31 / 362อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๒. ทิฐิกถา

               ชื่อว่าสัทธัมมปกาสินี ในขุททกนิกาย               
               ภาคที่ ๒               
               ทิฏฐิกถาในมหาวรรค               
               ๑. อรรถกถาอัสสาททิฏฐินิเทศ               
               บัดนี้ ถึงคราวที่จะพรรณนาความตามลำดับแห่งทิฏฐิกถา อันท่านกล่าวแล้วในลำดับแห่งญาณกถา.
               จริงอยู่ ทิฏฐิกถานี้ชำระมลทินคือมิจฉาทิฏฐิของผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ ซึ่งสะสมญาณที่ทำไว้แล้ว ด้วยญาณกถาเป็นอันทำไว้ด้วยดี.
               อนึ่ง สัมมาทิฏฐิ ท่านกล่าวไว้ในลำดับแห่งญาณกถาว่า เป็นความบริสุทธิ์ด้วยดี.
               ในทิฏฐิกถานั้นมีอยู่ ๔ ปริเฉท คือ
               คำถามมีอาทิว่า ทิฏฐิ คืออะไร ๑
               การตอบคำถามที่ถามมีอาทิว่า คำว่า ทิฏฐิ คืออะไร คือการลูบคลำด้วยความถือผิด ๑
               แสดงถึงความพิสดารของการตอบที่ตอบมีอาทิว่า ทิฏฐิคือการลูบคลำด้วยความถือผิด เป็นอย่างไร ๑
               การเปรียบเทียบกับทิฏฐิสูตรมีอาทิว่า ทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดเป็นอัสสาททิฏฐิ (ความเห็นด้วยความพอใจ) ๑.
               ใน ๔ ปริเฉทนั้น พึงทราบวินิจฉัยในปุจฉาปริเฉทก่อน.
               ถามว่า ทิฏฐิเป็นอย่างไร เป็นธรรมปุจฉา (ถามธรรมดา) เป็นสหภาวปุจฉา (ถามตามสภาพ).
               ถามว่า ที่ตั้งแห่งทิฏฐิเท่าไร เป็นเหตุปุจฉา (ถามตามเหตุ) เป็นปัจจยปุจฉา (ถามตามปัจจัย). อธิบายว่า เหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลายมีเท่าไร.
               ถามว่า ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิเท่าไร เป็นสมุทาจารปุจฉา (ถามตามความปรากฏ) เป็นวิการปุจฉา (ถามทำให้แปลกไป).
               จริงอยู่ ทิฏฐิทั้งหลายนั่นแล ชื่อว่าทิฏฐิปริยุฏฐานะ (ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ) เพราะตั้งขึ้นหุ้มห่อจิตด้วยอำนาจแห่งความปรากฏ.
               ถามว่า ทิฏฐิเท่าไร เป็นสังขยาปุจฉา (ถามตามจำนวน) เป็นคณนาปุจฉา (ถามตามคำนวณ) แห่งทิฏฐิทั้งหลาย.
               ถามว่า ความถือผิดแห่งทิฏฐิเท่าไร เป็นทิฏฐิปเภทปุจฉา (ถามตามประเภทของทิฏฐิ) ด้วยประเภทแห่งวัตถุ ด้วยความต่างกันแห่งอารมณ์.
               เพราะว่า ทิฏฐิทั้งหลายนั่นแลย่อมยึดถือ ย่อมลูบคลำวัตถุนั้นๆ อารมณ์นั้นๆ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐิปรามาส (ลูบคลำทิฏฐิ).
               ถามว่า ความถอนที่ตั้งแห่งทิฏฐิเป็นไฉน เป็นปฏิปักขปุจฉา (คำถามเป็นปฏิปักษ์กัน) เป็นปหานูปายปุจฉา (คำถามหาอุบายที่จะละ) แห่งทิฏฐิทั้งหลาย.
               จริงอยู่ เหตุแห่งทิฏฐิเหล่านั้นมีขันธ์เป็นต้น เป็นเหตุแห่งทิฏฐิ จึงเป็นไปไม่ได้ด้วยการถอนทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นอันต้องถอนเหตุเหล่านั้น ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐิฐานสมุคฆาตะ (ถอนที่ตั้งแห่งทิฏฐิ) เพราะที่ตั้งแห่งทิฏฐิเป็นเหตุเบียดเบียนอย่างร้ายกาจ
               บัดนี้พึงทราบคำตอบ ๖ ข้อมีอาทิว่า ทิฏฐิเป็นอย่างไร ของคำถามทั้ง ๖ ข้อเหล่านั้น.
               ในคำถามเหล่านั้น พึงทราบคำถามที่ควรตอบว่า ทิฏฐิเป็นอย่างไร ดังต่อไปนี้.
               คำตอบว่า ทิฏฐิคือการลูบคลำด้วยความเห็นผิด.
               ก็ทิฏฐินั้นชื่อว่าอภินิเวสะ เพราะยึดถือ ตั้งมั่นถือมั่น ด้วยอำนาจแห่งความเที่ยงเป็นต้นในวัตถุอันไม่เที่ยงเป็นต้น. ชื่อว่าปรามาสะ เพราะก้าวล่วงอาการไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วลูบคลำยึดถือต่อไป เป็นไปด้วยอำนาจแห่งความเป็นของเที่ยงเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปรามาสะ เพราะลูบคลำยึดถือสิ่งอื่น มีอาทิว่าเป็นของเที่ยง ว่าเป็นของจริงอย่างสูงสุด. ความยึดถือและการลูบคลำนั้น ชื่อว่าอภินิเวสปรามาสะ.
               พระสารีบุตรเถระย่อมตอบสภาวะของทิฏฐิโดยกิจว่า ทิฏฐิมีประการอย่างนี้ ดังนี้.
               บทว่า ตีณิ สตํ คือ ๓๐๐#- เป็นความคลาดเคลื่อนของวจนะ.
               ถามว่า การถอนที่ตั้งแห่งทิฏฐิเป็นไฉน เป็นการยกคำถามขึ้นแล้ว.
               ตอบว่า โสดาปัตติมรรคเป็นเครื่องถอนที่ตั้งแห่งทิฏฐิ.
____________________________
#- พระสูตรเป็น ตึสสตํ (๑๓๐) แต่อรรถกถาใช้คำว่า ตีณิสตํ (๓๐๐) เป็นวจนะวิปลาส นับจำนวนดังนี้คือ ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, วิญญาณ ๖, สัมผัส ๖, จักขุสัมผัสสชาเวทนา ๖, สัญญา ๖, สัญเจตนา ๖, ตัณหา ๖, วิตก ๖, วิจาร ๖, ธาตุ ๖, กสิณ ๑๐, โกฏฐาน ๓๒, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๑๕, ธาตุ ๒๓, ปฏิจจะ ๑๒, รวม ๑๙๓ นับที่ตั้งแห่งทิฏฐิ ๘ ความกลุ้มรุม ทิฏฐิ ๑๘, ทิฏฐิ ๑๖, ทิกฐิอีก ๓ (คือนั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา) และทิฏฐิ ๖๒ รวมทั้งหมด ๓๐๐ พอดี.
____________________________


               บัดนี้ พึงทราบการแสดงโดยพิสดารของบทมีอาทิว่า กถํ อภินิเวสปรามาโส การลูบคลำด้วยการถือผิดเป็นอย่างไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ เป็นทุติยาวิภัตติ. เชื่อมความว่า การลูบคลำด้วยความถือผิดซึ่งรูป.
               อนึ่ง ในบทว่า รูปํ นี้ ได้แก่ รูปูปาทานขันธ์และกสิณรูป. ทิฏฐิคือการลูบคลำด้วยความถือผิดว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา พึงประกอบเฉพาะอย่าง.
               บทว่า เอตํ เป็นสามัญวจนะ. ด้วยบทนั้นท่านทำให้เป็นนปุงสกวจนะและเอกวจนะว่า นั่นเวทนาของเรา นั่นสังขารของเรา.
               แต่บทว่า เอโส ท่านเพ่งถึงสิ่งที่ควรกล่าวถึง จึงทำให้เป็นปุลลิงควจนะ.
               บทว่า เอตํ มม (นั่นของเรา) เป็นทิฏฐิมีความสำคัญ เพราะตัณหาเป็นมูล.
               บทว่า เอโสหมสฺมิ (เราเป็นนั่น) เป็นทิฏฐิมีความสำคัญ เพราะมานะเป็นมูล.
               บทว่า เอโส เม อตฺตา (นั่นเป็นตัวตนของเรา) มีความสำคัญ เพราะทิฏฐินั่นเอง.
               ส่วนอาจารย์บางพวกพรรณนาความแห่งคำทั้ง ๓ เหล่านี้ว่า ความดำริด้วยมมังการ (ความถือว่าเป็นของเรา) ว่านั่นเป็นของเรา ความดำริด้วยอหังการ (ความถือว่าเป็นเรา) ว่าเราเป็นนั่น และการถือมั่นตัวตนอันดำริด้วยอหังการ มมังการว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา.
               อนึ่ง การยกย่องด้วยมานะอาศัยตัณหาเป็นมูลตามลำดับ อันมานะยกย่องแล้วอาศัยตัณหาเป็นมูล และการยึดถือตัวตน. การไม่เห็นลักษณะที่เป็นทุกข์แห่งสังขารทั้งหลาย การไม่เห็นลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลาย และการยึดถือตัวตนอันเป็นเหตุไม่เห็นพระไตรลักษณ์แห่งสังขารทั้งหลาย การยึดถือตัวตนของผู้ที่ถึงความวิปลาสในความทุกข์ว่าเป็นความสุข ในความไม่งามว่าเป็นความงาม ในความเป็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง และผู้ถึงความวิปลาส ๔ อย่าง.
               ความดำริด้วยอาการแห่งปุพเพนิวาสญาณ ความดำริเพื่อจะได้ในอนาคตแห่งทิพยจักษุญาณ และการยึดถือตัวตนของผู้อาศัยความดำริในธรรมทั้งหลายอันเป็นอิทัปปัจจยตา (สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) และปฏิจจสมุปบาททั้งส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย คำนึงถึงอดีตด้วยความพอใจ หวังอนาคตด้วยความพอใจ หมกมุ่นอยู่ในปัจจุบัน ชื่อว่ายึดถือตัวตน.
               ทิฏฐิมีความไม่รู้เป็นเหตุในส่วนเบื้องต้น ในส่วนเบื้องปลาย และการยึดถือตัวตนมีความไม่รู้เป็นเหตุ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปบาทในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย.
               อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลายในทิฏฐิกถานี้มีขันธ์ ๕ เป็นวัตถุ เป็นที่หนึ่ง. แต่นั้น ท่านกล่าวถึงทิฏฐิทั้งหลายมีอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ วิญญาณ กายสัมผัส กายเวทนา กายสัญญา กายเจตนา กายตัณหา กายวิตกวิจารธาตุ กสิณ ๑๐ อาการ ๓๒ เป็นวัตถุ.
               อนึ่ง ในอาการ ๓๒ พึงทราบว่า ไม่ควรยึดถือไว้แผนกหนึ่ง ทำการยึดถือดุจยึดถือไว้แผนกหนึ่ง โดยยึดถือสรีระทั้งสิ้น แต่นั้นก็ประกอบด้วยอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๑๙ ประกอบอินทรีย์อันเป็นโลกุตระโดยส่วนเดียว ๓ เพราะทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่มีโลกุตระเป็นวัตถุ.
               อนึ่ง ในธรรมทั้งหลายที่เจือด้วยโลกิยะและโลกุตระแม้ทั้งปวงพึงถือเอาโลกิยะอย่างเดียว ยกเว้นโลกุตระ และไม่ควรถือรูปอันเนื่องด้วยอนินทรีย์เท่านั้น แต่นั้นก็ประกอบด้วยธาตุ ๓ ภพ ๙ อย่าง ฌาน พรหมวิหารสมาบัติและองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท.
               การบริหารในการถือเอาชาติ ชราและมรณะไว้ต่างหากมีนัยดังได้กล่าวแล้ว.
               บททั้งหลายมีรูปเป็นต้นเท่านี้ทั้งหมดอันมีชราและมรณะเป็นที่สุด มีอยู่ ๑๙๘ บท.
               พึงทราบวินิจฉัยในที่ตั้งแห่งทิฏฐิทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               บทว่า ขนฺธาปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ แม้ขันธ์ทั้งหลายก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ.
               ความว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะสักกายทิฏฐิแม้มีวัตถุ ๒๐ อย่าง ก็เป็นวัตถุแห่งขันธ์ ๕
               และเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้ว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง เมื่อพิจารณาอยู่เสมอๆ ย่อมพิจารณาเห็นตนเสมอๆ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมพิจารณาเห็นเสมอๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล หรือขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งแห่งขันธ์ ๕ เท่านั้น.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๙๔

               บทว่า อวิชฺชาปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้อวิชชาก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ).
               ความว่า อวิชชาเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิของคนบอดทั้งหลาย
               และเพราะบาลีว่า๒- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิฏฐิว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฏในท่านผู้ที่มิได้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดังนี้ ทิฏฐิย่อมปรากฏ เพราะอาศัยอะไร พระเจ้าข้า.
               ดูก่อนกัจจานะ ธาตุนี้ใหญ่นักแล คืออวิชชาธาตุ.
               ดูก่อนกัจจานะ สัญญาเลว ทิฏฐิเลว ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุเลว.
____________________________
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๓๖๒-๓๖๓

               บทว่า ผสฺโสปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้ผัสสะก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ).
               ความว่า ผัสสะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะความกระทบด้วยผัสสะนั้นเป็นความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิ และเพราะบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดดำริส่วนเบื้องต้น มีความเห็นตามส่วนเบื้องต้น ย่อมกล่าวถึงบทที่พอใจหลายๆ อย่าง ปรารภส่วนเบื้องต้น แม้ข้อนั้นก็เป็นปัจจัยแห่งผัสสะ.
____________________________
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๖๙

               บทว่า สญฺญาปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้สัญญาก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ).
               ความว่า สัญญาเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะความที่สัญญาเป็นเหตุถือเอาตามสภาพที่ไม่เป็นจริง โดยถือเอาเพียงอาการ เพราะคำอันสภิยปริพาชกทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า๔-
                                   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญาเสมอ
                         ด้วยแผ่นดิน พระองค์ทรงกำจัดทิฏฐิ ๓ และ ๖๐ ที่
                         อาศัยคัมภีร์อันเป็นวาทะเป็นประธานของสมณะผู้ถือ
                         ลัทธิอื่นที่อาศัยอักขระคือความหมายรู้กัน (ว่าหญิงว่า
                         ชาย) และสัญญาอันวิปริต ทรงก้าวล่วงความมือคือ
                         โอฆะได้แล้ว.
               และเพราะบาลีว่า๕- ธรรมเป็นส่วนแห่งความเนิ่นช้ามีสัญญาเป็นเหตุ ดังนี้.
____________________________
๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๗๑  ๕- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๘

               บทว่า วิตกฺโกปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้วิตกก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ)
               ความว่า วิตกเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะความเกิดแห่งทิฏฐิด้วยวิตกถึงอาการ
               และเพราะบาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๖-
                                   สัจจะมากหลายต่างๆ กัน เว้นจากสัญญาว่า
                         เที่ยงเสียหาใช่มีในโลกไม่. ก็สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
                         มากำหนดความคาดคะเนทิฏฐิทั้งหลายแล้ว จึงกล่าว
                         ทิฏฐิอันเป็นคู่กันว่า จริงๆ เท็จๆ.
____________________________
๖- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๙

               บทว่า อโยนิโสมนสิกาโรปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้อโยนิโสมนสิการก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ)
               ความว่า อโยนิโสมนสิการเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุทั่วไปแห่งอกุศลทั้งหลาย
               และเพราะบาลีว่า๗- เมื่อพระโยคาวจรนั้นกระทำไว้ในใจ โดยอุบายไม่แยบคาย ทิฏฐิ ๖ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น.
____________________________
๗- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒

               บทว่า ปาปมิตฺโตปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้มิตรชั่วก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ)
               ความว่า มิตรชั่วเป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะมิตรชั่วเป็นความเกิดแห่งทิฏฐิ ด้วยการคล้อยตามไปกับความเห็น
               และเพราะบาลีว่า๘- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นองค์อื่นในภายนอกแม้องค์เดียวที่จะเป็นไปเพื่อความฉิบหายอันใหญ่อย่างนั้นเหมือนความมีมิตรชั่วนี้เลย.
____________________________
๘- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๑๑

               บทว่า ปรโต โฆโสปิ ทิฏฺฐิฏฺฐานํ (แม้เสียงแต่ที่อื่นก็เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ)
               ความว่า เสียงทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ที่อื่นกถาประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เป็นเหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เพราะความเกิดแห่งทิฏฐิด้วยการฟังธรรมที่กล่าวไม่ดี
               และเพราะบาลีว่า๙- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๒ อย่าง ปัจจัย ๒ อย่างเหล่านี้ คือเสียงแต่ที่อื่นและอโยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ.
____________________________
๙- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๓๗๐

               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะไขความแห่งบทว่า ทิฏฺฐิฏฺฐานํ ที่ตั้งแห่งทิฏฐิ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ขันธ์ทั้งหลายเป็นเหตุ เป็นปัจจัยดังนี้.
               อธิบายว่า ขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นเป็นเหตุเกิดและเป็นปัจจัยอุปถัมภ์เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย.
               บทว่า สมุฏฺฐานตฺเถน (เพราะอรรถว่าตั้งขึ้น)
               ความว่า ชื่อว่าสมุฏฐาน เพราะเป็นเหตุตั้งขึ้น คือเกิดขึ้น. อธิบายว่า เป็นเหตุ เพราะอรรถว่าตั้งขึ้นนั้น คือเพราะความเป็นเหตุแห่งทิฏฐิ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงถึงประเภทของทิฏฐิโดยประเภทแห่งกิจ จึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า กตมานิ อฏฺฐารส ทิฏฺฐิปริยุฏฺฐานานิ ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ ๑๘ เป็นไฉน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยา ทิฏฺฐิ เป็นบทต้นเหตุอันทั่วไปแก่บททั้งหลาย ๑๘ บทซึ่งจะกล่าวในบัดนี้. พึงทำการเชื่อมด้วยบททั้งปวงว่า ทิฏฐิคือทิฏฐิคตะ ทิฏฐิรกชัฏ เป็นต้น. ชื่อว่าทิฏฐิ เพราะอรรถว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง. การเห็นไปในทิฏฐิทั้งหลายนั้นนั่นแล ชื่อว่าทิฏฐิคตะ เพราะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒. ท่านกล่าวความแห่งทิฏฐิคตะนั้นแล้วแม้ในหนหลัง แม้เพราะที่สุดสองอย่างไปโดยส่วนเดียวก็เป็นทิฏฐิคตะ.
               ทิฏฐินั้นชื่อว่า ทิฏฐิรกชัฏ เพราะอรรถว่าก้าวไปได้ยาก ดุจรกด้วยหญ้า ป่าและภูเขา. ชื่อว่าทิฏฐิกันดาร เพราะอรรถว่ามีความรังเกียจ และมีภัยเฉพาะหน้า ดุจกันดารเพราะโจร เพราะสัตว์ร้าย เพราะไม่มีน้ำ เพราะหาภิกษาได้ยาก.
               ในธรรมสังคณีมาแล้วโดยลิงค์ว่า๑๐- ทิฏฺฐิกนฺตาโร (กันดารด้วยทิฏฐิ) ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเสี้ยนหนาม เพราะอรรถว่าเสียดแทงและตรงข้ามกับสัมมาทิฏฐิ.
____________________________
๑๐- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๒๙๑

               จริงอยู่ การเห็นผิดย่อมเจาะทะลุและตรงข้ามกับการเห็นชอบซึ่งเกิดขึ้น.
               ในธรรมสังคิณีมาแล้วว่า เป็นข้าศึกของทิฏฐิ. ชื่อว่าทิฏฐิวิบัติ เพราะเป็นทิฏฐิปรวนแปรผิดรูป โดยที่บางครั้งถือเอสัสสตทิฏฐิ บางครั้งถือเอาอุจเฉททิฏฐิ.
               จริงอยู่ เจ้าทิฏฐิไม่สามารถตั้งอยู่ในทิฏฐิเดียวได้ บางครั้งระลึกถึงสัสสตทิฏฐิ บางครั้งระลึกถึงอุจเฉททิฏฐ. ชื่อว่าทิฏฐิเป็นสังโยชน์ เพราะทิฏฐินั่นแลประกอบในสิ่งไม่เป็นประโยชน์.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นลูกศร เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าเป็นลูกศร เพราะอรรถว่าเจาะเข้าไปในภายใน และเพราะอรรถว่านำออกได้ยาก.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นความคับแคบ เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าคับแคบ เพราะทำการบีบคั้น.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเครื่องกังวล เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าเป็นเครื่องกังวล เพราะปิดกั้นความพ้น.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเครื่องผูกพัน เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าเป็นเครื่องผูกพัน เพราะแก้ได้ยาก.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเหว เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าเป็นเหว เพราะขึ้นได้ยาก.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นอนุสัย เพราะทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าเป็นอนุสัย เพราะไปด้วยเรี่ยวแรง.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเหตุให้เดือดร้อน เพราะทิฏฐินั่นแล ทำตนให้เดือดร้อน.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเหตุให้เร่าร้อน เพราะทิฏฐินั่นแล ตามเผาผลาญตน.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะทิฏฐินั่นแล ร้อยรัดกายด้วยกิเลส.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเครื่องยึดมั่น เพราะทิฏฐินั่นแล ยึดถือไว้อย่างมั่น.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเหตุให้ถือผิด เพราะถือผิดด้วยการยึดว่าเป็นจริงเป็นต้น.
               ชื่อว่าทิฏฐิเป็นเหตุให้ลูบคลำ เพราะทิฏฐินั่นแล ย่อมลูบคลำว่านี้เป็นอื่น หรือลูบคลำจากอื่น.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะชี้ถึงทิฏฐิ ๑๖ ด้วยอำนาจแห่งหมู่ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ทิฏฐิ ๑๖ เป็นไฉน.
               พึงทราบวินิจฉัยในทิฏฐิ ๑๖ นั้นดังต่อไปนี้.
               ทิฏฐิในความพอใจ คือสุขและโสมนัส ชื่อว่าอัสสาททิฏฐิ. ทิฏฐิอันไปตามตน ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ. ทิฏฐิอันวิปริต เพราะเป็นไปว่าไม่มี ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ. ทิฏฐิในกายอันมีอยู่หรือทิฏฐิอันมีอยู่ในกาย ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ.
               อนึ่ง ในบทว่า กาโย นี้ คือขันธะปัญจก. ทิฏฐิชื่อว่า สกฺกายวตฺถุกา เพราะมีสักกายะคือขันธัญจก เป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้ง.
               ทิฏฐิอันเป็นไปแล้วว่าเที่ยง ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ. ทิฏฐิอันเป็นไปแล้วว่าสูญ ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ. ชื่อว่าอันตคาหิกทิฏฐิ เพราะถือเอาที่สุดมีสัสสตทิฏฐิเป็นต้น หรือเพราะมีการถือเอาที่สุด. ทิฏฐิอันไปตามที่สุดเบื้องต้นคืออดีต ชื่อว่าปุพพันตานุทิฏฐิ. ทิฏฐิอันไปตามที่สุดเบื้องปลายคืออนาคต ชื่อว่าอปรันตานุทิฏฐิ. ชื่อว่าสังโยชนิกาทิฏฐิ เพราะประกอบในสิ่งไม่มีประโยชน์. ทิฏฐิอันผูกพัน สืบต่อให้เกิดขึ้นด้วยมานะอันเกิดขึ้นว่าเป็นเรา ด้วยการถือตัว อันเป็นมูลแห่งทิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐิผูกพันด้วยมานะว่าเป็นเรา.
               อนึ่ง ทิฏฐิอันผูกพันด้วยมานะอันเกิดขึ้นว่า ของเราด้วยการถือว่าเป็นของเรา ชื่อว่าทิฏฐิผูกพันด้วยมานะว่า ของเรา. การพูด การกล่าวของตน ชื่อว่าอัตตวาทะ. ทิฏฐิอันสัมปยุตเกี่ยวข้องด้วยอัตตวาทะนั้นชื่อว่าทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยอัตตวาทะ. การพูดการกล่าวว่าโลกของตน ชื่อว่าโลกวาทะ. ทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยโลกวาทะนั้น ชื่อว่าทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยโลกวาทะ ความเที่ยงท่านกล่าวว่าภพ. ทิฏฐิอันเกิดขึ้นด้วยความเที่ยง ชื่อว่าภวทิฏฐิ. ความสูญท่านกล่าวว่าวิภวะ. ทิฏฐิอันเกิดขึ้นด้วยความสูญ ชื่อว่าวิภวทิฏฐิ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงความถือผิดด้วยทิฏฐิ ๓๐๐ จึงถามว่า การถือผิดด้วยทิฏฐิ ๓๐๐ เป็นไฉน. ไม่แก้ความถือผิดเหล่านั้น ประสงค์จะแก้โดยแก้ความถือผิดไว้แผนกหนึ่ง จึงถามถึงอาการถือผิดแห่งทิฏฐิ ๑๖ อย่างโดยนัยมีอาทิว่า อัสสาททิฏฐิมีความถือผิดด้วยอาการเท่าไร แล้วแก้การนับอาการถือผิดแห่งทิฏฐิ ๑๖ อย่างเท่านั้นมีอาทิว่า อัสสาททิฏฐิมีความถือผิดด้วยอาการ ๓๕ ต่อไป เมื่อจะแก้การนับเหล่านั้นอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อัสสาททิฏฐิมีความถือผิดด้วยอาการ ๓๕ เป็นไฉน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ ปฏิจฺจ คืออาศัยรูปขันธ์.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ สุขํ โสมนสฺสํ (สุข โสมนัสเกิดขึ้น).
               ความว่า สุข โสมนัสสัมปยุตด้วยราคะ อาศัยเรือน ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยรูปสมบัติว่า กายของเรานี้ เป็นเช่นนี้ดังนี้. สุขและโสมนัสโดยอรรถได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               บทว่า รูปสฺส อสฺสาโท (อัสสาทะแห่งรูป) คือ ความยินดีอาศัยรูป. ชื่อว่าอัสสาทะ เพราะยินดีเสวยสุขนั้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา.
               บทว่า อภินิเวสปรามาโส ทิฏฺฐิ (ทิฏฐิคือการลูบคลำด้วยความถือผิด)
               ความว่า ความยินดีนั้นเป็นการลูบคลำด้วยความถือผิดว่า เที่ยงก็ดี จักสูญก็ดี ย่อมทำตนเที่ยงหรือสูญให้มีความสุขก็ดี. เพราะฉะนั้น บทว่า ยา จ ทิฏฺฐิ โย จ อสฺสาโท (ทิฏฐิและอัสสาทะ) คือ ทิฏฐินั้นเว้นอัสสาทะจะมีไม่ได้ แม้อัสสาทะจะมีและไม่มีทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น ทั้งสองอย่างจึงทำรวมกัน.
               บทว่า อสฺสาททิฏฺฐิ ท่านอธิบายว่า ได้แก่ ทิฏฐิที่เป็นไปในความยินดี.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระครั้นเทียบเคียงด้วยสูตรต่างๆ แล้วประสงค์ติเตียนมิจฉาทิฏฐิและผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อัสสาททิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐิวิปตฺติ ได้แก่ วิบัติด้วยทิฏฐิ คือมิจฉาทิฏฐิอันยังสัมมาทิฏฐิให้พินาศ.
               บทว่า ทิฏฺฐิวิปนฺโน บุคคลผู้มีทิฏฐิวิบัติ. อธิบายว่า ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิปนฺโน เพราะมีสัมมาทิฏฐิวิบัติคือพินาศ หรือวิบัติพินาศด้วยทิฏฐิ. บุคคลผู้มีทิฏฐิวิบัตินั้นไม่ควรเสพด้วยการเข้าไปหาไม่ควรคบด้วยจิต ไม่ควรนั่งใกล้ด้วยการเข้าไปหาแล้วนั่งลง.
               บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ (ข้อนั้นเพราะเหตุไร) เป็นการณปุจฉา (ถามถึงเหตุ) ของบุคคลนั้นว่า เพราะเหตุไร จึงไม่ควรทำการเสพเป็นต้นนั้น. ตอบถึงเหตุว่า เพราะบุคคลนั้นมีทิฏฐิลามก ฉะนั้นจึงไม่ควรทำการเสพเป็นต้นนั้น.
               บทว่า ทิฏฺฐิ โย ราโค (ทิฏฐิราคะใด) ความว่า ราคะเกิดขึ้นด้วยทิฏฐิปรารภทิฏฐิว่า ทิฏฐิของเราดี ดังนั้น.
               บทว่า ทิฏฺฐิราครโต (เป็นผู้ยินดีในทิฏฐิราคะ) ความว่า เป็นผู้ยินดีด้วยทิฏฐิราคะนั้นดุจผ้าย้อมด้วยสี.
               บทว่า น มหปฺผลํ (เป็นทานไม่มีผลมาก) คือ ด้วยผลอันเป็นวิบาก.
               บทว่า น มหานิสํสํ (เป็นทานไม่มีอานิสงส์มาก) คือ ด้วยผลอันหลั่งไหลหรือผลลัพธ์.
               บทว่า ปุริสปุคฺคลสฺส คือ แห่งบุรุษบุคคล.
               เพราะโดยโวหารของชาวโลก สรีระท่านเรียกว่า ปํ. ชื่อปุคคล เพราะไปสู่นรกนั้น.
               จริงอยู่ โดยมากสัตว์ทั้งหลายจุติจากสุคติแล้ว ย่อมเกิดในทุคติทั้งนั้น.
               บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ คือ ความที่ไม่มีผลมากนั้น เป็นเพราะเหตุไร.
               บทว่า ทิฏฺฐิ หิสฺส ปาปิกา ความว่า เพราะบุคคลนั้นมีทิฏฐิลากมก ฉะนั้นจึงไม่มีผลมาก.
               บทว่า เทฺวว คติโย มีคติเป็น ๒ คือมีคติเป็น ๒ ในคติ ๕ เป็นนรกเพราะทิฏฐิวิบัติ เป็นกำเนิดเดียรัจฉานเพราะทิฏฐิสมบัติ.
               บทว่า ยญฺเจว กายกมฺมํ คือ กายกรรมมีดำรงเพศของตนประกอบข้อปฏิบัติ อภิวาท บำรุงและทำอัญชลีเป็นต้น.
               บทว่า ยญฺจ วจีกมฺมํ คือ วจีกรรมมีการเล่าเรียน ท่อง แสดง ชักชวนในลัทธิของตนเป็นต้น.
               บทว่า ยญฺจ มโนกมมํ คือ มโนกรรมประกอบด้วยความคิด คำนึงถึงโลกนี้โลกหน้า และสิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ. กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ในหญ้า ขอนไม้ ข้าวเปลือก พืชทั้งหลายและในการมอบให้รับ บริโภคทานของสัตว์ผู้มีทิฏฐิ.
               บทว่า ยถาทิฏฺฐิ (ตามทิฏฐิ) คือ สมควรแก่ทิฏฐินั้น.
               บทว่า สมตฺตํ คือ ให้บริบูรณ์. บทว่า สมาทินฺนํ (สมาทาน) คือถือเอา.
               แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า กายกรรมนั้นมี ๓ อย่าง คือ กายกรรมตั้งไว้ตามทิฏฐิ ๑ กายกรรมเกิดร่วมกับทิฏฐิ ๑ กายกรรมอนุโลมตามทิฏฐิ ๑.
               ในการกรรม ๓ อย่างนั้น กายกรรมกล่าวคือ ปาณาติบาต อทินนาทานและมิจฉาจารของผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามไม่มีบาป อันมีกายกรรมนั้นเป็นเหตุ บาปไม่มาถึง นี้ชื่อว่ากายกรรมตั้งอยู่ตามทิฏฐิ. กายกรรมเกิดร่วมกันด้วยความเห็นตามทิฏฐินี้ว่า ผู้ฆ่าสัตว์ ผู้ลักทรัพย์ ผู้ประพฤติผิดในกามไม่มีบาป อันมีกายกรรมนั้นเป็นเหตุ บาปไม่มาถึง นี้ชื่อว่ากายกรรมเกิดร่วมกันกับทิฏฐิ. กายกรรมนั้นนั่นแลผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ สมาทานแล้ว ถือเอาแล้ว ลูบคลำแล้วให้บริบูรณ์ ชื่อว่ากายกรรมอนุโลมตามทิฏฐิ.
               แม้ในวจีกรรม มโนกรรมก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ในวจีกรรม มโนกรรมนี้พึงประกอบว่า ผู้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภ มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดไม่มีบาป อันมีวจีกรรม มโนกรรมนั้นเป็นเหตุ บาปไม่มาถึง ดังนี้.
               อนึ่ง นัยที่กล่าวด้วยการดำรงเพศ การเล่าเรียน และความคิดของชาวโลกเป็นต้น เป็นนัยที่ดีในข้อนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในเจตนาเป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ความคิดอันเกิดร่วมกับทิฏฐิ ชื่อว่าเจตนา. ความต้องการอันเกิดร่วมกับทิฏฐิ ชื่อว่าความปรารถนา. การตั้งจิตด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาด้วยความตั้งใจ ชื่อว่าความตั้งใจ. ธรรมทั้งหลาย อันเนื่องด้วยสังขารขันธ์มีผัสสะเป็นต้น สัมปยุตด้วยเจตนาเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าสังขาร.
               ด้วยบทมีอาทิว่า อนิฏฺฐาย (เพื่อผลไม่น่าปรารถนา) ท่านกล่าวถึงทุกข์ทั้งนั้น. เพราะทุกข์อันสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข. ชื่อว่าไม่ปรารถนา เพราะไม่แสวงหา. ชื่อว่าไม่น่าใคร่ เพราะไม่เป็นที่รัก. ขื่อว่าไม่น่าพอใจ เพราะไม่ทำให้เจริญใจ และเพราะไม่สบอารมณ์. ชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะไม่เจริญต่อไป. ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะบีบคั้น.
               บทว่า ตํ กิสฺส เหตุ ความว่า การเป็นไปอย่างนั้นเพราะเหตุไร. แสดงถึงเหตุนั้นว่า เพราะบุคคลนั้นมีทิฏฐิลามก. อธิบายว่า เพราะทิฏฐิของบุคคลนั้นเลวทราม ลามก ฉะนั้นจึงเป็นไปอย่างนั้น.
               บทว่า อลฺลาย ปฐวิยา นิกฺขิตฺตํ (ฝังลงในแผ่นดินเปียก) คือปลูกลงไปในแผ่นดินที่ชุ่มด้วยน้ำ.
               บทว่า ปฐวีรสํ อาโปรสํ (รสแผ่นดินรสน้ำ)
               ความว่า ในที่นั้นๆ สมบูรณ์ด้วยแผ่นดินและน้ำ. เพราะในที่ที่ฝังพืช แผ่นดินทั้งหมดและน้ำทั้งหมด ไม่ยังพืชและผลให้ผลิตได้. ส่วนพื้นที่ของแผ่นดินและน้ำเหล่านั้นเท่านั้นที่สัมผัสพืช ย่อมให้พืชผลผลิตได้. เพราะฉะนั้น พื้นที่นั้นจึงเป็นปัจจัยเพื่อเลี้ยงพืช พึงทราบว่าเป็นรสแผ่นดิน เป็นรสน้ำ.
               เพราะรสศัพท์มีความสมบูรณ์ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่ารส ท่านกล่าวด้วยความสมบูรณ์ด้วยกิจ.
               อนึ่ง เมื่อชาวโลกกล่าวว่า คนธรรพ์มีเสียงดี ย่อมรู้ความว่า คนธรรพ์สมบูรณ์ดีแล้ว.
               บทว่า อุปาทิยติ คือ ถือเอา. เพราะพืชได้พื้นที่ที่เป็นปัจจัย ย่อมผลิตได้.
               บทว่า สพฺพนฺตํ คือ รสทั้งปวงนั้น.
               บทว่า ติตฺตกตฺตาย (เพื่อความเป็นของมีรสขม)
               ความว่า รสแผ่นดินและรสน้ำนั้น แม้ไม่มีรสขมอาศัยพืชที่ขม ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขมแห่งต้นสะเดาเป็นต้น และผลเท่านั้น.
               บทว่า กฏุกตฺตาย (มีรสปร่า) นี้เป็นไวพจน์ของบทก่อนนั่นเอง.
               พึงทราบว่า รสขมในที่นี้ชื่อว่า รสปร่า เพราะไม่เป็นที่ชอบใจดุจในอาคตสถานว่า๑๑-
                         มะม่วงนี้เมื่อก่อนได้รับความนิยมมีสีกลิ่น
                         และรส เพราะเหตุไร มะม่วงจึงมีรสปร่าไป.

____________________________
๑๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๒๑

               บทว่า อสารตาย เพื่อความไม่เป็นสาระ คือไม่มีรสหวาน.
               ปาฐะว่า อสาทุตฺตาย บ้าง ความว่า มีรสไม่อร่อย. เพราะบทว่า สาทุ แปลว่า อร่อย.
               บทว่า พีชํ หิสฺส ได้แก่ พืชของสะเดาเป็นต้นนั้น.
               บทว่า เอวเมวํ ตัดบทเป็น เอวํ เอวํ. เพราะสุขเวทนาเป็นความยินดีอย่างยิ่ง. ฉะนั้น ท่านจึงแสดงถึงโทษแห่งมิจฉาทิฏฐิ ด้วยอำนาจแห่งทุกขเวทนา.
               พระสารีบุตรเถระ เพื่อแสดงถึงโทษแห่งทิฏฐิโดยประเภท ๑๘ อย่าง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อัสสาททิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
               บทนั้นมีความดังได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า อิเมหิ อฏฺฐารสหิ อากาเรหิ ปริยุฏฺฐิตจิตฺตสฺส สํโยโค (ความเกี่ยวข้องแห่งจิตอันทิฏฐิกลุ้มรุมด้วยอาการ ๑๘ อย่างเหล่านี้) ท่านแสดงถึงความผูกพันในสงสารด้วยทิฏฐินั่นเอง.
               ก็เพราะสังโยชน์แม้เป็นทิฏฐิก็มี แม้ไม่เป็นทิฏฐิก็มี ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงประเภทนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อตฺถิ สญฺโญชนานิ เจว สังโยชน์มีอยู่ดังนี้.
               ในบทนั้น เพราะกามราคสังโยชน์มีที่มาว่า อนุนยสญฺโญชนํ คือ สังโยชน์ที่มีนัยตามกัน. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนุยสญโญชนํ พึงทราบว่า อนุนยสังโยชน์นี้ ท่านกล่าวหมายถึงความโลภที่เป็นไป ยังไม่ถึงความเป็นกามราคสังโยชน์.
               ในวาระแม้เป็นมูลเหตุมีขันธ์และอายตนะที่เหลือเป็นต้น ก็พึงทราบความโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง เพราะอัสสาทะมีเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงทำเทศนา มีเวทนาเป็นที่สุด ไม่ถือเอาสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า อิเมหิ ปญฺจตตึสาย อากาเรหิ (ด้วยอาการ ๓๕ เหล่านี้) คือด้วยอาการ ๓๕ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ คืออัสสาทะอันเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุ ๓๕ เหล่านี้ คือเบญจขันธ์ ๕ และอายตนะภายในเป็นต้น ๖ หมวด.

               จบอรรถกถาอัสสาททิฏฐินิเทศ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๒. ทิฐิกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 286อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 31 / 362อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3332&Z=4069
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1047
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1047
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :